คณะสัตวแพทยศาสตร์ Issue 003 week3, August 2009
 
คณะสัตวแพทยศาสตร์
ตอนที่ 3/4 : จากรุ่นพี่ถึงรุ่นน้อง : ชีวิตนอกรั้วมหาวิทยาลัย
 
เบื้องหลังชีวิตสัตวแพทย์คนดัง ไม่ง่ายอย่างที่คิด
       สวัสดีค่ะน้องๆ ชาว Dek-D.com .... คณะในฝันกับสัตวแพทยศาสตร์ ก็มาถึงสัปดาห์ที่ 3 แล้ว วันนี้ พี่เป้ มาพร้อมกับคุณหมอใจดีที่คอยช่วยรักษาสัตว์ 2 ท่าน ซึ่งต่างก็มีชื่อเสียงในโลกไซเบอร์ทั้ง 2 ท่านเลย รู้สึกปลื้มมากๆ ที่ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ ^^ จึงไม่ลืมที่จะเอาบทสัมภาษณ์ดีๆ เกี่ยวกับชีวิตการทำงานเป็นสัตวแพทย์มาฝากน้องๆ ด้วยค่ะ ตั้งใจอ่านกันให้ดี ความรู้เพียบเลยล่ะ

รุ่นพี่คนที่1 : นายสัตวแพทย์กิติกร เกียรติยิ่งอังศุลี
 
พี่เป้: รบกวนช่วยแนะนำตัวแก่น้องๆ หน่อยค่ะ
พี่หมออ๊อบ: ชื่ออ๊อบ จบมัธยมปลายจากโรงเรียนทวีธาภิเศกรุ่นที่ 100 (ห้องวิทย์-คณิต-ช่างอุตสาหกรรม) จบจากคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2546 หลังจากทำงานคลินิกมา 5 ปี ปัจจุบันเป็น webmaster และนายสัตวแพทย์ประจำเว็บไซด์ click2vet.com
 
พี่เป้: อะไรเป็นแรงบันดาลใจให้สนใจเรียนคณะนี้คะ
พี่หมออ๊อบ: ด้วยความที่คุณพ่อ คุณแม่เป็นคนรักสัตว์ เรียกได้ตั้งแต่เกิดมาก็อยู่ท่ามกลางหมู่สัตว์เลี้ยงทั้งหลาย หมา แมว หนู กระรอก เต่า ไก่ เป็ด ห่าน นกแก้ว นกหงษ์หยก ปลา ฯลฯ ทำให้เป็นคนรักสัตว์ตามคุณพ่อคุณแม่ไปด้วย นอกจากนี้แม้ว่าจะเรียนห้องวิทย์-คณิต- ช่าง แต่วิชาที่ชอบที่สุดกลับเป็นวิชาชีววิทยา (ส่วนใหญ่ของเด็กห้องช่างจะเกลียดวิชาชีววิทยา และไม่ได้ใช้วิชานี้ในการสอบเอนทรานซ์)
 
พี่เป้: การเรียนมีแบ่งสาขาย่อยลงไปมั้ยคะ แล้วถ้ามี มีอะไรบ้าง ต่างกันยังไง
พี่หมออ๊อบ: หลักสูตรคณะสัตวแพทย์ของแต่ล่ะสถาบันจะแตกต่างกันนิดหน่อยครับ ถ้าเป็นที่มหาลัยเกษตรศาสตร์จะไม่มีการแบ่งสาขาย่อย เรียกว่าต้องเรียนสัตว์ทุกชนิด ได้แก่สัตว์เลี้ยง (หมา แมว) สัตว์ใหญ่  (โค กระบือ ม้า) สัตว์เศรษฐกิจ (หมู ไก่ ปลา กุ้ง) เรียกว่าเรียนจบมาก็สามารถเลือกไปประกอบอาชีพตามสายงานที่เราชอบหรือเราถนัดได้ แล้วถ้าเกิดอยากเปลี่ยนแนวในภายหลังก็สามารถทำได้
 
พี่เป้: แล้วกว่าจะได้มาเป็นสัตวแพทย์จริงๆ นั้น ต้องผ่านอะไรบ้างคะ
พี่หมออ๊อบ: สมัยที่เรียนอยู่ตอนนั้น แบ่งการเรียนการสอนเป็น 4 ช่วงใหญ่ๆ

  ช่วงปี 1 : เรียนวิชาพื้นฐานทั่วไป เช่นสัตววิทยา เคมีทั่วไป ฟิสิกข์เบื้องต้น ส่วนตัวคิดว่าช่วงนี้เป็นช่วงที่ยากที่สุด เนื่องจากอยู่ในช่วงปรับตัวสำหรับชีวิตการเรียนในมหาวิทยาลัย และเป็นช่วงที่มีกิจกรรมนอกหลักสูตรค่อนข้างเยอะ

  ช่วงปี 2-3 : เรียนวิชา Pre- Clinic เช่นวิชากายวิภาคศาสตร์ จุลกายวิภาค สรีรวิทยา เภสัชวิทยา กีฏวิทยา กลุ่มวิชาจุลชีววิทยา (แบคทีเรีย เชื้อรา ไวรัส) ภูมิคุ้มกันวิทยา

  ช่วงปี 4-5 เรียนวิชาคลินิก เช่นวิชา อายุรศาสตร์ ศัลยศาสตร์ สูติศาสตร์ พยาธิวิทยาทางคลินิก ฯลฯ ช่วงนี้ล่ะที่เริ่มรู้สึกว่าเราเรียนคณะสัตวแพทย์จริงๆ

   ช่วงปีที่ 6 : เป็นช่วงที่ฝึกงานตามโรงพยาบาล โดยเวียนไปตามโรงพยาบาลของคณะให้ครบทุกหน่วย โรงพยาบาลสัตว์เล็กที่บางเขน โรงพยาบาลที่กำแพงแสน(นครปฐม) โรงพยาบาลที่หนองโพ(ราชบุรี)

      ปัจจุบันที่มาเป็น webmaster ของเว็บไซด์ click2vet.com นั้นเพราะว่าประมาณปีที่แล้วมีปัญหากล้ามเนื้อหลังอักเสบเรื้อรัง (กลุ่มอาการ office syndrome) ทำให้ทำงานคลินิกไม่ไหว ก็เลยมาเปิดเว็บไซด์ click2vet ขึ้นมา โดยในส่วนของเว็บบอร์ดก็มีการให้คำปรึกษาเรื่องสุขภาพสัตว์ฟรี ถือว่าแม้ว่าเราจะทำงานคลินิกรักษาสัตว์ไม่ไหว แต่ก็ยังสามารถใช้ความรู้ที่เรียนมาให้คำแนะนำ ให้คำปรึกษาแก่ผู้เลี้ยงสัตว์ได้

พี่เป้: แล้วคุณหมอมองวงการสัตวแพทย์ไทยในปัจจุบันเป็นยังไงบ้างคะ ยังมีจุดแข็งจุดอ่อนยังไงบ้างคะ
พี่หมออ๊อบ: ถ้าดูในภาพรวมดูแล้วอยู่ในเกณฑ์ดีครับ ถือว่าค่อยๆ พัฒนาไปในทางที่ดีขึ้นเรื่อยๆ มีการพัฒนาความรู้ใหม่ๆ กันอยู่เสมอ เช่นการอบรมศึกษาต่อเนื่องทางสัตวแพทย์ เพื่อให้คุณหมอได้รับทราบวิทยาการและความรู้ใหม่ๆ เพื่ออัพเดตให้ทันโลก และทันโรคใหม่ๆ
 
พี่เป้: ส่วนตัวคุณหมอถนัดรักษาสัตว์อะไรเป็นพิเศษบ้างคะ แล้วโรคที่พบบ่อยๆ ในสัตว์ที่มารักษาคืออะไร
พี่หมออ๊อบ: เนื่องจากชอบสัตว์เล็กคือหมาและแมว ดังนั้นก็จะถนัดรักษาหมาและแมวมากที่สุด แต่ด้วยความที่ช่วง 5 ปีที่ทำงานด้านคลินิกทำงานอยู่ต่างจังหวัด เรียกว่าเป็นหมอหมาบ้านนอก ปัญหาที่พบบ่อยก็จะแตกต่างจากปัญหาในเมืองพอสมควร ปัญหาที่เจอโดยมากเป็นปัญหามดลูกเน่าทั้งในหมาและแมว เนื่องจากเจ้าของสัตว์ขาดความรู้ความเข้าใจ ไปฉีดยาคุมกำเนิด แทนที่จะผ่าตัดทำหมันในสุนัขและแมว ก็เลยมีปัญหามดลูกเน่า คลอดลูกไม่ออก มาให้ผ่าตัดอยู่เป็นประจำ ส่วนปัญหาอื่นๆ ก็เช่นสารพิษ ยาเบื่อ ยาฆ่าแมลง (เขตที่หมอทำงานจะเป็นเขตเกษตรกรรมทำให้หมาแมวมีโอกาสเจอสารเคมีได้มากกว่าปกติ) และอุบัติเหตุต่างๆ
 

 
 

 


 


 
 
พี่เป้: อุปสรรคในการทำงานของอาชีพสัตวแพทย์คือ?
พี่หมออ๊อบ: คิดว่าปัญหาใหญ่เลยของสัตวแพทย์ก็คือสัตว์ป่วยไม่สามารถพูดได้ บอกอาการและความเจ็บป่วยของตัวเองไม่ได้ ดังนั้นถ้าเจ้าของสัตว์ รือคนที่พาสัตว์มาหาหมอไม่ช่างสังเกต หรือไม่สามารถบอกอาการผิดปกติได้ สัตวแพทย์ก็จะได้ข้อมูลที่ไม่ครบถ้วน นอกจากนี้ยังมีเจ้าของสัตว์อีกเยอะที่มีความคิดว่าหมาแมวป่วยไม่จำเป็นต้องรักษาเดี๋ยวก็หายเองได้ ต้องรอจนอาการหนักเจียนตายซะก่อนค่อยพามาหา ซึ่งมักจะทำให้ไม่สามารถรักษาได้ทัน เมื่อสัตว์เสียชีวิต เค้าก็จะว่าไว้ก่อนว่า
" ถ้าอยู่บ้านไม่ตายหรอก พามาหาหมอเนี่ยล่ะถึงได้ตาย "
 
พี่เป้: แล้วหากจบคณะนี้ ถ้าไม่เป็นสัตวแพทย์ สามารถทำงานอื่นได้มั้ยคะ
พี่หมออ๊อบ: ถ้าไม่ทำงานด้านคลินิกหรือโรงพยาบาลสัตว์ กลุ่มงานจะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆครับ

- รับราชการ (หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หรือกรมปศุสัตว์)

- งานบริษัทเอกชน โดยมากจะเป็นฝ่ายขาย และฝ่ายวิชาการของบริษัทยา ผลิตภัณฑ์ และเวชภัณฑ์สำหรับสัตว์ต่างๆ
 
พี่เป้: สุดท้ายอยากให้คุณหมอช่วยฝากถึงน้องๆ ที่อยากเข้าคณะนี้ด้วยค่ะ
พี่หมออ๊อบ: ก่อนอื่นคงต้องถามใจตัวเองก่อนว่า รักและสนใจในด้านนี้จริงๆ หรือเปล่า งานสัตวแพทย์ไม่ใช่งานสบายๆ วันๆ อยู่แต่กับสัตว์ป่วย เลือด หนอง อึ ฉี่ สารพัด ถ้าใจไม่รักจริงๆ ทำงานไปก็จะไม่มีความสุข ถ้าสำรวจใจตัวเองดูแล้วว่ารักในเส้นทางนี้ ก็ขอให้มุ่งมันและตั้งใจให้ถึงที่สุด ถ้าสอบเข้ามาได้แล้ว การเรียนในคณะสัตวแพทยศาสตร์ไม่ได้ยากอย่างที่คิด ไม่จำเป็นต้องเป็นคนเก่ง แต่ต้องเป็นคนขยันเนื่องจากเรียนหนัก ตำราเรียนมีเยอะมากต้องขยันอ่านหนังสือให้มากๆ
 

รุ่นพี่คนที่ 2 : นายสัตวแพทย์เหนือ อ๋องสกุล

 
พี่เป้: ช่วยแนะนำตัวแก่น้องๆ หน่อยค่ะ?
พี่หมอเหนือ: สวัสดีครับ พี่ชื่อนายสัตวแพทย์เหนือ อ๋องสกุล เรียนจบปริญญาสัตวแพทยศาสตรบัณฑิต รุ่นที่ 65 จากคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อปี 2550 ครับ ตอนนี้ก็จบมาได้เกือบจะ 3 ปีแล้ว ตอนช่วงประถม-มัธยมปลายเรียนจบจากโรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย เชียงใหม่ ครับ
 
พี่เป้: อะไรเป็นแรงบันดาลใจให้อยากเรียนคณะสัตวแพทย์ศาสตร์คะ
พี่หมอเหนือ: ตอนสมัยเรียนมัธยมปลาย พี่ก็เริ่มมองจากความชอบในวิชาเรียนต่างๆ เริ่มจากการเรียนในสายวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์ แต่ปรากฏว่าพี่เองไม่รู้สึกชอบวิชาด้านคำนวณอย่างแรง อย่างคณิตศาสตร์หรือฟิสิกส์นี่เกรดดูไม่ได้เลยทีเดียว ในขณะที่วิชาทางด้านชีววิทยา ภาษาอังกฤษ และเคมีก็ยังพอถูไถไปได้บ้าง แต่เกรดตอนที่พี่เรียนจบมัธยมปลายก็ไม่ค่อยดีเท่าไหร่นะครับ ตอนนั้นอาจจะตั้งใจเตรียมตัวสอบเอนทรานซ์ (ในสมัยนั้น) เลยได้คะแนนดีในระดับหนึ่ง

    ซึ่งมามองคณะกลุ่มวิทยาศาสตร์สุขภาพแล้ว เมื่อเรียงตามคณะคะแนนสูงอย่างคณะแพทย์ ส่วนตัวพี่ก็ไม่ค่อยชอบลักษณะงานทำนองนี้ ตัวอย่างเช่น ถ้าเจอคนไข้อุบัติเหตุเลือดท่วมตัว มีบาดแผลฉกรรจ์มาจะทำอย่างไร ถ้าเป็นแผลของคนนี่พี่กลัวครับ แต่ถ้าเป็นแผลน้องหมาน้องแมว อันนี้ให้ความรู้สึกอีกแบบหนึ่ง อีกทั้งบรรยากาศในการทำงานของคุณหมอ คนอยู่ในโรงพยาบาล ซึ่งก็มีแต่ผู้ป่วยที่ไม่สบาย บรรยากาศค่อนข้างหดหู่ จึงไม่ได้รู้สึกอยากเรียนคณะแพทย์

    พอมองคณะอื่นๆ อย่างทันตแพทย์ เผอิญว่าพี่ไม่ค่อยชอบอะไรเล็กๆ ครับ การจดจ้องกับปากคนไข้ คงไม่ใช่เรื่องที่สนุกสำหรับตัวพี่แล้ว รองลงมาอีกก็คือคณะเภสัช ซึ่งเป็นคณะหนึ่งที่น่าสนใจ แต่ส่วนตัวพี่ก็ไม่ได้รักวิชาเคมีมากมาย สุดท้ายก็เลยมาลงเอยที่คณะสัตวแพทย์ รักษาน้องหมาน้องแมว น่าจะมีอะไรที่ท้าทายแปลกใหม่ ให้ได้เรียนรู้ จึงตัดสินใจที่จะเลือกเรียนคณะสัตวแพทย์ ตอนเรียนอยู่ชั้น ม.ุ6 ครับ พอคะแนนเอนทรานซ์เดือนตุลาคมออก จึงได้ตัดสินใจยื่นคะแนนสมัครในคณะสัตวแพทย์ จนได้สอบติดโควตารับตรงของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ก็เลยได้เรียนสัตวแพทย์นี่หล่ะครับ
 
พี่เป้: บรรยากาศการเรียนที่เกษตรศาสตร์เป็นยังไงบ้างคะ
พี่หมอเหนือ: ส่วนตัวพี่ พี่เองเป็นคนเชียงใหม่ จริงๆ แล้วบ้านพี่อยู่ห่างจากคณะสัตวแพทย์ ม.เชียงใหม่ ไม่ถึง 3 กิโลเมตร ดังนั้น ตอนเรียน มีแต่คนถามว่า แล้วมาเรียนที่เกษตรหล่ะ ไม่เรียนที่ ม.เชียงใหม่ ใกล้บ้านกว่ากันเยอะ แถมคุณพ่อ-คุณแม่ ของพี่ก็เป็นอาจารย์ประจำที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ทั้งคู่ เรียกได้ว่าพี่โตมากับ ม.เชียงใหม่ เลย แต่คณะสัตวแพทย์ ม.เชียงใหม่ ก็เพิ่งจะเปิดมาได้ไม่กี่ปี (รับนักศึกษาสัตวแพทย์รุ่นแรกปี 2539) คิดว่าเข้ามาเรียนในกรุงเทพจะดีกว่า

    มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้สอนให้นิสิตมีความ “ติดดิน” อย่างมหาวิทยาลัยอื่นอาจจะมี “เดือน” กับ “ดาว” รุ่น แต่ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จะมี “ดิน” และ “เทพี” รุ่น เท่านั้น การใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัยค่อนข้างเรียบง่ายสบายๆ อย่างตัวพี่เองก็เป็นนิสิตหอพักในมหาวิทยาลัย ขี่รถจักรยานไปเรียนทุกเช้า ส่วนเรื่องรับน้องนั้น แม้ว่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในอดีต จะเคยขึ้นชื่อว่ารับน้องหนัก แต่สำหรับคณะสัตวแพทย์ในยุคหลังๆ ก็ไม่ได้เรียกว่ารับน้องแล้วครับ แต่ใช้ชื่อว่า “กิจกรรมสอนน้องร้องเพลงเชียร์” ให้น้องได้รู้จักเพลงประจำคณะ

    การเรียนการสอนเน้นการฝึกงานตามสถานที่ต่างๆ โดยช่วงปี 1-3 (พรีคลินิก) คณะจะจัดให้นิสิต ฝึกงานด้าน วัว หมู ไก่ ม้า และ สัตว์พิเศษอื่นๆ ให้ได้อย่างน้อย 200 ชั่วโมง ซึ่งนิสิตก็จะต้องเข้าไปปฏิบัติงานจริงๆในฟาร์มเอกชนที่ตนเองเลือกเหมือนกับเป็นคนงานในฟาร์ม ทำให้นิสิตได้รู้จักตนเองว่าชอบสายงานนี้ไหม และได้เรียนรู้ว่าสายงานต่างๆ ต้องทำงานอย่างไรบ้าง อย่างตอนฝึกงานฟาร์มหมูตอนช่วงเรียนปี 2 ได้ทำทุกอย่าง เริ่มตั้งแต่ขัดคอกหมู ให้อาหารหมู ไปช่วยพี่ตอนหมู ช่วยล้วงคลอด หลายๆ อย่าง ตัวเหม็นขี้หมูกันทั้งวัน ก็เป็นประสบการณ์หนึ่งที่น่าประทับใจ รู้ตัวเลยว่าตัวเองไม่เหมาะที่จะทำงานกับหมู (แห่ะๆ)

    ในช่วงปี 3 จะมีวิชาบังคับหนึ่งที่ให้ลงทะเบียนเรียนคือวิชาขี่ม้า วิชานี้จะเรียนตอนช่วงซัมเมอร์ ของคณะสัตวแพทย์ ม.เกษตรจัดให้นิสิตไปเรียนขี่ม้าที่สนามเป้า วิชานี้มีสอบด้วยนะครับ ก็พาม้าวิ่งผ่านด่านต่างๆ ตามที่ครูฝึกกำหนด ฝึกควบคุมม้า และ เรียนรู้การดูแลม้า อาบน้ำม้าทุกวันหลังจากเรียนเสร็จด้วย

    พอเรียนผ่านวิชาพรีคลินิก ก็จะขึ้นวิชาระดับคลินิก ปี 4-5 จะต้องเก็บข้าวของย้ายไปเรียนที่วิทยาเขตกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม มีพาหนะประจำกายคือรถมอเตอร์ไซด์ (เพราะกำแพงแสนใหญ่มากๆ) เรียนวิชาทางด้านสัตว์เล็ก (สุนัข-แมว) วิชาด้านหมู ไก่ วัว ม้า สัตว์น้ำ และสัตว์ป่า ระหว่างที่เรียนอยู่ นิสิตสามารถเลือกไปฝึกงานในโรงพยาบาลสัตว์ต่างๆ อย่างของ ม.เกษตรเองก็ได้ ไปฝึกฝนเพิ่มพูนความรู้ หาประสบการณ์ แต่ก็ได้ทำเป็นลักษณะผู้ช่วยนะครับ ช่วยพี่ๆ เขาจับน้องหมา วัดไข้ ตรวจสุขภาพเบื้องต้น หรือไปช่วยพี่หมอในห้องผ่าตัด ส่วนใครที่มีความสนใจด้านสัตว์อื่นๆ อย่างหมู นิสิตบางคนก็ตามอาจารย์ไปเดินสายตรวจฟาร์มหมู หรือ ม้า บางคนก็ไปตามขอฝึกงานเป็นลุกมือของอาจารย์ 

    อย่างตัวพี่เอง เริ่มสนใจงานทางด้านสัตว์เล็ก จึงเน้นฝึกงานในโรงพยาบาลสัตว์ ลงที่บางเขนกับหนองโพก็หลายรอบอยู่ อย่างที่บางเขน หน่วยที่พี่ชอบมาและไปขอฝึกงานหลายครั้งคือหน่วยศัลยกรรม ซึ่งพี่หมอและผู้ช่วยเป็นกันเองมากๆ ได้เข้าไปช่วยเรียนรู้งานหลายๆ อย่าง ส่วนอีกที่หนึ่งที่ฝึกงานได้สบายๆ คือที่หนองโพ ซึ่งนิสิตสามารถเลือกฝึกงานสัตว์เล็ก หรือ ฝึกงานสัตว์ใหญ่ (โคนม) ก็ได้ อย่างคนที่เลือกสัตว์เล็กก็อยู่ในโรงพยาบาล ตามพี่หมอหรือไปช่วยในห้องผ่าตัด แต่ถ้าเลือกสัตว์ใหญ่ก็ตามพี่หมอไปตะลอนทัวร์ฟาร์มโคนมต่างๆ วันละหลายๆ ฟาร์ม เพราะหน่วยของหนองโพออกไปกันไกลถึงดำเนินสะดวก, ราชบุรี, หนองผึ้ง, กาญจนบุรี สำหรับใครที่ชอบโคนม น่าจะถูกใจที่หนองโพมากๆครับ
  
    สุดท้ายเรียนอยู่ปี 6 ก็จะได้เรียนกันอยู่ 3 ที่คือ บางเขน 1 เทอม (สัตว์เล็ก) และ กำแพงแสนกับหนองโพ (สัตว์ใหญ่และสัตว์เศรษฐกิจ) อีก 1 เทอม ทีนี้เรียนมาจนถึงปี 6 ก็จะรู้ตัวเองกันแล้วว่าจบไปจะทำงานในสายงานอะไร แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ด้วยความที่คณะไม่ได้บังคับให้นิสิตเลือกเรียนเฉพาะชนิดสัตว์ที่ตนสนใจ จึงทำให้หลังจากที่เรียนจบไปแล้ว สามารถเปลี่ยนสายงานได้ อย่างบางคนจบใหม่ๆ ทำงานด้านหมู แต่แป๊บเดียวไปทำสัตว์เล็กซะแล้ว เป็นต้น

 



 

 

 
 
 
 




ขอบคุณภาพจาก :charmingmoon (zoda_keaw) www.pantip.com 


พี่เป้:
งั้นช่วยเล่าเคสในการทำงานหรือรักษาที่ยากๆ ให้ฟังซักเคสหน่อยได้มั้ยคะ  

พี่หมอเหนือ: ในช่วงหน้าฝนของทุกปี ก็จะมีเห็บระบาดกันเยอะครับ น้องหมาหลายๆ ตัวที่โดนเห็บกัดเยอะๆ ก็จะเป็นโรคพยาธิในเม็ดเลือดกันมากมายทีเดียว ปกติเราก็จะวินิจฉัยได้ด้วยการตรวจโรคด้วยชุดตรวจโรคพยาธิในเม็ดเลือด ซึ่งไม่เกิน 10 นาทีก็ทราบผลแล้ว และตรวจค่าเลือดอื่นๆ ร่วมกันด้วย ปกติโรคนี้ ถ้าไม่มีปัญหาอื่นร่วมด้วย ส่วนมากหลังจากฉีดยาและกินยา 6-8 สัปดาห์ ก็จะหายดีเป็นปกติกัน (แต่เจ้าของก็จะต้องป้องกันไม่ให้สุนัขโดนเห็บกัดอีก อาจจะฉีดยา หรือหยอดยาฆ่าเห็บร่วมด้วย)

    ทีนี้ เคสที่เจอแล้วรักษายากมากๆ คือน้องหมาที่เป็นโรคพยาธิในเม็ดเลือด แล้วส่งผลทำให้เกิดภาวะไตวายข้น ส่วนมากถ้าพี่เจอเคสทำนองนี้ ตรวจเลือดด้วยชุดตรวจ ให้ผลบวกโรคพยาธิในเม็ดเลือด และตรวจดูค่าการทำงานของไต พบว่าค่าขึ้นสูงผิดปกติ ก็จะแจ้งให้เจ้าของทำใจในระดับนึงด้วย เพราะส่วนมากมักจะไม่ค่อยรอดเท่าไหร่ หมอก็จะต้องดูแลเรื่องไต ควบคู่ไปกับการรักษาโรคพยาธิในเม็ดเลือด หลายๆ เคสก็ดูดีครับ แต่ก็มีหลายเคส ที่น้องหมาก็ต้องจากไป ยิ่งเคสที่น้องหมาไตวายแบบที่ไม่มีการสร้างปัสสาวะเลย (ไม่มีการปัสสาวะออกมา แม้สวนปัสสาวะก็แทบจะไม่มีปัสสาวะออกมา) อันนี้พูดยากครับ แม้จะลองใช้ยากันหลายขนาน ที่กระตุ้นให้เกิดการสร้างปัสสาวะหรือการล้างช่องท้องเพื่อขับของเสียออกจากร่างกายแล้ว แต่หลายๆ ตัวก็อยู่ได้เพียงระยะหนึ่งแล้วก็จากไปครับ อีกทั้งค่าใช้จ่ายในการรักษาก็จะค่อนข้างสูงพอสมควรทีเดียว

    ทำนองเดียวกับ เคสที่เป็นมีปัญหามดลูกอักเสบ อันเนื่องมาจากการฉีดยาคุม (ปกติไม่แนะนำให้มีการฉีดยาคุมนะครับ ถ้าหากเจ้าของสัตว์เพศเมียไม่อยากให้น้องหมามีลูกอีกแล้ว แนะนำให้ทำหมันจะดีที่สุดครับ การผ่าทำหมันตัวเมียจะเป็นการนำรังไข่และมดลูกออกทั้งยวง ไม่มีการเป็นสัดและไม่มีโอกาสท้องได้อีกเลยครับ) ทีนี้น้องหมาบางตัวที่มีปัญหามดลูกอักเสบ และมีปัญหาเรื่องไตวายร่วมด้วย อันนี้ก็ลำบากอีกแล้วเช่นกัน บางตัวก็ค่าการทำงานไตผิดปกติไปมาก ครั้นจะผ่าก็กลัวไม่รอดเพราะไตทำงานได้ไม่ปกติ แต่ถ้าจะไม่ผ่าการติดเชื้อในร่างกายก็จะสูงมากๆ (จากภาวะมดลูกอักเสบ ที่มีหนองอยู่เต็มมดลูกไปหมด) หลายๆ รายเลือกที่จะประคับประคองให้ไตทำงานได้ดีขึ้นแล้วก็ผ่า หลายตัวก็ประสบความสำเร็จครับ แต่บางตัวที่มีปัญหาเรื่องไตวายหนักๆ ก็ต้องแจ้งให้เจ้าของทำใจเช่นกัน

 
 

 
พี่เป้: จริงๆ แล้วสายงานสำหรับคนจบคณะนี้มีอะไรบ้างคะ
พี่หมอเหนือ: ส่วนสายงานสำหรับผู้ที่จบสัตวแพทย์ ก็จะมีงานด้านรักษาสัตว์เลี้ยง ก็คืองานประจำในสถานพยาบาลสัตว์ทั่วๆ ไป, งานด้านการขาย และ วิชาการ ก็จะอยู่ตามบริษัทยาสัตว์ หรือ บริษัทผู้ผลิตอาหารสัตว์ หรือพวกบริษัทตัวแทนจำหน่ายต่างๆ , งานด้านวิชาการ อย่างเช่นงานด้านอาจารย์ ก็มีการเปิดตำแหน่งใหม่ๆ ให้น้องๆ รุ่นใหม่ๆ ได้เข้าไปร่วมงานกันมากขึ้น (แต่โดยส่วนมากต้องมีเกรดเฉลี่ยขั้นต่ำ 3.00 ขึ้นไป) และสุดท้ายคืองานราชการ ซึ่งทางกรมปศุสัตว์ ก็จะมีการสอบเข้าบรรจุในตำแหน่งมากมาย ในทุกๆ ปีครับ
  
 พี่เป้: อยากให้ช่วยเล่าถึงวิชา gross anatomy ที่เรียนกับอาจารย์ใหญ่หน่อยค่ะ เพราะเป็นวิชาที่น้องๆ สงสัยและสนใจมากๆ
พี่หมอเหนือ: ตอนที่พี่เป็นเด็กมัธยมปลาย พี่ก็รู้สึกตื่นเต้นครับ ตอนเรียนปี 1 หลักสูตรใหม่ ถ้าจำไม่ผิดน้องจะได้เริ่มเจอกับอาจารย์ใหญ่ (น้องหมา) ตั้งแต่ปี 1 เทอม 2 โดยน้องหมาที่เอามาเป็นอาจารย์ ในปัจจุบันตั้งแต่ช่วงประมาณปี 2548 นี่เป็นซากน้องหมาที่เสียชีวิตจากโรงพยาบาลสัตว์ ม.เกษตรศาสตร์ บางเขน หรือเป็นสุนัขที่ได้รับการบริจาคมา แต่ก็จะมีเงื่อนไขอยู่ว่าต้องเป็นน้องหมาที่เสียชีวิตโดยปกติ และไม่มีอวัยวะเสียหายใดๆ น้องหมาเหล่านี้ก็จะถูกแช่ในฟอร์มาลีน โดยส่วนมากเป็นเวลา 1 ปีก่อนที่จะนำขึ้นมาให้นิสิตได้เรียนกัน โดยอาจารย์จะสอนเป็นระบบๆ ตัวอย่างเช่น เริ่มจากเรียนกระดูก นิสิตก็จะได้เรียนกับโครงกระดูกสัตว์ต่างๆ น้องก็ต้องท่องและเข้าใจว่าอะไรชื่ออะไรยังไงบ้าง แล้วก็เรียนพวกกล้ามเนื้อ เส้นเลือดต่างๆ น้องก็จะต้องเปิดเข้าไปดู แหวกออกเป็นส่วนๆ

    เวลาน้องเรียนวิชากายวิภาคศาสตร์ น้องอาจจะรู้สึกแสบจมูก เพราะกลิ่นฟอร์มาลีนจะค่อนข้างแรงมาก แต่ห้องปฏิบัติการ (Lab Gross) ก็จะเป็นห้องโถงใหญ่เปิดโล่ง อากาศถ่ายเทสะดวก (แต่บางคนก็จะรู้สึกหายใจลำบากอยู่ดี) อีกทั้งเนื้อน้องหมาอาจจะทำให้น้องรู้สึกไม่อยากทานขาหมูไปพักใหญ่ๆ (แต่สำหรับพี่เฉยๆ ครับ ไม่มีอะไรที่เกิดความสามารถของน้องหรอก จริงไหมครับ)

    ในสมัยที่พี่ยังเรียนอยู่นั้น ในช่วงปี 2545 (พี่เป็นนิสิตปี 2) ทางคณะยังคงใช้สุนัขจาก กทม. ซึ่ง กทม. จะส่งสุนัขให้ปีละประมาณ 30 ตัว (สุนัข 1 ตัวต่อนิสิต 3-4 คน) ซึ่งรุ่นพี่ก็จะมีหน้าที่ เตรียม “อาจารย์” ให้รุ่นน้อง โดยกระบวนการ เตรียม “อาจารย์” จะมีกันในวันไหว้ครูของทุกปี

    วันไหว้ครูในช่วงนั้น บริเวณข้างห้อง Lab Gross ก็จะมีฉากมากั้นไว้ นิสิตปี 2 ก็จะเข้าไปในห้อง Gross นำ “อาจารย์” มากลุ่มละ 1 ตัว โดยมีอาจารย์ช่วยทำการเมตตาฆาตให้ หลังจากที่ “อาจารย์” หยุดหายใจและหัวใจหยุดเต้นแล้ว สิ่งที่นิสิตในกลุ่มจะต้องช่วยกันทำก็คือจะต้องรีดเลือดออกจากตัว “อาจารย์” ให้ได้มากที่สุด โดยปาดคอบริเวณเส้นเลือดใหญ่ แล้วค่อยๆ ปั๊มเลือดออกจนกระทั่งเหงือกเป็นสีขาวเท่ากระดาษ น้องอาจจะฟังแล้วดูน่ากลัว แต่กระบวนการรีดเลือดนี้เพื่อให้ฟอร์มาลีนสามารถแทรกเข้าไปในตัว “อาจารย์” ได้เต็มที่ และไม่ทำให้น้องหมาเน่า จากนั้นก็จะนำ “อาจารย์” ลงในบ่อฟอร์มาลีน แช่ไว้ 1 ปีเพื่อให้รุ่นน้องได้เรียนต่อไปครับ
 
 ขอบคุณภาพจาก :charmingmoon (zoda_keaw) www.pantip.com 

พี่เป้:
แล้วตอนนี้ทำงานอะไรอยู่ ที่ไหนคะ
พี่หมอเหนือ: หลังจากที่พี่เรียนจบ พี่ได้ร่วมงานกับโรงพยาบาลสัตว์เอกชนแห่งหนึ่งที่เชียงใหม่ครับ ลักษณะงานก็จะเป็นงานรักษาน้องหมา น้องแมว และสัตว์พิเศษอื่นๆ มีการออกไปรักษานอกสถานที่ด้วย เนื่องจากเป็นโรงพยาบาลสัตว์ขนาดใหญ่ที่มีชื่อเสียงและมีอุปกรณ์ที่ครบครัน ทั้งเครื่องเอกซ์เรย์ เครื่องอัลตราซาวน์ และเครื่องตรวจเลือด พี่จึงได้มีโอกาสได้รับเคสที่ส่งต่อมาจากที่ต่างๆ ทั่วเชียงใหม่หรือจังหวัดใกล้เคียง เคสแปลกๆ ประหลาดๆ ก็มีเยอะครับ แต่การได้ทำงานในที่ที่มีอุปกรณ์เยอะ ก็จะช่วยทำให้การวินิจฉัยทำได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำยิ่งขึ้นครับ
 
พี่เป้: แล้วในอนาคตวางแผนจะทำอะไรบ้างคะ
พี่หมอเหนือ: สัตวแพทย์หลายๆ คนที่เคยทำงานเป็นมือปืนรับจ้าง (เป็นลูกจ้างรักษาสัตว์ในโรงพยาบาลสัตว์) โดยส่วนมากก็มีความคิดที่อยากจะมีกิจการเป็นของตัวเองกันทั้งนั้น บางคนตั้งใจจะทำงานหาประสบการณ์เพียง 1-2 ปีแล้วออกไปเปิดของตัวเอง ซึ่งตอนนี้ปัญหาเริ่มจะเกิดตรงที่ว่าคลินิกสัตวแพทย์เริ่มเกิดกันมากขึ้นระดับน้องๆ ร้านเซเว่น-อีเลฟเว่นเลยทีเดียว อย่างบางแยก มีอยู่กัน 5 ร้าน ไม่รู้จะเปิดอะไรกันเยอะขนาดนั้น อีกทั้งประชากรสุนัขและแมวก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นตามปริมาณคลินิกด้วย เพียงแค่ต้นทุนในเรื่องสถานที่ก็นับว่าสูงมากแล้ว ไม่รวมเรื่องอุปกรณ์และเวชภัณฑ์ต่างๆ ซึ่งมักมีค่าใช้จ่ายสูง แต่วันหนึ่งจะรักษาได้ซักกี่เคสเชียว หลายๆ ร้านที่เปิดขึ้นมาแล้วก็มีร้านที่ปิดตัวลงไปเช่นกัน ดังนั้นโดยส่วนมากในปัจจุบันนิสิตสัตวแพทย์ที่จบไปตอนนี้ก็อาจจะเลือกที่จะเรียนต่อในระดับปริญญาโทและปริญญาเอก กันเสียมากกว่า (อย่างรุ่น 66-67 ที่เพิ่งจบมาไปเรียนต่อกันเยอะมากๆ) ยังไม่อยากจะคิดเช่นกันว่า ในช่วง 5-10 ปีข้างหน้าจะเป็นเช่นไร ส่วนตัวพี่ ตั้งใจอยากจะไปเรียนต่อในระดับปริญญาโทเช่นกัน และอาจจะเริ่มต้นประกอบธุรกิจเล็กๆ เป็นของตนเองบ้างครับ

 

พี่เป้: สุดท้ายอยากให้ช่วยฝากถึงน้องๆ ที่อยากเรียนคณะสัตวแพทยศาสตร์ด้วยค่ะ
พี่หมอเหนือ: สำหรับน้องๆ ที่ยังศึกษาอยู่ในระดับมัธยมปลายที่มีความสนใจอยากจะเป็นสัตวแพทย์ในอนาคต พี่อยากให้น้องๆ ได้มีโอกาสสัมผัสเข้าไปดูงานด้านสัตวแพทย์บ้าง ไม่ว่าจะเป็น สัตวแพทย์ที่ทำงานในสถานพยาบาลสัตว์ หรือสัตวแพทย์ที่ทำงานสายงานอื่นๆ ตัวอย่างเช่นสัตวแพทย์สวนสัตว์ว่าลักษณะงานเป็นอย่างไร น้องอาจจะให้ทางโรงเรียนช่วยทำเรื่องขอเข้าไปดูงานตามสถานพยาบาลสัตว์แห่งใหญ่ๆ ดูคล้ายๆ กับที่ไปดูงานโรงพยาบาลของคน น้องจะได้ทราบว่าชอบงานนี้จริงๆ หรือไม่

     สำหรับรายได้ของวิชาชีพสัตวแพทย์ ถ้าเทียบกับชั่วโมงทำงานก็ไม่ได้เยอะมากมายหรอกครับ ถ้าเทียบกับวิชาชีพแพทย์อื่นๆ อย่างแพทย์หรือทันตแพทย์ จะได้รับค่าตอบแทนโดยรวมที่สูงกว่าพอสมควร อีกทั้งถ้าน้องเลือกที่จะทำงานด้านรักษาสัตว์เล็ก โดยส่วนมากน้องจะต้องทำงานสัปดาห์ละ 6 วัน มีวันหยุด 1 วันต่อสัปดาห์ และทำงานโดยเฉลี่ย
8-12 ชั่วโมงต่อวันแล้วแต่สถานพยาบาล ส่วนงานด้านอื่นๆ อย่างงานพนักงานขายในบริษัทยาหรือบริษัทอาหารสัตว์หรือบริษัทตัวแทนจำหน่าย ก็มักไม่ค่อยได้มีเวลาหยุดเท่าไหร่นัก น้อยรายที่จะได้ทำงานแบบเวลาราชการคือวันจันทร์-ศุกร์ หยุดเสาร์อาทิตย์แบบงานอื่นๆ

     อีกทั้งน้องที่อยากจะเป็นสัตวแพทย์ในอนาคต น้องเองต้องมีความชอบสัตว์ มีจิตใจที่เข็มแข็ง สติตั้งมั่นและสามารถทนเห็นน้องหมาที่อยู่ในสภาพทุกข์ทรมานได้ และต้องมีจิตใจที่อยากจะช่วยเหลือสัตว์เหล่านั้น เพราะเท่าที่เคยเห็นมีบางคนที่รักสัตว์มากแต่ก็กลัวเลือด ไม่กล้าที่จะเจาะเลือดเพราะกลัวเข็ม หรือกลัวน้องหมาเจ็บ อันนี้ก็ท่าทางจะเรียนลำบากอยู่นะครับ
 
     สุดท้ายพี่ขอเป็นกำลังใจให้กับน้องๆ ทุกคนที่อยากจะเป็นสัตวแพทย์ที่ดีในอนาคตครับ ตั้งใจเรียนหนังสือ และลองไปสัมผัสประสบการณ์งานด้านสัตวแพทย์ดูเพื่อความมั่นใจครับ สู้ สู้ นะครับ
 



  
 
 
     
                  ด้วยเวลาที่จำกัด ทำให้การหาคุณหมอสัตว์ใหญ่มาสัมภาษณ์ค่อนข้างลำบากเล็กน้อย เอาเป็นว่าถ้ามีโอกาส พี่เป้ จะหาบทสัมภาษณ์จากคุณหมอสัตว์ใหญ่มาฝากนะคะ แต่เชื่อว่าอ่านจบแล้ว คงทำให้น้องๆ หลายคนค้นพบมากขึ้นว่าอยากจะเรียนสัตวแพทย์จริงๆ รึเปล่า อาชีพนี้ไม่ใช่เรื่องยากสำหรับคนที่ตั้งใจ รักสัตว์ และพร้อมจะช่วยเหลือพวกเค้าด้วยใจจริงๆ เอาเป็นว่าถ้าใครตั้งใจจริงๆ พี่เป้ พี่หมออ๊อบ และพี่หมอเหนือก็จะคอยเป็นกำลังใจให้นะคะ สู้ๆ !
 
 

 

พี่เป้
พี่เป้ - Columnist มนุษย์บ้างานและบ้านวด ผู้ตกหลุมรักปลาแซลมอน การนอน และและออฟฟิศ

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

กำลังโหลด

44 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด
ยายเมี้ยน 18 ธ.ค. 52 08:58 น. 3
ที่ 3 ก้ออยากเรียนนนนนนนนนนนนนน

เคยไปเห็นคณะสัตวแพทย์ มช.

แช่หมาแมวดองเป็นถังหญ่ายเลยค้าบพี่น้อง

ซีดเชียว
0
กำลังโหลด
นักศึกษาคณะสัตวแพทย์ 18 ธ.ค. 52 12:19 น. 4
ถึงความเห็นที่3

ถ้าไม่แช่หมา และ แมว น้องจะศึกษาเรื่องเกี่ยวกับหมาและแมวยังไงล้ะคะ

พี่ว่าไม่ว่าน้องจะไปมหาวิทยาลัยไหนที่มีคณะสัตวแพทย์ น้องก็ต้องเจอหมาและแมวดองทั้งนั้นล่ะค่ะ

และหมาและแมวเหล่านี้ก็เป็นผู้ที่มอบความรู้ให้กับพวกพี่ๆด้วย
0
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
bowvet 69 18 ธ.ค. 52 20:01 น. 7
เฮ้อ..แต่เหนื่อยนะคะน้อง..กว่าจะเปนสัตวแพทย์เนี่ย ดองๆนี่ลืมไปเลย มีไรที่เครียดกว่านี้เยอะ
0
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
JAAOHHH,,* Member 18 ธ.ค. 52 23:36 น. 12
ไม่ว่าจะยังไงก็สู้ๆๆๆๆๆๆๆ

ยิ่งอ่านยิ่งอยากเรียน T T  หนูจะต้องติดให้ได้เลย   

ไฟท์ๆๆๆๆ  อ่านหนังสืออออออออออออออออออ  

แต่ปีนี้รู้สึกว่าคนอยากเรียนเยอะมากๆ   ยังไงก็จะตั้งใจๆๆ  เพื่อ VET!!!!!

อ่านหนังสือกันเยอะๆนะทุกคนนนนน!!!  

แก้ไขครั้งที่ 1 เมื่อ 18 ธันวาคม 2552 / 23:37
0
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
นศ.สพ.แอลดีเอ็ม Member 19 ธ.ค. 52 02:16 น. 15
เรารักษาสัตว์ เกียรติประวัติลำเค็ญเรื่อยมา ยินดีต้อนรับทุกคนที่อากเรียนนะคะ
0
กำลังโหลด
กำลังโหลด
okeme 19 ธ.ค. 52 09:27 น. 17
อยากเรียนสัตวแพทย์มากกกเง้อออ

แต่ต้องเรียนเทคนิคการแพทย์

เหอๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆ

อยากเรียนๆๆๆๆ แต่ติดที่พ่อแม่
0
กำลังโหลด
เพนกวินชายหาด Member 19 ธ.ค. 52 11:44 น. 18
ภาพประกอบน่ารัก (ชอบภาพน้องหมาเอามือตบหัวน้องแมวเป็นพิเศษ กลมดีนะเจ้าเหมียว)  น่ารักพอกันทั้งสัตว์และคุณหมอ 55+

เป็นหมอนี่ไม่ง่ายเลยจริงๆ แอบเห็นใจคุณหมอนะที่ต้องได้ยินประโยคที่ว่าเพราะพามาหาคุณหมอถึงตาย (ใครพูดกันนะร้ายกาจจริงๆ)

ชื่นชมคนเก่ง+ดีค่ะ
0
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด