คณะแพทยศาสตร์ Issue 002 week2, January 2010
 
คณะแพทยศาสตร์
ตอนที่ 2/4 : บันทึกชีวิต 6 นศ.แพทย์ จาก 5 สถาบัน
 
ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย

เด็กดีดอทคอม :: ตามติด 3 ชีวิตพิชิตคณะแพทยศาสตร์; tags: admission, แอดมิชชั่น, กสพท, จุฬา, มหิดล, รามา, แพทย์, หมอ

        
        สวัสดีค่ะน้องๆ ชาว DEK-D.com มาแล้ว มาแล้ว เจอ พี่เป้ และคณะในฝันกันอีกเช่นเคยนะคะ ^^ สัปดาห์นี้แอบมาช้าแต่ก็ชัวร์นะ สำหรับวันนี้ก็เป็นสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนมกราคมซึ่งเรายังอยู่กันที่คณะแพทยศาสตร์ สำหรับวันนี้ขอบอกว่าอลังการมากๆๆๆๆ เพราะ พี่เป้ ขนรุ่นพี่นิสิตนักศึกษาแพทย์ทั้งจากเมืองไทยและเมืองนอกรวมทั้งสิ้น 6 คน 6 ชั้นปี 5 สถาบัน !! ยิ่งใหญ่มั้ยล่ะ ! เอาใจน้องๆ ที่อยากเรียนแพทย์เต็มที่ การเรียนแพทย์จะหนักแค่ไหน แต่ละปีเรียนอะไร วิชาไหนสนุกวิชาไหนโหด ทุกข้อสงสัยมีคำตอบอยู่ข้างล่างแล้วค่ะ

 

     รุ่นพี่คนที่ 1
นศ.พ. อริสราภรณ์ พงษ์ทองเจริญ (จุ๋งจิ๋ง)
Southwestern University ประเทศฟิลิปปินส์
ชั้นปีที่ 1


พี่เป้ : ช่วยแนะนำตัวแก่น้องๆ หน่อยค่ะ
พี่จุ๋งจิ๋ง : สวัสดีค่ะน้องๆๆ ที่น่ารักทุกคนพี่ชื่ออริสราภรณ์ พงษ์ทองเจริญ  เรียกสั้นๆ ว่า พี่จุ๋งจิ๋ง  ตอนนี้พี่เรียนอยู่หมออยู่ที่ฟิลิปปินส์ ชื่อมหาวิทยาลัยว่า Southwestern University

พี่เป้ : อะไรคือแรงบันดาลใจในการเรียนแพทย์
พี่จุ๋งจิ๋ง : เเรงบันดาลใจของพี่ก็คือการช่วยชีวิตคนให้พ้นจากความทุกข์ในเรื่องของความเจ็บป่วย นับว่าเป็นบุญกุศลอย่างยิ่ง ตอนเด็กๆ พี่ต้องดูเเลคุณย่าของพี่ซึ่งป่วยเป็นอัลไซเมอร์ ซึ่งพี่ก็ต้องอาบน้ำให้ท่าน ทำทุกอย่างเท่าที่ทำได้ และในขณะเดียวกันนั้นคุณปู่ของพี่ก็ร่างกายไม่เเข็งเเรง พี่ก็มีหน้าที่ต้องต้มน้ำอุ่นให้ปู่ของพี่ซึ่งสมัยก่อนบ้านพี่ไม่มีเครื่องทำน้ำอุ่น ก็ต้องใช้กาน้ำต้มน้ำเนี่ยละ ซึ่งพี่คิดว่าถ้าพี่มีความรู้ในตอนนั้น พี่ก็อยากจะช่วยปู่ของพี่เเล้วก็ย่าของพี่ได้มากกว่านี้ เเต่ตอนนี้พี่ก็อยากช่วยคนบนโลกนี้มีความทุกข์ในเรื่องของความเจ็บป่วยให้หายป่วย และเมื่อเค้าหายป่วยเค้าก็มีความสุข เราก็มีึความสุขไปด้วย ส่วนความคิดของพี่นั้นพี่ไม่สนใจจะหวังเงินทอง เเต่การที่ทำความดีสิถึงจะอยู่คู่ควรกับบนโลกนี้ไปอย่างไม่มีวันจางหายไป

พี่เป้ : แล้วทำไมถึงตัดสินใจไปเรียนหมอที่ฟิลิปปินส์
พี่จุ๋งจิ๋ง :ก่อนอื่นพี่ก็ต้องขอขอบคุณคำถามนี้เป็นอย่างเเรงๆๆๆ พี่ก็อยากเรียนเเพทย์อินเตอร์ จะไปเรียนที่เมกา มันก็เเพงมากมาย ไม่รู้จะเเพงไปไหน ปีละ 3-4 ล้าน แล้วพี่ก็ไม่มีเงินขนาดนั้น เเล้วพี่ก็ไม่ได้สอบเเพทย์ที่เมืองไทย แถมมหาวิทยาลัยที่ฟิลิปปินส์นี้ก็มีรุ่นที่พี่รู้จักจบมามีชื่อเสียงหลายคน เลยตัดสินใจมาเรียนที่นี่

พี่เป้ : การเรียนเป็นยังไงบ้าง รวมถึงการปรับตัวให้เข้ากับที่นั่น ต้องทำยังไงบ้าง
พี่จุ๋งจิ๋ง : การเรียนก็ยากพอสมควร เพราะไหนเราจะต้องเรียนเป็นภาษาอังกฤษเเล้ว ยังจะต้องปรับตัวให้เข้ากับสภาพเเวดล้อมทางเมืองด้วย เพราะมลพิษมากมายเหลือเกิน บางวันกลับมาหอเเล้วก็ไม่สบายไปเลย สลบไปเลยค่ะ การเข้ากับสังคมที่นี่ก็ดูจะง่ายเพราะผู้คนเมืองที่นี่ก็ใจดี ถ้าเจอดีก็ดี โชคดีไป เเต่ถ้าโชคร้ายเจอคนไม่ดีก็เเย่เช่นกัน

พี่เป้ : แล้วที่นั่นมีกิจกรรมให้ทำเยอะเหมือนมหาวิทยาลัยที่ไทยบ้างมั้ย
พี่จุ๋งจิ๋ง : กิจกรรมที่เมืองนอกนั้นก็ไม่มีอะไรมากมายหรอก ส่วนใหญ่เราเป็นนักศึกษาต่างชาติด้วยเเล้วยิ่งไม่มีงานอะไรเลย ฉะนั้นก็จะมีเวลา อ่านหนังสือ กิน เที่ยว เล่น นอน จ้า

พี่เป้ :คิดว่าทำไมการเรียนหมอที่ฟิลิปินส์ถึงค่อนข้างมีชื่อเสียง
พี่จุ๋งจิ๋ง : คนที่มาเรียนก็มีเเต่พวกบ้านคนรวยมาเรียน ( ยกเว้นพี่ ) เพราะค่าใช้จ่ายก็ตกปีละ 4-5 เเสน พวกคนอินเดียจะมาเรียนเยอะมาก แล้วอีกอย่างที่ฟิลิิปปินส์ก็เป็นเมืองส่งออกหมอกับพยาบาลได้มากมายในเต่ละปี

พี่เป้ : สุดท้ายอยากให้ฝากถึงน้องๆ ที่อยากเข้าคณะนี้
พี่จุ๋งจิ๋ง : คณะนี้เป็นคณะที่ใฝ่ฝันของเด็กทั่วโลกไม่เฉพาะเเต่ในประเทศไทยเท่านั้น อีกหลายประเทศก็เป็นอย่างบ้านเราที่จะมีคนอยากเรียนหมอ เเต่ว่าในเเต่ละปีรับน้อยเอาเหลือเกิน เเต่น้องๆๆ ก็ไม่ต้องเสียใจนะ ถ้าสอบไม่ติดบนโลกนี้ยังมีโอกาสให้น้องอีกมาก คณะนี้ชื่อก็บอกอยู่เเล้วว่าเป็นหมอ ก็ต้องเรียนหนักเป็นธรรมดา เมื่อเรียนจบมาเเล้วก็จะัมีงานรองรับเลย เรียนไปไม่ตกงานเอาเเน่นอน แถมได้ช่วยเหลือคนอีกต่างหาก ใครที่คิดจะเรียนก็ต้องตั้งใจเรียนตั้งเเต่วินาทีนี้เลย เพราะทุกวินาทีนั้นมีค่า สุดท้ายนี้พี่ก็ขอให้น้องที่กำลังจะสอบเข้าหมอในไทยหรือว่าที่ไหนก็ตามบนโลกใบนี้ให้ได้ดั่งสมใจปรารถนานะจ๊ะ

      



 

 

   รุ่นพี่ คนที่ 2
นศ.พ.จรรยวรรษมน กิตติพิริยะกุล (ทราย)
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
หลักสูตรแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ชั้นปีที่ 2
 

พี่เป้ : อยากให้ช่วยแนะนำตัวแก่น้องๆ หน่อยค่ะ
พี่ทราย : ชื่อนางสาวจรรยวรรษมน กิตติพิริยะกุล ชื่อเล่นชื่อ ทราย ค่ะ มาจากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล หลักสูตรแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ตอนนี้เรียนอยู่ปีสองค่ะ

พี่เป้ : ทำไมทรายถึงอยากเรียนคณะแพทยศาสตร์ล่ะ
พี่ทราย : ที่อยากเรียนส่วนหนึ่งก็เพราะว่าคุณพ่อเป็นหมอ และคุณแม่เป็นพยาบาล จึงทำให้ได้คลุกคลีกับวิชาชีพนี้มาตั้งแต่เด็กๆ และมีผลการเรียนที่ค่อนข้างดี ใครๆ จึงปลูกฝังความคิดที่ว่าโตขึ้นก็น่าจะเป็นหมอ เลยอยากเป็นหมอมาตั้งแต่เด็กๆ ทั้งที่ยังไม่ค่อยรู้เรื่องรู้ราวอะไรมาก แต่พอเริ่มโตมาถึงได้รู้และเข้าใจว่าการเป็นหมอคืออะไร และค้นพบว่าตัวเองอยากเป็นหมอจริงๆ อยากช่วยเหลือคนที่ตกทุกข์ได้ยาก เพราะเวลาได้ช่วยคนที่ลำบากเพียงเล็กน้อยแล้วรู้สึกได้ถึงความสุขในใจเรา คิดว่าเกิดมาแล้วน่าจะทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมไม่มากก็น้อย และเวลาได้เห็นคุณพ่อหรือรุ่นพี่ที่ประกอบอาชีพนี้ทำงานอย่างตั้งใจแล้วอยากจะเป็นให้ได้แบบนั้นค่ะ

พี่เป้ : แล้วทำไมถึงเลือกที่ศิริราชนี่ล่ะคะ
พี่ทราย : เพราะคุณพ่อจบจากศิริราชค่ะ และรู้สึกว่าศิริราชเป็นสถาบันต้นกำเนิดของวิชาชีพแพทย์ในเมืองไทย ศิริราชดูเป็นสถาบันที่มีความอบอุ่นเหมือนเป็นบ้านหลังใหญ่ที่น่าพักพิงหลังหนึ่ง และทั้งอาจารย์และรุ่นพี่ที่จบจากที่นี่ดูมีความน่าเคารพนับถือ เป็นแบบฉบับของแพทย์ที่ดีในความรู้สึกของทรายมานานค่ะ

พี่เป้ : แล้วตอนจะสอบเข้ามา มีวิธีเตรียมตัวยังไงและได้คะแนนสอบเท่าไรบ้าง
พี่ทราย : ตอนจะสอบเข้าเตรียมตัวโดยการจัดตารางเวลาทบทวนบทเรียนเอาเองคะ ไม่ได้เรียนพิเศษเลย เพราะไม่ชอบเรียนพิเศษ และอยากช่วยคุณพ่อคุณแม่ประหยัดเงิน วิธีการอ่านหนังสือก็คือจัดเวลาอ่านแทบทุกวัน วันละ 2 ชั่วโมงเป็นอย่างต่ำ แต่ช่วง ม.หกคือต้องอ่านอย่างน้อยสัก 3 ชม. และถ้ามีเวลาเหลือจากการทำการบ้านหรือทำสิ่งที่จำเป็นต้องทำแล้วก็พยายามอ่านหนังสือให้ได้มากที่สุดคือ 4-5 ชั่วโมง โดยอ่านวันละ 1-2 วิชาค่ะ โดยช่วงต้นปีของ ม.หก (รวมช่วงปิดเทอม) จะไล่อ่านเนื้อหาตั้งแต่เนื้อหาม.4 ทบทวนทำความเข้าใจ จบบทหนึ่งก็ทำแบบฝึกหัดท้ายบท ถ้าพอทำได้เข้าใจแล้วก็ไปไว ถ้าทำไม่ได้จุดไหนก็เปิดกลับมาค้นคว้าในเนื้อหาทำความเข้าใจใหม่ แล้วพอปิดเทอมกลางก็เอาโจทย์เอนทรานซ์เก่าๆ มาฝึกทำ

จริงๆ สอบติดผ่านระบบโควต้าก่อนนะคะ แต่ก็ไปสอบ A-Net, O-Net ด้วย แล้วคำนวณเล่นๆก็อยู่ในช่วงที่สอบติดศิริราชแบบกสพท.ค่ะ

O-Net
คณิตฯ ได้ 95
ภาษาอังกฤษได้ 92
ภาษาไทยได้ 80
วิทยาศาสตร์ได้ 80
สังคม 45

A-Net
คณิตฯ ได้ 54
ภาษาอังกฤษได้ 83
ภาษาไทยได้ 75
วิทยาศาสตร์ได้ 66
สังคมได้ 43

พี่เป้ : ขึ้นปี 2 แล้วก็ได้เริ่มเรียนวิชาแพทย์จริงๆ ทรายชอบวิชาไหนบ้าง
พี่ทราย :วิชาที่ชอบคิดว่าเป็นวิชา มหกายวิภาคศาสตร์ค่ะ (Gross Anatomy) ได้เรียนกับร่างอาจารย์ใหญ่ ซึ่งท่านได้อุทิศตนมาให้นักศึกษาแพทย์อย่างพวกเราได้ศึกษาอย่างใกล้ชิด วิชานี้เป็นจุดเริ่มต้นของการหัดใช้เครื่องมือทางการแพทย์ แม้จะแค่เล็กๆน้อยๆ ได้สร้างความคุ้นเคยกับกับร่างกายมนุษย์อย่างแท้จริง ซึ่งสำคัญมากต่อการปฏิบัติงาน รักษาคนไข้เมื่อก้าวไปเป็นแพทย์ จะหนักก็ที่ต้องท่องจำอะไรมากมาย ทั้งเส้นประสาท กล้ามเนื้อ เส้นเลือดเลือด กระดูก ฯลฯ รู้จุดตั้งต้นจุดสิ้นสุด ที่เกาะของเนื้อเยื่อต่างๆเหล่านี้

พี่เป้ : ว่ากันว่าเรียนหนักมาก แล้วเครียดบ้างมั้ย
พี่ทราย : ที่ก็ค่อนข้างเครียดเป็นระยะๆ นะคะ เพราะว่าอย่างที่เข้าใจกันนั่นแหละว่า คณะนี้มีแต่หัวกะทิทั้งนั้น เวลาสอบมีนออกนี่ถึงกับอึ้งว่าทำไมมีนมันสูงอย่างนี้... กับเนื้อหาที่อัดแน่น และใหม่ทั้งหมดทำให้การเรียนค่อนข้างเข้มข้น มีเวลาหยุดพักน้อยมาก พอขึ้นมาปีสอง ช่วงปิดเทอมกลางก็ลดจากหนึ่งเดือนเป็นหนึ่งอาทิตย์ หลายครั้งพอสอบเสร็จหยุดเสาร์-อาทิตย์ วันจันทร์กลับมาก็เจอเนื้อหาใหม่ทันที ซึ่งนักศึกษาแพทย์ก็จะมีหลายรูปแบบนะคะ บางคนก็ไม่ค่อยขยัน แต่เป็นคนเรียนรู้ไว เข้าใจอะไรง่าย แค่สม่ำเสมอสักหน่อยก็ทำคะแนนได้ดี บางคนก็ขยันมากๆ และทำกิจกรรมน้อย คะแนนก็เลยดี และบางคนก็ทำกิจกรรมไปด้วย แต่แบ่งเวลาดี การเรียนเลยไปได้สวย ส่วนทรายเอง... รู้สึกว่าจริงๆต้องขยันมากหน่อยเพราะเป็นคนที่เข้าใจอะไรยากไปนิด ต้องอ่านล่วงหน้าก่อนเรียนถึงจะเรียนได้อย่างเข้าใจ แต่ที่ผ่านมาบางทีก็อ่านไม่ทัน ไม่ได้อ่านไปก่อน พอไปนั่งเรียนก็รู้สึกว่าเข้าใจยาก เลยแอบเครียดๆ บ้างเหมือนกันค่ะ

 

พี่เป้ : แล้วมีความภูมิใจในสถาบันของตัวเองยังไงบ้างคะ
พี่ทราย :ภูมิใจที่สถาบันเรามีอาจารย์แพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิ มากด้วยความสามารถหลายท่าน สร้างสรรค์ผลงานดีๆและสร้างประโยชน์เพื่อสังคมและประเทศชาติ อย่างการผ่าตัดหัวใจแฝดสยาม "ปานตะวัน-ปานวาด" ได้สำเร็จ เป็นต้น และยังภูมิใจที่สถาบันเรามีวัฒนธรรมองค์กรที่เหนียวแน่น อย่างเรื่องการให้เกียรติผู้ที่อาวุโสกว่า การมีความเป็นพี่เป็นน้องกัน คณะแพทย์มีความรักและดูแลกันแบบพี่น้องเหมือนเป็นครอบครัวเดียวกัน

พี่เป้ : ฝากถึงน้องๆ ที่อยากเข้าคณะนี้หน่อยค่ะ
พี่ทราย : ก็อยากจะฝากไว้ว่าน้องๆที่มีความฝันอยากจะเข้าคณะนี้ ขอให้ทบทวนดู "ความฝัน" ของตัวเองให้แน่ใจอีกครั้งว่าอยากจะเข้าคณะนี้จริงๆหรือเปล่า อยากเข้ามาแค่เพราะกระแสในสังคม แค่เพราะมองว่าการเรียนหมอนั้นดูดี เท่ห์ และมีรายได้ดีเท่านั้นหรือเปล่า... หากมองเพียงเท่านั้น ก็ขอให้เปลี่ยนใจไปเรียนอาชีพอื่น เพราะวิชาชีพนี้เหมาะกับบุคคลที่คิดจะ "ให้" และ "ไม่หวังผลประโยชน์ส่วนตัว" อาชีพแพทย์ไม่ใช่อาชีพเพื่อสร้างรายได้จำนวนมากอย่างที่หลายคนอาจจะเข้าใจ นอกจากนั้นแล้ว การเรียนแพทย์ยังเป็นอะไรที่หนักมากๆ น้องจะต้องให้เวลากับการเรียนมากกว่าเรื่องอื่นๆ เพื่อที่จะนำความรู้ไปรักษาคนเจ็บป่วยให้หาย บางทีต้องเก็บเรื่องแฟนไว้คิดทีหลัง มีเวลาให้ทางบ้านน้อยลง ไม่ค่อยได้กลับบ้าน ต้องอยู่เวรดึก อดหลับอดนอน... และหากน้องได้ค้นพบว่าตัวเองรักที่จะ "ช่วยเหลือผู้อื่น" อย่างแท้จริง ก็ยินดีต้อนรับสู่เส้นทางการเป็นแพทย์นะคะ

 

 

รุ่นพี่ คนที่ 3 : นศ.พ.วิภาดา ทูลภิรมย์ (หยก) วิทยาลัยแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข
สาขาแพทยศาสตร์
มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ชั้นปีที่ 3
 

พี่เป้ : ก่อนอื่นแนะนำตัวหน่อยค่ะ
พี่หยก : นศ.พ.วิภาดา ทูลภิรมย์ ชื่อเล่นหยก (แต่ในเด็กดีเรียกงุงิกันมากกว่า อิอิ) วิทยาลัยแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข สาขาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ชั้นปีที่ 3 ค่ะ

พี่เป้ : อะไรเป็นแรงบันดาลใจให้หยกอยากเรียนแพทย์ล่ะ
พี่หยก : ถ้าตอบแบบนางงามหรือแบบสอบสัมภาษณ์ก็จะบอกว่า “อยากช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ค่ะ” ฮ่าๆ แต่ถ้าจะให้พูดความจริงก็คือ ในตอนนั้นคิดว่าเราน่าจะสอบได้นะ ถ้าทำได้ มันก็ดี จบไปมีงานทำ พ่อแม่ก็จะไม่ลำบาก คือในตอนนั้นยังไม่ได้มีความรู้สึกรักชอบในวิชาชีพนี้เป็นพิเศษ (แต่ก็ไม่ได้รักชอบวิชาชีพอื่นใดเหมือนกัน เหอๆ) แต่พอได้เรียนมาเรื่อยๆ แล้ว ก็เริ่มรู้สึกว่า สิ่งที่เรากำลังทำอยู่มันสำคัญนะ ลองนึกภาพญาติพี่น้องของคนไข้เค้ากระวนกระวาย ใจจดใจจ่อรอหมอที่หน้าห้องผ่าตัด แล้วเราเดินออกมาบอกว่า “ลูกของคุณปลอดภัยแล้วค่ะ” อืม....มันคงจะรู้สึกดีไม่น้อยเลย ขนาดเรายังดีใจ แล้วญาติพี่น้องเค้าจะดีใจกว่าเรากี่ร้อยกี่พันเท่า เหมือนกับว่าเราไม่ได้ช่วยแต่คนไข้คนเดียว แต่ช่วยเค้าทั้งครอบครัว (ชอบทำบุญคราวละมากๆ ฮ่าๆๆๆ)

พี่เป้ : ลองพูดถึงสถาบันของตัวเองหน่อยสิว่าเป็นยังไงบ้าง
พี่หยก : วิทยาลัยแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เป็นโรงเรียนแพทย์เปิดใหม่ค่ะ ตอนนี้เรามีนักศึกษากัน 4 รุ่น เปิดสอนในหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต (พ.บ.) หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต (วท.บ.สาธารณสุขศาสตร์) และ หลักสูตรสาธารณสุขศาสตรบัณฑิต (ส.บ. ต่อเนื่อง) ในส่วนของหลักสูตรแพทยตรบัณฑิต ที่นี่เป็นโรงเรียนแพทย์ที่อยู่ในโครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท โดยรับนักเรียนในพื้นที่
4 จังหวัด คือ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ ยโสธร และอำนาจเจริญ
ระยะเวลาที่เรียนคือ 6 ปี (อันนี้ก็เหมือนกับโรงเรียนแพทย์ที่อื่น) โดยในสามปีแรกซึ่งเป็นชั้น Preclinic จะเรียนที่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และอีกสามปีหลังชั้น Clinic เรียนที่โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ ซึ่งอยู่ที่อุบลฯ นี่แหละ

การเรียนการสอนของที่วิทยาลัยของเราจะต่างจากโรงเรียนแพทย์แห่งอื่นๆ ตรงที่เราจัดการเรียนการสอนแบบ Block course ในขณะที่หลายๆ แห่งจัดการเรียนการสอนแบบ Conventional course งงใช่มั๊ย ไม่แปลก ฮ่าๆๆ คืองี้ค่ะ

- การเรียนการสอนแบบ Conventional course ก็เหมือนกับที่น้องๆ เรียนมัธยมกันนี่แหละ คือเรียนพร้อมกันหลายวิชา แล้วก็แบ่งสอบ Midterm และ Final เช่น เวลาเรียน Physio, Anatomy ก็เรียนไปพร้อมๆ กัน จนหมดเทอม แล้วก็สอบ พอขึ้นเทอมใหม่ก็ขึ้นวิชาใหม่ เหมือนที่น้องๆ กำลังเรียนเลยใช่มั๊ยคะ

- แต่การเรียนแบบ Block course นี้จะเรียนเป็นระบบ เช่น ระบบหายใจ น้องจะได้เรียนทุกอย่างที่เกี่ยวกับการหายใจ ตั้งแต่ภาวะปกติไปจนถึงความผิดปกติ ตลอดจนการรักษา (ประมาณว่าถ้าเรียน Anatomy ก็เรียนเฉพาะอวัยวะที่เกี่ยวกับการหายใจ ตับไม่ใช่ ก็เก็บไว้เรียน Block อื่น) พอเรียนจบหมดแล้วก็สอบ ปิด Block แล้วก็ขึ้นวิชาใหม่ ถ้าเรียนระบบย่อยอาหาร ก็เริ่มเรียนภาวะปกติ ภาวะผิดปกติ และการรักษาโรคของระบบย่อยอาหาร (คราวนี้ Anatomy ก็เรียนตั้งแต่ปากถึงทวารหนัก และอวัยวะอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการย่อยอาหาร) แล้วก็สอบ เรียนเสร็จทีละวิชาๆ แบบนี้ไปเรื่อยๆ จนครบทุกระบบของร่างกาย ดังนั้นจึงไม่มีการสอบแบบ Midterm, Final ให้ได้เชยชม

แวะเข้าไปดูรายละเอียดที่เว็บไซต์ของวิทยาลัยได้นะคะ (www.cmp.ubu.ac.th)

พี่เป้ : ถ้าให้ลองเปรียบการเรียนแพทย์เป็นอะไรสักอย่างนึง หยกคิดว่าเป็นอะไรดี
พี่หยก : เพื่อนบอกมาว่า “เข็นครกหินยักษ์ขึ้นภูเขา”ˆ^ ^ ออกแนวเห็นด้วยกับความคิดนี้ เพราะทั้งเหนื่อย ทั้งหนัก แต่เราก็ต้องไปต่อ ต้องเข็นครกหินยักษ์ไปจนถึงยอดเขา เพื่อนำครกไปส่งให้กับคนบนนั้น (ไม่รู้ว่าเอาไปตำส้มตำหรือทำกระไร แต่ที่แน่ๆ คนเหล่านั้นต้องได้ประโยชน์จากครกของเรา) ถ้าหยุดเดิน ครกก็อาจจะกลิ้งลงมาทับตัวเอง จะหนีไป เลิกเข็นมันแล้วครกอันนี้ ก็จะหนีไปทางไหนล่ะ เราอยู่บนเขา ไม่ได้มีทางด่วนหรือทางเลี่ยงเมืองให้เลือกหรอก ดังนั้นถึงต้องสู้ อดทน และตั้งใจ ถ้าเราเดินไม่ระมัดระวัง นอกจากเราจะพลาดตกเขาได้แล้ว คนข้างล่างอาจได้รับบาดเจ็บจากครกยักษ์ที่ตกลงไปทับก็เป็นได้ (เหมือนกับว่าถ้าน้องรักษาคนแบบไม่ตั้งใจ ไม่ระมัดระวัง คนไข้นั้นก็จะเป็นผู้รับเคราะห์ไป น่าสงสารนะ แล้วน้องก็จะโดนฟ้องเป็นของแถมด้วย เหอๆ)

พี่เป้ : ว่าแต่ในแถบภาคอีสานนั้น เค้ามีความเชื่อเรื่องการรักษาหรือพิธีกรรมอะไรบ้าง
พี่หยก : ที่เจอเองจริงๆ แล้วมีไม่มากค่ะ แต่บรรดาอาจารย์นี่จะเห็นมาหลายรูปแบบ แต่ละเคสนี่ไม่เหมือนกันเลย อย่างที่หยกเจอนี่ส่วนมากจะเป็นหมอน้ำมนต์น่ะค่ะ คือเวลาเป็นโรคอะไรขึ้นมาเค้าจะไม่ไปโรงพยาบาล แต่จะไปหาหมอน้ำมนต์ก่อน ไปให้หมอเป่าน้ำมนต์เป่าให้ บางรายเป็นโรคติดเชื้อที่ผิวหนัง โดนน้ำมนต์ที่อมแล้วเป่าลงแผล แผลก็เลยสวยงาม ลามไปเยอะกว่าเดิมซะงั้น แต่หมอน้ำมนต์บางที่เค้าก็ดีนะคะ มีผู้ป่วยกระดูกหักไปหา บอกให้เป่าให้ หมอก็เป่าให้ แล้วก็บอกว่า “การรักษาจะดี และทำให้หาย ต้องไปโรงพยาบาลด้วยนะ”

   อีกเคสที่ได้ยินมาแล้วค่อนข้างตกใจนิดหน่อยก็คือผู้ป่วยเบาหวานค่ะ คือคนที่เป็นเบาหวานเนี่ย ถ้าเป็นแผลแล้วแผลจะหายช้า ส่วนมากมักเป็นที่เท้า แล้วใช้เวลานานกว่าคนปกติมากกว่าที่แผลจะหาย (บางทีทำนาทำไร่ไม่สวมรองเท้าก็ยิ่งไปกันใหญ่) หมอก็มักจะคนไข้ว่า อย่าให้เท้าเป็นแผลนะ เดี๋ยวได้ตัดขา ชาวบ้านก็จะกลัวการตัดขามาก เพราะเชื่อว่าถ้าตัดขาแล้วชาติหน้าเกิดมาจะไม่มีขาน่ะค่ะ ที่นี้พอเป็นแผลแล้วก็ไม่ยอมไปหาหมอ ไม่ไปรักษาเพราะกลัวหมอตัดขา แผลก็ลามไปมาก (กลายเป็นเนื้อตายดำๆ น่ะค่ะ) สุดท้ายก็ได้ตัดขาจริงๆ

    มีอีกที่เป็น มันลามไปทั่วเท้าแล้ว กินนิ้วเท้าหมด มองไม่เห็นเป็นนิ้วเลย ลองมาหลายวิธีค่ะ หมอน้ำมนต์บ้าง ยาต้ม ยาสมุนไพร มีคนนึงบอกเค้าว่าให้ต้มน้ำเดือดๆ แล้วจุ่มเท้าลงไป เค้าก็ทำ เนื้อสุกหมดเลยค่ะ (แต่เค้าไม่รู้สึกเจ็บหรือร้อน เพราะเนื้อตายหมดแล้ว) จนแล้วจนรอดก็ได้ไปโรงพยาบาล แต่อาจารย์หมอเก่งมากค่ะ ไม่ได้ตัดขาเค้าทิ้ง ค่อยๆ รักษา ตัดเล็มเนื้อตายทิ้ง ค่อยๆ เลี้ยงเนื้อเยื่อ ฟื้นฟูไปทีละนิด ใช้เวลานานพอดู แต่เค้าก็ไม่เสียเท้าไป น่าดีใจจริงๆ ค่ะ (แม้ว่าจะเสียนิ้วเท้าไปแล้วก็เหอะ)

 

                

พี่เป้ : แล้วอนาคตอยากเป็นหมออะไรคะ
พี่หยก : ตอนนี้ยังไม่ได้คิดเลยค่ะ จริงๆ แล้วที่คิดไว้ก็มีหลายอย่างนะ อยากเป็นโน่นอยากเป็นนี่ แต่หนทางอีกยาวไกลยิ่งนัก คงจะเปลี่ยนไปหลายรอบเลยล่ะค่ะ

พี่เป้ : สุดท้ายอยากให้ฝากถึงน้องๆ ที่อยากเข้าคณะนี้
พี่หยก : ส่วนคนที่อยากเข้าคณะนี้ อันดับแรกเลยต้องบอกน้องๆ ไว้ก่อนว่าการเรียนแพทย์นั้น เหนื่อย และหนักจริงๆ ถึงขนาดที่ว่าคนที่ใจรักก็ยังท้อแท้ได้เลย การเป็นหมอนั้นอยู่กับความเป็นความตายของคน ความผิดพลาดจึงไม่ควรจะเกิดขึ้น ดังนั้นเวลาเรียนก็จะเครียดมากหน่อย ถ้าไม่รู้จักวิธีผ่อนคลายอารมณ์และระบายความเครียดก็แย่กันไปบ้างก็มี ถ้ายอมรับตรงจุดนี้ได้น้องจะเรียนอย่างมีความสุขมากขึ้น (ไม่ได้ขู่ให้น้องๆ กลัวนะคะ บางคนเค้าไม่เครียดเลยก็มีเหมือนกัน มันพวกเทพ ฮ่าๆๆ) เมื่อยอมรับ (หรือปลงตก??) กับความเหนื่อยยากที่ต้องเผชิญได้แล้ว และยืนยันว่าอยากเรียนจริงๆ ขอให้น้องๆ ตั้งใจอ่านหนังสือค่ะ ควรที่รู้จักวิธีการอ่านหนังสือที่เหมาะกับตัวเองด้วย เพราะแต่ละคนมีเทคนิคในการอ่านหนังสือไม่เหมือนกัน พี่เอาใจช่วย สู้ๆ สู้ตาย ^______^

 

 

 

รุ่นพี่คนที่ 4 : นส.พ. ธนภพ บำเพ็ญเกียรติกุล (ภพ) คณะแพทยศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชั้นปีที่ 4
 

 

พี่เป้ : ก่อนอื่นช่วยแนะนำตัวแก่น้องๆ หน่อยค่ะ
พี่ภพ : สวัสดีครับน้องๆ พี่ชื่อพี่ภพนะครับ ธนภพ บำเพ็ญเกียรติกุล เป็นนิสิตชั้นปีที่ 4 คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยครับ

พี่เป้ : ทำไมถึงสนใจอยากเรียนคณะแพทย์ล่ะคะ
พี่ภพ : แรงจูงใจเหรอครับ สำหรับคนอื่นเนี่ยอาจจะมีแรงจูงใจจากความประทับใจในวัยเยาว์ที่เจอหมอใจดี หรือจากความอยากช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ แต่สำหรับพี่ ตรงไปตรงมาเลยนะครับ พี่เข้าเรียนคณะนี้จากการตัดตัวเลือก+จากความชอบในวิชาชีววิทยาครับ (ฟังดูเลวร้ายเนอะ) คือพี่ไม่ชอบวิชาทางการเมือง-การคำนวณทั้งหลาย ฉะนั้น รัฐศาสตร์ บัญชี เศรษฐศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์จึงไม่ใช่ที่ที่พี่จะไปแน่ๆ ส่วนวิชาพวกความคิดสร้างสรรค์นี่พี่ไม่ไหวเอาซะเลยครับ นิเทศ ศิลปกรรม และพวกสภาปัตย์จึงคงไม่ใช่ เหลือแต่ทางภาษา กับวิทย์ชีวภาพ ซึ่งพี่ก็เรียนแผนวิทย์มาและชอบอยู่พอประมาณ พี่เลยเลือกเรียนวิทย์ชีวภาพ และหวังใจว่าจะมาหาเรียนภาษาเพิ่มเอาถ้าสนใจ และพอดีปีพี่เป็นรุ่นไฟนอลสกอร์ที่วุ่นวายมหากาฬมากๆครับ พอดีแพทย์จุฬาฯประกาศผลก่อนส่วนกลาง พี่ก็เลยเข้าเรียนคณะนี้เลยครับ

พี่เป้ : พอมาเรียนจริงๆ ยากกว่าที่คิดไว้มั้ย
พี่ภพ : อืมมม สำหรับคณะพี่นะครับ ปี 1 นี่นับว่าเรียนง่ายสบายมาก มีแต่วิชาเลือกครับ ก็เลือกถูกใจถูกแนวก็สบายครับ ส่วนวิชาคณะ ก็แล้วแต่พื้นฐานแต่ละคนครับ แต่ได้ชื่อว่าสอบเข้าได้ก็ย่อมมีพื้นฐานดีพอควร ความยากของการเรียนคือถ้าวันหนึ่งน้องเกิดไม่เข้าใจบางประเด็น บางคาบ เมื่อเรียนไปเรื่อยๆก็จะเริ่มต่อยอดไม่ได้ เหมือนกับการสร้างบ้านแหละครับที่ต้องก่อฐานดีๆ ส่วนยอดจะได้ไม่ล้มครืน ยากที่สุดก็คือการสร้างฐานนี่แหละครับ การเรียนในคณะแพทย์จุฬาฯก็มีสอนแบบบรรยายอยู่ แต่ก็มีการสอนแบบให้น้องไปหาข้อมูลเอง นำมาอภิปรายกับเพื่อนๆ ซึ่งเป็นการเรียนที่เหนื่อยและยากมากครับ แต่เป็นการทำให้เราเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต เหมือนกับคณะสอนเราจับปลาแทนที่จะเอาปลามาป้อนเราน่ะครับ จับปลามันยากจะตาย ยากมากๆสำหรับเด็กๆที่กินแต่ปลาที่มีคนมาป้อนตลอด แต่จับปลาเป็นแล้วก็ไม่ต้องกลัวอดตายแล้วละครับ

พี่เป้ : สำหรับคนที่มีปัญหาเรื่องกลัวเลือดหรือกลัวผี จะมีวิธีแก้ยังไงบ้าง
พี่ภพ : อืมมม เรื่องนี้เป็นเรื่องธรรมดาครับ ไม่ต้องกลัว นานๆไปน้องจะหายกลัวเองครับเชื่อพี่สิ เพื่อนพี่คนนึงกลัวเลือดมาก เรียนเจาะเลือดกันเองตอนปี 3 ก็ลงไปเป็นลมกองกับพื้น ปัจจุบันเขาก็สามารถดูอาจารย์ผ่าตัดเลือกโชกมือได้โดยไม่กลัว หรือพี่เอง วันแรกที่เรียนกับอาจารย์ใหญ่ก็กล้าๆกลัวๆ แต่นานๆไปก็ไม่กลัวแล้วครับ เหลือแต่ความยำเกรงที่ท่านได้มอบร่างกายมาให้เราศึกษา เราก็ต้องศึกษาด้วยความเคารพ ความกลัวว่าท่านจะมาหลอกนี่ไม่มีเลยครับ เพราะเจตนาของคนจะเป็นครูจะมาหลอกลูกศิษย์ได้อย่างไร ส่วนเรื่องความกลัวผีของคนไข้ที่ตายในโรงพยาบาลนั้น ก็มีกลัวๆกันบ้างแหละครับ แต่นานๆไปก็ชินเอง เพราะความตายก็เป็นเรื่องธรรมดาของโรงพยาบาล และเป็นเรื่องธรรมดาของโลกครับ อยู่ๆไปน้องก็จะเริ่มเรียนรู้ ชิน และปลงครับ


พี่เป้ : ตอนนี้เรียนปี 4 ชั้นคลีนิกแล้ว เป็นยังไงบ้างคะ
พี่ภพ : คนไข้และญาติที่น่ารักหลายๆ คนให้ความเคารพเราที่เป็นนิสิตอายุ 20 กว่าๆ ว่าเป็นหมอคนนึง มีซื้อขนมอาหารต่างๆมาให้หมอตลอด ทำให้เราปลื้มใจว่าวิชาชีพนี้เป็นวิชาชีพที่คนยังมองว่าเป็นวิชาชีพสูง ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ได้อย่างชัดเจน มีคนไข้ที่เป็นขอทาน หมอก็รักษาด้วยมาตรฐานเดียวกันกับคนไข้ที่เป็นคุณหญิงคุณนาย และยังดูแลนอกเหนือจากเรื่องของความเจ็บป่วยด้วย หลายครั้งที่พี่หมอต้องคิดแทนคนไข้และช่วยคนไข้คิดแก้ปัญหาเรื่องค่าใช้จ่าย การเดินทาง การแก้ปัญหากับครอบครัวและชุมชน ทำให้พี่เข้าใจเลยว่าการเป็นหมอไม่ใช่แค่รักษาโรค แต่เราต้องรักษาคนและสังคมของเขา ให้เขาออกจากโรงพยาบาลไปมีชีวิตที่มีความสุขยั่งยืน

 พี่เป้ : คิดว่าคนที่จะเรียนหมอต้องมีคุณสมบัติยังไงบ้าง
พี่ภพ : คุณสมบัติหรือครับ..ต้องขยัน อดทน ไม่รู้อะไรก็สามารถหาทางทำให้ตัวเองรู้ได้ เพราะหมอเป็นอาชีพที่อาศัยความรู้กว้างมากๆในการประกอบอาชีพ เช่น น้องต้องรู้วงจรชีวิตยุง เพื่อวางแผนสู้กับเรื่องโรคจากยุง น้องต้องรู้กลศาสตร์ของไหลพื้นฐาน เพื่อเข้าใจการวัดความดันเลือด ต้องรู้ภาษาอังกฤษและรากศัพท์ละติน-กรีก เพื่อนำไปใช้อ่านหนังสือ ฯลฯ ต้องเป็นคนทันสมัยเสมอ เพราะเราจะมารักษาคนไข้ด้วยวิธีโบราณๆไม่ได้, ต้องเป็นคนมองอะไรเป็นภาพรวมเป็น จะได้รักษาคนไข้ได้ทั้งตัวเขาและสังคมเขา ไม่ได้รักษาแค่โรคที่พาเขามาหาหมอ เช่น ตัดเล็บขบให้เขาแล้วจบกัน, ต้องเป็นคนคิดอย่างมีเหตุผล คิดเป็นระบบ มีจินตนาการพอสมควร และสุดท้ายต้องรักในวิชาชีพแพทย์ โดยเมื่อแรกสอบเข้ามาจะรักหรือไม่รักก็แล้วแต่ แต่พอเรียนจบแล้วจะมาเป็นแพทย์ก็ขอให้มีใจรักความเป็นแพทย์ มิฉะนั้นชีวิตการเป็นแพทย์ที่เหนื่อยแสนหนื่อยจะเหมือนการตกนรกทั้งเป็นครับ และไม่ใช่ตกนรกคนเดียวด้วยนะ แต่ยังพาคนไข้ของเราให้ตายตามไปด้วย

พี่เป้ : แล้วกิจกรรมในคณะมีอะไรบ้างคะ ได้ยินว่าเยอะมากๆ
พี่ภพ : โห.... พูดไปอาจจะไม่เชื่อ แต่คณะแพทย์จุฬาฯนี่กิจกรรมเยอะมากๆ ในจุฬาฯนี่ คณะแพทย์ของเรา ด้วยจำนวนนิสิตน้อยๆเท่านี้ แต่เรามีกิจกรรมเป็นจำนวนมากมายเป็นอันดับสองของมหาวิทยาลัยนะครับ จะรองก็แค่คณะใหญ่ๆอย่างวิดวะคณะเดียว กิจกรรมนี่ก็ร่วมได้ในทุกชั้นปีเลยครับถ้าน้องว่าง+สนใจ มีกิจกรรมหลายรูปแบบเลยไม่ว่าจะเป็นการออกค่ายอาสาพัฒนาชนบทที่มีตลอดปี ค่ายปฏิบัติธรรม ทริปถ่ายภาพ ชมรมประสานเสียง วงสตริง ดนตรีไทย เต้นลีลาศ ชมรมกีฬาต่างๆ ประกวดร้องเพลงของจุฬาฯก็มีคณะเรานี่แหละเป็นเจ้าภาพ ส่วนกิจกรรมที่จัดทุกๆปีก็จะมีกิจกรรมรับน้องของคณะเราครับ เรียกว่ารับน้องอินเดียน ซึ่งสืบทอดกันมานานหลายสิบปีแล้วครับ มีกิจกรรมถวายบังคมพระรูปสองรัชกาล กิจกรรมวันอานันทมหิดล และน้องๆจะได้มีสิทธิ์เข้าเฝ้ารับเสด็จบ่อยๆด้วยครับ....ปี 1 พี่จำได้ว่าได้รับเสด็จสมเด็จพระเทพฯอย่างใกล้ชิดตั้ง 3-4 ครั้งแน่ะ

 

พี่เป้ : แล้วอนาคตอยากเป็นหมอด้านไหนคะ
พี่ภพ : ตอนนี้พี่ยังเรียนไม่ครบทุกสาขาที่มีเลยครับ เพิ่งเรียนไปแค่สาขาอายุรกรรม สูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา และศัลยศาสตร์ครับ ที่ชอบที่สุดตอนนี้ก็คือสูติศาสตร์ครับ เพราะพี่ชอบเห็นเด็กเกิด ชอบเด็กตัวเล็กๆที่ไม่ป่วยครับ : ) แต่ก็ยังสนใจสาขาวิชาที่เรียนตอนปี 1-3 อยู่บ้าง เช่น อาจจะจบมาแล้วอยากกลับไปสอนเด็กๆผ่าอาจารย์ใหญ่ หรือสอนส่องเชื้อรา ดูขาแมลง ฯลฯ ก็เป็นได้ครับ

พี่เป้ : ฝากข้อคิดหรือให้กำลังใจน้องๆ ที่อยากเข้าคณะนี้หน่อยค่ะ
พี่ภพ : สำหรับน้องๆที่อยากเข้าคณะนี้ อยากให้ถามตัวเองครับว่าอยากเข้าคณะนี้เพราะอะไร และน้องรู้จักชีวิตแพทย์จริงๆหรือไม่ ถ้าไม่รู้ก็ขอให้ลองสมัครมาฝึกงานในโรงพยาบาลดูก่อน หรือสมัครเข้าค่ายของคณะแพทย์ต่างๆดู จะได้ตัดสินใจได้มากขึ้น แพทย์เป็นอาชีพที่มั่นคง ไม่มีตกงาน เพราะขาดแคลนเสมอ สำหรับรายได้นั้นก็ไม่ได้ร่ำรวยกันซะทุกคน แต่ไม่มีอดตาย การเป็นแพทย์นั้นหนัก เหนื่อย ยาก ถ้าน้องไม่รัก หรือเกลียด หรือไม่สามารถเติมไฟตัวเองได้จากการเห็นรอยยิ้มของคนไข้ การดันทุกรังเลือกหรือเรียนแพทย์ต่อไปก็คงต้องมาคิดทบทวนดูให้ดีครับ ยังไงก็ขอให้น้องๆได้เรียนต่อในคณะที่เรียนแล้วมีความสุขนะครับ

 

 

 

 

รุ่นพี่คนที่ 5 : นส.พ. คณิต อุ่นโชคดี (หมู)
คณะแพทยศาสตร์
มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ชั้นปีที่ 5
 

 


พี่เป้ : แล้วตลอด 5 ปีที่ผ่านมา มีเรื่องอะไรที่ประทับใจบ้าง ทั้งเรื่องดีและไม่ดี
พี่หมู : ที่ประทับใจคือตอนออกไปเรียนวิชาเลือกที่โรงพยาบาลชุมชน ได้มีโอกาสที่ช่วยชีวิตคนไข้รายหนึ่งจากภาวะช็อก พี่เป็นคนแรกที่เฝ้าดูแลคนไข้แล้วเห็นความผิดปกติ โดยวันนั้นดูแลคนไข้ร่วมกับคุณหมอและพี่แพทย์ใช้ทุน ก็ช่วยได้สำเร็จ ตอนพี่ออกไปข้างนอกห้องผู้ป่วยก็ไปพบกับญาติคนไข้เป็นยายคนนึง เค้าร้องไห้แล้วเข้ามาไหว้ขอบคุณพี่ ตอนนั้นตกใจมากจนรับไหว้ไม่ทัน ก็ภูมิใจที่เราได้ช่วยเหลือคนๆนึงที่มีความสำคัญอย่างมากกับคุณยายคนนั้น

   ส่วนเรื่องที่ไม่ดีนั้น มีครั้งหนึ่งพี่ได้ไปตรวจคนไข้ที่ห้องฉุกเฉิน เจอพ่อพาลูกชายวัย 9 ขวบมาหาหมอด้วยอาการสำคัญที่ว่า “วันนี้ลูกชายตีกอล์ฟ over par” คือคุณพ่อส่งลูกมาหาหมอเพราะว่าลูกชายตีกอล์ฟเหมือนไม่มีแรง ที่จริงรายการนี้สำคัญมาก มีผลกับการคัดตัวไปติดทีมชาติ พ่อคิดว่าลูกชายอาจจะป่วยจึงไม่มีแรง พี่เห็นเด็กก็เลยสงสารจึงถามพ่อเค้าว่าไปบังคับลูกทำไม -*- พ่อเค้าอารมณ์เสียจึงต่อว่าพี่ พี่ก็เลยเดินหนี ไม่ตรวจไปเลย อาจารย์ก็เลยมาตรวจแทน (โดนดุด้วย -*-)

พี่เป้ : ว่าแต่เรียนเยอะขนาดนี้ แล้วชอบวิชาอะไรมากที่สุดเหรอ
พี่หมู : พี่ชอบวิชาสรีรวิทยา (Physiology) มากที่สุดในพรีคลินิก เพราะเป็นวิชาเดียวในพรีคลินิกที่ไม่ต้องท่อง อาศัยความเข้าใจเป็นหลัก ดูคล้ายๆกับวิชาฟิสิกส์ นั่นแหละ และเป็นวิชาที่พี่ทำคะแนนได้ดี ^^ ส่วนทางฝั่งคลินิกพี่ชอบวิชาอายุรศาสตร์ (Internal medicine) ซึ่งสอนให้เรารู้จักคิดวินิจฉัยโรค จากประวัติ ตรวจร่างกาย และตรวจทางห้องปฏิบัติการ และทำการรักษาโรคด้วยการใช้ยา มีหลายคนบอกว่าเป็นวิชาที่เนื้อหากว้างขวางที่สุด และจดจำยาก แต่พี่ชอบเรียนแบบว่าเราดูแลคนไข้โรคอะไรอยู่ ก็กลับไปอ่านโรคนั้นว่าจะดูแลอย่างไร แล้วจะจำได้มากกว่านั่งท่องตำราที่ไม่มีวันอ่านจบ

พี่เป้ : การจะเป็นหมอต้องสอบผ่านใบประกอบวิชาชีพเวชกรรมทั้งหมด 3 ขั้น ได้ยินว่าสอบผ่านขั้นแรกไปแล้ว เนื้อหาเป็นยังไงบ้าง
พี่หมู : เนื้อหาของใบประกอบวิชาชีพเวชกรรมขั้นตอนที่ 1 (สอบตอน ปี 3) เนื้อหาไม่ยากแต่กว้างมากๆ เพราะเป็นการเอาเนื้อหาทั้งหมดที่เรียนตอนพรีคลินิกมาสอบทั้งหมด แต่ถ้าเรียนในชั้นเรียนอย่างตั้งใจและทบทวนก่อนสอบแล้ว ส่วนใหญ่ก็สอบผ่านกันหมด เกณฑ์ผ่านราวๆ 50 % ครับ

พี่เป้ : อนาคตอยากเรียนต่อเฉพาะทางด้านไหน
พี่หมู : อยากเรียนต่อสาขา อายุรกรรม เพราะเป็นสาขาที่ชอบ และอยากใช้ความรู้ที่เราเรียนไปดูแลคุณพ่อคุณแม่ด้วย ^^

พี่เป้ : ช่วยฝากถึงน้องๆ ที่อยากเข้าคณะนี้ด้วยค่ะ
พี่หมู : ก็ขอเป็นกำลังใจให้น้องๆทุกคนที่อยากเรียนแพทย์นะครับ อาชีพแพทย์ที่จริงแล้วไม่ใช่อาชีพที่ร่ำรวยอะไร พอมีพอกินและเลี้ยงดูครอบครัวได้เท่านั้น คนที่จะเรียนแพทย์ได้ไม่จำเป็นต้องเป็นคนเก่ง แต่ต้องเป็นคนที่มีความพยายามและอดทนมากๆ มีความเสียสละ และมีความรับผิดชอบสูงมาก เพราะแพทย์เราเรียนหนักมาก เหนื่อยมาก อย่างที่ร่ำลือจริงๆ ถ้าจะเรียนได้อย่างมีความสุข ต้องมีใจที่รักในวิชาชีพนี้นะครับ สู้ๆครับ ^^

พี่เป้ : ก่อนอื่นช่วยแนะนำตัวแก่น้องๆ หน่อยค่ะ
พี่หมู : สวัสดีครับ พี่ชื่อ นายคณิต อุ่นโชคดี ชื่อเล่นหมู ขณะนี้กำลังศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 5 คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ จบมัธยมศึกษาตอนปลายที่โรงเรียนเบญจมราชูทิศ ราชบุรี ครับ

พี่เป้ : อะไรเป็นแรงบันดาลใจให้มาเรียนแพทย์เหรอคะ
พี่หมู : ตอนแรกขณะที่เรียนม.ปลาย พี่ก็ไม่ได้อยากเรียนหมอ อยากที่จะเรียนวิศวะมากกว่า ตอนเรียนอยู่ชั้น ม. ปลาย ก็ไม่ค่อยชอบวิชาชีววิทยาเท่าไหร่นัก ชอบไปนั่งหลับหลังห้องตลอด -*- แต่จุดเปลี่ยนมันอยู่ว่าวันหนึ่งคุณแม่ของพี่มีอาการปวดศีรษะที่รุนแรงและเป็นมานานเรื้อรัง คุณหมอเลยให้ทำเอ็กซเรยคอมพิวเตอร์ (CT Scan) เพื่อช่วยในการวินิจฉัย โดยคุณแม่จะต้องถูกฉีดสี (Contrast media) แต่หลังจากที่คุณแม่ฉีดสีเข้าเส้นเลือดไปแล้วกลับมีอาการแพ้อย่างรุนแรง หายใจไม่ออก และหมดสติไป มีพยาบาลและหมอวิ่งเข้าไปในห้องอยู่หลายคน คุณหมอก็ช่วยชีวิตคุณแม่ไว้ได้ วันนั้นรู้สึกขอบคุณคุณหมอท่านนั้นมาก ถ้าไม่ได้คุณหมอก็คงจะไม่มีคุณแม่พี่ในวันนี้แล้ว หลังจากนั้นก็รู้สึกชอบอาชีพแพทย์ เป็นอาชีพที่เราได้ทำประโยชน์ให้คนอื่น และถ้าจบมาแล้วเราจะได้ดูแลคนในครอบครัวเราได้ด้วย ^___^

พี่เป้ : แล้วตอนจะเอนทรานซ์มีวิธีเตรียมตัวยังไงบ้าง
พี่หมู : ของพี่เป็นเอนท์ระบบเก่า (รุ่นสุดท้าย แก่มาก -*- รุ่นเดียวกะพี่เป้ 555555555) จำคะแนนแต่ละวิชาไม่ได้แล้ว แต่คะแนนรวมพี่ไม่สูงมาก น่าจะได้ราวๆ 440 (จาก 7 วิชา เต็ม 700) ซึ่งถ้ายื่นคะแนนเอนท์ก็ไม่ถึงคณะแพทยศาสตร์แน่นอน โดยวิชาที่ฟิตๆตอนนั้นน่าจะเป็นฟิสิกส์ (เพราะชอบฟิสิกส์มาก) พี่เลยเข้ามาเรียนที่คณะแพทย์ได้จากการสอบตรงครับ ส่วนการเตรียมตัวนั้น เนื่องจากพี่เรียนอยู่ที่โรงเรียนต่างจังหวัดจึงไม่ค่อยได้ขึ้นมาเรียนพิเศษที่กรุงเทพครับ อาศัยอ่านหนังสือเอาเอง ตั้งใจเรียนในห้อง ทบทวนบทเรียนสม่ำเสมอ และทำข้อสอบเอ็นท์ย้อนหลัง 10ปี พี่ขึ้นไปเรียนพิเศษที่กรุงเทพตอนม. 6 ไปเรียนคอร์สตะลุยโจทย์เท่านั้น

พี่เป้ : อยากให้อธิบายแก่น้องๆ หน่อยว่า ชั้นพรีคลีนิกและชั้นคลีนิกคืออะไรคะ
พี่หมู : พรีคลินิก คือ กลุ่มวิชาวิทยาศาสตร์การแพทย์พื้นฐานครับ จะเรียนตอน ปี 2 และ ปี 3 ครับ (ปี 1 นั้นส่วนใหญ่จะเรียนวิชาสามัญเช่นภาษาศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และสังคมศาสตร์ ร่วมกับคณะอื่นอ่ะครับ)  โดยภาควิชาทางพรีคลินิกของคณะแพทยศาสตร์ มศว จะทำการเรียนการสอนที่ มศว ประสานมิตรนะครับ โดยเราจะเรียนกันแบบเป็นระบบ block system ตามระบบต่างๆ ของร่างกาย ซึ่งจะมีภาควิชาต่างๆ ช่วยกันสอน พี่ขอยกตัวอย่างนะครับ เช่น วิชาระบบทางเดินหายใจ เราจะเรียนกันตั้งแต่ในครรภ์อวัยวะในทางเดินหายใจเราเจริญอย่างไร (Embryology) ลักษณะทางมหกายวิภาคศาสตร์ของปอดและทางเดินหายใจเป็นอย่างไร ซึ่งอันนี้เราจะเรียนกับอาจารย์ใหญ่ (Anatomy) ลักษณะของทางเดินหายใจที่ปกติเมื่อดูจากกล้องจุลทรรศน์ (Histology)กลไกและหน้าที่การทำงานของทางเดินหายใจ ปอดแลกเปลี่ยนก๊าซได้อย่างไร (Physiology) กระบวนการทางชีวเคมีต่างๆ (Biochemistry) มีจุลชีพใดบ้าง หลังจากนั้นก็เรียนเกี่ยวกับโรคและความผิดปกติต่างๆ ในทางเดินหายใจ (Pathology) และสิ้นสุดรายวิชาด้วยการรักษาภาวะความผิดปกติเหล่านั้นด้วยยา (Phamacology) ซึ่งน่าปวดหัวมาก -*- จะต้องเจอกับกองชีทมหึมา และสอบเกือบทุกๆ 2 สัปดาห์เลยอ่ะ แต่พวกพี่ๆก็ยังมีเวลาไปเที่ยวเล่น ดูหนัง และชิวเหมือนคณะอื่นเหมือนกันนะ ^^ (ต้องแบ่งเวลา)

    ส่วนวิชาทางคลินิก (ปี 4-6)นั้นจะเป็นการเรียนที่เราจะได้ดูแลผู้ป่วยที่โรงพยาบาลจริงๆ (เริ่มเหมือนคุณหมอมานิดนึงแล้ว ^^) โดยเรียนที่ศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก เราจะต้องเรียนและปฏิบัติงานในโรงพยาบาลภายใต้การดูแลของอาจารย์ ซึ่งจะแบ่งเป็นภาควิชาต่างๆที่จะทำการเรียนการสอน ดังนี้ อายุรศาสตร์ ศัลยศาสตร์ สูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา ออโธปิดิกส์ (ศัลยกรรมกระดูกและข้อ) กุมารเวชศาสตร์ วิสัญญีวิทยา (หมอที่ทำหน้าที่ระงับความรู้สึกก่อนผ่าตัดอ่ะครับ) จิตเวชศาสตร์ ตาหูคอจมูก รังสีวิทยา เวชศาสตร์ป้องกันและสังคม และนิติเวชศาสตร์ การเรียนการสอนจะแบ่งนิสิตแพทย์ออกเป็นกลุ่มย่อยๆ สลับกันเรียนและปฏิบัติงานตามภาควิชาต่างๆ ตอนคลีนิกเนี่ยแหละจะได้เห็นคนไข้จริงๆ ได้เข้าไปดูการผ่าตัดจริงๆ ได้เห็นคนตายจริงๆ ต่อหน้าต่อตาเรา ต้องอยู่เวร ถูกดุ ถูกว่า ถูกบ่น พี่คิดว่าตอนเรียนคลินิกสนุกกว่าพรีคลินิกมากๆ เพราะเราได้นำความรู้ที่เรียนไปใช้จริงกับคนไข้ พี่ก็รู้สึกดีใจทุกครั้งที่คนไข้ที่เราดูแลหายดีเป็นปกติ

 
 

     รุ่นพี่ คนที่ 6
นส.พ. ณัฐพล เชิดหิรัญกร (แบงค์)
คณะแพทยศาสตร์
มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ชั้นปีที่ 6

 
พี่เป้ : ช่วยแนะนำตัวแก่น้องๆ หน่อยค่ะ
พี่แบงค์ :สวัสดีครับ ชื่อณัฐพล เชิดหิรัญกร หลายๆคนอาจรู้จักแล้วในนาม EXTERNแบงค์ จากบทความแนะนำคณะพี่หมอ มศว เล่าเรื่อง
http://writer.dek-d.com/ubyi/story/view.php?id=95170
ตอนนี้กำลังศึกษาในคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ชั้นปีที่ 6 (ปีสุดท้ายแล้วครับ >_<)

พี่เป้ : เห็นว่าเขียนบทความมานานมากๆๆ ตั้งแต่ปี 48 อยากรู้ว่าอะไรเป็นแรงบันดาลใจให้มาเขียนบทความแบ่งปันประสบการณ์นี้ล่ะคะ
พี่แบงค์ : ก็ไม่มีอะไรมากหรอกครับ ก็แค่อยากแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ดีๆ ที่ได้เจอมาให้น้องๆ ได้ฟัง คณะนี้ถึงแม้เป็นหนึ่งในคณะที่หลายๆ คนอยากเรียน แต่จริงๆ แล้วคนส่วนใหญ่ยังมีความรู้ความเข้าใจในตัวคณะนี้น้อยมาก แพทย์นั้นไม่ได้เลิศหรูกว่าวิชาชีพอื่น แถมต้องแบกรับภาระที่มากกว่า การมาเขียนบทความนี้น้องจะได้เข้าใจว่าการเป็นหมอนั้น จะต้องพบเจอกับอะไรบ้าง ตนเองจะเข้ามาเรียนได้หรือไม่

พี่เป้ : ทำไมถึงสนใจอยากเรียนหมอล่ะคะ
พี่แบงค์ :แรกเริ่มนั้นพี่อยากเรียนคณะวิศวะ สอบความถนัดทางวิศวกรรมก็ได้ 85 คะแนน(ค่อนสูงเลย) อีกทั้งเพื่อนในกลุ่มยังเรียนวิศวะซะหมด ด้วยเหตุนี้ใจมันก็เลยไปเป็นเด็กวิศวะเกินครึ่ง จุดพลิกผันชีวิตมีอยู่ว่า มศว ประกาศรับสมัครสอบตรงเข้าคณะแพทย์ ด้วยความที่ตนเองเป็นคนชอบความท้าทายเลยไปสมัครดูเพื่อเป็นการลองข้อสอบ และมันก็ดันได้จริงๆด้วย คุณแม่ก็เลยบังคับให้เรียน ช่วงแรกก็มีอาการต่อต้านรุนแรง ทะเลาะไม่พูดกับแม่เลยสุดท้ายพอแม่หลั่งน้ำตาเท่านั้น “ผมยอมเรียนหมอให้ครับ” แรกๆ คิดว่ายังไงก็เรียนไม่ได้เนื่องจากไม่ชอบอยู่เป็นทุนเดิม แต่พออยู่นานวันเข้า จากเกลียดก็กลายเป็นเฉยๆ จากเฉยๆก็กลายมาเป็นชอบในที่สุด ได้มาสัมผัสด้วยตัวเอง ได้เห็นภาพของคนที่ได้รับความทุกข์ทรมานจากโรคภัยต่างๆ ไม่ใช่แค่คนป่วยเท่านั้นที่เป็นทุกข์ แต่นั้นยังรวมไปถึงญาติของผู้ป่วยด้วย  สังคมไทยยังขาดแคลนแพทย์อีกมาก หมอหนึ่งคนต้องแบกรับภาระรักษาคนไข้เป็นร้อยๆ ความคาดหวังของคนไข้ที่มีต่อหมอก็มีมาก ดังนั้นพี่เองก็รู้สึกภูมิใจที่ได้มาเป็นหมอ รู้สึกยินดีที่ได้รักษาผู้ป่วยให้หายไข้ คำพูดที่พี่มักได้รับก็คือ “ขอบคุณนะค่ชะ คุณหมอ” ได้ยินแค่นี้ก็สุขใจล่ะครับ

พี่เป้ : แพทย์ปี 6 หรือเวชปฏิบัติ หรือหมอเอ็กซ์เทิร์นคืออะไร เรียนอะไรบ้าง
พี่แบงค์ : Extern ของทุกสถาบันนั้นเหมือนกันครับคือต้องฝึกปฏิบัติงานกับคนไข้จริงในโรงพยาบาลที่ตนเองสังกัดอยู่ เช่น แพทย์จุฬาก็ต้องปฏิบัติงานเป็นExternใน รพ.จุฬา ใครเรียนแพทย์ศิริราชก็ต้องปฏิบัติงานเป็นExternใน รพ.ศิริราช ส่วนExternแบงค์เรียนแพทย์ มศว ก็ต้องปฏิบัติงานที่โรงพยาบาลที่สังกัดก็คือ รพ.ศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพ บรรยากาศการเรียนก็แตกต่างกันไปแล้วแต่ทำเลที่ตั้งของ รพ. อย่างจุฬาก็บรรยากาศเมือง ส่วนรพ.ศูนย์การแพทย์ อยู่คลองสิบหก จ.นครนายก รายล้อมไปด้วยทุ่งนาโรค ชนิดคนไข้ที่เจอก็แตกต่างกันไปครับ ส่วนที่ว่าเลือกสถาบันได้นั้นคือต้องวนอยู่ในช่วงวิชาเลือก ซึ่งเราอยากไป รพ. ไหนก็จัดไปเองได้เลย

พี่เป้ : ได้ลองเข้าไปฝึกปฏิบัติจริงๆ ก็ต้องเจอคนไข้เยอะแน่ๆ อยากให้ลองช่วยเล่าสักเคสหน่อยค่ะ
พี่แบงค์ : เล่าไงดีนะเรื่องมันก็ยาว เอาเหตุการณ์ตอนExternแบงค์ไปตรวจน้องที่ถูกข่มขืนที่ รพ.ตำรวจแล้วกัน ต้องซักให้ได้ว่า เหตุการณ์กระทำชำเรานั้นเกิดณ วันเวลาสถานที่ ไหน คนลงมือเป็นใคร ร่วมเพศกันกี่ครั้ง มีการสอดใส่อวัยวะเพศเข้าไปทางปาก ช่องคลอด หรือทางทวารหนักหรือไม่ หลั่งข้างในหรือหลั่งข้างนอก สวมถุงยางด้วยหรือเปล่า โห้ถามตรงๆ แบบนี้ใครจะบอกกันครับ ต้องใช้เทคนิคและวาทศิลป์มาก สมมติว่าชื่อน้องแซนดี้

EXTERNแบงค์: “น้องแซนดี้ครับวันนี้มาโรงพยาบาลด้วยเรื่องถูกกระทำชำเรา…ใช่ไหมครับ”
น้องแซนดี้: “กระทำชำเราคืออะไรเหรอค่ะ หนูไม่เข้าใจค่ะ (เหอๆ ดูเธอมีเล่นตัวด้วย เลยต้องเปลี่ยนวิธีพูดใหม่ )”
EXTERNแบงค์: “น้องแซนดี้ วันนี้มีปัญหาอะไรถึงมาโรงพยาบาลครับ”
น้องแซนดี้: “ก็…ไม่มีปัญหาอะไรนิ ไม่รู้คุณแม่ให้มารงพยาบาลทำไม”
EXTERNแบงค์: “เห็นคุณแม่น้องบอกว่า น้องไปที่บ้านแฟนมาเหรอ”
น้องแซนดี้: “ใช่ไปบ้านแฟนมาแล้วไงล่ะ”
EXTERNแบงค์: “แล้วตอนไปบ้านแฟนมีใครอยู่บ้านบ้างครับ”
น้องแซนดี้: “ก็อยู่กับ…แฟนกันสองคน”
EXTERNแบงค์: “อ้าว…แล้วไปอยู่ที่ไหนในบ้านกันล่ะ”
น้องแซนดี้: “ก็ห้องนอนของแฟน…”
EXTERNแบงค์: “แล้วทำอะไรกันในห้องนอนแฟนล่ะ”
น้องแซนดี้: “เปล่านิไม่ได้ทำอะไรซะหน่อย”
EXTERNแบงค์เลยคิดว่าต้องพลิกแพลงคำถามใหม่เสียแล้ว
EXTERNแบงค์: “แล้วอยู่ในห้องแฟน แฟนเขาถอดเสื้อ ถอดกางเกงอยู่หรือเปล่า”
น้องแซนดี้: “ถอด…” น้องแซนดี้ตอบอย่างเสียขวัญ
EXTERNแบงค์: “แล้วน้องแซนดี้ล่ะครับ ถอดเสื้อผ้าเหมือนกันแฟนน้องหรือเปล่า”
น้องแซนดี้: “ถอดเหมือนกัน…ค่ะ”
EXTERNแบงค์: “แล้วเขากอดน้องไหมครับ”
น้องแซนดี้: “กอดด้วยค่ะ”
EXTERNแบงค์: “นอกจากกอดแล้ว แฟนของน้องเขาทำอะไรอย่างอื่นอีกไหมครับ”
น้องแซนดี้: “ทำค่ะ…” (สรุปว่าจริงๆแล้วไม่ได้ถูกข่มขืนครับ เป็นการสมยอม>_<)

พี่เป้ : ตอนนี้การสอบเข้าแพทย์ใช้ข้อสอบกสพท. คิดว่ามีข้อดีหรือข้อเสียยังไงบ้าง
พี่แบงค์ : เห็นด้วยกับกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (กสพท) ที่จะจัดสอบเป็นการสอบครั้งเดียว และข้อสอบเดียวกันโดยไม่ใช้คะแนนการสอบความถนัดทั่วไป (GAT) และความถนัดทางวิชาชีพและวิชาการ (PAT) มาร่วมประเมิน เพราะGAT- PAT มีการสอบหลายครั้ง และมีความยากง่ายไม่เท่ากัน ซึ่งจะเป็นการไม่ยุติธรรมกับเด็ก

พี่เป้ : การเรียนหมอมีศัพท์เฉพาะเยอะมากๆ อยากให้ลองแนะนำแก่น้องๆ สัก 2-3 คำหน่อยสิคะ
พี่แบงค์ : Intern หมายถึง แพทย์ใช้ทุนคือขั้นต่อไปของ Extern นั้นเอง หลังจากจบหลักสูตรแพทยศาสตร์บัณทิตที่เรียนทั้งหมด 6 ปี และสอบผ่านการสอบประเมินความรู้ความสามารถทางเวชกรรมที่มีอยู่ทั้งหมด 3 ครั้ง จนได้ใบประกอบวิชาชีพจากแพทยสภาแล้ว ก็ต้องออกไปชั้นทุนยังต่างจังหวัดเป็นระยะเวลา 3 ปีเพื่อเป็นการเพิ่มพูนทักษะ หรือบางคนได้เรียนต่อ fixed ward ใน รร.แพทย์ต่างๆต่อ แพทย์พวกนี้ก็คือแพทย์จบใหม่ ซึ่งเรียกได้อีกอย่างว่า แพทย์เพิ่มพูนทักษะ

        Resident หมายถึง แพทย์ประจำบ้าน ซึ่งก็คือแพทย์ที่เข้ามาศึกษาต่อเพื่อเป็นแพทย์เฉพาะทางสาขาใดสาขาหนึ่ง ระยะเวลาแล้วแต่สาขาวิชา เช่น อายุรศาสตร์ กุมารเวชศาสตร์ สูตินรีเวชศาสตร์จะใช้เวลา 3 ปี บางสาขา 4  ปี เช่น ศัลยศาสตร์ เป็นต้น การสมัครเรียนต่อโดยการเป็นแพทย์ประจำบ้านต้องสมัครผ่านแพทยสภา และเมื่อจบการศึกษาจะได้วุฒิบัตรผู้ชำนาญการในการประกอบวิชาชีพเวชกรรมในสาขาต่างๆของแพทยสภา
Fellow หมายถึง แพทย์ผู้ช่วยอาจารย์ ซึ่งก็คือแพทย์ที่จบสาขาเฉพาะทางแล้วยังต้องการเป็นแพทย์เฉพาะทางอนุสาขาย่อยลงไปอีก เช่น เป็นอายุรแพทย์แล้วก็ไปต่อเป็น อายุรแพทย์โรคหัวใจ โรคไต โรคปอด เป็นต้น ใช้เวลา 2-3 ปีแล้วแต่สาขา เมื่อจบแล้วก็จะได้วุฒิบัตรผู้ชำนาญการชั้นสูงในสาขานั้นๆ
  พี่เป้ : อนาคตอยากเป็นหมอด้านไหนคะ
พี่แบงค์ : อยากเป็นหมอเวชศาสตร์ฉุกเฉิน(หมอER)ครับ ซึ่งตอนนี้ก็ทำตามความฝันได้แล้ว เดือนก.พ. ปีนี้Externแบงค์ก็จะจบเป็นคุณหมอแบงค์เต็มตัว และมาเรียนด้านห้องฉุกเฉินที่วิทยาลัยแพทย์ศาสตร์กรุงเทพมหานครและวชิรพยาบาลครับ


 

               เป็นยังไงกันบ้างคะ 6 คน 6 ความฝัน ^^ ว่าที่อนาคตแพทย์คนเก่งของเมืองไทย ยังไงชาวเด็กดีอย่าลืมเป็นกำลังใจให้พวกพี่ๆ ทั้ง 6 คนด้วยนะคะ สำหรับสัปดาห์หน้า จะเป็นคิวของ "คุณหมอ" ตัวจริงเสียงจริง ที่สละเวลามาให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับชีวิตการทำงานอันสุดแสนจะดุเด็ดเผ็ดมันส์ อยากรู้ว่าเป็นยังไง ก็ต้องรอเจอกันพุธหน้านะคะ

พี่เป้
พี่เป้ - Columnist มนุษย์บ้างานและบ้านวด ผู้ตกหลุมรักปลาแซลมอน การนอน และและออฟฟิศ

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

81 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
SPP12 Member 15 ม.ค. 53 23:47 น. 8
เสริมนิดนึงนะคับ 

นักศึกษาแพทย์ ใช้ตัวย่อ "นศพ." ไม่ใช่ นศ.พ. 

แล้วก็ ฬ กับ มศว ใช้ นิสิตแพทย์ นะคับ ย่อ "นสพ."


แก้ไขครั้งที่ 1 เมื่อ 15 มกราคม 2553 / 23:48
แก้ไขครั้งที่ 2 เมื่อ 15 มกราคม 2553 / 23:48
0
กำลังโหลด
success Member 16 ม.ค. 53 00:17 น. 9
ว้าว แพทย์ มศว ถึงสองคน 
คิดถึงค่ายสู่ฝัน อิอิ
ฉันมีความฝัน และฉันต้องทำให้ได้T_TY

แก้ไขครั้งที่ 1 เมื่อ 16 มกราคม 2553 / 00:20
0
กำลังโหลด
กำลังโหลด
prn 16 ม.ค. 53 10:27 น. 11
ถ้าคุณพร้อมที่จะเข้าสู่สนามรบที่เต็มไปด้วยการแข่งขันและภาระอันหนักหน่วง
พร้อมที่จะทิ้งชีวิตวัยรุ่นและวันหยุดไว้ข้างหลัง
มีความถึกอึด อดทนได้ทุกสถานการณ์เป็นทุนเดิม
ก็ขอต้อนรับสู่เส้นทางสายนี้...
0
กำลังโหลด
นักเรียน-นักศึกษา Member 16 ม.ค. 53 13:21 น. 12
 ชอบ วิทยาศาสตร์ เพื่อสุขภาพ มาก ๆ เลยครับ เสียดายที่ ไม่สามารถเรียนแพทย์ ได้


0
กำลังโหลด
manium Member 16 ม.ค. 53 13:37 น. 13
ออ
จริงนักศึกษาแพทย์นี่เขียนหลายแบบนะครับ
ส่วนใหญ่ใช้ นศพ. แต่ที่มข. ม.อบจะใช้ นศ.พ.ครับ
ต่างกันนะครับ

ปล.อ๊าาาา คณะฉันก็มีด้วย อิอิ น้องหยกสู้ๆ 555+ ดันกันสุดฤทธิ์
0
กำลังโหลด
student-doctor Member 16 ม.ค. 53 14:47 น. 14

ได้ความรู้เกี่ยวกับแพทย์เพิ่มเติมเยอะเลย

อยากเป็นหมอและจะพยายามทำให้ได้

เพื่ออนาคต นศพ. สู้...สู้

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด
KiWi myVee Member 16 ม.ค. 53 20:25 น. 16
อยากเป็นเป็นแพทย์ค่ะ พอเห็นพี่ๆแล้วก็เหมือนกับว่ามีแรงบันดาลเพิ่มขึ้นอีก ชอบที่พี่ภพพูดมากเลยค่ะ
เราก็ต้องศึกษาด้วยความเคารพ ความกลัวว่าท่านจะมาหลอกนี่ไม่มีเลยครับ เพราะเจตนาของคนจะเป็นครูจะมาหลอกลูกศิษย์ได้อย่างไร

สู้ๆๆ
ถ้าโลกไม่แตกก่อน ฉันจะเป็นแพทย์ให้ได้ ><
0
กำลังโหลด
whitedemon Member 16 ม.ค. 53 22:01 น. 17
พี่หยกกกกก กรี๊ดดดดดดดดดดดดดดด ในทีสุดนุ่นก็ได้เห็นหน้าคาตาพี่ ฮ่าๆๆ น่ารักตัวเล็กๆ จริงๆ ด้วย เข็นครกยักษ์ใหญ่กว่าตัวก็ระวังด้วยนะพี่ เรียนหมอ เหนื่อยยาก ลำบาก แต่ก็คุ้มค่าที่ได้ทำในสิ่งที่ตัวเองรักนะคะ
0
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด