ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เปิดรั้วโรงเรียนครู "คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย"

    ลำดับตอนที่ #10 : เทคนิคและสิ่งที่ควรรู้ในแอดมิชชั่นส์ 2555 ที่จะทำให้ทุกคนสมหวัง

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 158.29K
      122
      13 เม.ย. 55

     

     

    สวัสดี น้องๆ ว่าที่นิสิตใหม่ทุกคนนะครับ


    ก่อนอื่น พี่ก็ขอเป็นกำลังใจสำหรับน้องๆ ที่กำลังต่อสู้ในสนามแอดมิชชั่นส์ ซึ่งคงเป็นสนามสุดท้ายแล้วของน้องๆ ม.6 ที่เปี่ยมไปด้วยความหวังและความฝัน น้องๆ หลายคนอาจจะเพิ่งเสียใจกับสนามสอบรับตรงที่มันไม่ใช่วันของเรา แต่ไม่เป็นไรนะครับ พี่เชื่อว่าสนามแอดมิชชั่นส์นี้ต้องมีน้องเป็นหนึ่งในจำนวนแสนกว่าคนแน่นอน สู้ต่อไปนะครับ



      

     
    บทความเฉพาะกิจสำหรับคนพันธุ์ A(dmission)


    สิ่งที่ควรรู้


    1. คะแนน GAT & PAT มีอายุ 2 ปี สำหรับระบบแอดมิชชั่นส์ 2555 จะใช้เลือกคะแนน GAT & PAT ได้ตั้งแต่รอบกรกฎาคม 2553 จนถึงรอบมีนาคม 2555 รวม 6 ครั้ง โดยระบบประมวลผลจะเลือกรอบที่คะแนนดีที่สุดในแต่ละวิชาให้น้องอัตโนมัติ แล้วจะเปิดให้น้องตรวจสอบการเลือกคะแนนของระบบหลังปิดรับสมัคร (แยกพิจารณารายวิชา เช่น GAT สูงสุดในรอบมีนาคม 2555 PAT5 สูงสุดในรอบกรกฎาคม 2553 เป็นต้น)

    2.
    คะแนนโอเน็ตใช้ 30% รหัส 01-05 วิชาละ 5% ส่วนรหัส 06-08 ต้องนำมาบวกกันแล้วหาร 3 เป็นอีก 5%

    3. แอดมิชชั่นส์ไม่ใช้วิชาสามัญนะครับ วิชาสามัญใช้เฉพาะระบบรับตรง

    4. บางคณะมีการกำหนดคะแนนขั้นต่ำ ถ้าเป็นโอเน็ตให้ดูเป็นรายวิชา ไม่ใช่คะแนนเฉลี่ยทุกวิชา โดยน้องมีสิทธิ์ได้ แต่ระบบประมวลผลให้เฉพาะผู้ที่มีคะแนนผ่านเกณฑ์ขั้นต่ำที่กำหนดไว้ ดังนั้นถ้าน้องจะยื่นคณะที่กำหนดคะแนนขั้นต่ำ แต่น้องมีบางวิชาที่คะแนนไม่ถึงขั้นต่ำ ก็ถือว่า
    เลือกเสียอันดับฟรีๆ โดยคะแนนขั้นต่ำจะกำนหนดเป็น % ดังนั้นถ้าเป็นคะแนน GAT & PAT เปลี่ยนจาก % เป็น 300 คะแนนเต็มต้องคูณ 3
    f
    คณะ/สาขาวิชาที่กำหนดคะแนนขั้นต่ำ CLICK!


    5. น้องต้องมีองค์ประกอบทุกส่วนของคณะหรือสาขาวิชาที่น้องจะเลือก หากขาดวิชาใดวิชาหนึ่ง แม้ว่าคะแนนรวม 30
    ,000 คะแนนน้องจะถึงคะแนนต่ำสุดเมื่อประมวลผลมาแล้ว ก็ไม่ถูกตัดชื่อออกจากรหัสคณะนั้น เนื่องจากองค์ประกอบไม่ครบ ก็ถือว่าเลือกเสียอันดับฟรีๆ

    6. อันดับคณะให้เลือกได้สูงสุด 4 อันดับ จะเลือก 1 อันดับก็ได้ 2 หรือ 3 อันดับก็ได้ อันดับแรกค่าสมัครเริ่ม 100 บาท อันดับต่อไปเพิ่มอันดับละ 50 บาท บวกค่าธรรมเนียมชำระเงินอีก 15 บาท หากสมัครครบ 4 อันดับก็ 265 บาทครับ

    7. หาก
    อันดับสุดท้ายมีคนคะแนนเท่ากันหลายคน ถ้า เป็นคณะทางวิทยาศาสตร์ รวมไปถึงคณะที่เน้นการปฏิบัติการจะไม่รับหมด เพราะมีข้อจำกัดด้านอุปกรณ์ทางการศึกษาที่อาจไม่เพียงพอ แต่ทางเป็นคณะทางมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์จะรับมาทั้งหมด

    8.
    แอดมิชชั่นส์จะประมวลผลคณะที่น้องเลือกแค่เพียง 1 คณะเท่านั้น ไม่ ได้ระบุว่าคะแนนน้องผ่านคณะไหนบ้างแล้วให้เลือก โดยคณะอันดับ 1 ที่น้องเลือกจะถูกประมวลผลก่อน และมีสิทธิ์ได้รับคัดเลือกก่อน อันดับที่ 2 3 และ 4 ก็รองลงมา ดังนั้นการเลือกอันดับคณะควรเรียงจากคณะที่ อยากเรียนมากที่สุดไว้เป็นอันดับ 1 แล้วรองๆ ลงมาถึงอันดับ 4 แต่ 4 อันดับคณะนั้นเราต้องชอบและถนัดหมดนะ

    9. การเลือกคณะที่มีแบ่งเป็นพื้นฐานวิทย์ พื้นฐานศิลป์ มีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดโอกาสให้เลือกที่ถนัดด้านวิทย์ กับด้านศิลป์ ได้คัดเลือกเข้ามาเท่าเทียมกันมากขึ้น ซึ่ง ไม่ได้ห้ามนะครับว่าจะต้องเลือกตามแผนการเรียนที่น้องเรียนมา น้องสายศิลป์เลือกสอบพื้นฐานวิทย์ได้ ถ้ามีคะแนน PAT ตามที่กำหนด น้องสายวิทย์ก็เลือกสอบพื้นฐานศิลป์ได้ ถ้ามีคะแนน PAT ตามที่กำหนดเช่นกัน

    10. การสมัครคัดเลือกระบบแอดมิชชั่นส์ จะสมัครกี่รอบก็ได้ แต่ระบบจะยึดเอาการสมัครที่ชำระเงินครั้งล่าสุดไปใช้ประมวลผลครับ แสดงว่า น้องสมัครไปแล้ว ถึงแม้ว่าจะชำระเงินหรือไม่ก็ตาม อยากจะแก้ไขเปลี่ยนแปลง อยากเปลี่ยนอันดับ ก็สมัครใหม่ แล้วชำระเงิน ใครแก้บ่อยก็สมัครบ่อย จ่ายหลายรอบนะครับ แต่ระบบจะยึดเอาการชำระเงินครั้งล่าสุด

    11. การสอบสัมภาษณ์เป็นเพียงการสอบถามข้อมูลเบื้องต้นที่จำเป็นต่อการศึกษาต่อ และวัดทัศนคติเบื้องต้น จะไม่มีการให้คะแนน เพื่อคัดออกแล้ว นอกจากที่จะแสดงกิริยาก้าวร้าว ไม่น่ารักมากๆ ส่วนแฟ้มสะสมงานไม่บังคับว่าต้องมีทุกคน เพราะไม่มีผลต่อการพิจารณาครับ ถ้ามีก็ดีตรงที่ถ้าอาจารย์กรรมการเปิดอ่านก็จะหาเรื่องคุยจากแฟ้มสะสมงานของ เราได้ ไม่ใช้เวลาที่เหลือพาถามคำถามยากอื่นๆ แต่ถ้าไม่มีเวลาเตรียมก็ไม่เสียหายอะไรครับ

    12. น้องที่ยืนยัน Clearing House ไม่มีสิทธิ์สมัครแอดมิชชั่นส์นะครับ มิฉะนั้นจะถูกตัดสิทธิ์ทั้ง 2 ระบบที่ผ่านการคัดเลือกนะ

    วิธีการสมัคร Admissions Click!

     

     

    หลักการเลือกอันดับแอดมิชชั่นส์
    มาถึงเรื่องที่น่าปวดหัวที่สุดก่อนที่จะตัดสินใจสมัครคัดเลือกแล้ว นั่นคือการเลือกคณะทั้ง 4 อันดับ พี่มีคำแนะนำดังนี้นะครับ

     

    1. คณะอันดับ 1 ให้จริงใจกับตนเองไว้ว่าใจเราสนใจเรียนทางด้านไหน คณะไหน สาขาวิชาไหน  เป็นความใฝ่ฝันจริงๆ เลือกไว้อันดับ 1 เลยครับ อย่าได้แคร์คะแนน คนอื่นจะคะแนนสูง รับจะน้อยเพียงใด ขอแค่เราเลือกเพื่อโอกาสอันมีค่าแม้จะน้อยนิดก็ตาม อันดับ 1 เค้าให้เลือกตามความฝันของเราครับ อย่าทำตัวเป็นแม่หมอ หมอเดา ชอบดูถูกตัวเองว่าคะแนนน้อยอ่ะ ไม่ติดหรอก ไม่เลือกดีกว่า ถ้าคนคิดแบบนี้ 1,000 คน คะแนนจะที่คิดว่าสูงมันก็ตกลงได้นะ อะไรก็คาดเดาไม่ได้หรอก ปาฏิหาริย์มีเสมอในแอดมิชชั่นส์ "รู้ว่าเสียงแต่คงต้องขอลอง" ถ้าไม่เลือกเสี่ยงแล้วประกาศผลมา คะแนนเรากลับเข้าคณะนี้ได้ นอกจากเสียใจแล้วจะเสียดายนะ


    2.
    คณะอันดับ 2 ควรเป็นคณะหรือสาขาวิชาที่สนใจหรือชอบในระดับหนึ่งรองลงมาจากคณะอันดับ 1 ของมหาวิทยาลัยที่ตัวเองสนใจ แนะนำว่าให้นำคะแนนของตนไปเทียบกับคะแนนต่ำสุดของแอดมิชชั่นส์ย้อนหลังถึงปี 2553 เพราะย้อนไปปี 2552 มันคนละองค์ประกอบ จำนวนรับก็แตกต่างจากระบบใหม่ อันดับ 2 ควรเกิน 100-1,000 คะแนน

     

    3. คณะอันดับ 3 ควรเป็นคณะหรือสาขาวิชาที่พอจะเรียนได้ ของมหาวิทยาลัยที่อาจจะคะแนนรองลงมาจากคณะอันดับ 2 ก็ได้ โดยเป็นคณะหรือสาขาวิชาที่คะแนนไม่สูงมาก อย่าเลือกที่สูงเกินไปในอันดับนี้เพราะจะเกิดความเสี่ยงมากขึ้น อันดับ 3 ควรเกิน 1,000-2,500 คะแนน

    4.
    คณะอันดับ 4 ควรเป็นคณะหรือสาขาวิชาที่เราพอจะเรียนได้ ของมหาวิทยาลัยที่มีคะแนนไม่สูงแล้วเราสะดวกที่จะไปเรียน ควรเป็นคณะที่เรียนได้ มีความสนใจอยู่นะ ไม่ใช่เลือกไว้ให้อันดับมันเต็มนะ เลือกอะไรที่เรียนได้ แล้วคะแนนของเรามีความเป็นไปได้ว่าน่าจะติดชัวร์ๆ อันดับ 4 เกิน 2,500 คะแนนขึ้นไปยิ่งดี จะได้ปลอดภัยมากขึ้น และอย่าลืมว่าหากอันดับ 1 และ 2 หลุดเราต้องเรียนคณะที่เลือกอันดับนี้นะ ต้องคิดให้ดีนะครับ และอย่าหวังสูงมากเกินไปนะ เลือกให้เราติดชัวร์ หากเลือกสูงเกิน แล้วพลาดหลุด 4 อันดับ มันเศร้ายิ่งกว่าไม่จบ ม.6 อีกนะ แนะนำให้น้องพิจารณาดีๆ

     

    คำถามต้องห้าม

    1. หนูจะติดมั้ยคะ = คิดซะว่าเราต้องติดสิ คำถามนี้ไม่มีใครตอบได้หรอกครับ แม้กระทั่งเจ้าหน้าที่ที่ดูแลการคัดเลือกเอง เค้าจะรู้ก็ต่อเมื่อประมวลผลแล้ว

    2. คะแนนหนูได้เท่านี้มีความหวังมั้ยคะ = เอ๋า ถ้าเราตัดสินใจเสี่ยงเราต้องหวังเป็นธรรมดาครับ เรามีความสุขได้เพราะเราสมหวัง แต่กว่าจะสมหวังได้เราก็ต้องผ่านความทุกข์เพราะความหวัง จุดเริ่มต้นของความสมหวังอยู่ที่ว่าเรากล้าที่จะ เสี่ยง หรือไม่

    3. คิดว่าแนวโน้มปีนี้คะแนนจะสูงขึ้นหรือต่ำลง = มันตอบยากนะครับ เพราะมีปัจจัยหลายอย่างมากที่จะทำให้คะแนนต่ำสุดเปลี่ยนแปลง ที่สำคัญที่สุด คือ การเลือกของน้องๆ ที่ไม่มีใครทราบก่อนการประมวลผลว่า คนเลือกมากน้อยเพียงใด ได้คะแนนเท่าไหร่บ้าง

     

    ปัจจัยที่ทำให้คะแนนต่ำสุดเปลี่ยนแปลง
    1. คะแนนเฉลี่ยโอเน็ต และ GAT & PAT ที่อาจจะเฟ้อขึ้นหรือต่ำลง

    2.
    กระแสนิยมในปีนั้นๆ มีผลมากเหมือนกันว่าคนจะไปเลือกอะไร

    3.
    คะแนนต่ำสุดของปีก่อนหน้านั้น อันนี้มีผลทางจิตวิทยามากเลยล่ะ โดยเฉพาะคณะที่คะแนนต่ำสุดเวอร์ๆ ของสถาบันชื่อดัง  คณะที่คะแนนต่ำสุดน้อยๆ คนที่อยากเรียนสถาบันดังๆ มักจะแห่ไปเลือก ระวังให้มากเลย

    4.
    จำนวนรับที่เปลี่ยนแปลง น้องๆ ไม่ใช่แค่เอาคะแนนต่ำสุดไปเทียบอย่างเดียวนะ น้องต้องตรวจสอบดูว่าจำนวนรับเปลี่ยนแปลงไปมากหรือไม่

    5.
    เกณฑ์คะแนนขั้นต่ำที่เปลี่ยน บางคณะมีการกำหนดคะแนนขั้นต่ำขึ้นมาในปีนี้ หรืออาจจะยกเลิกไปในปีนี้ ให้น้องตรวจสอบดูก่อน เพราะอาจมีผลต่อคะแนนต่ำสุดด้วย



    คณะที่ใช่กับมหาวิทยาลัยที่ชอบ
    คนที่ 1
    อันดับ 1 รัฐศาสตร์
    IR จุฬาฯ
    อันดับ 2 อักษรศาสตร์ จุฬาฯ
    อันดับ 3 นิติศาสตร์ จุฬาฯ
    อันดับ 4 จิตวิทยา จุฬาฯ

    คนที่ 2
    อันดับ 1 นิติศาสตร์ จุฬาฯ
    อันดับ 2 นิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์
    อันดับ 3 สังคมศาสตร์ (นิติศาสตร์) ม.เกษตร
     
    อันดับ 4 นิติศาสตร์ มช.

    น้องคิดว่าคนไหนจะเรียนในระดับอุดมศึกษาได้อย่างมีความสุข ได้ทำงานในสิ่งที่ตัวเองชอบในอนาคต อย่างคนที่ 1 ตกลงเค้าสนใจด้านไหน อยากเรียนด้านไหนเหรอ หรือขอให้ได้เป็นนิสิตจุฬาฯ พี่อยากจะบอกว่า อย่าได้เลือกเพราะอยากอยู่สถาบันดังๆ เพราะน้องจะดีใจ ภูมิใจในช่วงระยะเวลาสั้นๆ ที่ติดเท่านั้น แต่พอเรียนไปๆ น้องจะเกิดคำถามกับตัวเองว่า ทำไมมันยาก ทำไมคนอื่นเค้าเรียนแล้วมีความสุข คนอื่นเรียนแล้วเรียนดีกว่าเรา ก็เพราะเค้าได้เรียนในสิ่งที่ตัวเองชอบและเป็นความถนัดของเค้าครับ น้องจะได้แต่ดูคนอื่นเค้าเรียนอย่างมีความสุข แต่น้องก็ทุกข์ไปวันๆ คิดไม่ต้องว่าเรียนในสิ่งที่ไม่ถนัด จบไปก็ได้ทำงานที่ไม่ได้ชอบจริงๆ

    อนาคตที่ดีและมีความสุขไม่ได้ขึ้นอยู่กับสถาบันครับ แต่ขึ้นอยู่กับใจว่าเราได้หาในสิ่งที่ชอบให้กับตัวเองหรือไม่ อย่างถ้าน้องคนที่ 1 เค้าได้อันดับ 3 จบไปทำงานสายนิติศาสตร์ กับคนที่ 2 เค้าได้อันดับที่ 4 จบไปทำงานสายนิติศาสตร์เหมือนกัน คนที่ 2 จะมีความสุขกับหน้าที่การงานมากกว่า ทำงานอย่างมีความสุข ผลงานออกมาดี มีความก้าวหน้ามากกว่า คนที่ 1 ก็ทำงานด้วยความจำทน เพราะจบมาแล้ว ก็ต้องทำในสายที่จบมา หรือไม่ก็ฉีกแนวไปเลย

    เด็กจุฬาฯ ไม่ว่าจะคณะไหน คณะดังๆ ก็มีเด็กซิ่วไม่น้อย ก็เพราะเค้าเป็นคนที่ 1 ที่เลือกเข้าจุฬาฯ มาเพราะใช้สถาบันตอบสนองคุณค่าทางจิตใจ แต่ 1 ปีที่ผ่านไปตัวเองกลับรู้สึกสุขไม่จริง เรียนไปวันๆ ก็ไร้ทิศทางและแรงบันดาลใจ เพราะไม่ได้ชอบด้านนี้จริงๆ หลังๆ เริ่มเรียนไม่เต็มที่เพราะเตรียมตัวซิ่วไปด้วย ซิ่วได้ก็เริ่มต้นใหม่อีกครั้ง ซิ่วไม่ได้ตามที่หวังก็ต้องกลับมารับความจริงที่อยู่ข้างหลังอีกครั้ง ดังนั้นโอกาสแรกของเราครั้งนี้ คิดให้ดีดีกว่านะครับ

    สรุปจะเห็นว่า การจะมีความสุขหรือประสบความสำเร็จในอนาคต สถาบันไม่ได้เป็นปัจจัยสำคัญเท่าใจเรา คนไม่จบปริญญาตรีจุฬาฯ ก็ประสบความสำเร็จและพัฒนาตนเองได้ไม่ต่างกัน อยากจะเตือนน้องๆ ที่กำลังเหมือนคนที่ 1 ว่า น้องคิดดีหรือยังที่จะให้ความสำคัญกับสถาบันโดยไม่ได้คิดถึงความชอบที่มากที่สุดของตัวเอง เพราะน้องจะเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัยได้ไม่มีความสุขอย่างแท้จริง จุฬาฯ อยู่แล้วจะไม่มีความสุขถ้าไม่ได้เรียนในคณะที่ถนัดจริงๆ แต่สถาบันอื่นๆ แม้ว่าชื่อเสียงไม่ดัง แต่ก็มีเอกลักษณ์ มีความน่าอยู่ในแบบฉบับของสถาบันนั้นๆ ถ้าเราได้เรียนในสิ่งที่ชอบ เราจะปรับตัวแล้วใช้ชีวิตในสถาบันอย่างมีความสุขได้เองครับ

    ลองไปคิดดีๆ นะครับ


    วิธีการประมวลผลคะแนนแอดมิชชั่นส์
    น้องๆ หลายคนอาจจะสงสัยว่า 4 อันดับที่เลือกไปแล้วเค้าประมวลผลอย่างไร ทำไมคะแนนติดกันแต่เราเลือกอันดับ 1 ไม่ติด คนเลือกอันดับ 2 ติดซะงั้น วิธีเป็นเช่นนี้ครับ

    1. ระบบจะจัดเรียงคะแนนผู้สมัครที่เลือกอันดับ 1 ของทุกรหัสคณะเป็น
    list ให้ครบตามจำนวนรับของรหัสคณะนั้นเป็นขั้นตอนแรก เช่น รหัส 0036 รับ 230 คน ก็เรียงอันดับ 230 คนแรกที่เลือกรหัสนี้เป็นคณะอันดับ 1 ดังนั้นก็จะมีคนที่เลือกอันดับ 1 แล้วคะแนนไม่อยู่ในอันดับตามจำนวนรับ

    ที่นี้ล่ะครับ มันจะเกิดเหตุการณ์แทรกอันดับ แล้วดันคนตกอันดับลงมาเรื่อยๆ

    2. ระบบจะนำคนที่เลือกอันดับ 1 แล้วคะแนนไม่อยู่ในอับดับตามจำนวนรับของทุกรหัสคณะ มาพิจารณาอันดับ 2 ก็จะดูว่าคะแนนคณะอันดับ 2 มากกว่าต่ำสุดของคะแนนในขั้นตอนที่ 1 ของรหัสคณะนั้นหรือไม่ ถ้าเกินก็จะเอารายชื่อไปแทรก
    list ดังนั้นมีคนตกอันดับ 1 แล้วยิ่งมาแทรกมาก คนที่เลือกอันดับ 1 แล้วมีอันดับอยู่ท้าย list ในขั้นตอนที่ 1 ก็ถูกคนกลุ่มอันดับ 2 ที่ไม่ติดอันดับ 1 มาแทรกอันดับบนใน list จนตก list ไปในที่สุด ระบบจะพิจารณาเรื่อยๆ จนคณะประมวลคณะอันดับที่ 2 ของคนที่ไม่อยู่ใน list ขั้นตอนที่ 1 และคนที่ถูกแทรกในขั้นตอนที่ 2 เบียดตกลงมาพิจารณาคณะอันดับที่ 2 ใหม่อีก

    3. ระบบจะพิจารณาคณะอันดับ 3 ของคนที่ถูกเบียดตก
    list ขั้นตอนที่ 2 หรือไม่เคยอยู่ใน list ทั้ง 2 ขั้นตอน โดยจับแทรกอันดับใน list อีก ก็จะมีคนที่ตก list มาอีก

    4. ระบบจะพิจารณาคณะอันดับ 4 ครั้งสุดท้ายครับ อันดับ 4 ถ้าถูกเบียดตก หรือไม่ได้รับการพิจารณาก็พลาดการคัดเลือกในที่สุด

    ดังนั้นถ้าชื่อน้องอยู่ใน
    list ขั้นตอนที่ 1 คือเลือกคณะอันดับ 1 แล้วอยู่อันดับบนๆ คะแนนสูงมาก เช่น นิติศาสตร์ ได้ 25,000 ต่อให้ผ่าน 4 ขั้นตอน จะถูกคนอื่นแทรกยังไงก็ไม่ตก list แน่นอน กลายเป็นเทวดา นางฟ้า บน list อยู่วันยังค่ำ

    แต่ถ้าเราอยู่ท้ายๆ
    list ตั้งแต่ขั้นตอนที่ 1 ก็จงภาวนาว่าอย่าให้คนอื่นมาเบียดจนตก list ไป

    สรุป คือ
    คะแนนสำคัญกว่าอันดับคณะ แม้ว่าเราจะเลือกคณะนี้อันดับ 1 ถ้าคะแนนเราน้อยกว่าอีกคนที่เลือกคณะนี้เป็นอันดับ 2 ถ้าเค้าไม่ถูกจัดใน list ขั้นตอนแรก คือ คณะอันดับ 1 ที่เค้าเลือกคะแนนไม่ถึง เค้าจะมีมาแทรกอันดับบนใน list ที่เราอยู่ อันดับเราก็ตกลงมา และมีโอกาสติดสูงกว่าเรานะ 


    วันประกาศผล
    ประกาศก่อนทุกปีครับ ก่อนวันประกาศผลทางการที่แจ้งวัน 4-5 วันเลย วันประกาศผลยอดฮิต คือ 4-7 พฤษภาคม ต้นเดือนพฤษภาคมเมื่อไหร่ น้องๆ เกาะติดหน้าจอคอมพิวเตอร์รอฟังข่าวได้เลย แต่ก็อย่าลืมพักผ่อน ไม่กดดันตัวเอง อย่าไปกังวลมาก คนจะติดอันดับ 1 อะไรก็ฉุกไม่อยู่นะ


    เทคนิคการสัมภาษณ์

    "มีสิทธิ์สอบสัมภาษณ์" เป็นคำที่น้องๆ ทุกคนอยากเห็นเมื่อประกาศผลมากที่สุด เมื่อวันสอบสัมภาษณ์มาถึงเราควรเตรียมตัวดังต่อไปนี้นะครับ

    1. แต่งกายด้วยชุดนักเรียนที่ดูเรียบร้อย น่ารัก เหมาะสมกับการเป็นนักเรียน
    2. ดูแลความสะอาดของร่างกาย โดยเฉพาะผม เล็บ อย่ามาแบบเหงื่อโชกนะครับ
    3. เดินทางมาที่สถานที่สอบสัมภาษณ์ก่อนเวลาสัก 15-30 นาที
     เพื่อทำภารกิจส่วนตัวให้เรียบร้อย และสำรวจสถานที่ต่างๆ 
    4. เตรียมเอกสารให้ครบ อย่าลืมรับรองสำเนาถูกต้องนะครับ
    5. สิ่งแรกที่เจออาจารย์กรรมการ อย่าลืมมารยาทอันดีงาม "การไหว้"
    6. ทำตัวเป็นนางงามเข้าไว้นะครับ "ยิ้ม พูดเพราะ แอ๊บน่ารักไว้แต่พองาม"
    7. ตอบคำถามที่เป็นตัวเอง ซื่อสัตย์ ไม่สร้างภาพ และสำรวม
    8. ก่อนกลับก็อย่าลืมลาด้วย "สวัสดีครับ/ค่ะ" หากน้องมีอะไรสงสัยประการใดถามอาจารย์กรรมการได้เลยนะครับ แต่อย่ายาวนะ สั้นๆ พอ

    คำถามที่มักจะพบเจอในการสอบสัมภาษณ์
    - แนะนำตัวเอง
    - ข้อมูลการศึกษา
     
    - สิ่งที่สนใจ
    - สภาพครอบครัว รายได้ ความจำเป็นต่างๆ
    - แสดงเหตุผลที่ต้องการศึกษาต่อในคณะนี้
    - ทำไมถึงอยากเรียนคณะนี้
    - ทำไมถึงต้องเรียนที่นี่
    - หากไม่ได้เลือกคณะนี้เป็นอันดับ 1 ก็จะถามว่าทำไมถึงอยากเรียนในคณะอันดับ 1 แล้วจะเรียนคณะที่ติดได้ไหม
    - หากอยู่ต่างจังหวัดก็อาจจะถูกถามว่า ทำไมไม่เรียนสถาบันใกล้บ้าน
    - ตั้งโจทย์ตุ๊กตาถามทรรศนะตามบริบทของแต่ละสาขาวิชา เช่น ภาษาฝรั่งเศสก็อาจจะให้แสดงความคิดเห็นเป็นภาษาฝรั่งเศส หรือสังคมศึกษาก็ให้แสดงความคิดเห็นในสถานการณ์ปัจจุบัน
    - คำถามท้าทาย กดดัน หรือกวนประสาท ยั่วโมโห
     เช่น มันหนักนะ ต้องเจอสิ่งนี้นะ จะไหวเหรอ
    - การปรับตัวเข้าสู่ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย เช่น ที่อยู่อาศัย การเดินทาง
    ทั้งนี้ การสอบสัมภาษณ์ในระบบแอดมิชชั่นส์จะไม่มีการคัดออก ตอบได้เป็นพอ ไม่ต้องเครียดว่าให้ดีเลิศ ตราตรึงใจอาจารย์กรรมการ พยายามทำเหมือนว่าเค้าชวนเราคุย เราก็คุยด้วยอาการปกติ ยิ้มแย้มแจ่มใส ใช้ภาษากึ่งสนทนา เหมือนเราคุยกับผู้ใหญ่

     



     

     

    บทความสำหรับน้องๆ ว่าที่นิสิตครุศาสตร์ จุฬาฯ

     

    คำถามที่น้องๆ ต้องคำนึงถึง
    1. รับตรงกับแอดมิชชั่นส์ระบบไหนน่ากลัวกว่ากัน
    3.
    ระบบรับรวม คือ อะไร
    4. มีสาขาวิชา และวิชาเอกอะไรบ้าง ทำไมถึงรับเข้ารูปแบบเดียว
    5. เลือกอันดับอย่างไรไม่ให้พลาด
    6.
    คณะครุศาสตร์ในระบบแอดมิชชั่นส์มีวิธีการคิดคะแนนอย่างไร

    คำถามเหล่านี้น้องๆ สามารถศึกษาได้ด้านล่างอย่างละเอียดเลยจ้า หากไม่เข้าใจ หรือตัดสินใจไม่ได้ โพสต์ไว้ในกระทู้นะ พี่จะช่วยเต็มที่


    ระบบรับตรงแบบปกติ กับ ระบบแอดมิชชั่นส์
    พี่ต้องขอบอกตามตรงว่าสถิติจำนวนผู้สมัครและคะแนนในระบบรับตรงแบบปกติของคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ น่าตกใจเป็นอย่างมาก มีผู้ยื่นคะแนนเข้าศึกษาในคณะครุศาสตร์มากถึง 10,000 กว่าคน ซึ่งมากกว่าแอดมิชชั่นส์ 4 ครั้งที่ผ่านมา ซึ่งแอดมิชชั่นส์ปีการศึกษา 2550 เป็นปีที่มีผู้ยืนคะแนนแอดมิชชั่นส์เข้าศึกษาในคณะครุศาสตร์มากที่สุดจำนวน 5,647 คน ซึ่งจะเห็นว่าน้อยกว่าระบบรับตรงปกติที่ผ่านมาเกือบ 3 เท่า และมากกว่าปีการศึกษา 2553 ที่เค้าว่าบูมมากเสียอีก

    พี่ต้องทำความเข้าใจกับน้องๆ ก่อนว่า ระบบรับตรงปกติเป็นมีการแข่งขันที่สูงกว่าระบบแอดมิชชั่นส์มากจริงๆ เพราะเปิดคัดเลือกเฉพาะภายในมหาวิทยาลัย ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าใครๆ ก็อยากติดจุฬาฯ แม้แต่จะเป็นคณะครุศาสตร์ที่ใครๆ ก็มองว่าคะแนนต่ำ จึงเลือกไว้อันดับท้ายๆ เพียงแต่อยากได้ชื่อว่า "ฉันติดจุฬาฯ" แต่ก็ไม่ได้อยากเรียนจริงๆ พอประกาศผลผู้มีสิทธิ์เข้าสอบสัมภาษณ์ก็
    สละสิทธิ์ไม่ยืนยันสิทธิ์ถึง 76 คน จาก 127 คน ชี้ให้เห็นว่า เด็กที่หวังคณะอื่นๆ เลือกคณะครุศาสตร์เป็นไม้ประดับแล้วไปตัดโอกาสเด็กที่อยากเรียนจริงๆ ไปในระบบรับตรงปกติ เหตุผลที่เด็กบางส่วนตัดสินใจเลือกครุศาสตร์ จุฬาฯ ไว้เป็นอันดับท้ายของระบบรับตรงปกติ แล้วสละสิทธิ์ เพราะอยากเลือกให้ครบ 4 อันดับ ซึ่งหากติดแม้ว่าจะเป็นอันดับ 4 ก็ถือว่าติดจุฬาฯ แต่ไม่เอา เพราะยังมีสนามสอบสุดท้ายที่เปิดโอกาสอยู่ คือ แอดมิชชั่นส์

    ดังนั้นแอดมิชชั่นส์จะแตกต่างจากระบบ
    แบบตรงปกติ เนื่องจากมีให้เลือกหลายสาขาวิชา หลายสถาบัน และเป็นสนามสอบสุดท้าย แสดงให้เห็นว่าเด็กจะเลือกเล่นๆ ในอันดับท้ายๆ แบบรับตรงแบบปกติไม่ได้ สิ่งที่พี่จะบอกน้องๆ ตรงนี้ก็คือว่า อย่าไปกลัวว่าแอดมิชชั่นส์จะน่ากลัวกว่าระบบแบบตรงปกติ ซึ่งหลายคนอาจมองว่า ก็เปิดรับทั่วประเทศ คนก็เลือกมากกว่าสิ พี่ว่าน้องๆ มองผิด เพราะรับตรงปกติก็เปิดรับทั่วประเทศ แต่ภายในสถาบันเดียว แต่แอดมิชชั่นส์รับทั่วประเทศ ทุกสถาบัน ตัวเลือกก็มากขึ้นมหาศาล ไม่ใช่แค่ 19 คณะในจุฬาฯ อัตราการแข่งขันจึงน้อยกว่ารับตรงปกติมากๆ โอกาสที่จะติดครุศาสตร์ จุฬาฯ จึงมีมากกว่ารับตรงปกติแน่นอน คะแนนคงไม่โอเวอร์แบบ 22,000 กว่าเหมือนรับตรง ฟันธง!!

    พี่ลองยกตัวอย่างง่าย สมมติว่าพี่อยากเรียนรัฐศาสตร์ ระบบรับตรง
    แบบปกติพี่เลือกรัฐศาสตร์ จุฬาฯ 3 อันดับ แล้วเลือกครุศาสตร์ อันดับสุดท้าย ปรากฏว่าพี่ติดครุศาสตร์ แต่ไม่เอา วิธีการเลือกอันดับรับตรงแบบนี้จะปรากฏในแอดมิชชั่นส์น้อย เพราะในแอดมิชชั่นส์พี่ก็อาจจะเลือก รัฐศาสตร์ จุฬาฯ 2 อันดับ แล้วอันดับ 3 เลือกรัฐศาสตร์ มธ ปิดท้ายด้วยรัฐศาสตร์ ม.เกษตร ซึ่งแน่นอนครุศาสตร์ จุฬาฯ ที่เคยเลือกไม่อยู่ในอันดับแอดมิชชั่นส์ เพราะถ้าติดขึ้นมาคราวนี้สละสิทธิ์ไม่ได้แล้วนะ ต้องเรียน ดังนั้นคนก็เลยจะเลือกคณะที่เรียนได้ของหลายๆ สถาบัน มากกว่าที่จะเลือกจุฬาฯ แต่ไม่สนใจคณะ


    รูปแบบรับรวม
    ตั้งแตปีการศึกษา 2550 เป็นต้นมา คณะครุศาสตร์เปลี่ยนระบบการรับบุคคลเข้าศึกษาต่อในหลายสาขาวิชาเป็นระบบรับรวม คือ การคัดเลือกที่ไม่ระบุสาขาวิชาในแอดมิชชั่นส์ แต่จะมีการคัดเลือกนิสิตเข้าสังกัดสาขาวิชาภายหลังจากที่เข้ามาศึกษาในคณะครุศาสตร์แล้วด้วยวิธีที่จะกล่าวถึงต่อไป ดังนั้นน้องๆ หลายคนที่อาจจะเข้าใจผิดว่าครุศาสตร์ จุฬาฯ ไม่มีวิชาเอกภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์อะไรต่างๆ ทำความเข้าใจใหม่ว่า แอดมิชชั่นส์เป็นระบบรับรวม แล้วจะมีการคัดเลือกเข้าสังกัดสาขาวิชาในภายหลัง 

    ดังนั้นสรุปว่า 230 คนในระบบแอดมิชชั่นส์จะมีการแยกสาขาวิชาอีกครั้งภายหลังที่เข้าศึกษาแล้วนะครับ


    สาขาวิชาและวิชาเอกในคณะ
    คณะครุศาสตร์ ประกอบด้วย 10 สาขาวิชา ได้แก่
    1. สาขาวิชาการศึกษาปฐมวัย (รับแยกสาขาวิชาในระบบแอดมิชชั่นส์)
    2. สาขาวิชาประถมศึกษา (รับแยกสาขาวิชาในระบบแอดมิชชั่นส์)
    3. สาขาวิชามัธยมศึกษา (รับรวม)
        - วิทยาศาสตร์
        - มนุษยศาสตร์-สังคมศาสตร์
    4. สาขาวิชาการศึกษานอกระบบโรงเรียน (รับรวม)
    5. สาขาวิชาธุรกิจศึกษา (รับแยกสาขาวิชาในระบบแอดมิชชั่นส์)
    6. สาขาวิชาศิลปศึกษา (เปิดรับเฉพาะระบบรับตรงแบบปกติ)
    7. สาขาวิชาดนตรีศึกษา (เปิดรับเฉพาะระบบรับตรง)
    8. สาขาวิชาสุขศึกษาและพลศึกษา (เปิดรับเฉพาะระบบรับตรง)
    9. สาขาวิชาเทคโนโลยีการศึกษา (รับรวม)
    10. สาขาจิตวิทยาการปรึกษา การแนะแนวและการศึกษาพิเศษ (รับรวม)

    ซึ่งจะเห็นว่ามี
     4 สาขาวิชาที่เป็นการรับรวมในระบบแอดมิชชั่นส์ ดังนั้นเมื่อน้องๆ เข้าศึกษาต่อในคณะครุศาสตร์ได้แล้ว ก่อนเปิดภาคการศึกษาต้นในเดือนพฤษภาคม จะมีการแนะแนวสาขาวิชา เพื่อให้น้องๆ ได้รู้จักทั้ง 4 สาขาวิชามากขึ้น เพื่อตัดสินใจเลือกสาขาวิชา โดยจะใช้คะแนนสอบเข้ามานั่นแหละเป็นเกณฑ์ในการพิจารณา ซึ่งจะให้ยื่นได้ 4 สาขาวิชา เหมือนกับระบบแอดมิชชั่นส์
    น้องๆ สามารถอ่านวิธีการคัดเลือกนิสิตเข้าสังกัดสาขาวิชาโดยละเอียดได้ที่บทความนี้
    http://writer.dek-d.com/dek-d/writer/viewlongc.php?id=567449&chapter=5

    ส่วนวิชาเอกจะเป็นส่วนหนึ่งของสาขาวิชาต่างๆ ซึ่งมีดังต่อไปนี้
    1. วิชาเอกเดี่ยว (เรียนวิชาเอกเดียว 76 หน่วยกิต : เนื้อๆ เน้นๆ ลึกๆ)
        - วิชาเอกการศึกษาปฐมวัย : มีวิชาเอกเดียวเฉพาะสาขาวิชาการศึกษาปฐมวัย
        - วิชาเอกประถมศึกษา (ต้องเลือกคู่กับอีก 2 วิชาจาก 5 วิชา ดังนี้ ภาษาไทย สังคมศึกษา ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์)
        - วิชาเอกคณิตศาสตร์ : เฉพาะสาขาวิชามัธยมศึกษา (วิทยาศาสตร์)
        - วิชาเอกวิทยาศาสตร์ทั่วไป : เฉพาะสาขาวิชามัธยมศึกษา (วิทยาศาสตร์)
        - วิชาเอกฟิสิกส์ : เฉพาะสาขาวิชามัธยมศึกษา (วิทยาศาสตร์)
        - วิชาเอกเคมี : เฉพาะสาขาวิชามัธยมศึกษา (วิทยาศาสตร์))
        - วิชาเอกชีววิทยา : เฉพาะสาขาวิชามัธยมศึกษา (วิทยาศาสตร์)
        - วิชาเอกภาษาไทย : เฉพาะสาขาวิชามัธยมศึกษา (มนุษยศาสตร์-สังคมศาสตร์)
        - วิชาเอกสังคมศึกษา : เฉพาะสาขาวิชามัธยมศึกษา (มนุษยศาสตร์-สังคมศาสตร์)
        - วิชาเอกภาษาอังกฤษ : เฉพาะสาขาวิชามัธยมศึกษา (มนุษยศาสตร์-สังคมศาสตร์)
        - วิชาเอกธุรกิจศึกษา : มีวิชาเอกเดียวเฉพาะสาขาวิชาธุรกิจศึกษา
        - วิชาเอกศิลปศึกษา : มีวิชาเอกเดียวเฉพาะสาขาวิชาศิลปศึกษา
        - วิชาเอกดนตรีศึกษา : เป็นวิชาเอกเฉพาะสาขาวิชาดนตรีศึกษา
        - วิชาเอกการสอนดนตรีไทย : เป็นวิชาเอกเฉพาะสาขาวิชาดนตรีศึกษา
        - วิชาเอกการสอนดนตรีสากล : เป็นวิชาเอกเฉพาะสาขาวิชาดนตรีศึกษา
    2. วิชาเอกคู่ (เรียนวิชาเอก 2 วิชาเอกคู่กับ วิชาเอกละ 38 หน่วยกิต)
        - วิชาเอกคณิตศาสตร์
        - วิชาเอกวิทยาศาสตร์ทั่วไป
        - วิชาเอกฟิสิกส์
        - วิชาเอกเคมี
        - วิชาเอกชีววิทยา
        - วิชาเอกภาษาไทย
        - วิชาเอกสังคมศึกษา
        - วิชาเอกภาษาอังกฤษ
        - วิชาเอกภาษาฝรั่งเศส
        - วิชาเอกภาษาเยอรมัน
        - วิชาเอกการศึกษานอกระบบโรงเรียน
        - วิชาเอกสุขศึกษา
        - วิชาเอกพลศึกษา
        - วิชาเอกเทคโนโลยีการศึกษา
        - วิชาเอกคอมพิวเตอร์การศึกษา
        - วิชาเอกจิตวิทยาการปรึกษาและแนะแนว
        - วิชาเอกการศึกษาพิเศษ

    หมายเหตุ : คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นระบบวิชาเอกเดี่ยว-คู่ ไม่ใช่ระบบวิชาเอก-วิชาโท
     
                    - วิชาเอกเดี่ยวก็จะเรียนลึกและละเอียดมากกว่าวิชาเอกคู่ 
                    - วิชาเอกคู่ แทนที่จะเป็นวิชาเอก-โท เนื่องจากมีวัตถุประสงค์ที่จะให้ความสำคัญเท่าๆ กัน ซึ่งเรียนเท่าๆ กันทั้งสองวิชาเอก คือ 38 หน่วยกิต และเพิ่มทางเลือกในการศึกษาต่อ หรือสอบบรรจุครู หลังสำเร็จการศึกษา เพราะมีทางเลือก 2 ทางว่า หากจะศึกษาต่อก็เลือกได้ว่าจะเรียนต่อด้านวิชาเอกไหนดี หรือถ้าจะสอบบรรจุหรือไปสมัครสอนโรงเรียนเอกชนก็เลือกได้ว่าจะสอนวิชาไหน แต่ถ้าใช้ระบบวิชาเอก-โท ในส่วนวิชาโทจะเรียนเป็นเพียงวิชาเสริมเท่านั้น

    น้องๆ สามารถอ่านวิธีการคัดเลือกนิสิตเข้าสังกัดวิชาเอกโดยละเอียดได้ที่บทความนี้
    http://writer.dek-d.com/dek-d/writer/viewlongc.php?id=567449&chapter=6


    ข้อควรระวังในแอดมิชชั่นส์

    1. หนูอยากเป็นครู อยากเรียนครูที่จุฬาฯ หรือเพียงแค่หนูอยากติดจุฬาฯ การเป็นนิสิตจุฬาฯ มันภาคภูมิใจก็จริงนะครับ แต่ระวังความเป็นจุฬาฯ จะย้อนมาทำร้ายและทรมานเราภายหลัง ถ้าเราเลือกเรียนในสิ่งที่ไม่ได้ชอบหรือถนัดจริงๆ ใช้ชีวิตในจุฬาฯ ก็แค่ภูมิใจว่าเป็นนิสิตจุฬาฯ ได้สวมชุดนิสิตที่ดูสง่า แต่ในใจกับทุกข์ อึดอัดในการเรียน สุดท้ายก็ต้องจบลงด้วยการซิ่ว เสียเวลา 1 ปีเต็มๆ กับการเลือกจุฬาฯ คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ เค้าถึงมีคนพูดว่า "คนในอยากออก คนนอกอยากเข้า" คนในที่อยากออกไม่ใช่เพราะคณะนี้ไม่น่าอยู่ แต่เค้าอยู่คณะนี้ไม่ได้ เพราะเรียนแล้วเหนื่อย หนัก ไม่ชอบ ส่วนคนนอกก็คือคนที่เค้าอยากเป็นครูจริงๆ อยากให้น้องลองคิดดีๆ ครับว่าหนูอยากเป็นครูจริงๆ หรือเปล่า คณะนี้คนซิ่วมีประมาณ 40 คนต่อปี ส่วนใหญ่คือคนที่เลือกคณะนี้เพื่อมาเรียนจุฬาฯ หรือมาเรียนในวิชาเอกที่ตัวเองถนัดเรียน แต่พลาดฝันจริงๆ ไป พี่ไม่อยากให้น้องมาช่วยทำสถิติเด็กซิ่ว จึงอยากให้คิดดูดีๆ ครับ เลือกคณะที่ชอบดีกว่าติดมหาวิทยาลัยดีๆ แต่มีทุกข์กับการเรียนที่ตัวเองไม่ถนัด

    2.
    ขอให้หนูได้เรียนครุศาสตร์ จุฬาฯ ก็พอใจแล้ว สาขาวิชาไหนก็ได้ ระวังนะครับ โดยเฉพาะการเลือกสาขาวิชาที่แยกรับในแอดมิชชั่นส์ ไม่สามารถเปลี่ยนสาขาวิชาได้อีก 
        - การศึกษาปฐมวัยและประถมศึกษา ถ้าไม่ชอบอยู่กับเด็กเล็กๆ เงียบขรึม เข้ากับคนอื่นได้อยาก ไม่อดทน อย่าเลือกเลยครับ
        - ธุรกิจศึกษา ถ้าไม่ชอบตัวเลข หรือเรื่องเกี่ยวกับการเงิน การตลาด บัญชี อย่าเลือกเลยครับ
        ที่บอกเพราะว่าหลายคนเลือกครุศาสตร์ จุฬาฯ 4 อันดับเลย ไม่สนใจว่าจะเป็นสาขาวิชาไหน หรือเลือกสาขาวิชาที่คิดว่าคนเลือกน้อยสุด แต่ลืมถามตัวเองว่าชอบมั้ย เรียนได้มั้ย ไม่ต่างอะไรกับข้อ 1 นะครับ


    เทคนิคการสัมภาษณ์
    คำถามที่มักจะพบเจอในการสอบสัมภาษณ์
    - แนะนำตัวเอง
    - ข้อมูลการศึกษา
     
    - สิ่งที่สนใจ
    - สภาพครอบครัว รายได้ ความจำเป็นต่างๆ
    - แสดงเหตุผลที่ต้องการศึกษาต่อในคณะนี้
    - ทำไมถึงอยากเป็นครู
    - ทำไมถึงต้องเรียนครุศาสตร์ จุฬาฯ
    - หากไม่ได้เลือกครุศาสตร์อันดับ 1 ก็จะถามว่าทำไมถึงอยากเรียนในคณะอันดับ 1 แล้วจะเรียนครุศาสตร์ได้ไหม
    - หากอยู่ต่างจังหวัดก็อาจจะถูกถามว่า ทำไมไม่เรียนสถาบันใกล้บ้าน
    - ตั้งโจทย์ตุ๊กตาถามทรรศนะตามบริบทของแต่ละสาขาวิชา เช่น ภาษาฝรั่งเศสก็อาจจะให้แสดงความคิดเห็นเป็นภาษาฝรั่งเศส หรือสังคมศึกษาก็ให้แสดงความคิดเห็นในสถานการณ์ปัจจุบัน
    - คำถามท้าทาย เช่น มันหนักนะ ต้องเจอสิ่งนี้นะ จะไหวเหรอ
    - การปรับตัวเข้าสู่ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย เช่น ที่อยู่อาศัย การเดินทาง
    ทั้งนี้ การสอบสัมภาษณ์ในระบบแอดมิชชั่นส์จะไม่มีการคัดออก ตอบได้เป็นพอ ไม่ต้องเครียดว่าให้ดีเลิศ ตราตรึงใจอาจารย์กรรมการ พยายามทำเหมือนว่าเค้าชวนเราคุย เราก็คุยด้วยอาการปกติ ยิ้มแย้มแจ่มใส ใช้ภาษากึ่งสนทนา เหมือนเราคุยกับผู้ใหญ่

    ทั้งหมดนี้เป็นเพียงคำแนะนำสั้นๆ (แล้วนะ) ที่พี่ปรารถนาดีกับน้องๆ ที่รักในความเป็นครูทุกคน
    หากน้องๆ ต้องการหาข้อมูลเกี่ยวกับการศึกษาต่อและการเรียนในคณะครุศาสตร์
    สามารถเข้าไปอ่านในบทความทั้ง
     36 เรื่อง ได้จากไรต์เตอร์นี้นะครับ


    http://writer.dek-d.com/dek-d/writer/view.php?id=567449



    ท้ายที่สุด 
    พี่เป็นกำลังใจให้น้องๆ ม.6 ทุกคนนะครับ อยากจะบอกว่า
    จงเชื่อมั่นในสิ่งที่เรามุ่งหวัง และให้โอกาสตนเองด้วยกำลังใจที่เต็มเปี่ยม 
    กำลังใจจากตัวเองยิ่งมีมาก ความฝันของเราก็จะเป็นจริงมากเท่านั้น
     
    และถ้าหากผิดหวังเราก็จะลุ้นขึ้นสู้ใหม่ได้อย่างเข้มแข็ง

    สู้สู้ครับน้องๆ พี่จะรอรับน้องๆ ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
    See you @ CU

     


    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×