คณะ วิศวกรรมศาสตร์
สาขา วิศวกรรมสิ่งแวดล้อม

ตอนที่ 1/3 : ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย
   
 

         
       สวัสดีค่ะน้องๆ ชาว Dek-D.com ... เจอกับ พี่เป้ และคณะในฝันทุกๆ เดือนเช่นเคย ^^ สำหรับเดือนนี้ขอเอาใจคนรักธรรมชาติสิ่งแวดล้อม เพราะจะพาน้องๆ ไปเจาะลึกสาขาหนึ่งในคณะวิศวกรรมศาสตร์ที่กำลังเป็นกระแสในสังคมปัจจุบัน นั่นก็คือ "คณะวิศวกรรมศาสร์ สาขาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม" สัปดาห์แรกขอพาน้องๆ ไปคุยกับรุ่นพี่ที่กำลังเรียนคณะและสาขานี้ที่พร้อมจะเล่าชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยแบบหมดเปลือก !!!

 


สวัสดีค่ะ ก่อนอื่นช่วยแนะนำตัวแก่น้องๆ ชาว Dek-D.com ด้วยค่ะ

สวัสดีครับ ชื่อเกรียงศักดิ์ ริ้วกลาง ชื่อเล่น "ที"  ปัจจุบันกำลังศึกษาในระดับปริญญาตรี สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ชั้นปีที่ 4 ครับ ( ปีสุดท้ายแว้ววววว…..^o^ )


อะไรเป็นแรงบันดาลใจให้ทีเลือกเรียนวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมคะ

ด้วยความที่ผมเป็นคนที่ชอบการคำนวณอะครับ แล้วก็ชอบพวกชีวะ เคมี พวกนี้ด้วย ซึ่งค่อนข้างจะแปลก เนื่องจากเด็กที่ชอบคำนวณส่วนใหญ่จะขยาดกับวิชาพวกนี้ ครอบครัวไม่ได้กำหนดด้วยว่าจะต้องให้เรียนคณะนั้นคณะนี้ คือแบบว่าให้อิสระกับเราเต็มที่เลย ผมเลยมองหาสาขาที่ตอบโจทย์เรา แล้วมาหยุดที่วิศวกรรมสิ่งแวดล้อม มทส. อีกอย่างปัจจุบันปัญหาเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมกำลังเป็นกระแสที่สังคมให้ความสำคัญ เลยมองว่าอนาคตวิชาชีพนี้จะได้รับความสนใจมากขึ้น คนอื่นก็จะมองเราแบบว่าวีรบุรุษผู้กอบกู้โลกประมาณนี้อ่ะครับ ^ ^  แต่จริงๆ แล้วคนที่จะมาเรียนสาขานี้ก็ต้องมีใจรักในด้านนี้ด้วย เพราะจะมาเรียนเพราะความเท่อย่างเดียวคงไปไม่รอดหรอกครับ 


อยากให้ช่วยอธิบายคร่าวๆ ว่า วิศวกรรมสิ่งแวดล้อมคืออะไร เรียนเกี่ยวกับอะไรบ้างเหรอคะ เพราะน้องๆ บางคนอาจจะยังไม่รู้จักหรือยังไม่เข้าใจ

จริงๆ แล้ววิศวกรรมสิ่งแวดล้อม (Environmental Engineering) เป็นสาขาที่มีมานานแล้วครับ เดิมชื่อว่าวิศวกรรมสุขาภิบาล (Sanitary Engineering) ซึ่งในอดีตจะเป็นสาขาหนึ่งในภาควิชาวิศวกรรมโยธา (เหมือนๆ กันกับ วิศวกรรมขนส่ง วิศวกรรมธรณี เทคโนโลยีธรณี วิศวกรรมสำรวจ ฯลฯ ) วิชาที่เรียนก็คล้ายคลึงกับวิศวกรรมโยธามาก  แต่ด้วยความที่ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมเริ่มมีความสำคัญและท้าทายมากขึ้น ทำให้จำเป็นต้องมีบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถในศาสตร์นี้โดยเฉพาะ จึงทำให้ต้องมีการแยกตัวออกมาเป็นสาขาวิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม ไม่สังกัดภาควิชาใดภาควิชาหนึ่ง (บางมหาวิทยาลัยอาจจะยังคงมีอยู่ครับ ) เนื้อหาที่เรียนจะเน้นหนักในด้านการการควบคุม เดินระบบ ประเมิน และออกแบบอุปกรณ์บำบัดมลพิษต่างๆ เช่น น้ำ อากาศ และกากของเสีย  การจัดทำ EIA (Environmental Impact Assesment) และอื่นๆ ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมครับ


สาขานี้มีความสำคัญยังไง ทำไมจึงต้องเรียน มีประโยชน์อะไรยังไงต่อสังคมบ้างคะ

เป็นคำถามที่ดีมากครับ ^^ ปัจจุบันกระแสด้านสิ่งแวดล้อมมาแรงมาก สาขาในด้านวิศวะที่เกี่ยวข้องโดยตรงก็คือ วิศวกรรรมสิ่งแวดล้อม เนื่องจากจะรับผิดชอบในส่วนของการออกแบบและควบคุมระบบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการฟื้นฟูคุณภาพสิ่งแวดล้อม เช่น ระบบบำบัดน้ำเสีย ระบบกำจัดขยะ ระบบบำบัดมลพิษอากาศ ซึ่งมีความยากและท้าทายกว่าในอดีตที่ไม่ค่อยมีปัญหาเท่าไร เนื่องจากของเสียที่เกิดขึ้นยังมีปริมาณไม่มากและไม่เป็นปัญหาสำหรับการจัดการ

นอกจากนั้นแล้ว สาขาเรายังศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบของ GHG (Green House Gas) ต่อชั้นบรรยากาศ  แนวทางการลดก๊าซเรือนกระจก ศึกษาการสร้างพลังงานทางเลือกใหม่จากของเสีย หรือที่เรียกว่าก๊าซชีวภาพ (Bio gas) การจัดการของเสียอุตสาหกรรม การทำ CDM , CT พวกนี้ล้วนเป็นงานของวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมทั้งสิ้น

นอกจากนี้สาขาวิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม มทส. ยังถูกประกาศให้เป็น 1 ใน 7 วิชาชีพวิศวะ ที่ได้รับใบ กว. หรือใบประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม ซึ่งได้รับการรับรองปริญญาหลักสูตรวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมจากสภาวิศวกรด้วย โดยใบ กว. ทางด้านวิศวะ ก็คล้ายกับใบประกอบวิชาวิชาชีพเวชกรรม เภสัชกรรม ทันตกรรม สถาปัตยกรรม เทคนิคการแพทย์ ฯลฯ ครับ โดยทางสภาวิศวกรจะพิจารณาออกใบ กว. ให้กับสาขาด้านวิศวกรรมที่เมื่อประกอบวิชาชีพนี้แล้วจะเสี่ยงหรือมีผลกระทบต่อชีวิต ทรัพย์สินและความเป็นอยู่ของประชาชนอย่างร้ายแรง ประกอบด้วย โยธา เครื่องกล ไฟฟ้า เหมืองแร่ อุตสาหการ เคมี  และสิ่งแวดล้อม ซึ่งหมายถึงคนที่จะทำอาชีพนี้ได้ต้องมีความรู้เฉพาะทางที่เรียนมาโดยตรงครับ จะทำเนียนโดยที่ไม่ได้เรียนแล้วมาทำอาชีพนี้ไม่ได้เด็ดขาดเพราะผิดกฎหมาย  ฉะนั้นแล้ว ถ้ามาเรียนสาขานี้รับรองว่าน้องจะไม่ถูกแย่งงานแน่นอนครับ ^ ^


ได้ยินมาเยอะมากกกกกกว่าเด็กวิศวะฯ เรียนหนักมากกกกจริงมั้ยคะ

จริงๆ แล้วมันขึ้นอยู่กับพื้นฐานและความชอบของแต่ละคนครับ ความจริงของหนึ่งคนไม่ใช่ความจริงของทุกคน (ออกแนวสำนวน อิอิ) ถ้าเราถนัดในด้านนี้ ชอบการคำนวณ (สำคัญมาก) ความท้าทาย และใฝ่หาความรู้และเทคโนโลยีใหม่ๆ อยู่เสมอ มันก็ไม่น่าจะยากครับ ผมว่ามันสนุกมากว่า ในเมื่อเราชอบแล้ว ความยากมันจะเปลี่ยนไปเป็นความอยากรู้และความท้าทายมากกว่าครับ แต่ขอย้ำเลยนะครับว่า ถ้าพื้นฐานด้านการคำนวณไม่แน่นพอ แบบว่าไม่ชอบเลข ฟิสิกส์ ประมาณนี้ พี่ไม่แนะนำให้มาเรียนวิศวะครับ วิศวะทุกสาขาการคำนวณเป็นหัวใจหลักเลย ขาดไม่ได้ มีเพื่อนผมหลายคนก็ไม่รอดเพราะเข้ามาเรียนเนื่องจากคิดว่าเท่บ้าง ครอบครัวบังคับบ้าง สุดท้ายก็ต้องเสียเวลา แต่ถ้าพื้นฐานไม่แน่นพอ หากมีความตั้งใจและขยัน ผมว่าก็สามารถประสบความสำเร็จได้ครับ  สรุปแล้ว ความยากไม่ยากอยู่ที่ความพร้อมและความตั้งใจของเราครับ ถ้าน้องตั้งใจ พี่ว่าน้องทุกคนทำได้อยู่แล้วครับ สู้ๆ อิอิ

 
คิดว่าวิศวะฯ สิ่งแวดล้อมมีจุดเด่นที่น่าสนใจหรือเอกลักษณ์ที่ต่างจากสาขาอื่นยังไงบ้างคะ

ผมว่าวิศวะ มทส. ส่วนใหญ่ มีความอึด ถึก 555++ และขยันมากนะครับ เนื่องจากระบบการเรียนการสอนที่รวดเร็ว แป๊บเดียวสอบ  เรียนสามเทอม ทำให้ นศ. ต้องกระตือรือร้นอ่านหนังสืออยู่ตลอดเวลา  ในส่วนของวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม เนื่องจากเราทำงานเกี่ยวกับการควบคุม ป้องกัน และบำบัดของเสียทุกชนิดที่เกิดขึ้น ดังนั้น การออกเก็บข้อมูลในภาคสนามหรือตัวอย่างเมื่อนำมาวิเคราะห์ผล เป็นสิ่งที่ต้องเจออยู่แล้ว ผมคิดว่าสาขานี้ก็ลุยไม่แพ้ใครหรอกครับ ^ ^





แล้วนอกจากวิชาเลขและฟิสิกส์แล้ว คนจะเรียนวิศวะฯ ควรต้องถนัดวิชาไหนอีกบ้างคะ

อย่างที่พี่บอกไปครับ น้องที่จะเข้าวิศวะทุกสาขา น้องควรจะมีความสุขและสนุกกับวิชาพวกเลข ฟิสิกส์ ประมาณนี้ เพราะน้องต้องใช้ตลอดทั้งการเรียนและการประกอบอาชีพ น้องลองถามตัวเองครับว่าน้องรักมันรึเปล่าก่อนที่จะตัดสินใจเลือก วิชาพวกนี้ถือเป็นพื้นฐานของวิศวะทุกสาขาครับ ส่วนถ้าพูดถึงในสาขาของพี่คือวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม พี่ว่าวิชาที่น้องต้องรักและทำมันได้ดีพอสมควรเพิ่มอีกนิดคือ ชีวะ เคมี แล้วก็ภาษาอังกฤษครับ เพราะเนื้อหาที่น้องต้องเรียนตลอดสี่ปี (อย่างต่ำ ^ ^ ) ก็ไม่พ้นวิชาพวกนี้ครับ ซึ่งใช้เยอะมากๆ


แล้วในบรรดาวิชาที่เรียนมาทั้งหมดของสาขาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม ชอบวิชาไหนมากสุดคะ

พี่ชอบวิชาเคมีสิ่งแวดล้อม (Environmental Chemistry) ครับ วิชานี้ถือเป็นวิชาพื้นฐานหลักสำหรับน้องที่จะเรียนวิชาต่อๆ ไปของสาขาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมครับ เนื้อหาที่เรียนก็เกี่ยวกับปฏิกิริยาต่างๆ ทางด้านสิ่งแวดล้อม การวิเคราะห์ปริมาณสารพิษ แร่ธาตุ หรืออนุภาคต่างๆ ที่มีอยู่ในน้ำและสิ่งแวดล้อม เช่น คลอไรด์ (chloride) ซัลเฟต (Sulfate) ความกระด้างของน้ำ (Hardness) เหล็กและแมงกานีส ปฏิกิริยาก่อตะกอน  ค่า BOD , DO , COD  การวิเคราะห์ค่าของแข็ง  โลหะหนัก เป็นต้นครับ นอกจากนี้ทางหลักสูตรยังได้เพิ่มรายวิชาปฏิบัติการ ซึ่งมีถึง 2 วิชาต่อเนื่องกัน  เพื่อให้นักศึกษาคุ้นเคยเกี่ยวกับการใช้เครื่องมือทดลอง เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ และฝึกทักษะการวิเคราะห์พารามิเตอร์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอีกด้วยคับ ทั้งนี้ก็เพื่อให้น้องๆ แน่นในทฤษฏี และเข้าใจในภาคปฏิบัติขั้นพื้นฐานครับ


ว่าแต่มีความภูมิใจต่อสถาบันและคณะยังไงบ้างเอ่ย

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ถือเป็นมหาวิทยาลัยแห่งโอกาสและความทัดเทียมทางการศึกษาของประเทศอีกสถาบันหนึ่งครับ  รับนักศึกษาแบ่งออกเป็นสองช่วงคือ การให้โควตา (Quota) ประมาณ 80% และ Admission ประมาณ 20%  เป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐและใช้ระบบสหกิจศึกษาแห่งแรกของประเทศไทย ซึ่งเป็นต้นแบบของมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ (ปัจจุบันมีทั้งหมด 13 แห่ง เช่น จุฬา มช. มม. มจธ.สจล. สจพ. เป็นต้น)  เป็นสถาบันที่มีการบริหารจัดการอิสระแยกจากระบบราชการ (Autonomous University) แต่ยังได้รับเงินอุดหนุนทั่วไป (Block grant) ที่รัฐจัดสรรให้เป็นรายปีโดยตรง

นอกจากนี้ยังเป็นมหาวิทยาลัยที่มีคณาจารย์คุณวุฒิปริญญาเอกคิดเป็นร้อยละสูงที่สุดในประเทศไทย (ร้อยละ 79.1) มีคณาจารย์ที่ทรงคุณวุฒิ บางสาขาเน้นอาจารย์จบปริญญาเอกร้อยเปอร์เซ็นต์ และเป็นมหาวิทยาลัยที่มีผลงานวิจัยต่อหัวคณาจารย์สูงที่สุดแห่งหนึ่งในไทย ได้รับการคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 9 มหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติร่วมกับ จุฬา มม. มข. มธ.  มอ. มก. มช.และ มจธ. หลายๆ สาขาทั้งด้านวิทยาศาสตร์และวิศวะ ได้รับการประเมินโดย สกว. อาทิ ฟิสิกส์ เป็นอันดับ 1 ของประเทศ 2 ปีซ้อน เคมีอันดับ 2 ของประเทศ  เป็นต้น

ในส่วนของสาขาวิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม มทส. ได้รับการรับรองปริญญาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมจากสภาวิศวกร ผลสัมฤทธิ์ นศ. วิศวกรรมสิ่งแวดล้อม มทส. จากการสอบใบประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม (กว.) จัดโดยสภาวิศวกร ได้รับคะแนนเฉลี่ยมากกว่าร้อยละ 90 (ทางสภาวิศกรได้มีข้อกำหนดว่า นศ. เมื่อสำเร็จทุกสถาบันที่เปิดสอนด้านวิศวะ ที่มีใบประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม การศึกษาต้องมีการสอบเพื่อขอรับใบประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมจากสภาวิศกร และต้องได้รับคะแนนตั้งแต่ ร้อยละ 60 ขึ้นไปถึงจะผ่านเกณฑ์ )

ดังนั้นหากน้องๆ สนใจที่จะศึกษาต่อและต้องการโอกาสทางการศึกษา มทส. คือมหาวิทยาลัยที่เปิดโอกาสให้น้องๆ เดินตามความฝันและมีอาชีพที่สดใสอย่างแน่นอน ดังปณิธานของนายกสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีและอดีตรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ ศ.ดร. วิจิตร ศรีสะอ้าน และอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนยีสุรนารี ศ. ดร. ประสาท สืบค้า ได้กล่าวไว้ว่า  “มหาวิทยาลัยจะปั้นดิน ให้เป็นดาว”  


คำถามเด็ดเลย จบสาขาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมไปทำงานอะไรได้บ้างคะ

บัณฑิตที่จบวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงหรือว่าผู้ชาย มีสิทธิ์และโอกาสได้งานทำในอัตราส่วนที่ใกล้เคียงกัน ซึ่งต่างจากวิศวกรสาขาอื่นที่ยังคงมองว่าวิศวกรชายจะทำงานได้ดีกว่าวิศวกรหญิง ทำให้โอกาสการได้งานทำของวิศวกรหญิงต่ำกว่ามาก  โดยวิศวกรสิ่งแวดล้อมสามารถประกอบอาชีพได้ ทั้งในส่วนของภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชน ครับ อาทิ

-สำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมมลพิษ
-กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม
-กรมโรงงานอุตสาหกรรม
-การประปานครหลวง การประปาส่วนภูมิภาค
-การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
-องค์กรด้านสิ่งแวดล้อม
-สถาบันการศึกษา/วิจัย
-บริษัทวิศวกรที่ปรึกษาที่ให้บริการในงานวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม
-บริษัทเอกชนที่ทำงานด้านระบบบำบัดมลพิษ/กำจัดขยะ
-บริษัทที่ให้บริการเกี่ยวกับการตรวจวิเคราะห์/เก็บตัวอย่าง
-โรงงานอุตสาหกรรมทุกประเภท


สุดท้ายอยากให้ฝากถึงน้องๆ ที่กำลังจะยื่นคะแนนเพื่อเลือกคณะด้วยค่ะ ^^

การเรียนด้านวิศวะและจบออกไปเป็นวิศวกรที่ดีของประเทศนั้น เราต้องมีความรัก มีความวิริยะอุตสาหะต่อการเรียนการสอนที่หนักและปริมาณที่มาก  มีอิทธิบาทสี่เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ

-น้องต้องมีฉันทะ หรือความรักในความรู้หรือสาขาวิชาที่น้องกำลังศึกษา  ต้องรู้ว่าตนเองกำลังศึกษาอะไร มีลักษณะของการทำงานในอนาคตอย่างไร ศึกษาไปแล้วทำอะไรได้บ้าง จงอย่าฝืนตนเองศึกษาในความรู้หรือสาขาวิชาที่ที่ตนเองไม่รู้จักหรือไม่ถนัด 

-น้องต้องมีวิริยะ คือความขยันอดทนและเพียรพยายาม ไม่ท้อถอยต่อการเรียนการสอนที่หนักที่ต้องใช้เวลาในการตีแตก ทำความเข้าใจในหลักการหรือทฤษฎี และฝึกฝนแก้โจทย์ปัญหาที่มีความยุ่งยากและซับซ้อน น้องๆ คงเคยได้ยินคำว่า เก่งไม่กลัว กลัวขยัน และคำๆ นี้ยังเป็นสัจจะนิรันดร์ตราบจนทุกวันนี้คับ เชื่อพี่ดิ ^^

-น้องๆ ต้องมีจิตตะ คือมีใจจดจ่อ ตั้งใจ และตั้งมั่นอยู่กับเนื้อหาวิชาที่น้องกำลังเรียนอยู่และศรัทธาในวิชาชีพของตนเอง เพื่อให้เกิดความแตกฉาน สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในทุกสถานการณ์ 

-น้องๆ ต้องมีวิมังสา คือมีการนำความรู้และเนื้อหาที่ได้เรียนมาปฏิบัติ คิดทบทวน ไตร่ตรอง ค้นคว้า หาเหตุผล

สุดท้ายพี่ก็ขอฝากน้องๆ สำหรับสาขาวิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม มทส. ด้วยนะครับ หากน้องคนใหนสนใจหรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สามารถส่งคำถามมาถามพี่ได้โดยตรงที่อีเมล์ dekk_pbas@hotmail.com ได้เลยครับ

 

       โอ้วววว เป็นยังไงบ้างคะ คงได้ทำความรู้จักกับคณะและสาขานี้แบบละเอียดยิบแล้วเนาะ ถือเป็นสาขาการเรียนหนึ่งที่ได้ช่วยเหลือสิ่งแวดล้อมอย่างมากเลยค่ะ ใครชอบอะไรลุยๆ มันส์ๆ และรักธรรมชาติล่ะก็ เชื่อเถอะว่าวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมนี่เจ๋งสุดๆ เลย !!      

เด็กดีดอทคอม :: 28 วันใน


 
พี่เป้
พี่เป้ - Columnist มนุษย์บ้างานและบ้านวด ผู้ตกหลุมรักปลาแซลมอน การนอน และและออฟฟิศ

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

กำลังโหลด

30 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด
น๊อชคุณ ENVI SUT #17 11 เม.ย. 55 13:40 น. 4
ขอเพิ่มเติมจากส่วนวิชาการนะครับ...เราไมได้มุ่งเน้นแต่วิชาการอย่างเดียวนะครับ กิจกรรมเพื่อชุมชนหรือการออกค่าย เราก็มีการทำมาทุกๆปี ซึ่งถือว่าได้นำเอาความรู้จากการเรียนมาประยุกต์ใช้ และสร้างผลประโยชน์ให้กับชุมชนและส่วนรวม นอกจากนี้ยังได้ประสบการณ์จากการออกทริปหรือดูงานตามโรงงานหรือสถานประกอบการจริงๆ
วิศวกรสิ่งแวดล้อมยังขาดแคลน.....และต้องการบุคคลากรที่มีความรู้ความสามารถอีกมาก...ใครรักในการดูแลสิ่งแวดล้อมและโลกของเรา เชิญเลยนะจร้

***ก า ร เ รี ย น สอนให้เรามีงานทำ กิ จ ก ร ร ม สอนให้เราทำงานเป็น***
2
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
kate 13 เม.ย. 55 19:47 น. 17
วิศวกรรมสิ่งแวดล้อม มทส สุดยอด ดีจัยจังที่เด็กน้องๆสิ่งแวดล้อมที่รักและชื่นชอบในคณะที่ตัวเองเรียน และยังเผยแผ่ทัศนคติเกี่ยวกับมหาวิทยาลัยของเราอีกด้วย

จาก วิศวกรรมสิ่งแวดล้อม มทส รุ่น 14
0
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด