P
คณะแพทยศาสตร์ 
                 เทคโนโลยีการศึกษาแพทยศาสตร์
ชีวิตนอกรั้วมหาวิทยาลัย 

         สวัสดีค่ะ หลังจากที่ พี่แป้ง ได้พาน้องๆ ตะลุย สาขาเทคโนโลยีการศึกษาแพทยศาสตร์ ไปแล้วว่าเรียนอะไรบ้าง ที่ไหนเปิดสอน จบแล้วทำงานอะไร พร้อมกับประสบการณ์ในรั้วมหาวิทยาลัย ของ 4 สาวจากแพทยศาสตร์ศิริราช บอกได้เลยว่าจบมาแล้วทำงานได้กว้างมาก ....... เดี๋ยวหาว่า พี่แป้ง โม้หรือเปล่า ไม่ได้โม้นะ ถ้าไม่เชื่อพี่แป้งมีรุ่นพี่ที่จบมาเล่าประสบการณ์ให้ฟังค่ะ พร้อมแล้วไปดูกันเลยค่ะ (พี่น่ารักด้วย)  


พี่แป้ง : แนะนำตัวเองก่อนเลยค่า 
พี่ลูกหว้า :
พี่ชื่อ ลูกหว้า  วริญญา ธนกาญจนกุล ค่ะ จบสาขาเทคโนโลยีการศึกษาแพทยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดลค่ะ

พี่มิน : ค่ะ พี่ชื่อ อารัมภ์พร เอี่ยมวุฒิ ชื่อเล่น มิน ค่ะ เรียนจบ สาขาเทคโนโลยีการศึกษาแพทยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ค่ะ


พี่แป้ง : อะไรที่ทำให้เลือกที่จะเรียนสาขาเทคโนโลยีการศึกษาแพทยศาสตร์คะ?
พี่ลูกหว้า : เริ่มแรกเลยอยากเรียนทางด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ แล้วก็มาสะดุดกับคณะนี้เพราะมีการเรียนที่หลากหลายทำให้เราเลือกสายงานได้กว้างขึ้น รวมทั้งยังเป็นสายวิทยาศาสตร์สุขภาพอย่างที่ตั้งใจจะเรียนค่ะ

พี่มิน : จริงๆ เป็นรุ่นแรกของคณะ เลยไม่ได้ศึกษา หรือ หาข้อมูลจากใครมาก่อน เห็นหลักสูตรเกี่ยวกับ วิทยาศาสตร์และศิลปะ อยู่ในหลักสูตรเดียวกัน ก็เลยสนใจ และจบสายวิทย์มาเลยเลือกเรียนสายนี้ค่ะ


พี่แป้ง : แล้วตอนนี้ทำงานอะไรอยู่คะ 
พี่ลูกหว้า : ตอนนี้ทำงานเกี่ยวกับด้าน การผลิตสื่อการเรียนการสอนอยู่ค่ะ 
พี่มิน : ปัจจุบันเป็น Graphic designer ค่ะ

พี่แป้ง : คิดว่างานที่ทำอยู่ มีความยากง่ายยังไงบ้างคะ
พี่ลูกหว้า : จากที่ได้ทำที่ผ่านมา ก็มีทั้งความง่ายและความยากนะคะ ความง่ายของงาน คือ เราสามารถทำงานในส่วนที่รับผิดชอบได้จากประสบการณ์ในช่วงที่เรียน แต่ความยาก คือ จะนำความรู้ที่เรามีมาประยุกต์ใช้ในงานอย่างไรให้ได้ประสิทธิภาพที่สุก ทันกับเวลาที่กำหนด ตรงกับความต้องการนี้ล่ะ
                นอกจากนี้การทำงานด้านนี้ก็ต้องไม่หยุดที่จะพัฒนาตัวเอง ต้องเรียนรู้เพิ่มเติมอยู่เสมอค่ะ เพราะเนื้อหาการทำงานนั้นขยายขอบเขตความรับผิดชอบเพิ่มขึ้นจากสิ่งที่เรียนไปเรียบร้อยแล้ว

พี่มิน : สำหรับ Graphic designer ก็มีความยากเหมือนกันค่ะ เพราะเป็นงานที่ต้องข้ามเส้นหลักความจริงและความถูกต้อง ที่ติดมาจากงานทางการแพทย์เมื่อสมัยเรียนค่ะ เรามาทำงานสายนี้เต็มตัว ไม่มีการแพทย์เข้ามาเกี่ยวข้องเลย เลยต้องอาศัยการฝึกฝนมากขึ้นค่ะ อีกอย่าง คือ เมื่อได้มาทำงานจริง ยังต้องทำงานแข่งกับเวลา แข่งกับตัวเองให้มากขึ้นค่ะ

พี่แป้ง : ตอนที่เรียนได้ทำกิจกรรมอะไรบ้างคะ?
พี่ลูกหว้า : กิจกรรมที่ทำตอนเรียนก็มีเยอะค่ะ พี่เป็นพี่กลุ่มรับน้องของมหาวิทยาลัย เวลามีน้องๆ มัธยมมาค่ายของมหาลัย หรือน้องๆ ปี 1 ที่เพิ่งแอดมิชชั่นติดก็จะได้เจอพี่ อยู่ชมรมฟันดาบที่ศิริราช แล้วก็เป็นนายกสโมสรนักศึกษาของสาขาค่ะ 
                  นอกจากนี้ก็มีกิจกรรมแนะนำคณะ(ค่ายเยาวชนสู่รั้วมหาวิทยาลัย) แล้วก็อีกมากมายตลอด 4 ปี จนทุกวันนี้ก็ยังไปงานรับน้องที่ศาลายาอยู่เลย (หาเจอได้ที่กลุ่ม7นะคะ..^^) กิจกรรมพวกนี้เรียนจบมานำมาใช้ประโยชน์ในการทำงานได้หมดเลยล่ะค่ะ

พี่มิน : ที่ทำประจำคือ mumumagazine เป็นนิตยสารของนักศึกษาเพื่อนักศึกษา ในมหาวิทยาลัยมหิดลค่ะ นอกจากนั้นก็เข้าร่วมโครงการอื่นเช่น โครงการคิดดี1 และ 2  (โดย สสส.), โครงการ a day junior ค่ะ ก็ได้อีกหนึ่งประสบการณ์ที่แปลกใหม่ดีค่ะ ซึ่งกิจกรรมที่ได้ทำก็เป็นประสบการณ์ที่ดีและก็เป็นสายงานที่ใกล้เคียงกับสายงานที่ทำอยู่ตอนนี้ด้วยค่ะ


พี่แป้ง : สาขาเทคโนโลยีการศึกษาแพทยศาสตร์ให้อะไรกับพี่ๆ บ้างคะ?
พี่ลูกหว้า : อาจารย์ทุกท่านให้ความรู้อย่างเต็มที่ และด้วยความที่เป็นคณะที่รับจำนวนคนไม่มาก อยู่แบบเป็นกันเองไม่ว่าจะกับเพื่อนๆ น้องๆ อาจารย์ รวมถึงรุ่นพี่ที่มีความใกล้ชิดสนิทสนมกันเหมือนครอบครัวใหญ่ครอบครัวหนึ่ง นอกจากนี้การที่เราเรียนมีวิชาเรียนทางด้านการแพทย์นอกจากจะใช้ในงานแล้วยังสามารถใช้ในการดูแลตัวเองและคนใกล้ชิดได้ค่ะ

พี่มิน : ที่ได้มาข้อแรกเลย คือ สอนให้มีทักษะการทำงานต่างๆ เกือบทุกๆ ด้านที่มีอยู่ตอนนี้ เหมือนเป็นเครื่องมือให้การจะประกอบอาชีพของเราต่อไป
              ข้อสอง คือ สอนให้รู้จักการบริหารเวลา ความรับผิดชอบ (และอดนอน!) เพราะคณะเรามีการบ้านค่อนข้างเยอะ และยังต้องอ่านหนังสือเพื่อสอบวิชาทางการแพทย์ด้วย เพราะฉะนั้นต้องรู้จักรับผิดชอบ แบ่งเวลาให้ถูกค่ะ
              นอกจากนี้สิ่งที่ได้มาโดยทางอ้อมคือ การอยู่ร่วมกันและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เป็นสิ่งที่เราได้มา จากการทำงานร่วมกันกับเพื่อนๆ ค่ะ 



พี่แป้ง : แสดงว่าถ้าน้องๆ เรียนคณะนี้ ก็สบายใจได้เลยว่าไม่ตกงาน
พี่ลูกหว้า : เรื่องงานไม่ต้องเป็นห่วงค่ะ ในมุมมองของพี่นะ อาชีพทางด้านนี้ถ้าเรามีความรักและตั้งใจในสิ่งที่ทำ พัฒนาฝีมือของเราตลอด ฝืมือและความสามารถของเราก็จะโดดเด่นเป็นที่ต้องการแน่นอน รวมถึงมีข้อได้เปรียบอยู่นิดหน่อยด้วยที่เราสามารถทำงานด้านสื่อในโรงพยาบาลได้อย่างสบายเลยล่ะค่ะ

พี่มิน : คณะเราเรียนกว้างมากค่ะ แต่มันดีตรงที่เหมือนเป็นการตกตะกอนอีกที ว่าเราชอบอะไรจริงๆ และควรจะเสริมด้านนั้นๆ ให้แข็งแรง ส่วนเรื่องว่าจะตกงานมั้ย ส่วนตัวคิดว่า การได้ทำสิ่งที่ชอบ จะทำออกมาได้ดี และมันคงสามารถสร้างอะไรให้เราได้  อยากให้หาสิ่งที่ชอบให้เจอ และลงมือทำมัน  เดี๋ยวงานจะตามมาค่ะ :) 


พี่แป้ง : มีอะไรแนะนำกับน้องๆ ที่สนใจสาขาเทคโนโลยีการศึกษาแพทยศาสตร์มั้ยคะ?
พี่ลูกหว้า :  ศาสตร์ทางด้านนี้เป็นการผสมกันทั้งทางด้านวิทย์และศิลป์ น้องๆ ที่อยากเรียนทางด้านวิทย์แต่ใจก็ยังอยากอยู่กับศิลป์ด้วย คณะนี้เป็นคำตอบที่น้องๆ จะได้ทำในสิ่งที่น้องๆ รักแน่นอน

พี่มิน : ก็อยากให้ลองหาข้อมูลของสาขานี้ดูเยอะๆ ว่าเป็นยังไง จะต้องเจออะไรบ้าง เพราะเข้ามาแล้ว เราต้องอยู่มันตลอด4 ปี ก็ยากหน่อยถ้าอยู่กับอะไรที่ไม่ใช่ตัวเราค่ะ
            เร็วๆ นี้จะมีค่ายเด็กวิทย์ หัวใจศิลป์ ครั้งที่ 1 ก็อยากให้ไปร่วมกิจกรรมดูค่ะ จะได้สัมผัสตัวตนจริงๆ ของคณะเราค่ะ :D



           ถึงแม้ว่าจะไม่ได้ทำมาสายแพทย์ แต่สิ่งที่พี่ๆ ได้ก็คือความละเอียดที่ได้จากการเรียน มันส่งผลให้เวลาทำงานต้องมีความละเอียดและเป๊ะมากด้วย และสามารถทำงานเกี่ยวกับสื่อได้อย่างดีเยี่ยมด้วย เอาเป็นว่ามีแต่ได้กับได้จริง ๆ น้อง ๆ คนไหนสนใจสาขานี้ละก็เตรียมยื่นเป็นอันดับ 1 ตอนแอดมิชชั่นเลย แล้วอย่าลืมมาบอก พี่แป้ง นะคะว่า "หนู/ผมทำได้แล้ว" 


.

 บทความอื่นของสาขาเทคโนโลยีการศึกษาแพทยศาสตร์ 












พี่แป้ง
พี่แป้ง - Columnist นักข่าวสายรับตรง พร้อมเสิร์ฟข่าวสอบเข้าทุกมหา'ลัย เติมพลังได้จากชาเย็นหวานน้อย

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

1 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด