P
คณะรัฐศาสตร์
                 การเมืองการปกครอง
ชีวิตนอกรั้วมหาวิทยาลัย 

         ลับมาพบกันอีกครั้งนะคะ กับ คณะในฝัน คณะรัฐศาสตร์ สาขา "การเมืองการปกครอง" ค่ะ ในบทความนี้พี่แป้งจะขอนำเรื่องราวของรุ่นพี่ 3 คน 3 อาชีพมาแบ่งปันให้น้อง ๆ ได้รู้ว่าการเรียน รัฐศาสตร์การปกครอง มีอะไรมากกว่าที่คิด และสามารถนำความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้ได้จริง ๆ ค่ะ อยากรู้แล้วใช่มั้ยหล่ะ ตามมาดูกันเลยค่ะ
.

                     

พี่โบ้

วันชนะ  วิรัชลาภ

คณะรัฐศาสตร์ การเมืองปกครอง



พี่แป้ง : แนะนำตัวเองก่อนเลยค่ะ ^_^
พี่โบ้ : ครับ พี่ชื่อวันชนะ  วิรัชลาภ ชื่อเล่น โบ้  ครับ เรียนจบคณะรัฐศาสตร์ การเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ครับ


พี่แป้ง : เป็นไงมาไงทำไมเลือกเรียนการปกครองคะ?
พี่โบ้ : เดิมทีพี่เป็นคนที่สนใจเรื่องการเมืองการปกครอง ชอบการเมืองเป็นพื้นอยู่แล้ว เลยมานั่งถามตัวเองว่าขึ้นมหาลัยแล้วจะเรียนอะไรดี ไม่คิดว่าจะทำอะไร คิดแค่ว่าเราสนใจที่จะเรียนอะไร พอรู้ว่าเราสนใจด้านนี้ก็เลือกเลยครับ จะได้รู้และเห็นภาพใหญ่ๆ ว่าทำไมการปกครองถึงเป็นแบบนี้ โดยสรุปคือเลือกเรียนเพราะอยากเรียน มีหลายๆ อาชีพรองรับ และที่สำคัญเลือกเรียนในสิ่งที่ตัวเองสนใจจะสามารถทำได้ดีกว่าครับ


พี่แป้ง : สาขาอื่นของคณะรัฐศาสตร์ก็มี ทำไมถึงเลือกเรียนสาขานี้คะ?
พี่โบ้ : สาขารัฐประศาสนศาสตร์ จะเป็นเรื่องของการบริหาร จัดการภาครัฐ มุมมองที่สอนจะอีกเรื่องนึง เป็นเรื่องเครื่องมือเรื่องการจัดการ แต่ว่า IR (ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ) จะมองเรื่องบริบทของทั้งโลก ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ทุกสาขามีเรื่องการปกครองเป็นกรอบ แต่เนื้อหาข้างในจะต่างกัน พี่สนใจเรื่องการเมืองเลยเลือกเรียนสาขาการเมืองการปกครองครับ


พี่แป้ง : คิดว่าสิ่งที่ยากที่สุดในการเรียนการปกครองคืออะไรคะ?
พี่โบ้ : อย่างเเรกคงเป็นเรื่องการทำความเข้าใจเนื้อหา ที่จะสอนเรื่องการเมืองการปกครองโดยเฉพาะประเทศไทยว่าที่ผ่านมาเป็นเช่นไร เรียกง่ายๆ ว่าเป็นเรื่องของมุมมองว่าเราจะมองยังไงจากข้อมูลที่ผ่านมา เราต้องหาความสัมพันธ์ทุกอย่าง ซึ่งมันยากเพราะในสังคมมีตัวแสดงเยอะมาก พอมาเรียนจริงๆ มันซับซ้อน ไม่ใช่แค่ดูว่าเรียนอะไรบ้าง แต่ต้องมานั่งวิเคราะห์ว่าทำไมเป็นแบบนี้และอนาคตจะเป็นอย่างไร
         อย่างที่สองคือ เรื่องวิธีคิด โดยวิชาปรัชญาจะทำให้เราจะเข้าใจสิ่งที่เขา(นักปรัชญา)คิด แล้วพอเราเข้าใจแล้ว วิเคราะห์แล้วจะเอามาใช้ต่ออย่างไร คือจริง ๆ แล้วเรื่องปรัชญามีความเป็นนามธรรมสูง จับต้องยาก ถ้าเทียบกับคณะหรือสาขาอื่นที่มีเครื่องมือหรือมีวิธีการที่จับต้องได้อยู่แล้ว แต่ในอีกมุมนึงก็จะสอนให้เราคิดมากกว่าที่เห็นครับ ท้าทายดี


พี่แป้ง : ส่วนใหญ่ก็เรียนการปกครองไทย  มีอารมณ์แบบความคิดเบี่ยงเบนบ้างมั้ย?
พี่โบ้ : เรียนการเมืองการปกครองจะทำให้เรารู้กว้างและลึกขึ้น(จากม.ปลาย) มีอาจารย์ที่สอนหลายท่าน แต่ละท่านจะพยายามสอนให้เรามองถึงสาเหตุว่าทำไมเหตุการณ์นี้เกิดขึ้น อะไรเป็นสาเหตุ แต่ไม่ได้บอกให้เลือกข้าง จะเป็นการให้มานั่งถกเถียง วิพากษ์วิจารณณ์มากกว่าว่าสิ่งที่เห็นตอนนี้มีบอกอะไร ให้เห็นภาพกว้าง สุดท้ายก็อยู่ที่ทัศนคติของแต่ละคน การเมืองไทยมีอะไรมากกว่าที่เราคิดเยอะ  อาจารย์ที่สอนเขาจะบอกว่าให้เราเลิกเชื่อสิ่งที่เราเคยเรียนผ่านมาทั้งหมด แล้วให้เรารับข้อมูลใหม่ๆ เข้ามาแล้วใช้ความคิดของตัวเอง ทีนี้เวลาเราเจอเรื่องหรือเจอข่าวเราจะเข้าใจมันมากขึ้นและไม่เชื่ออะไรง่ายๆ ครับ


พี่แป้ง : อยากให้เล่ากิจกรรมที่ประทับใจที่ได้ทำตอนสมัยเรียนค่ะ
พี่โบ้ : ได้เป็นประธานคณะกรรมการนักศึกษาของคณะ ทำทุกอย่าง ทำค่ายอาสา ค่ายแนะแนว ค่ายเยาวชน ฯลฯ ชอบทุกค่าย แต่มีค่ายหนึ่งไปออกค่ายที่ต่างจังหวัดทางชายแดนภาคเหนือ โดยในหมู่บ้านนั้นเขาพูดไทยไม่ค่อยได้ งานของเราคือไปสร้างศาลาให้เขา แล้วยังได้ไปเรียนรู้วิถีชีวิต ชาวบ้านที่นั่น มันทำให้เรารู้ว่าเราเอากระแสสังคมตรงกลางไปยัดเยียดให้เขา ทั้งที่จริงเขาอาจจะอยู่ได้ด้วยตัวเขาเอง ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาเทคโนโลยีหรืออะไรหลายๆ ที่เรามี เขาสามารถปกครองตัวเองได้ มุมมองเราก็เปลี่ยนว่าความเจริญไม่ได้เป็นข้อพิสูจน์ว่าทำให้อยู่ได้ มาเรียนรู้ใหม่เป็นหาวิธีคิดอย่างยั่งยืน หรือทำอย่างไรให้เขาอยู่ได้แบบนี้จะดีกว่า
         อีกหนึ่งกิจกรรมคือ ตอนจัดงานวิชาการจะมีการทำหนังสือ เสวนา แนะแนว ตอบปัญหา ทำให้รู้สึกว่ามาเรียนแล้วทำอะไรให้กับสังคมบ้าง นอกจากว่าเราได้อะไรกลับไปบ้าง มาเรียนมหาลัยรัฐส่วนหนึ่งมันก็คือภาษีของรัฐ ซึ่งมาจากคนทุกคนในประเทศ ในเมื่อเราได้รับโอกาสมาอยู่ตรงนี้ก็ควรทำอะไรกลับคืนให้สังคมบ้าง เป็นความประทับใจและภูมิใจมากครับ


พี่แป้ง : ตอนนี้ทำงานอะไรอยู่คะ?
พี่โบ้ : ตอนนี้ทำงานอยู่บริษัท SCG ครับ ดูแลการบุคคลต่างประเทศ การทำงานเอกชนมันมีความท้าทาย รู้สึกว่าอยากใช้ความสามารถที่เรามีในการทำงานตรงนี้ แล้วในองค์กรก็มีกิจกรรมข้างนอก ตัวโบ้เองก็สนใจอยู่แล้วก็เลยเข้ามาทำ และอีกประเด็นคือเข้ามาเรียนรู้เพื่อที่จะทำอะไรต่อข้างนอกครับ เราเรียนรัฐศาสตร์สอนเรื่องการเมืองการปกครอง สอนวิธีเข้าใจ ดูแลคน มันเอามาปรับใช้กับงานได้ จริงๆ ความรู้ที่เรียนมันได้ใช้อยู่แล้ว ขึ้นอยู่กับจังหวะและโอกาสมากกว่า


พี่แป้ง : แล้วพี่โบ้คิดจะเรียนต่อไหมคะ?
พี่โบ้ : คิดครับ เรียนต่อปริญญาโททางด้านการบริหารอย่างยั่งยืน สนใจเรื่องนี้อยู่แล้ว เป็นความสนใจส่วนตัวไม่เกี่ยวกับที่ทำงานเลยครับ ฮ่ะ ๆๆๆ


พี่แป้ง : อยากให้ฝากอะไรถึงน้อง ๆ ที่อยากเข้า รัฐศาสตร์ การปกครองหน่อยค่ะ
พี่โบ้ : ถามตัวเองว่าสนใจเรื่องนี้แค่ไหน สนใจสังคม การเมืองไทยหรือของโลกมากแค่ไหน แล้วอยากเรียนมากขึ้นไหม? คนที่จะตอบได้ก็คือตัวน้องเอง การเรียนมันมีเส้นบาง ๆ คั่นอยู่ระหว่างเรียนในสิ่งที่ตัวเองรักและเรียนในสิ่งที่ควรจะเรียน อยากให้มองตัวเองว่าเราจะทำอะไรได้ดีกว่ากัน เลือกที่โอเคที่สุด และขอฝากคณะรัฐศาสตร์ไว้ด้วยครับ

พี่อู๋  
พศิน  ประดับมุข
คณะรัฐศาสตร์ การเมืองการปกครอง


พี่แป้ง : ให้พี่อู๋แนะนำตัวหน่อยค่ะ
พี่อู๋ : สวัสดีครับ พี่ชื่อ พศิน  ประดับมุข ชื่อเล่นชื่อ อู๋ ครับ จบจากคณะรัฐศาสตร์ สาขาการเมืองปกครอง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


พี่แป้ง : อะไรเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้พี่อู๋เลือกเรียนการปกครองคะ?
พี่อู๋ : งั้นก็ต้องขอย้อนความตั้งแต่สมัยเด็ก อู๋เกิดมาในสังคมที่เป็นลูกชาวไร่ แม่ก็ทำงานท้องถิ่นเป็นรองนายก อบต. และได้เป็นนายก อบต. อู๋เหมือนได้ซึมซับความเป็นการเมืองท้องถิ่น พอโตมาเลยอยากรู้ สนใจที่จะเรียนเพื่อรู้ว่ามีทฤษฎีอะไรบ้างเกี่ยวกับการปกครอง เจาะไปเลยว่าการเมืองมีอะไรมีเรื่องราวยังไง อีกเหตุผลก็คือตอนที่จะเข้าคณะนี้อยากเป็นนักการเมืองท้องถิ่นเหมือนแม่ แต่พอได้เรียนก็ไม่ค่อยอยากแล้วนะ 555+


พี่แป้ง : สมัยที่สอบเข้า สอบเข้าอย่างไรคะ?
พี่อู๋ : อู๋สอบตรงรอบแรกครับ พื้นฐานเดิมเป็นเด็กสายวิทย์ เพื่อนๆ ในห้องก็เรียนหมอ เรียนทันตะฯ วิศวะ กันหมด มีอู๋คนเดียวในห้องที่เลือกเรียนทางรัฐศาสตร์ ซึ่งได้สอบไว้ 2 ที่คือ ม.ธรรมศาสตร์ และ มศว แต่ไม่ติดที่ มศว ครับ ตอนที่สอบที่นี่ (มธ.) จำได้เลยว่าข้อสอบถามว่า เห็นด้วยหรือเปล่าที่เกิดรัฐประหาร แล้วทำให้ประชาธิปไตยไทยก้าวหน้าหรือถอยหลัง ซึ่ง ณ ตอนนั้นรัฐประหารเพิ่งเกิดได้ไม่นาน (เกิดปีพ.ศ.2549 พี่อู๋สอบตอนปีพ.ศ. 2550) โชคดีที่สนใจการเมืองเลยพอทำได้ครับ


พี่แป้ง : คิดว่าอะไรคือสิ่งที่ยากสำหรับเรียนรัฐศาสตร์การปกครอง
พี่อู๋ : จริงๆ ถ้าว่ากันด้วยหลักสูตรก็ไม่ได้ยากมากครับ แต่ถ้ามองเรื่องการใช้ชีวิตอู๋มองว่ามันก็เรื่องธรรมดานะ เราเปลี่ยนจากเด็ก ม.6 เข้าสู่มหาวิทยาลัย แน่นอนว่ามันต้องปรับตัว เราต้องเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น มีความรับผิดชอบมากขึ้น เช่น คณะทางสายวิทย์ เช่น แพทย์ วิศวะ จะมีเรียน Chem(เคมี) เรียน Bio(ชีววิทยา) มันจะมีบล็อกว่าวันนี้ เวลานี้ สอบอะไร แล็บอะไร แต่เรียนปกครอง เช่น ทฤษฎีการเมืองเบื้องต้น เราไม่รู้หรอกว่าจะมีควิซเมื่อไหร่ ซึ่งปัจจัยการเมืองต้องเตรียมพร้อมเสมอ เหมือนกับการใช้ชีวิตในสังคม ในบางทีเราจะรอโอกาสอย่างเดียวไม่ได้ โอกาสมันก็วิ่งเข้ามาชนเราโดยที่เราไม่รู้ตัวเราจะต้องพร้อมเสมอ นั่งเรียนๆ ไปครึ่งชั่วโมงมีควิซ ใครไม่มาก็จบ ตื่นเต้นดีนะ 555


พี่แป้ง : ตอนนี้ทำงานอะไรอยู่คะ?
พี่อู๋ : ตั้งแต่เริ่มแล้วอู๋ไม่ได้สมัครงานที่ไหนเลย เลือกที่จะกลับมาช่วยที่บ้านทำไร่ (เยอะมาก) ช่วงแรกๆ ก็มีความทุกข์นะ รู้สึกด้อยๆ เวลาเห็นคนอื่นทำงานดีๆ มั่นคง บางคนก็ได้ทุนเรียนต่อ แต่อู๋ชอบชีวิตอิสระมีเวลาให้ตัวเอง เราอยู่กับสวนกับไร่มาตั้งแต่เด็ก ไม่ชอบอะไรที่จอแจ อยู่แบบนี้ก็สบายใจดี ตอนแรกก็ไม่ค่อยชิน เหมือนเด็กในเมืองทั่วไป พออยู่นานๆ ไปก็ชินและชอบด้วย
       ในไร่ก็มีข้าวโพด ยางพารา มันสับปะหลัง มะขาม และคิดว่าจะเลี้ยงสัตว์ด้วย พอดีน้องชายก็จบ คณะเกษตร ม.เชียงใหม่มาด้วย ส่วนตัวอู๋อาศัยใจรัก ตอนที่เลือกเรียนมหา'ลัย เพื่อนๆ พ่อบอกว่า เรียนไปเถอะ เรียนอะไรก็ได้ที่มีความสุข เพราะจบไปแล้วเราก็ไม่รู้หรอกว่าเราจะได้ทำงานตรงสายหรือเปล่า เคยเจอบางคนจบวิศวะมาทำฟาร์มเลี้ยงซึ่งมันคนละทางเลย อู๋ว่าเป็นเพราะสบายใจที่ไหนก็อยู่ที่นั่น การเรียนมันก็เป็นแค่ส่วนหนึ่ง แต่เราต้องเรียนรู้ตลอดเวลาอยู่แล้ว
       ตอนที่อู๋เข้าไปเริ่ม ก็เริ่มเหมือนคนงานคนอื่นเลย เขาทำอะไรเราก็ทำ จะได้รู้ว่างานที่เราให้เขาไปกับเงินที่เราจ่ายสัมพันธ์กันไหม ยากหรือเปล่ากว่าจะได้เงินมาแต่ละบาท


พี่แป้ง : เรียนการปกครองมา สามารถมาประยุกต์ใช้กับงานที่ทำอยู่ได้ไหมคะ?
พี่อู๋ : ประยุกต์ได้ครับ มีบทหนึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับเจ้าผู้ปกครองรัฐ  เจ้าผู้ปกครองที่ดีมีอะไรบ้าง มันก็มีส่วนที่ทำให้รู้ว่าต้องปกครองอย่างไร เหมือนเราให้อะไรเขาสักอย่าง ถ้าเราให้แบบให้เปล่า ของที่เราให้มันจะดูไม่มีค่าเลย แต่ของเล็กๆ น้อยๆ ไม่ต้องลงเป็นตัวเงินถ้าให้ด้วยใจมันมีค่ามากนะ อย่างอู๋มีลูกน้อง อู๋จ้างเขาอยู่แล้ว แล้วก็มีบางส่วนที่เขาทำเอง เราก็เข้าไปช่วย ไปหยิบๆ จับๆ แค่นี้ เขาก็มีกำลังใจแล้ว เหมือนเราซื้อใจลูกน้องเราได้ คนก็บอกนะว่าเรียนรัฐศาสตร์ การปกครองมาแต่มาทำไร่มันเกี่ยวอะไรกัน มันก็ไม่ใช่ว่าไม่มีส่วนเกี่ยว แต่แค่มันไม่เกี่ยวทั้งหมด ความรู้ที่มีสามารถเอามาปรับใช้ได้


พี่แป้ง : อยากให้ฝากอะไรถึงน้อง ๆ ที่อยากเข้า รัฐศาสตร์ การปกครองหน่อยค่ะ
พี่อู๋ : การปกครองเป็นสาขาหนึ่งที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะจบสายไหนมาก็เป็นอีกทางเลือกที่เรียนได้ เนื้อหาหลักสูตรก็คล้ายๆ กันทุกมหาวิทยาลัยครับ แต่รูปแบบชีวิตมหาวิทยาลัยจะหาจากไหนไม่ได้ ขอให้พยายามทำในสิ่งที่อยากทำ แล้วมันจะดีที่สุดเองครับจริงๆ
        เรียนอะไรมาก็ปรับใช้ในชีวิตการทำงานได้หมดนะ อยากให้เรียนในสิ่งที่เลือกแล้วเราจะไม่เสียใจ โอกาสมันไม่มีได้มีมากมายเท่าไหร่หรอกครับ ไม่จำเป็นต้องตรงสายก็ได้ หมอบางคนยังออกมาทำธุรกิจเลย แล้วแต่ความชอบของแต่ละคน
         การเรียนเป็นแค่จุดเล็กๆ ของชีวิต จุดที่สำคัญจริงๆ คือเรียนจบแล้วจะเลือกทางเดินชีวิตไปทางไหน  คนอื่นจะมองยังไงอู๋ว่ามันไม่สำคัญเท่าที่เรามองเห็นตัวเองนะ การที่เราแตกต่างก็ไม่ใช่ว่าไม่มีจุดเด่น เห็นเด็กสมัยนี้จบมาทำงานก็ไม่ได้มีความสุขเพียงเพราะอยากเลือกทำงานให้ตรงกับสายที่เรียน แล้วความสุขจริงๆ อยู่ไหน ต่อไปจะเป็นความสุขอย่างยั่งยืนหรือเปล่า คนเราต้องปรับตัวอยู่ตลอดเวลา เราเรียนรู้ได้ ฝึกได้ หาทางที่ดีที่สุดให้ตัวเอง แล้วกล้าที่จะเดินหน้าลุยไปกับมันเลยครับ

.

พี่ตี้
อนุธีร์ เดชเทวพร
คณะรัฐศาสตร์ การเมืองปกครอง


พี่แป้ง : ขอให้พี่ตี้แนะนำตัวเองกับน้อง ๆ ที่กำลังอ่านอยู่เลยค่ะ
พี่ตี้ : สวัสดีครับ พี่ชื่อ อนุธีร์ เดชเทวพร ชื่อเล่น ตี้ ครับ ล่าสุดเรียนจบปริญญาโทจาก Monash University ประเทศ Australia เรียน Master of Asian Studies ตอน ปริญญาตรี เรียนคณะรัฐศาสตร์ สาขาการเมืองปกครอง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รหัส 49 ครับ


พี่แป้ง : นึกย้อนกับไปตอน ม.ปลาย อะไรที่ทำให้พี่ตี้เลือกเรียนคณะรัฐศาสตร์คะ?
พี่ตี้ : อยากเรียนเพราะสนใจการเมืองเป็นทุนเดิมอยู่แล้วครับ มีความสนใจในเรื่องแนวคิดทางการเมือง ศึกษาเกี่ยวกับทฤษฎีการเมือง ปรัชญาการเมืองมาบ้าง แล้วก็ผ่านประวัติศาสตร์การเมืองมาด้วย แล้วรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ก็มีอาจารย์ดีๆ ที่รู้จักพอสมควร เขียนตำราหลายๆ เล่มที่เราได้อ่านผ่านตามา ก็เลยเลือกเรียนคณะรัฐศาสตร์ ที่ ม.ธรรมศาสตร์

พี่แป้ง : จริงๆ คณะรัฐศาสตร์ก็มีเอกอื่นอีก เช่น ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หรือ บริหารรัฐกิจ ทำไมถึงเลือกเรียนการปกครองคะ?
พี่ตี้ : มันตรงกับที่ตัวพี่เองรู้สึกเป็นมากที่สุดก็เลยเลือกสาขานี้ เรียนเกี่ยวกับพวกทฤษฎีการเมือง ปรัชญาการเมือง อะไรพวกนี้ ส่วนพวกสาขาระหว่างประเทศหรือบริหารรัฐกิจมันไม่เข้มข้นเท่าปกครอง จะเจาะไปเฉพาะทางมากกว่า เช่น ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเรียนเกี่ยวกับทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับรัฐ บริหารรัฐกิจก็เป็นเรื่องของการบริหาร เป็นเรื่องเทคนิคซะเยอะ ส่วนของสาขาปกครองเป็นเรื่องของทฤษฎีการเมือง ออกแนวปรัชญา รากฐานวิธีคิด เราก็เป็นคนชอบเรื่องแนวนี้อยู่แล้วก็เลยเลือก หลายคนเลือกเพราะเรื่องอาชีพการงาน ส่วนของพี่เลือกเพราะความชอบมากกว่า เลือกในสิ่งที่เราเองเป็น


พี่แป้ง : ตอนเข้าไปเรียนจริงๆ ต่างจากที่พี่ตี้เคยคาดหวังไว้ไหมคะ?
พี่ตี้ : ก็พอจะต่างอยู่บ้าง ภาพของวัฒนธรรมในคณะก็ต่างจากที่คาดหวังไว้อยู่ คือ คิดว่าจะเป็นคณะที่ให้ความสำคัญเรื่องประชาธิปไตย ความก้าวหน้า ความเป็นเสรีชน มากกว่านี้  แต่เมื่อเข้ามาเรายังต้องท่องจำคำขวัญคณะ มีระบบว๊าก มีการรวมกลุ่มที่เรียกว่าโต๊ะ แต่ยังดีที่ว่าถ้าไม่ชอบก็สามารถอยู่กับมันแค่อาทิตย์เดียวก็ได้ ที่เหลือก็สามารถเลือกที่จะออกมาได้เสมอ เป็นอิสระเสรีตามที่เป็นประชาธิปไตย


พี่แป้ง : ตอนสมัยเรียน วิชาไหนที่คิดว่า "ปราบเซียน" ที่สุดคะ?
พี่ตี้ : ไม่มีหรอกวิชาปราบเซียน เพราะอาจารย์ทุกคนเขาให้คะแนนตามเกณฑ์ของเขา บางคนให้ง่าย บางคนให้ยาก บางคนให้ตามเหตุผล บางคนให้ตามความชอบ มันก็สลับกันไป คำว่า "เซียน" ไม่ได้อยู่ที่อาจารย์ แต่อยู่ที่ตัวเราเอง เราแข่งกับตัวเองต้องฝึกฝนตัวเอง ต้องเข้าใจอาจารย์แต่ละคนเขา เราก็แค่ทำให้ดีที่สุดตามเกณฑ์ที่เขาคาดหวัง ซึ่งถ้าเขาคาดหวังสูง เราก็ต้องแข่งกับตัวเองสูงเหมือนกัน แข่งกับความขี้เกียจ ความไม่รู้เรื่อง ความอ่อนในทักษะและความรู้ของตัวเอง
         เวลาน้องๆ เข้ามาเรียน อาจจะต้องทำใจไว้อย่างว่ารุ่นพี่บางคนอาจแนะนำด้วยความหวังดี ว่าอย่าลงเรียนกับอาจารย์คนโน้น อาจารย์คนนี้ เพราะให้คะแนนยากหรืออะไรก็แล้วแต่ น้องๆ จะทำตามที่พี่เขาแนะนำก็ได้  ถ้าไม่อยากหาอะไรท้าทายให้กับชีวิตมหาวิทยาลัยของตัวเอง แต่ถ้าน้องคิดว่าไหนๆ ก็มาเรียนวิชารัฐศาสตร์แล้ว อยากได้ความท้าทาย อยากได้ประสบการณ์และความรู้อย่างเต็มที่ ให้ก้าวข้ามขีดจำกัดเดิมๆ ของตัวเอง พี่ก็แนะนำว่าให้ลงเรียนกับอาจารย์ที่รุ่นพี่บอกว่าโหดๆแล้วแข่งกับตัวเองแล้วจะได้อะไรเยอะ สามารถคิดตามหรือคิดแย้งอาจารย์อย่างเต็มที่ ศึกษามาโต้แย้งเพื่อเพิ่มพูนความรู้อย่างที่อาจารย์แนะนำ แล้วจะได้อะไรกลับไปเยอะมาก


พี่แป้ง : 4 ปีในรั้วมหาวิทยาลัย ให้อะไรกับพี่ตี้บ้างคะ?
พี่ตี้ : ให้เยอะมาก ถ้าเรียนไปทำกิจกรรมไปด้วย มันก็ได้เรียนรู้ได้เห็นอะไรเยอะ ชีวิตมหาวิทยาลัยมันคือชีวิตการเรียนรู้ก่อนที่จะออกสู่วัยทำงาน มันคือรอยต่อระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่ คือวัยที่เราต้องรับผิดชอบกับตัวเองมากขึ้น ก็แล้วแต่ว่าเราอยากเลือกใช้ชีวิตแบบไหน ถ้าเราจะเป็นเด็กเนิร์ดไปเลย เราก็ได้เรียนรู้อะไรแบบเนิร์ดๆ ซึ่งถ้าเอาจริงๆ พี่คิดว่าเลือกใช้ชีวิตเอาทุกแบบ ทั้งเที่ยว ทั้งเรียน ทั้งสารพัด ทุกอย่าง เอาให้ครบดีกว่า เพราะถ้าพ้นออกจากชีวิตมหาวิทยาลัยแล้ว แทบจะไม่มีโอกาสทำอะไรแบบนี้ แต่อย่าให้มันมาทำร้ายตัวเราเองก็พอ เช่น อย่าเที่ยวจนเสียผู้เสียคน เสียการเรียน เที่ยวให้พอรู้ ให้พอสนุกสนาน หรือเรียนก็อย่าไปเครียดกับมันเกินไป อย่างนี้มันก็ทำร้ายตัวเอง


พี่แป้ง : ตอนสมัยเรียนได้ทำกิจกรรมอะไรบ้างคะ?
พี่ตี้ : เวลาทำกิจกรรมจริง พี่จะอยู่ข้างนอกมหาวิทยาลัยซะเยอะ แต่ในมหาวิทยาลัยก็มีบ้างนะ ถ้าเกี่ยวกับ มธ. โดยตรงเลย ก็คือเคยอยู่องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นตำแหน่งอุปนายก ดูด้านประสานงานภายนอกกับด้านการเมืองโดยตรง ซึ่งมันก็มีประสบการณ์อะไรหลายๆ อย่างทั้งดีทั้งไม่ดีผสมกันไป พอมาตอนปี 4 ปีสุดท้าย ก็ได้มาทำกิจกรรมกับสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) เป็นเลขาธิการครับ


พี่แป้ง : ถ้าอยากจะเรียน รัฐศาสตร์ การปกครอง สิ่งที่ต้องเตรียมตัวคืออะไรบ้างคะ?
พี่ตี้ : หาตำราเกี่ยวกับรัฐศาสตร์มาอ่านเลย พวกเบื้องต้นทั้งหลาย เอาหลายๆ เล่มเปรียบเทียบกัน แล้วก็เตรียมความคิดเยอะๆ อย่าเชื่อทุกอย่างที่อ่าน คิดก่อน หาหลักฐาน หาเหตุ หาผล สิ่งที่ดีที่สุด ไม่ใช่การจำได้ทุกอย่างที่ศึกษา ที่อ่าน แต่มันคือการฝึกฝนวิธีคิด ใช้วิธีคิดแบบนี้ตลอดเวลา คือ ความเป็นผู้สงสัยตั้งคำถามกับทุกอย่างแม้แต่กับความเชื่อของตัวเอง มันเป็น Skill สำคัญเลยนะ ในการเรียนรัฐศาสตร์ให้ประสบความสำเร็จ


พี่แป้ง : ขอถามต่อเรื่องงาน ตอนนี้ทำงานอะไรอยู่คะ?
พี่ตี้ : เป็นผู้สื่อข่าวอยู่ที่วอยซ์ทีวีครับ วิ่งสายการเมือง ลักษณะงานก็ไปตามข่าวการเมือง ตามความเคลื่อนไหวทางการเมืองต่างๆ ที่เราอ่านหรือดูในทีวีทุกวันนั่นล่ะ มันเหมือนเราคือผู้สื่อข่าวภาคสนาม ช่างภาพ ผู้ช่วยฯ เป็นคนหาวัตถุดิบ มาให้คนครัวคือทีมงานในห้องตัดต่อ สตูดิโอ บรรณาธิการเป็นเหมือนพ่อครัวในห้องครัว แล้วผู้ประกาศก็เป็นเหมือนพนักงานเสิร์ฟ มันเป็นงานทีวี มันก็มีลักษณะแบบนี้ล่ะ คือเหมือนเป็นทีมงานทำอาหารสมองและข้อมูลไปเสิร์ฟให้คนดูทุกวัน ซึ่งก็สนุกดีในระดับหนึ่ง คือมันก็เปิดโอกาสให้เราสร้างสรรค์อยู่ในระดับหนึ่ง


พี่แป้ง : คิดจะเรียนต่อไหมคะ? แล้วถ้าเกิดจะเรียนต่อจะเรียนทางด้านไหนคะ?
พี่ตี้ : ก็อยากไปเรียนต่อหรอกนะ คืองานข่าวที่ทำอยู่สำหรับพี่มันเป็นอะไรชั่วคราว อยากมาหาประสบการณ์ให้ตัวเอง แต่เป้าหมายสูงสุดจริงๆ คืออยากเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัย สอนวิชารัฐศาสตร์ก็ได้ ประวัติศาสตร์ก็ได้ ซึ่งตอนนี้ทำงานไปก่อน สักปีหรือสองปี ค่อยหาทุนเรียนปริญญาเอกต่อ ความจริงถ้าตอนนี้มีทุนก็อยากไปเลยล่ะนะ แต่มันยังไม่มี ก็เลยค่อยว่ากัน ฮ่าๆๆ


พี่แป้ง : ตอนนี้ก็อยู่ในวัยทำงานแล้ว มีการวางแผนอนาคตอย่างไรบ้างคะ?
พี่ตี้ : บางคนทำงานก็เพื่อหาเงิน บางคนทำงานเพื่อความสุข เงินไม่สำคัญ ใครทำงานแล้วได้ทั้งเงินและความสุข มันคืออุดมคติของหลายๆ คนเลยล่ะ ซึ่งก่อนอื่น ต้องค้นหาตัวเองให้เจอก่อน สำคัญที่สุดเลย เรารักอะไร เราถนัดทำอะไร ชีวิตมีเป้าหมายอะไร ค้นหาความเป็นตัวตนของตัวเองให้เจอ ช่วงชีวิตมหาวิทยาลัยเป็นอีกช่วงหนึ่งที่เราใช้ค้นหาตัวเองให้เจอได้ เมื่อหาเจอแล้วอย่างอื่นมันจะตามมาเอง เดินไปให้ไกลที่สุด เดี๋ยวชีวิตมันก็มีความสุขเอง บางคนมาเรียนรัฐศาสตร์เพราะคิดว่ามันง่ายดี จบไปก็หางานทำง่ายๆ พนักงานออฟฟิต ข้าราชการ อะไรก็ว่าไป ซึ่งจะเป็นแบบนั้นก็ได้ แต่ความหมายของชีวิตมันอยู่ตรงไหนล่ะ? สำหรับพี่ พี่คิดว่าคนเราเกิดมาเป็นคนยากเย็นแสนเข็ญ ไหนๆ เกิดมาทั้งทีแล้ว ใช้ให้คุ้มที่สุดดีกว่าบางทีสิ่งที่น้องจะได้เรียนในคณะรัฐศาสตร์อาจจะไม่ใช่ตัวเราเองเลยก็ได้ แต่พอน้องค้นหาตัวเองเจอ มันก็ถือเป็นก้าวผ่านก้าวหนึ่งของชีวิต


พี่แป้ง : สุดท้ายนี้ อยากให้พี่ตี้ฝากอะไรดี ๆ ถึงน้อง ๆ ที่อยากเรียน รัฐศาสตร์การปกครองหน่อยค่ะ
พี่ตี้ : ขอให้โชคดีครับ ถ้าอ่านสัมภาษณ์นี้แล้วรู้สึกอยากเปลี่ยนใจขึ้นมา ก็ตามสะดวกนะครับ บางทีมันอาจจะใช่สิ่งที่น้องต้องการหรือไม่ใช่ก็ได้ ตั้งคำถามกับตัวเอง คิดกับตัวเองดีๆ ว่าความสุขของน้องอยู่ตรงไหน ถ้าน้องอยากได้ความรู้ในทางการเมือง อะไรหลายๆ อย่างจากที่นี่จริงๆ มันไม่มีมาเสิร์ฟให้น้องแบบสำเร็จรูปนะครับ ต้องสู้กับตัวเองเยอะ ถึงจะได้ความรู้ไป พี่อยากให้ทบทวนว่ารัฐศาสตร์ใช่สิ่งที่น้องต้องการหรือเปล่า ถ้าใช่ว่าอยากได้ความรู้ อยากได้ความท้าทาย อยากได้สิ่งใหม่ๆ และอยากได้เลิกเชื่อในสิ่งเก่าๆ อยากได้ความคิดที่วิพากษ์ น้องมาถูกทางแล้วครับ เพียงแต่ว่ามันไม่มีมาเสิร์ฟให้น้องนะ อย่างที่บอกล่ะ ต้องขวนขวายแข่งกับตัวเองเยอะหน่อย ยังไงก็ขอให้โชคดีทุกคนครับ

          โอ้โห้!!! รุ่นพี่ทั้งสามคนนี่ทำงานกับไปคนล่ะทางเลยนะคะ แต่สิ่งที่เหมือนกันคือทั้งสามคนสามารถนำความรู้ที่เรียนมาไปประยุกต์ใช้ได้ในชีวิตทั้งการทำงานและชีวิตประจำวัน ทำให้เราเป็นคนที่เตรียมพร้อมตลอดเวลา เป็นสาขาที่น่าเรียนอีกสาขาเลยค่ะ ... ตอนนี้ก็ครบทั้ง 4 สาขาของรัฐศาสตร์แล้วนะคะ เลือกดี ๆ แล้วลุยไปข้างหน้าเลยค่ะ สู้ ๆ

.

"
   


    


.

.
3 สาขาล่าสุดใน "คณะในฝัน"















 


พี่แป้ง
พี่แป้ง - Columnist นักข่าวสายรับตรง พร้อมเสิร์ฟข่าวสอบเข้าทุกมหา'ลัย เติมพลังได้จากชาเย็นหวานน้อย

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

1 ความคิดเห็น

P'Pond Kanidta 14 ม.ค. 57 21:22 น. 1
ขอบคุณมากค่ะพี่แป้ง พี่แป้งทำให้หนูมั่นใจที่จะศึกษาต่อในด้านนี้ หนูอยากรู้รายละเอียดมากกว่านี้จัง
0
กำลังโหลด
กำลังโหลด