P
คณะวิศวกรรมศาสตร์
                          สาขาวิชาวิศวกรรมโยธา
ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย
         วัสดีค่ะ หลังจากที่คราวที่แล้วพี่แป้งให้ข้อมูลพื้นฐานของ สาขาวิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ ไปบ้างแล้ว น้องๆ บางคนอาจจะยังไม่เห็นภาพว่าถ้าไปเรียนเราจะมีวิถีชีวิตอย่างไร ต้องเรียนอะไร ทำ Lab ยังไงบ้าง ครั้งนี้พี่แป้งเลยไปสัมภาษณ์รุ่นพี่ที่กำลังเรียนอยู่ตอนนี้มาให้ค่ะ มีทั้งพี่ปี 1 ปี 2 และปี 4 ค่ะ พี่ๆ มาเม้าท์อะไรให้ฟังบ้าง ตามไปดูกันเลยค่ะ

 

 
พี่กอล์ฟ  ปวีร์ ทองไพบูลย์
สาขาวิชาวิศวกรรมโยธา ปี 4
คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.บางมด

พี่แป้ง : แนะนำตัวเองก่อนเลยค่ะ
พี่กอล์ฟ : ผมชื่อ นาย ปวีร์  ทองไพบูลย์ ชื่อเล่นชื่อ กอล์ฟ ครับ เรียนอยู่ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมโยธา ชั้นปีที่ 4 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

พี่แป้ง : ย้อนไปเมื่อตอนสอบเข้า น้องกอล์ฟสอบเข้าด้วยระบบอะไรคะ?
พี่กอล์ฟ : ตอนสอบเข้าสมัยที่นั้นผมเข้าผ่านโครงการ civil camp ซึ่งเป็นค่ายที่เปิดโอกาสให้เข้ามาลองสัมผัสดูว่าสาขาวิศวกรรมโยธานั้นเรียนเกี่ยวกับอะไรบ้าง มีทั้งกิจกรรมและการให้ความรู้เกี่ยวกับสาขาวิชารวมถึงให้ลองทำ มินิโปรเจคสั้นๆ ซึ่งผมมองว่ามันค่อนข้างดีมากเพราะทำให้เราสามารถเข้าใจในสาขาวิศวกรรมโยธาได้มากขึ้น รวมถึงได้เพื่อนใหม่ๆ และหลังจากเข้าค่ายแล้วทางภาควิชาจะมีการเรียกตัวมาเพื่อสอบข้อเขียนและสัมภาษเพื่อเป็นโควตาในการเข้าศึกษาต่อในที่ภาควิชาวิศวกรรมโยธาครับ

พี่แป้ง : อะไรเป็นเหตุผลที่เลือกเรียนวิศวกรรมโยธาคะ?
พี่กอล์ฟ : ตอนแรกสุดที่ผมสนใจเลยเพราะผมมีคุณพ่อที่เป็นวิศวกรโยธา และ สาขาวิศวกรรมโยธาเรียนค่อนข้างกว้างและเกี่ยวเนื่องกับชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนค่อนข้างมาก รวมถึงการที่ผมมีความสนใจในเรื่องของโครงสร้างว่าเวลาสร้างหรือออกแบบนี่เขาทำกันยังไง ทำไมถึงต้องทำแบบนี้ ซึ่งการที่จะได้คำตอบก็คงต้องได้จากการเรียนในสาขานี้เท่านั้นนะครับ

พี่แป้ง : ถ้าสมมติตอนนั้นน้องกอล์ฟไม่ติดวิศวกรรมโยธา คิดว่าจะเรียนสาขาอะไรคะ?
พี่กอล์ฟ : ตอนนั้นผมไม่ได้คิดเลยว่าจะเรียนอะไรอย่างอื่น รู้สึกว่าจะเรียนในสาขานี้แล้วก็จะต้องพยายามเข้าเรียนให้ได้ ^_^

พี่แป้ง : เมื่อเข้ามาเรียนในรั้วมหาวิทยาลัยแล้ว ต่างจากที่เรียน ม.ปลายอย่างไรบ้างคะ?
พี่กอล์ฟ : ต่างกันตรงที่ต้องมีความขยันรวมถึงความรับผิดชอบที่สูงกว่า ไม่มีอาจารย์คอยตามให้ส่งการบ้าน คอยตามให้เข้าเรียน รวมถึงเนื้อหาวิชาที่ยากขึ้น อย่างเช่นตอน ม.ปลาย ผมเป็นคนค่อนข้างจะขี้เกียจอ่านหนังสือสอบแค่ 1-2 วันก่อนสอบ พอตอนสมัยเข้าปี 1 แรก ๆ ก็ทำเหมือนตอน ม.ปลาย แต่ผลการสอบออกมานี่ทำให้ต้องปรับตัวอย่างมากทั้งในเรื่องการเตรียมตัวก่อนสอบและการเข้าเรียนในห้องครับ

พี่แป้ง : วิชาไหนที่น้องกอล์ฟเรียนมาแล้วคิดว่ายากที่สุด?
พี่กอล์ฟ : Engineering mechanic 2 ครับ หรือเรียกกันว่า Dynamic มันเป็นวิชาที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนที่ของวัตถุและอนุภาค ซึ่งผมมองว่ามันค่อนข้างยาก โดยเฉพาะเรื่องการเคลื่อนที่สามมิติและการสั่นสะเทือน อาจจะเพราะว่าผมไม่ถนัด รวมถึงมองไม่ออกว่าจะเอาไปใช้กับอะไรในสาขาที่เรียนเลยทำให้เกิดอาการไม่ค่อยอยากเรียนครับ

พี่แป้ง : เรียนมาจนถึงปี 4 แล้ว คิดว่าชอบส่วนไหนของวิศวกรรมโยธามากที่สุดคะ?
พี่กอล์ฟ : ชอบตรงที่เราได้ทดลองทำอะไรหลายๆอย่างครับ ได้ทำ Lab เยอะ ซึ่งทำให้เราสามารถมองภาพออกเวลาไปเรียนในวิชาทฤษฏีทั้งหลายรวมถึงได้ ออกแบบบ้าน และ โรงงานของตัวเองในระหว่างที่เรียนได้ด้วย

พี่แป้ง : การเรียนวิศวกรรมโยธาต้องมีการเรียน Lab ชอบ Lab ไหนมากที่สุดคะ?
พี่กอล์ฟ : ชอบ Lab: soil mechanic เพราะเป็น Lab ที่ได้ทำการทดลองเพื่อดูพฤติกรรมของดินในเรื่องต่างๆทั้งการทรุดตัว กำลังของดิน และคุณสมบัติต่างๆของดินยกตัวอย่าง Lab แรก ๆ ที่เรามาหาคุณสมบัติต่าง ๆ ของดิน อย่างเช่น การปล่อยน้ำไหลผ่านดินเพื่อดูว่าดินนั้นจะยอมให้น้ำไหลผ่านด้วยอัตราการไหลเท่าไหร่  ซึ่งทำให้เราสามารถมองเห็นภาพได้เวลาไปเรียนทฤษฏีในวิชา soil mechanic
 

พี่แป้ง : เคยเห็นที่นักศึกษาวิศวกรรมโยธาต้องมีเครื่องอะไรสักอย่างกางอยู่บนถนน แล้วก็ต้องคอยดู อยากทราบว่ามันคืออะไรคะ?
พี่กอล์ฟ : น่าจะหมายถึงกล้องระดับ เอาไว้ใช้ในวิชา survey ครับ ใช้ในเรื่องของการหาระดับของจุดต่างๆว่ามีระดับความสูงเท่าไหร่โดยเทียบจากหมุดหลักที่เรารู้ค่าระดับที่แน่นอน โดยเราต้องใช้ไม้ staff ซึ่งเป็นไม้ที่มีขีดบอกระดับความสูงต่างๆ เราจะใช้กล้องส่องวัดระดับความสูงและเทียบกับจุดก่อนหน้าว่ามีความต่างของความสูงเท่าไหร่ ซึ่งจะเป็นระดับของจุดที่เราวัดครับ

พี่แป้ง : สุดท้ายขอให้ฝากกำลังใจไปถึงน้องๆ ที่อยากเรียนวิศวกรรมโยธาด้วยค่ะ
พี่กอล์ฟ : สำหรับน้องๆ ที่สนใจพี่ก็อยากแนะนำอยากให้ศึกษาให้ดีว่าเราชอบและรักที่จะอยู่กับมันจริงๆ เพราะถ้าเราไม่ได้ชอบจริงๆ เวลามาเรียนจะรู้สึกเหนื่อยและไม่อยากเรียน  สำหรับน้องๆ ที่คิดว่าสาขานี้ใช่สำหรับตัวเอง พี่ก็บอกได้แค่ว่า ให้มีความพยายาม อดทน ขยัน และความมุ่งมั่น รวมถึงถ้าได้เข้ามาแล้วก็อยากให้ตั้งใจเรียน อย่ากลัวเลอะเวลาทำ Lab และแบ่งเวลาให้ถูก แล้วน้องจะสามารถเรียนได้อย่างมีความสุขครับ


 

 
พี่น้ำใส  ฑภิสรา พุทธาคุณเจริญ
สาขาวิชาวิศวกรรมโยธา ปี 2
คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ


พี่แป้ง : สวัสดีค่ะน้องน้ำใส แนะนำตัวเองก่อนเลย
พี่น้ำใส : สวัสดีค่ะ พี่ชื่อ น้ำใส ฑภิสรา พุทธาคุณเจริญ ตอนนี้เรียนอยู่ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยลัย ภาควิชาวิศวกรรมโยธา ปี 2 ค่ะ ^_^

พี่แป้ง : ตอนสอบเข้าที่นี่ น้ำใสสอบด้วยระบบอะไรคะ?
พี่น้ำใส : พี่แอดฯ กลางเข้ามาจ้า บรรยากาศสมัยนั้นคล้ายๆ กับสมัยนี้แหละค่ะ ถ้าเล่าเรื่องของตัวเองก็แอบเครียด เพราะตอนนั้นเราเป็นไม่กี่คนในห้อง ม.6 ที่ยังไม่มีที่เรียน (แถมยังไม่มีที่สำรองอีกต่างหาก ไม่ได้โอน “ค่ายืนยันสิทธิ์” ค่ะ 555) ป่าเถื่อนมาก ล่องลอยมาแอดฯกลางด้วยแผ่นหลังเปลือยเปล่าเลยนะ >///< ไม่ใช่กลัวแอดฯไม่ติดนะ แต่เครียดว่าจะได้ที่ไหนค่ะ
        
ตอนนั้นเลือกคณะตามแรงยุแท้ๆ (-_- ^ ) อนาคตทั้งชีวิตกับอารมณ์ชั่ววูบว่า “ไหนๆก็เก่งชีวะแล้วต้องเป็นหมอสักหมอ” ตอนนี้โตขึ้นมาหน่อยแล้วกลับมาคิดว่า เอ่อ ... ทำไมเราคิดตื้นจัง? ชอบวิชาเรียนเลยเรียนหรอ? ไม่คำนึงถึง Lifestyle ตัวเองเลยแม้แต่น้อยนิด แล้วก็ไม่ใช่แค่หมอเท่านั้นที่ช่วยคนได้นี่หว่าาา.. เลยเลือกใหม่เป็นวิศวกรรมศาสตร์ โชคดีว่าได้ที่เล็งไว้เองจริงๆ พอประกาศผลได้ วิศวะ จุฬาฯ ก็ดีใจแทบตาย โล่งอกไปที รอดแล้ว ใจหายใจคว่ำหมด

พี่แป้ง : นอกจากสอบเข้าวิศวกรรมศาสตร์แล้ว น้ำใสได้มีสอบที่อื่นบ้างหรือไม่?
พี่น้ำใส : ตอนสอบบอกเลยว่า เหนื่อยค่ะ!  แต่เทียบกับคนอื่นนี่พี่คงไปสอบน้อยที่มากเลย สมัครไป 4 ที่ แต่ไปสอบจริง ๆ แค่ 2 ที่ คือ แพทย์ ม.ขอนแก่น ทีเดียวเข็ดเลย คุณป๊าบึ่งรถขึ้นไปให้ พอไปถึงก็ทำสอบไม่ไหวเพราะป่วย + เพลียจากการเดินทางสุดๆ  ขากลับกรุงเทพฯ นี่เป็น 10 ชั่วโมงค่ะ แล้วก็ไปสอบ แพทย์ ม.บูรพา ซึ่งอาหารแถวนั้นอร่อยมากค่ะ ก็สอบไม่ไหวอีกเช่นกันค่ะกินเยอะไปหน่อย เลยคิดได้ว่าพอกันทีสอบตรง ... ไม่มีดวงด้านนี้มั้งคะ 555 อีกสองแห่งที่สมัครไว้ก็เลยเบี้ยวสอบซะเลยค่ะ :p

พี่แป้ง : เลือกสาขาที่เรียนตั้งแต่ปี 1 เลย หรือเพิ่งมาเลือกตอนปี 2 คะ?
พี่น้ำใส : ถ้าเป็นของ วิศวะ จุฬาฯ จะเข้าภาคโยธานี่ต้องเลือกเข้ามาในภาค “ทั่วไป” ก่อนนะคะ แล้วก็จะมีการเลือกภาคตอนขึ้นปี 2 โดยใช้เกรดของปี 1 แต่ละภาคก็มีวิธีให้น้ำหนักคะแนนวิชาที่เกี่ยวข้องกับสาขาต่างกัน แต่รวม ๆ แล้วคือ
ใคร Rank ดีกว่า ก็มีสิทธิติดภาคที่ตัวเองอยากได้มากกว่าน่ะค่ะ ในส่วนของภาคโยธาปีของพี่ค่อนข้างฮอตค่ะ คนเลือกเกินจำนวน กลับมาเป็นยุคทองอีกครั้ง ต่างจากเมื่อหลายปีก่อนที่เค้าพูดกับว่า “ติดโปรก็โยได้” (คือ คนเลือกไม่เต็มภาคนั่นแหละค่ะ)  
         โยธานี่เป็นสาขาที่ไม่ค่อยมั่นคงนะคะ จะขึ้นลงตามเศรษฐกิจ ส่วนคำถามที่ว่า อะไรที่ทำให้เลือกวิศวกรรมโยธา คำตอบง่ายๆ เลยคือ... ก็มันใช่ค่ะ 555 เพราะโยธาเป็นอะไรที่ต่อยอดได้หลากหลายมากในระดับปริญญาตรีของที่ จุฬาฯ เราจะได้เรียนวิชาที่บางที คิดไม่ถึงว่านี่มันงานโยธาเหรอเนี่ย?? อะไรแบบนี้ค่ะ เช่น
วิชา Fundamentals of Traffic Engineering  ใครจะคิดว่าไฟเขียวไฟแดงนี่โยธาออกแบบ ก็ทำให้เข้าใจได้ว่าเราถนัดอะไรกันแน่ จะเรียนต่อสาขาไหนค่ะ แต่จริงๆแล้วคือ เราชอบความท้าทายมั้งคะ มีแต่คนห้าม เลยเลือกเรียนซะเลยนี่ (555)

พี่แป้ง : การเรียนสมัย ม.ปลาย กับ มาเรียนวิศวะ จุฬาฯ แตกต่างกันมั้ย?
พี่น้ำใส : นึกเรื่องความต่างออกอยากเดียว เอาแบบย่อๆเนอะ..
1. เพื่อนต่างเพศ – ของที่เตรียมอุดมฯ (พี่น้ำใสจบ รร.เตรียมอุดมศึกษา) ผู้หญิงจะมากกว่าผู้ชายนิดหน่อยค่ะ แต่ที่นี่ โดยเฉพาะภาคนี้ อัตราส่วน 1 ต่อ 10 เลยค่ะ รู้สึกพิลึกนิดหน่อยที่เข้ามาอยู่ในดงแห่งความป่าเถื่อน, หนวด, เหล้า การเม้าท์สาวๆ และกลิ่นเหงื่อไคล
2. การใช้ชีวิต – เพื่อนที่คณะจะหลากหลายที่มากกว่าสหาย ม.ปลาย ค่ะ เวลาจะทำอะไร ชวนไปไหน ก็ต้องคำนึงถึง Lifestyle ของเพื่อนด้วย
3. การเข้าเรียน – จะเข้าก็ได้ ไม่เข้าก็ได้ ไม่มีเช็คชื่อ (แต่บางวิชาเช็คนะคะ แล้วเช็ควันที่เราขาดด้วย เข้าตลอด ขาดไปสองวัน ท่านเลือกเช็ควันนั้นแหละ! ฮืออ..อาจารย์ถุงเท้าลายจุด แห่ง sec10 Engineering Mechanics ค่ะ จึงเรียนมาเพื่อทราบโดนทั่วกัน 555) เพื่อนบางคนอ่านเองหมดทุกวิชาเลย เพราะตื่นมาเรียนไม่ไหว ก็ทำได้นะคะ รับผิดชอบตัวเองเลยค่ะ ^ ^
4. วิชาที่เรียน – ในมหาลัยวิชาเรียนน้อยกว่านะคะ อย่างน้อยมันก็เป็นวิชาแนวๆ เดียวกันค่ะ ก็มีเวลาทุ่มเทได้มากกว่าตอนเรียนมัธยม ส่วนเรื่องความยากนี่ หึหึหึ ... เอาเป็นว่าไม่กล้าตัดสินแล้วกันค่ะ
 

พี่แป้ง : สิ่งนึงที่น้องๆ กลัวคือเรื่องของ "สังคม" ... อยากให้เม้าท์ๆ เพื่อนและรุ่นพี่รุ่นน้องหน่อยค่ะว่าเจอแบบไหนบ้าง?
พี่น้ำใส : เรื่องแย่ๆ ก็มี เรื่องดีๆ มันก็เยอะค่ะน้องๆ  (โฮะๆ ทำเสียงขาเม้าท์) แต่ก็นะ มันเป็นสังคมมนุษย์นี่นา เรื่องดีคือ พี่ได้เจอเพื่อนเก่าตั้งแต่ตอน ม.ต้น ที่นิสัยใจคอไปด้วยกันได้มากๆๆ แล้วก็กลับมาเป็นเพื่อนสนิทกัน (หลังจากห่างๆ ไปเพราะย้ายที่เรียน ม.ปลาย ค่ะ สาธิตปทุมวัน>>เตรียมอุดมฯ) ก็เรียนแบบช่วยกันเรียนนะคะ แต่น่าเสียดายอยู่กันคนละภาค แต่ก็ไปอ่านด้วยกัน โต้รุ่ง คอยปลุก คอยเตือน โอ้ยยย สุขล้น เวลาทุกข์เรื่องอื่นที่ไม่ใช่เรียนก็มีเพื่อนพวกนี้แหละค่ะ คอยช่วยเสนอแนะ + เสนอ (หน้าโอ๋ ๆ รักนะ จุ๊บ ๆ) แล้วเราก็ได้เพื่อนใหม่จากวิชาที่เรียนด้วยกันด้วยค่ะ มีการชวนไปกินของอร่อยทุกวันศุกร์ มีความสุขมากทีเดียว
          ส่วนเรื่องสายรหัส ตอนนี้สายรหัสพี่กระทำการโหดมากอยู่ค่ะ(แต่ไม่บอกหรอกว่าอาราย) ลุงรหัสเราป็นคนดี ชอบแกล้งให้น้องๆ ทำมิชชั่น “บวกสาว” แลกข้าว (ไปขอชื่อ คณะ ชั้นปี เฟส เบอร์ รูปคู่) พี่ยังเคยไปบวกหมอน้อยหน้าตาเด็กเรียนสุดกู่เลย (เค้าคงฝันร้ายไปอีกนานค่ะ) ส่วนพี่รหัสยังไม่มีแฟนค่ะ ใครสนใจหนุ่มขี้อาย โปรไฟล์ดี ติดต่อได้หลังไมค์นะคะ อิอิ ... แล้วก็ น้องรหัสพี่มี 2 คนค่ะ น้องผู้หญิงแมนมาก ใครชอบสไตล์ สวย ถึกและบึกบึน ติดต่อได้เช่นกันนะคะ น้องอีกคนเป็นอ้ายหนุ่มสวนกุหลาบฯ คุณชายตัวจิ๋ว น่าเอ็นดู เรียนเก่งมากกก ได้ทุนไปญี่ปุ่นแหล่ว T^T ดีใจด้วยนะ
          ร่ายยาวมายังไม่ได้บอกความน่ากลัวของมหาลัยเลยเนอะ มันก็มีบ้างแหละ คนเรามันต่างที่มานี่คะ การนินทาเรื่องแย่ๆ ที่ไม่เป็นจริง .. ยิ่งน่าเกลียดยิ่งสนุกปาก มันก็เป็นไปตามชีวิตที่เขาได้ประสบมาเกือบ 20 ปีนั่นแหละค่ะ อย่าไปใส่ใจมากเลย
สรุปคือ คนรักเท่าผืนหนัง คนชังเท่าผืนเสื่อ.. ถ้าเราเลือกที่จะแคร์คนให้ถูกกลุ่ม  ชีวิตมหาลัยมันก็จะดีเองแหละคุณน้อง ^_^

พี่แป้ง : เท่าที่เรียนมา เคยเรียนคลาสใหญ่ ๆ มั้ย?
พี่น้ำใส : เคยค่ะ ตอนปี 1  เรียนในหอประชุมใหญ่ของวิศวะฯเลย รู้สึกว่า ... ง่วงนอนค่ะ เบาะมันโคตรนุ่ม แอร์เป่าพริ้วๆ เย็นๆ เสียงอาจารย์ โมโนโทนสุดยอด! การปรับตัวก็คือ ทำยังไงก็ได้ให้ทนตื่นไว้ค่ะ เพราะปกติเรียนห้องเล็กก็จะหลับไม่ได้อยู่แล้ว แต่นี่ห้องใหญ่ คนหลับกันเยอะแยะ ถ้าเราหลับอีกคนก็ .. คงไม่เป็นไรมั้ง 555 จะรู้สึกผิดน้อยกว่าน่ะค่ะ เพราะงั้นก็ต้องถ่างตาทน พี่ทำทุกทางเลยนะ กาแฟ หยิกขาตัวเอง กินขนม โอ้ยยย สารพัดค่ะ ฮ่าๆๆ อ้อ แล้วเวลาลุกออกไปไหนจะเห็นกันทั้งห้องเลย มาสายมากก็ไม่ได้ เป็นเป้าสายตาจิกกัดสุดๆ

พี่แป้ง : ตอนรับน้องเป็นอย่างไรบ้าง?
พี่น้ำใส : ไม่เถื่อนเลยค่ะ น่ารักสมเป็นวิศวะฯมาก พี่โดนรับสองครั้งนะคะ ครั้งแรกตอนปี 1 เป็นเฟรชชี่ รับรวมทั้งคณะ คงเล่าอะไรมากไม่ได้ค่ะ เดี๋ยวถ้าน้องได้เข้ามาแล้วจะไม่ลุ้น (แอบรู้ก่อนก็หมดสนุกไปหน่อยนึงแหละ) ถ้าถามว่าเถื่อนไหม... เอาจริงๆ มันก็น่ากลัวอยู่ค่ะ แหม ผู้ชายเยอะนี่คะ เวลาทำอะไรรวมๆ กันมันก็ออกจะน่าเกรงขามนะคะ T_T  แต่ไม่มีสุราค่ะ ตอนปี 1 นี่ไม่เคยดื่มซักอึกเลยค่ะ 555
          ส่วนรับน้องของภาคโยธา ...แปลกใจไหมคะที่เหมือนไปร่วมกิจกรรมสันทนาการมากกว่าค่ะ ก็สนุกค่ะ ได้สายสิญจน์มาเต็มข้อมือเลย
เวลารุ่นพี่โยธาตัวเบ้อเริ่ม มือก็ใหญ่ๆ พยายามผูกด้ายเส้นกระจิ๋วให้ข้อมือเรานี่น่ารักมากค่ะ 555 ไม่เล่าแล้วเดี๋ยวไม่ตื่นเต้น >_< เข้ามาเจอเองดีกว่านะน้อง

พี่แป้ง : เคยรู้สึกเสียใจมั้ยคะที่เลือกเรียน "วิศวกรรมโยธา"
พี่น้ำใส : ไม่เคยเลยค่ะ ปกติพี่ก็ไม่เคยเสียใจกับเรื่องที่ทำลงไปแล้วอยู่แล้วค่ะ 555 เพราะงั้นไอ้ความรู้สึกตัดสินใจผิดนี่ไม่เคยมีเลยค่ะ มันก็มีอารมณ์นอยด์มั่ง แบบว่าเพื่อนในภาคก็หายาก (ผู้ชายทั้งนั้น ผู้หญิงก็ค่อนข้างคนละสไตล์กัน // น่าจะดูออกอยู่แล้วเนอะ) แต่ก็ไม่ใช่ปัญหาค่ะ การปรับตัวเท่านั้นที่ช่วยคุณได้ ... และแน่นอนว่ามันต้องไม่ใช่การปรับจนเสียตัวตนที่แท้จริงของเราไปนะคะ เคล็ดลับมันอยู่ที่ความพอดีน่ะค่ะ
         
ส่วนวิชาเรียนก็ทรหดดีนะคะ มีผสมปูน ทุบเสา ทุบทุบทุบ ทำลายให้หมด!! การเรียน Lab โยธามันก็เหมือนกันความสัมพันธ์นั่นแหละค่ะ เราต้องเรียนรู้ว่ามันถูกทำลายยังไงก่อน ถึงจะสร้างสิ่งที่สมบูรณ์แบบออกมาได้ มี Survey คือ ส่องกล้องกลางแดด แล้วก็ไปเข้าค่ายฝึกสำรวจแถว ๆ เขาชนไก่ด้วย (จะถึกไปหน้ายย > < ) เพื่อนหมอๆของพี่รอสมน้ำหน้าในความดำคล้ำเซ็กซี่ที่จะเกิดขึ้นกับพี่อยู่เจ้าค่ะ หึ ! จะอาบกันแดดไปเลยนะคอยดู

พี่แป้ง : สุดท้ายฝากกำลังใจถึงน้องๆ ที่อยากเรียนวิศวกรรมโยธาด้วยค่ะ
พี่น้ำใส : ไอ้หนู อย่าหลงผิด!! เอ๊ยย ไม่ใช่ๆ ให้กำลังใจเนอะคะ ... สู้ต่อไปค่ะน้อง สู้ให้ตายไปข้างนึง แล้วมาเป็นรุ่นน้องเจ่เจ๊ (น้องเลือกภาคอื่นทันที ฮะฮะฮะ) อืม ให้กำลังใจไม่เก่งจริงๆนะ ก็ เอาหน่อยว่ะ ! ครั้งหนึ่งในชีวิต ...  ^_^ ขอบคุณน้องที่อ่านจนจบ แล้วก็ ... เจอกันในภาคค่ะ

 

 
พี่เบ๊นซ์  ธนาคาร ลิขิตปริญญา
สาขาวิชาวิศวกรรมโยธา ปี 1
คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.บางมด

พี่แป้ง : ก่อนอื่นแนะนำตัวเองก่อนเลยค่ะ
พี่เบ๊นซ์ : สวัสดีครับผม ชื่อ ธนาคาร ลิขิตปริญญา ชื่อเล่นชื่อ เบ๊นซ์ ครับ ปัจจุบันศึกษาอยู่ที่ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมโยธา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ชั้นปีที่ 1 ครับ

พี่แป้ง : ตอนสอบเข้าที่นี่ น้องเบ๊นซ์สอบด้วยระบบอะไรคะ?
พี่เบ๊นซ์ : การสอบเข้าวิศวกรรมโยธาของบางมด มีหลายรูปแบบนะครับ เช่น รับตรงก็มี โครงการเรียนดี, โครงการค่าย civil camp, โครงการ2B-KMUTT, การคัดเลือกตรงผ่านคะแนน GAT-PAT, การคัดเลือกผ่านระบบเคลียริ่งเฮ้าส์, ทุนเพชรพระจอม ฯลฯ และระบบแอดมิชชั่นกลางครับ ในตอนแรกผมได้สมัครโครงการคัดเลือกตรงเรียนดี แต่ผมไม่ติดในโครงการนี้เพราะโครงการนี้เป็นโครงการที่ใช้เกรดที่ค่อนข้างสูงเป็นเกณฑ์ในการคัดเลือก
         แต่ผมได้รับโควตาการสอบตรงจาก
โครงการค่าย civilcamp ซึ่งผมได้มาค่ายช่วงปิดเทอมตอนอยู่ ม.6 และได้ทำโครงงานที่เกี่ยวกับวิศวกรรมโยธาขึ้นมาหนึ่งชิ้นเสนอต่ออาจารย์ ทำให้ได้รับสิทธิในการสอบตรงครับ ค่ายนี้ทำให้น้อง ๆที่มีความสนใจในวิศวกรรมโยธาได้รู้จักกับคำว่า วิศวกรโยธาอย่างแท้จริง โดยที่น้องๆจะได้รู้จักกับวิชาต่างๆที่วิศวกรโยธาจะต้องเรียนภายใน 4 ปี นอกจากนี้น้องยังจะได้เดินทางไปดูงานก่อสร้างในไซต์งานจริงๆ และเรียนรู้ถึงความทันสมัยในเทคโนโลยีการก่อสร้างในปัจจุบัน สำหรับน้องๆที่สนใจรายละเอียดของค่ายนี้ สามารถดูรายละเอียดได้ในเวปไซต์ได้นะครับ
        การสอบตรงของ
โครงการค่าย civil camp น้องๆ จะได้มาสอบหลังจากจบค่ายไปแล้วประมาณ 1 เดือน ซึ่งข้อสอบที่ใช้สอบจะมีสองวิชา คือ คณิตศาสตร์ และ พื้นฐานวิศวกรรม และน้อง ๆ จะได้สัมภาษณ์กับอาจารย์ในวันเดียวกัน การสัมภาษณ์จะถูกแบ่งตามหลักสูตร คือ หลักสูตรปกติ น้องจะได้สัมภาษณ์เป็นภาษาไทย และหลักสูตรนานาชาติน้องจะได้สัมภาษณ์เป็นภาษาอังกฤษ คำถามในการสัมภาษณ์ก็จะประมาณว่า ทำไมถึงเลือกวิศวกรรมโยธา และ ทัศนคติของเราต่อวิศวกรรมโยธา หรืออาจจะเป็นคำถามทั่วๆไป น้องๆไม่จำเป็นต้องกลัวมากนะครับ แค่ตอบคำถามให้มีความมั่นใจ ก็ดีมากแล้วครับ น้องๆสามารถดูรายละเอียดการรับสมัครของมหาวิทยาลัยได้ที่  www.admission.kmutt.ac.th

พี่แป้ง : นอกจากสอบเข้าวิศวกรรมศาสตร์แล้ว น้องเบ๊ยซ์ได้มีสอบที่อื่นบ้างหรือเปล่าคะ?
พี่เบ๊นซ์ : ผมได้สอบเข้าใน ภาควิชาวิศวกรรมโยธา ของ มศว และ ที่ ม.บางมด นี่แหละ ที่ มศว ผมสอบในระบบคัดเลือกตรง สอบที่อิมแพคอารีนา เมืองทองธานี และก็สอบติดไปรอบสอบสัมภาษณ์ ตื่นเต้นมากครับ สุดท้ายได้รับคัดเลือกให้เข้าศึกษาแต่ก็ไม่ได้เลือกไป สำหรับการเตรียมตัวสอบในชั้น ม.6 ก็อ่านหนังสือก่อนสอบล่วงหน้า 2 เดือน และเน้นการทำโจทย์ เพื่อให้คุ้นเคยกับโจทย์รูปแบบต่างๆ พักผ่อนให้เพียงพอ ฝึกแบ่งเวลาให้เป็น ทำให้ไม่เหนื่อยมากในการอ่านหนังสือ และสามารถใช้เวลากับเพื่อนให้คุ้มค่า และผมโชคดีตรงที่สอบติดก่อนเลยไม่ได้แอดมิชชั่นทำให้ไม่ต้องอ่านหนังสือเยอะเท่าเพื่อน ๆ คนอื่น
 

พี่แป้ง : แล้วอะไรที่ทำให้เลือก "วิศวกรรมโยธา" คะ?
พี่เบ๊นซ์ : ที่ผมเลือกวิศวกรรมโยธาของบางมดเพราะว่าผมสนใจในวิศวกรรมโยธาอยู่แล้ว เมื่อพูดถึงคำว่า วิศวกรรม แล้ว คนส่วนใหญ่ก็จะนึกถึงวิศวกรรมโยธา วิศวกรโยธามีบทบาทสำคัญในการพัฒนาประเทศ สร้างความเจริญรุ่งเรือง และสามารถทำงานได้หลากหลาย ไม่ใช่เพียงแค่ในการก่อสร้างเท่านั้น ยังรวมถึงการบริหารจัดการทรัพยากรและการคมนาคมได้อีกด้วย เมื่อประเทศไทยเข้าร่วมอาเซียนแล้ว อาชีพวิศวกรก็นับเป็นอาชีพที่สำคัญมากอีกอาชีพหนึ่งเช่นกัน และเนื่องจากภาควิชาวิศวกรรมโยธาของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีมีชื่อเสียง ทำให้ผมเลือกในเข้าเรียนที่นี่

พี่แป้ง : เมื่อเข้ามาเรียนในรั้วมหาวิทยาลัยแล้ว ต่างจากที่เรียน ม.ปลาย อย่างไรบ้างคะ?
พี่เบ๊นซ์ : ผมคิดว่าการเรียนในมหาวิทยาลัยแตกต่างจากมัธยมปลายอย่างมาก อย่างแรกคือนักศึกษาหลายๆ คนต้องเดินทางมาไกลจากต่างจังหวัดมาพักในหอพักนักศึกษา ต้องดูแลตัวเองทั้งด้านการเรียนและกิจวัตรประจำวันต่างๆ การเรียนในมหาวิทยาลัยสอนให้นักศึกษามีความรับผิดชอบในตัวเองมากขึ้น เพราะไม่มีครูมาคอยบ่น คอยตาม คอยบังคับให้เราเรียนอีกแล้ว เราต้องดูแลตัวเอง จัดเวลาอ่านหนังสือช่วงสอบเอง อีกทั้งในรั้วมหาวิทยาลัยยังมีกิจกรรมต่างๆมากมายให้เราได้ร่วม ทำให้การศึกษาในมหาวิทยาลัยเหมือนเป็นการเปิดโลกกว้างทำให้เราได้รู้จักและเรียนรู้สิ่งต่างๆมากขึ้น

พี่แป้ง : ตอนสอบทั้งสอบย่อย (Quiz) และ Mid-term ที่ผ่านมามีการเตรียมตัวอย่างไรบ้างคะ?
พี่เบ๊นซ์ : การสอบย่อย (Quiz) จะมีแค่ในบางวิชาเท่านั้นนะครับ บางวิชาก็ quiz ทุกครั้งก่อนเข้าเรียน เช่น วิชา Lab เคมี และ Lab ฟิสิกส์ ดังนั้นเราจึงต้องอ่านหนังสืออยู่ตลอดเวลา เพื่อเตรียมตัวให้พร้อมกับการสอบ เวลาสอบ quiz จะสอบทีละบท หรือสอบบทก่อนหน้าและบทที่จะเรียนในวันนี้พร้อมกัน การอ่านหนังสือทบทวนเนื้อหาเก่าๆ ตลอดเวลาแบบนี้ทำให้เป็นการเตรียมพร้อมสอบ mid-term ไปในตัว ทำให้ผมไม่ค่อยกังวลมากนักกับ mid-term แค่หาข้อสอบเก่าๆ หลายๆ ปีจากหอสมุดมาทำเพิ่มเติมให้คุ้นเคยกับรูปแบบข้อสอบแต่ละวิชาก็พอแล้ว เวลาที่เหลือผมก็สามารถจัดกลุ่มติวให้เพื่อนได้ เพื่อเป็นการทบทวนความรู้ไปในตัวและยังช่วยเพื่อนที่ยังไม่เข้าใจได้อีกด้วย

พี่แป้ง : เริ่มเรียนวิชาภาคหรือยังคะ แล้วคิดว่าชอบวิชาไหนมากที่สุด?
พี่เบ๊นซ์ : ในปี 1 จะเรียนวิชาภาคแค่ 3 ตัวส่วนวิชาที่เหลือก็จะเป็นวิชาทั่ว ๆ ไปที่ต่อมาจาก ม.ปลาย เช่นพวก แคลคูลัส ฟิสิกส์ เคมี อังกฤษ วิชาภาคก็จะมี 1.เขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ เขียนโปรแกรมเพื่อเอาไว้ใช้คำนวณทางวิทยาศาสตร์ต่างๆ 2.เขียนแบบ และ 3.กลศาสตร์วิศวกรรม เรียนคล้าย ๆ วิชาฟิสิกส์ครับ ส่วนตัวผมชอบวิชาเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์มากที่สุดเพราะว่าวิชานี้นอกจากจะใช้ความจำแล้ว ยังได้ใช้ความคิด คิดวิธีการเขียนโปรแกรมรูปแบบต่างๆใช้ความจำจดจำประวัติคอมพิวเตอร์ หลักการเขียนโปรแกรม ฝึกทักษะการใช้คอมพิวเตอร์ และการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า

พี่แป้ง : ตอนนี้รับน้องเป็นอย่างไรบ้าง?
พี่เบ๊นซ์ : กิจกรรมรับน้องที่ผ่านมาก็มีการเข้าประชุมเชียร์จัดโดยพี่ปี 3 จะเป็นการสอนนักศึกษาใหม่ให้ร้องเพลงของมหาวิทยาลัยและเพลงของภาควิชาให้เป็นเพื่อเอาไว้ใช้แข่งขันวันเกียร์เดย์ ก็คือการแข่งเชียร์ประชันของคณะวิศวกรรมศาสตร์ และอีกกิจกกรมคือวันแรกพบมดโยธา คือวันที่เพื่อน ๆ ในรุ่นเดียวกันจะได้มาทำกิจกรรมร่วมกันกับพี่ปี 2 และเฉลยพี่รหัส วันแรกพบนี้สนุกมาก ๆ ครับได้ทำให้รู้จักเพื่อน ๆ พี่ ๆ มากยิ่งขึ้น

พี่แป้ง : รู้สึกเสียใจมั้ยคะที่เลือกเรียน "วิศวกรรมโยธา"
พี่เบ๊นซ์ : ผมภูมิใจมากที่ได้เรียนในภาควิชาวิศกรรมโยธา เพราะกว่าที่เราจะสอบติดมาได้ เราต้องทุ่มเทอ่านหนังสือ แสดงให้เห็นว่าเรามีความพยายามและอยากเรียนวิศวกรรมจริง ๆ

พี่แป้ง : สุดท้ายขอให้ฝากกำลังใจไปถึงน้อง ๆ ที่อยากเรียนวิศวกรรมโยธาด้วยค่ะ
พี่เบ๊นซ์ : สุดท้ายอยากจะฝากถึงน้องๆที่สนใจนะครับว่า ตั้งใจเรียนในห้องมากๆ ฝึกแบ่งเวลาให้เป็น มีความรับผิดชอบให้มากขึ้น สำหรับเรื่องการเรียนอยากให้ตั้งใจในวิชา PAT 1 PAT 3 และ GAT โดยเฉพาะภาษาอังกฤษสำคัญมากในมหาวิทยาลัย และหมั่นทบทวนบทเรียนอย่างสม่ำเสมอ ก่อนเปิดเทอมทุกครั้งพยายามอ่านล่วงหน้าเพราะเวลาในมหาวิทยาลัยมันผ่านไปเร็วมาก พี่เชื่อว่าถ้าคนเรามีความพยายาม ต่อให้มันยากแค่ไหนก็ประสบความสำเร็จได้ครับ


          เป็นไงบ้างคะ อ่านกันเพลินเลยหล่ะสิ พี่ ๆ แต่ละคนก็มีการเล่าที่ต่างกัน ได้เห็นหลาย ๆ มุมของชีวิตในมหาวิทยาลัยด้วย ใครบอกว่าการเรียนคณะวิศวกรรมศาสตร์นั้นง่าย บอกเลยว่าไม่ง่ายเลยค่ะ พี่ในฐานะที่เรียนคณะวิศวกรรมศาสตร์คนนึงบอกเลยว่า โคตรเหนื่อย..... แต่ว่าสนุกมาก ได้เรียนในสิ่งที่อยากเรียนมันเลยทำให้เราไม่เบื่อค่ะ พยายามปรับตัว

          เดี๋ยวคราวหน้าพี่แป้งจะเอาบทสัมภาษณ์รุ่นพี่ที่จบไปแล้วมาฝากนะคะ รอติคตามนะคะ ส่วนน้องคนไหนที่ยังไม่ได้อ่านข้อมูลพื้นฐานของสาขาวิชาวิศวกรรมโยธาก็ไปอ่านได้เลย เลื่อนลงไปอีกนิดด้านล่างมีบทความที่เกี่ยวข้อง
นอกจากสาขาวิศวกรรมโยธา ก็มีซีรี่ย์ของสาขาอื่นให้ด้วย ทั้ง สาขาวิชาการประชาสัมพันธ์ (PR) และ สาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ (com sci)

 






 
พี่แป้ง
พี่แป้ง - Columnist นักข่าวสายรับตรง พร้อมเสิร์ฟข่าวสอบเข้าทุกมหา'ลัย เติมพลังได้จากชาเย็นหวานน้อย

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

กำลังโหลด
พี่น้ำใส FC 4 ต.ค. 56 01:12 น. 4
พี่น้ำใสสสสส เขียนหนังสือเหอะค่ะ เล่าตั้งแต่ต้นจนจบโดยละเอียดเลยน้าาา ให้เว็บเด็กดีช่วยพิมพ์ ช่วยขาย นะๆๆๆ เย้
0
กำลังโหลด
กำลังโหลด

12 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด
ミtAmSIsthRee' Member 3 ต.ค. 56 19:18 น. 3

อยากเรียนๆๆๆ .. พี่คนแรกเหมือนเราเลยอ่ะ U _ U

พ่อเป็นวิศวกรโยธาเหมือนกัน จะเข้าให้ได้เลย

DEK57โกรธ

0
กำลังโหลด
พี่น้ำใส FC 4 ต.ค. 56 01:12 น. 4
พี่น้ำใสสสสส เขียนหนังสือเหอะค่ะ เล่าตั้งแต่ต้นจนจบโดยละเอียดเลยน้าาา ให้เว็บเด็กดีช่วยพิมพ์ ช่วยขาย นะๆๆๆ เย้
0
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
runghdm 18 ส.ค. 60 12:56 น. 12

ความจริงมันไม่ได้ดูดีเลย

วิศวกรตอนนี้ก็ล้นตลาด

เด็กๆ คงจะสับสนน่าดูเวลาที่เรียนจบออกมาทำงาน

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด