แบบนี้ก็มีด้วย "ปลาบ" ฟิต PAT1 ทั้งที่ต้องยื่น PAT2 !!

            สวัสดีค่ะน้อง กลับมาเจอกันในคอลัมน์ Admission Idol สุดยอดบุคคลที่เป็นไอดอลในเรื่องแอดมิชชั่น  “พี่ปลาบ” อรรถเดช อุณหเลขกะ เภสัชกรหนุ่ม ที่ใช้วิธีสุดแหวกแนวเข้าเภสัชฯ จนได้ ด้วยการ ฟิต PAT1 ทั้งๆ ที่ต้องยื่น PAT2 เรื่องราวจะเป็นยังไง ทำไมพี่เค้าถึงทำได้ มาดูเลย!!
 
แนะนำตัว
           สวัสดีครับ ชื่อ ปลาบ นะครับ อรรถเดช อุณหเลขกะ ตอนนี้กำลังเรียนอยู่ที่คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี 5 แล้วครับ จบมาจากโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย นนทบุรี (ปลาบนิสัยยังไง?) นิสัยส่วนตัวเป็นคนร่าเริงครับ แจกความสดใสทุกวัน ยิ้มตลอด เข้ากับคนอื่นง่ายมาก ใจดีด้วยครับ ^^
 
สมัครรับตรงทุกที่ที่มีเภสัชฯ !! 
           เรื่องรับตรงนี่ เปิดเภสัชฯ ที่ไหนสมัครทุกที่ครับ ส่วนคณะอื่นๆ ไม่สมัครเลย เพราะเราอยากเป็นเภสัชกรมาก แบบว่า Born to be เลยอ่ะ เลยไม่สนที่จะสมัครคณะอื่นเผื่อเลยซักคณ ผลก็คือ .... ไม่ติดซักที่!!!
           จนกระทั่งช่วงกุมภาพันธ์ (ก่อนสอบรอบมีนาคม) ติด!! ไปสอบติดเภสัชฯ ที่ขอนแก่นครับ ดีใจมากๆๆ คิดว่าคงได้เรียนที่นั่นแล้วแหละ แต่โชคชะตาก็นำพาให้มาแอดติดที่เภสัชฯจุฬาฯ จนได้ครับ ตอนประกาศผลแอดฯ นี่ดีใจที่สุดในชีวิตแล้ว (เพราะหวังไว้ในใจลึกๆ อยู่นะว่าจะได้555)
เตรียม PAT1 ทั้งๆ ที่ไม่ใช้ยื่น!!
           ตอนอยู่ ม.ปลาย แน่นอนว่าเราก็ต้องตั้งใจเรียนครับ แต่ปลาบไม่ได้เรียนอย่างเดียวน้า แบบว่าเป็นนักกิจกรรมตัวยงเลย แต่ก็ถูๆไถๆ จบ ม.ปลายมาด้วยเกรดแถวๆ 3.8 ครับ แถมยังเป็นเด็กดี ช่วยงานคุณพ่อคุณแม่ขายของเป็นประจำทุกวันตอนเย็นครับ เลยไม่ได้ไปกวดวิชากับเค้าหรอก แต่ก็ขอไปฝากตัวเป็นศิษย์ติวเตอร์อยู่ที่นึงครับ
           ส่วนเรื่องการเตรียมตัวนี่ต้องบอกก่อนว่าเป็นเรื่องที่ขึ้นกับตัวบุคคลจริงๆ อย่างแบบของพี่อาจใช้กับน้องบางคนไม่ได้ ไงต้องลองปรับใช้ให้เหมาะกับตัวเองที่สุดนะ
           สำคัญที่สุดคือเราต้องตั้งใจเรียนมาตลอดครับ จะได้ไม่เหนื่อยมากตอนใกล้ๆ เรื่องการอ่านหนังสือควรเริ่มจริงจังตอนขึ้น ม.6 ครับ คือจะเริ่มมาก่อนนี้ก็ดีมากนะครับ แต่ช่วงเวลา ม.6 นี่ต้องเริ่มได้แล้วนะครับ ส่วนของพี่เนี่ย อ่านมั่งไม่อ่านมั่ง จนมาพีคจริงๆ เอาก็ช่วงหลังปีใหม่ก่อนจะสอบตอนมีนาคมอ่ะครับ
           ตอนนั้นเรารู้ตัวว่าเป็นคนที่ไม่ชอบอ่านหนังสือเอาซะมากๆ แต่มันถึงคราวที่ต้องอ่านอ่ะ ก็เลยหยิบหนังสือคณิตศาสตร์มาเลยครับ เพราะเราชอบคณิตนี้ที่สุด ทำโจทย์ทุกวัน ทำจนครบทุกข้อเลย ทั้งๆ ที่รู้นะครับว่าอยากเข้าเภสัชฯ แต่เภสัชฯ ไม่ใช้ PAT1 เลย ใช้แต่ PAT2 กับ GAT แต่ก็ทำไงได้ ก็คนมันชอบคณิตอ่ะ ก็เลยทำแต่คณิต มันกลับกลายเป็นการสร้างนิสัยให้ตัวเองต้องอ่านหนังสือเพื่อเตรียมสอบทุกวัน ทำคณิตมาเรื่อยๆ ตั้งแต่ช่วง ม.6 เลยครับ
           จนกระทั่งช่วงหลังปีใหม่นี่แหละที่คิดว่าตัวเองต้องมาจริงจังกับ PAT2 ได้แล้ว ก็เลยเริ่มลุยเคมีครับ เพราะเป็นวิชาวิทยาศาสตร์ที่ถนัดมากที่สุด ทั้งอ่าน ทำสรุป และทำโจทย์ จนมั่นใจกับเคมีในระดับหนึ่ง
           มาดูชีวะกันบ้าง ปกติไม่ค่อยชอบอยู่แล้ว ก็มานั่งนึกๆ บทนึงจะออกซักกี่ข้อเชียว แล้วเนื้อหาเยอะมากกกก ขี้เกียจอ่านอ่ะ ไม่อ่านเนื้อหาเลยครับ ทำข้อสอบเก่าเลย ได้บ้างไม่ได้บ้าง อาศัยอ่านเฉลยที่พอจะมีอธิบายสั้นๆ อยู่บ้าง ก็คิดว่านั่นคงเป็นเนื้อๆ เน้นๆ ของชีวะแล้วแหละ (คิดเองนะ5555)
           ส่วนวิชาสุดท้ายคือฟิสิกส์ เป็นวิชาที่อย่าได้ข้องเกี่ยวกันเลย ทางใครทางมันเถอะ แปลว่าไม่อ่านเลยครับ ไม่ชอบจริงๆ ไม่รู้เรื่องด้วย555555 เลยขอบายกับฟิสิกส์ชนิดที่ไม่เคยแตะเลยแม้แต่หน้าปกหนังสือ (ไม่ดีนะ ควรอ่านซักนิด5555)
           ผลของความทุ่มเทแม้ว่าไม่ได้ใช้ยื่นคะแนน แต่คะแนนที่ได้ออกมาก็เป็นที่น่าพอใจนะครับ ตอนนั้นก็ไม่รู้หรอกว่า 168 นี่ระดับไหน แต่ตอนนี้พึ่งรู้ว่า โอ้ว ก็เยอะอยู่แฮะ ที่ชอบเพราะคณิตศาสตร์เป็นศาสตร์ที่ต้องเข้าใจแบบลึกซึ้งจริงๆ มีความเชื่อมโยง เป็นเหตุเป็นผล หลักการจริงๆ มีไม่มาก แต่ถ้าเราเก็ทหมด เราก็ทำได้ (แต่พอเจอ PAT1แล้วก็หงายหลังอยู่) ส่วนที่มาของคะแนนคงได้มาจากการหมั่นฝึกฝนทำโจทย์เยอะๆ จนมองออกว่า โจทย์ข้อนี้ต้องประยุกต์เรื่องไหนมาบ้าง ทำได้แล้วมันสนุกนะครับ ลองดูๆ 
ถึงเวลาลุย PAT2 ด้วยสูตรเจียนตาย!
           สำหรับ PAT2 ความจริงเน้น 3 วิชาใช่มั้ยครับฟิสิกส์ เคมี ชีวะ จริงๆ ก็มีดาราศาสตร์ด้วย ถ้าเอาพีคสุดสำหรับพี่ก็คือฟิสิกส์ พี่ตัดทิ้งเลย เพราะพี่ไม่ชอบอยู่แล้ว ถ้าเริ่มใหม่ก็กลัวเสียเวลา ตอนนั้นพี่ไม่มีเวลามากพอสำหรับอ่านทุกวิชาทั้งหมด ตอนนั้นพี่ก็ทุ่มแต่ PAT1 ไม่ได้อ่าน PAT2 เลย ก็เลยมานั่งดูว่าในบรรดาฟิสิกส์ เคมี ชีวะ เราโอเคกับเคมีมากที่สุด พี่ก็เลยทุ่มให้กับเคมี โดยรื้ออ่านใหม่หมด อ่านเนื้อหาทั้งหมดทุกอัน แล้วก็ทำสรุปเป็น Short Note ของตัวเอง            โดยเคมีก็จะมีทั้งพาร์ทบรรยายกับพาร์ทคำนวณ พี่ก็จัดการแบ่งเลยเป็นวันของบรรยายสรุปเนื้อหาบรรยาย ส่วนวันของคำนวณก็สรุปสูตรเคมีเกี่ยวกับการคำนวณทั้งหมด แยกกันไว้ แล้วก็ทบทวนไปเรื่อยๆ รอบตัวพี่ก็จะมีเคมีอยู่ด้วยทุกที่ เอาหนังสือไปไว้ในห้องน้ำแบบนี้ ช่วงแรกก็เลยเป็นช่วงที่พี่อ่านเนื้อหาหมดเลยแล้วท่องสูตร คือยังไม่ได้แตะแบบฝึกหัดเลย เพราะว่าพื้นต้องแน่นไว้ก่อนโดยเนื้อหาที่น้องๆ อ่าน พี่ปลาบแนะนำให้อ่านจากหัวข้อ แล้วก็นึกขึ้นมาเองอีกที ว่าในหัวข้อนี้เราจะต้องรู้อะไร พออ่านเรียบร้อยเราก็มาลุยแบบฝึกหัดในหนังสือ เอาข้อสอบเก่ามาเริ่มทำโจทย์กัน แล้วน้องก็จะรู้แนวว่าข้อสอบเคมี เนื้อหาไม่ได้หนีไปไหนมาก หัวข้อที่ออกก็อยู่แค่นั้น หัวข้อไหนออกเยอะก็กลับไปอ่านแล้วกลับมาทำอีกทีหนึ่ง คำนวณก็จะพลิกแพลงนิดหน่อย แต่ก็ดิ้นไปไหนไม่ได้มากแล้ว ประยุกต์ไม่เยอะครับ ทำได้ๆ                             กลับมาดูชีวะบ้าง พื้นพี่ไม่ได้สูง แต่ก็ไม่ได้อ่านเยอะ แล้วพี่รู้สึกว่าตอนรุ่นพี่ชีวะออกแค่ไม่กี่ข้อ เทียบแล้วก็บทละ 2-3 ข้อ แต่เนื้อหาเยอะมากกก จำยิบๆ พี่ก็เลยเทเนื้อหา ไปลุยแบบฝึกหัดเลย พอไปทำปุ๊บ หนังสือแต่ละเล่ม น้องต้องเลือกให้ดีหน่อย เลือกหนังสือที่เฉลยข้อสอบแล้วมีอธิบายเพิ่ม พี่ก็อาศัยอ่านจากพวกนี้ ในหนึ่งบท เอาจริงก็มีเน้นๆ แค่ไม่กี่จุด ที่เหลือน้ำเยอะมาก ไม่ไหวหรอก หยิบเฉพาะแบบฝึกหัดมาทำ แล้วอ่านอธิบายเพิ่มเติมท้ายบท ต้องเนื้อๆ เน้นๆ อย่างนี้เลย                                        
          สรุปเลยนะครับ ถ้าน้องเตรียมตัวมาดี อ่านได้หมด แบ่งเวลาดีแล้ว ก็ไม่ต้องทำแบบพี่ปลาบ แต่กรณีที่น้องเจียนตายเหมือนพี่ปลาบแล้วไม่ค่อยมีเวลาอ่านหนังสือ หรือมัวแต่ไปจับโปเกม่อน แล้วเพิ่งคิดได้ว่าจะเตรียมตัวสายไปมั้ย พี่ปลาบขอบอกว่าไม่สายครับ แต่ขอให้น้องที่รู้ตัวช้าใช้สูตรเจียนตายเดียวกันกับพี่ เก็บเป็นเคล็ดลับโค้งสุดท้ายจริงๆ ถ้าเคมีได้ ชีวะได้บ้าง ฟิสิกส์ไม่ได้เลย ก็เลือกลุยเคมีหนักๆ รองมาชีวะ เทฟิสิกส์เหมือนพี่ปลาบ หรือถ้าน้องคนไหนได้ฟิสิกส์ ชีวะรองลงมา เคมีไม่ได้เลย ก็ลุยเฉพาะฟิสิกส์ เลือกจับจุดเฉพาะวิชาที่เป็นพระเอก รู้ว่าเราเก่งจริงๆ มาเป็นไม้ตายให้ฟันเกือบเต็มสัก 1 วิชา ชนะแน่! 
      
เจาะลึกแผนการอ่านหนังสือ
           แผนคร่าวๆก็บอกไปแล้วนิดๆ ถ้าแบบเจาะลึกเลยจริงๆ ก็ คือ
ช่วง ม.6 ปลายๆ เทอม1 นะ เริ่มอ่านหนังสือคณิตศาสตร์ใหม่
- ทำสรุปหลักการ สูตรต่างๆ แยกแต่ละบทเลย เขียนแปะไว้รอบโต๊ะหนังสือที่บ้านเลยครับ555 คือมันช่วยมากเลยนะ เราเห็นทุกวัน มันซึมเข้าตาเฉยเลยอ่ะ
- ช่วงแรกๆ ที่ทำโจทย์ถ้านึกสูตรไม่ออกจริงๆ ก็แอบดูบ้าง
- ช่วงหลังๆ ก็บังคับไม่ให้ดูสูตรไปทำโจทย์ไป
- พอคณิตเริ่มโอเค ก็ทำกับเคมีอย่างนี้บ้าง สูตรเยอะๆ ก็เรื่องปริมาณสารสัมพันธ์ บทอื่นๆ ก็ทำสรุปไว้ เนื้อๆ เน้นๆ เอาให้ตัวเองอ่านแล้วอธิบายความต่อได้จากที่สรุปก็เป็นอันว่าโอเค 
           ส่วนเวลาอ่านหนังสือชอบอยู่ช่วงกลางคืน ทุกคืนเลย ตั้งแต่หัวค่ำ พอไม่มีอะไรต้องทำแล้วก็เริ่มอ่านเลยครับ อ่านทุกวันนะ ต้องมีวินัยในตัวเอง แรกๆ ก็เริ่มจากน้อยๆ หลังๆ ก็เยอะขึ้นเรื่อยๆ ครับ อ่านซ้ำไปซ้ำมา จนมันซึมเข้าตาจริงๆ นะ55555 เราจะนึกออกว่า อ๋ออออ อันนี้อยู่ตรงนี้ หน้านี้ ข้างๆ กับอันนี้ ประมาณนี้เลยจริงๆ  ทำอย่างนี้ไปจนกระทั่งถึงวันสอบเลยครับ
 
ชีวิตเด็ก GAT - PAT รุ่นแรก!! ไม่ต่างกับน้องที่ลุ้นคณะเปิดใหม่
          ขอออกตัวก่อนว่าพี่เป็นเด็ก GAT - PAT รุ่นแรกเลยอ่ะ อธิบายความรู้สึกกันยากว่ามันเคว้งคว้างมาก ที่ไม่รู้จริงๆ ว่าคะแนนที่เรามีอยู่นี่เยอะหรือน้อย เปลี่ยนมาเต็มสามหมื่น จากปีก่อนๆ เต็มหมื่นเดียว คูณสามมาเทียบเลยได้ไหมนะ ก็เลยไม่มีใครรู้เลยว่าแนวโน้มคะแนนเป็นอย่างไร คล้ายๆ กับน้องหลายคนที่กำลังเผชิญกับคณะเปิดใหม่ที่ไม่มีแนวโน้ม อันนี้น้องๆ ต้องศึกษาให้ดีนะครับ เสี่ยง แต่ต้องเซฟด้วย ดูคณะเดียวกันในมหาวิทยาลัยอื่นๆ ประกอบว่าช่วงคะแนนเป็นยังไง จะได้เอามาประเมินด้วย
 
ประสบการณ์สัมภาษณ์ รอบแอด VS รอบรับตรง
           ถ้าเป็นรอบแอดนี่สบายๆ ครับ ถามสารทุกข์สุขดิบ ถามความชอบความสนใจ ถามว่ารู้จักกับคณะนี้อย่างไรบ้าง จบแล้วอยากทำอะไร ทำไมถึงเลือก ตอนนั้นจำได้ว่าเหมือนเข้าไปเม้ากับอาจารย์ที่สัมภาษณ์เลยครับ
           ส่วนถ้าเป็นรอบรับตรง ยิ่งที่แบบคัดออกด้วยนี่ต้องเตรียมตัวดีๆ จะโดนถามเกี่ยวกับคณะนั้นๆ ว่าเรารู้จักมากแค่ไหน ถามถึงการทำกิจกรรมที่ผ่านในช่วงมัธยม เค้าจะดูมุมมองเรา ทัศนคติต่อคณะครับ อันนี้คือที่เจอมากับตัวจริงๆนะครับ แต่ละที่อาจจะแตกต่างกันไปครับ
 
เรื่องสุดดราม่าในรั้วมหาวิทยาลัย
           ประโยคที่ว่า "สิ่งที่ง่ายที่สุดในชีวิตมหาวิทยาลัย คือการสอบเข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัยให้ได้" ยังคงเป็นจริงเสมอครับ เพราะชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย ต่างกับชีวิตเด็กมัธยมอย่างสิ้นเชิง ไม่มีใครมาคอยจ้ำจี้จ้ำไช เราต้องจัดการตัวเอง ต้องมีวินัย ต้องรับผิดชอบ เนื้อหาความเข้มข้นแต่ละคณะคงจะแตกต่างกันอยู่แล้วครับ เชื่อว่าทุกคณะก็เข้มข้นตามสไตล์ของตัวเอง
           สำหรับคณะเภสัชฯ นี่ หนักมากกกกก ก กกก กกก กก (ก.ไก่อีกเจ็ดพันสองร้อยตัว) คือเนื้อหาค่อนข้างเยอะครับ งานก็เยอะด้วย แลปอีก คือต้องอดทนมากจริงๆ กล้าพูดเลยว่าอ่านหนังสือสอบมิดเทอม ไฟนอลแต่ละครั้ง หนักกว่าที่อ่านเตรียมสอบแอดมิชชั่นครับ คือช่วงใกล้ๆ สอบไม่ต้องทำอะไร ตั้งแต่ตื่นนอนจนเข้านอน มีแต่หนังสือ วันละมากกว่าสิบชั่วโมง หามรุ่งหามค่ำกันก็มีเยอะแยะ แต่ทั้งหมดนี่มันจะหล่อหลอมให้เราเป็นคนเก่งครับ เราได้ฝึกคิด มีทักษะ มีไอเดีย เพื่อพร้อมจะก้าวออกไปเป็นเภสัชกรที่ดีในอนาคตได้ 
           แต่การเรียนอย่างเดียวคงไม่พอ คนเก่งอย่างเดียวอาจไปไม่รอดในสังคมครับ ต้องเป็นคนดีด้วย ต้องมีเพื่อน มีคอนเนคชั่น และมีทักษะการแก้ปัญหาต่างๆ ซึ่งกิจกรรมจะสร้างให้เราเป็นเช่นนั้นครับ เพราะฉะนั้นถ้าเข้ามหาวิทยาลัยได้แล้ว อย่าเรียนอย่างเดียวนะครับ ต้องทำกิจกรรมควบคู่กันไปด้วย ต้องแบ่งเวลาให้ดีครับ มันถึงจะคุ้มค่ากับการได้เข้ามาใช้ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยครับ ^^
ฝากกำลังใจถึงเด็กแอดมิชชั่น
           ถ้าเป็นเรื่องการสอบ เรื่องคะแนน คงไม่ต้องฝากอะไรมาก เพราะทุกคนทราบอยู่แล้วว่าเราต้องทำคะแนนให้ดีที่สุด แต่เรื่องที่ขอฝากเรื่องการตัดสินใจเลือกคณะครับ น้องๆ ต้องถามตัวเองให้มั่นใจจริงๆ ว่าเราต้องการเข้าคณะไหน เพราะการเรียนในมหาวิทยาลัยนอกจากสมองแล้วยังต้องใช้ใจเรียนด้วย ถ้าใจบอกไม่ใช่ ทำอย่างไรมันก็ไม่ใช่ อย่าฝืน อย่าเลือกเพราะสังคมบอกให้เลือก อย่ากลัวที่จะทำตามความฝันของตัวเอง ไม่มีใครรู้ใจเราเท่าตัวเรา ตัดสินใจให้ดี เพราะก้าวต่อไปจะเป็นก้าวสำคัญ เรากำลังจะก้าวไปสู่เส้นทางที่เราจะต้องเดินไปตลอดชีวิต หากใครยังไม่รู้จักตัวเอง รีบค้นหาด่วนๆ หาข้อมูลแต่ละคณะ ถามรุ่นพี่ ถามอาจารย์ แล้วกลับมาอยู่กับตัวเองเพื่อถามตัวเองว่า ตกลงเราชอบอะไรกันแน่ แล้วเลือกไปตามทางของตัวเอง แล้วเราจะมีความสุขครับ
           ส่วนน้องๆ ที่ยังไม่ได้เลือกคณะในปีนี้ ก็ต้องเตรียมตัวไว้แต่เนิ่นๆ (อย่าเร่งอ่านแบบพี่เลย เหนื่อย 5555) ต้องมีวินัย อดทน จัดลำดับความสำคัญในการใช้ชีวิตว่าอะไรควรทำก่อนหลัง แบ่งเวลาให้ดี และนึกถึงอนาคตเข้าไว้ ที่สำคัญที่สุดอย่าลืมนึกถึงคุณพ่อคุณแม่ที่คอยเอาใจช่วยเราอยู่ คนเรียนมันเหนื่อย แต่คนส่งมาเรียนเนี่ยเหนื่อยกว่านะ จุดเปลี่ยนสำคัญของชีวิตกำลังจะเกิดขึ้นแล้ว อยู่ที่ตัวเราเท่านั้นว่าจะเปลี่ยนไปอย่างไร ทำทุกอย่างให้ดีที่สุด พยายามให้เต็มที่ เราจะได้ไม่ต้องมานึกเสียใจที่หลังที่เรายังทำได้ไม่ดี เป็นกำลังใจให้ทุกความฝันและความพยายามครับ
             นี่แหละค่ะ ตัวอย่างดีๆ อีกคนที่น่าเอาเป็นแบบอย่าง ทุกๆ คณะที่ใฝ่ฝันมีอุปสรรคเสมอแหละ อยู่ที่ว่าเราจะจัดการ แก้ไข และรับมือกับมันอย่างไร ไม่จำเป็นต้องฝืนตัวเองมากมาย แต่เราก็สามารถทำได้ จริงมั้ยล่ะ
             พี่เมษ์ว่าวันนี้เราทิ้งท้ายกันไว้แต่เพียงเท่านี้ก่อนละกันนะ แล้วกลับมาเจอกันใหม่ได้ จะมีไอดอลคนไหนอีก รอลุ้นกับคอลัมน์ Admission Idol ที่เว็บ Dek-D.com กันนะคะ บ๊ายบาย!
พี่เมษ์
พี่เมษ์ - Columnist คอลัมนิสต์ฝ่ายการศึกษา

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

8 ความคิดเห็น

ความคิดเห็นนี้ถูกลบเนื่องจาก

ถูกลบโดยทีมงาน เนื่องจากงดตั้งกระทู้วิจัย โครงงาน หรือใช้พื้นที่เว็บบอร์ดเพื่อการส่งการบ้าน เนื่องจากเป็นการรบกวนผู้ใช้บอร์ดท่านอื่นๆ ขออภัยในความไม่สะดวก

กำลังโหลด
กำลังโหลด
Ffgggbbb 27 พ.ค. 58 16:48 น. 3
กรุณาิย่าพาดหัวเรื่องเเบบ ที่นำไปสู่การเข้าใจผิดนะคะ เรื่องนี้ก็บอกอยู่เเล้วว่ามีการเตรียมตัว pat 2 เเละยังเป็นวิชาที่ชอบอีกด้วย คนที่อ่านเเละคิดวิเคราะห์ไม่เป็นจะเชื่ิเอาง่ายๆนะคะ เเย่มากๆ พิจารณาตัวเองใหม่นะคะ
0
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด

ความคิดเห็นนี้ถูกลบเนื่องจาก

ถูกลบโดยทีมงาน เนื่องจากงดตั้งกระทู้วิจัย โครงงาน หรือใช้พื้นที่เว็บบอร์ดเพื่อการส่งการบ้าน เนื่องจากเป็นการรบกวนผู้ใช้บอร์ดท่านอื่นๆ ขออภัยในความไม่สะดวก

กำลังโหลด
กำลังโหลด