ม.6 เข้าใจด่วน! 5 ความเหมือนหรือต่าง ของรับตรง - แอดมิชชั่น!

          สวัสดีค่ะน้องๆ เด็กแอดฯ 59 วันนี้พี่มิ้นท์จะมาเคลียร์ข้อสงสัยเกี่ยวกับ "รับตรง" และ "แอดมิชชั่น" ที่หลายคนยังมีคำถามคาใจ ว่าเหมือนหรือต่างกันยังไง ถ้าสมัครรับตรงไปแล้ว จะแอดมิชชั่นได้มั้ย หรือการที่เรียกตัวเองว่าเด็กแอดมิชชั่น จะสมัครรับตรงได้หรือเปล่า ลองมาทำความเข้าใจไปพร้อมๆ กันค่ะ
    

 

         ก่อนอื่นต้องบอกน้องๆ ให้เห็นภาพรวมการสอบเข้ามหาวิทยาลัยในปัจจุบันก่อน จะแบ่งออกเป็น 2 ระบบใหญ่ๆ คือ ระบบรับตรง/โควตา และระบบแอดมิชชั่นกลาง

              ระบบรับตรง/โควตา คือ ระบบการสอบเข้าที่มหาวิทยาลัยเป็นเจ้าภาพในการรับสมัคร ซึ่งชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าเป็นรับตรง ดังนั้นตั้งแต่ขั้นตอนการสมัคร สัมภาษณ์ ประกาศผล มหาวิทยาลัยจะกำหนดเองทั้งหมด เช่น รับตรง KU Admission - มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จะเป็นคนประกาศรับสมัคร และดำเนินการรวบรวมคะแนน สัมภาษณ์ และประกาศผล ผ่านเว็บไซต์ของโครงการนั่นเอง

              ระบบแอดมิชชั่นกลาง คือ ระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่มีหน่วยงานกลางเป็นเจ้าภาพ นั่นก็คือ สอท.  สามารถเลือกคณะ/มหาวิทยาลัยได้ 4 อันดับ จะเลือกคณะไหน มหาวิทยาลัยใดก็ได้ในประเทศไทย แล้วระบบจะรวบรวมเอาคะแนน GPAX, O-NET, GAT, PAT ของน้องๆ มาคำนวณคะแนนตามสัดส่วนของคณะที่ยื่นคะแนน แล้วประกาศผลครั้งเดียวพร้อมกันทั่วประเทศ
  
     มาดูเปรียบเทียบกันด้านต่อด้านระหว่างรับตรง-แอดมิชชั่นกลาง กันต่อเลยค่ะ

   ► ข้อสอบ
         รับตรง : ข้อสอบที่ใช้รับตรงมี 3 รูปแบบใหญ่ๆ คือ
             1. ใช้คะแนนสอบที่มหาวิทยาลัยสอบเอง มีชื่อเรียกหลากหลาย เช่น "วิชาเฉพาะ" "วิชาความถนัด"  แต่บางที่ก็เรียก "วิชาสามัญ" อย่าไปสับสนกับ 9 วิชาสามัญของ สทศ. นะคะ คนละตัวค่ะ
              2. ใช้คะแนนสอบกลางจาก สทศ. คือ ใช้ 9 วิชาสามัญ และ GAT PAT ซึ่งสัดส่วนการใช้คะแนนแต่ละมหาวิทยาลัยจะไม่เท่ากัน แม้จะเป็นคณะเดียวกันก็ตาม จะเข้าคณะไหน มหาวิทยาลัยไหน ต้องอ่านระเบียบการโครงการนั้นเท่านั้นนะจ๊ะ
              3. รับตรงที่ใช้คะแนนเสริมอื่นๆ เช่น รับตรงคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ม.ธรรมศาสตร์ ใช้คะแนน SMART-I หรือรับตรงหลักสูตรนานาชาติ มักจะใช้คะแนนทดสอบภาษาอังกฤษ เช่น IELTS, TOEFL, CU-TEP และใช้คะแนนทดสอบคณิตศาสตร์ เช่น CU-AAT, SAT-I ข้อสอบพวกนี้ เราต้องตามสอบกันเองนะคะ
         ทีนี้รับตรงก็ไม่กำหนดเสมอไปว่า จะใช้คะแนนสอบอันใดอันหนึ่งเท่านั้น บางโครงการก็มีการมิกซ์แอนด์แมทซ์ ใช้ทั้งคะแนนจาก สทศ. + สอบเอง
 
        แอดมิชชั่นกลาง : ข้อสอบแอดมิชชั่นตายตัว จะใช้องค์ประกอบที่เป็นคะแนนสอบแค่ 3 อย่างเท่านั้น คือ O-NET, GAT, PAT จัดสอบโดย สทศ. เจ้าเก่า ดังนั้น เด็ก ม.6 ทุกคนต้องไม่พลาดสอบ GAT PAT เพราะได้ใช้แน่นอนค่ะ
        
  
ค่าใช้จ่าย
        รับตรง : ถ้าพูดกันตามตรง รับตรงเราต้องจ่ายกันเยอะ ค่าสมัครมีตั้งแต่ 100 ไปจนถึงหลักพัน (ส่วนใหญ่จะอยู่ที่ประมาณ 300-500 บาท/โครงการ) ยิ่งสมัครเยอะ ยิ่งต้องจ่ายแพงค่ะ นี่แค่ค่าสมัครอย่างเดียวนะ หากโครงการไหนใช้คะแนน 9 วิชาสามัญหรือ GAT PAT ก็ต้องไปสมัครแยกต่างหากอีกค่ะ
        แอดมิชชั่นกลาง : ค่าใช้จ่ายจะถูกกว่าค่อนข้างเยอะ เพราะจ่ายรอบเดียวจบ คร่าวๆ คือ แบ่งเป็นค่าสมัครแอดมิชชั่น และค่าสมัครสอบ
              - ค่าสมัครแอดมิชชั่น อยู่ที่ 100-250 บาท (สมัครอันดับแรก 100 บาท อันดับถัดไปอันดับละ 50 บาท เลือกได้สูงสุด 4 อันดับ)
              - ค่าสมัครสอบ ที่จำเป็นมีแค่ GAT PAT เท่านั้น ตกวิชาละ 140 บาท สมัครกี่วิชาก็คูณเข้าไปได้เลย ปีนึงสมัครได้สอบได้สองครั้ง
        ดังนั้นถ้าดูภาพรวม ค่าใช้จ่ายในแอดมิชชั่นถูกกว่าเยอะค่ะ ถ้าอยากประหยัดมากขึ้น พี่มิ้นท์แนะนำให้เลือกรับตรงที่ใช้คะแนน GAT PAT และ 9 วิชาสามัญ เราจะได้สมัครเพียงครั้งเดียวแล้วใช้คะแนนนี้ ยื่นสมัครได้ทุกที่ค่ะ
    
    
► จำนวนรอบที่เปิดรับ
         รับตรง : มีตั้งแต่เปิดรับ 1 รอบ ไปจนถึง 4 รอบ เช่น รับตรงทั่วประเทศ ม.วลัยลักษณ์ เปิดรับ 4 รอบ/ปี, เภสัชศาสตร์ ม.ศิลปากร เปิดรับ 2 รอบ/ปี, รับตรงทั่วประเทศ ม.บูรพา เปิดรับ 2 รอบ/ปี ซึ่งเราสามารถเลือกสอบได้ว่าจะสอบรอบไหน สอบไม่ติดรอบแรกก็สอบรอบต่อไปได้ แต่ทุกครั้งที่สมัครก็จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเป็นเงาตามตัว (รับตรงบางโครงการเปิดรับแค่รอบเดียว แต่ถ้าได้ไม่ครบ อาจเปิดรอบพิเศษเพิ่มได้ค่ะ)
        แอดมิชชั่นกลาง : เป็นหนทางสอบเข้ามหาวิทยาลัยด่านสุดท้าย (ถ้าไม่นับรับตรงหลังแอดฯ) แอดมิชชั่นกลางมีแค่รอบเดียวเท่านั้น และจัดพร้อมกันทั้งประเทศ ถ้าพลาดแล้วพลาดเลย แต่หาแผนสำรองอื่นๆ ได้ เช่น สอบรับตรงหลังแอดฯ หรือ สมัครในมหาวิทยาลัยที่เปิดรับสมัครอยู่

     ► ช่วงเวลารับสมัคร
           รับตรง : แต่ละปีมีรับตรงหลายร้อยโครงการ อัพเดทกันทุกวัน ซึ่งจะทยอยมาเรื่อยๆ ตลอดทั้งปีค่ะ ตั้งแต่น้องๆ เริ่มขึ้น ม.6 เลยทีเดียว จะเห็นว่านี่เพิ่งเดือน กรกฎาคม มีรับตรงของปี 2559 มาหลายโครงการแล้ว ก็ค่อยๆ เลือก ค่อยๆ ดูกันไปนะ ใครสมัครหลายโครงการ อย่าลืมจดไว้ด้วยนะ เดี๋ยวจะสับสนได้ เคยมีเหตุการณ์ไปผิดสนามสอบ เพราะจำสนามสอบผิดก็มี
          แอดมิชชั่นกลาง : เปิดรับสมัครแค่ปีละ 1 ครั้ง จัดขึ้นในช่วงเดือนพฤษภาคม รับสมัครประมาณ 10 วันเท่านั้น  และประกาศผลช่วงเดือนมิถุนายน
 

 

    ► การสัมภาษณ์
          รับตรง : ขึ้นชื่อว่าโหด สัมภาษณ์แล้วคัดออก เพราะต้องการคนเก่งจริงๆ ตัดจนเหลือจำนวนที่ประกาศรับ (บางทีประกาศรับ 50 คน เรียกมา 200 คน!!) Portfolio จึงเป็นตัวช่วยสำคัญที่ทำให้เราโดดเด่นกว่าคนอื่น
          แอดมิชชั่นกลาง : สัมภาษณ์แบบสบายๆ เน้นทำความรู้จักกันระหว่างอาจารย์-นักเรียน ไม่มีการคัดออก (แต่อาจจะมีกรณีคุณสมบัติไม่ผ่าน อาจปรับตกได้) แต่โดยรวมชิวกว่าสอบสัมภาษณ์รับตรงมากค่ะ

   ► สรุปจุดเด่น-จุดด้อย ของรับตรง-แอดมิชชั่นกลาง
          จุดเด่น รับตรง คือ มีรับตรงหลากหลายคณะและหลายประเภท เช่น มีโควตาเรียนดี โควตาคุณธรรม ฯลฯ ถ้าสอบติดแล้วก็ค่อนข้างสบายใจว่ามีที่เรียน แต่ถ้าสอบไม่ติด ก็สามารถไปรอรอบแอดมิชชั่นกลางได้ และได้ฝึกประสบการณ์สอบในสนามสอบจริง
         
จุดด้อย รับตรง หลักๆ คือเรื่องค่าใช้จ่าย ทำให้เกิดปัญหาเรื่องความไม่เท่าเทียมกันในการสอบ นอกจากนี้อาจจะมีข้อจำกัดเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น จังหวัดที่รับสมัคร, เกรดขั้นต่ำในการสมัคร เป็นต้น
    
        
จุดเด่น แอดมิชชั่นกลาง คือ เปิดรับทุกมหาวิทยาลัย และรับเยอะ หากได้นักเรียนไม่ครบในรอบรับตรง ก็จะมาเพิ่มในรอบแอดมิชชั่นกลางอีก และมีเวลาเตรียมตัวนานเกือบปีเลยทีเดียว ทำให้ค่อยๆ คิดได้ว่าอยากเรียนคณะอะไร
        
จุดอ่อน แอดมิชชั่นกลาง คือ อาจจะเครียดกว่า คู่แข่งเยอะ และโดนคนรอบข้างกดดันมากกว่า เพราะเป็นการคัดเลือกระดับ "ประเทศ" และอาจจะมีบางคณะที่ไปเน้นรับตรงมากกว่า เช่น กลุ่มคณะสถาปัตย์ เป็นต้น
    
       ทั้งหมดนี้ก็เป็นข้อแตกต่างที่สังเกตได้ของรับตรงและแอดมิชชั่นกลางค่ะ ถ้าถามว่ารับตรงหรือแอดมิชชั่น อันไหนยากกว่ากัน คงตอบให้ไม่ได้นะ เพราะขึ้นอยู่กับความพร้อมมากกว่า และความยากก็ไม่ได้อยู่แค่เรื่องวิชาการ แต่ยังเป็นเรื่องการตัดสินใจของตัวเองด้วย ดังนั้นมองสองระบบนี้ให้เป็นทางเลือกในการพาน้องๆ ไปสู่ความสำเร็จดีกว่า เข้าระบบไหนก็ภูมิใจทั้งนั้นค่ะ
พี่มิ้นท์
พี่มิ้นท์ - Columnist พี่สาวใจเย็น ผู้เกิดมาในแอดมิชชั่นยุคแรก แต่เข้าใจ TCAS มากกว่า

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

4 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
peace22 27 ก.ค. 58 16:41 น. 2
มีคำถามหนึ่งค่ะ หากว่าระเบียบการรับตรงของมหาวิทยาลัยหนึ่งบอกมาว่ารับเฉพาะเด็กวิทย์ แสดงว่ารอบแอดฯก็เช่นกันใช่ไหมคะ เด็กศิลป์ก็ไม่สามารถสามารถได้แม้รอบแอดใช่ไหมคะ สงสัย
1
กำลังโหลด
กำลังโหลด
ขอติดเถอะ 4 พ.ย. 58 20:05 น. 4
แอด ไม่ใช้ 9วิชาสามัญใช่ไหมคะ เอิ่ม อินี่ลงทำไม **ถามค่ะ ถ้าบางมหาวิทยาลัย ขออนุญาติพูดชื่อสถาบันเลยนะคะ คณะศึกษาศาสตร์ สาขาการสอนภาษาจีน มหาวิทยาลัยศิลปากร ปีนี้รับตรงช้ามากอะค่ะ ประกาศผู้ที่ผ่านการรับตรงก็วันที่24มิ.ย.แล้ว มันไม่ส่งผลกระทบอะไรกับแอดใช่ไหมคะ แอดมิชชั่นคือถ้าสทศ.เปิดให้สมัครเมื่อไหร่ก็สมัครตอนนั้น ไม่เกี่ยวอะไรกันใช่มั้ยคะ
0
กำลังโหลด
กำลังโหลด