สวัสดีค่ะน้องๆ กลับมาพบกับชั้นเรียนพิเศษ Dek-D's Admission Class เรียนวิชาสนุกๆ เทคนิคเจ๋งๆ พร้อมกันที่นี่เลย ก่อนอื่นต้องขอสวัสดี และต้อนรับอาจารย์ประจำคลาสในวันนี้ก่อน "ครูทอม จักรกฤต โยมพยอม" ค่ะ


 
        ครูทอมเป็นอาจารย์พิเศษประจำวิชาภาษาไทย และ GAT เชื่อมโยง เชื่อว่าน้องๆ หลายคนคงรู้จักในนาม "ครูทอม คำไทย" ครูภาษาไทยบนโลกทวิตเตอร์ที่มีผู้ติดตามนับแสนคน!!! น้องบางคนอาจเคยเห็นครูทอมทางหน้าจอทีวี เพราะมีรายการสอนภาษาไทยติดต่อกันมากมายเหลือเกิน ผลงานล่าสุดก็รายการ “ภาษาไทยไม่ดาร์กไซด์” ออกอากาศทาง VRZO channel นั่นเองค่ะ สนใจก็ตามไปกดดูกันได้เลยนะคะ แต่ตอนนี้เรามาเข้าชั้นเรียนกันก่อนดีกว่า

        วันนี้ ครูทอม มาพร้อมกับหัวข้อพิเศษ "เทคนิคมองความสัมพันธ์ในข้อสอบ GAT วิเคราะห์เชื่อมโยง" ความสับสนเวลาทำข้อสอบจะหมดไป เมื่อน้องๆ รู้หลักการวิเคราะห์ ถ้าพร้อมแล้วก็ไปเรียนกันเลย


หลักการเรียนรู้ GAT เชื่อมโยง ด้วยวิธี "ตั้งคำถาม"

        น้องๆ นักเรียนบางคนมักกล่าวว่า "GAT เชื่อมโยง" ยากมากซับซ้อนมาก พอมีความคิดว่ายากเลยไม่อยากพยายาม โดยปกติเวลาเราเห็นอะไรยากๆ แล้วเรายิ่งคิดไปว่ายาก มันก็จะยากสำหรับเราจริงๆ ครับ เราลองปรับมุมมองใหม่ อย่าไปคิดว่ามันยาก คิดซะว่าไม่ยากเท่าไรนักหรอก ค่อยๆ เปิดใจ ค่อยๆ ทำความเข้าใจไปทีละนิด โดยการ "ตั้งคำถาม" จากสิ่งเหล่านี้ก่อน

         ๐ ลักษณะข้อสอบเป็นอย่างไร
         ๐ จุดมุ่งหมายของข้อสอบคืออะไร
         ๐ ทำอย่างไรถึงจะได้คำตอบแต่ละคำตอบ
         ๐ แต่ละรหัส A D F และ 99H ต่างกันอย่างไร
         ๐ ทำความเข้าใจลักษณะความสัมพันธ์แต่ละรหัส
         ๐ จะถอดรหัสอย่างไร


         ตัวอย่างเช่น
01 ส่งผลให้เกิด 02
                         ข้อ 01 จึงต้องตอบว่า 02A ไม่ใช่ตอบ 01A ในข้อ 02


         คือน้องบางคนนะครับ อ่านบทความรู้เรื่องเข้าใจเป๊ะๆ พอต้องวาดแผนผังลากเส้นเชื่อมโยงก็ทำได้นะ แต่พอต้องถอดรหัสเป็นตัวเลขกับตัวอักษรนี่เกิดงงขึ้นมา เขียนผิดเขียนถูกซะงั้น น้องๆ ต้องพยายามท่องความสัมพันธ์ในหัวให้ชินด้วยนะครับว่า
            
         01 ส่งผลให้เกิด 02 ดังนั้น 01 ตอบ 02A
         01 ประกอบด้วย 02 ดังนั้น 01 ตอบ 02D
         01 ยับยั้ง           02 ดังนั้น 01 ตอบ 02F


เทคนิคมองความสัมพันธ์ วิเคราะห์ "GATเชื่อมโยง" ให้ถูกจุด!!!

         การวิเคราะห์ GAT เชื่อมโยงไม่ยาก แค่ต้องอ่านให้ละเอียด ขณะทำข้อสอบหากน้องๆเกิดความสับสน จับทางไม่ถูกขึ้นมาว่าจะวิเคราะห์เชื่อมโยงแบบไหน น้องต้องช่วยตัวเองโดยการอ่านอย่างละเอียดอีกครั้งหนึ่งแล้วค่อยๆ ทำความเข้าใจทีละส่วน เพราะในบทความเองจะใช้ภาษาที่ชัดเจนอยู่แล้วว่าสัมพันธ์กันอย่างไร ลองมองหรือสังเกตคำเชื่อมต่างๆที่พอจะช่วยเราได้บ้างครับ แต่เหนือสิ่งอื่นใดที่น้องควรจะทำคือ

เทคนิค "มองความสัมพันธ์" ประการแรก

         1. อ่านให้ละเอียดรอบคอบ
         2. อ่านให้จบวรรค
         3. อ่านให้จบย่อหน้า
         4. อ่านแล้วทำความเข้าใจให้ถ่องแท้
         
         มาดูตัวอย่างของน้องบางคนที่อ่านไม่ทันจบประโยคก็ตอบแล้ว แบบนี้โอกาสจะทำข้อสอบผิดมีมากเลยนะครับ

         "ความเสียหาย" ดังกล่าวทำให้ "การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ" ของประเทศในกลุ่มนี้ที่กำลังเริ่มดีขึ้นกลับลดลง

         ข้อความที่กำหนดให้คือ
         01    ความเสียหาย
         02    การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ

         บางคนอ่านไม่รอบคอบก็อ่านไปถึงแค่ว่า “ความเสียหาย" ดังกล่าวทำให้ "การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ” พอเจอ “ทำให้” ก็เลยเข้าใจไปว่า 01 ส่งผลให้เกิด 02 แล้วก็ตอบในข้อ 01 ว่า 02A
         กรณีนี้ถ้าอ่านละเอียดๆ ไม่รีบด่วนตัดสินใจ อ่านให้จบประโยค น้องๆจะเจอ “ลดลง” อยู่ข้างหลัง
         “ความเสียหาย" ดังกล่าวทำให้ "การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ" ของประเทศในกลุ่มนี้ที่กำลังเริ่มดีขึ้นกลับ "ลดลง” พอเจอแบบนี้เราก็จะเห็นครับว่า 01 ไปลด-ยับยั้ง 02 ข้อ 01 ก็เลยต้องตอบว่า 02F ฉะนั้นต้องมองความสัมพันธ์ให้ออก มองให้ละเอียดรอบคอบนะครับ


เทคนิค "มองความสัมพันธ์" ประการที่สอง

         หาข้อความที่กำหนดให้ครบ

         น้องบางคนเข้าใจความสัมพันธ์ทุกอย่างแจ่มแจ้งแต่ลองทำข้อสอบแล้วไม่ได้เต็ม ซึ่งสาเหตุหลักก็มาจากการ “หาไม่ครบ” นั่นเองครับ


         หาไม่ครบในที่นี้ หมายถึงข้อความที่กำหนดมาให้ในตาราง ถ้าน้องๆหาเจอทั้งหมดว่าซ่อนอยู่ตรงไหนบ้างในบทความ เราก็จะสามารถเชื่อมโยงทุกข้อความได้ครบถ้วน ต้องดูดีๆครับว่าข้อความที่กำหนดมาประเด็นสำคัญคืออะไร

         บางครั้งเราเจอในบทความเป็นข้อความที่เขียนคนละอย่างกัน แต่ถ้าความหมายเหมือนกันกับข้อความที่อยู่ในตาราง ก็คืออย่างเดียวกันนั่นแหละครับ บางครั้งเราจะเจอข้อความที่เขียนคล้ายๆกัน แต่พอลองอ่านดูดีๆแล้วไม่เหมือนกันก็คือคนละอันกันครับ อย่าลืมว่าต้องฝึกทำบ่อยๆ
ด้วยนะครับ ทำจนมั่นใจ รับรองว่า 150 เต็ม ไม่หนีไปไหนอย่างแน่นอนครับ

เทคนิคเสริม!!! ฝึกจับใจความสำคัญ GAT เชื่อมโยง
(หากซ้อมทำข้อสอบ GAT วิเคราะห์แล้วงงจนปวดหัว ครูทอมมีวิธีแนะนำ)

         การฝึกทำข้อสอบเก่าเยอะๆเป็นเรื่องดีครับ เพราะทำให้เราเห็นแนวทางการตั้งโจทย์ที่หลากหลาย เหมือนที่ภาษิตโบราณบอกไว้ว่า “รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง” ไงครับ ยิ่งเราเห็นเยอะ เราก็จะสามารถวิเคราะห์ จับจุดได้ง่าย

         แต่อย่าลืมว่าร่างกายคนเราไม่ได้ทนทานเหมือนเครื่องจักรนะครับ เราทุ่มเทเต็มที่กับการทำข้อสอบเก่าๆได้แต่ก็อย่าลืมพักผ่อนด้วยนะครับ ไม่ใช่ว่าหักโหมจนร่างกายไม่ไหวแล้วส่งผลจนคิดไปเองว่า “ยิ่งทำเยอะยิ่งปวดหัว” ถ้าใครเจอแบบนี้ ครูทอมคิดว่าไม่ได้ปวดหัวเพราะข้อสอบมันซับซ้อนหรอกครับ แต่ปวดหัวเพราะร่างกายไม่ไหวมากกว่า

         ครูทอมว่าถ้าเราเข้าใจแจ่มแจ้งจริงๆเนี่ย ไม่ว่าข้อสอบมันจะมีจำนวนมากแค่ไหน ก็ไม่ได้เกินความสามารถของเราอยู่แล้วจริงไหมครับ แต่ไหนๆก็ไหนๆแล้ววันนี้ครูทอมพกพาเทคนิคเสริมมาด้วย จะเป็นอย่างไรมาดูกันเลยดีกว่า


วิเคราะห์ GAT เชื่อมโยงด้วย "หนังสือดีๆ"

         ข้อสอบ GAT เชื่อมโยง เป็นข้อสอบที่วัดทักษะการอ่านจับใจความครับ ว่ากันตามตรงนะครับ ถ้าน้องๆเป็นคนที่รักการอ่านมาโดยตลอด ข้อสอบ GAT วิเคราะห์เชื่อมโยงจะง่ายมากเลยครับ เพราะเราอ่านหนังสือมาเยอะ มีประสบการณ์ด้านการอ่านมาเยอะ ไม่ว่าจะต้องอ่านอะไร น้องๆก็สามารถเข้าใจเนื้อหาต่างๆ ได้ไม่ยาก แต่สิ่งที่เราเลือกอ่านต้องเป็น "หนังสือที่ดี" ด้วยนะครับ

          หนังสือที่ดีในที่นี้หมายถึงหนังสือที่ใช้ภาษาได้ดี มีคำเชื่อมถูกต้องเหมาะสม ครูทอมต้องเน้นย้ำเรื่อง “หนังสือดี” เพราะเดี๋ยวนี้เห็นเยอะเลยครับว่าหนังสือที่นักเรียนหลายคนชอบอ่าน เป็นหนังสือนิยายที่ใช้ภาษาแปลกๆ ไม่สละสลวย บางครั้งไม่ได้มีการใช้คำเชื่อมที่เหมาะสม พออ่านหนังสือแบบนี้เยอะๆ เราก็จะคุ้นเคยกับภาษาแบบนั้น ทำให้เวลาที่ไปอ่านหนังสือที่ใช้ภาษาดีๆ ก็จะส่งผลให้เข้าใจเนื้อความได้ช้าหรืออาจจะไม่เข้าใจเลยก็เป็นได้ครับ

         ตรงนี้ครูทอมเลยขอฝากถึงน้องๆ ม.ต้น หรือน้อง ม.4 ม.5 นะครับว่า ให้หาโอกาสอ่านหนังสือดีๆ บทความดีๆ ให้มากๆหน่อยครับ ถ้าไม่ชอบอ่านนวนิยายก็ลองอ่านพวกบทความในนิตยสารที่มีชื่อเสียงหน่อย เพราะว่าส่วนใหญ่จะใช้ภาษาได้ดีครับ


แนะนำหนังสือโดย ครูทอม คำไทย

         ๐ นิยายของป้าอี๊ด ชมัยภร แสงกระจ่าง
         นิยายของป้าอี๊ดหลายๆเรื่องมีตัวละครเอกรุ่นราวคราวเดียวกับน้องๆนี่แหละครับ นอกจากใช้ภาษาดีงามมากๆ แล้ว เนื้อหายังเป็นประโยชน์มากอีกด้วย
หรือถ้าใครชอบอ่านแนวสืบสวนสอบสวน
 
         ๐ นิยายแนวสืบสวนสอบสวนของพี่ปราบต์
         เรื่อง “กาหลมหรทึก” ใครชอบแนวสืบสวน ห้ามพลาดเล่มนี้เลยครับ
         
         ๐ บทความนิตยสารแนวให้ความรู้ เช่น A Day Secret คู่สร้างคู่สม กุลสตรี ขวัญเรือน สกุลไทย อสท. เพื่อนเดินทาง ฯลฯ
         ส่วนนี้มอบให้สำหรับน้องๆ ม.6 โดยเฉพาะเลยครับ อยู่ ม.6 แล้ว จะให้ไปเร่งอ่านหนังสือดีๆ บทความดีๆ อย่างที่ครูทอมแนะนำก็ดูท่าจะเป็นไปได้ยากเย็นนะครับ ครูทอมเลยอยากให้น้องๆ ลองอ่านบทความในนิตยสารเหล่านี้ แล้วดูซิว่าเราเข้าใจเรื่องทั้งหมดหรือเปล่าว่าในบทความนั้นคนเขียนเขาเล่าอะไร ใคร ทำอะไร อย่างไร ส่งผลต่ออะไรบ้างหรือไม่

         ถ้าน้องๆ เข้าใจประเด็นต่างๆ อย่างแจ่มแจ้ง ก็ไม่ใช่เรื่องต้องหนักใจเวลาทำข้อสอบ GAT วิเคราะห์เชื่อมโยงครับ นิตยสารเหล่านี้ครูทอมมั่นใจว่าบรรณาธิการได้ตรวจสอบมาเป็นอย่างดีว่าบทความต่างๆ มีคุณภาพมากพอที่จะตีพิมพ์ได้ ฉะนั้นไม่ต้องกังวลเลยครับ

วิเคราะห์ GAT เชื่อมโยงด้วย
"ข้อสอบที่หลากหลาย"

         ทราบมาว่าน้องๆ บางคนได้ลองนำข้อสอบวิชาเฉพาะแพทย์มาฝึกทำ ครูทอมคิดว่าไม่ใช่เรื่องเสียหายเลยครับถ้าใครจะหามาทำ เพราะการที่เรามีโอกาสได้ลองทำข้อสอบที่สลับซับซ้อนกว่า หลากหลายกว่า ก็ย่อมเป็นสิ่งที่จะทำให้เราได้ฝึกฝนทักษะการทำข้อสอบ GAT วิเคราะห์เชื่อมโยงด้วยกันทั้งนั้น เวลาทำข้อสอบจริงๆก็อาจจะรู้สึกว่ามันง่ายกว่าที่เคยฝึกมาก็เป็นได้ครับ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับแต่ละคนด้วยนะครับว่าฝึกทำข้อสอบเยอะๆแล้วตัวเองพัฒนามากขึ้นแค่ไหน

         แต่ละคนมีทักษะแตกต่างกันครับ ครูทอมเชื่อว่าเราทุกคนพัฒนาได้ คนที่ไม่เก่งก็พัฒนาให้ตัวเองเก่งได้ คนที่เก่งแล้วก็พัฒนาให้เก่งอีกได้ ขอแค่ตั้งใจจริงๆ เรื่องยากก็จะกลายเป็นเรื่องง่ายได้สบายๆเลยครับ

 

 
ความในใจจาก "ครูทอม คำไทย"

         น้องๆ อย่าคิดว่าข้อสอบ GAT วิเคราะห์เชื่อมโยงเป็นข้อสอบที่ไร้สาระนะครับ ครูทอมมองว่าข้อสอบนี้เป็นข้อสอบที่ดีมากทีเดียว เพราะว่าเป็นสิ่งหนึ่งที่ช่วยกระตุ้นให้น้องๆทุกคนได้อ่านหนังสือที่ดีและรู้จักคิดวิเคราะห์

         ปัจจุบันนี้มีนิสิตนักศึกษาหลายคน รวมทั้งบัณฑิตที่เพิ่งจบใหม่จำนวนมาก ขาดทักษะด้านการคิดวิเคราะห์ ซึ่งส่งผลต่อการสื่อสาร เวลาติดต่อธุระการงานก็ไม่ค่อยจะรู้เรื่องเท่าไหร่ เพราะบางครั้งเขามองไม่ออกว่าปัญหาต่างๆนั้นเกิดจากอะไร หรือสิ่งนี้จะส่งผลต่อสิ่งอื่นอย่างไรบ้าง ถ้าได้ฝึกทำข้อสอบ GAT วิเคราะห์เชื่อมโยง ก็จะช่วยพัฒนาทักษะด้านการสื่อสารได้เป็นอย่างดีครับ

         สอบ GAT วิเคราะห์เชื่อมโยงเสร็จเรียบร้อยแล้วก็อย่าเลิกอ่านหนังสือดีๆนะครับ เพราะหนังสือดีๆนี่แหละจะช่วยให้เราใช้ภาษาได้ดีตามไปด้วยครับ บางคนอาจจะบอกว่าปกติอ่านตามเว็บไซต์อยู่แล้ว แต่อย่าลืมนะครับว่าการโพสต์ขึ้นเว็บไซต์มันง่ายกว่าการตีพิมพ์เป็นหนังสือ กระบวนการคัดกรองเนื้อหาและภาษาบนเว็บไซต์ก็ไม่เข้มงวดเท่าหนังสือที่พิมพ์ออกมาเป็นเล่ม

         ถ้ามีโอกาสก็หยิบหนังสือดีๆ มาอ่านด้วยนะครับ หากน้องๆ รู้จักนำทักษะเหล่านี้มาพัฒนาต่อ น้องๆ จะเป็นคนเก่งที่เปี่ยมประสิทธิภาพมากๆ คนหนึ่งเลยทีเดียวครับ ครูทอมขอเป็นกำลังใจให้น้องๆ ทุกคนนะครับ



         เป็นไงบ้างคะได้กำลังใจและมุมมองในการทำข้อสอบ GAT เชื่อมโยงจากครูทอมไปแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วยเลยใช่มั้ย พี่เมก้าต้องขอขอบคุณครูทอมมา ณ ที่นี้ด้วยนะคะ

         พบกันใหม่ใน Class หน้า สวัสดีค่ะ :)
 
พี่เมก้า
พี่เมก้า - Columnist นักข่าวสายการศึกษา ที่มีความสุขกับการแต่งฟิค อ่านฟิค เพ้อถึงยัมมี่ฟู้ดไปวันๆ

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

9 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด

ความคิดเห็นนี้ถูกลบเนื่องจาก

ถูกลบโดยทีมงาน เนื่องจากงดตั้งกระทู้วิจัย โครงงาน หรือใช้พื้นที่เว็บบอร์ดเพื่อการส่งการบ้าน เนื่องจากเป็นการรบกวนผู้ใช้บอร์ดท่านอื่นๆ ขออภัยในความไม่สะดวก

กำลังโหลด
กำลังโหลด