สวัสดีค่ะ อีกแค่เดือนกว่า ๆ ก็จะสอบวิชาสามัญกันแล้ว พี่แป้งเชื่อว่าหลายคนคงเตรียมตัวมาในระดับนึงแล้วล่ะ เพราะว่าผ่านสนามสอบ GAT PAT รอบแรกมาแล้ว แต่ก็ประมาทไม่ได้นะคะ ถึงแม้ว่าวิชาสามัญจะใช้แค่ในรอบรับตรง แต่ก็ใช้ในสัดส่วนที่สูงพอตัวเลยทีเดียว

          มันดีกว่าแน่ถ้าเราได้รู้แนว ๆ ของข้อสอบว่าเป็นอย่างไร หลังจากที่เรารู้ไปแล้วว่า ข้อสอบแต่ละวิชาออกเรื่องอะไรบ้าง ถ้าใครยังไม่รู้ก็ดูได้เลยที่ (บทความ) นอกจากเองเนื้อหาแล้วเราต้องรู้ด้วยว่าแนวข้อสอบเป็นแบบไหน ยากง่ายอย่างไร เวลาไปทำจริงจะได้รับมือถูก ซึ่งก็มีรุ่นพี่จากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ มาเผยแบบหมดเปลือกเลยของข้อสอบวิชาสามัญปีล่าสุด เราไปพบกับพี่เขาเลยดีกว่าค่ะ


 


พี่แป้ง : สวัสดีค่ะ แนะนำตัวเองก่อนเลย :)
พี่เนส : สวัสดีครับ พี่ชื่อ พี่เนส ศุภวิชญ์ ปานไพรศล นะครับ ตอนนี้ศึกษาอยู่คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชั้นปีที่ 2 ครับ


พี่แป้ง : แนวข้อสอบวิชาสามัญที่ไปสอบมาเป็นแบบไหนบ้างคะ เล่าให้น้องๆ ฟังหน่อย
พี่เนส : ตอนนั้นพี่ไปสอบครบทั้ง 7 วิชาเลยครับ เพราะว่าเอาไว้สมัครเข้าคณะแพทยศาสตร์ เอาเป็นว่าพี่ขอแบ่งทีะวิชาเลยดีกว่า เริ่มที่วิชาที่ง่ายที่สุด (หรอ?) อย่างคณิตศาสตร์ละกัน ฮ่า ๆ


>> คณิตศาสตร์ (Mathematics)
ลักษณะข้อสอบ : ปรนัย 5 ตัวเลือก 1 คำตอบ 20 ข้อ + อัตนัย 10 ข้อ
คะแนน : ปรนัย 80 คะแนน + อัตนัย 20 คะแนน (ถ้าปรนัยผิดนี่ คะแนนหายวับเลยนะ T_T)
คะแนนเฉลี่ย : ปรนัยข้อละ 4 คะแนน + อัตนัยข้อละ 2 คะแนน
เวลา : ข้อละ 3 นาที


          จากประสบการณ์ที่ผ่านมาพบว่า วิชาคณิตศาสตร์ในวิชาสามัญ ข้อเขียนมันง่ายกว่าข้อกาครับน้อง ลองหาข้อสอบเก่าๆดูจะเห็นได้ว่าข้อเขียนค่อนข้างง่ายกว่าข้อกาชัดเจนทีเดียว เพราะฉะนั้น อย่าพึ่งไปกลัวมันเพราะแค่ว่ามันไม่มีตัวเลือก บางข้อนี่แทบปาคะแนนเข้าหน้าเลยนะครับ

ลักษณะข้อสอบ
      - ข้อสอบคณิต 7 วิชาสามัญ ไม่ยากเท่า PAT 1 แต่ก็ทำให้คนที่ไม่ได้ชอบคณิตเข้าเส้น
        เลือด (แม้จะไม่ได้เกลียดก็ตาม) เหนื่อยเอาเรื่องเหมือนกัน ข้อสอบเน้นออกบทหลัก ๆ
        จำนวนจริง เชิงซ้อน ตรีโกณ ทฤษฎีจำนวน แคลคูลัส สถิติ ภาคตัดกรวย เมทริกซ์ด้วย!
      - อัตนัยสิบข้อแรก เก็บให้เร็ว เก็บให้ไว อย่างน้อยต้องได้สัก 4-5 ข้อล่ะ ใครที่ทำได้
        ช่วงนี้ อย่าพึ่งประมาทครับ กับดักมันอยู่ข้างหลัง
      - ประเด็นที่ห้ามพลาด คือ ห้ามคิดเลขผิด (เด็ดขาด) เพราะมันเป็นอัตนัย เรากรอกตัวเลข
         ได้ตั้งแต่ 0000.00 ยัน 9999.99 เลยทีเดียว
      - ข้อสังเกตนึงคือ อัตนัยจะไม่เจออะไรที่ติดตัวแปร ถ้าเชิงซ้อนจะไม่ติด i และคิดว่า
        ไม่ติดรูท เพราะพวกนี้มันกรอกไม่ได้ครับ 555
      - เรื่องที่ออกก็มี ตรีโกณ จำนวนเชิงซ้อน (คิดค่า i ยกกำลังค่าต่าง ๆ อยู่ข้อแรกเลยครับ
        และแจกคะแนน) log ลิมิต หา หรม. จำนวนจริง เวกเตอร์ (สมบัติของเวกเตอร์ตั้งฉาก)
        แต่ที่หลุดมาคือทฤษฎีบททวินาม พี่ก็หลุดเหลือกัน #ล้องห้ายยยยยยย
      - ข้อสอบปรนัย 20 ข้อหลัง คือช่วงการปล่อยของนี่แหละครับ ใครมีอะไรมาวัดตรงนี้
        ถึงแม้มันจะไม่ยากในสายตาบางคน แต่สำหรับพี่มันก็ยากเอาเรื่องอยู่นะ ต้องแม่นและเร็ว
        อ่านเงื่อนไขของโจทย์ดี ๆ ว่าโจทย์ต้องการอะไร มีข้อนึงที่พี่พลาด โจทย์ถามอะไร
        มากกว่า พี่ไปตอบน้อยกว่า


เรื่องที่น้องควรจะเก็บ
          จากประสบการณ์ไปสอบทุกที่ มากกว่าวิชาสามัญ เรื่องพื้นที่ใต้โค้ง เป็นเรื่องที่เจอทุกที่เลยครับ พอเจอบ่อย ๆ ก็ต้องบังคับตัวเองอ่าน ส่วนภาคตัดกรวย มักจะเจอเป็นไฮเปอร์โบลาผสมกับอันอื่น เรื่องที่มันไม่ออก เช่นทฤษฎีกราฟ, กำหนดการเชิงเส้นปีนี้ไม่เห็น, การให้เหตุผล, ตรรกศาสตร์

>> ฟิสิกส์ (Physics)
ลักษณะข้อสอบ : ปรนัย 5 ตัวเลือก 1 คำตอบ 25 ข้อ
คะแนน : ปรนัย 100 คะแนน
คะแนนเฉลี่ย : ปรนัยข้อละ 4 คะแนน
เวลา : ข้อละ 3 นาทีครึ่ง


          ฟิสิกส์เป็นวิชาออกโดยเน้นวัด "ความเข้าใจ" วัดว่าเราเข้าใจฟิสิกส์จริงๆไหม เพราะพวกพี่ๆได้เจอกับ ...

          1.ข้อสอบที่ไม่มีตัวเลขครับน้อง (แทนค่าเลขน้อยมาก) ข้อสอบพัฒนาเป็นรูปแบบที่ไม่ต้องคิดเลข แต่ให้ติดตัวแปรไว้ น้องต้องอ่านระบบให้ออก ว่าโจทย์ต้องการอะไร ใช้ความรู้ฟิสิกส์เรื่องไหน แล้วต้องเร็วด้วยครับ เพราะข้อละไม่ถึงสี่นาทีนี่ไม่ค่อยธรรมดาสำหรับการอ่าน วิเคราะห์ และคิดคำนวณแบบติดตัวแปร ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นระบบทางฟิสิกส์ที่ค่อนข้างประยุกต์ อาจจะแปลกตาสำหรับคนที่เจอโจทย์มาไม่มากพอ (แบบพี่)

          2.ความรู้ระดับมหาวิทยาลัยในข้อสอบมีจริง ๆ เช่น ใช้ค่า k ในเรื่องไฟฟ้าสถิตเป็น 1/(4pi(epsilon)) ซึ่งแทนสัมประสิทธิ์การผ่านของ บลาๆๆ

          3.โจทย์ดัก 2-3 ชั้นก็มี แต่มีไม่กี่ข้อหรอก เช่น ค่า g ต้องใช้ gsin(theta) และ ค่า R ต้องใช้ R ในข้อหนึ่ง และ R/2 ในอีกข้อหนึ่ง ถ้าคุ้นชินกับข้อสอบมาก่อน อาจจะมึนๆ ได้

          4.โจทย์ผสมหลาย ๆ เรื่องก็มา ข้อนี้มันเป็นปกติอยู่แล้วครับ ถ้าน้องยังอ่านฟิสิกส์แบบที่ทำโจทย์ข้อละเรื่อง อาจจะต้องลองโจทย์ผสมให้คุ้นมือบ้างนะ


          ส่วนเรื่องความยากไม่ต้องพูดขึ้นครับ อัพเลเวลขึ้นมาอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นน้อง ๆ ต้องมีสิ่งเหล่านี้ในการทำโจทย์ฟิสิกส์
      - ความรู้ความเข้าใจในทุกๆเรื่อง (หรือมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้) เพราะข้อสอบออก
        ทุกเรื่องครับ แล้วแต่ว่าเขาจะออกเรื่องไหนมา
      - การปฏิบัติการตัวแปร เพราะปัจจุบันไม่ค่อยจะมีเลขให้น้องแทนค่าแล้วครับ ต้องติด
        ตัวแปรไว้แล้วจัดรูปให้ออกมาตามที่โจทย์ต้องการ
      - คณิตศาสตร์ พวกตรีโกณ ลอการิทึม เอาติดตัวไปด้วยนะครับ ได้ใช้
      - จินตนาการ บางข้อถ้าเรามีจินตนาการ + ความรู้ที่แม่นยำ จะทำให้เราหาทางลัด
        ในการจัดการกับมันได้ง่ายขึ้น (พูดเหมือนง่ายเลยเนาะ)
      - ฉวยโอกาส! มันจะมีบางข้อครับน้อง ที่ตั้งใจช่วยให้คะแนน กระโดดรับกันให้ดี ๆ
        ขอแค่อย่าประมาทเวลาเจอข้อง่ายครับ

 

>> เคมี (Chemistry)
ลักษณะข้อสอบ : ปรนัย 5 ตัวเลือก 1 คำตอบ 50 ข้อ
คะแนน : ปรนัย 100 คะแนน
คะแนนเฉลี่ย : ปรนัยข้อละ 2 คะแนน
เวลา : ข้อละ 1 นาที 40 กว่า ๆ วินาที


           ข้อสอบเคมี จะออกบทหลัก ๆ ทั้งหมดนะครับ แต่น้ำหนักไม่เท่ากัน บางบทก็ง่ายเลย บางบทก็ต้องวิเคราะห์หน่อย อย่างปีพี่มีเรื่องไฟฟ้าเคมีมาช่วย ดูเรื่องค่าศักย์ไฟฟ้าครึ่งเซลล์รีดักชั่นกับอินทรีย์ที่ออกไม่ยาก อย่าลืมเรื่องการดุลสมการเคมีและสมการรีดอกซ์ เลข oxidation ก็ออก ถ้าแม่นก็เก็บคะแนนได้ไม่ยากเลย

           ส่วนที่เหลือก็เป็นข้อที่ต้องใช้ความคิด อย่างเรื่อง ปริมาณสัมพันธ์ สมดุลเคมี การรบกวนสมดุล กรดเบส การไทรเทรตถึงจุดยุติ(ปีพี่ไม่ยากเท่าไหร่นะ) พลังงานพันธะ พลังงานคลื่น สมการไอออนิก ตารางธาตุ สมบัติสารแบบวิเคราะห์ เทคนิคคำนวณเลขและประมาณค่า พวกนี้เก็บมาด้วยนะครับ เคมีต้องฝึกทำแบบฝึกหัดเยอะๆ พลาดเรื่องไหนก็เก็บเพิ่ม แล้วก็บทรองที่ออกบ้างที่พี่เจอก็เรื่อง การถลุงแร่ (ออกมาข้อนึง) โพลิเมอร์ (ออกมาอีกข้อนึง) ถ้าบทหลักอ่านแม่นแล้วก็มาอ่านเรื่องพวกนี้เพิ่มก็ดีนะ

>> ชีววิทยา (Biology)
ลักษณะข้อสอบ : ปรนัย 5 ตัวเลือก 1 คำตอบ 80 ข้อ
คะแนน : ปรนัย 100 คะแนน
คะแนนเฉลี่ย : ปรนัยข้อละ 1.25 คะแนน
เวลา : ข้อละ 1 นาที!! (อ่านโจทย์ก็หมดเวลาแล้ว)



           วิชาชีววิทยาออกคลุมและค่อนข้างลึกพอสมควร(อาจจะถึงขั้นลึกมาก) เรามาพูดถึงวิธีการเตรียมตัวมาลุยวิชานี้นะครับ .... อันดับแรก ในห้องเรียน ถ้าตั้งใจเรียน ตั้งใจทำแลป น่าจะพอช่วยเราได้บ้างนะ เพราะในข้อสอบก็มีออกแลปในหนังสือเรียน สสวท. บ้าง (แลปที่พูดถึงคือแลปวัดอัตราการหายใจของหนู) ถ้าเก็บจากในห้องเรียนมาพอสมควรแล้ว ได้เวลาที่เราจะมาเก็บเนื้อหานอกห้องกันแล้วครับ :) แต่ยังอยู่ในหลักสูตรนั่นแหละ

           พี่เองจะเน้นอ่านเองมากกว่านะ ชีววิทยาเป็นวิชาที่จำเป็นมากที่ต้องใช้ความพิถีพิถันในการเลือกหนังสือ เพราะถ้าหนังสือไม่เหมาะกับเรา (หรือเราไม่เหมาะกับหนังสือเล่มนั้นๆ ) จะทำให้เราไม่อยากอ่านเพราะคิดว่ามันน่าเบื่อ กลายเป็นเบื่อวิชานี้ไป แนะนำว่าเลือกหนังสืออ่านเองครับ

วิเคราะห์ข้อสอบ (3 ส่วน)
           1. เยอะ คือจำนวนข้อเยอะ เมื่อเทียบกับเวลา เพราะฉะนั้น ถ้าติดข้อไหนอย่าอยู่นานครับ ข้อข้างหน้ายังรออยู่


           2. จำ เรื่องบางเรื่องต้องจำสถานเดียว (เข้าใจยากก็จำเลย) ถ้าจำไม่ได้ก็ถึงเวลาใช้ดวงที่ติดตัวมากันแล้วแหละ เช่น ลิ้นไบคัสปิดอยู่ที่ไหน, อะไรเปลี่ยน Trypsinogen เป็น Trypsin , เส้นประสาทสมองเส้นที่ 7 ทำอะไร ถ้าใครจำได้ก็เหมือนอ่านไปแล้วเดินเก็บคะแนนไปอ่ะครับ แต่ถ้าจำไม่ได้นี่ก็ลำบากหน่อย เพราะฉะนั้น รักวิชานี้แล้วอ่านมันเยอะๆนะ 55

          3. วิเคราะห์ ส่วนนี้เป็นส่วนที่เราควรจะเก็บให้ได้มากที่สุดนะครับ เพราะความรู้ที่ใช้ไม่ได้ลึกมาก แต่ต้องใช้ความเข้าใจ + การวิเคราะห์เข้ามาช่วย เช่น ให้ field ภาพของกล้องจุลทรรศน์มา แล้วให้คำนวณอีกภาพที่มีกำลังขยายสูงกว่า ว่าสิ่งที่เห็นในภาพมีขนาดเท่าไหร่, ให้กราฟอัตราการเปลี่ยนแปลงของประชากรมา แล้วถามข้อมูล, ให้หนูมา แล้วให้วัดอัตราการหายใจโดยกำหนดอุปกรณ์มาให้ แบบนี้เป็นต้น

สิ่งที่ต้องเอาติดตัวเข้าห้องสอบ
      - ความรู้ (แน่นอนครับ) บทที่ออกเด่นๆ (ของปี 57) คือ ระบบร่างกายมนุษย์ (หายใจ
        ย่อยอาหาร ต่อมไร้ท่อ หมุนเวียนเลือด สืบพันธุ์ ) พันธุศาสตร์ เรื่องพืชไม่ค่อยเห็น
        ออกโครงสร้างนะ มีออกฮอร์โมนมาบ้างสองสามข้อ ประมาณนี้
      - ความเร็ว เพราะมันตั้งร้อยข้อนี่นา ข้อละไม่ถึงนาทีเลยนะ (แต่ที่เร็วนี่ต้องแม่นยำด้วยนะ)
      - การระลึกชาติ เอ้ย !! ไม่ใช่ การนึกข้อมูลในหัว 555 เพราะต้องนั่งนึก หลายเรื่องมากครับ
        สลับไปสลับมา (เนื้อหาใกล้ ๆ กันมันจะอยู่ข้อใกล้ ๆ กันนะ)
      - ร่างกายและจิตใจ เหมือนเคมีครับ อย่าไปปวดท้องในห้องสอบซะล่ะ


>> ภาษาอังกฤษ (English)
ลักษณะข้อสอบ : ปรนัย 5 ตัวเลือก 1 คำตอบ 80 ข้อ
คะแนน : ปรนัย 100 คะแนน
คะแนนเฉลี่ย : ปรนัยข้อละ 1.25 คะแนน
เวลา : ข้อละ 1 นาที!! (สู้กับชีววิทยา)


          พี่ให้เวลาไปเก็บกระเป๋าเอาความรู้ภาษาอังกฤษมาก่อน แล้วเดี๋ยวพี่จะพาไปดูว่ามันออกอะไร ทำไมมีแต่กระแสโอดครวญว่าทำไม่ทัน ยากส์ 555

.... เก็บกระเป๋าเสร็จแล้วตามมานะครับ ....

ทักษะ Listening และ Speaking
          ข้อสอบที่ออกแบบมาเพื่อวัดทักษะการฟังและการพูดของเรา ถึงแม้เราจะพูดให้ข้อสอบฟังไม่ได้ก็ตาม เพราะข้อสอบส่วนนี้จะเป็นบทสนทนาครับ จากสถานการณ์ต่าง ๆ มาให้เรา พิจารณาดูว่า ควรจะพูดว่าอะไร และคำเตือน! มันออก idiom (สำนวน) ถ้าใครไม่รู้มาก่อนก็หงายเงิบกันได้เลยทีเดียว

          เก็บคะแนนช่วงนี้ให้ได้ โดยการอ่านครับน้อง อ่านให้เยอะ ๆ อ่านให้คุ้นชินกับการอ่านบทความภาษาอังกฤษ แล้วก็พูดครับ แต่ลำบากพี่รู้ 555 เพราะฉะนั้น เราต้องเพิ่มทักษะการฟังโดย หาฟังอะไรที่ชอบครับ ถ้าเป็นพี่ก็จะเป็นพวก video ใน youtube พวกวิทยาศาสตร์ เช่น VSAUCE  minutephysics Dnews อะไรพวกนี้ ช่องเหล่านี้เค้ามี subtitle ใน youtube ให้ด้วยนะ ถ้าแรก ๆ เราฟังไม่ค่อยออกก็เปิดได้ครับ หรือใครเลือกจะฟังเพลงแล้วเปิดเนื้อตาม ดูหนังแล้วอ่าน sub เอาช่วงแรก ๆ ก็ได้ ไม่ว่ากัน


ทักษะ Reading
          และแล้ว เวลาแห่งความหฤหรรษ์ก็มาถึง น้อง ๆ จะได้เจอกับการอ่าน อ่าน อ่าน ๆ ๆ ๆ แล้วก็อ่าน ซึ่งอาศัยความอึด ถึก ทน และไว เพราะมันเยอ ช่วงแรกจะเป็นโฆษณา กราฟ หรือตารางมาให้ครับ ให้อ่านจับประเด็นแล้วตอบคำถาม ซึ่งมักจะมีคณิตศาสตร์พ่วงมาด้วย แบบอ่านกราฟแล้วบอกว่ากำไรปีที่สองลบกำไรปีที่หนึ่งได้เท่าไหร่ แต่ก็คิดเลขง่ายๆครับ ทดมันลงในข้อสอบนั่นแหละ หลังจากจบการปลอบใจ เอ้ย การอ่านโฆษณาไปแล้ว น้อง ๆ จะได้เจอกับ passage ประมาณ 4 passages ที่พร้อมจะมาถาโถมให้อ่านกันหน้ามืด ขอบอกว่ามันเยอะจริง ๆ ครับ เยอะจนทำไม่ทัน


           เก็บคะแนนช่วงนี้ให้ได้ โดยการจะพิชิต part นี้ให้ได้คะแนนดี ๆ คือน้องต้องมีทักษะการอ่านพอตัวเลยครับ ของพวกนี้ต้องเก็บมาก่อนเข้าห้องสอบ อ่าน ๆ ๆ อ่านภาษาอังกฤษให้รู้เรื่องอ่ะครับว่าใครทำอะไรที่ไหนอย่างไรเมื่อไหร่ นี่คือทักษะแรกที่ต้องเริ่ม "จริงๆ" ไม่งั้นจะต่อยอดลำบาก ที่สำคัญเวลาอ่านกราฟอย่าลืมอ่านให้ละเอียดนะครับ แกนตั้งแกนนอนแทนอะไร รูปภาพแทนอะไร เดี๋ยวจะพลาดเอาได้ง่าย ๆ แล้วก็คำถาม บางทีเขาไม่ได้ถามตรง ๆ ต้องคิดนิดนึงนะ เอาอะไรลบอะไรบวกอะไร :)

ทักษะ Writing
          เตรียมตัวพบกับ Error ได้เลยครับ ข้อสอบมาตรฐาน คือ แค่ให้หาว่าส่วนไหนผิดแต่ไม่ต้องแก้ให้ถูก ทำ part นี้อย่าตกใจครับ เจอโจทย์มาภาษาอังกฤษล้วน + ขีดให้หาที่ผิดเกือบทั้งข้อ (จะเอาอะไรกับคนสอบนักหนา) ให้น้อง ๆ นึกไว้เสมอครับว่า part นี้ ไม่ต้องแปลก็ทำได้ เพราะสิ่งที่จะผิดหลัก ๆ ที่โจทย์มักจะออกก็จะวนไปวนมาคือ
      - Subject and verb agreement คือประธานกับรูปของกิริยาไม่ตรงกันครับ ลืมเติม s
        เติมเกิน นั่นนี่นู่น แต่เรื่องนี้ยากพอตัวเลยนะ มันไม่ใช่แค่ Present sim แล้วเติม s,es ครับ
        พี่แนะนำให้ไปอ่านเพิ่ม เพราะมันมีคำบางคำที่เราจำเป็นต้องรู้อีกว่ากฎมันบังคับใช้ยังไง
      - Word form  ใช้คำกิริยาแทนที่คำคุณศัพท์ ใช้คำวิเศษณ์แทนคำคุณศัพท์อะไรพวกนี้ครับ
      - Parallel structure หน้า and หลัง and เหมือนกัน รูปแบบคำเดียวกัน


          แนะนำให้น้องฝึกทำโจทย์เยอะ ๆ ครับ พวกนี้ต้องเจอบ่อย ๆ แล้วจะจับทริคได้ ตามตลาดมีหนังสือให้ทำเยอะครับ เล่มละห้าร้อยห้าพันข้อก็มี ลองหามาดูนะ
 

>> ภาษาไทย (Thai)
ลักษณะข้อสอบ : ปรนัย 5 ตัวเลือก 1 คำตอบ 50 ข้อ
คะแนน : ปรนัย 100 คะแนน
คะแนนเฉลี่ย : ปรนัยข้อละ 2 คะแนน
เวลา : ข้อละ 1 นาที 40 กว่า ๆ วินาที (เหมือนเคมี)


           วิชานี้เป็นวิชาที่พี่เองก็ไม่รู้จะไปเอาอะไรมาบอกเหมือนกัน สิ่งที่พอจะไหวคือ รู้ว่ามันไม่ออกอะไรจำ ๆ ครับน้อง พวกวรรณคดีที่เป็นแบบ จำชื่อตอน ถามชื่อตัวละคร บลา ๆ ๆ หายใจให้โล่งท้อง เพราะมันไม่มี สิ่งที่จะออกคือการวิเคราะห์ทางภาษาครับ การใช้คำ สะกดคำ ใช้ให้มันถูก ๆ ตั้งแต่ต้นก็จบ เวลาเจอข้อสอบจะได้ดีใจกับการวิเคราะห์ประโยค สลับ เรียงประโยค ระดับภาษา พวกนี้คือพี่อาศัยในห้องเรียนล้วน ๆ ครับ

ช่วงภาษาศาสตร์จ๋าพาทัวร์
           ช่วงนี้น้องจะเจอกับ ... การถามหลักภาษาอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย การใช้คำราชาศัพท์ ระดับภาษา ภาษาต่างประเทศ การสะกด ใช้คำถูกความหมาย รสของวรรณคดี โวหารภาพพจน์ บลา ๆ ๆ ซึ่งน้องจะต้องเอาตัวรอดให้ได้นะครับ เพราะถ้าตั้งใจเรียนในห้อง + เข้าใจในภาษา + อ่านเสริมมานิดหน่อย ก็ลอยละลิ่วแล้วช่วงนี้


ช่วงวิเคราะห์พอเหมาะเจาะ
           ช่วงนี้น้องจะพบกับการตีความร้อยแปด(ซึ่งเยอะมาก) วิเคราะห์ว่าผู้เขียนต้องการสื่ออะไร วิเคราะห์ความหมายจากบทโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน วิเคราะห์น้ำเสียงของผู้พูด


           ภาษาไทยตามความเห็นพี่ไม่ยากเกินไปนะ ค่อนข้างทำคะแนนออกมาได้สวย เพราะไม่ได้ออกความจำ ออกความเข้าใจ เพียงน้อง ๆ เข้าใจระบบของภาษา แล้วก็อ่านเพิ่มเติมนิดนึง ตีความได้ เพียงเท่านี้ก็จะพอเอาตัวรอดจากวิชานี้ได้ครับน้อง สู้ ๆ

>> สังคม (Social study)
ลักษณะข้อสอบ : ปรนัย 5 ตัวเลือก 1 คำตอบ 50 ข้อ
คะแนน : ปรนัย 100 คะแนน
คะแนนเฉลี่ย : ปรนัยข้อละ 2 คะแนน
เวลา : ข้อละ 1 นาที 40 กว่า ๆ วินาที (เหมือนเคมีและภาษาไทย)


วิชานี้พี่บอกว่าโล่งงงง ครับน้อง .......... ความรู้พี่อ่ะ โล่งเลย

            ไม่รู้จะรีวิวอะไรครับ คือยังไม่รู้เลยว่าตอบอะไรไป ฮ่าๆ ๆ วิชานี้พี่ขอปลงว่า ตามข่าวสังคมรอบตัว ตามโครงการพระราชดำริ พระราชดำรัสที่สำคัญ และตามเนื้อหาในห้องเรียน หาหนังสืออ่านเพิ่ม วิชานี้พี่ไม่ไหวจะเคลียร์ครับ รู้ว่ามันออกทุกสาระ และค่อนข้างครอบจักรวาล สำหรับใครที่ชอบอ่านสังคมและทำให้มันเหมือนนิทานได้ ก็ยินดีด้วยครับน้อง สำหรับใครที่ไม่ไหวจะเคลียร์ จริง ๆ ก็ขอให้พยายามเข้านะครับ ไฟท์โตะ :)) พี่รู้ว่าอาจจะเครียด แต่อ่าน ๆ จำ ๆ ไปหน่อยก็ดีนะ

พี่แป้ง : สุดท้ายอยากให้ฝากกำลังใจถึงน้องๆ ที่จะต้องสอบวิชาสามัญในปีนี้ด้วยค่ะ
พี่เนส : ก็อยากจะฝากถึงน้อง ๆ ทุกคนที่อยากจะเป็นหมอ หรืออยากเรียนคณะที่ตัวเองชอบทุกคนนะครับ 9 วิชาสามัญเป็นเหมือนบททดสอบแรกของทุกคน ขอให้น้อง ๆ ตั้งใจ ทุ่มเทกับมันให้เต็มที่ ถึงวันนี้จะเหนื่อยหน่อยแต่เชื่อพี่นะครับว่าวันที่น้องได้มองผลสอบ ได้ติดคณะที่เราอยากเข้า วันนั้นจะเป็นวันที่มีค่าที่สุดในชีวิตของเรา สู้ ๆ นะครับน้อง ๆ  แล้วเจอกันในคณะที่ชอบเนอะ


            รู้แนวๆ ข้อสอบแบบจัดเต็มขนาดนี้ก็อย่าลืมลองนำไปปรับใช้กับการอ่านหนังสือหรือเตรียมทำข้อสอบของวิชาสามัญด้วยนะคะ ยิ่งทำข้อสอบเยอะแค่ไหนก็ยิ่งเป็นผลดักับเรามากเท่านั้น เหมือนที่พี่เนสบอก ถึงแม้ว่าตอนนี้มันจะเหนื่อย แต่ถ้าเราได้เข้าคณะที่เราหวังไว้มันก็คุ้มมากเลยนะ ขอให้น้อง ๆ ทุกคนโชคดีค่ะ



 
อ่านฉบับเต็มได้ที่
http://towardnessppps.blogspot.com/2014/01/7-review-55.html
พี่แป้ง
พี่แป้ง - Columnist นักข่าวสายรับตรง พร้อมเสิร์ฟข่าวสอบเข้าทุกมหา'ลัย เติมพลังได้จากชาเย็นหวานน้อย

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

กำลังโหลด

10 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
Indite Member 14 พ.ย. 58 22:23 น. 2-1
พี่เนสนะครับ ใช่ครับ ปีนี้ไม่มีอัตนัยแล้ว บทความนี้พี่เขียนไว้สมัยที่พี่สอบเข้าใหม่ๆเลยยังมีอัตนัยอยู่ครับ
0
กำลังโหลด
NTC 14 พ.ย. 58 21:25 น. 3
ภาษาไทยไม่ออกวรรณคดีนะครับ หลักภาษาก็ออกเป็นบางเรื่อง แนวผิดครับ พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก็ไม่เคยออกในวิชาสังคม และโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริเคยออกแค่ข้อเดียวครับผม
1
Indite Member 14 พ.ย. 58 22:25 น. 3-1
พี่เนสนะครับ ถูกแล้วครับ ภาษาไทยไม่ออกวรรณคดีครับ พี่อาจจะเขียนไว้มึนๆไปหน่อยเนอะ ข้างบนคือหมายความว่าไม่มีวรรณคดีครับ ที่พี่ไปสอบ มีหลักภาษาบ้างจริงๆ ที่เหลือจะเป็นเรื่องอื่นที่พิมพ์ไว้ครับ ส่วนสังคมพี่ยอมรับว่าเป็นวิชาที่พี่ทิ้งไว้นานที่สุดก่อนพิมพ์ลง blog มันเลยไม่เหลืออะไรให้ review เท่าไหร่ จุดนี้ถ้าผิดยังไงขอโทษด้วยครับ ยังไงก็ขอบคุณมากนะครับ :))
0
กำลังโหลด
Indite Member 15 พ.ย. 58 00:27 น. 4-1
พี่เนสนะครับ จริงๆบทความนี้มาจาก blog ที่พี่เขียนไว้ตอนพี่สอบเข้าอ่ะครับ มันเลยไม่ใช่ของปีล่าสุดเนอะ จะเป็นของสองปีที่แล้วครับ แต่พี่แก้ในกระทู้ไม่ได้อ่า 555 ถ้ามีข้อผิดพลาดยังไงต้องขอโทษน้องๆไว้ตรงนี้ด้วยนะครับ เศร้าจัง
0
กำลังโหลด
ฉันเอง 27 พ.ย. 58 21:29 น. 5
ขอบคุณมากนะคะ เราอยากได้วิชาอังกฤษกับไทยเยอะๆ เพราะคณิตน่าจะทำให้ได้เยอะๆยากเลยสำหรับเรา
0
กำลังโหลด
EmmaKittiya Member 5 ต.ค. 59 07:52 น. 6
รับตรง บัญชี บอกว่าสอบคณิตศาสตร์1 แต่เราอยู่สายศิลป์ สรุป ต้องสอบคณิตศาสตร์ อันไหน ใครรู้บอกที
1
เด็กเชียงใหม่ 17 ต.ค. 59 01:51 น. 6-1
ลองอ่านระเบียบการของคณะที่อยากจะเข้าดูดีๆครับว่าเข้าจะเอา คณิต พื้น หรือคณิตเพิ่ม เเล้วค่อยตัดสินใจสมัครครับ เพราะเขาให้เราสอบ ได้เเค่อันเดียว จะพื้นก็พื้นจะเพิ่มก็เพิ่ม จะสาย ศิลหรือสายวิทไม่เกี่ยวครับสามารถมีสิทเลือกได้ครับว่าจะสอบอันไหน ยังไงก็เอาใจช่วย ครับเยี่ยม
0
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
........ 17 เม.ย. 61 19:29 น. 9

ถ้าผมเก็บเนื้อหาครบทุกเรื่องภายในวันแม่ แล้วเริ่มลุยข้อสอบเก่าทุกวิชา จะพอไหวมั้ยครับ

0
กำลังโหลด
20tym Member 24 ส.ค. 62 18:39 น. 10

ขอสอบถามหน่อยค่ะ พี่เคยเรียนเดอะเบรนไหมคะ เพราะติวเตอร์พูดว่าพี่แป้งบ่อยๆเลยอยากทราบนะคะ ถ้าเห็นไม่สมควรขอโทษด้วยนะคะ

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด