หายสงสัยซักที! วิศวะฯ คอม/ วิทย์คอม / IT / ICT ต่างกันยังไง

         สำหรับน้องๆ ที่กำลังจะตัดสินใจเลือกเรียนต่อคณะทางด้านคอมพิวเตอร์ เชื่อว่าต่างก็มีเหตุผลส่วนตัว บางคนอยากเรียนเพราะชอบเล่นเกม บางคนไม่ใช่แค่เพราะชอบเล่น แต่อยากสร้างเกมด้วย บางคนหลงใหลกับคอมพิวเตอร์และระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่เกี่ยวข้อง บางคนสนใจด้านการเขียนโปรแกรมหรือพัฒนาเว็บไซต์ นอกจากนี้ยังรวมถึงคนที่ "ไม่รู้จะเรียนอะไรก็เอาอันนี้แล้วกัน" ด้วย
        ซึ่งถ้าหัวและใจมาทางนี้แล้วก็คงหนีไม่พ้นการเรียนสาขาที่มีคำว่า "คอมพิวเตอร์" หรือ "เทคโนโลยี" แน่ๆ แต่เชื่อเถอะว่าร้อยทั้งร้อยพอมาเจอชื่อคณะ/สาขาที่ดูจะคล้ายๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นวิศวะฯ คอม (วิศวกรรมคอมพิวเตอร์) วิทย์คอม (วิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์/ วิทยาการคอมพิวเตอร์) และอื่นๆ ก็ชวนให้สงสัยว่ามันเหมือนหรือต่างกันตรงไหน หลายคนเลือกเรียนกันผิดๆ ถูกๆ กว่าจะรู้ตัวก็สายเสียแล้ว วันนี้พี่แทรกเตอร์จะมาเคลียร์ให้หายสงสัยกันว่าแต่ละกลุ่มแตกต่างกันยังไง
 

วิศวะคอม vs วิทย์คอม
    -การเรียน
     โดยทั่วๆ ไปถ้าเราหาข้อมูล ก็มักจะได้คำตอบว่า วิศวะฯ คอมเน้นฮาร์ดแวร์ (Hardware) ซึ่งก็คืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ จำพวกแผงวงจรหรืออุปกรณ์คอมพิวเตอร์ และวิทย์คอมเน้นเขียนโปรแกรม แต่ความจริงแล้ว วิศวะฯ คอม และ วิทย์คอมฯ (ในประเทศของเรา) มักจะเรียนคล้ายๆ กัน คือต่างก็มีเรียนเรื่องอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์และการเขียนโปรแกรมด้วยกันทั้งนั้น นอกจากนี้ยังรวมถึงวิชาวิทยาศาสตร์ที่ทั้งสองสาขาในหลายๆ มหา'ลัยต่างก็ต้องเรียนเหมือนกัน คือเจ้าวิชาคณิตศาสตร์และฟิสิกส์ บางที่ถึงกับมีเคมีด้วย!
      ถ้าจะมีอะไรที่แตกต่างกันก็อาจจะเป็นสัดส่วนวิชาบังคับ วิศวะฯ คอมอาจมีสัดส่วนวิชาด้านฮาร์ดแวร์หรือได้ลงห้องปฏิบัติการ สัมผัสและใช้งานอุปกรณ์เหล่านี้จริงๆ มากกว่าวิทย์คอม และวิทย์คอมก็อาจมีสัดส่วนวิชาคณิตศาสตร์ วิชาด้านโครงสร้างข้อมูล หรือวิชาด้านอัลกอริทึม (ลำดับความคิด/กระบวนการแก้ปัญหา สำหรับการเขียนโปรแกรม) มากกว่าฝั่งวิศวะฯ คอม สำหรับวิชาการเขียนโปรแกรมโดยทั่วไปแล้วก็จะมีสัดส่วนพอ ๆ กัน

    -สายงาน
    วิศวะฯ คอม สายงานที่พบโดยทั่วไป เช่น นักพัฒนาโปรแกรม วิศวกรวางระบบคอมพิวเตอร์ วิศวกรดูแลเครือข่ายระบบคอมพิวเตอร์ ผู้ผลิตและพัฒนาอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ หรือ ผู้ดูแลความปลอดภัยของระบบ 
     ส่วนของวิทย์คอมสายงานที่พบโดยทั่วไปเช่น งานด้านเทคนิคหรืองานผู้เชี่ยวชาญระบบคอมพิวเตอร์ ผู้ออกแบบและวิเคราะห์ระบบคอมพิวเตอร์ ผู้ดูแลระบบคอมพิวเตอร์และบำรุงรักษาระบบคอมพิวเตอร์ โปรแกรมเมอร์ ผู้ออกแบบและบำรุงรักษาระบบฐานข้อมูล (ระบบสารสนเทศ) ผู้ออกแบบและโปรแกรมระบบกราฟิกหรือแอนิเมชั่น หรือผู้ให้คำปรึกษาด้านระบบคอมพิวเตอร์หรือเทคโนโลยีสารสนเทศ
     สำหรับน้องๆ บางคนไม่ได้สงสัยแค่ 2 คณะนี้ เพราะบ้านเรามีอีกทางเลือกหนึ่งที่มาแรงไม่แพ้วิศวะคอมหรือวิทย์คอมเลย นั่นก็คือ คณะไอที (เทคโนโลยีสารสนเทศ) / ไอซีที (เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร)
 
ไอที vs ไอซีที
     -การเรียน
     หากสังเกตหรือหาข้อมูลกันดีๆ ก็จะรู้ได้ไม่ยากเลยว่า 2 ชื่อนี้แม้จะคล้ายกันมากแต่มีความแตกต่างที่เด่นชัดอยู่ นั่นก็คือบ้านเราเปิดหลักสูตรไอซีทีกันแบบอินเตอร์หรือหลักสูตรนานาชาตินั่นเอง ในขณะที่ไอทีมีในหลักสูตรปกติ
     โดยภาพรวม IT และ ICT จะมีหลักสูตรวิชาเรียนที่คล้ายกัน เช่น วิชาคณิตศาสตร์ วิชาภาษาอังกฤษ วิชาด้านการสื่อสารหรือด้านสังคม วิชาฐานข้อมูล วิชาการจัดการข้อมูล วิชาการเขียนโปรแกรม วิชาด้านระบบเครือข่าย วิชาด้านมัลติมีเดีย หรือวิชาด้านธุรกิจไอที จะเห็นได้ว่าสองคณะนี้มีวิชาเรียนที่ค่อนข้างครอบคลุมศาสตร์หลายๆ ด้านของโลกไอที เพื่อสร้างนักไอทีหรือบุคคลที่มีความรู้ความเข้าใจระบบสารสนเทศ (และการสื่อสาร) โดยรอบด้าน
     หลักสูตร ICT ที่รู้จักกันโดยทั่วไปได้แก่ ภาควิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ คอมพิวเตอร์ และการสื่อสาร (ซึ่งยังมีการแยกภาควิชาย่อยอีก) สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของมหาวิทยาลัยมหิดลและมหาวิทยาลัยศิลปากร สำหรับมหาวิทยาลัยศิลปากรในโครงสร้างหลักสูตรจะค่อนข้างเน้นที่การออกแบบสื่อมัลติมีเดีย สื่อสามมิติ เกม ระบบโต้ตอบกับบุคคล และแอนิเมชั่น รวมถึงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศธุรกิจด้วย
      ส่วนหลักสูตรไอทีที่เป็นที่รู้จักกันได้แก่ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมแกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง/มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี/มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และวิทยาลัยเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร  มหาวิทยาลัยรังสิต

     -สายงาน
     สายงานไอทีและไอซีทีก็จะค่อนข้างคล้ายกัน เช่น นักออกแบบและดูแลระบบฐานข้อมูล นักพัฒนาซอฟต์แวร์/เว็บไซต์ ผู้ดูแลระบบเครือข่าย นักพัฒนาเกม นักสร้างสื่อมัลติมีเดีย นักออกแบบระบบเชื่อมต่อผู้ใช้ หรือที่ปรึกษาด้านระบบสารสนเทศ
     หลังจากที่น้อง ๆ เริ่มเห็นภาพของไอทีและไอซีทีแล้ว พี่เชื่อว่าหลายๆ คนคงมีคำถามตามมาอีกเช่นเคย
 
    "แล้วไอทีหรือไอซีที กับวิศวะคอม กับวิทย์คอมล่ะ?"

ไอที/ไอซีที vs วิศวะฯ คอม vs วิทย์คอม
     เอาละทีนี้!... ซับซ้อนขึ้นไปอีกเพราะการเปรียบเทียบถึง 3 สาขาหลักไม่ใช่แค่การมองวิชาเรียนเพียงอย่างเดียว หากแต่ต้องมองถึงความแตกต่างที่มากับหลักสูตรและเส้นทางการทำงานที่เกิดจากหลักสูตรที่แตกต่างกันด้วย
     ถ้ามองถึงความแตกต่างด้านการเรียนแล้วล่ะก็ คณะ IT กับ ICT ของหลายๆ มหา'ลัยจะมีการรวมวิชาทางด้านธุรกิจเข้าไปด้วยเรียกว่าเป็นธุรกิจไอที ในขณะที่วิทย์คอมกับวิศวะฯ คอมอาจจะไม่มีหรือถ้ามีก็มีน้อยมาก และที่น่าตื่นเต้นไปกว่านั้นก็คือ น้องๆ ที่อยากจะได้คำว่าวิทยาศาสตรบัณฑิตในใบปริญญาแต่ไม่อยากเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ คณะไอทีหรือไอซีทีนี่แหละคือคำตอบของน้องๆ เพราะแทบทุกมหา'ลัยไม่มีวิชาฟิสิกส์ เคมี ชีวะ หรือวิชาแนวๆ นี้ในหลักสูตรนี้นะ
 

    ความสับสนของเด็กยุคนี้ไม่ใช่การคิดว่าตัวเองจะเหมาะกับอะไรมากกว่ากัน แต่เป็นการคิดว่าสายงานของแต่ละคณะจะแตกต่างกันหรือไม่ อย่างไร ซึ่งน้องๆ และใครหลายๆ คนอาจจะเคยได้ยินว่า ไม่ว่าจะจบคณะคอมสายไหนมาก็ออกมาแย่งงานกันอยู่ดี ซึ่งเป็นเรื่องจริง 
  • ไอที วิศวะฯ คอม วิทย์คอมต่างก็เขียนโปรแกรมได้ แย่งงานโปรแกรมเมอร์กันได้ 
  • ไอทีและวิทย์คอมก็สามารถทำงานเป็นนักวิเคราะห์ซอฟต์แวร์ (System Analyst)ได้เหมือนกัน
  • ไอที วิทย์คอม และอาจรวมถึงวิศวะฯ คอมสามารถทำงานเป็นผู้ดูแลระบบ (System Administrator)ได้เช่นกัน
     สาเหตุที่แต่ละคณะสามารถทับงานทับซ้อนกันได้ ไม่ใช่เพียงแค่มีแขนง สาขาวิชา หรือหลักสูตรที่คล้ายกัน แต่ยังเป็นเรื่องของทักษะและการแสวงหาความรู้ส่วนบุคคล หรือการต่อยอดความรู้จากวิชาที่ได้เรียนมาอีกด้วย
     ถ้าจะมีงานอะไรที่แสดงความแตกต่างระหว่าง 3 สาขานี้ได้ วิศวะฯ คอมก็คงจะเป็นงานด้านพัฒนาอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ หรือ การพัฒนาระบบที่ควบคุมการทำงานของเครื่องจักร เครื่องยนต์ หรือระบบในโรงงานอุตสาหกรรม ในขณะที่วิทย์คอมจะเป็นงานด้านผู้ออกแบบและวิเคราะห์ระบบ/ซอฟต์แวร์ ส่วนไอทีก็จะเป็นงานด้านการประยุกต์สารสนเทศ เช่น การพัฒนาโซลูชั่นสำหรับองค์กรธุรกิจ ระบบสารสนเทศสำหรับธุรกิจ หรือการวางระบบเครือข่าย/ระบบอินเทอร์เน็ต
     พี่ว่าน้องๆ อาจจะมีคณะในดวงใจ สาขาที่ใฝ่ฝันอยู่แล้ว เพียงแต่ยังไม่แน่ใจในเรื่องของหลักสูตรหรือสายงานที่ทำได้หลังจบการศึกษา แต่เชื่อมั้ยว่ายังมีอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับสายคอมพิวเตอร์ นั่นคือวิศวะฯ ซอฟต์แวร์ (วิศวกรรมซอฟต์แวร์)
 
วิศวะซอฟต์แวร์
     -การเรียน
     สำหรับวิศวะซอฟต์แวร์จะมุ่งเน้นทางด้านกระบวนการพัฒนาซอฟต์แวร์หรือโปรแกรมตั้งแต่ต้นจนจบ คือตั้งแต่การเริ่มโครงการพัฒนาซอฟต์แวร์ การค้นหาปัญหาและการแก้ปัญหาของระบบเดิมหรือสิ่งที่ยังไม่มีวิธีแก้ปัญหาที่ดีพอ การสำรวจความต้องการของผู้ใช้จริง การออกแบบและพัฒนาซอฟต์แวร์ต้นแบบ การให้ผู้ใช้งานทดลองใช้ การปรับปรุงแก้ไขซอฟต์แวร์ การตรวจสอบและทวนสอบซอฟต์แวร์ จนถึงปิดโครงการคือซอฟต์แวร์เสร็จสมบูรณ์พร้อมส่งถึงมือผู้ใช้ และยังอาจรวมถึงการดูแลรักษาระบบหรือซอฟต์แวร์ (Maintenance) อีกด้วย
     สำหรับหลักสูตรวิศวกรรมซอฟต์แวร์ที่เป็นที่รู้จักได้แก่ หลักสูตรวิศวกรรมซอฟต์แวร์ วิทยาลัยนานาชาติ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง คณะวิทยาการสารสนเทศ สาขาวิชาวิศวกรรมซอฟต์แวร์ มหาวิทยาลัยบูรพา สำนักวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ สาขาวิชาวิศวกรรมซอฟต์แวร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และคณะเทคโนโลยีสารสนเทศ สาขาวิชาวิศวกรรมซอฟต์แวร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม

    -สายงาน
    อาชีพหลังสำเร็จการศึกษาหลักสูตรวิศวกรรมซอฟต์แวร์มีดังนี้
  • วิศวกรซอฟต์แวร์ (Software Engineer) หรือนักเขียนโปรแกรม (Programmer/Developer)
  • วิศวกรความต้องการ (Requirement Engineer)
  • นักประกันคุณภาพซอฟต์แวร์ (Software Quality Assurance)
  • วิศวกรปรับปรุงกระบวนการซอฟต์แวร์ (Software Process Improvement Engineer)
  • นักทดสอบระบบ (Software Tester)
  • นักบูรณาการระบบ (System Integrator)
  • นักวิเคราะห์ระบบหรือนักออกแบบระบบ (System Analyst / Designer)
  • ผู้จัดการโครงการซอฟต์แวร์ (Software Project Manager)

วิศวะฯ ซอฟต์แวร์ vs ไอที/ไอซีที vs วิศวะฯ คอม vs วิทย์คอม
     จากการเปรียบเทียบ IT/ ICT vs วิศวะฯ คอม vs วิทย์คอม ไปแล้วก่อนหน้าบวกกับลักษณะของหลักสูตรวิศวกรรมซอฟต์แวร์จะเห็นได้ว่า วิศวะฯ ซอฟต์แวร์เน้นในกระบวนการพัฒนาซอฟต์แวร์โดยศึกษาเรียนรู้ขั้นตอนที่สำคัญแต่ละส่วน เช่น การสำรวจความต้องการของผู้ใช้ การวิเคราะห์และออกแบบ การทดสอบซอฟต์แวร์ การประกันซอฟต์แวร์ เป็นต้น ทำให้สายงานของวิศวะฯ ซอฟต์แวร์แตกต่างจาก 3 สาขาก่อนหน้าอย่างชัดเจน และแม้ว่าไอทีหรือวิทย์คอมจะสามารถทำงานบางอย่างได้เหมือนวิศวะฯ ซอฟต์แวร์ แต่โดยความเฉพาะทางแล้ววิศวะฯ ซอฟต์แวร์จะได้รับการฝึกฝนทักษะเหล่านั้นโดยตรงจากการเรียนตามหลักสูตรและมีประสบการณ์จากการปฏิบัติจริงตั้งแต่ระหว่างเรียน
 
     นอกเหนือจากข้อมูลข้างต้นนี้ สิ่งที่น้องๆ ควรลงมือทำความเข้าใจก็คือหลักสูตรของคณะที่น้องๆ สนใจนั่นเอง ซึ่งโดยปกติจะมีให้เข้าไปอ่านได้ในเว็บไซต์ของคณะหรือสถาบันนั้นๆ แม้จะเป็นคณะชื่อเดียวกัน แต่เนื้อหาวิชาเรียนในหลักสูตรของแต่ละสถาบันอาจจะไม่เหมือนกัน ดังนั้นนอกจากจะดูว่าคณะนั้นเรียนอะไรแล้ว ก็อย่าลืมเปรียบเทียบด้วยว่าหลักสูตรของสถาบันไหนที่ตรงใจเรามากที่สุด น้องอยากเรียนแบบไหน อยากเรียนตามหลักสูตรของสถาบันไหน ลองถามใจตัวเองดูนะ
 
พี่แทรกเตอร์

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

dIP 8 มิ.ย. 59 14:50 น. 12
ผมจบวิศวะคอมฯ นะ จริงๆมันไม่ใช่แค่ hardware นะ มันมี Network กับพวก Robot ซึ่งน่าสนใจมาก ซึ่งตามชื่อ วิศวะ คือ ผู้สร้าง ดังนั้นวิชาหลักๆที่เรียน ก็จะสอนให้รู้ และสามารถนำไปออกแบบ สร้าง ไม่ใช่เรียนแค่รู้ว่ามันคืออะไร แต่เรียนเพื่อนเอาไปประยุกต์ และสร้างหรือผลิตอะไรใหม่ๆขึ้นมา ซึ่งเนื้อหาตรงนี้จะมีความแตกต่างกัน กับ วิทคอมฯ เพราะเพื่อนผมก็เรียน วิทคอมฯมา เย้
1
★Fenella ★ Member 20 มิ.ย. 59 21:38 น. 12-1
เรียนจบจากที่ไหนคะ บอกได้มั้ยื หนูสนใจเหมือนกัน แล้ววิชาที่เรียนเช่น ฟิสิกส์ เลข ควรเตรียมตัวก่อนเข้าเรียนยังไง
0
กำลังโหลด
กำลังโหลด
SKE 8 มิ.ย. 59 11:27 น. 10
วิศวซอฟต์แวร์ มีที่เกษตรอีกที่นึงครับ ตอนนี้รุ่นที่กำลังจะเปิดปีการศึกษาใหม่เป็นรุ่น 14 แล้ว รุ่นพี่รุ่นก่อนๆอยู่ในวงการอุสาหกรรมเกม ซอฟต์แวร์ startup ที่มีชื่อเสียงหลายคนนะครับ สาขาวิศวกรรมซอฟต์แวร์และความรู้ หลักสูตรนานาชาติ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ครับ
0
กำลังโหลด

ยอดถูกใจสูงสุด

กำลังโหลด
FieldMTW 8 มิ.ย. 59 19:13 น. 14
เยี่ยม ผมจบการตลาด (วุฒิ ปวช.) มา ก็สามาถร ต่อ สาขา วิทยาการคอมพิวเตอร์ได้ครับ ตอนนี้กำลังศึกษาอยู่ด้วย ณ. มทร.ตะวันออกวิทยาเขตบางพระ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโลโนยี เผื่อใครห่วงว่าจบมาไม่ตรงจะไม่ได้เรียน แต่แนะนำก่อนนะครับ ต้องขยันไม่งั้นเจอ พวกวิชาฟิสิกส์ คณิตฯ จะทำให้เราหวั่นไหวได้ครับ 5555
1
กำลังโหลด

23 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
PSUSE 7 มิ.ย. 59 17:29 น. 4
วิศวะคอม >> เรียนวิชาพื้นฐานวิศวะ(ฟิสิก เคมี แคล) >> วิชาทางด้านวิศวะคอม(ฮาร์ดแวร์นั้นแหละพวกLogic programing วงจร ทั้งหลาย ) >> เลือกแขนง(ซึ่งก็คือการเลือกเรียนวิชาเลือกให้ตรงกับสายที่เราเลือก (1.information engineer 2.Computer System Design Engineer 3. Computer Controll(Robort) 4.Computer Network) ) วิทยาการคอมก็เช่นกัน วิศวะซอฟต์แวร์ >> วิชาพื้นฐานแล้วแต่สังกัดคณะที่เรียน >> วิชาพื้นฐานวิศวะซอฟต์แวร(OOP1 OOP2 OOA SOA)>>วิชาพื้นฐานวิศวะซอฟต์แวร 2(วิศกรรมความต้องการ การสร้างซอฟต์แวร์ สถาปัตรกรรมซอฟตแวร์) >> วิชาเลือกอาจไม่กำหนดเพราะไม่มีการกำหนดแขนงแล้วแต่ภาควิชา สรุปคือ วิศวะคอม =วงจร+คอมพิวเตอร์ วิทยาการคอม= อัลกอรึทึม+คอมพิวเตอร์ วิศวะซอฟต์แวร์=กระบวนการซอฟต์แวร์(วิศวะซอฟต์แวร์ เป็นแขนงย่อยของวิทยาการคอมแต่ปัจจุบันได้แตกแยกออกมา)
0
กำลังโหลด
Zane Ter Member 7 มิ.ย. 59 17:39 น. 5-1
หมายถึงไปเรียนต่อ แบบจบวิทย์คอมแล้วต่อโทวิศวะใช่ไหมครับ ถ้าใช่ กรณีนี้สามารถไปต่อได้ครับ เยี่ยม
0
กำลังโหลด
Zane Ter Member 7 มิ.ย. 59 21:26 น. 6-1
จะเข้ามหาลัยปีไหนเอ่ย อยากเข้าอันไหนก็เตรียมตัวให้พร้อมไว้ ทั้งความรู้เบื้องต้น ศึกษาหลักสูตรกับอาชีพที่ทำได้หลังเรียนจบ แล้วก็ติดตามกำหนดการของแต่ละมหาลัยให้ดีนะครับ
0
กำลังโหลด
Zane Ter Member 7 มิ.ย. 59 21:22 น. 7-1
จริง ๆ เรียนได้นะครับ อาจจะมีบางอย่างที่เราไม่คุ้นเคยก็ต้องศึกษาหาความรู้เพิ่ม ขยันเพิ่มนิดนึง แต่!...ต้องลองศึกษาหลักเกณฑ์ของแต่ละที่ครับว่ารับสายศิลป์มั้ย บางที่จะกำหนดว่าสายวิทย์-คณิตเท่านั้นครับ
0
กำลังโหลด
Rommel M Lasina Member 7 มิ.ย. 59 21:48 น. 8

ระบบสาระสนเทศทางคอมพิวเตอร์เเละคอมพิวเตอร์ธุรกิจ. นี่รวมอยู่ในกลุ่มนี้ด้วยรึเปล่าครับ

1
Zane Ter Member 7 มิ.ย. 59 21:58 น. 8-1
ต้องดูว่าเป็นสาขาหรือหลักสูตรที่มาจากคณะวิศวกรรมศาตร์ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีสารสนเทศ หรือเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือเปล่านะครับ ถ้าใช่ ก็อยู่ในกลุ่มเดียวกันครับ บางทีก็อาจจะต่างแค่ชื่อเรียกชื่อหลักสูตรที่ตั้ง แต่เนื้อหาสาระที่มีการเรียนการสอนก็ใกล้เคียงกันครับ ย้ำเลยครับ! เรื่องการศึกษาและทำความเข้าใจหลักสูตร ถ้าเห็นชื่อสาขามาลองค้นหาหลักสูตรอ่านดูครับจะมีรายละเอียดบอก ถ้ารู้ว่าของมหาลัยไหน คณะไหนก็จะหาอ่านได้ง่ายขึ้น
0
กำลังโหลด
กำลังโหลด
SKE 8 มิ.ย. 59 11:27 น. 10
วิศวซอฟต์แวร์ มีที่เกษตรอีกที่นึงครับ ตอนนี้รุ่นที่กำลังจะเปิดปีการศึกษาใหม่เป็นรุ่น 14 แล้ว รุ่นพี่รุ่นก่อนๆอยู่ในวงการอุสาหกรรมเกม ซอฟต์แวร์ startup ที่มีชื่อเสียงหลายคนนะครับ สาขาวิศวกรรมซอฟต์แวร์และความรู้ หลักสูตรนานาชาติ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ครับ
0
กำลังโหลด
Zane Ter Member 8 มิ.ย. 59 13:53 น. 11-1
ขอตอบโดยอ้างอิงจากหลักสูตรของทั้ง 2 สาขา ของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังนะครับ โดยรวม ๆ ก็อาจจะดูเหมือน ๆ กัน มีวิชาการเขียนโปรแกรมเหมือนกัน วิชาแบบวิศวะทั่ว ๆ ไปเหมือนกัน แต่ที่เห็นได้ชัดคือวิศวะคอมมีวิชาที่เกี่ยวกับอุปกรณ์อิเล็คทรอนิกส์มากกว่า เช่น การออกแบบวงจรดิจิตอลและวงจรตรรก อิเล็กทรอนิกส์พื้นฐานสำหรับวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ปฏิบัติการวงจรดิจิตอล ในขณะที่วิศวสารสนเทศจะมีวิชาด้านการสื่อสาร ด้านการจัดการข้อมูลมากกว่า เช่นวิชาการออกแบบฐานข้อมูล วิชาการสื่อสารข้อมูล ทฤษฎีข่าวสารและการเข้ารหัส อ้างอิง http://www.reg.kmitl.ac.th/curriculum/studyplan.php?faculty_id=01&dept_id=05&curr_id=19&year=2552 http://www.reg.kmitl.ac.th/curriculum/studyplan.php?faculty_id=01&dept_id=12&curr_id=25&year=2552
0
กำลังโหลด
dIP 8 มิ.ย. 59 14:50 น. 12
ผมจบวิศวะคอมฯ นะ จริงๆมันไม่ใช่แค่ hardware นะ มันมี Network กับพวก Robot ซึ่งน่าสนใจมาก ซึ่งตามชื่อ วิศวะ คือ ผู้สร้าง ดังนั้นวิชาหลักๆที่เรียน ก็จะสอนให้รู้ และสามารถนำไปออกแบบ สร้าง ไม่ใช่เรียนแค่รู้ว่ามันคืออะไร แต่เรียนเพื่อนเอาไปประยุกต์ และสร้างหรือผลิตอะไรใหม่ๆขึ้นมา ซึ่งเนื้อหาตรงนี้จะมีความแตกต่างกัน กับ วิทคอมฯ เพราะเพื่อนผมก็เรียน วิทคอมฯมา เย้
1
★Fenella ★ Member 20 มิ.ย. 59 21:38 น. 12-1
เรียนจบจากที่ไหนคะ บอกได้มั้ยื หนูสนใจเหมือนกัน แล้ววิชาที่เรียนเช่น ฟิสิกส์ เลข ควรเตรียมตัวก่อนเข้าเรียนยังไง
0
กำลังโหลด
zazoi 8 มิ.ย. 59 18:20 น. 13
เราจบไอที มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ต้องเรียนทั้งฟิสิกส์ เคมีและชีวะเลยนะ แต่เรียนแค่ปีแรกนะ
1
กำลังโหลด
FieldMTW 8 มิ.ย. 59 19:13 น. 14
เยี่ยม ผมจบการตลาด (วุฒิ ปวช.) มา ก็สามาถร ต่อ สาขา วิทยาการคอมพิวเตอร์ได้ครับ ตอนนี้กำลังศึกษาอยู่ด้วย ณ. มทร.ตะวันออกวิทยาเขตบางพระ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโลโนยี เผื่อใครห่วงว่าจบมาไม่ตรงจะไม่ได้เรียน แต่แนะนำก่อนนะครับ ต้องขยันไม่งั้นเจอ พวกวิชาฟิสิกส์ คณิตฯ จะทำให้เราหวั่นไหวได้ครับ 5555
1
กำลังโหลด
กำลังโหลด
Felinonajang Member 10 มิ.ย. 59 02:19 น. 16

เอาจริงๆพอมาทำงานก็ไม่ต่างกันเท่าไรหรอกค่ะ สายงานไอทีเหมือนๆกัน

อย่างเทสเตอร์ หรือโปรแกรมเมอร์ จบสายไอทีมาก็เป็นได้  

ในที่ทำงาน ตำแหน่ง SA BA Tester Programmer ก็มีทั้งจบวิศวะ วิทย์คอมฯ ไอที ไอซีที มีหมด ก็ทำงานตำแหน่งเดียวกันได้

แต่ถ้าด้าน embedded system ไม่แน่ใจว่าจบวิทย์คอมฯ กับไอทีจะทำได้หรือป่าว เพราะมันทั้ง software hardware แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นพื้นฐานการเรียนก็คล้ายๆกัน ฉะนั้นจบมาแล้วถ้าไฝ่เรียนรู้ก็น่าจะสามารถทำได้ทุกสายนั่นแหละค่ะ

1
เนอะเนอะ 10 มิ.ย. 59 07:42 น. 16-1
แต่เวลาเรีบนไม่เหมือนกันไปหมดเสียทีเดียว ถ้าไม่เลือกเรียนดีๆ ไปเจออะไรที่ไม่ถนัด ตายแน่ๆ สี่ปี ซิ่วเหอะ เรื่องการทำงานในสโคปงานคอมเมืองไทย มันยังทับซ้อน และจริงๆ เรื่องคอมมันเรียนรู้ได้ด้วยตัวเองไง มันเลยมาคาบเกี่ยวได้ แต่ตอนเรียนน่ะ มันทำไม่ได้ เราไม่ได้สร้างหลักสูตรกันเอง
0
กำลังโหลด
s406xx Member 10 มิ.ย. 59 04:49 น. 17

ICT ที่ ม.ศรีปทุมไปสมัครมาแล้ว คณาจารย์จบจากต่างประเทศกันเกิอบทั้งภาควิชา แนะนำให้สมัครเรียนที่นี่กัน

0
กำลังโหลด
สอบถาม 14 มิ.ย. 59 16:49 น. 18
สายศิลป์ภาษา เรียนสาขาอะไรได้บ้างครับ เกี่ยวกับคอม อยากเรียนคอม เก่งแค่คอม แต่ไม่เก่งวิชา วิทย์ คณิต เกรดเฉลี่ยแต่ละเทอม 2 กว่า ๆ ไม่ถึง 3
1
Zane Ter Member 14 มิ.ย. 59 17:41 น. 18-1
ต้องลองศึกษาหลักเกณฑ์ของแต่ละมหาลัยครับว่ารับสายศิลป์มั้ย บางที่จะกำหนดว่าสายวิทย์-คณิตเท่านั้นครับ และบางที่ก็กำหนดเกรดด้วยเช่น 2.5 ขึ้น ต้องลองดูประกาศในแต่ละปีครับ เพราะบางทีอาจปรับเปลี่ยนได้สด ๆ ร้อน ๆ
0
กำลังโหลด
เจ้าแห่งสายทอง Member 15 มิ.ย. 59 23:45 น. 19

สรุปแล้วไอทีกับไอซีทีต่างกันแค่หลักสูตรภาษาไทยกับภาษาอังกฤษแค่นี้หรอกคะ???

1
Zane Ter Member 16 มิ.ย. 59 00:21 น. 19-1
เป็นเรื่องของรายวิชาที่สอนด้วยครับ โดยภาพรวมจะคล้าย ๆ กัน เช่นมีการเขียนโปรแกรมเหมือนกัน มีมัลติมีเดียเหมือนกัน แต่ต้องดูตัวรายวิชา ตามประกาศหลักสูตรของแต่ละที่ครับ คือวิชาบังคับหรือวิชาเลือกอะไรพวกนี้จะไม่เหมือนกันซะทีเดียว
0
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด