6 เคล็ด (ไม่) ลับ! เปลี่ยนเฟรชชี่ธรรมดา ให้เป็นเฟรชชี่มือโปร

      เชื่อว่าน้อง ม.6 หลายคนมีที่เรียนแล้วและกำลังเตรียมตัวเตรียมใจรอวันเปิดเทอมในรั้วมหา'ลัยและการเริ่มต้นชีวิตเฟรชชี่อย่างแฮปปี้ลั้ลลา แต่นั่นหมายความว่าน้องๆ กำลังจะก้าวเข้าสู่ชีวิตใหม่แล้ว ชีวิตที่ต้องมีความรับผิดชอบยิ่งขึ้น ชีวิตที่จะมีอิสระมากขึ้น แต่มันก็มาพร้อมกับการที่น้องต้องบริหารชีวิตตัวเองให้ดียิ่งขึ้นเช่นกัน
     วันนี้พี่แทรกเตอร์เลยจะนำเทคนิคและประสบการณ์ในการเตรียมพร้อมสำหรับมหา'ลัยมาถ่ายทอดให้น้องๆ ได้รู้ เพื่อเป็นแนวทางสำหรับการปรับตัวสู่รั้วแห่งใหม่และใช้ชีวิตปี 1 อย่างแฮปปี้ ซึ่ง 6 เคล็ด (ไม่) ลับสู่เฟรชชี่มือโปร จะแบ่งออกเป็น 2 ส่วนด้วยกัน คือสำหรับก่อนเปิดเทอมและหลังเปิดเทอมแล้ว
 
ก่อนเปิดเทอม
 
     1. วางแผน-เตรียมตัวล่วงหน้า
     คำว่า "วางแผนล่วงหน้า" ในที่นี้หมายความตั้งแต่ ศึกษาเส้นทางการเดินทางจากบ้านไปมหา'ลัย หรือ ถ้าจะอยู่หอก็ศึกษาเรื่องพื้นที่ ราคา หารีวิวหอต่างๆ ให้พร้อมและเพียงพอกับการตัดสินใจเลือก การศึกษากำหนดการต่างๆ และเตรียมตัวเองให้พร้อมทั้งวันรายงานตัวและลงทะเบียนนักศึกษาใหม่ วันติดต่อดำเนินการสำหรับคนที่กู้กองทุน กยศ. หรือ กรอ. การขอทุนประเภทอื่นๆ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งวันเปิดเทอม! (อันหลังนี่อย่าให้พลาดเชียวนะ) ข้อมูลเหล่านี้น้องๆ จำเป็นต้องรู้และดำเนินการภายในระยะเวลาที่มหา'ลัยกำหนด ไม่อย่างนั้นจะเกิดความผิดพลาดและกระทบกับอะไรหลายๆ อย่าง ชีวิตไม่ราบรื่นตั้งแต่ยังไม่เปิดเทอมด้วยซ้ำ
     นอกจากนี้ก็ยังรวมถึงการศึกษาพื้นที่รอบๆ มหา'ลัย ร้านค้า ร้านอาหาร ร้านปริ้นท์/ร้านถ่ายเอกสาร จุดโดยสารรถสาธารณะต่างๆ ฯลฯ ซึ่งข้อมูลพวกนี้น้องๆ อาจจะได้มาจากการลงพื้นที่สำรวจและสังเกตด้วยตัวเอง ค้นหาจากอินเทอร์เน็ต หรือพูดคุยกับรุ่นพี่ในมหา'ลัย (ถ้ามีรุ่นพี่ที่รู้จักแล้ว) สิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นข้อมูลที่จะช่วยให้น้องๆ ใช้ชีวิตในฐานะนิสิต-นักศึกษาได้อย่างสะดวกสบาย
 
 
 
     2. ศึกษากฎเกณฑ์ต่างๆ ให้ดี
     การอยู่ในรั้วมหา'ลัยอย่างปกติสุขก็ควรจะศึกษากฎระเบียบสถาบันเอาไว้ด้วย จะได้ระมัดระวังไม่ทำอะไรที่ผิดกฎเป็นประวัติด่างพร้อย เพราะบางทีการขอทุนหรือสมัครโครงการพิเศษบางอย่างของสถาบัน จะไม่พิจารณาคนที่เคยทำผิดกฎสถาบันบางข้อ ทีนี้พี่ก็มีกฎเกณฑ์บางอย่างที่เกี่ยวข้องกับการเรียนและน้องควรจะรู้ไว้เบื้องต้น ได้แก่
        2.1 การติดโปร คือ การที่น้องมีเกรดเฉลี่ยในเทอมนั้นๆ ต่ำกว่าที่กำหนด เช่น 2.00 คล้ายๆ เราโดนหมายหัวไว้ ว่าถ้าเทอมถัดไปเกรดเฉลี่ยยังต่ำกว่านั้นอีก น้องก็โดนรีไทร์หรือเรียกแบบสุภาพๆ ว่าเชิญให้ออกนั่นเอง แต่ก็มีบางคนที่เรียนแบบเสี่ยงมากคือติดโปรเทอมเว้นเทอม ซึ่งในลักษณะนี้จะไม่โดนรีไทร์ แต่อย่างที่บอก...เสี่ยงครับ!
        2.2 รีไทร์ หรือบางทีก็จะเรียกย่อๆ ว่า ไทร์ หมายถึงถูกเชิญให้ออกนั่นเอง (ภาษาบ้านๆ คือ โดนไล่ออก) ซึ่งก็จะได้มาจากหลายกรณีด้วยกัน เช่น ติดโปร 2 เทอมติดกัน หรือทำผิดกฎสถาบันระดับร้ายแรงซึ่งที่ใกล้ตัวที่สุดก็คือการทุจริตในการสอบมากกว่า 1 ครั้ง
        2.3 ดรอป คือการถอนวิชาเรียนในเทอมนั้นๆ เนื่องจากเวลาเราเรียนในแต่ละเทอมจะไม่มีวิชาที่ถูกกำหนดมาพร้อมกับตารางเรียนเหมือนตอนมัธยม เราต้องลงทะเบียนเรียนเองว่าจะเรียนวิชาอะไรบ้าง เรียนวันไหน วิชานั้นสอบวันไหน ต้องดูเองรู้เอง และบางครั้งน้องๆ อาจจะเรียนๆ ไปสักพักแล้วรู้สึกว่าไม่ไหวแล้ว ยากไปไม่รู้เรื่องแน่ๆ สอบไม่รอดแน่ๆ ขอไปเรียนปีหน้าแล้วกันเผื่อจะพร้อมกว่านี้ น้องก็สามารถถอนรายวิชาหรือที่เรียกว่า ดรอป ได้แล้วน้องก็จะไม่ต้องเรียนวิชานั้นในเทอมนั้นต่อ ไม่ต้องสอบวิชานั้น ไม่มีการพิจารณาคะแนนหรือเกรดจากวิชานั้น ซึ่งการดรอปก็จะมีกำหนดว่าดรอปได้ตั้งแต่เมื่อไรถึงเมื่อไรในเทอมนั้น
        2.4 เกียรตินิยม อันนี้สำหรับคนเก่ง สายเทพ สายขยัน การได้เกียรตินิยมจะมาจากเกรดของเราที่ถึงระดับที่กำหนดโดยสถาบัน (ทั้งนี้แล้วแต่ว่าที่ไหนกำหนดไว้เท่าไหร่) เช่น ของ ส.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กำหนดเกณฑ์ขั้นต่ำสำหรับเกียรตินิยมอันดับ 1 คือ 3.50 และอันดับ 2 คือ 3.25 ซึ่งนอกเหนือจากความโก้หรูและดูภาคภูมิแล้ว การเป็นเกียรตินิยมยังมีสิทธิพิเศษอีกอย่างคือลำดับการรับปริญญาของเราจะถูกเลื่อนมาอยู่อันดับต้นๆ อีกด้วย
     
     ส่วนกฎเกณฑ์อื่นๆ น้องๆ ต้องศึกษาดีๆ จากเอกสารหรือคู่มือนิสิต-นักศึกษาที่สถาบันแจก หรือสอบถามในวันปฐมนิเทศนิสิต-นักศึกษาใหม่ที่มหา'ลัยของน้องได้เลย
 
 
     3. เข้าหารุ่นพี่ ตีซี้เพื่อนใหม่
     น้องๆ รู้มั้ยครับว่าการเป็นว่าที่เฟรชชี่มันมีข้อดียังไง คำตอบก็คือ น้องๆ จะเป็นที่สนใจของบรรดารุ่นพี่ จะเห็นได้จากวันสัมภาษณ์จะมีรุ่นพี่มาคอยดูคอยพูดคุยคอยให้กำลังใจน้องๆ นี่ยังไม่รวมการเรียนปรับพื้นฐานและกิจกรรมก่อนเปิดเทอมแล้วแต่ว่าคณะไหนสถาบันไหนจะจัดอะไรอย่างไรบ้าง และโอกาสต่างๆ เหล่านี้เองที่น้องๆ จะได้เจอรุ่นพี่และเพื่อนใหม่
      ฉะนั้นพอเจอรุ่นพี่ก็พยายามทักทาย พยายามพูดคุยนั่นโน่นนี่ ถามเรื่องเรียน เรื่องกิจกรรม เรื่องหอพักหรืออะไรก็ถามไป เป็นการปูทางให้ได้รู้จักรุ่นพี่ไว้เยอะๆ เพราะพวกเขาจะเป็นที่ปรึกษาที่ดีในเรื่องการใช้ชีวิตในรั้วมหา'ลัยได้ และที่จะลืมไม่ได้ก็คือเพื่อนใหม่นั่นเอง การรู้จักเพื่อนใหม่ไว้เยอะๆ ตั้งแต่ก่อนเปิดเทอมทำให้เราไม่ต้องเสียเวลาเรียนรู้กันและกันมาก เปิดเทอมมาจะได้พร้อมไปไหนไปกัน พากันเล่น พากันเรียน พร้อมร่วมทุกข์ร่วมสุขกันจนเรียนจบ ชีวิตก็จะแฮปปี้
 
     4. ตั้งใจเรียนปรับพื้นฐาน
     อย่างที่พูดถึงแล้วในข้อ 1. ก็คือเรื่องการเรียนปรับพื้นฐานก่อนเปิดเทอม ที่บางคณะบางสาขาจัดให้กับว่าเฟรชชี่ เพื่อช่วยน้องๆ เตรียมความพร้อมสำหรับการเรียนในช่วงเปิดเทอมได้ดีขึ้น ที่มีการเรียนปรับพื้นฐานก็แสดงว่าคณาจารย์เล็งเห็นแล้วว่า ถ้ามาเรียนตอนเปิดเทอมเลยทีเดียวน้องคงจะตะลึงงัน งงเป็นไก่ตาแตกแน่ว่าที่อาจารย์พูดๆ ตอนเลคเชอร์เนี่ยมาจากไหน เกิดมาไม่เคยพบเคยเห็น เพราะฉะนั้นตั้งใจเรียนและไปเรียนให้สม่ำเสมอเถอะครับ อย่ามองว่าไม่ใช่วิชาเรียนที่มีเกรด หรือเป็นแค่ทางเลือกจะไปไม่ไปก็ได้ อย่าเพิ่งรีบทำตัวเป็นน้ำเต็มแก้วเนาะ แต่ถ้าหากไม่มีการเรียนปรับพื้นฐาน น้องๆ ก็อาจจะศึกษาหลักสูตรจากในเว็บไซต์ของคณะเพื่อดูว่าจะได้เรียนวิชาอะไรบ้าง แล้วศึกษาไว้ล่วงหน้าเองก็จะเป็นการดี
 
เปิดเทอมแล้ว
 
     5. บาลานซ์ชีวิต เรียน-กิจกรรม
    อันนี้จะเข้าสู่ช่วงเปิดเทอมแล้ว พี่บอกเลยครับว่าเฟรชชี่ปี 1 จะเนื้อหอมมาก กิจกรรมมากมายจะหลั่งไหลลงมาหาน้องๆ ไหนจะกิจกรรมเชียร์ กิจกรรมชุมนุม การเตรียมงานกีฬาสถาบัน การทำค่ายของคณะหรือสาขา ซึ่งน้องๆ ก็ต้องรู้จักการเดินสายกลางบาลานซ์เวลาในการทำกิจกรรมและทำเรื่องเรียนให้พอเหมาะพอควร พี่บอกได้เลยว่าคีย์หลักในการเรียนมหา'ลัยให้มีความสุขคือเรื่องการบริหารเวลา เวลาเรียน เวลาเล่น เวลาเที่ยว เวลาพักผ่อน
 
     
     อย่าเพลิดเพลินกับสารพัดกิจกรรมจนปล่อยปละละเลยวิชาต่างๆ ไป แต่ก็ไม่ใช่จมอยู่กับเรื่องเรียนเพียงอย่างเดียว เพราะชีวิตคือการเรียนรู้และกิจกรรมต่างๆ มอบการเรียนรู้ให้ได้มากกว่าตำราเรียนเสียอีก ทั้งทักษะการทำงานเป็นทีม การติดต่อประสานงาน การวางแผน การบริหารปัจจัยต่างๆ ยิ่งการลงฝ่ายนั้นฝ่ายนี้ตอนทำค่ายอะไรด้วยแล้วยิ่งได้ประสบการณ์เยอะเลย
 
     6. นำประสบการณ์กลับมาถ่ายทอด
     น้องๆ เคยเห็นเวลาที่รุ่นพี่กลับมาที่โรงเรียน มาเดินสวัสดีครูอาจารย์ มาเล่าประสบการณ์การเรียนให้รุ่นน้องฟัง หรือมาประชาสัมพันธ์โควตา รับตรง หรือ ค่ายของมหา'ลัย มั้ยครับ แล้วเคยรู้สึกเหมือนกันมั้ยว่ารุ่นพี่เหล่านั้นมักจะดูดีเป็นไอดอลของรุ่นน้องเวลาที่กลับมาในชุดนิสิต-นักศึกษา-เสื้อชอป
      ในข้อ 6. นี้พี่จะบอกวิธีการเป็นเฟรชชี่มือโปร ดูดี เป็นที่ชื่นชมให้ ก็คือการกลับมาโรงเรียนเก่าแบบรุ่นพี่ที่น้องเคยเห็นนั่นแหละครับ ไม่ใช่แค่กลับมาเดินเล่น แต่กลับมาเล่า มาถ่ายทอดประสบการณ์ให้รุ่นน้องฟัง หาโอกาสมาแนะนำรุ่นน้องที่กำลังค้นหาตัวเอง หรือเตรียมตัวสำหรับการเข้าคณะที่ใฝ่ฝัน เท่านี้น้องก็จะกลายเป็นเฟรชชี่ที่ดูเก่ง (แม้ว่าเกรดน้องจะออกมาดูไม่ได้ก็ตาม ฮ่า ๆ) ดูมีสง่าราศี และเป็นที่ชื่นชมของรุ่นน้อง ถือเป็นการทำประโยชน์แก่ผู้อื่นที่ไม่ต้องลงทุนอะไรมากมาย เป็นการเพิ่มคุณค่าให้กับตนเองด้วย
 
     พี่ก็หวังว่าเคล็ด (ไม่) ลับทั้ง 6 ข้อนี้จะช่วยให้น้องๆ เตรียมตัวและใช้ชีวิตเฟรชชี่กันอย่างมีความสุขพร้อมเผชิญโลกใหม่ของการศึกษาอย่างมั่นใจในตัวเอง โชคดีนะครับ
    
พี่แทรกเตอร์

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

1 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด