"หมีพู" 1 ใน Top แอดมิชชั่น 59 เผยเคล็ดลับสอบติด ฉบับเด็กไม่เรียนพิเศษ!


          สวัสดีค่ะ ผ่านแอดมิชชั่น 59 ไปยังไม่ทันไร มหาวิทยาลัยต่างๆ ก็เริ่มทยอยปล่อยรับตรง 60 ออกมาแล้วนะคะ เชื่อว่าน้องๆ เด็ก 60 หลายคน ก็คงพยายามอ่านหนังสือ และฟิตซ้อมตั้งใจเพื่อพิชิตฝันของตัวเองแน่นอน
          Admission Idol ของเราในวันนี้ พี่อีฟเลยขอพาน้องๆ เด็ก 60 ไปล้วงลึกเคล็ดลับการอ่านหนังสือ กับรุ่นพี่ที่สามารถคว้าคณะในฝัน ด้วยคะแนน GAT 277.50 คะแนน พร้อมทั้งเคล็ดลับการตั้งใจเรียนในห้อง แบบไม่เรียนพิเศษด้วย ! ไปรู้จัก พี่หมีพู ภาสชัย แก้วสนธิ กันเลยค่ะ

 

 แนะนำตัวเองกัน
          สวัสดีครับ ผมชื่อ นายภาสชัย แก้วสนธิ ชื่อเล่น หมีพู ครับ ตอนนี้กำลังเตรียมตัวเป็นนิสิตชั้นปีที่ 1 คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จบชั้นมัธยมปลายจาก โรงเรียนอัสสัมชัญสมุทรปราการ แผนการเรียนวิทย์-คณิต เกรดเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 3.85 ครับ

 จุดเริ่มต้นความสนใจกับคณะจิตวิทยา
          จุดเริ่มต้นความสนใจที่อยากจะเข้าคณะจิตวิทยา เริ่มมาจากการที่ผมอยากจะเข้าใจมนุษย์เราให้มากกว่านี้ครับ เคยมีความสงสัยว่า ทำไมคนๆ หนึ่ง ถึงได้เสียใจกับเรื่องอะไรบางอย่างเป็นระยะเวลานาน พอเห็นคนที่เศร้านานๆ เราก็อยากจะเป็นคนที่สามารถช่วยให้เขาบรรเทาความเศร้าลงได้บ้าง 
           จริงๆ ตอนแรกคณะที่อยากเข้า คือ คณะอักษรศาสตร์ ครับ เพราะเรียนวิชาภาษาอังกฤษแล้วรู้สึกว่าสนุกและทำได้ดี แต่มีเหตุการณ์ที่เป็นจุดเปลี่ยนคือ เคยมีโอกาสได้คุยกับเพื่อนคนหนึ่งซึ่งกำลังเจอกับปัญหา ทำให้เรามีความรู้สึกว่าอยากจะช่วยเหลือคนที่กำลังต้องเจอปัญหาหรือกำลังทุกข์ใจ เลยคิดว่า ถ้าเราเรียนด้านจิตวิทยา อย่างน้อยก็จะสามารถเรียนรู้วิธี เพื่อมาบรรเทาทุกข์ของเพื่อนได้ ดังนั้นเลยตัดสินใจ เบนเข็มมาที่คณะนี้แทน
          สำหรับน้องๆ หลายคน ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะบังเอิญไปเจออะไรที่จุดประกายให้เรา หรือเจออะไรที่จะกลายไปเป็นแรงบันดาลใจที่สำคัญได้ แต่ผมเชื่อว่า สิ่งที่เหมาะกับเรา เราจะสามารถรู้ได้จาก อะไรที่เราชอบทำ หรือสิ่งไหนที่เราทำได้ดี ลองสังเกตสิ่งเหล่านี้ แล้วเอามาเป็นจุดมุ่งหมายได้นะครับ


 สอบรับตรงที่ไหนบ้าง
     - คณะศิลปศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
     - คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒน์
     - BALAC หรือคณะอักษรศาสตร์ (ภาคอินเตอร์) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยครับ
     
ตอนนั้นสมัครสอบรับตรงไปสามที่ ก็ได้หมดทั้งสามที่เลยครับ

 ลองเล่าประสบการณ์สอบสัมภาษณ์ให้น้องๆ ฟังกันหน่อย
          สัมภาษณ์ที่แรกเลยก็ที่ ม.เกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสนครับ คณะศิลปศาสตร์ สาขาวิชาภาษาอังกฤษ ตอนสัมภาษณ์อาจารย์ก็จะสัมภาษณ์เป็นภาษาอังกฤษก่อน คำถามที่ถามตอนนั้นก็จะเป็นเรื่องทั่วไป ทำไมเลือกคณะนี้ จบไปจะทำงานอะไร แล้วก็สัมภาษณ์เป็นภาษาไทยถามถึงที่บ้านว่าเป็นยังไง จะให้อยู่หอไหม โดยรวมแล้วอาจารย์ที่สัมภาษณ์ใจดีมากครับ ยิ้มตลอดตอนที่สัมภาษณ์เรา ทำให้เรารู้สึกสบายใจเวลาสัมภาษณ์ด้วย
          สัมภาษณ์ที่ต่อมาก็คือมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒครับ คณะมนุษยศาสตร์ สาขาวิชาภาษาเกาหลี สัมภาษณ์เป็นภาษาไทย คิดว่าที่นี่เป็นการสัมภาษณ์ที่โหดสุดเลย 55555 อาจารย์ที่สัมภาษณ์ก็ถามครับว่า ทำไมเลือกเอกนี้ ชอบเกาหลีเหรอ แล้วพูดได้รึเปล่า วัฒนธรรมของเกาหลีที่สนใจมีไหม จบไปจะทำงานอะไร เท่าที่จำได้คร่าวๆ อาจารย์จะถามประมาณนี้ครับ
          ส่วนที่สุดท้าย ก็ที่ BALAC จุฬาฯ ครับ สัมภาษณ์เป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด มีอาจารย์สองท่านมาสัมภาษณ์เรา ท่านแรกเป็นชาวต่างชาติและอีกท่านเป็นคนไทยครับ คำถามที่อาจารย์ถาม เช่น ทำไมเลือกเรียนที่นี่ ชอบทางด้านนี้เหรอ จบไปจะทำงานอะไร จะเลือกภาษาอะไรเป็นวิชาเอก ในส่วนของเราบอกว่าจะเลือกภาษาญี่ปุ่นเป็นเอก อาจารย์ก็ถามว่าอะไรที่ทำให้เราเลือกภาษาญี่ปุ่น ได้ดูวิชาที่ BALAC มีให้ลงมารึเปล่า แล้วสนใจวิชาไหน โดยรวมอาจารย์ทั้งสองท่านใจดีมากครับ ทำให้เราไม่เครียดตลอดการสัมภาษณ์เลย


 ตัดสินใจสละสิทธิ์รับตรงมารอแอดมิชชั่น ตอนนั้นกดดันไหม
          อย่างที่บอกครับว่าตอนแรกเราสนใจคณะด้านภาษามาก่อน แต่พอมาถึงจุดที่ต้องตัดสินใจเลือก เราก็พบว่าตัวเองสนใจคณะจิตวิทยามากกว่า เหตุผลที่เลือกสละสิทธิ์รับตรงมารอแอดมิชชั่น ก็เพราะเหตุผลนี้ครับ เรารู้ตัวแล้วว่าอยากจะเข้าคณะจิตวิทยา  ถ้าถามว่าตอนนั้นกดดันหรือเครียดไหม ตัวเราก็ไม่ค่อยกดดันนะครับ แต่ครอบครัวนี่กระวนกระวายใจ และเครียดแทนเรามากกว่า พวกท่านก็กังวลแทนว่าเราจะติดรอบแอดฯ ไหม
 

 สอบ GAT PAT อะไรไปบ้าง
          ผมสอบแค่ GAT PAT1 และ PAT 7.6 ภาษาบาลีครับ จะมีวิชาที่ได้คะแนนดีที่สุด คือ GAT ครั้งที่ 1/59 ครับ ได้ 277.50 คะแนน

 เตรียมตัวนานแค่ไหนก่อนสอบ
          เตรียมตัวประมาณแปดเดือนก่อนสอบ GAT PAT รอบแรกครับ ตอนนั้นผมแบ่งเวลาตะลุยโจทย์กับอ่านหนังสือ โดยตะลุยโจทย์ผมจะให้เวลาวันละประมาณ 45 นาทีครับ หลังจากนั้น พอกลับมาถึงบ้าน ผมถือว่าเป็นช่วงเวลาให้สมองได้พักผ่อน ส่วนการอ่านหนังสือ ผมได้อ่านแค่ช่วงก่อนสอบประมาณสองอาทิตย์ครับ พยายามตั้งใจเรียนในห้องให้เนื้อหามันเข้ามาในหัวอยู่แล้ว พอเรามาอ่านหนังสืออีกทีมันก็เลยง่ายหน่อย เพราะเรามีความรู้เต็มที่จากตอนที่เรียนในห้องอยู่แล้ว ไม่ต้องเริ่มอ่านใหม่ทั้งหมด อีกอย่างผมอ่านแค่วิชาภาษาอังกฤษกับสังคมครับ เพราะวิทย์กับคณิตนี่ไม่ถนัดอยู่แล้วก็เลยเน้นอ่านเพิ่มเติมนิดหน่อยและอาศัยความรู้จากที่เรียนในห้องแทน

 เคล็ดลับสำหรับการสอบ GAT
          สำหรับ GAT ที่น่าจะเน้นก็คงเป็นพาร์ท error, vocab แล้วก็ conversation ครับ เพราะในพาร์ท reading กับแกทเชื่อมโยงมันคือเรื่องของความเข้าใจในตัวบทความนั้นๆ มันไม่มีแนวที่ตายตัว แต่อีกสามพาร์ทที่เหลือส่วนใหญ่ก็จะออกในรูปแบบที่ซ้ำๆ ถ้าเราฝึกทำโจทย์บ่อยๆ มันก็จะผ่านตาเรา แล้วเราก็จะจำมันได้เอง เวลาสอบ ถ้าเป็นข้อสอบพาร์ทเชื่อมโยง ก็บริหารเวลาให้พอกับที่เราจะจับประเด็นบทความแล้วโยงเข้าด้วยกัน เหลือเวลาไว้ตรวจอีกรอบด้วย เผื่อว่าเราใส่ผิดหรือโยงผิดไป ตรงนี้แหละที่ทำให้หลายคนโดนหักคะแนนไปนิดหน่อย เพราะไม่มีเวลากลับมาทบทวน หรือมีเวลากลับมาทบทวน แต่ก็ไม่มีเวลาแก้แล้ว ต้องปล่อยให้ผิดไป ส่วนพาร์ท Eng ให้ทำส่วน conversation กับ vocab ก่อน แล้วค่อยทำ reading เป็นส่วนสุดท้าย เพราะต้องอ่านเยอะคิดเยอะ

 เคล็ดลับสำหรับการสอบ PAT
          ถ้าเป็น PAT1 ก็จะเน้นทำโจทย์เยอะๆ แต่ต้องอ่านเนื้อหาให้แน่นมาก่อนทำนะครับ ไม่ใช่เพิ่งดูเฉลยแล้วบอกเข้าใจ ทำอีกรอบทำไม่ได้ แบบนี้ไม่ใช่นะ และระหว่างทำ พอเราทำเสร็จค่อยไปเปิดดูเฉลย ไม่ใช่ทำไปเปิดไป ผมเชื่อว่าสิ่งสำคัญที่สุด คือ การหัดทำโจทย์และแบบฝึกหัดนี่แหละ เพราะมันจะทำให้เราเห็นรูปแบบการออกข้อสอบได้ดีสุด คือได้รู้แนวทาง แล้วเราจะสามารถทำโจทย์ได้อย่างคล่องแคล่ว และเวลาที่เราเจอโจทย์เราจะไม่ลน ส่วนถ้าเป็นตอนสอบ ผมก็จะแนะนำว่าให้ทำข้อที่คิดว่าตัวเองทำได้ก่อน แล้วเวลาที่เหลือค่อยกลับไปทำข้อที่ยังพอจำแนวทางได้ สุดท้ายค่อยลงมือทำข้อที่เราคิดว่าทำไม่ได้เลย เพราะไม่แน่ว่าเดี๋ยวเราก็อาจจะคิดคำตอบออก
          ส่วน PAT 7.6 ภาษาบาลี ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการอ่านยังไงก็ต้องมีส่วนที่ต้องท่องจำ ถ้าให้แนะนำ ผมจะแนะนำให้อ่าน เล่มบาลีไวยากรณ์สีเหลืองๆ ของพระมหานิยม แล้วก็บาลีไวยากรณ์ พระนิพนธ์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า ฯ ทั้ง 4 เล่ม แล้วก็โหลดข้อสอบปีเก่าๆ มาทำดู ส่วนถ้าเป็นตอนสอบ ผมก็จะแนะนำว่าให้ทำข้อที่คิดว่าตัวเองทำได้ก่อน แล้วค่อยมาทำข้อยากๆ ทีหลัง เหมือนเดิมครับ

 

 เคล็ดลับอ่านหนังสือในแบบของเรา
         ผมตั้งใจเรียนในห้องให้เต็มที่ แล้วก็เน้นทำโจทย์ทุกวัน วันละประมาณ 45 นาที ของผมจะทำในทุกๆ พักเที่ยง แล้วพอกลับมาบ้าน ผมถือว่าเป็นเวลาพักผ่อน ซึ่งถ้าใครจะลองเอาวิธีของผมไปใช้ ก็อาจจะเลือกช่วงเวลาในการทำโจทย์ที่เหมาะสม โดยให้เข้ากับตัวเรา หรือแม้กระทั่งการพักผ่อน ก็เลือกตามความชอบ ซึ่งผมก็เลือกพักผ่อนโดยการเล่นเกมส์ออนไลน์หรืออ่านนิยายในอินเตอร์เน็ตครับ

 ได้ยินมาว่าไม่ได้เรียนพิเศษเลย
          ใช่ครับ ผมไม่ได้เรียนพิเศษเลย เน้นตั้งใจเรียนในห้องให้เต็มที่ นอกจากนี้ก็อ่านหนังสือเพิ่มเติมและทำโจทย์หรือข้อสอบเก่าๆ เพื่อทบทวน ซึ่งผมก็รู้สึกว่ามันเพียงพอแล้ว ส่วนวิชาภาษาอังกฤษที่ผมถนัด ก็เริ่มจากความชอบ ชอบมาตั้งแต่ประถม จนพอโตขึ้นเราก็เริ่มเข้าเฉพาะเว็บไซต์ภาษาอังกฤษ อ่านนิยายภาษาอังกฤษ ฝึกใช้ภาษาอังกฤษบ่อยๆ เพราะผมมองว่าอะไรที่เราชอบ และได้ใช้งานบ่อยๆ เราก็จะมีความชำนาญด้านนั้นครับ

 1 เดือนก่อนสอบ ตอนนั้นเราทำอะไรบ้าง
          หนึ่งเดือนก่อนสอบก็ยังทำตามปกติครับ อ่านหนังสือวันละ 45 นาที เรียนในห้องให้เต็มที่ กลับบ้านมาก็พักผ่อน มีติวกับเพื่อนบ้าง แต่มีช่วงสัปดาห์ก่อนสอบ ที่พยายามอ่านให้เยอะขึ้น โชคดีที่เรามีวิชาที่ต้องใช้คะแนนไม่เยอะมาก ทำให้สอบน้อย และไม่ต้องอ่านเยอะมาก สามารถเก็บทุกวิชาได้ครบ

 สนามสุดท้าย กับสนามสอบ O-NET เป็นยังไงบ้าง
          สำหรับ O-NET วิชาที่ยากทีสุดเลย คือ วิทยาศาสตร์ ครับ เพราะไม่ถนัดทางด้านนี้อยู่แล้ว เจอข้อสอบไปนี่ช็อกเลยครับ โดยเฉพาะพาร์ทดาราศาสตร์ ถึงเราจะเรียนสายวิทย์มาก็เถอะ ส่วนวิชาที่ง่ายที่สุดคิดว่าเป็นวิชาภาษาอังกฤษ เพราะถนัดวิชานี้อยู่แล้วครับ
          ส่วนคะแนนก็จะได้เยอะสำหรับวิชาที่ถนัดครับ วิชาที่ไม่ถนัดก็จะได้น้อยลงไปตามลำดับ เช่น ภาษาไทย 86 คะแนน กับ ภาษาอังกฤษ 88 คะแนน ก็จะได้คะแนนดีหน่อย ส่วนวิชาที่ไม่ถนัดอย่างวิทยาศาสตร์ก็ได้ประมาณ 53 คะแนน

 

ชีวิตมัธยมเป็นยังไงบ้าง
          ตั้งแต่ ม.ปลาย มาก็ใช้ชีวิต ม.ปลาย แบบเต็มที่ครับ เรียนเป็นเรียน เล่นเป็นเล่น กิจกรรมเต็มที่ เพิ่งจะมาเครียดจริงๆ ก็ตอนช่วงที่จะไปสัมภาษณ์รับตรงที่ต่างๆ ครับ เพราะเป็นคนที่พูดไม่ค่อยเก่ง เลยกังวลเราจะตอบคำถามอาจารย์ ว่าจะตอบคำถามได้ถูกต้องโอเคหรือเปล่า แต่พอไปวันสัมภาษณ์จริงๆ อาจารย์ทุกคนก็ใจดีมากครับ ตอนสัมภาษณ์นี่หายเกร็งเลย อาจารย์ทำให้เรารู้สึกกล้าพูดกล้าตอบ เป็นประสบการณ์ที่ดีมากครับ

ฝากถึงน้องๆ กันหน่อย
          อย่างแรกเลยคืออยากฝากเคล็ดลับถึงน้องๆ ผมคิดว่าถ้าเรามีวินัย และทำตามนี้ คิดว่าน้องๆ จะได้คะแนนดีแน่นอน
          1. แบ่งเวลาให้เป็น เช่น เวลาไหนที่ควรจะอ่านหนังสือ หรือเวลาไหนที่ควรจะพักผ่อน ไม่อยากให้อ่านหนักจนเกินไป หรือพักผ่อนมากจนเกินไป แบ่งเวลาให้ดี และอย่าเครียดเกินไป
          2. หมั่นทำแบบฝึกหัดและข้อสอบเก่าบ่อยๆ เพื่อจะจับแนวทางของข้อสอบได้ เพราะข้อสอบแต่ละวิชาจะมีรูปแบบของมันเอง ถ้าเราฝึกทำบ่อยๆ จะรู้ว่า มันจะคล้ายๆ เดิมเลย
          3. อย่าลืมบริหารเวลาในการทำข้อสอบ อาจจะฝึกตั้งแต่ตอนหัดทำข้อสอบเก่า จับเวลาทุกครั้ง และตอนทำข้อสอบจริง ก็อย่าลืมบริหารเวลาให้ทำข้อสอบได้ครบ เลือกทำข้อที่ง่ายสำหรับเราก่อน แล้วค่อยไปทำข้อที่ยาก
          4. อย่าหักโหมอ่านหนังสือมากเกินไปในช่วงก่อนสอบ เดี๋ยวจะไปสอบไม่ไหวหรือหลับในห้องสอบ เพราะสุขภาพเป็นเรื่องสำคัญ ถึงสมองจะพร้อมแค่ไหน แต่ถ้าสุขภาพไม่พร้อม ที่เราอ่านมาทั้งหมดก็อาจจะสูญเปล่า
          อยากจะบอกกับน้องๆ ว่า ทุกคนมีศักยภาพในตัวเอง เรื่องไหนที่เราอ่อน เราก็เสริมมันให้ดีขึ้น อะไรที่เราถนัด ยิ่งต้องใช้ให้เป็นข้อได้เปรียบ ไม่มีอะไรสายเกินกว่าจะเริ่ม อยากให้น้องๆ ตั้งใจทำในทุกการสอบ เพราะว่าคะแนนทุกคะแนนมีค่าจริงๆ พี่เชื่อว่าน้องทุกคนทำได้ครับ :)

 

          เป็นยังไงกันบ้างคะกับเคล็ดลับการสอบของพี่หมีพู พี่อีฟเห็นด้วยมากเลยนะคะ ว่าการตั้งใจเรียนในห้องเป็นสิ่งที่สำคัญมากจริงๆ น้องๆ หลายคนมักจะกังวลว่าถ้าไม่มีเงินเรียนพิเศษ จะสู้คนอื่นเขาได้รึเปล่า วันนี้พี่หมีพูก็ทำให้เห็นแล้วนะคะ ว่าถ้าตั้งใจเรียนในห้อง การเรียนพิเศษก็ไม่จำเป็นค่ะ น้องๆ คนไหน อยากจะเข้าคณะอะไร ก็อย่าลืมพยายามทำตามความฝันให้สำเร็จนะคะ พี่อีฟและพี่หมีพูเป็นกำลังใจให้ค่ะ
 
พี่อีฟ

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

2 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด