8 เทคนิคเรียนไม่เครียด แถมได้เกียรตินิยมพ่วงท้าย

       ไหน…ใครได้ที่เรียนในมหา'ลัยอย่างที่ตั้งใจไว้แล้วบ้าง ยกมือหน่อย! 
 
      พี่แทรกเตอร์ขอแสดงความยินดีด้วยนะครับ วันนี้พี่ก็มีประสบการณ์ส่วนตัว (ที่จบด้วยเกียรตินิยมอันดับ 1 ง่อวววว!!! ขออวดหน่อย) อยากจะมาแชร์ให้น้องๆ ได้อ่านเพื่อเป็นแนวทางสำหรับใช้เรียนในมหา'ลัยแบบ "เรียนชิวแต่เกรดดี" เพราะหลายคนตั้งเป้าไว้แล้วว่า 4 ปีจากนี้ต้องคว้าเอาเกียรตินิยมกลับมาเป็นเกียรติแก่วงศ์ตระกูลให้ได้
      ปกติแล้วถ้าไปถามใครว่าทำยังไงให้ได้เกียรติยมก็คงจะได้คำตอบว่า ตั้งใจเรียน อ่านหนังสือเยอะๆ เก็บเกรดวิชาทฤษฎีหรือทำคะแนนส่วนทฤษฎีให้เยอะๆ แล้วเกรดจะสูงได้ง่าย ซึ่งพี่ก็เห็นด้วยเพราะวิธีการแบบนี้น่าจะเหมาะกับใครหลายๆ คน แต่สำหรับพี่มันไม่ใช่! พี่มีความขี้เกียจไม่เป็นสองรองใคร มีความง่วงและหลับตอนเรียนไม่น้อยหน้าเพื่อน อ่านหนังสือก็อ่านเอาก่อนสอบไม่กี่วัน มาถึงตรงนี้น้อง ๆ ก็คงจะสงสัยกันใช่มั้ยล่ะ "มหา'ลัยมันง่ายขนาดที่ทำแบบนั้นแล้วยังได้เกียรตินิยมอยู่หรอ" 
 
       พูดมาขนาดนี้แล้วก็ต้องบอกว่าทำได้สิ ทีนี้มาเข้าสู่เคล็ดลับดีๆ กันดีกว่าว่าจะเรียนชิวยังไงแต่ยังได้เกียรตินิยม
 
     1. แบ่งเวลา บาลานซ์ชีวิต เรียน-กิจกรรม
     ต้องบอกก่อนว่าชีวิตมหา'ลัยโดยเฉพาะช่วงเฟรชชี่จะมีกิจกรรมเยอะมาก ในขณะที่การเรียนก็ค่อนข้างชิวๆ อาจารย์ไม่เคร่งครัดกับเรามาก บางคนก็อาจจะเพลิดเพลินกับกิจกรรมสารพัดไปหน่อย พี่จะบอกว่าตรงนี้ต้องระวังด้วยเพราะมันเหมือนกับดักของชีวิตมหา'ลัย เรื่องเรียนที่ว่าชิวพี่ก็ปล่อยตัวให้ชิวไปกับการเรียน แต่ไม่ได้ปล่อยตัวให้เพลิดเพลินไปกับกิจกรรมต่างๆ จนหมดตัวหมดใจ พี่พยายามบาลานซ์เวลาที่ทำกิจกรรมกับเวลาที่ทบทวนเรื่องเรียน 
     ตอนปี 1 วิชาเรียนหลายๆ วิชาเป็นของใหม่มากๆ เลยต้องหาเวลานอกห้องเรียนมาทบทวนซ้ำ มีรุ่นพี่เคยบอกมาว่าปีหนึ่งทำเกรดง่ายสุดแล้วพี่เลยตั้งใจว่าจะลองทำเกรดให้ออกมาดีๆ ดูก่อนว่าเราจะมีปัญญาทำได้แค่ไหน แล้วค่อยดูอีกทีว่าต้องขยันขึ้นหรือยืดหยุ่นกับตารางชีวิตได้ บอกเลยว่าตลอด 4 ปี ช่วงเฟรชชี่เป็นช่วงที่พี่ขยันที่สุดทำเกรดได้ดีที่สุด แล้วหลังจากนั้นก็ไม่เคยขยันหรือเกรดดีได้เท่าตอนปีหนึ่งเลย 555
     จริงๆ ไม่ว่าจะตอนปี 1 หรือปีไหนก็มีกิจกรรมทั้งนั้นซึ่งเราก็ต้องจัดเวลาให้เหมาะสม บาลานซ์แต่ละอย่างให้ลงตัว ถ้าเราเรียนไม่ค่อยทัน หัวช้า ก็ต้องแบ่งเวลาส่วนทบทบวนเพิ่มขึ้นลดเวลากิจกรรมลงบ้าง พอให้สมดุลกับการดูแลเรื่องเรียนด้วย
 
 
     2. เน้นประเด็นหลักในห้องเรียน เก็บตกเพิ่มทีหลัง
       การเรียนมหา'ลัยต่างจากมัธยมมากที่สุดตรงไหนรู้ไหมครับ คำตอบคือการสอนของอาจารย์จะพูดๆๆๆ เหมือนเล่าให้เราฟังมากกว่าสอน…ไม่มีการรอเราจด ไม่มีการบอกว่าให้จดตรงนี้ ให้อ่านตรงนี้ มีแต่พูด พูด แล้วก็พูด หรือถามให้เราตอบบ้างเป็นครั้งคราว จนกระทั่งพักเบรกหรือหมดเวลาเรียน แล้วแบบนี้น้องจะเก็บรายละเอียดทุกอย่างได้ยังไง...จริงมั้ย ? (เว้นแต่น้องจะเป็นอัจฉริยะด้านการจดจำ สามารถจำทุกสิ่งที่อาจารย์พูดได้ตลอด 3 ชั่วโมงการสอน)
       สิ่งที่น้องควรทำคือการตั้งสติหาว่าอะไรที่เป็นจุดสำคัญ อะไรที่เราไม่เคยรู้ อะไรที่เราคิดว่าหาอ่านหรือทำความเข้าใจเองทีหลังไม่ได้ก็จดๆ มาร์คๆ ตรงนั้นไว้เป็นพิเศษ หรือถ้างงมากก็ยกมือถามอาจารย์ได้เลย อาจารย์ยินดีที่จะหยุดพูดแล้วอธิบายเพิ่มเติมเสมอครับ แต่โดยปกติเด็กไทยเราไม่ค่อยชอบถาม อาจารย์ก็จะ non-stop ใส่ ถ้าเราไม่เข้าใจก็ต้องกล้าที่จะถามเพื่อประโยชน์ของตัวเราเอง 
      จากนั้นพอมีเวลาว่างก็ลองดูรายละเอียดยิบย่อยบางอย่างเพิ่มเติม หรืออ่านเพิ่มเติมช่วงใกล้สอบ (แต่ต้องมั่นใจว่าประเด็นสำคัญที่เราเน้นตอนเรียน เข้าใจจริงๆ จำได้จริงๆ ซึ่งถ้าไม่ก็มาทำให้เข้าใจทำให้จำได้ก่อน แล้วค่อยเก็บรายละเอียดยิบย่อยอื่นๆ ทีหลัง)
     สำหรับบางคนที่ชอบง่วงตอนเรียน พอรู้ตัวว่าง่วงก็ควรจะควบคุมตัวเองให้ได้ กำหนดลิมิตไว้ว่าแอบงีบได้แค่ไหนไม่ให้เสียการเรียน หรือใช้อีกเทคนิคคือแชร์กับเพือน ช่วงนี้ฉันจดแกหลับ ช่วงนั้นแกจดฉันหลับ ผลัดกันจดผลัดกันหลับเสร็จแล้วก็เอาเนื้อหาที่แต่ละคนจดมาประกอบกัน วิธีนี้จะเวิร์คมากถ้าทำกันเป็นกลุ่ม 4-5 คน จะมั่นใจได้ว่าไม่มีอะไรตกหล่นไป ฉบับรวมจะสมบูรณ์ยิ่งขึ้น
 
     3. อาศัยสรุปจากรุ่นพี่
     บางครั้งบางวิชาเราก็ไม่อยากตั้งต้นอ่านเองตั้งแต่หน้าแรกยันจบ...อย่ากระนั้นเลยรุ่นพี่ก็มี พี่รหัส พี่เทค พี่คณะ ขอสรุปเขาเลย! เขาก็เรียนมาเหมือนๆ กับเรานั่นแหละ ศรัทธาในรุ่นพี่ ศรัทธาในชีทสรุปของพี่ๆ แค่นี้เราก็จะไม่ต้องเสียเวลาอ่านหนังสือมากจนเกินไป ซึ่งการอาศัยสรุปจากรุ่นพี่เป็นเพียงแค่ไกด์บอกทางให้เราว่าจุดไหนประเด็นไหนที่เราควรเข้าใจควรจำได้ แต่ก็อย่าลืมว่าบางอย่างที่พี่ไม่ได้เขียนไว้ก็อาจมีสิทธิ์ออกมาในข้อสอบได้ ต้องใช้สรุปของรุ่นพี่ร่วมกับเนื้อหาฉบับรวมกันจากข้อ 2.
 
 
     4. ชีวิตเรา...อย่าให้ตึงเกินไป
     ข้อนี้จะออกแนวเที่ยวเล่นสักหน่อย อย่างตัวพี่ก็จะหาเวลาเล่นเกม ไปเที่ยว ดูหนัง กินบุฟเฟต์กับเพื่อน ยิ่งปีสูงขึ้นๆ ก็จะยิ่งมีเวลาให้พวกนี้มากขึ้น 555 หรืออาจรวมถึงแบ่งเวลาไว้เต๊าะรุ่นน้อง (อุ้ปส์! อันหลังไม่ควรเอาเป็นเยี่ยงอย่าง) ชีวิตมหา'ลัยอาจจะต้องใช้ความตั้งใจความพยายามมากกว่าตอนมัธยมก็จริง แต่ก็อย่าใช้ชีวิตให้ตึงเกินไป ยืดหยุ่นกับชีวิตบ้าง ถ้าจัดตารางเวลาแต่ละวันตัวเองไว้เป๊ะๆ ก็ลองยืดหยุ่นทำอะไรไม่ตรงตารางบ้างสักวัน หาช่วง relax บ้าง แล้วเราจะแฮปปี้กับการเรียนมากขึ้น พอจิตใจเบิกบานไม่เครียดสมองก็พร้อมจะรับอะไรใหม่ๆ พร้อมจะเรียนรู้อยู่เสมอ
      ต่อเนื่องจากการ relax ก็จะเป็นเรื่องการอ่านหนังสือให้ไม่เครียด อาจารย์ท่านนึงมักจะบอกกับพี่เสมอว่าวันก่อนสอบไม่ต้องอ่านแล้ว ยิ่งตอนดึกไม่ต้องอ่าน นอนดีกว่า ยิ่งใกล้สอบยิ่งอ่านยิ่งเครียดเพราะจะกลัวอ่านไม่ทัน ตอนเช้าก็ไม่ต้องอ่านแล้ว ทำให้สมองปลอดโปร่งไว้อย่าเพิ่งหาอะไรให้หนักหัว กินของหวานโดยเฉพาะช็อคโกแล็ตก่อนเข้าห้องสอบจะช่วยให้สมองยิ่งปลอดโปร่ง
 
     5. เพื่อนดีชีวิตดี จัดติวก่อนสอบ
     นอกเหนือจากการไปเที่ยว ไปกินกับเพื่อนแล้ว อีกอย่างหนึ่งที่พี่กับเพื่อนไม่เคยพลาดเลยก็คือ จับกลุ่มติวก่อนสอบ จะมีการนัดแนะกันว่าติววันไหน วิชาอะไร โดยใคร ใครถนัดวิชาไหนก็ขึ้นมาติวเขียนกระดานสอนเพื่อน บางคนอาจจะคิดว่า เพื่อนติวจะช่วยอะไร? ก็เรียนมาเหมือนกันอ่านหนังสือเล่มเดียวกัน แต่จริงๆ เพื่อนติวนี่ช่วยได้เยอะเลยนะ บางครั้งคนติวคะแนนน้อยกว่าคนฟังซะอีก 555       ซึ่งการที่เพื่อนติวแปลว่าเพื่อนสรุปความเข้าใจให้เราฟัง และถ้าเราเข้าใจได้ก็แปลว่าเราสรุปความเข้าใจจากความเข้าใจที่ถูกสรุปมาแล้วอีกทีได้ เหมือนอัญมณีที่ยิ่งเจียก็ยิ่งงาม เหมือนน้ำยิ่งกรองยิ่งสะอาดบริสุทธิ์ ยิ่งถ้าเราเป็นคนติวให้เพื่อนด้วยแล้วก็ยิ่งทำให้เราได้สรุปและทบทวนความเข้าใจของตัวเองอีกครั้งนึงด้วย
 
 
     6. พักผ่อนให้เพียงพอ 
      น้องบางคนอาจจะเคยชินกับการนอนดึก...หรือนอนเช้าเพราะทำนู่นทำนี่ไปเรื่อย เล่นเกมบ้าง ดูหนังบ้าง หรืออ่านหนังสือช่วงใกล้สอบบ้าง แต่พี่จะบอกว่าบางครั้งเรื่องการนอนการพักผ่อนก็อย่าได้มองข้ามหรือคิดว่าเราไหว เราถึก เราทนได้ เราพร้อมลุยข้ามคืน ต่อให้อ่านจบครบทุกอย่างแต่สมองล้าร่างกายอ่อนเพลีย ตอนทำข้อสอบศักยภาพของน้องจะถูกดึงออกมาไม่ครบ 100% อาจารย์ท่านนึงเคยบอกพี่ว่า ถ้าจะอ่านมาสอบแล้วอ่านจบเฉพาะบางเรื่องแต่เข้าใจถูกต้องชัดแจ้ง ยังดีกว่าอ่านจบทั้งเล่มแต่รู้หรือจำได้แบบตื้นๆ นิดๆ หน่อยๆ
      พี่เองเป็นพวกกลัวจะไม่ได้นอนมากกว่ากลัวจะทำข้อสอบไม่ได้ เพราะงั้นต่อให้อ่านไม่จบพี่ก็จะนอน 555 แต่ก็จะมาอ่านต่อแบบเก็บรายละเอียดอีกทีตอนเช้าก่อนเข้าห้องสอบ
 
     7. งานมีรีบทำรีบส่ง...อย่าดอง!
     ข้อนี้สำคัญมากครับ มหา'ลัยไม่มีการทวงงาน ไม่ตามงาน สั่งแล้วสั่งเลย ไม่ส่งก็ไม่ว่า ไม่ทำอาจารย์ก็ไม่เดือดร้อนอะไร แค่ไม่มีคะแนนสำหรับงานส่วนนั้นๆ เกรดเราก็จะน้อยกว่าเพื่อนแค่นั้นเอง เพราะงั้นพยายามทำ พยายามส่งนะครับน้องๆ ถ้ามีปัญหาติดขัดอะไรเรื่องงานที่ได้รับมอบหมายให้คุยกับอาจารย์โดยตรงทันทีอย่ามัวแต่ถามเพื่อนเพราะถ้าผิดพลาดอาจารย์ก็ไม่สนครับ ถือว่าเราไม่รับผิดชอบเอง ซึ่งการติดต่อกับอาจารย์ในระดับมหา'ลัยจะเดินเข้าไปคุยตรงๆ เลยเหมือนตอนมัธยมไม่ได้นะครับ ต้องส่งเมลนัดอาจารย์ก่อนครับว่าอาจารย์ว่างมั้ย สะดวกให้เข้าพบเวลาไหน แล้วพอนัดแล้วก็ต้องตรงเวลานะครับจะเลทไม่ได้
     ถ้ามีงานมีอะไรให้ทำนั่นแปลว่ามันคือคะแนนช่วยครับ แปลว่าอาจารย์ใจดีหาคะแนนมาค้ำจุนเกรดเราให้ ลองนึกภาพว่าบางวิชามีแต่สอบอย่างเดียวกลางภาคกับปลายภาคสิครับ พลาดแล้วพลาดเลยไม่มีโอกาสแก้ตัว ถ้าข้อสอบยากก็บายอย่างเดียวครับ  555 (วิชาที่มีแต่สอบเพียวๆ มีจริงๆ นะครับอย่าทำเป็นเล่นไป)
 
 
     8. เข้าใจธรรมชาติของการเรียนการสอบของคณะตัวเอง
     อันนี้จะแนวๆ "รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง" นิดนึง คือการเข้าใจคณะตัวเองว่าเรียนแบบไหน มีงานมีสอบแบบไหน ก็จะช่วยให้เราจัดการชีวิตให้สอดคล้องกับธรรมชาติของการเรียนสาขาตัวเองมากขึ้น
     ยกตัวอย่างสักหน่อย เช่น คณะครุศาสตร์คนเรียนเป็นครูนั่นเอง ซึ่งการเรียนคณะนี้อาจจะเน้นที่การศึกษาหลักการ วิธีการ และแบบแผนเป็นสำคัญ อาจจะเน้นที่การศึกษาและจัดทำรายงาน/โครงงาน หัดทำสื่อการสอน ก็ต้องแบ่งเวลาสำหรับการอ่านตำรา การศึกษาค้นคว้า และการทำงานตรงนี้เยอะสักหน่อย คณะเทคโนโลยีสารสนเทศหรือคณะไอทีก็จะมีการทำมินิโปรเจคในรายวิชา อย่างการเขียนเว็บ การเขียนโปรแกรม หรือการทำสื่อมัลติมีเดีย ก็จะต้องเน้นที่การฝึกหัดการลงมือปฏิบัติจริงเพื่อให้เกิดความชำนาญและสามารถทำมินิโปรเจคเหล่านี้ได้อย่างไม่ยากเย็น ส่วนคณะแพทยศาสตร์นี่ยิ่งไม่ต้องพูดถึง ทั้งการอ่านตำรา เน้นทั้งความจำและความเข้าใจ ยิ่งปีสูงๆ ยิ่งเข้าแลปปฏิบัติการมากขึ้น เน้นปฏิบัติ การเห็นจริงเข้าใจของจริง เวลาพักอยู่ไหน ตอบ!  555
     
     ทั้งหมดนี้ดูเหมือนเกียรตินิยมจะง่ายเนาะ แต่มันก็ไม่ได้ง่ายขนาดนั้นหรอกครับ เพียงแต่ 8 ข้อนี้มันพอจะช่วยส่งเสริมการเรียนและการใช้ชีวิตในมหา'ลัยของน้องได้ อย่างน้อยก็ช่วยให้น้องเรียนดี เกรดดี หรืออาจช่วยให้น้องได้เกียรตินิยมเหมือนอย่างพี่ก็ได้ หวังว่าวิธีของพี่จะเป็นประโยชน์กับการเรียนของน้องๆ นะครับ วันนี้ขอลาไปก่อน...สวัสดีครับ
พี่แทรกเตอร์

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

tenkujang Member 27 มิ.ย. 59 20:59 น. 1

ขอบคุณมากค่า อยากรู้เกี่ยวกับการเรียนของคณะบัญชีจังเลย ใครใจดีรบกวนช่วยแนะนำหน่อยนะค้า ว่าควรเรียนอะไรแบบไหน มีตรงไหนที่ควรเตรียมตัวหรือระวังเอาไว้ก่อน ขอบคุณล่วงหน้าค่ารักเลย. #utcc59

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด
Zane Ter Member 20 พ.ค. 61 20:46 น. 3-1

ก็พอเป็นไปได้ครับ แต่สำหรับบางคณะ สาขา บางมหาวิทยาลัย ที่ใช้เกรดเป็นตัวตัดสินหลักๆ ด้วย หรือใช้เป็นเกณฑ์ในการสมัครอะไรแบบนี้ ถ้าเกรดเราน้อยหน่อยก็อาจมีคู่แข่งเยอะขึ้น หรืออาจไม่ผ่านเกณฑ์ได้ครับ

0
กำลังโหลด

4 ความคิดเห็น

tenkujang Member 27 มิ.ย. 59 20:59 น. 1

ขอบคุณมากค่า อยากรู้เกี่ยวกับการเรียนของคณะบัญชีจังเลย ใครใจดีรบกวนช่วยแนะนำหน่อยนะค้า ว่าควรเรียนอะไรแบบไหน มีตรงไหนที่ควรเตรียมตัวหรือระวังเอาไว้ก่อน ขอบคุณล่วงหน้าค่ารักเลย. #utcc59

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด
Zane Ter Member 20 พ.ค. 61 20:46 น. 3-1

ก็พอเป็นไปได้ครับ แต่สำหรับบางคณะ สาขา บางมหาวิทยาลัย ที่ใช้เกรดเป็นตัวตัดสินหลักๆ ด้วย หรือใช้เป็นเกณฑ์ในการสมัครอะไรแบบนี้ ถ้าเกรดเราน้อยหน่อยก็อาจมีคู่แข่งเยอะขึ้น หรืออาจไม่ผ่านเกณฑ์ได้ครับ

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด