ตามติด 1 วันชีวิตการทำงาน "นักวิจัย" ผู้ค้นพบความรู้ใหม่ๆ บนโลกใบนี้!

สวัสดีค่ะน้องๆ ชาว Dek-D.com ... เจอกับ พี่เป้ และสกู๊ปพิเศษ A day in life ที่จะพาไปตามติดชีวิตหนึ่งวันเต็มๆ ของอาชีพในฝันค่ะ ห่างหายกันไปนานมากกก วันนี้กลับมาพร้อมกับอาชีพทางสายวิทย์ที่น่าสนใจมากๆ และหลายคนน่าจะสงสัยว่า วันหนึ่งเค้าทำอะไรกันนะ??


    หากพูดขึ้นมาว่า "นักวิจัย" น้องๆ คงนึกถึงภาพนักวิจัยในห้องแล็บกันแน่ๆ แต่จริงๆ แล้วคำว่านักวิจัยนั้นกว้างมากค่ะ ทุกศาสตร์ทุกสาขาวิชาล้วนมีการวิจัย อาจจะเป็นนักวิจัยทางด้านภาษา นักวิจัยทางด้านสังคมศาสตร์ หรือนักวิจัยทางด้านการศึกษาก็ได้ ดังนั้นหากจะหมายถึงนักวิจัยที่คิดค้นพัฒนางานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ เราจะเรียกว่า นักวิจัยทางวิทยาศาสตร์ นั่นเอง

ทีมงานเว็บเด็กดีดอทคอม ได้รับโอกาสให้เข้าไปพูดคุยกับนักวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่ ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. เพื่อสัมภาษณ์นักวิจัย 2 ท่านที่เราจะไปตามติดชีวิตเช้าจรดเย็นว่าทำอะไรกันบ้าง รับรองว่าเห็นภาพชัดเจนเลย!

ดร.คมสันต์ สุทธิสินทอง (ดร.ปอนด์)


ปริญญาตรี : คณะวิทยาศาสตร์ สาขาเคมี
มหาวิทยาลัยศิลปากร
ปริญญาโท-เอก : คณะวิทยาศาสตร์
สาขาเคมีอินทรีย์ Oregon State University
สหรัฐอเมริกา
ปัจจุบัน :นักวิจัยสังกัดห้องปฏิบัติการวัสดุ
นาโนเฉพาะทางและโครงสร้างพื้นผิว
ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ สวทช.

 

ดร. ปอนด์เล่าว่า ตั้งแต่ตอนมัธยม จะชอบเรียนวิชาเคมีมาก เพราะเคมีจริงๆ แล้วเป็นเรื่องใกล้ตัวมาก เช่น อาหารที่เราทานเข้าไป การดูดซึมและการย่อยอาหารก็ถือเป็นเรื่องทางเคมีแล้ว จึงสอบทุน พสวท. (ทุนพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี) เข้ามาเรียนในคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เมื่อจบปริญญาตรี ได้สอบชิงทุนกระทรวงวิทยาศาสตร์ เดินทางไปเรียนต่อด้านเคมีอินทรีย์ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา หลังเรียนจบก็กลับมาทำงานใช้ทุนที่ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ สวทช.

สำหรับหน้าที่ในหนึ่งวันของ ดร. ปอนด์ นั้น จะแตกต่างกันไปในแต่ละวันค่ะ นักวิจัยสามารถบริหารเวลาในการทำงานของตนเองได้ตามความเหมาะสม ไม่มีข้อกำหนดที่ตายตัวว่าต้องทำอะไรเวลาไหน อย่างตอนเช้าวันนี้ ดร.ปอนด์เริ่มต้นการทำงานด้วยการเข้าฟังการนำเสนองานของนักศึกษาที่เข้ามาฝึกงาน นักศึกษากลุ่มนี้นำเสนอเรื่องการสังเคราะห์สาร ซึ่งต้องนำเสนองานเป็นภาษาอังกฤษด้วย สำหรับนักศึกษาที่เข้ามาฝึกงานที่นี่ ก็จะได้รับมอบหมายงานจากพี่ๆ นักวิจัยในรูปแบบต่างๆ ซึ่งอาจจะเป็นโครงการวิจัยระยะสั้นใหม่ๆ หรืองานที่สนับสนุนโครงการของนักวิจัยที่มีอยู่แล้ว

เสร็จจากร่วมฟังการนำเสนองานของนักศึกษาแล้ว ดร. ปอนด์ก็จะเข้าไปทำงานอยู่ในห้องปฏิบัติการค่ะ เพราะมีโครงการวิจัยที่ทำค้างอยู่ (บางวันก็อยู่ยาวถึงดึกเลย) สงสัยกันใช่มั้ยคะว่าโครงการที่นักวิจัยทำนั้นมาจากไหน?? บอกเลยว่ามาจากหลายทางค่ะ เช่น

  • ได้รับการมอบหมายจากทางผู้บริหาร อาจจะเป็นผู้บริหารจากกระทรวง มอบหมายงานผ่านมาที่ผู้บริหารตามสายงาน เมื่อเรื่องมาถึงผู้บริหารศูนย์แห่งชาติ ก็จะมีการพิจารณาก่อนมอบหมายมายังทีมนักวิจัยที่เกี่ยวข้อง
  • คิดค้นขึ้นมาเอง โดยจะเขียนโครงการวิจัยตามกรอบงานตามความถนัดที่เรียนมา ซึ่งนักวิจัยทุกคนจะต้องมีโครงการวิจัยของตนเองที่สามารถต่อยอดหรือถ่ายทอดสู่เอกชนได้ มีต้นแบบ มีสิทธิบัตร รวมถึงการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการต่างๆ
  • โจทย์จากภาคเอกชนติดต่อเข้ามาให้เราช่วย มีทั้งโจทย์ที่เป็นปัญหาหรือการพัฒนางานใหม่ๆ งานในลักษณะนี้ก็จะเรียกว่า งานรับจ้างวิจัย คือเป็นงานที่จะตอบโจทย์ภาคเอกชน เช่น เอกชนมีปัญหาเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์หรือการผลิต เอกชนจะมาปรึกษาและนำปัญหามาเพื่อให้นักวิจัยพัฒนาให้ได้สิ่งที่ดีกว่า อาจจะงานในรูปแบบการร่วมวิจัย คือทำงานไปด้วยกัน ซึ่งในกรณีนี้ ก็มีข้อกำหนดว่า ทาง สวทช. จะถือหุ้นไม่เกิน 20% เพื่อให้เอกชนได้มีอำนาจในการบริหารและเป็นเจ้าของกิจการอย่างเต็มที่
 

อย่างงานวิจัยที่ ดร. ปอนด์ รับผิดชอบ ก็จะเป็นเรื่องของ การนำนาโนเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในด้านต่างๆ เช่น ถ้าใช้อนุภาคนาโนมาทำครีมบำรุงผิว มันก็จะซึมเข้าชั้นผิวได้ดีมากๆ หรือการใช้อนุภาคนาโนของทองคำในการทำเป็นวัสดุตรวจวัด โดยอาศัยคุณสมบัติของขนาดระดับนาโนที่แตกต่างจากขนาดระดับใหญ่ ก็จะทำให้เกิดคุณสมบัติพิเศษขึ้นด้วย แต่สำหรับ ดร. ปอนด์ ก็จะเน้นเป็นนาโนเทคโนโลยีในเรื่องของพลังงาน การเกษตร และการแพทย์ อย่างช่วงนี้ก็จะเป็นเรื่องของการศึกษายาต้านวัณโรคที่กำลังทำวิจัยร่วมกับอาจารย์มหาวิทยาลัยค่ะ

 

งานวิจัยแต่ละเรื่องแต่ละโครงการจะใช้เวลาในการทำมากน้อยต่างกัน ปกติก็จะใช้เวลาเป็นเดือน แต่บางโครงการอาจต้องทำยาวไปหลายปีเลยก็มีค่ะ และเมื่อได้ผลงานออกมาแล้ว หากไม่ใช่งานที่รับจ้างวิจัย ก็จะต้องมีการนำผลงานนั้นๆ ไปเสาะหาผู้ประกอบการที่สนใจและถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ งานในส่วนนี้นักวิจัยไม่ต้องทำเอง จะมีฝ่ายพัฒนาธุรกิจและการตลาดเป็นผู้ช่วยเสาะหาผู้ประกอบและทำการประสานงานให้ เป้าหมายก็เพื่อหารายได้เข้ามายังหน่วยงานนั่นเองค่ะ

  • สารเคลือบเปลี่ยนสีเพื่อกรองแสงและความร้อน
  • ปุ๋ยคีเลตเพื่อลดการสูญเสียธาตุอาหาร
  • สารต้านโรค HIV (TAF)
  • ฮอร์โมนและยาปราบศัตรูพืช ควบคุมการปลดปล่อยโดยแสง
  • สารต้านโรควัณโรค
 

ส่วนช่วงเย็นก่อนเลิกงาน ดร. ปอนด์ใช้เวลาที่เหลือมาสรุปผลการทดลองค่ะ ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ต้องจดไว้หมดทุกอย่าง โดย ดร.ปอนด์ บอกว่าข้อสำคัญเลยคือเราต้องซื่อสัตย์ต่อผลการทดลอง ต้องบันทึกจริงตามนั้น จะโกงผลการทดลองไม่ได้เด็ดขาด นอกจากนั้นนักวิจัยก็ต้องทำงานเอกสารด้วยเหมือนกัน เช่น เขียนเนื้อหาโครงการ (project) เพื่อใช้ขอทุนจากหน่วยงาน ทำรายงานสรุปผล ทำเอกสารสั่งซื้อสารเคมี หรือแม้แต่เอกสารการจ้างงานผู้ช่วยหรือเจ้าหน้าที่ของห้องปฏิบัติการ ก็เป็นสิ่งที่นักวิจัยต้องดูแลด้วยตัวเอง และนี่ก็คือ 1 วันในวันนี้ของ ดร. ปอนด์ ค่ะ

ดร.ธันยกร เมืองนาโพธิ์ (ดร.เอิ๊ก)


ปริญญาตรี : คณะวิศวกรรมศาสตร์
สาขาวิศวกรรมเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ปริญญาโท-เอก : คณะวิศวกรรมศาสตร์
สาขาวิศวกรรมเคมีและชีวโมเลกุล
Lehigh University สหรัฐอเมริกา
ปัจจุบัน :นักวิจัย สังกัดห้องปฏิบัติการ
จัดเรียงโครงสร้างและอนุภาคระดับนาโน
ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ สวทช.


     มาที่ ดร. อีกท่านหนึ่ง นั่นคือ ดร. เอิ๊ก ... โดย ดร. เอิ๊ก เล่าว่า มีความสนใจด้านวิศวกรรมมาตั้งแต่เด็ก เพราะทั้งคุณพ่อคุณแม่ต่างก็เป็นอาจารย์ในคณะวิศวกรรมศาสตร์ พอโตมาก็ชอบเรียนวิชาฟิสิกส์และคณิตศาสตร์ ดังนั้นจึงชัดเจนมากๆ ว่าจะสอบเข้าเรียนทางด้านวิศวกรรมศาสตร์แน่นอน ในที่สุดก็เรียนจบปริญญาตรี-โท สาขาวิศวกรรมเคมี ที่จุฬาฯ และสอบชิงทุนกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปเรียนต่อที่สหรัฐอเมริกา และกลับมาทำงานที่ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ สวทช.ค่ะ

หากถามว่า วิศวกรรมเคมี คืออะไร? คำตอบก็คือ การออกแบบ ควบคุม และพัฒนาระบบเครื่องมือที่เกี่ยวข้องกับสารเคมี เช่น หอกลั่น เตาปฏิกรณ์ โดยใช้หลักการทางกายภาพเคมี และชีวภาพ ซึ่่งเราต้องสามารถออกแบบ สร้าง และควบคุมสิ่งเหล่านี้ให้มีความเหมาะสมต่อการใช้งานมากที่สุด ดังนั้นจึงเป็นศาสตร์ที่ได้ใช้ความรู้ทางวิศวกรรมศาสตร์และวิทยาศาสตร์ร่วมกัน

สำหรับในช่วงเช้า ดร.เอิ๊ก ก็เข้าไปร่วมฟังการนำเสนองานของน้องๆ นิสิตนักศึกษาฝึกงานที่มาอธิบายผลการทดลองให้ฟังค่ะ ส่วนตอนบ่ายถึงเย็นก็ใช้เวลาในห้องแล็บตลอดทั้งวันเลยค่ะ

อย่างผลงานที่กำลังดำเนินการในช่วงนี้ก็คือ Solar Concentrator หรือระบบรวมแสงอาทิตย์ เป็นโปรเจคต์ที่ภาคอุตสาหกรรมมาจ้างให้ช่วยวิจัย คอนเซ็ปต์ของเจ้า Solar Concentrator ก็คือ เมื่อมีแสงแดดตกกระทบที่แผงสะท้อนทรงโค้ง เจ้าแผงสะท้อนทรงโค้งจะทำหน้าที่รวมแสงอาทิตย์มายังท่อที่เคลือบด้วยสารที่มีคุณสมบัติในการดูดซับแสง แสงอาทิตย์จะถูกเก็บในรูปของความร้อนเพื่อนำไปใช้กับระบบอื่นๆต่อได้ ดังนั้นจึงต้องพัฒนาตัวรับแสงอาทิตย์ให้สามารถรับแสงอาทิตย์ได้มากที่สุด เป็นงานที่ทำร่วมกับนักวิจัยอีกเกือบ 10 ท่านทีเดียวและเริ่มทำมาได้ประมาณ 2 เดือนแล้วค่ะ (ในภาพเป็นตัวอย่างที่นำมาศึกษาเท่านั้น)

  • พัฒนาสารเคลือบสะท้อนน้ำ ยกตัวอย่างเช่น หากเราปูกระเบื้องในบ่อทิ้งไว้เป็นเวลานาน ตะไคร่อาจจับตัวเป็นคราบติดบนกระเบื้อง การจะโละกระเบื้องขึ้นมาทำความสะอาดถือเป็นเรื่องยากและเปลืองค่าใช้จ่าย ดร. เอิ๊กจึงได้ร่วมค้นคว้าสเปรย์ที่ใช้เคลือบวัตถุ เมื่อฉีดสเปรย์นี้ลงบนวัตถุนั้นๆ จะทำให้วัตถุนั้นไม่เลอะหรือเปื้อนแต่อย่างใดค่ะ (ถ้าหยดน้ำลงบนวัตถุที่เคลือบสเปรย์นี้ น้ำจะจับตัวเป็นก้อน พอใช้มือปัด มันก็จะกระเด็นออกไปเหมือนปัดฝุ่นเลยค่ะ น่าทึ่งมากๆ) โปรเจคต์นี้ใช้เวลาทำ 9 เดือนเลยโดยทำร่วมกับนักวิจัยท่านอื่น
  • ซับสเตรตสำหรับตรวจสารเคมี เช่น เราจะตรวจหายาฆ่าแมลงบนพืช แต่มีสารยาฆ่าแมลงติดอยู่น้อยมากๆ เราก็จะใช้เครื่องมือนี้มาช่วยเพื่อขยายสัญญาณ ทำให้สามารถตรวจสอบได้ค่ะ


     ก่อนกลับบ้าน ดร. เอิ๊ก ใช้เวลาอีกเล็กน้อยในการค้นคว้าหาวารสารทางวิชาการมาอ่านเพื่ออัพเดตความรู้ใหม่ๆ ของต่างประเทศ ซึ่งเป็นอีกหน้าที่สำคัญที่นักวิจัยควรทำเพื่อเพิ่มพูนความรู้ให้ตัวเองค่ะ


     ดร. เอิ๊กปิดท้ายว่า งานนักวิจัยถือว่าเป็นงานที่มีเสน่ห์มาก เพราะเราจะได้ทำในสิ่งที่ยังไม่มีใครทำ ได้คิดค้นอะไรใหม่ๆ ดังนั้นจึงเหมาะกับน้องๆ ที่ชอบความท้าทาย ความตื่นเต้น และทำอะไรไม่ซ้ำใคร ส่วนน้องๆ คนไหนสนใจเป็นนักวิจัยในอนาคต ก็ต้องตั้งใจเรียนจนจบปริญญาเอก และให้หาโอกาสเข้าไปดูงาน เช่น งานเปิดบ้านของ สวทช. ที่จะได้พบและพูดคุยกับนักวิจัยอย่างใกล้ชิด หรือการเข้าค่ายของคณะต่างๆ ก็ได้ค่ะ

ช่างสังเกต ไม่ว่าผลการทดลองออกมาเป็นแบบไหน เราต้องสังเกตว่ามีอะไรผิดปกติมั้ย หรือมีอะไรน่าสนใจที่น่านำมาค้นคว้าต่อ

รอบคอบ ระมัดระวัง งานที่เราทำนั้นต้องเกี่ยวข้องกับสารเคมีอันตรายตลอดเวลา จึงต้องมีความรอบคอบ รวมไปถึงการบันทึกผลต่างๆ ที่ต้องจดข้อมูลอย่างละเอียดยิบต้องลงรายละเอียดทุกขั้นตอน จะจดสั้นๆ ไม่ได้

ใฝ่รู้ใฝ่เรียน เป็นนักวิจัยต้องไม่หยุดพัฒนาตัวเอง หาข้อมูลว่าคนอื่นทำอะไร นักวิจัยประเทศอื่นเค้าทำอะไรไปแล้วบ้าง

  สำหรับเงินเดือนนั้น หากเป็นระดับนักวิจัย ตามระเบียบการจะอยู่ที่ประมาณ 35,000 บาทและอาจจะมีเงินพิเศษเพิ่มเติมค่ะ ... ด็อกเตอร์ทั้งสองท่านปิดท้ายว่า นักวิจัย ถือเป็นบุคลากรทางวิทยาศาสตร์ที่ขาดไม่ได้ ไม่อย่างนั้น บ้านเราก็จะไม่มีองค์ความรู้ใหม่ๆ ที่คิดค้นขึ้นมาเอง ทำให้เราต้องซื้อและนำเข้าจากประเทศอยู่เรื่อยๆ ดังนั้นหากน้องๆ คนไหนสนใจมาด้านนี้ ขอสนับสนุนเต็มที่เลย อยากให้มาเรียนกันเยอะๆ!! เพราะจากที่ด็อกเตอร์ทั้งสองท่านเคยไปใช้ประสบการณ์ในต่างประเทศ บอกเลยว่าเด็กเก่งๆ ในต่างประเทศส่วนมากนิยมเรียนทางด้านวิทยาศาสตร์กันมากค่ะ

สุดท้ายนี้ ทางเว็บไซต์เด็กดีดอทคอมต้องขอขอบพระคุณทั้งด็อกเตอร์ปอนด์และด็อกเตอร์เอิ๊ก ที่อนุญาตให้พวกเราได้ไปตามติดชีวิตหนึ่งวันเต็มๆ รวมถึงขอขอบพระคุณทาง ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ สวทช. ที่อำนวจความสะดวกมา ณ ที่นี้ด้วยค่ะ และ A day in life ตอนหน้าจะพาไปติดตามอาชีพอะไร รอติดตามได้เลย สัญญาหาว่าจะไม่หายไปนานๆ อีกแล้วจ้า

พี่เป้
พี่เป้ - Columnist มนุษย์บ้างานและบ้านวด ผู้ตกหลุมรักปลาแซลมอน การนอน และและออฟฟิศ

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

6 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด

ความคิดเห็นนี้ถูกลบเนื่องจาก

ถูกลบโดยทีมงาน เนื่องจากงดตั้งกระทู้วิจัย โครงงาน หรือใช้พื้นที่เว็บบอร์ดเพื่อการส่งการบ้าน เนื่องจากเป็นการรบกวนผู้ใช้บอร์ดท่านอื่นๆ ขออภัยในความไม่สะดวก

กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด