"ป่าน" เผยเคล็ดลับการอ่าน GAT ให้ติดรอบรับตรง แบบที่ทุกคนก็ทำตามได้!


          สวัสดีค่ะ ในสนามสอบรับตรงที่กำลังเปิดรับ เชื่อแน่ว่าน้องๆ หลายคนก็คงมีเป้าหมายไว้ในใจ ว่าอยากติดจะคณะที่ตัวเองใฝ่ฝันแน่นอน แต่ยิ่งเป็นรอบรับตรงด้วยแล้ว การแข่งขันยิ่งสูงกว่าเป็นธรรมดา ดังนั้น อย่าลืมความตั้งใจกับทุกคะแนนที่ใช้ยื่นรับตรงด้วยนะคะ
           วันนี้ Admission Idol ของเรา พี่อีฟก็เลยขอพาไปทำความรู้จักกับ พี่ป่าน ธันย์ชนก พันธุ์เดช ที่จะมาเล่าเรื่องราวความตั้งใจจนติดรับตรงคณะในฝัน ซึ่งถึงแม้คะแนนจะไม่สูงมาก แต่ถ้าเลือกที่เหมาะกับเรา ก็สามารถติดรับตรงที่ต้องการได้ เราไปดูกันเลยดีกว่าค่ะ ว่าพี่ป่านมีเคล็ดลับยังไงบ้าง

 

แนะนำตัวให้น้องๆ รู้จักกันหน่อยค่ะ
          สวัสดีค่ะ น้องๆ ในเว็บไซต์ Dek-D ทุกคน พี่ชื่อ ป่าน นะคะ :) ธันย์ชนก พันธุ์เดช ตอนนี้กำลังเรียนอยู่คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีค่ะ จบชั้น ม.ปลาย จากโรงเรียนแก่นนครวิทยาลัย แผนการเรียนวิทย์-คณิตฯ ค่ะ GPAX จบ แอบอายเหมือนกันนะ เกรดอาจไม่สูงเท่าไหร่ค่ะ ประมาณ 3.51

ไม่อยากเรียนสายวิทย์ แต่มาจบที่เภสัชศาสตร์
          ต้องบอกก่อนเลยว่า ถึงแม้จะเป็นเด็กสายวิทย์ ที่พยายามตั้งใจเรียนมาตลอด แต่พอถึงเวลาที่ต้องตัดสินใจจริงๆ หรือพอถึงเวลาที่ต้องเลือกคณะ เรากลับอยากเรียนคณะที่เป็นสายศิลป์ เช่น อักษรศาสตร์ หรือ นิเทศศาสตร์ มากกว่า ตอน ม.6 เราเหมือนเด็กทั่วไปเลย เพื่อนๆ ยื่นใบสมัครไปที่ไหน เราก็ลองยื่นตามด้วย แต่คณะเภสัชศาสตร์ เรายื่นใบสมัครไปแค่มหาวิทยาลัยเดียว ก็คือที่นี่ ทั้งๆ ที่เราไม่เคยคิดจะเรียนคณะนี้มาก่อนเลย แต่พอติด เราก็ลองไปสัมภาษณ์ แล้วรู้สึกว่ามันอาจจะเป็นโชคชะตา เพราะเราเหมือนมีความเกี่ยวข้องกับคณะนี้หลายเหตุการณ์ เช่น ตอนเด็กๆ เราเคยมาส่งพี่เรียนที่คณะนี้ โดยที่ตอนนั้นก็ยังเด็กมาก แล้วคุณป้าก็พูดว่า "สำรวจไว้นะ เผื่อได้มาเรียน" ตอนนั้นเราก็คิดว่าคงไปไหนไม่ได้แน่ๆ :)
          อีกเหตุการณ์หนึ่ง ช่วงที่เราสอบติด เราก็นึกไปถึงตอนสมัยประถม คุณครูเคยให้ไปสัมภาษณ์คนในหมู่บ้าน เราก็สัมภาษณ์คุณยายคนหนึ่งที่อยู่บ้านคนเดียวและต้องดูแลตัวเอง เราเห็นใจคุณยายมาก ไม่รู้จะทำยังไง เลยไปเลือกซื้อยาสามัญประจำบ้านชุดใหญ่ไปแขวนไว้ให้คุณยาย พอนึกย้อนกลับไปตอนนั้นจำได้ว่าสุขใจมาก
          เราก็กลับมาคิดว่า การเรียนด้านสุขภาพก็สามารถสร้างความสุขให้คนอื่นได้ เหมือนกับสายนิเทศศาสตร์ เราแค่แตกต่างจากงานสายบันเทิงหรือสายนิเทศฯ ตรงที่เราใช้ยารักษาโรคเป็นสื่อที่ทำให้คนมีความสุข ก็เลยทำให้เราคิดว่ามันคือโชคชะตา ที่ทำให้เราวนเวียนอยู่กับยาค่ะ


ถึงจุดที่ต้องเลือก มีวิธีค้นหาตัวเองยังไง ว่าคณะไหนเหมาะกับเรา
          พอถึง ม.6 ชีวิตก็มาถึงจุดที่ต้องเปลี่ยนและต้องตัดสินใจอะไรหลายๆ อย่าง ซึ่งเราก็ต้องเลือกหนึ่งอย่าง บนทางที่แสนสับสนนี้ เราก็เลยต้อง "ถามตัวเอง" ค่ะ ลองเปรียบเทียบจากประสบการณ์ที่ผ่านมาว่า เราชอบอะไร เรามีความสุขที่ได้ทำอะไร และอะไรคือสิ่งที่ต้องการเมื่อจบจากคณะนั้น ในชีวิตจริงมันมีเหตุผลและตัวแปรมากกว่าความฝัน เราต้องทำทั้งสองอย่างให้ลงตัว สิ่งสำคัญในการจะตอบตัวเองให้ได้คือ ต้องซื่อสัตย์กับคำตอบที่ให้กับตัวเอง เราอยากเห็นตัวเอง เป็นยังไง เราก็เลือกสิ่งนั้น และต้องมองในความเป็นจริงด้วยค่ะ
 

ตั้งแต่ขึ้น ม.6 สมัครสอบรับตรงอะไรไปบ้าง
          สมัครไปหลายที่มากๆ ค่ะ เรียกได้ว่าตอนนั้นมหาวิทยาลัยไหนดังๆ ที่เด็ก ม.6 ต้องยื่น ก็ยื่นคะแนนไปแทบทุกที่ที่มีคณะที่เราสนใจ อย่างของปีเรา ก็จะมีสนามสอบ มศว ที่เป็นสนามแรกๆ ที่เด็ก ม.6 ไปสอบกัน แต่ตอนนั้นเราไม่ได้ลงค่ะ เพราะเรารู้ว่าตัวเองไม่พร้อม เราก็ไม่อยากไปเสียเงินเปล่า แต่นอกจากนั้นก็มีรับตรงที่เราสนใจ ก็ไปสอบแล้วติด เช่น
          - คณะครุศาสตร์ เอกภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย
          - วิทยาลัยพยาบาลพระบรมราชชนนี
          - พยาบาลทหารอากาศ
          - สำนักวิชาการจัดการ สาขาการบัญชี มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
          - คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
          - คณะครุศาสตร์ เอกภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

          
สนามสอบ GAT PAT กับการเตรียมตัว
          บอกตามตรงว่าตอน ม.6 เป็นคนที่ไม่สนใจค้นคว้าดูเกณฑ์คะแนนการรับเข้าเลยค่ะ เพราะเราถือคติว่า ไม่ว่ามหาวิทยาลัยจะมีเกณฑ์เท่าไหร่ เราก็ควรทำให้ดีที่สุด เยอะที่สุดเท่าที่จะทำได้  แต่ตอนนี้มองย้อนกลับไป  ก็อยากจะแนะนำให้น้องๆ ดูให้ดีนะคะ ว่าเกณฑ์คะแนนหรือสัดส่วนในแต่ละพาร์ทเป็นเท่าไหร่ เพราะการมีเป้าหมายทำให้เรามีความมุ่งมั่นเพิ่มขึ้นค่ะ
          ส่วนการเตรียมตัวก่อนสอบ GAT PAT ถ้ามองภาพรวม จริงๆ เราทำมาเรื่อยๆ นะคะ อ่านหนังสือ ทำความเข้าใจแต่ละบทให้เคลียร์ไปเรื่อยๆ เพราะเนื้อหาจะเยอะมาก GAT PAT เป็นสนามที่มีเวลาเยอะค่ะ เราใจเย็นได้ แต่ต้องไม่วางใจ เราก็ทำทุกวัน ไม่ต้องรีบทำโจทย์อัดแน่นมากก็ได้ แต่ต้องมั่นใจว่าเนื้อหาเก่าๆ ที่ผ่านมาเราเข้าใจอย่างถ่องแท้แล้ว
          ตอนนั้นพอไปสอบคะแนนเราก็ไม่ได้สูงมากจนโดดเด่น แต่เราก็โอเคแล้ว GAT ได้ 249 คะแนน แบ่งเป็นพาร์ทเชื่อมโยง 146.5 คะแนน พาร์ทอังกฤษ 102.5 คะแนน  PAT1 36 คะแนน (ตอนสอบสัมภาษณ์อาจารย์ถามว่าทำไมได้น้อยจัง อายมากค่ะ55555 ) PAT2 132 คะแนน และ PAT5 215 คะแนนค่ะ
          ต้องบอกว่าตอนแรกเราไม่ได้ตั้งใจจะเรียนต่อในสายวิทยาศาสตร์เลยค่ะ เพราะไม่ถนัดคำนวณ แถมส่วนคำนวณใน GAT PAT ยังยากมากๆ อีก เราเลยให้ความสำคัญน้อยมาก แต่ก็ไม่ได้ทิ้งนะคะ พยายามเรียนและทำโจทย์เท่าที่เราจะทำได้ ส่วนวิชา GAT พาร์ทเชื่อมโยงเราชอบมาก ลองทำแบบฝึกหัดที่ขายตามร้านหนังสือไปหลายเล่มเลย เพราะชอบอ่านบทความต่างๆ แต่พออ่านเพลินๆ จะหลุดง่ายมากว่าส่วนไหนควรเชื่อมด้วยอะไร เพราะเป็นคนสะเพร่า ขอแนะนำน้องๆ ตรงนี้ว่า เวลาทำส่วนนี้ก็อย่าคิดเยอะ ให้ดูความหมายตามคำสั่งว่าถ้าเชื่อมแล้วได้ความหมายตามนี้รึเปล่า ส่วนพาร์ทภาษาอังกฤษ คิดว่าส่วนนี้สำคัญมากค่ะ คะแนนสามารถเปลี่ยนคณะเราหรือสามารถเปลี่ยนให้เราจากติดเป็นไม่ติดได้เลย ตรงนี้ป่านจะเน้นท่องศัพท์ค่ะ ถ้าเราได้ศัพท์เยอะ เราจะทำอะไรได้ง่ายขึ้น เหมือนเวลาทำโจทย์ภาษาไทยตอนประถม สมมติครูให้เติมคำสันธาน เราไม่รู้หรอก คำสันธานนั้นมีหลักการอะไร แต่เราอ่านประโยคเข้าใจ เราก็เติมคำเชื่อมที่อ่านแล้วเข้าใจลงไปแล้วมันก็ถูก ประมาณนี้ค่ะ

 

วางแผนการอ่านหนังสือในแต่ละวันยังไงบ้าง
          แบ่งตามเวลากินข้าวค่ะ ถ้าเป็นวันหยุดที่อ่านหนังสือได้ทั้งวัน ก็จะรีบตื่นเช้าๆ กินข้าวเช้าแล้วก็มาอ่านให้จบในส่วนที่เราวางแผนไว้ (อาจจะ 1-2 บท) พอกินข้าวกลางวันเสร็จก็จะให้เวลาตัวเองพัก จนถึงเย็นค่ะ หลังอาหารเย็นก็อ่านจนถึงเข้านอนเลย แต่ถ้าเป็นวันที่มีเรียน แล้วเรียนพิเศษตอนเย็น ก็จะกลับมาทำการบ้านของที่โรงเรียน กับเรียนพิเศษแล้วรีบนอน และตื่นเช้ามาอ่านเนื้อหาอื่นๆ ต่อค่ะ

เคล็ดลับการอ่านหนังสือฉบับป่าน
          อ่านหนังสือตอนเช้าค่ะ อากาศที่เย็น สมองโล่งจากการพักผ่อน ไม่ได้คิดเรื่องอะไร จะทำให้ป่านรู้สึกว่าจำได้ดีกว่า และทำความเข้าใจได้เร็วกว่าการอ่านตอนกลางคืนค่ะ ถึงจะบอกว่าชอบอ่านตอนเช้า แต่จริงๆ แล้ว สำหรับป่าน การตื่นเช้าก็เป็นเรื่องยากเหมือนกันนะคะ เลยต้องมีของมาจูงใจตัวเองค่ะ เช่น บอกกับตัวเองว่า ถ้าตื่นแล้วจะได้กินขนมชิ้นนี้นะ ก็จะตื่นค่ะ55555 อาบน้ำแล้วมานั่งอ่าน แต่ตอนกลางคืนเหมือนสิ่งที่ใช้จูงใจตัวเองเปลี่ยนไป เป็นถ้าอ่านจบแล้วจะได้นอนนะ ทำให้ไม่มีสมาธิเลยค่ะ55555
          อีกอย่างหนึ่งที่ป่านชอบทำตอนอ่านหนังสือ คือ การจดค่ะ ป่านเป็นคนชอบเขียน เลยพยายามทำโน้ตย่อของเราให้น่ารัก เหมือนงานศิลปะ เราก็จะอยากอ่านมากขึ้น ซึ่งก็อาจจะใช้เวลานานหน่อย แต่ก็เหมือนได้เป็นการทบทวนเนื้อหาเหล่านั้นไปในตัวค่ะ
          เวลาอ่านหนังสือ เพื่อที่จะมาจด เราควรอ่านให้จบสักส่วนหนึ่ง พยายามทำความเข้าใจเหมือนหนังสือเป็นคนที่เล่านิทานให้เราฟัง พอจบสักส่วนหนึ่งแล้ว เราก็มาบันทึกเรื่องราวนั้นที่หนังสือเล่ามาแบบที่เราเข้าใจ คราวนี้เราจะรู้ว่า เรายังไม่เข้าใจตรงไหน ก็กลับไปดูตรงนั้นแล้วบันทึกนิทานส่วนนั้นให้จบค่ะ พอทำแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ เราก็จะอ่านนิทานจนจบเล่มอย่างเข้าใจค่ะ


1 วันก่อนสอบ คิดว่าจำเป็นต้องทำอะไรบ้าง หรือตอนนั้นเราทำอะไร
          เราเป็นคนที่วันก่อนสอบจะอ่านหนังสือไม่ได้แล้วค่ะ สมองมันจะรวนไปหมด เป็นคนเครียดง่าย ก็เลยจะพยายามใช้ชีวิตวันนั้นให้ธรรมดาที่สุด ปลอดภัยที่สุด ทั้งทางร่างกายและระบบทางเดินอาหาร เพราะไม่อยากท้องเสียวันสอบ ถ้ามีสมาธิก็จะหยิบโน้ตย่อมาเปิดค่ะ ดูเล่นๆ อย่าจริงจังกับมัน เราต้องเชื่อใจตัวเองที่อ่านผ่านไปแล้ว อย่าให้เนื้อหาตีกัน และที่สำคัญขอพรและกำลังใจจากคุณพ่อคุณแม่ค่ะ ไหว้พระ แล้วรีบเข้านอน จะได้ตื่นเช้าให้สมองสดใส และถ้าสอบที่ไม่คุ้นเคยก็ควรไปสนามสอบแบบเผื่อเวลาด้วยนะคะ จะได้ไม่ต้องรีบเวลาไปหาห้องสอบ เพราะจะทำให้อารมณ์ขุ่นมัวก่อนสอบได้

สนามสอบ O-NET เป็นยังไงบ้าง
          สำหรับป่าน วิชาที่ยากที่สุดคงหนีไม่พ้นคณิตศาสตร์ค่ะ เพราะไม่ถนัดเลยจริงๆ แต่อีกวิชาที่รู้สึกยาก แต่ทำข้อสอบแล้วรู้สึกสนุกคือ ศิลปะ เพราะเหมือนได้ใช้ความรู้สึกล้วนๆ เลย เนื้อหาบางอย่าง ไม่เหมือนกับที่เรียนมาด้วย หรืออาจจะเรียนแล้วจำไม่ได้ ดูเป็นศิลปะที่ใช้ความรู้สึกเราในการตัดสินใจ แต่ก็ต้องทายใจคนออกข้อสอบด้วยว่าเขาต้องการวัดอะไร วิชานี้จากที่เคยคิดว่าง่ายตอนเรียน กลับยากไปเลยตอนสอบค่ะ
 

คิดว่าข้อดีและข้อเสียของการติดรับตรงสำหรับเราคืออะไร
          สำหรับเรา ข้อดีคือ เราจะสบายใจเร็วกว่าคนอื่นค่ะ เพราะว่าเรามีที่เรียนแล้ว มองเห็นอนาคตตัวเอง ทำให้คลายความกังวลไปได้ เตรียมตัวในการเรียนทัน มีเวลาหาความรู้อื่นๆ หาประสบการณ์อื่นๆ โดยไม่ต้อกังวลกับการสอบ  แต่มันก็จะทำให้เรารู้สึกเสียดายโอกาสที่จะได้ยื่นคะแนนในคณะที่อาจจะต้องการมากกว่า หรือบางคณะที่มีแต่รอบแอดมิชชั่นเท่านั้น ซึ่งก็อย่างที่บอกค่ะ ว่ามันมีทั้งข้อดีและข้อเสีย เราต้องตัดสินใจดีๆ เลือกสิ่งที่เราต้องการมากที่สุด และจะไม่เสียดายทีหลัง เพราะสุดท้ายเเล้ว นั่นคืออนาคตของเราเอง คนที่ต้องอยู่กับสิ่งที่เลือกไปตลอด 4 ปี  หรือ 6 ปี เเละตลอดชีวิตที่เหลือ ก็คือตัวเราเองค่ะ

ถ้าย้อนเวลากลับไปแก้ไขตอนเตรียมตัวสอบได้ อยากกลับไปแก้ไขอะไร
          อยากจะกลับไปตั้งใจอ่านหนังสือให้มากกว่านี้ รู้สึกเสียดายค่ะที่เราพยายามอ่าน แต่เราไม่พยายามจำให้แม่น เพราะในการสอบบางทีแค่เข้าใจอาจไม่เพียงพอ เราเข้าใจหลักการ แต่บางครั้งเราต้องจำรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ให้ได้ เพราะทุกย่างสามารถไปโผล่ในข้อสอบได้ค่ะ ถ้าไม่อยากเปิดข้อสอบแล้วเหมือนจะเข้าใจ รู้สึกคุ้นทุกอย่าง แต่เลือกข้อที่ถูกต้องไม่ได้ ก็อย่าข้ามประเด็นเล็กน้อยไปเด็ดขาดค่ะ เพราะจริงๆ แล้วเราใช้เวลาจำไม่นานเลย รู้สึกพลาดตรงนี้ไป

เข้ามาเรียนแล้วเป็นยังไงบ้าง ลองเล่าให้น้องๆ ฟังหน่อย
          เข้ามาเรียนตอนแรก ก็ต้องปรับตัวกับสถานที่ใหม่ๆ เยอะเลยค่ะ ทั้งสังคม เพื่อน และวิธีการเรียน เราต้องดูแลและรับผิดชอบตัวเองทั้งหมด เพราะจะไม่มีพ่อกับแม่คอยช่วยอีกแล้ว การอ่านหนังสือในมหาวิทยาลัย เป็นไปอย่างหนักหน่วงมาก ตอนสอบของ ม.ปลาย แค่อ่านจบหนึ่งรอบก่อนไปสอบก็ถือว่ามาเหนือมากแล้ว แต่พอมาอยู่มหาวิทยาลัย เพิ่งเชื่อจริงๆ ว่าตัวเองสามารถอ่านชีทเดิมวนไปวนมาเกือบสิบรอบได้ แต่ถึงยังไงก็ไม่ได้หมายความว่าคะแนนเราจะสูงลิ่วนะคะ 55555 
          เราเคยคิดว่าเรียนเภสัชฯ จะต้องเน้นเคมี ซึ่งก็จริงค่ะ แต่ก็ไม่คิดว่าจะเป็นเคมีแบบโหดขนาดนี้ สิ่งที่ผิดคาดอีกอย่างหนึ่ง คือ ป่านคิดว่าจะไม่ได้เจอกับคณิตศาสตร์อีกแล้ว แต่ในการเรียนก็ยังหนีไม่พ้นการคำนวณ แถมยังเป็นการคำนวณที่ต้องละเอียดมาก เพราะทุกตำแหน่งทศนิยม คือชีวิตของผู้ป่วยเลยก็ว่าได้ น้องๆ หลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่าเภสัชฯ ก็ได้เรียนกับอาจารย์ใหญ่ด้วยนะคะ ซึ่งป่านคิดว่าเป็นประโยชน์มากๆ เลยกับการเรียนอนาโตมี การได้เห็นกับภาพจริงทำให้เราจดจำได้อย่างแม่นยำและเข้าใจเนื้อหาที่เรียนมากขึ้น นักศึกษาทุกคนจึงซาบซึ้งในพระคุณของอาจารย์ใหญ่ทุกท่านมากค่ะ 
          การเรียนในมหาวิทยาลัย ในคณะอื่นป่านก็ไม่แน่ใจนะคะ แต่ที่คณะเภสัชฯ จะไม่แตกต่างจากระดับมัธยมมากนัก เพราะเข้าเรียนแปดโมงเช้า และเลิกเรียนห้าโมงเย็นเหมือนกันค่ะ ใครที่อยากเรียนเภสัช หวังว่าน้องๆ จะชอบทำแล็บนะคะ เพราะเราจะเรียนเลคเชอร์ควบคู่กับเรียนปฏิบัติการทุกสัปดาห์ ทั้งเครียดทั้งสนุกค่ะ สอบเก็บคะแนนแล็บกริ๊งเนี่ยยิ่งสนุกมากเลยค่ะ มีเสียงเครื่องแก้วดังกรุ๊งกริ๊งระงมไปหมดเพราะนักศึกษาตื่นเต้นจนมือสั่นกัน 55555
          นอกจากจะได้ฝึกทักษะการใช้เทคนิคต่างๆ ในชั่วโมงแล็บแล้ว ยังมีการฝึกวิเคราะห์โรค  วิเคราะห์การใช้ยา ในตัวอย่าง case study ที่อาจารย์หามาให้ด้วยค่ะ เราเรียกการเรียนแบบนี้ว่า การ discussion ซึ่งเป็นการทำงานเป็นกลุ่ม และวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ ที่ได้รับตามเงื่อนไขที่กำหนด แล้วมาเล่าให้อาจารย์ฟังในห้องประชุม จากนั้นอาจารย์จะถามเพื่อต่อยอดและแตกประเด็นไปเรื่อยๆ เหมือนเล่นเกมโชว์เลยค่ะ ทำให้เราเข้าใจในเนื้อหาอย่างถ่องแท้ แบบไม่ต้องท่องจำ
          ส่วนโรคต่างๆ ที่พบบ่อย จะเป็นการเรียนที่เรียกว่า conference ค่ะ จะแตกต่างกับ discussion ตรงที่เมื่อเราหาข้อมูลมาแล้ว เราจะนำข้อมูลที่ได้ไปนำเสนอหน้าชั้นเรียน และไม่ใช่การนำเสนอเฉพาะกับอาจารย์ค่ะ แต่ยังรวมไปถึงนำเสนอกับเพื่อนๆ ด้วย เพื่อให้เพื่อนๆ ได้เข้าใจและซักถามเพิ่มเติม ตรงนี้จะระทึกใจมากค่ะ เพราะเพื่อนๆ จะถามอะไรก็ได้ที่ไม่เข้าใจ และจะ advance เกินไปทุกที แต่เราก็ต้องหาคำตอบให้ได้ในชั่วโมงนั้นๆ ค่ะ  การเรียนแบบนี้ช่วยให้ความรู้ตกผลึกได้มาก และตกใจกับคำถามของเพื่อนๆ ไปพร้อมกันด้วยค่ะ 55555
          เรื่องราวในมหาวิทยาลัยที่สนุกๆ ยังมีให้น้องๆ มาพบเจออีกเยอะค่ะ แต่นอกเหนือจากความสนุก มหาวิทยาลัยทำให้เราได้  "เรียนรู้" อะไรอีกมากมายเลย มหาวิทยาลัยอาจจะเป็นสถานีสุดท้ายที่ให้น้องๆ ได้ลองผิด ลองถูก โดยไม่สร้างความเสียหายอะไร เมื่อเราผิดพลาด เราจะได้เรียนรู้ ตอนนี้จะมีอาจารย์คอยแนะนำ คอยสอนให้เข้าใจ แต่เมื่อเราเรียนจบไปแล้ว ทุกความผิดพลาด คือ ชีวิตคน ดังนั้นเมื่อน้องๆ ได้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยแล้ว ฝึกฝนและพบความผิดพลาดให้เยอะๆ นะคะ เพื่อการเรียนรู้ของเราเองค่ะ :)


สุดท้าย ฝากกำลังใจและการเตรียมตัวถึงน้องๆ ที่ติดตามอ่านบทสัมภาษณ์เราหน่อยค่ะ
          มีน้องๆ ถามป่านเยอะเหมือนกันค่ะว่า เราอ่านหนังสือแบบไหนถึงจะดี ต้องอ่านจากตรงไหนก่อน ควรทำยังไงเวลาจะอ่านหนังสือ อยากจะบอกเลยค่ะว่า น้องๆ ไม่ต้องคิดมากนะคะ ว่าควรจะอ่านแบบไหน หรือทำอะไร สิ่งสำคัญสิ่งเดียวที่ต้องทำ คือ อ่านและทำความเข้าใจ แล้วเราจะเจอความไม่เข้าใจ ความไม่พอดีเอง จากนั้น เราจะมีหนทางของเราค่ะ
          เวลาพี่อ่านหนังสือ พี่จะมีคำพูดหนึ่งไว้เตือนตัวเองอยู่เสมอ เป็นคำสอนที่พี่จำมาจากสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ว่า "จริงใจในสิ่งที่ทำ" ค่ะ ถ้าเหนื่อยก็พัก เราไม่ต้องอ่านครั้งละ 5 ชั่วโมง เหมือนคนอื่นเขาก็ได้ ถ้าเราทำไปแล้วไม่ได้อะไร
          ขอให้ทุกคนอดทน และใช้ชีวิตให้มีความสุขนะคะ เราไม่จำเป็นต้องอ่านหนังสือตลอดเวลา แต่ถ้าเราเริ่มลงมือทำและแบ่งเวลาให้กับมัน เราจะไม่รู้สึกผิดเวลาเราไปมีความสุขด้านอื่นค่ะ
          ขอให้ทุกคนสมหวังดังใจนะคะ มหาวิทยาลัยมีพื้นที่มากพอสำหรับน้องๆ ทุกคน เหลือแค่น้องๆ จะคว้าไว้หรือเปล่า ขอให้สิ่งที่ทุกคนรัก อยู่ในกำมือที่มุ่งมั่นของน้องๆ ทุกคนค่

 

          เป็นยังไงกันบ้างคะน้องๆ บอกเลยว่าสิ่งที่พี่ป่านฝากถึงน้องๆ แม้กระทั่งคนที่เรียนจบมาแล้วแบบพี่อีฟ ยังรู้สึกมีกำลังใจตามไปด้วยเลยนะคะ อย่าลืม "จริงใจในสิ่งที่ทำ" ค่ะ พยายามทำให้เต็มที่ เพราะวันนี้ที่เราทำ จะเต็มที่หรือไม่เต็มที่ เราเท่านั้นรู้ดีที่สุดค่ะ :)
 
พี่อีฟ

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

5 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
นารีนารถ 19 ก.ย. 59 17:51 น. 5
หนูอยู่ม.3ค่ะ อยากเรียนเภสัชเหมือนกัน แต่ตอนนี้ขอศึกษาแล้วก็ดูพี่ๆไปก่อนเเล้วกันเนอะ >< พี่ป่านน่ารักมากเเล้วก็เก่งมากเลยค่ะ ไอดอลเลยคนนี้เนี่ยย
0
กำลังโหลด
กำลังโหลด