รวมความเฟลที่ทำให้หมดสิทธิ์สอบรับตรง! รุ่นพี่เจ็บ แต่เราควรจำ

        สวัสดีน้องๆ เด็กแอดฯ 60 ทุกคนค่ะ สัปดาห์ที่ผ่านมาแอบมีดราม่าเรื่องเรียน เรื่องสอบหลายเรื่องเลย โดยเฉพาะกระแสการยุบสอบให้เหลือครั้งเดียวและยื่นรับตรงได้ทุกมหาวิทยาลัย แต่นี่ก็เป็นเรื่องของอนาคตของรุ่น 61 (ม.5 ปีนี้) ที่จะต้องติดตามข่าวกันต่อไปว่าจะทำให้เป็นจริงได้มั้ย หรือเป็นแค่แนวคิดแล้วปล่อยหายไป ส่วนรุ่น 60 ก็ยังต้องเดินหน้าต่อไปในระบบเดิมค่ะ

        แต่ว่าตอนนี้ใครอยากเข้ามหาวิทยาลัยด้วยระบบรับตรง ต้องฟังทางนี้กันหน่อย พี่มิ้นท์ได้รวบรวมความเฟลที่ทำให้รุ่นพี่เราหมดสิทธิ์สอบ/สัมภาษณ์ รับตรง มาให้น้องๆ ได้อ่านกัน มาดูกันว่า case study แบบไหนบ้างที่ทำให้เราหมดสิทธิ์สอบได้ง่ายๆ

 

 

   1. สมัครแล้วลืมจ่ายเงิน
       อันนี้เรื่องใหญ่ค่ะ ขั้นตอนการสมัครจะเสร็จสมบูรณ์จริงๆ ก็คือ การจ่ายค่าสมัคร แต่ปัญหาก็คือ จำไม่ได้เองบ้าง หรือ แม่ลืมจ่ายให้บ้าง แน่นอนว่าถ้าเราไม่ได้จ่ายเงิน สถานะเราก็ยังไม่ขยับไปเป็นผู้สมัครนะคะ (เหมือนอดขยับสถานะไปเป็นแฟนยังไงยังงั้นเลย) เคยมีรุ่นพี่ของน้องๆ ตั้งตารอรับตรงโครงการนึงมาก เพราะรอบแอดมิชชั่นคะแนนสูงมาก ที่นั่งก็น้อยด้วย ปรากฏว่าวันเข้าไปเช็กที่นั่งสอบ ดันไม่มีชื่อ ถามไปถามมา เป็นความผิดตัวเองที่ไม่ยอมจ่ายเงิน อดเลยจ้าาาา
       แล้วจะแก้ไขยังไงดี? พี่มิ้นท์ขอเสนอให้ทำตารางจัดการรับตรงของตัวเองเลย ทุกครั้งที่เราสมัครรับตรงโครงการไหนไปก็ให้กลับมาจดชื่อโครงการ วันหมดเขต วันสอบ วันประกาศผล และสถานะการจ่ายเงิน แปะไว้หัวโต๊ะ เห็นทุกวันกันลืม ตัวอย่างตามรูปด้านล่างเลย


 

   2. สมัครแล้วลืมเข้าไปเช็กสถานะ
       ต้องบอกน้องๆ ก่อนว่า ขั้นตอนการสมัครจะเกิดขึ้นระหว่างตัวน้องกับทางฝ่ายรับนักศึกษา แม้ว่าจะใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย ยังไงก็ต้องมีการตรวจทานโดยเจ้าหน้าที่อีกรอบค่ะ และสถานะการสมัครที่ว่ามานี้ ก็คือการที่เจ้าหน้าที่เช็กแล้วว่าการสมัครสอบของเราเรียบร้อยดีมั้ย ถ้าไม่เรียบร้อยก็จะแจ้งในระบบสมาชิก เราต้อง Log in เข้าไปก่อนค่ะ แต่ก็มีมหาวิทลัยที่ขึ้นโชว์หน้าเว็บให้รู้ตัวกันไปเลย ยกตัวอย่างของ ม.อุบลราชธานี เข้าเว็บปุ๊บ เห็นชื่อปั๊บ ก็รีบเข้าไปแก้ไขได้ แต่ในมหาวิทยาลัยที่ต้องเข้าไปเช็กเองก็หมั่นเข้าไปตรวจสอบกันหน่อยนะคะ จะได้ไม่เสียสิทธิ์ของตัวเอง


 

  3. สมัครผิดวิชา
       กฎของรับตรงคือ ใช้วิชาไหนก็ต้องสอบให้ครบ สำหรับหลายมหาวิทยาลัยใช้ระบบบุฟเฟ่ต์ คือไปดูมาเองนะ ว่าคณะที่อยากเข้าใช้วิชาไหนบ้าง แล้วเลือกวิชาสอบได้เลย ค่าสมัครเท่าไหร่ก็คำนวณตามวิชาสอบ ระบบนี้มักจะมีจุดอ่อนตรงที่อาจทำให้น้องๆ บางคนสมัครผิดวิชา หรือ สมัครไม่ครบ สมัครเพิ่มภายหลังก็ไม่ได้ สุดท้าย มีคะแนนไม่ครบก็ชวดคณะนั้นไปเลยค่ะ

  4. ลืมส่งเอกสาร
       สำหรับรับตรงบางโครงการ จะมีขั้นตอนการส่งเอกสารไปมหาวิทยาลัย ส่วนใหญ่ก็จะเป็นเอกสารประกอบการสมัครค่ะ เช่น ใบ ปพ. สำเนาบัตรประชาชน รวมถึงใบสมัครที่ปริ้นออกมาจากหน้าเว็บ แต่แล้วก็เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน (อีกแล้ว) คิดว่าสมัครเสร็จก็คือเสร็จ ไม่ยอมส่งเอกสารไปภายในเวลาที่กำหนด ทางมหาวิทยาลัยก็ไม่คิดอะไรมากค่ะ ไม่มีเอกสารมาใช่มั้ย ส่งไม่ครบใช่มั้ย ตัดสิทธิ์ซะเลย ว่าแล้วน้องๆ ก็อย่าลืมกลับไปดูระเบียบการของตัวเองด้วยนะว่าสมัครแล้วต้องส่งเอกสารหรือเปล่า
      อ้อ! เพิ่มเติมค่ะ ดูระเบียบการนี่ดูปีของตัวเองด้วยนะคะ เกิดปีก่อนไม่ต้องส่ง แต่ปีนี้ต้องส่ง ซวยไปอีก อย่าไว้ใจว่าทุกปีรายละเอียดจะเหมือนกันค่ะ ขนาดพี่มิ้นท์เองยังไม่ไว้ใจเลย TT จะเช็กอะไร ดูปีต่อปีเท่านั้นค่ะ

   5. ทุจริตสอบ GAT PAT
       ข้อนี้เรื่องใหญ่ค่ะ เรื่องเล็กๆ ที่เราทำอาจสะเทือนไปถึงอนาคตได้ เหมือนกับประโยคที่ว่า เด็ดดอกไม้สะเทือนไปถึงดวงดาว เดี๋ยวนี้ทุจริตในห้องสอบ GAT PAT หรือ O-NET ไม่ใช่แค่จะถูกกาหัวกระดาษในวิชานั้นแล้วเรื่องจะจบ อาฟเตอร์ช็อคต่อมาคือ ทำให้น้องไม่มีคะแนนไปยื่นรับตรงที่ต้องใช้คะแนนนั้น ทำให้หมดสิทธิ์ในการพิจารณาการสมัครทันที และอาฟเตอร์ช็อคต่อไปคือ ทำให้เราอยู่ในรายชื่อผู้ที่มีประวัติทุจริต ข้อมูลตรงนี้มันเผยแพร่ถึงกันได้ค่ะ ต่อให้น้องไปสอบรับตรงสอบข้อเขียน แต่ถ้าคณะกรรมการในรอบสัมภาษณ์ขอประวัติตรงนี้มา บอกเลยว่าตกสัมภาษณ์แน่นอน ดังนั้นอย่าทุจริตในห้องสอบเด็ดขาด ไม่ว่าจะเป็นสนามเล็กหรือใหญ่ เพราะการกระทำของเรา มันคอยกำหนดอนาคตของเราอยู่นะ
 

 

  6. แยกไม่ออกระหว่างสำเนา/ตัวจริง
      ผู้ใหญ่อาจจะมองว่าไม่เห็นยาก แต่น้องๆ มึนกันเยอะ มีทั้งที่ไม่เข้าใจจริงๆ และที่ไม่ได้สังเกตว่าให้ใช้แบบไหน
      "เอกสารตัวจริง" ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าตัวจริง ถ้ามหาวิทยาลัยระบุให้ใช้ ใบเกรดตัวจริง แสดงว่า น้องจะต้องไปขอใบเกรดจากห้องวิชาการ แล้วนำไปนั้นไปใช้ในการสมัคร
      "สำเนา" ก็คือ การเอาเอกสารตัวจริง ไปถ่ายเอกสาร (ซีร็อค) เราจะได้ชุดก็อปปี้มา 1 ชุด แล้วใช้ชุดนั้นในการสมัครค่ะ ส่วนตัวจริงก็เก็บเอาไว้เป็นหลักฐานหรือเอาไปถ่ายสำเนาใช้กับโครงการอื่นๆ ได้อีก
      ทีนี้ ปัญหามีอยู่ว่า โครงการเรียกให้ส่งเอกสารตัวจริงไป แต่น้องดันส่งแบบสำเนาไป ก็เฟลไปเลย เพราะบางที่ค่อนข้างเคร่งค่ะ ผิดคือผิด ถ้าไม่แก้ไขมาก็ตกรอบไปเลยแล้วกัน ดังนั้น อ่านให้ดีๆ ก่อนสมัครว่า ใช้เอกสาร "ตัวจริง" หรือ "สำเนา" จริงๆ รับตรงที่ใช้สำเนาแล้วส่งตัวจริงไปก็ไม่ค่อยซีเรียสเท่าให้ใช้ตัวจริงแต่ส่งสำเนาไปค่ะ

   7. ลืมเซ็นต์เอกสาร / เอกสารปลอม
       ปัญหาต่อเนื่องจากเอกสาร "ตัวจริง" vs "สำเนา" ก็คือเรื่องของการเซ็นต์สำเนาถูกต้องลงบนสำเนาค่ะ เพื่อเป็นการยืนยันว่า สำเนานั้นถูกต้องและเป็นของเราจริงๆ ไม่ใช่คนอื่นแอบเอาไปถ่ายเอกสารมา
       วิธีการง่ายนิดเดียวค่ะ นำสำเนาแผ่นนั้น มาขีดพาดกลางหน้าได้เลย แล้วเขียนว่า "สำเนาถูกต้อง ใช้สำเนาสมัครรับตรง (ชื่อโครงการ) เท่านั้น" และบรรทัดที่ 2 ก็เขียนชื่อ นามสกุล ของตัวเองค่ะ


ตัวอย่างการเซ็นต์สำเนาถูกต้อง
credit : www.admission.mfu.ac.th

      ถ้าไม่เซ็นต์แล้วทำไมถึงโดนปรับตก ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะครูอาจไม่มั่นใจว่าเอกสารเป็นของเราจริงๆ ไปเอาของใครมาหรือเปล่า อีกสาเหตุนึงคือ ทำให้เห็นว่าเราเป็นคนไม่รอบคอบ ซึ่งความรอบคอบเป็นคุณสมบัติที่พึงประสงค์ของมหาวิทยาลัยค่ะ

   8. ลืมเช็กเกณฑ์ขั้นต่ำ
       หัวข้อนี้พูดทุกปี มีทุกปี เกณฑ์ขั้นต่ำก็คือส่วนที่กำหนดคุณสมบัติขั้นต่ำไว้ ถ้าไม่ถึงก็สมัครไม่ได้ หรือ สมัครได้แต่ไม่ผ่านการพิจารณา เกณฑ์ขั้นต่ำ อาจจะกำหนดมาเป็นเกรด (GPAX) หรือ กำหนดเป็นคะแนนสอบก็ได้ เช่น จะสมัครสาขาบัญชี ต้องได้ GPAX 4 เทอม 3.00 ขึ้นไป หรือ กำหนดเป็นคะแนนวิชา PAT1 ต้องได้ 90 คะแนนขึ้นไป น้องๆ บางคนลืมดูตรงนี้ (หรือไม่ก็ลืมดูคะแนนตัวเอง) ก็มั่นใจสมัครไป แต่สุดท้ายก็เฟล เพราะตกคุณสมบัตินั่นเอง
       จริงๆ เรื่องเกณฑ์ขั้นต่ำ พี่มิ้นท์ย้ำมาตลอดเพราะมันสำคัญจริงๆ ไม่อย่างนั้นทางมหาวิทยาลัยคงไม่กำหนดมา ถ้าไม่อยากตกคุณสมบัติแบบนี้ มี 2 ทางเลือกค่ะ คือ 1. เลือกสมัครเฉพาะโครงการที่คุณสมบัติผ่านหรือไม่กำหนดคุณสมบัติ 2.ทำทุกสนามสอบให้เต็มที่ เพื่อให้ได้คะแนนสูงที่สุด

  9. ลืมไปสัมภาษณ์
       อ้าวเฮ้ยยย! มันไม่ใช่เรื่องที่ควรลืมเลย แต่อะไรก็เกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะน้องๆ ม.6 ที่มีเรื่องที่ต้องสนใจอีกเยอะ ไม่ว่าจะเรียน สอบ กิจกรรม ดังนั้นรายละเอียดบางอย่างอาจจะหลุดๆ ไปได้ แน่นอนว่า การไม่ไปสัมภาษณ์ก็เท่ากับสละสิทธิ์โครงการนั้นทันที จะไปขอตามสอบทีหลังก็เป็นเรื่องยาก เพราะเราผิดเอง อาจารย์คงไม่สะดวกที่จะมาคุยกับเรา บางกรณีที่ติดภารกิจจำเป็น เช่น ติดค่ายโรงเรียน ติดกิจกรรมแข่งขันต่างๆ พี่มิ้นท์แนะนำว่าลองโทรไปสอบถามที่มหาวิทยาลัยเลยค่ะ ส่วนจะได้สัมภาษณ์เป็นกรณีพิเศษมั้ย ก็ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของทางมหาวิทยาลัยนะคะ ถ้าไม่ได้จริงๆ ก็ตัดสินใจเลยว่าจะเลือกอะไร เทอะไร

      ประสบการณ์บางอย่างไม่ต้องรอให้เกิดขึ้นกับตัวเองก็สามารถเรียนรู้จากคนอื่นได้นะคะ โดยเฉพาะประสบการณ์เฟลๆ แบบนี้ ที่ทำให้เราเสียสิทธิ์ไปโดยไม่รู้ตัว ซึ่งทั้ง 9 ข้อที่พี่มิ้นท์รวบรวมมาให้ดู เกิดขึ้นทุกปี ถ้าไม่อยากให้มันเกิดขึ้นอีก ก็ต้องเริ่มต้นที่ตัวเรานะคะ ก่อนสมัครก็ตั้งสติ สมัครแล้วก็จำว่าสมัครอะไรไปบ้าง ถ้าจำไม่ได้ก็จดค่ะ แค่นี้ก็ทำให้เราไม่พลาดแล้ว :D
 

 
 
พี่มิ้นท์
พี่มิ้นท์ - Columnist พี่สาวใจเย็น ผู้เกิดมาในแอดมิชชั่นยุคแรก แต่เข้าใจ TCAS มากกว่า

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

2 ความคิดเห็น

Maytichai Art Wongkas Member 28 ส.ค. 59 18:49 น. 1

ทุจริตสอบอาจถูกฟ้องร้องได้นะ ลองอ่านรายละเอียดของ สทศ.ที่หน้าห้องสอบ

เอกสารบางอย่างอาจขอวิชาการโรงเรียนได้ทีละเยอะ ๆ ก็ขอมาเป็นโหลเลยไม่ต้องเกรงใจ คนเซ็น. เวลาเซ็นอะไรดูให้รอบคอบก่อนเซ็นนะคราฟ

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด