เจาะลึก TOEFL: วิธีพิชิตข้อสอบ Speaking (การพูด)

     สวัสดีค่ะน้องๆ ชาว Dek-D.com วันนี้กลับมาเจาะลึก TOEFL กันต่อกับ พี่พิซซ่า นะคะ หลังจากผ่านข้อสอบส่วนการอ่านและการฟังไปแล้ว คราวนี้ก็มาถึงข้อสอบส่วนที่ 3 การพูด (Speaking) นั่นเองค่ะ ซึ่งส่วนนี้หลายคนมักกลัวว่าจะพูดไม่รู้เรื่อง แต่ไม่เป็นไรค่ะ ถ้าทำความรู้จักกับข้อสอบแล้วก็น่าจะสู้กับมันได้


     ข้อสอบส่วนการพูดเป็นข้อสอบส่วนที่ 3 ของการสอบ TOEFL ค่ะ หลังกลับจากช่วงพัก 20 นาที เราก็จะเข้าสู่ข้อสอบส่วนนี้ ซึ่งช่วงคำอธิบายจะมีโอกาสให้เราได้เทสต์หูฟังและไมโครโฟนอีกครั้งค่ะ ถ้าไมค์เสีย พูดแล้วเครื่องไม่ได้ยินเสียงเรา ระบบก็จะแจ้งให้เราติดต่อผู้คุมสอบทันทีเพื่อแก้ปัญหานี้ค่ะ ดังนั้นขณะทดสอบไมค์ แนะนำให้พูดด้วยระดับเสียงปกตินะคะ ซึ่งจะเป็นระดับเสียงที่เราจะใช้พูดในขณะสอบนั่นเอง มีหลายคนที่ตอนทดสอบตะโกนเข้าไมค์ไปซะดัง แต่พอเวลาจริงกลับพูดเบาจนระบบไม่ได้ยินเสียง นอกจากนี้ขณะที่สอบก็ไม่ควรตะโกนเสียงดังด้วยนะคะ เพราะจะรบกวนคนอื่นมากเกินไปค่ะ ใช้ระดับเสียงปกติก็พอ (ใครที่เป็นคนพูดเบาอยู่แล้วอาจต้องพยายามพูดให้ดังขึ้นซักนิดด้วยนะคะ)

     ระยะเวลาที่ใช้ในการสอบทั้งส่วนนี้จะประมาณ 20 นาทีค่ะ เป็นส่วนที่เร็วที่สุดของการสอบเลย โดยจะประกอบไปด้วยคำถาม 6 ข้อ ดังนี้
     - ข้อ 1-2 คำถามทั่วไป ให้ตอบอิสระตามความคิดส่วนตัวเราเลย มีเวลาเตรียมตัว 15 วินาที ก่อนพูดตอบจริงๆ ภายใน 45 วินาที
     - ข้อ 3-4 คำถามจากเรื่องที่ได้อ่านและฟัง แต่ละข้อมีเนื้อหามาให้อ่านใน 45 วินาที แล้วก็มีบทสนทนาหรือเลคเชอร์เกี่ยวกับเรื่องนั้นให้ฟังอีก 1-2 นาที จากนั้นจะให้เราเตรียมตัว 30 วินาที ก่อนจะพูดตอบเป็นความยาว 60 วินาที
     - ข้อ 5-6 คำถามเกี่ยวกับเรื่องที่ได้ฟังบทสนทนาหรือเลคเชอร์ยาว 1-2 นาที มีเวลาเตรียมตัว 20 วินาที ก่อนพูดตอบเป็นความยาว 60 วินาที
     จะเห็นได้ว่าเวลาเตรียมตัวค่อนข้างน้อย หลายคนน่าจะวิตกแล้วว่าจะเตรียมคำตอบทันหรอ ไม่เป็นไรค่ะ ถ้าฝึกฝนบ่อยๆ ก็น่าจะทำได้ แถมตอนที่อ่านหรือฟังก็สามารถจดโน้ตได้ ถ้าจดโน้ตเป็นระเบียบดีก็จะช่วยให้ใช้เวลาเตรียมตัวได้พอเหมาะเลยค่ะ




การให้คะแนนข้อสอบ Speaking

     แต่ละข้อจะมีผู้ตรวจข้อสอบ 2 ท่าน แต่ละท่านจะให้คะแนนข้อละ 1-4 คะแนน แต่ถ้าข้อนั้นไม่ตอบหรือพูดเบาจนไมค์จับเสียงไม่ได้หรือพูดอะไรที่ไม่เกี่ยวกับคำถามเลยก็จะได้ 0 ไป จากนั้นก็จะนำคะแนนจากผู้ตรวจทั้ง 2 มารวมกัน และรวมทั้ง 6 ข้อเข้าด้วยกัน ก่อนจะปรับให้เป็น 0-30 คะแนนสำหรับข้อสอบส่วนนี้ เกณฑ์การให้คะแนนคือ
     - ความสามารถในการให้เหตุผลและสนับสนุนเหตุผลของตัวเอง (สำหรับข้อ 1-2)
     - ความสามารถในการใช้ข้อมูลจากแหล่งข้อมูลที่ให้มา (สำหรับข้อ 3-6)
     - ความสามารถในการให้รายละเอียดและคำอธิบายประกอบแต่ละเรื่อง
     - ความสามารถในการสื่อความคิดได้ต่อเนื่องและสมเหตุสมผล
     - ความสามารถในการพูดได้ชัดเจนและคล่องแคล่ว และทำให้คนอื่นเข้าใจสิ่งที่เราพูดได้




ตัวอย่างการตอบคำถามที่เจอใน 2 ข้อแรก

     โจทย์: Talk about a pleasant and memorable event that happened while you were in school. Explain why this event brings back fond memories.
               ตัวอย่างการเตรียมเนื้อเรื่องสำหรับตอบ
          วันเกิดตอนป.3 ที่เพื่อนทั้งห้องจัดงานให้ เลือกมาเพราะ
          1. เพื่อนเหล่านั้นเป็นเพื่อนที่สนิทกันจนตอนนี้
               1.1 ปีที่แล้วเพื่อนกลุ่มนั้นก็มาฉลองวันเกิดให้อีก
               1.2 เวลามีปัญหาก็พึ่งพาเพื่อนกลุ่มนี้ได้เสมอ
          2. เป็นงานที่ได้ของขวัญมากที่สุด
               2.1 ของขวัญ A เป็นของที่อยากได้มากๆ ตอนนั้น
               2.2 ของขวัญ B เป็นของที่ยังใช้ถึงตอนนี้

     แนะนำให้น้องๆ ให้เหตุผล 2-3 ข้อ และอธิบายแต่ละเหตุผลอีกอันละ 2-3 ข้อย่อย เพื่อทำให้เรื่องเรามีน้ำหนักมากขึ้นค่ะ เวลาเตรียมตัว 15 วินาทีก็จดเป็นคำสำคัญหรือประโยคย่อๆ ของแต่ละข้อไว้ แล้วเวลาพูดจริงค่อยทำเป็นประโยคที่มีคำเชื่อมต่อเนื่องกันค่ะ การจดโพยเป็นลำดับไว้แบบนี้จะทำให้เนื้อเรื่องสอดคล้องไปเรื่อยๆ ไม่มีวกไปนั่นแล้วกลับมานี่ (แต่ก็อย่าอ่านโพยข้ามบรรทัดล่ะ)

     โจทย์: Some people think it is more fun to spend time with friends in restaurants. Others think it is more fun to spend time with friends at home. Whick do you think is better? Explain why.
               ตัวอย่างการเตรียมเนื้อเรื่องสำหรับตอบ
          สมมติว่าเลือกตอบว่ากินกับเพื่อนที่ร้านอาหารสนุกกว่า เพราะ
          1. พาเพื่อนมากินที่บ้านไม่ได้เพราะ...
               1.1 บ้านแคบเกินไป
               1.2 ไม่มีอะไรสนุกๆ ทำในบ้าน
          2. กินที่ร้านสนุกกว่าเพราะ...
               2.1 บรรยากาศดี มีดนตรี
               2.2 ชอบที่ได้เห็นผู้คนมากมาย

     เวลาเจอคำถามที่ให้เลือกฝั่ง ต้องตัดสินใจด้วยความรวดเร็วว่าเราจะเลือกข้างไหนค่ะ อย่าลังเลนาน เพราะจะทำให้เวลาเตรียมตัวเราเหลือน้อยลงเรื่อยๆ ส่วนการให้เหตุผล จะให้เหตุผลว่าทำไมจึงเลือก A และทำไมจึงไม่เลือก B หรือจะให้แต่เหตุผลว่าทำไมจึงเลือก A อย่างเดียวก็ได้ ขึ้นกับว่าเราคิดยังไงกับเรื่องนั้น แต่ที่สำคัญคืออย่าลืมให้รายละเอียดของแต่ละเหตุผลให้มันชัดขึ้นด้วยนะคะ หลังให้เหตุผลย่อยครบแล้วควรสรุปอีกครั้งหนึ่งก่อนหมดเวลาด้วยว่าเราเลือกฝ่ายไหน เพื่อย้ำจุดยืนค่ะ

     หลายคนบอกว่าการตอบ 2 ข้อแรกที่ให้แสดงความคิดอิสระเลยนั้นเหมือนจะง่าย แต่จริงๆ ยากกว่าข้อที่ต้องอ่านหรือฟังตั้งเยอะ เพราะกว่าจะคิดคำตอบได้ก็ต้องนึกนานเหมือนกัน แต่ข้อที่ได้อ่านและ/หรือได้ฟังแล้วถามนั้น คำตอบมันโผล่มาชัดๆ ในเรื่องแล้ว ตอนพูดตอบเราก็มีรูปประโยคและศัพท์ต่างๆ มาให้พร้อมใช้เลย ขอแค่ตอบให้ตรงคำถามเท่านั้นเอง อันนี้พี่ก็ค่อนข้างเห็นด้วยนะคะ 55555 อย่างถ้าถามว่าความทรงจำที่แสนสุขและน่าจดจำที่สุดสมัยเรียนคืออะไร แค่นึกพี่ก็ปาไปนาทีกว่าแล้ว แถมคำถามที่ถามจากประสบการณ์ส่วนตัวยังหลากหลายมากด้วย เดาไม่ถูกเลย




แนะนำคำถามที่น่าเอาไปลองฝึกพูดตอบคำถาม

     อย่าลืมนะว่าต้องให้เหตุผลย่อยด้วย พยายามทำให้เรื่องมีน้ำหนัก ฝึกขึ้นต้นโดยการตอบให้ตรงประเด็นก่อนให้เหตุผล และเมื่อให้เหตุผลครบก็ควรต้องสรุปปิดท้ายด้วย
     - เราชื่นชมใคร เพราะอะไร
     - เราอยากพัฒนาเรื่องอะไรเพิ่ม
     - สถานที่ที่อยากไป
     - เหตุการณ์ในชีวิตที่มีความสุขที่สุด หรือเศร้ามากที่สุด
     - คนดังที่อยากเจอ
     - คิดว่าการจดโน้ตด้วยมือกับด้วยคอมพิวเตอร์แบบไหนดีกว่ากัน
     - การทำรายงานเป็นเล่มกับการพูดรายงานหน้าชั้น อันไหนมีประโยชน์มากกว่ากัน
     - จะเลือกอะไรระหว่างการพักผ่อนอยู่กับบ้านและการพักผ่อนโดยไปเที่ยว



     - ฝึกพูดภาษาอังกฤษเยอะๆ โดยใช้คำเชื่อมประโยคหรือคำบอกลำดับ (เช่น however, therefore, firstly, secondly, finally)
     - เพิ่มพูนคลังศัพท์เยอะๆ ถ้าฝึกข้อสอบอ่านและฟังอยู่แล้ว ก็จะได้ศัพท์เพิ่มไปเยอะเลย
     - ฝึกออกเสียงให้ถูกต้อง ไม่ต้องพยายามให้สำเนียงเป๊ะก็ได้ แต่ต้องสเตรสให้ถูกที่ เช่น record ที่เป็นได้ทั้งคำนามและคำกริยาออกเสียงต่างกัน
     - เมื่อฝึกตอบให้อัดเสียงตัวเองมาฟังว่ารู้เรื่องมั้ย วันแรกอาจรู้เรื่อง แต่อีก 3 วันมาฟังอาจจะไม่รู้เรื่องก็ได้
     - ฝึกการให้เหตุผล ชอบเพราะอะไร ไม่ชอบเพราะอะไร ทำไมถึงต้อง...
     - ฟังข่าว บทสนทนาในวิทยุ หรือเลคเชอร์ภาษาอังกฤษเยอะๆ



     - ใช้เวลาเตรียมตัวให้คุ้มค่า มีสมาธิ อย่าหลุด
     - อย่าสนใจเสียงตอบของคนอื่นในห้อง
     - อย่าอ่านโพยตอบอย่างเดียว ควรดูเวลาเป็นระยะว่าเราพูดช้าหรือเร็วไปมั้ย จะได้บริหารเวลาถูก
     - สำหรับข้อที่ให้อ่านและ/หรือฟัง ควรจดโน้ตพวกคำสำคัญไว้ด้วย


     ข้อสอบพูดอาจฟังดูยากมากในการสอบ TOEFL แต่ถ้าเราเตรียมตัวมาดี และตอนตอบมีสมาธิ ไม่ตกหล่นเหตุผลใดๆ ไป ก็ไม่ต้องกังวลแล้วค่ะ อย่าพยายามใช้ศัพท์ยากๆ เพราะเราอาจใช้ผิดได้ ใช้คำธรรมดาๆ แต่ตอบให้ตรงคำถามและครอบคลุมทุกคำถามจะดีกว่าเยอะเลย เป็นกำลังใจให้นะคะ
 
 
บทความนี้ถูกเขียนขึ้นโดยทีมงานเว็บไซต์ Dek-D.com เป็นที่แรก
หากต้องการนำไปเผยแพร่ต่อในเว็บไซต์อื่น กรุณาใส่เครดิตให้ครบถ้วน
 




Examples taken from ETS® TOEFL iBT® Interactive Sampler
พี่พิซซ่า
พี่พิซซ่า - Columnist คอลัมนิสต์ฝ่ายเรียนต่อนอก

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

1 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด