3 เรื่องจริงจากเด็กต่างชาติ! เมื่อทะเลาะกับพ่อแม่ตอนเลือกคณะ

     สวัสดีค่ะน้องๆ ชาว Dek-D.com ปัญหาที่บางบ้านมักเจอช่วงที่ใกล้เข้ามหาวิทยาลัยคือพ่อแม่อยากให้เรียนในสิ่งที่เราไม่อยากเรียน ซึ่งคณะที่พ่อแม่อยากให้เรียนส่วนมากก็มักเป็นหมอหรือบัญชี หรือคณะที่พ่อแม่พิจารณาแล้วว่าน่าจะทำให้ต่อไปหางานได้ง่ายและได้เงินดี หลายคนคิดว่าอาจจะเป็นค่านิยมที่มีแค่ในบ้านเราเท่านั้น แต่จริงๆ ปัญหาแบบนี้สามารถพบได้ทั่วโลกค่ะ ลองมาดูเรื่องจริงจากต่างประเทศกันนะคะ


เมื่อที่บ้านไม่สนับสนุนให้เรียนต่อ

     เรื่องนี้เป็นเรื่องของอัญชนา ชาวอเมริกันเชื้อสายอินเดียที่มีความฝันว่าอยากเป็นหมอค่ะ ครอบครัวของอัญชนาย้ายมาอยู่สหรัฐอเมริกาตั้งแต่เธอยังเด็ก แต่ถึงยังไงลักษณะครอบครัวและการเลี้ยงดูก็ยังเป็นสไตล์เอเชียอยู่ พ่อของเธอเป็นคนเข้มงวดมาก และวางแผนทุกอย่างในชีวิตไว้ให้เธอแล้ว ส่วนแม่เป็นคนใจดี แต่แม่ก็ไม่สามารถขัดอะไรพ่อได้อยู่ดี อัญชนาเติบโตมาโดยยึดตามหลักคำสอนของชาวฮินดูทั่วไปนั่นคือต้องเคารพนับถือพ่อ แม่ ครู และพระเจ้า ซึ่งวิธีการแสดงความเคารพต่อพ่อแม่สำหรับเธอคือการเชื่อฟังตามคำสั่งสอน แม้จะอยู่ไฮสคูลเธอก็ยังไม่สามารถไปค้างบ้านเพื่อนได้ (แม้จะไปทำงานกลุ่มก็ตาม) ไม่สามารถเข้าร่วมกิจกรรมที่มีร้องๆ เต้นๆ ในโรงเรียนได้และต้องเรียนให้ได้ A ทุกวิชา
     พอถึงไฮสคูลปีสุดท้าย เธอก็บอกกับพ่อแม่ว่าเธออยากเป็นหมอ แต่พ่อก็ตัดบททันทีว่า "เราไม่มีเงินส่งให้เรียนแพทย์ในอเมริกาได้หรอกนะ" ดังนั้นเธอจึงเลือกเรียนชีวโมเลกุลแทน และเรียนในมหาวิทยาลัยใกล้บ้านที่พ่อเลือกให้ เพื่อที่จะได้ไม่ต้องไปนอนหอ


     ขึ้นปีสอง เธอก็บอกกับที้บ้านว่าจะไปทำงานเป็นผู้ช่วยวิจัยในแล็บ เพราะเธอเจออาจารย์ด้านพันธุกรรมโมเลกุลที่เก่งมาก และอาจารย์ท่านนั้นก็อยากสอนเธอเป็นพิเศษด้วย อัญชนาเป็นคนเรียนเก่งอยู่แล้ว และเธอคิดว่าแล็บวิจัยในมหาวิทยาลัยใกล้บ้านของเธอนั้นเล็กเกินไป นี่จึงเป็นโอกาสที่ดีที่เธอจะได้เรียนรู้อะไรมากขึ้นและได้ทำงานวิจัยในเรื่องที่ชอบมากขึ้น แต่พ่อก็ไม่อยากให้เธอไปทำงานนี้ "มันจะไม่ขัดการเรียนหรอ แล้วเกรดจะตกมั้ย งานรับปริญญาอีกล่ะ ทำไปแล้วมันจะทำให้หางานจริงๆ ได้ง่ายขึ้นหรอ" พ่อเธอถามขัดแบบนี้ และยังบอกให้เธอย้ายไปเรียนเอกวิทย์คอมแทน เพราะพ่อเชื่อว่าเด็กวิทย์คอมจบปุ๊บก็ได้งานเงินเดือน 6 หลักปั๊บ
     หลังพ่อแม่พยายามกล่อมเธอให้เลือกทางเดินที่พวกเขาเลือกให้ เธอก็เข้าใจเลยว่าที่พ่อแม่ต้องการคืออยากให้เธอเรียนให้จบแล้วได้งานในทันที จากนั้นจะได้หาผู้ชายที่เหมาะสมมาให้แต่งงานด้วย อัญชนาไม่เข้าใจว่าแล้วจะย้ายมาหาโอกาสใหม่ๆ ในอเมริกาทำไม ถ้าพ่อแม่จะไม่สนับสนุนให้เธอตามความฝันที่ยิ่งใหญ่ที่เธอสามารถทำได้ ครั้งนี้เธอไม่สนใจและสมัครไปทำงานพิเศษที่แล็บนั้น อาจารย์ของเธอสนับสนุนให้เธอตามความฝันแบบสุดๆ เธอได้ทุนเต็มจำนวนในการเรียน กลายเป็นที่รู้จักในวงการนักวิจัยเฉพาะทางเพราะเธอชนะรางวัลงานวิจัยหลายครั้ง เธอยังสอนพิเศษวิชาเคมีเพื่อหาเงินเองเพิ่มด้วย
     ความฝันของเธอในตอนนั้นคือการเป็นได้เรียนปริญญาเอกในมหาวิทยาลัยกลุ่มไอวีลีกและเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ได้ทำวิจัยอย่างมีความสุข แต่พ่อก็ยังไม่เชื่อว่าเธอจะทำได้ พ่อเอาแต่บอกว่าเธอต้องเสียเวลาเรียนเพิ่มอีกตั้ง 5 ปี 7 ปี แถมยังไม่มีอะไรการันตีว่ามหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกจะรับเธอเข้าเรียนด้วยซ้ำ นอกจากนี้ยิ่งเธอเรียนสูงขึ้นเธอก็ยิ่งมีโอกาสได้แต่งงานน้อยลง เพราะเธอจะฉลาดกว่าผู้ชายส่วนใหญ่ซะอีก เธอผิดหวังที่พ่อยังคงไม่สนับสนุนในสิ่งที่เธอต้องการ แต่ครั้งนี้เธอก็จะทำตามความฝันของตัวเองอยู่ดี


Photo Credit: www.stanford.edu

     ในที่สุดเมื่อเธอบอกพ่อว่า Stanford รับเธอเข้าเรียนปริญญาเอกแล้วแถมเธอยังได้ทุนอีกต่างหาก พ่อก็เปลี่ยนไปเป็นคนละคนเลย เธอกลายมาเป็นลูกรักที่พ่อภาคภูมิใจ ไปไหนพ่อก็จะแนะนำให้ทุกคนรู้ว่าลูกสาวคนนี้กำลังเรียนปริญญาเอกที่สแตนฟอร์ดอยู่นะ นอกจากนี้ทั้งครอบครัวก็เลิกพยายามหาคู่ให้อัญชนาแต่งงานด้วย แต่แล้วในช่วงที่เรียนที่สแตนฟอร์ดนั้นอัญชนาก็พบว่าการวิจัยที่นี่ไม่ใช่แบบที่เธอต้องการ เธอพยายามทนเรียนต่อไปและทำเหมือนมีความสุขเพื่อให้พ่อแม่สบายใจ แต่จริงๆ แล้วเธอค่อยๆ ซึมเศร้าลงเรื่อยๆ ในที่สุดเธอก็ลาออกจากสแตนฟอร์ดในปีที่ 3 นั่นทำให้พ่อแม่โกรธมาก ตอนนี้พ่อแม่ไม่เชื่อใจเธอแล้ว และบอกว่าเธอเห็นแก่ตัว เอาแต่ความสุขของตัวเองโดยไม่สนใจหน้าพ่อแม่ว่าญาติๆ คนอื่นเขาจะพูดกันว่ายังไง ส่วนหนึ่งในตัวเธอก็อยากจะทำให้พ่อแม่ภาคภูมิใจและเอาไปโม้ให้ใครๆ ฟังได้ แต่เธอก็ยังอยากทำในสิ่งที่ทำให้ตัวเองมีความสุขอยู่ดี
     ปัจจุบันเธอเป็นนักเขียนบทความที่แปลงเรื่องวิทยาศาสตร์ยากๆ ให้เป็นสิ่งที่คนทั่วไปเข้าง่ายเพื่อให้คนทำความรู้ไปใช้ให้ได้มากที่สุด



เมื่อที่บ้านไม่ยอมพัก 1 ปีก่อนเข้ามหาวิทยาลัย

     นักเรียนในวัฒนธรรมตะวันตกจะมีสิ่งที่เรียกว่า Gap Year นั่นคือการเว้นวรรค 1 ปีหลังจบไฮสคูลเพื่อไปท่องเที่ยวหรือทำกิจกรรม บ้างก็ทำไปเพื่อค้นหาว่าตัวเองอยากทำอะไรต่อไปในชีวิต บ้างก็หยุดเพื่อใช้เวลาทำในสิ่งที่ตัวเองอยากทำก่อนที่ต้องไปเรียนมหาวิทยาลัยต่อ มหาวิทยาลัยหลายแห่งก็เข้าใจในจุดนี้ จึงเปิดโอกาสให้นักเรียนสมัครเรียนต่อไว้ก่อนแล้วค่อยมาเริ่มเรียนในหนึ่งปีหรือหนึ่งเทอมหลังจากนั้นก็ได้ แอดดิสันเองก็เป็นหนึ่งในนักเรียนที่ขอช่วงเวลา Gap Year ก่อนเข้ามหาวิทยาลัย แต่ที่บ้านไม่อนุญาตในตอนแรก
     ตอนที่แอดดิสันอยู่ชั้นปีสุดท้ายในไฮสคูลเธอไม่รู้เลยว่าเธอจะทำยังไงกับชีวิตต่อไปดี เธอคิดแค่ว่าคงสมัครเรียนมหาวิทยาลัย Indiana ตามเพื่อนๆ ไปละกัน เพราะทั้งพ่อแม่และเพื่อนๆ ในโรงเรียนก็อยากให้เธอไปเรียนต่อที่นี่ จะได้ได้เรียนด้วยกันหมดเหมือนเดิม ในเมื่อไม่รู้จะไปทางไหน เธอก็สมัครเรียนและลงทะเบียนเรียนที่นี่ซะเลย แต่เมื่อถึงขั้นตอนที่ต้องเลือกวิชาเอก เธอก็เริ่มเอะใจแล้วว่าที่นี่อาจไม่ใช่ที่สำหรับเธอเพราะอ่านลิสต์สาขาเอกแล้วไม่มีอันไหนที่ทำให้รู้สึกว้าวได้เลย เธอยิ่งมั่นใจว่าตัวเองไม่เหมาะกับที่นี่ยิ่งขึ้นไปอีก เมื่อสมัครหอพักแบบให้แรนด้อมเพื่อนร่วมห้อง แล้วเธอได้เพื่อนที่เรียนด้วยกันมาแล้วทั้งชีวิต เธอรู้สึกว่ามีบางอย่างในตัวเธอบอกให้เธอออกไปจากที่เดิมๆและไปเจอคนใหม่ๆ เธอจึงตัดสินใจว่าจะออกไปค้นหาว่าที่ไหนที่เป็นที่ของเธอ

     แน่นอนว่าเมื่อเธอตัดสินใจแบบนี้ พ่อกับแม่ของเธอต้องไม่เห็นด้วย พ่อแม่ให้เหตุผลว่ามันเป็นมหาวิทยาลัยมีชื่อเสียงที่อยู่ใกล้บ้าน แถมยังมีแต่คนที่เธอรู้จักอยู่แล้วด้วยจนไม่ต้องกลัวอันตราย นอกจากนี้พ่อแม่ก็อยากให้เธอเรียนจบและเริ่มทำงานพร้อมๆ กับเพื่อนคนอื่น แอดดิสันเลยเปิดใจคุยกับพ่อแม่ว่าเธออยากออกไปผจญภัย และที่เธอขอหยุดพัก 1 ปีนี้เธอก็ไม่ได้ไปนั่งฝันเฉยๆ แต่เธอจะหางานทำและลงเรียนในวิทยาลัยชุมชนไปพลางๆ ลองเรียนอะไรหลายๆ อย่างเพื่อค้นหาว่าเธออยากเรียนอะไรต่อ ในที่สุดพ่อแม่ก็ยอมและให้เธอออกตามหาความฝันได้ แต่เมื่อเธอเริ่มออกเดินทางท่องเที่ยวหาแรงบันดาลใจในนิวยอร์ก เธอก็มีโอกาสได้ไปทัวร์สถาบัน Fashion Institute of Technology และที่นั่นเธอก็ได้พบกับสิ่งที่เธอตามหามานาน เธอชอบเรื่องแฟชั่นมานานและคิดว่าอยากเรียนโทด้านบริหารธุรกิจต่อ แต่ที่นี่ตอบโจทย์เธอได้ในหลักสูตรเดียวเลย เธอจึงตั้งใจว่าจะต้องเข้าเรียนที่นี่ให้ได้
     ค่าเล่าเรียนที่สถาบันแฟชั่นค่อนข้างแพง แต่ถ้าเป็นคนในรัฐจะได้ค่าเทอมที่ถูกลงเกินครึ่ง แอดดิสันเลยหาที่อยู่ในนิวยอร์กและย้ายทะเบียนบ้านมาที่นี่ ซึ่งกว่าจะได้เรียนจริงๆ ก็อีกปีการศึกษานึง ในระหว่างรอเปิดเรียนเธอก็ทำงานและฝึกงานกับบริษัทแฟชั่นอีก 2 แห่งไปด้วย เธอบอกว่าปีนั้นเป็นปีที่ดีที่สุดในชีวิตเลย ส่วนตอนนี้เธอก็ได้เป็นนักศึกษาสาขาธุรกิจแฟชั่นที่วางแผนเรียนจบภายใน 3 ปีโดยลงเรียนให้มากที่สุดทั้งในช่วงเทอมใหญ่ เทอมฤดูร้อน และเทอมฤดูหนาว โดยทำงานพิเศษไปในเวลาเดียวกันเพื่อช่วยเรื่องค่าใช้จ่าย และเป็นการหาคอนเน็คชั่นในวงการแฟชั่นไปในตัว ส่วนครอบครัวของเธอในตอนนี้ก็เข้าใจและสนับสนุนเธอเป็นอย่างดี



เมื่อที่บ้านอยากให้เรียนในสิ่งที่พ่อแม่เห็นว่าดี

     หลายคนน่าจะรู้จักหนังสือดังเรื่อง "The Alchemist ขุมทรัพย์สุดปลายฝัน" ที่ได้รับการแปลมากกว่า 80 ภาษาและเป็นหนึ่งในหนังสือขายดีระดับโลก แต่น้องๆ ทราบมั้ยคะว่าเปาโล คูเอลูผู้เป็นนักเขียนชื่อดังของโลกคนนี้เคยเจอปัญหาว่าพ่อแม่บังคับเรียนในคณะที่เลือกให้เช่นกัน
     เปาโลเกิดที่ประเทศบราซิล เขาอยากเป็นนักเขียนมาตั้งแต่เด็ก แต่พ่อของเราที่เป็นวิศวกรและแม่ของเขาก็ถามว่าแล้วรู้หรอว่านักเขียนเป็นยังไง เปาโลจึงสืบค้นข้อมูลจนสรุปได้ว่านักเขียนคือคนหัวยุ่งๆ ใส่แว่นตาที่ไม่ว่าจะทำอะไรก็จะไม่มีคนในยุคนั้นเข้าใจ ต้องตายก่อนถึงจะดัง แต่ถึงอย่างนั้นเปาโลก็อยากเป็นนักเขียนอยู่ดี ตอนอายุ 17 และใกล้ถึงเวลาเลือกมหาวิทยาลัย เขายืนยันกับที่บ้านอีกครั้งว่าเขาอยากเป็นนักเขียน พ่อกับแม่จึงจับเขาส่งสถาบันจิตเวชโดยหวังว่าถ้าได้รับการรักษา (เช่นการช็อตไฟฟ้า) จะช่วยให้เขาหายจากอาการฝันเฟื่องนี้ได้ เปาโลหนีออกมาได้ 3 ครั้ง แต่ก็โดนจับตัวกลับเข้าสถาบันทุกครั้ง เขาถูกปล่อยตัวออกมาเมื่ออายุ 20 ปี

     เปาโลยอมทำตามที่พ่อแม่ต้องการ โดยเข้าเรียนคณะนิติศาสตร์ให้พ่อแม่ได้ชื่นใจ แต่ทนเรียนได้เพียงปีเดียวเขาก็ลาออกและไปเป็นพวกฮิปปี้ที่เดินทางท่องเที่ยวไปเรื่อย เขาเลือกทางเดินผิดๆ หลายครั้งและไปสุงสิงกับคนไม่ดีก็มาก แต่เมื่อเป็นผู้ใหญ่ขึ้นเขาก็คิดได้และเดินทางกลับมายังบราซิลเพื่อทำงานเป็นนักแต่งเพลงอยู่ระยะหนึ่ง เมื่ออายุย่าง 40 เขาก็คิดขึ้นมาได้ว่าในชีวิตนี้เขาได้ทำอะไรที่เป็นความสุขหรือยัง จริงอยู่ที่ตอนนี้เขามีความสุขดีที่มีงานมีเงินมีคนรัก แต่ความฝันที่เขาฝันมาตั้งแต่เด็กยังไม่เป็นผลสำเร็จนี่นา ดังนั้นเขาจึงลาออกจากงานทุกอย่างและกลายมาเป็นนักเขียนเต็มตัว
     เปาโลไม่โกรธพ่อกับแม่ที่ส่งเขาเข้าบำบัดในสถาบันจิตเวชและบังคับให้เขาเรียนกฎหมาย เพราะเขารู้ว่านั่นคือความหวังดีที่พ่อแม่มีให้ พ่อแม่ก็แค่เป็นห่วงและอยากให้เขามีชีวิตที่มั่นคงแน่นอน ไม่ได้ยึดติดกับความฝันก็เท่านั้นเอง


     แต่ละคนก็เจอปัญหาแตกต่างกันไป บางคนโดนบังคับให้เรียนในสิ่งที่พ่อแม่เลือก บางคนโดนบังคับไม่ให้เรียนต่อแต่ให้รีบทำงานแล้วแต่งงานซะ บางคนโชคดีที่มีพ่อแม่เข้าใจและสนับสนุนในทางที่ตัวเองเลือก ใครที่กำลังเจอปัญหาแบบนี้กับที่บ้านอยู่บอกเลยว่าไม่มีวิธีจัดการที่เป็นสูตรสำเร็จแน่นอนค่ะ อยากให้ทั้ง 2 ฝ่ายพยายามทำความเข้าใจซึ่งกันและกันและคุยกันให้เข้าใจโดยเอาใจเขามาใส่ใจเราให้มากที่สุด เพราะการเลือกเรียนต่อมหาวิทยาลัยเป็นหนึ่งในช่วงจุดเปลี่ยนของชีวิตที่ทางเลือกแต่ละทางจะพาไปสู่อนาคตที่ต่างกัน คิดให้รอบคอบกันนะคะ


 


ข้อมูล
www.teenvogue.com, www.hercampus.com
paulocoelhoblog.com, www.biography.com
พี่พิซซ่า
พี่พิซซ่า - Columnist คอลัมนิสต์ฝ่ายเรียนต่อนอก

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

5 ความคิดเห็น

Mamiar Member 29 เม.ย. 59 17:33 น. 1

เข้ากับเราตอนนี้สุดๆ เลยอะ เสียใจ  ตอนนี้เราจบม.6แล้วกำลังรอแอดอยู่ ที่จริงก็ติดม.เอกชนแล้วเป็นคณะที่พ่อแม่อยากให้เข้าด้วย แต่เราเฉยๆ อะไม่ค่อยอยากเรียนเท่าไหร่ เราอยากเข้าคณะด้านที่เกี่ยวกับภาษามากกว่าเพราะเราชอบด้านนี้ แต่ก็ไม่อยากจะขัดใจพ่อแม่ถ้าให้เรียนก็เรียนได้ สุดท้ายเลยคิดว่าจะเรียนควบป.ตรี 2 ใบไปเลยเพราะอย่างน้อยก็ได้เรียนในสิ่งที่ตัวเองชอบด้วย 

0
กำลังโหลด
meanny_xo Member 29 เม.ย. 59 20:48 น. 2

รู้สึกโชคดีมากค่ะ ที่มีพ่อแม่ที่เข้าใจ ไม่บังคับให้เรียนในสิ่งที่ไม่ชอบ อยากเรียนอะไรก็เรียน ขอแค่เรียนแล้วจบและมีความสุขแค่นั้นพอ

รักเลย

0
กำลังโหลด
--kasalong-- Member 3 พ.ค. 59 14:58 น. 3
เราติดรับตรงพยาบาลของมหาลัยรัฐ เราไม่มีความสุข ร้องไห้ตั้งแต่วันที่รู้ว่าติดสัมภาษณ์จนถึงทุกวันนี้ เราอยากเรียนแอนิเมชั่น แต่ไม่มีใครเข้าใจเรา บอกว่างานหายาก เราอยากลองพยายาม คะแนนแอดลงบางมดเราก็มีสิทธิ์ติด แต่ไม่มีสิทธิ์ลง ทุกวันนี้เราได้แต่ยิ้มบอกแม่ บอกพ่อ และบอกทุกคนว่า เรามีความสุขดีกับทางที่ทุกคนเลือก ทั้งที่เราแอบไปร้องไห้อยู่คนเดียวทุกวัน
0
กำลังโหลด

ความคิดเห็นนี้ถูกลบเนื่องจาก

ถูกลบโดยทีมงาน เนื่องจากงดตั้งกระทู้วิจัย โครงงาน หรือใช้พื้นที่เว็บบอร์ดเพื่อการส่งการบ้าน เนื่องจากเป็นการรบกวนผู้ใช้บอร์ดท่านอื่นๆ ขออภัยในความไม่สะดวก

กำลังโหลด
4567 21 พ.ค. 59 21:18 น. 5
ฝากสำหรับคนที่เลือกคณะ มหาลัยตามที่ครอบครัวอยากให้ทำ แต่ตัวเองไม่อยากเรียนนะคะ ตอนเราจะไปสัมฯที่หนึ่ง รุ่นพี่แนะนำว่าถ้าใครโดนบังคับให้มาสัมฯ และใจจริงไม่อยากเรียนที่นี่ เวลาไปสัมฯกับอ.ให้บอกอ.ไปเลยว่าโดนบังคับให้มา ไม่อยากเรียน แล้วให้อ.ตัดสัมฯเราไปเลยค่ะ เวลาประกาศผลคนที่ผ่านสัมฯก็จะได้ไม่มีชื่อเรา พ่อแม่ก็ว่าไม่ได้ (หรืออาจว่านิดหน่อย) และเพื่อนๆที่อยากเรียนจริงๆก็จะได้มีโอกาสด้วยนะ :) เคยมีเพื่อนของรุ่นพี่ที่บอกเนี่ยล่ะค่ะ เขาติดหมอ แต่ไม่อยากเรียน เวลาสัมฯก็บอกอ.เลยว่าไม่อยากเรียน โดนบังคับให้มา อ.เขาก็ตัดชื่อค่ะ เยี่ยม
0
กำลังโหลด
กำลังโหลด