ทำไมเราจึงคิดว่าช่วงนี้เครื่องบินตกบ่อย? (ทั้งๆ ที่น้อยกว่าแต่ก่อน)

        ล่าสุดที่มีข่าวว่าเครื่องบินของสายการบินอียิปต์แอร์ตกในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน อาจทำให้ชาวเด็กดีหลายคนเริ่มหวั่นใจว่า อะไรกัน ตกอีกแล้วเหรอ จริงๆ เราคงรู้สึกมาตั้งแต่ปี 2014 แล้ว ว่าทำไมถึงมีข่าวเครื่องบินตกบ่อยจัง คุณภาพการบินต่ำลงเหรอ ไม่อยากนั่งเครื่องบินแล้ว
        แต่เอ๊ะ  สงสัยกันหรือเปล่าคะว่า
เครื่องบินตกบ่อยจริงเหรอ?
        ต่อให้มีคนเอาสถิติมายืนยันว่า ปี 2014 ที่ว่าตกบ่อยๆ เนี่ย ยังน้อยกว่าปีที่ผ่านๆ มาอีกนะ
        ทำไมเราถึงรู้สึกว่ามันบ่อย ทำไมเราถึงตัดสินไปเองว่าการนั่งเครื่องบินนี่อันตรายจังนะ
        ที่คิดกันไปแบบนั้น เป็นกลไกการทำงานของสมองค่ะ
        เมื่อชาวเด็กดีทุกคนที่กลัวการนั่งเครื่องบินได้อ่านบทความนี้แล้ว
พี่น้อง รับรองว่าจะเปลี่ยนความเชื่อเรื่องเครื่องบินตกบ่อยไปโดยสิ้นเชิง
 

เครื่องบินตกบ่อยจริงหรือ?

        มีใครบ้างที่พอดูข่าวเครื่องบินตกแล้วนึกในใจเลยว่า "อีกแล้วเหรอ"
        ถ้ามีคนมาบอกว่า แต่ปีนี้สถิติเครื่องบินตกต่ำมากเลยนะ เราก็คงไม่เชื่อและคิดในใจอีกว่า "แต่ข่าวมันมาถี่มากเลยนะ"
        อ่ะ พี่น้องยกสถิติมาให้ดูกันจะๆ เลย ปีที่ว่าตกกันบ่อยๆ เนี่ย แท้จริงแล้วยังต่ำกว่าปีอื่นๆ ที่เราไม่สนใจอีกนะ
        จากกราฟที่ CNN ทำไว้โดยอิงข้อมูลของ เครือข่ายความปลอดภัยด้านการบิน เห็นได้ชัดๆ เลยว่าสิบปีให้หลังนี่ วงการการบินมีความปลอดภัยขึ้นมาก แม้ว่าจำนวนรอบเที่ยวบินจะทวีสูงกว่าเดิม
        ทั้งๆ ที่รอบบินเยอะ ก็น่าจะมีอัตราอุบัติเหตุเยอะ แต่กลับน้อยกว่าปีก่อนๆ อย่างเห็นได้ชัด
        และขอให้สังเกตปี 2014 ที่ว่าตกกันบ่อยๆ นะคะ ปีนั้นมีจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุเครื่องบินตก 761 คน
        อาจจะสูงกว่าปี 2013 อย่างเห็นได้ชัด แต่ถือว่ายังอยู่ในระดับไล่ๆ กันปีก่อนหน้านี้ค่ะ
        เอาล่ะ เรารู้ข้อเท็จจริงแล้ว ทีนี้มาดูกันดีกว่าว่า สถิติมันมาแบบนี้ แต่ทำไมเราถึงรู้สึกว่ามันบ่อยจัง มันต้องตกมากกว่านี้สิ
 

ตัวการที่ทำให้เราคิดไปเอง

        สมองของเรามีกลไกการทำงานที่น่าแปลกค่ะ บางครั้งมันก็ทำตามสัญชาตญาณ เช่น หิวก็เลยกิน มีคนมาทำร้าย ก็เลยยกมือป้องกันตัว
        และบางครั้งมันก็ทำงานตามข้อมูลที่เรามีอยู่ ข้อมูลที่ว่านั่นอาจจะเกิดจากการอ่านหนังสือ ฟังข่าว ดูหนัง ดูละคร หรือแม้แต่เสียงลือเสียงเล่าอ้างที่เราได้ยินมาบ่อยๆ ก็ดี
        เมื่อเราอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องตัดสินใจอย่างรวดเร็ว เราไม่มีเวลาไปเปิด google ดูว่าข้อเท็จจริงเป็นยังไง สถิติเป็นยังไง เราอาศัยสิ่งที่เรารู้มานั่นแหละค่ะเป็นตัวตัดสิน
        แต่ปัญหาคือข้อมูลที่เรารู้นั่นน่ะ มันเป็นข้อมูลเพียงส่วนเดียวน่ะสิ

ตัวอย่างสถานการณ์

        มีสถานการณ์ไหนบ้างนะที่ทำให้เราเผลอใช้ข้อมูลเพียงด้านเดียวมาตัดสิน มาดูกันค่ะ
        ตัวอย่างที่ 1 คุณครูแนะนำให้รู้จักกับนักเรียนแลกเปลี่ยนที่มีผมสีบลอนด์
        ข้อมูลที่อยู่ในหัว: ถ้าใครดูซีรี่ส์หรือหนังฝรั่งเยอะๆ คงมีภาพผู้หญิงผมบลอนด์อยู่ในใจเลยว่าคนๆ นี้ต้องมีนิสัยเป็นยังไง เพราะซีรี่ส์หรือหนังส่วนใหญ่ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับชีวิตในโรงเรียนจะชอบยกบทบาทให้สาวผมบลอนด์เป็นเชียร์ลีดเดอร์ตัวร้าย ที่ไม่ค่อยสันทัดเรื่องการเรียน แล้วให้นางเอกที่มีผมสีน้ำตาลเป็นคนดี และฉลาด
        เราก็อาจจะตัดสินเพื่อนนักเรียนแลกเปลี่ยนคนนั้นว่า เธออาจจะเรียนไม่เก่ง เธออาจจะไม่ตั้งใจเรียน เธออาจจะแอบร้ายอยู่ลึกๆ เธอจะต้องเปรี้ยวมากแน่ๆ ฯลฯ
        ข้อมูลที่เรามองข้ามไป: ยังไม่เคยมีใครคิดจะทำงานวิจัยว่าสีผมบอกนิสัยได้ เพราะมันเป็นเรื่องไร้เหตุผลสิ้นดีค่ะ
        เราทุกคนคงรู้กันว่าสีผมมันไม่ได้บอกอะไรเกี่ยวกับตัวคนๆ นั้นเลย แต่หนังทำให้เราติดภาพจำไว้แบบนั้น พอเห็นคนผมบลอนด์ปุ๊บ สิ่งแรกที่แวบเข้ามาในหัวคือคำว่า เชียร์ลีดเดอร์กับตัวร้ายทันที นี่เป็นการใช้ข้อมูลที่เรานึกออกเป็นข้อมูลแรกในการตัดสินใครสักคนหนึ่ง

        ตัวอย่างที่ 2 ภาพลักษณ์คนญี่ปุ่นกับการแข่งวอลเลย์บอลที่ผ่านมา
        ข้อมูลที่อยู่ในหัว: เวลามีคนไปเที่ยวญี่ปุ่น ก็มักจะเล่าให้ฟังว่าญี่ปุ่นเป็นประเทศที่สวยงาม สะอาด และเป็นระเบียบ หลายๆ คนก็ชอบยกตัวอย่างการทำงานของคนญี่ปุ่นที่รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และซื่อตรง
        การรับข้อมูลแบบนี้เข้าไปมากๆ พอพูดถึงคนญี่ปุ่นปุ๊บ เราก็จะนึกออกแต่ภาพในแง่บวกของเขา และตัดสินไปก่อนว่าคนญี่ปุ่นส่วนใหญ่น่าจะเป็นคนดีนะ
        ข้อมูลที่เรามองข้ามไป: ล่าสุด เมื่อเกิดปํญหาเรื่องการแข่งขันวอลเลย์บอลระหว่างไทยและญี่ปุ่น ทำให้คนที่มี "ภาพเหมารวม" แบบนี้ถึงกับเป๋ไปว่า ไม่จริงน่า คนญี่ปุ่นน่ะหรือจะโกงได้
        เพราะภาพแรกที่เรานึกถึงยามพูดถึงคนญี่ปุ่นเป็นภาพในแง่บวก จนลืมไปว่า คนญี่ปุ่นก็มีร้อยพ่อพันแม่เหมือนคนไทย จะให้ดีไปทุกคน คงไม่ต้องมีตำรวจหรือศาลยุติธรรมกันพอดี
        และแน่นอนว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น ข้อมูลที่อยู่ในหัวเราจะเปลี่ยนไป ทำให้เราอาจจะเผลอตำหนิคนญี่ปุ่นแบบเหมารวมไปเลย

        ตัวอย่างที่ 3 กรณีเครื่องบินตก
        ข้อมูลที่อยู่ในหัว: เพราะกลไกการทำงานของข่าวที่ต้องนำเสนออุบัติเหตุเท่านั้น ทำให้เราเห็นแต่ข่าวเครื่องบินตก เครื่องบินตก เครื่องบินตกอยู่ร่ำไป ยิ่งเมื่อปี 2014 มีอุบัติเหตุน้อยครั้ง แต่เป็นอุบัติเหตุติดต่อกัน ความถี่ยิ่งทำให้เรารู้สึกว่ามันบ่อยขึ้นไปอีก
        ข้อมูลที่เรามองข้ามไป: ความจริงก็คือในหนึ่งวันมีเครื่องบินเข้าๆ ออกๆ สนามบินเป็นร้อยๆ เที่ยวบิน และปลอดภัยทุกเที่ยวบิน ช่วงเวลาที่ไม่มีเครื่องบินตกเลยก็มี
        ครั้นจะให้นักข่าวออกมารายงานว่า "วันนี้การบินไทยได้พาผู้โดยสารถึงที่หมายอย่างปลอดภัยทั้งสิ้นห้าสิบเที่ยวบิน" ก็คงไม่มีใครสนใจจะฟัง
        ข้อมูลส่วนที่หายไปตรงนั้น ประกอบกับการที่เครื่องบินตกแล้วมันมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ทำให้อุบัติเหตุทางอากาศดูเป็นเรื่องน่ากลัวไปในทันที
 

ข้อเสียของการนึกถึงข้อมูลเพียงด้านเดียว

        เรารับแต่ข้อมูลด้านเดียว เราเข้าใจไปเองว่าอะไรที่เราได้ยินบ่อยๆ ก็น่าจะเป็นเรื่องจริง ทำให้เมื่อต้องตัดสินใจอะไรบางอย่าง ข้อมูลด้านเดียวนี้ก็จะโผล่แวบขึ้นมาในหัวก่อน แล้วเราก็จะตัดสินใจตามข้อมูลที่รับรู้มาเท่านั้น
        อาการแบบนี้คุ้นๆ มั้ยคะ?
        มันคือ "อคติ" นั่นเองค่ะ
        เราเคยตัดสินใครเพียงเพราะได้ยินเสียงลือเสียงเล่าอ้างหรือเปล่าคะ? เราได้ข้อมูลมาเพียงด้านเดียวว่า คนๆ นี้ไม่เป็นมิตรเลย อย่าไปยุ่งนะ เราก็เลยตัดสินใจไม่ยุ่งเพราะเชื่อในข้อมูลด้านเดียวนั้น
        เราตัดสินว่าคนที่เรียนหมอ ต้องใส่แว่น เป็นเด็กเนิร์ด เรียนเก่งมาก และวันๆ อ่านแต่หนังสือ เพราะเราฟังจากที่เขาเล่ามาอีกที หรืออาศัยธรรมชาติของการเรียนในคณะนี้มาเป็นตัวตัดสินว่าคนที่เรียนคณะนี้ต้องไม่ธรรมดาแน่
        แต่เรามองข้ามความจริงไปว่าหมอที่เข้าสังคมเก่งมากๆ ก็มี หมอที่ติดการ์ตูนก็มี และหมอที่ไม่ได้เป็นอัจฉริยะแต่ต้องใช้ความพยายามมากกว่าคนอื่นก็มี
        เช่นกันค่ะ เราตัดสินว่าการเดินทางทางอากาศไม่ปลอดภัยเอาเสียเลย เพราะเรารับรู้ข้อมูลเพียงว่า "เครื่องบินตกอีกแล้ว" แต่เราลืมนึกถึงเครื่องบินอีกเป็นหมื่นๆ เที่ยวรอบโลกที่ไม่ได้ตก และเจ้าหน้าที่ทุกคนยังคงทำหน้าที่ของตัวเองอย่างสุดความสามารถ

        พี่น้องหวังว่า บทความนี้จะทำให้ทุกคนคลายความกังวลกันได้ แต่ต่อให้วางใจว่าปลอดภัยแล้ว ก็อย่าลืมปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าหน้าที่อย่างเคร่งครัดนะคะ ถ้าเจ้าหน้าที่บอกให้วางกระเป๋าตรงไหนก็วางตรงนั้น ถ้าเจ้าหน้าที่ขอให้ช่วยเปิดหน้าต่างเพื่อเช็กสภาพปีกเครื่องบินก็ช่วยกันดู เห็นความผิดปกติอะไรก็รีบแจ้ง
        คนละไม้คนละมือ ก็ถือเป็นการลดอุบัติเหตุที่จะเกิดขึ้นได้เหมือนกันค่ะ
 
        สุดท้ายนี้ก่อนจากกันไป ถ้าใครอยากรู้ว่าเรามีโอกาสตายแค่ไหนเมื่อนั่งเครื่องบิน พี่น้องก็ขอทิ้งตัวเลขสถิติให้สบายใจกันค่ะ
        อัตราการเกิดอุบัติเหตุทางเครื่องบินจนเสียชีวิต คือ 1 ใน 29.4 ล้าน
        พูดง่ายๆ ว่าโอกาสจะถูกหวยรางวัลที่ 1 ยังมากกว่าอีกค่ะ
        ดังนั้นรออะไรล่ะคะ! ซื้อหวยเลย! ซื้อตั๋วเครื่องบินเลย!
 
ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก
statisticbrain.com
cnn.com
pixabay.com
พี่น้อง
พี่น้อง - Columnist คอลัมนิสต์

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

2 ความคิดเห็น

หัวหยิกหยอง 26 พ.ค. 59 21:45 น. 1
เป็นกระทู้ที่มีปนะโยชน์มากค่า กำลังกังวลเรื่องนี้อยู่เลย55 แต่ตอนนี้ไม่ล่ะ อยากเที่ยวแทนน
0
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด