Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

ธุดงค์ญี่ปุ่น : ตอนที่5

ตั้งกระทู้ใหม่
ตั้งกระทู้ใหม่
  
ธรรมชาติในวัดป่าสุนันทวนาราม กาญจนบุรี

    อาจารย์ไปเจอวัดแห่งหนึ่งเลยให้ญาณะซังไปเคาะประตูขอพัก มีโยมผู้หญิงออกมาปฏิเสธไม่ให้พัก เพราะว่าตอนนี้ลูกป่วยและพระก็ไม่อยู่ อาจารย์ก็เข้าใจแล้วก็หาที่ต่อ

   อาจารย์ก็เดินต่อไปจนถึงวัดของศาสนาเทนริเคียว เป็นศาสนาที่เกิดขึ้นใหม่เมื่อพ.ศ.2381นับถือเทพเจ้า มีลักษณะคล้ายๆชินโต โรงเรียนเทนริเคียวก็โด่งดังเรื่องเบสบอลระดับมัธยมปลาย ช่วงหลังอาจารย์ไปญี่ปุ่นทุกปี ก็เห็นเด็กวัยรุ่นไทยใส่เสื้อเทนริเคียวอยู่เหมือนกัน น่าจะเป็นสมาชิกในไทย เพราะศาสนานี้มีสำนักงานอยู่ในไทยด้วย

   ทางวัดยินดีต้อนรับให้เข้าพัก บรรยากาศในวัดแปลกตามาก ทุกคนอารมณ์ดี ยิ้มแย้มแจ่มใส เข้าวัดมากี่ที่ไม่เคยเจอบรรยากาศแบบนี้เลย ผู้คนไหว้กัน อารมณ์ดี คุยกันสนุกสนาน อาจารย์มารู้ทีหลังว่าคำสอนของศาสนาเทนริเคียวนี้ เชื่อว่าร่างกายของเราขอยืมมาจากเทพเจ้า จึงต้องใช้ชีวิตประจำวันด้วยความผาสุกเบิกบานใจ

   อาจารย์ก็ชมวัด แสดงความเคารพศาลเจ้าของที่นั่นตามมารยาทและเพื่อให้เกียรติแก่เจ้าของสถานที่ พักอยู่ที่นั่นคืนหนึ่งแล้วออกเดินทางต่อไป

   ทางสถานีโทรทัศน์ก็ตามมาถ่ายทำต่อ ดูในแผนที่แล้วเมืองนี้มีแม่น้ำสายใหญ่ไหลผ่าน มีสะพานเยอะ อาจารย์เลยตั้งใจจะพักใต้สะพาน แต่พอไปถึงก็ปรากฏว่าน้ำขึ้นเต็ม พักใต้สะพานไม่ได้ ก็ต้องเดินต่อไปหาสะพานอื่น ปรากฏว่าก็เต็มอีก เลยต้องเดินหาไปเรื่อยๆ กว่าจะหาที่พักได้ก็ดึก วันนั้นเดินกันไกลมากที่สุด เดินจนถึงห้าทุ่ม เครื่องนับก้าวซึ่งผู้ถ่ายทำสารคดีถวายไว้ แสดงตัวเลขว่าวันนี้เดินมา57,000ก้าว ทีมถ่ายทำสารคดีก็ต้องเดินตามถ่ายกันจนเหนื่อยเหมือนกัน

วัดนิกายเซ็น

   บางครั้งอาจารย์ก็มีโอกาสได้ไปพักในวัดนิกายเซ็น นิกายเซ็นเน้นหลักคำสอนเกี่ยวกับการฝึกกรรมฐานเป็นหลัก ถ่ายทอดธรรมกันแบบ "จิตสู่จิต" เพราะเชื่อว่าธรรมะอันสูงสุดนั้นถ่ายทอดด้วยคำพูดไม่ได้ จึงเน้นการปฏิบัติและสั่งสอนในแบบนามธรรม

   เชื่อกันว่าจุดกำเนิดของนิกายเซ็นเริ่มจากพระมหากัสสปเถระ โดยวันหนึ่งบรรดาพระอรหันต์ทั้งหลายนั่งประชุมกัน พระพุทธเจ้ายกดอกบัวดอกหนึ่งขึ้น มองดูดอกบัว บรรดาพระอริยเจ้าทั้งหลายไม่รู้ว่าพระพุทธเจ้าทำอะไร แต่พระมหากัสสปเถระยิ้มน้อยๆ เข้าใจความหมายของพระพุทธองค์ ก็เป็นการถ่ายทอดธรรมแบบจิตสู่จิต เรื่องนี้ก็อยู่ในคัมภีร์ของเซ็น ถ่ายทอดธรรมแบบไม่ต้องใช้คำอธิบาย อยู่เหนือคำอธิบาย

   การเจริญกรรมฐานแบบนิกายเซ็นนั้น ปกติจะมีชั้นยกพื้นยาวๆปูอาสนะไว้ให้ ทุกคนจะนั่งขัดสมาธิเพชร ต้องลืมตาไว้ ห้ามหลับตา ไม่ให้ง่วงนอน จะมีพระถือไม้คอยเดินวนไปมาอย่างสำรวม พระที่ทำหน้าที่นี้จะมีประสบการณ์พอที่จะรู้ว่าพระองค์ไหน อุบาสก อุบาสิกาคนไหนฟุ้งซ่าน ท่านก็จะเอาไม้แตะเบาๆเตือนสติก่อน พอผู้ที่ฟุ้งซ่านนั่งยืดตัวตรงตั้งสติสำรวมกายเรียบร้อย ท่านก็เอาไม้ตีลงไปที่ไหล่ เสร็จแล้วผู้ถูกตีก็จะไหว้

   การตีเป็นการเตือนให้เปลี่ยนอิริยาบท ให้นั่งตัวตรง ไม่ให้นั่งอยู่ในท่าโงกง่วงไม่เหมาะสม ผู้ตรวจต้องเป็นผู้ปฏิบัติแตกฉานมาแล้ว ดูออกว่าใครกำลังฟุ้งซ่าน ปกติก็เป็นพระองค์ที่สองรองจากเจ้าอาวาส การตีก็เป็นการตีที่ถูกจุด ตีให้เสียงดังแต่ไม่มีอันตราย เพราะหากตีไม่ดีแล้วอาจทำให้กระดูกไหปลาร้าหักได้ เป็นการขับนิวรณ์ทั้งของผู้ที่ถูกตีและผู้อื่นที่ร่วมปฏิบัติด้วย คนอื่นๆได้ยินเสียงตีดังปังก็นิวรณ์หมดไปเหมือนกัน เพราะฉะนั้นการนั่งกรรมฐานในนิกายเซ็น คำว่านั่งหลับนั่งสัปหงกจะไม่มีให้เห็น

   การเจริญกรรมฐานแบบสมถะนั้นจะตัดการรับรู้จากภายนอก พยายามสำรวมอายตนะทั้ง6 ไม่ว่าจะเป็นตา หู จมูก ลิ้น กาย  ใจ แต่แบบนิกายเซ็นนี้จะให้เปิดการรับรู้ ตื่นตัวทั้งทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจชัดเจน ตั้งใจฟังแม้กระทั่งเสียงมดเดิน แต่ต้องรับรู้โดยไม่มีอุปาทานยึดมั่นถือมั่น ใจนิ่ง เหมือนกับการปฏิบัติอานาปานสติขั้นที่16 การวางมือก็จะใช้มือขวาทับมือซ้ายวางไว้ที่หน้าตัก นิ้วหัวแม่มือทั้งสองข้างจรดกัน โดยต้องมีสติสำรวม นำนิ้วหัวแม่มือมาจรดกันให้พอดี ไม่บีบแน่น ไม่ปล่อยหลวม จนสามารถเอากระดาษบางๆมาสอดเข้าไประหว่างนิ้วหัวแม่มือโดยกระดาษไม่หล่น

   นิกายเซ็นเริ่มเผยแผ่เข้ามาในจีนโดยพระโพธิธรรม ที่เรามักรู้จักกันในชื่อปรมาจารย์ตั๊กม้อ ท่านโพธิธรรมเกิดเมื่อราวพ.ศ.502 เดิมเป็นพระราชโอรสองค์ที่สามของพระเจ้าแผ่นดินแคว้นคันธารราช ประเทศอินเดีย ภายหลังท่านได้บวชศึกษาพระธรรมในนิกายเซ็น ได้เป็นพระสังฆปรินายกองค์ที่28 โดยถือเอาพระมหากัสสปเถระเป็นองค์แรก เมื่อมาถึงเมืองจีนก็ได้สร้างวัดเส้าหลินขึ้นเผยแผ่พระศาสนา ทางประเทศจีนจึงถือว่าท่านเป็นสังฆปรินายกองค์แรกทางฝั่งจีน

   นิกายเซ็นเข้ามาในญี่ปุ่นในสมัยของสังฆปรินายกองค์ที่สามตามการนับทางฝั่งจีน คำว่าเซ็นนี้ก็เป็นการเพี้ยนเสียงต่อกันมาเรื่อยๆ จากคำว่า"ฌาน" ในอินเดีย เมื่อสืบทอดไปที่จีนก็เรียกเพี้ยนเสียงเป็น"ฉาน" และเมื่อมาถึงญี่ปุ่นจึงเรียกเพี้ยนเสียงเป็น"เซ็น"

พระโพธิธรรม

   คนญี่ปุ่นก็นับถือพระโพธิธรรมด้วยเช่นกัน แต่จะเรียกชื่อท่านว่า"ดารุมะ" จนมีประเพณีทำตุ๊กตาดารุมะขึ้นมา เป็นตุ๊กตาสีแดง วาดใบหน้าของท่านโพธิธรรมลงไป ตุ๊กตาดารุมะนี้เป็นตุ๊กตาล้มลุก จะดันให้ล้มสักกี่ครั้งก็จะตั้งกลับขึ้นมาใหม่ได้เสมอ ในญี่ปุ่นก็มีสุภาษิตว่า "ล้ม7ลุก8" หมายถึงความอดทนไม่ยอมแพ้ ไม่ว่าจะล้มลงไปสักกี่ครั้งก็ตาม พระโพธิธรรมเคยนั่งกรรมฐานหันหน้าเข้าผนังถ้ำอยู่ถึง9ปี จึงกลายมาเป็นสัญลักษณ์ของความอดทนต่อสู้กับจิตใจของตนเอง ชาวญี่ปุ่นจึงทำตุ๊กตาดารุมะนี้ขึ้นมาเพื่อเป็นเครื่องเตือนใจ ว่าความอดทนนี้เป็นสิ่งที่สำคัญ เหมือนพุทธภาษิตว่า ขันติคือความอดทนเป็นตบะอย่างยิ่ง

  
ตุ๊กตาดารุมะ

   "ล้ม 7 ครั้งลุก 8 ครั้ง"
ไม่ว่าจะล้มสักกี่ครั้งเราก็ต้องลุกขึ้นสู้ต่อไป
แม้ว่าจะล้มเหลวในชีวิตก็อย่าท้อแท้ ล้มได้ ก็ลุกได้
เมื่อวันหนึ่งเสื่อมลาภ สักวันหนึ่งก็ต้องมีลาภ
เมื่อวันหนึ่งเสื่อมยศ สักวันหนึ่งก็ต้องมียศ
เมื่อวันหนึ่งถูกนินทา สักวันหนึ่งก็ต้องได้รับคำสรรเสริญ
เมื่อวันหนึ่งมีทุกข์ สักวันหนึ่งก็ต้องมีสุข
เพราะชีวิตนี้มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด ไม่ว่าอะไรก็ไม่แน่นอน ทุกสิ่งล้วนเป็นโลกธรรม8


"อดได้ ทนได้ รอได้ ด้วยใจดี"
พระโพธิธรรมนั่งหันหน้าเข้าผนังถ้ำเพื่อเจริญกรรมฐาน
ด้วยความอดทนถึง9ปี จนได้ดวงตาเห็นธรรม
ชีวิตของคนเรานั้นเมื่อเจอกับความทุกข์ยาก
ลำบากมากขนาดไหนก็ตาม
"ต้องอดทน"
เมื่อตะวันตกแล้วก็ย่อมมีแสงสว่างของวันใหม่ตามมา
อนาคตของเราก็มีหวังอยู่เสมอเช่นกัน
จงดูตุ๊กตาดารุมะเป็นแบบอย่าง เพื่อเตือนสติ
และให้กำลังใจตัวเองไว้เสมอ

   นอกจากนี้คนญี่ปุ่นก็นิยมขอพรกับตุ๊กตาดารุมะ โดยจะเขียนคำขอพรไว้ที่หน้าอกตุ๊กตา แต่เดิมตุ๊กตาดารุมะจะยังไม่วาดลูกตา เมื่อขอพรแล้วก็จะวาดลูกตาลงไปหนึ่งข้าง เมื่อประสบความสำเร็จตามที่ขอไว้จึงจะวาดลูกตาอีกข้างหนึ่งลงไป แต่ในปัจจุบันไม่มีการเติมลูกตาลักษณะนี้แล้ว เพราะมีผู้ร้องเรียนว่าเป็นการดูถูกคนตาบอด ว่าการไม่มีลูกตานั้นคือการไม่ประสบความสำเร็จ

                                          พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก

หมายเหตุ : 1.ตอนที่5จะนำมาลงวันเสาร์หน้านะครับ(เสาร์ที่24 ก.ย. 54)
                      2.ขอขอบคุณเนื้อหาจากหนังสือ "ธุดงค์ญี่ปุ่น" ของพระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก 
                         3.ลิงค์ตอนที่1 http://www.dek-d.com/board/view.php?id=2249170
                            4.ลิงค์ตอนที่2 http://www.dek-d.com/board/view.php?id=2254185
                                 5.ลิงค์ตอนที่3 http://www.dek-d.com/board/view.php?id=2259084
                                      6.ลิงค์ตอนที่4 http://www.dek-d.com/board/view.php?id=2262940

แสดงความคิดเห็น

>

2 ความคิดเห็น