Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

แนะนำ ชื่อเรื่อง และนามปากกา

ตั้งกระทู้ใหม่
ตั้งกระทู้ใหม่
 ชื่อเรื่อง และนามปากกา

 

 

ตามกระแสสังคมของนักเขียนนิยายส่วนใหญ่ต่างก็เกาะกระแส 'อินเทรน' ไปกับเขาด้วย ทั้งลอกเลียนวิธีการตั้งชื่อเรื่อง คำนวณไวยากรณ์วิธีตั้งชื่อนามปากกา โดยหวังว่ามันจะช่วยการันตรีให้งานเขียนของตัวเองมีคนสนใจ เหมือนนักเขียนดังๆ หรือหลายๆ คนที่ได้ตีพิมพ์แล้ว (ซึ่งตรงกันข้ามกับหลักการ 'แรงบันดาลใจ' โดยสิ้นเชิง เพราะอิทธิพล และแรงบันดาลใจส่วนใหญ่ทำให้คิดได้นอกกรอบกว่าสิ่งที่เคยมี ... เช่นว่า หากว่า หรือว่า.... นอกเหนือจากเรื่องที่เรา หรือท่านได้รับอิทธิพลมา แน่นอน! แรงบันดาลใจ กับลอก.... มันเห็นได้ชัดเจน คิดว่าหลายคนคงมองออก แต่..หลายคนที่ลอกเพื่อเป็นตัวอย่างขั้นต้นในการเขียน เรียกว่าแรงบันดาลใจเริ่มต้นก็ว่าได้ ซึ่งไม่ผิดเจ้าค่ะ แต่บทความนี้จะทำให้น้องๆ หลายๆ คนมองได้กว้างขึ้น)

 

แต่นั่นคือการสำคัญตัวผิดไป นามปากกาที่มีโทนชื่อคล้ายกัน มีชื่อเรื่องที่ 'ก็' คล้ายๆ กัน จนลืมคิดไปถึงว่าเอกลักษณ์มันสำคัญไฉน?

ผลงานที่ไม่มีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง ภาษาเขียนก็ลอกเลียนมา แถมยังด้วยนามปากกาที่จงใจตั้งให้คล้ายกับคนอื่นๆ มันทำให้นักอ่านนั้นไม่ค่อยจดจำสักเท่าไหร่

เป็นนักเขียน ไม่จำเป็นต้องเข้าเมืองตาหลิ่ว แล้วต้องหลิ่วตาตาม นักอ่านเขานิยมเสพความแปลกใหม่ ไม่ซ้ำซาก ไม่จำเป็นที่จะต้องคำนึงถึงหลักการ ที่สำคัญเอาแค่ตัวผู้เขียนชอบ นักอ่านจำได้ก็พอ

 

เดี๋ยวนี้แค่อ่านชื่อเรื่องก็พอจะเดาเนื้อเรื่องได้หมดแล้ว ตามที่พี่สาวคิด คือมันไม่มีอะไรแปลกใหม่เลย เดี๋ยวก็นายเซ่อซ่า เจอกับนางสาวปัญญานิ่ม เดี๋ยวก็เจอ นางเฉิ่มเบ๊อะ ตามล่ารักนายเฉื่อยชา

จริงๆ ชื่อเรื่องมันไม่จำเป็นต้องตามกระแส และนักเขียนที่ดีคิดชื่อเรื่องได้ด้วยตัวเอง เพราะมีความเป็นศิลปินไปในตัว

บางครั้งชื่อเรื่องสั้นๆ ก็ทำให้คนจำได้มากกว่าชื่อเรื่องที่ยาวแสนยาว

แต่บางครั้ง ชื่อเรื่องยาวๆ ก็จำได้ง่ายกว่า เพราะคล้องจองกัน

 

หลักการตั้งชื่อเรื่องแสนง่าย คือการคิดชื่อให้กระชับ แต่นั่นไม่ได้แปลว่าต้องสั้น หรือต้องยาว

 

หลังๆ พี่สาวเจอคำว่า 'ONLINE' ต่อท้ายนิยายบ่อยๆ จนเผลอคิดไปว่า พวกหลังๆ ไม่มีความคิดที่ดึงดูดได้ดีกว่านี้แล้วหรือเปล่า หรือมันคือนิยายแนวใหม่(จริง!)

 

ตอนนี้ที่พี่สาวเจอปัญหาที่จะมาแชร์ให้น้องๆ ทราบนะ

1.การตั้งชื่อนิยาย มีแต่แนวเดียวกัน โดยคิดว่ากลุ่มชื่อเรื่องนิยายดังๆ มีส่วนช่วยให้คนอ่านเข้ามาอ่านงานของตน ยกตัวอย่าง

1.1 ยัยตัวร้าย - ขึ้นต้นชื่อเรื่องแบบนี้ รับรองว่า 80 เปอร์เซ็นของนักอ่านเดาได้ว่านางเอกมีนิสัยอย่างไรเลยค่ะ

1.2 ฮานาคิส กับ ผักตบชวาที่หายไป  - ทำไมต้องทำให้ชื่อตอนคล้ายๆ กับเพอร์ซี่ แจ็คสันด้วยเนี่ย ทั้งๆ ที่มีชื่อที่เก๋กว่านั้นอีกหลายเท่า

1.3 หมีแพนด้า Online  - ก็ไม่เข้าใจว่ามีคำว่า ONLINE มันทำให้ไม่ตกเทรนมากขึ้นหรือเปล่า

1.4 บทเกริ่นนำ - ร้อยละ 80 ก็คล้ายๆ กัน จนนักอ่านไม่รู้ว่าจะตามอ่านเรื่องใดดี ไม่รู้ว่าจะตามกระแสกระทั่งบทเกริ่นนำไปด้วยทำไม

1.5 อิมเมจตัวละคร – บอกตรงๆ แล้วนิยายไม่จำเป็นต้องมีการแนะนำตัวละครแบบนี้ก็ได้ เรามีสารพัดวิธีที่จะเขียนให้คนอ่านสนใจในตัวละครได้ ด้วยความคิดของตัวเราเอง ไม่จำเป็นต้องพรีเซ้นส์มาก เพราะต่อให้อิมเมจตัวละครสุดยอดแค่ไหน ภาษาเขียน และการบรรยายไม่รู้เรื่องก็เปล่าประโยชน์

 

นักอ่านไม่ได้ชอบเสพแบบนั้นค่ะ แต่เพราะมันเลือกเสพได้ยาก เลยกลายเป็นอ่านแบบไหนก็ได้ อย่าคิดว่านักอ่านชอบแบบนี้ หรือแบบนั้น แต่เพราะมันไม่มีใครแหวกแนวออกมาจากกรอบการเขียนเลยต่างหาก

 

คนที่กล้าสร้างเอกลักษณ์ของตัวเองขึ้นมา จนเป็นผู้นำเทรนใหม่ๆ พี่สาวว่าน่าสนใจกว่าตามกระแสชาวบ้านเขาเยอะ

 

เปลี่ยนจากคนตาม มาเป็นท่านผู้นำกับเขาบ้าง มันก็น่าสนใจเลยทีเดียวใช่ไหมน้องๆ เจ้าขา

 

จงจำกลุ่มคำเหล่านี้ไว้ ถือว่าเป็นคำแนะนำนะคะ

 

เพลง Original ส่วนมากจะไพเราะกว่าเพลง Cover

และเมื่อมีคนมา Cover เพลงของ Original จนไพเราะกว่า ผู้ฟังทุกคนก็ต่างถามหาคนร้องต้นฉบับ(Original)

 

ลองดูสิคะ ใครได้ประโยชน์?

 

เขียนแนวรัก ก็ไม่จำเป็น ต้องตามกระแสใคร เช่นนางเอกเป็นใบ้ พระเอกตาบอด อะไรก็ว่าไป

กระแสเขาเขียนว่าเพิ่งเริ่มจีบกัน แต่ผู้นำเทรนใหม่อย่างน้องๆ จะเขียนว่าเพิ่งเลิกจากกันก็ได้

 

เขียนแฟนตาซีก็ไม่จำเป็นต้องให้พระเอกเก่ง ลองให้เพื่อนพระเอกเก่งกว่าดูมั่ง มันจะดูน่าตลกกว่า น่าอ่านกว่าไหม? ที่สำคัญ ออกแนวหลุดโลกไปไม่ซ้ำใคร ไม่ต้องมีโรงเรียน ไม่ต้องมีฝึกวิชา แต่ออกแนวแปลกใหม่เหมือนเป็นเจ้าของสูตรลับเมนูใหม่ไปโดยปริยาย เช่นพระเอกเป็นนักวิจัยพลังตด ค้นพบแก๊สชีวภาพที่สามารถนำมาใช้แทนน้ำมันได้ อะไรก็ว่าไป ฯลฯ

 

เขียนผจญภัย ก็ไม่จำเป็นต้องไปผจญภัยนอกโลก ในโรงเรียน หรือในดินแดนลึกลับ ลองเปลี่ยนให้ตัวเอกผจญภัยในสวนหลังบ้านของตัวเองมั่ง ก็ดูน่าสนใจขึ้นมาไม่น้อย

 

เขียนรักซึ้งๆ ก็ไม่จำเป็นต้องให้มีใครตาย แค่ให้พิการ แต่ทั้งคู่ก็ยังคงรักกันอยู่ แล้วพร้อมจะสู้ไปด้วยกัน ก็ดูน่าอ่านใช่ย่อย

 

จะเขียนอะไรก็ตาม น้องๆ ลองเอาความสนุกในการเขียน และความคิดใหม่ๆ บวกเข้าไปสิ จะชื่อเรื่อง จะชื่อนามปากกา จะอะไรก็แล้วแต่ ขอให้คิดว่างานของเราสนุกเป็นพอ ไม่ต้องไปคิดว่าแนวไหน กระแสไหน แล้วจะมีคนอ่าน ให้คิดว่าเรื่องแบบไหน จินตนาการแบบไหน ที่คนอื่นยังไม่เคยคิด แล้วเรามาสร้างขึ้นใหม่จะดีกว่า

 

แล้วชื่อนามปากกาเอ๋อๆ หรือเท่ๆ ตามที่น้องคิดขึ้น อาจจะมีคนลอกเลียนไปใช้มั่งก็ได้นะ

 

กระแสใหม่ๆ ยังรอน้องๆ คนเก่งคิดขึ้นมาอยู่

 

จงเป็นผู้นำ ถึงจะไม่ค่อยเก่ง แต่ก็ดีกว่าการเป็นผู้ตามที่ดี

 

อย่าลืมคิดว่า ทุกวันนี้คนอ่าน เขาเสพความแปลกใหม่ มิใช่เสพความซ้ำซาก เฉกเช่นเดียวกับ กองบรรณาธิการของสำนักพิมพ์ต่างๆ ถ้าน้องคิดไกลกว่านั้น

 

สวัสดีค่ะ รัก และเป็นกำลังใจให้น้องๆ ทุกคนเสมอ สำหรับใครที่ทำได้แล้ว ก่อนที่จะมาอ่านบทความนี้ พี่สาวอยากขอจับมือแรงๆ หนึ่งที ยินดีต้อนรับท่านผู้นำ(ยังไม่ดัง) แต่ก็ต้องใช้เวลาในการสร้างกระแสใหม่

สักวันน้องๆ ที่พี่อัญขอจับมือในวันนี้ อาจจะดังเปรี้ยงๆ ด้วยเอกลักษณ์ใหม่ๆ ก็ว่าได้

 

จงมีความเชื่อเสมอ ว่าทุกสิ่งเป็นไปได้
   
      บทความนี้เป็นแนวคิด ซึ่งอาจจะมีผลไม่มากก็น้อย ในการสร้างสรรค์ชื่อเรื่อง และนามปากกา ส่วนนิยายบางส่วนที่มีชื่อเรื่องแบบในตัวอย่าง ก็ไม่ได้หมายความว่ามันมิได้น่าอ่าน แต่เพราะมันมีมากเกินไป จนไม่รู้ว่ามันแปลกใหม่ หรือแตกต่างกันอย่างไร

       ฝากประชาสัมพันธ์ด้วยนิดนึงค่ะ กลุ่มใหม่
      http://group.dek-d.com/swriter/

      และ ติดตามบทความต่างๆ เพิ่มเติมที่ยังไม่ได้อ่าน เพิ่มได้ที่นี่ 
http://writer.dek-d.com/annya/writer/view.php?id=739387



แก้ไขครั้งที่ 1 เมื่อ 29 ธันวาคม 2554 / 19:45
แก้ไขครั้งที่ 2 เมื่อ 29 ธันวาคม 2554 / 20:14
แก้ไขครั้งที่ 3 เมื่อ 31 ธันวาคม 2554 / 16:29
แก้ไขครั้งที่ 4 เมื่อ 31 ธันวาคม 2554 / 16:34
แก้ไขครั้งที่ 5 เมื่อ 31 ธันวาคม 2554 / 18:03
แก้ไขครั้งที่ 6 เมื่อ 1 มกราคม 2555 / 07:29

แสดงความคิดเห็น

>

19 ความคิดเห็น

ทิตภากร : กันต์ระพี 29 ธ.ค. 54 เวลา 20:40 น. 1

ขอบคุณสำหรับข้อมูลดี ๆ ค่ะ

ส่วนตัวก็เห็นด้วยในหลาย ๆ ข้อทีเดียว โดยเฉพาะเรื่องนามปากกา การใช้คำพ้องเสียงหรือบิดตัวอักษรเพื่อให้นักอ่านเกิดการเข้าใจผิด มันคือวิธีการที่สกปรกที่สุด บอกให้รู้เลยว่านักเขียนคนนั้นไม่มีศักดิ์ศรีเอาเสียเลย อยากเด่น อยากดัง แต่จะโตทั้งที่ยังต้องเกาะชาวบ้านเขาหากิน มองยังไงก็เสื่อมสุด ๆ ขอประณามเลยแล้วกันว่าหน้าด้าน


PS.  +++ โอกาสมาเยือนเสมอ ถ้าไม่เผลอหลับไปเสียก่อน! +++
0
มะนาวขาว 29 ธ.ค. 54 เวลา 20:45 น. 2

 จริงและเห็นด้วย =^=
ส่วนตัวเคยแต่งนิยายมาเมื่อ6ปีก่อน ตอนนี้ก็ยังแต่งเทพนิยายแบบเดิมอยู่
นามปากกาก็นามเดิม ถึงจะอยากเปลี่ยนแต่ก็คิดว่าอันนี้ที่สุดในใจแล้วล่ะ


#แอบฮาพระเอกเป็นนักวิจัยพลังตด 5555555555555 อยากอ่านอะเรื่องแบบนี้


PS.  Smile and Happy :: ยิ้มไม่ได้แปลว่า มีความสุข :))
0
Pippin 29 ธ.ค. 54 เวลา 21:05 น. 3

เห็นด้วยสุดๆ และจะต้องพัฒนาให้ดีกว่านี้ให้ได้>w<
บทความนี้ดีๆจริงๆ


PS.  เป็นคนง่ายๆสบายๆ ความอึกสูง ความทนสูง โมโหยาก แต่จริงจัง และจริงใจ
0
-Saber- 29 ธ.ค. 54 เวลา 21:18 น. 4

ก็เห็นด้วยนะครับ งานเขียนคืองานศิลปะ จินตนาการมันกว้างขวางไร้ขอบเขต ฉะนั้นไม่จำเป็นเลยที่จะต้องไปเหมือนคนอื่น แค่คิดต่างเท่านั้นเอง มันไม่ยาก การไปลอกคนอื่นเค้าน่ะมันยากกว่านะครับ เพราะคุณต้องคิดว่าจะทำยังไงไม่เหมือนเค้าเป๊ะ อีกทั้งยังต้องทนรับเสียงด่าทอจากคนอ่านที่จับได้ ยังไม่นับรวมถึงตอนส่งงานให้ สนพ. มันจะทำให้คุณเสียเครดิตได้ ไม่ใช่เรื่องเล็ก ใช้ความคิดตัวเองล้วน ๆ ดีที่สุด 


PS.  ถ้าเขาว่าผิดผมว่าไม่ผิดแล้วผมต้องผิดใช่ไหม ถ้าเขาว่าถูกผมว่าไม่ถูกแล้วผมต้องเชื่อหรือไง
0
OopAif 30 ธ.ค. 54 เวลา 11:57 น. 5
เห็นด้วยค่ะ ขอบคุณสำหรับข้อมูลและคำแนะนำดีๆนะคะ


PS.  อย่ายึดติดกับรักครั้งแรกที่มันฝังใจ
0
Anemone2526 31 ธ.ค. 54 เวลา 15:52 น. 7

มันเหมือนการที่คุณต้อง 'ลอก' ต้นแบบของ 'ครู' มาก่อนนะค่ะ เหมือนการวาดรูป คุณก็ต้องเรียนการเขียนภาพต้นแบบก่อน...วาด วาด และวาดเยอะๆ จนดูเชี่ยวแล้ว ถึงจะหาสไตล์ของตัวเองเจอ แล้วก็จะเป็นเอกลักษณ์ของตัวเองเอง เพียงแต่ว่าแต่ละคนจะเจอเอกลักษณ์ของตัวเองได้ช้าหรือเร็วแค่ไหน

เรื่องได้รับแรงบันดาลใจหรือลอกนี่ยังไม่เท่าไหร่ แต่ลอกแล้วเอาไปเนียนแอบอ้างเป็นของตัวเองนี่น่าตื้บ


PS.  เป็นแฟนพันธุ์แท้เรา...ต้องอดทน!!!
0
คะเน 31 ธ.ค. 54 เวลา 20:20 น. 9

นี่คือนักสร้างแรงบันดาลใจ (ใช่ไหมนะ? แหะๆ)

ผมขอจับมือด้วยคนนะครับ
หวังว่าคงจะอยากจับด้วยนะครับ T^T
ถึงแม้ว่าอาจจะไม่มีวันดังเลยก็ตาม แหะๆ

อ่านแล้วได้อะไรหลายอย่าง
อ่านไปคิดไป
ก็จริงนะ
บางที...
สักวันหนึ่ง...
ผมจะ...

(คือมันคิดไม่ออก T-T)


PS.  เธอเป็นเจ้าหญิง เขาเป็นเจ้าชาย ส่วนฉันก็แค่...ซาตานร้าย ที่มีหน้าที่แค่สร้างสีสันให้กับนิทาน
0
Zelena Rivers 1 ม.ค. 55 เวลา 01:42 น. 10

กระทู้นี้ดีมาก โดนใจจริงๆ


PS.  The Curse of Laura นิยายภาษาอังกฤษโดยนักเขียนไทยเรื่องแรกบนเด็กดี @ http://writer.dek-d.com/zelena-rivers/writer/view.php?id=735550
0
Millez 1 ม.ค. 55 เวลา 18:49 น. 11

เห็นด้วยอย่างยิ่งเลยค่ะ  


PS.  เพราะเงยหน้าขึ้นไปก็เห็นท้องฟ้าจนชินตา..บางทีก็เลยเผลอลืมไปว่า มีมันอยู่ตรงนั้น ก็เหมือนอากาศ..รู้ว่ามี แต่บางทีก็ลืม :(
0
Lucia 1 ม.ค. 55 เวลา 21:15 น. 12

เห็นด้วยสุดๆ

ถ้าเราเอาแรงบันดาลใจอยากเขียนแบบเรื่องไหนขึ้นมา สุดท้ายก็จะหมดมุกเพราะไม่รู้จะเอายังไง
แต่ถ้าเราสร้างสรรค์มาเอง...เราไม่มีวันจนตรอก

แนวออนไลน์ เราอ่านอยู่สองสามเรื่องที่สนุกมาก ถามหาออริจินจริงๆ
ได้ยินว่าเป็น...ราชาแห่งราชันย์ ใช่รึเปล่า??

แต่ไปอ่านมาแล้ว (ซื้อลดราคาจบสิบสามเล่มมั้ง รวมแล้ว 330 บาท เจ็บตับแทนคนเขียน) 
เราว่ามันงั้นๆมากเลยนะ จนบัดนี้ยังอ่านไม่จบเลย เป็นความเห็นส่วนตัวที่ทุกคนสามารถโต้แย้งได้
แนวออนไลน์เดี๋ยวนี้สนุกกว่าเยอะ เข้มข้น มีอะไรๆมากกว่า
หรือเป็นเพราะเรายังอ่านไม่จบ แต่มันก็ครึ่งหนึ่งแล้วนะเฮ้ย


แบบนี้แปลว่าออริจิน มันสู้ของ โคเวอร์ ไม่ได้
หรือเพราะมันไม่ใช่ออริจินจริงกันแน่หว่า ??


PS.  คนเข้าตาอ่ะมีเป็นร้อย... แต่ทำไมคนเข้าใจมันมีน้อยจังว่ะ ?!
0
ก้อนหิน 1 ม.ค. 55 เวลา 22:06 น. 13
เห็นด้วยกับการแนะนำ ในการตั้งนามปากกา และชื่อเรื่องอย่างมาก  แต่ก็ต้องขอแก้ต่างนิดหนึ่งครับ เรื่องที่แนวเกมส์ออนไลน์ต้องมีคำว่าออนไลน์ต่อท้าย ไม่ใช่ว่านักเขียนเห็นแล้วมันดังเลยเอามาใส่ต่อท้า่ยนะครับ การใส่คำว่าออนไลน์ ก็เพราะต้องการให้ผู้เสพและไม่ต้องการเสพนิยายประเภทนี้รับรู้ครับ  ตอนแรกแต่ดั้งเดิม นิยายออนไลน์ของผมก็ไม่มีคำว่าออนไลน์ต่อท้าย แต่มีผู้อ่านบางคนแนะนำให้ใส่เข้าไปครับ .....

PS.  ขอบคุณทุกท่านที่ได้แต่งนิยายดีๆ ให้เราได้อ่าน นักเขียนทุกคนสุดยอด
0
อัญยา 1 ม.ค. 55 เวลา 22:22 น. 14

 ในทีี่สุดก็มีคนออกมาบอกแล้วว่า ONLINE คืออะไร

เอาจริงๆ ข้าพเจ้าไม่ทราบเฉยๆ ว่าทำไมนิยมตั้งกันหนักหนา

ตอนนี้ได้คำตอบแล้ว จะได้แก้ไขบทความให้สมบูรณ์ค่ะ ขอบคุณมากๆ เลย สำหรับคำแนะนำ

0
ดมิศรา 1 ม.ค. 55 เวลา 22:33 น. 15

กระนั้น...กระแสสังคมก็ยากต้านทานยิ่ง

ส่วนตัวแล้วเอมคิดว่า ถ้าเป็น 'แรงบันดาลใจ' จริงๆ ตามประสบการณ์แล้ว เมื่อผลงานออกมาแล้วผู้แต่งไม่บอก ก็แทบไม่รู้ดูไม่ออกเลยว่าเอามาจากอะไร ถ้าแว้บแรกก็ดูออกแล้วว่ามาจากอะไร สำหรับเอมแล้วคงไม่เรียกว่าแรงบันดาลใจน่ะค่ะ ^^ ซึ่งก็มีอยู่ดาษดื่นราวดาวดวง แต่กระนั้นเอมก็ไม่ติดว่ามันต้องแหวกมาจากจักรวาลอื่น แม้จะดูตลาด แต่ก็มีการดึงปัจเจกของผู้แต่งนำมาใช้งานได้ แม้จะน้ำเน่า แต่ก็น้ำเน่าอย่างมีสไตล์ก็พบเห็นได้เนอะคะ ^^

จริงอยู่ว่าส่วนใหญ่เอมจะเห็นด้วยกับคุณ แต่ก็มีมุมเล็กๆ ที่เอมจำได้ว่าโลกนี้ไม่จำเป็นต้องเต็มไปด้วยศิลปะ หรือแหวกจักรวาลอื่นเพื่อเป็นออริจินัล เอมคิดว่าขึ้นอยู่กับผู้แต่งชอบอะไรหรือตั้งใจให้กลุ่มคนอ่าน (target group) เป็นใครมากกว่า สมมติ...เขาชอบแนวออนไลน์ อ่านและแต่งแนวออนไลน์ และหวังให้คนคอเดียวกันอ่านงานของเขา มีความเป็นไปได้สูงว่าเมื่อติดป้ายคำว่า ออนไลน์ ด้านหลังชื่อเรื่องแล้วคนที่เป็นกลุ่มเป้าหมายจะเข้าใจได้ทันทีและแว้บเข้ามาอ่าน และมีความเป็นไปได้สูงว่าเมื่อไม่ติดป้ายออนไลน์ คนอ่านที่เห็นชื่อคงไม่รู้ว่าเป็นแนวออนไลน์และมองผ่านไป ดังนั้นสำหรับคุณคนนี้ การติดคำว่าออนไลน์ด้านหลังชื่อ เป็นวิธีการที่สมเหตุสมผลดีแล้ว ถ้าเป็นนิยายแนวง๊องแง๊ง นางเอกเอาแต่ใจไร้สาระ จะตั้งชื่อว่ายัยตัวร้าย เอมก็เข้าใจได้นี่คะว่าเป็นแนวไหน คนวัยไหนอ่าน และอ่านแล้วจะได้อะไร แค่ตั้งชื่อว่ายัยตัวร้าย ก็รู้แล้วว่าไม่ดราม่ามีสาระแน่นอน และก็มักจะมีอะไรประหลาดๆ ดูน่ารักพิลึกพิลั่นออกมาด้วย ดังนั้นแล้วการใช้คำว่ายัยตัวร้าย คงจะมีผลบางอย่างกับคนบางกลุ่มน่ะนะคะ ^^

ที่เอมจะบอกก็คือ ในความจำเจบางอย่างมีเหตุอันควรเป็นไปของมัน พูดกันตามตรง เอมไม่เสพงานออนไลน์ เอมไม่เสพแนวยัยตัวร้ายนายเย็นชา เอมไม่เสพซาตานเถื่อน แต่ทุกวันนี้มันก็มีขายเกลื่อนตลาด วัดกันตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแบบนี้แล้วสรุปได้อย่างเดียวค่ะว่า มีกลุ่มลูกค้าที่อ่านแนวนี้จริงๆ (ไม่งั้นสนพ.คงขาดทุนย่อยยับ ไม่โตเอาโตเอา ดังนั้นการบอกว่า คนอ่านไม่อ่านแนวนี้+ที่อ่านเพราะไม่มีอะไรให้อ่าน เอมคิดว่าคงจะไม่ใช่ทั้งหมดละมั้งคะ) แต่ที่เอมไม่อ่าน เพราะ 'เอมไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายของเขา' ก็เป็นธรรมดาที่จะรู้สึกว่าไม่มีอะไรให้เสพ พูดกันตามตรงแล้ว เอมคงเป็นส่วนน้อยของตลาดผู้อ่านนั่นเอง

สรุป ที่เราไม่ชอบแนวตลาดๆ เพราะเรา 'ไม่ใช่ทาร์เก็ต' น่ะค่ะ ^^ ผู้แต่งและผู้พิมพ์ไม่ได้มองเรามาตั้งแต่แรกแล้ว

อนึ่ง การผลิตงานแนวตลาดไม่ใช่สิ่งที่ต้องจำเจเสมอไป มีงานหลายงานที่จำเจได้อย่างมีสไตล์ด้วย ถ้ายกตัวอย่างกลางๆ เป็นเพลง ก็เช่น 'ทำไมต้องเธอ' ของคุณจิ๋ว ไพเราะไปคนละแบบกับออริจินัลของพี่เบิร์ด ถึงจะเป็นเรื่องย้อนอดีตและนางเอกเป็นคนปัจจุบันเหมือนกัน ทวิภพก็แตกต่างจากปลายเทียน

ด้วยความเคารพ ความจำเจมันไม่ได้ย่ำแย่ถึงขนาดนั้นหรอกค่ะ ^^ แต่เราไม่ใช่ทาร์เก็ต แม้จะอยากเปลี่ยนแปลงให้มีอะไรใหม่ๆ เกิดขึ้น แต่ในแง่คนทำหนังสือและกลุ่มคนอ่านส่วนใหญ่แล้ว มันก็คงจะต้องอาศัยเวลาระดับหนึ่งกระมังคะ


PS.  •´¯`•Ψ... นิยามความรักก็คือนามปากกา "ดมิศรา... งดงามในความมืด" ...Ψ•´¯`•
0
อัญยา 1 ม.ค. 55 เวลา 22:50 น. 16

 ขอยืม ความเห็นข้างบนไปเขียนแนะนำด้วยได้ไหมคะ

จะได้ช่วยทำให้บทความมีมุมมอง และสมบูรณ์มากขึ้น

ขอบคุณความคิดเห็นข้างบนจริงๆ เจ้าค่ะ ^^

---------------------

คนเรานี่ พลิกฝ่ามือ มองคนละมุม ก็เห็นต่างกันแล้ว ซึ่งบอกตรงๆ ว่า การจะทำให้บทความสมบูรณ์ได้ ต้องไม่ใช่ความเห็นด้านเดียว

ขอบคุณอีกครั้งเจ้าค่ะ 


แก้ไขครั้งที่ 1 เมื่อ 2 มกราคม 2555 / 02:42

0