Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

วิปัสสนา...ภาวนาสู่ความพ้นทุกข์

ตั้งกระทู้ใหม่
ตั้งกระทู้ใหม่



สีเลนะ สุคะติง ยันติ

ผู้รักษาศีลย่อมมีความสุข

สีเลนะ โภคะสัมปะทา

ผู้รักษาศีลย่อมเจริญด้วยโภคทรัพย์ มนุษย์สมบัติ

สีเลนะ นิพพุติง ยันติ

ผู้รักษาศีลย่อมเข้าถึงพระนิพพาน

ตัสมา สีลัง วิโสธะเย

ขอเชิญมารักษาศีลกันเถิด



ศีลนั้นเป็นไฉน

   หัวใจของศีลคือ ไม่เบียดเบียนเรา และ ไม่เบียดเบียนเขาซึ่งจำแนกออกเป็นอาการต่างๆได้เป็น ศีล5 ,ศีล8 ,ศีล10 ,ศีล227

ตัวศีลจริงๆ 

   ที่เราสมาทานศีล5 ศีล8 ศีล227ข้อนั้น ยังเป็นอาการของศีล ไม่ใช่ตัวศีล ตัวศีลจริงๆคือตัวจิต หรือตัวเจตนา เช่น เจตนางดเว้นจากการกระทำหรือการพูดที่เป็นบาป เป็นอกุศล เพราะมีหิริโอตตัปปะ คือ ละอายและเกรงกลัวต่อบาป

   ถาม : การโกหกที่ก่อให้ผู้รับฟังมีความสุข เป็นบาปเพียงใด ส่งผลอย่างไร

   ตอบ    : บางครั้งบางกรณีเพื่อไม่ให้เขาทุกข์ใจ ลักษณะที่พูดไปไม่เป็นความจริง แต่เจตนาอกุศลไม่มี เช่น เราไม่สบาย คิดว่า น่าจะไม่รุนแรงมาก แล้วแม่ห่วง ถามเรา เราก็ตอบว่า ไม่เป็นอะไร เพื่อไม่ให้แม่ห่วงมากเกินไป อันนี้ถือว่าเป็นเจตนาดี และไม่ถือว่าโกหก

                อีกตัวอย่างหนึ่ง เช่น สมมุติว่า เราเดินในป่า เห็นกวางเดินผ่านหน้าไปครู่เดียว นายพรานก็ผ่านมา ถามว่า เห็นกวางไหม ถ้าเราถือศีลห้า ก็จะต้องพูดความจริง แต่ถ้าเราพูดความจริง นายพรานก็ทำบาป กวางก็เป็นทุกข์ เป็นการพูดความจริงที่เบียดเบียนผู้อื่น แต่เมื่อถือศีล หัวใจของศีลอยู่ที่การไม่เบียดเบียน ทำอย่างไรจะไม่เบียดเบียน ก็ต้องพูดทำนองว่า ไม่เห็น คือรักษาหัวใจของศีลไว้ หรือเมื่อเรารับราชการ หรือทำงานบริษัท ความลับของทางราชการหรือของบริษัทก็มีอยู่ เมื่อมีผู้ถาม และเขาก็อยากรู้จากเราจริงๆ เราก็ต้องหลีกเลี่ยงตอบ ใช้อุบายต่างๆ

ศีลในวิปัสสนา 

  
ศีลในวิปัสสนานี้ คือศีลที่ใจ คือ ใจไม่ยินดียินร้าย ทำใจให้เป็นปกติ สงบ เพื่อให้จิตตั้งมั่นเป็นสมาธิ
               พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า  "สมาหิโต ยถาภูตัง ปชานาติ"
                                
                                   ผู้มีจิตตั้งมั่น ย่อมเห็นสิ่งทั้งปวงตามความเป็นจริง


ลักษณะของสมาธิ 3 อย่าง

  
1.ปริสุทโธ คือ ความสะอาด บริสุทธิ์
   2.สมาหิโต คือ ความตั้งมั่นของจิต
   3.กัมมะนีโย คือ ความคล่องแคล่ว ว่องไว ควรแก่การงาน

   ลักษณะ3อย่างนี้ ถ้ามีในจิตใจก็จะเกิดวิปัสสนาต่อไป


วิปัสสนาในอานาปานสติ ขั้นที่13
อานาปานสติขั้นที่ 13

ตามเห็นซึ่งความไม่เที่ยงอยู่เป็นประจำ

   ในขั้นนี้เป็นวิปัสสนาล้วนๆ เราตามเห็นอนิจจัง คือ ความไม่เที่ยงอยู่ทุกลมหายใจออก ลมหายใจเข้า โดยไม่ต้องทำอย่างอื่นนอกจากการ "ตามดู" พยายามตามดู "อนิจจัง" ให้เห็นชัดยิ่งๆขึ้นไป

   ให้เหมือนกับว่าเรามีกล้องขยายอยู่ในใจ ไม่ว่าจะดูที่ไหนก็กำหนดที่นั่น แล้วดูจนเห็นชัดๆว่า ไม่เที่ยง อนิจจัง ทุกลมหายใจออก ลมหายใจเข้า

   - การดูที่เป็นมรรค กับการดูที่เป็นผล
    
     
การดูที่เป็นมรรค คือ การดูที่เป็นเหตุให้เกิดวิปัสสนา หมายถึง ยังมีอุปาทาน(ยึดมั่นถือมั่น) ยังไม่เห็นชัดซึ่ง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา จึงพยายามกำหนดดู เพื่อให้บังเกิดความรู้แจ้งเห็นจริง ในกรณีนี้การดูเป็น มรรค

      การดูที่เป็นผล คือ กรณีที่เราไม่มีอุปาทาน ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่กำลังดูอยู่ เห็นแต่ความ ดับๆๆ คืออนิจจัง เป็นวิปัสสนาโดยสมบูรณ์แล้ว การดูนี้ก็มีผลสมบูรณ์

   สิ่งใดที่ยังไม่เห็นชัด ก็พยายามกำหนดเข้าไปดู ดูจนเห็นชัดและเกิดเป็นสมาธิขึ้น ก็จะรู้เห็นตามความเป็นจริง เป็นวิปัสสนาปัญญา

   อนิจจัง

      ที่ว่าอนิจจัง ความไม่เที่ยงนี้ ถ้าเห็นด้วยปัญญาชอบแล้ว ก็จะเห็นว่า สิ่งนั้นเป็นทุกขัง(ความทนได้ยาก) และเป็นอนัตตา(ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ของเขา ไม่มีตัวตน)โดยสมบูรณ์


       ฉะนั้นการปฏิบัติเห็นอนิจจัง ความไม่เที่ยง จึงหมายความรวมเอาทุกขังและอนัตตาไว้ด้วย เห็นอนิจจัง ก็คือเห็นอนัตตา ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน  ไม่มีอุปาทาน ไม่มีความยึดมั่นถือมั่น เห็นว่าไม่ใช่เป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา เป็นอนัตตา

   - การตามเห็นอนิจจังในอานาปานสติสูตรนี้ ท่านให้ยกเอา กาย เวทนา(ความรู้สึก) จิต มาเป็นอารมณ์วิปัสสนา

    กำหนดดูกายให้เห็นชัดว่าเป็นอนิจจัง  ลมหายใจเป็นส่วนหนึ่งของกาย ในอานาปานสติขั้นที่ 1 ถึง 4 เรากำหนดเอาลมหายใจคือกาย เห็นลมหายใจนี้ยาวบ้าง สั้นบ้าง บางทีก็หายใจเบา บางทีก็หมดไป หายใจเข้าแล้วก็ต้องออก หายใจออกแล้วก็ต้องเข้า ไม่มีการอยู่นิ่ง เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ คืออนิจจัง ไม่เที่ยง หรือ เราอาจจะกำหนดดูองค์ประกอบของกาย เช่นอาการ32 แล้วเราก็เห็นชัดว่า มันไม่เที่ยงไปทั้งหมด กำหนดดู รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ทุกลมหายใจออก-เข้า จนเห็นชัดว่า มันเกิดดับ เกิดดับ เกิดดับ อยู่ตลอดเวลา

   กำหนดดูเวทนาให้เห็นชัดว่าเป็นอนิจจัง เวทนาที่เกิดขึ้นในทุกขณะ เมื่อตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้ดมกลิ่น ลิ้นได้รู้รส กายสัมผัส ใจรับรู้เรื่องราวต่างๆ เกิดความสุข ความทุกข์ ไม่สุขไม่ทุกข์ เกิดดับๆๆ อยู่อย่างนั้น จึงเห็นได้ชัดถึงความดับๆๆๆของเวทนา ตามเห็นอนิจจังทุกลมหายใจออกลมหายใจเข้า

   กำหนดดูจิตให้เห็นชัดว่าเป็นอนิจจัง ไม่ว่าจิตลักษณะไหนเกิดขึ้น แล้วก็ดับไปทั้งสิ้น จิตมีราคะ จิตไม่มีราคะ จิตมีโทสะ จิตไม่มีโทสะ จิตมีโมหะ จิตไม่มีโมหะ จิตฟุ้งซ่าน จิตสงบ ฯลฯ ก็มีแต่การดับๆๆทั้งนั้น

    แต่ที่สุดของการวิปัสสนาเพ่งอนิจจังลักษณะ ก็ไม่มีการกำหนดเพ่งเป็นส่วนๆ เป็นมหาสติมหาปัญญาอยู่ที่จิต

   - กำหนดดูธรรมะให้เห็นชัดว่าเป็นอนิจจัง เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ในขันธ์ 5 ชัดเจน เห็นชัดว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปๆๆ

   อะไรจะเกิดดับๆ ก็ตามเห็นอนิจจัง เห็นทุกสิ่งทุกอย่างที่ผ่านเข้ามาสัมผัสจิต เกิดขึ้นแล้วก็ดับๆๆเท่านั้น

   - ขันธ์ 5 

      ขันธ์ แปลว่า หมู่ กอง พวก 

      ขันธ์5 คือ รูปธรรมกับนามธรรม(เรียกสั้นๆว่ารูปกับนาม) แยกออกไว้เป็น 5 กอง คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ

      1.รูป   คือ กายนี้อันเกิดจากธาตุ 4มาประชุมกันคือดิน น้ำ ลม ไฟ

      2.เวทนา คือ ความรู้สึก(ทุกข์ สุข ไม่ทุกข์ไม่สุข)

      3.สัญญา คือ ความจำได้หมายรู้ เช่น จำรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และอารมณ์ที่เกิดขึ้นกับใจ (ไม่ใช่หนังสือสัญญาซื้อขาย ไม่ใช่ข้อตกลง)

      4.สังขาร คือ ความนึกคิดปรุงแต่ง 

      5.วิญญาณ คือ ความรับรู้ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

   - อุปาทานในขันธ์ 5

     
ขันธ์ 5 ถ้ายังเป็นอุปาทานขันธ์ มีตัณหา อุปาทาน เข้าไปยึดมั่นถือมั่น เมื่อกระทบอารมณ์ต่างๆ ก็เกิดยินดี ยินร้าย ความทุกข์เดือดร้อนเกิดขึ้นทันที อุปมาเหมือนป่าที่มีสัตว์ที่เป็นศัตรูกันเป็นคู่ๆ เช่น ับกวาง งูกับกบ แมวกับหนู เหยี่ยวกับพังพอน สัตว์เหล่านี้ปกติก็เป็นศัตรูกัน เมื่อพบกันก็ต่อสู้กัน ทำลายกัน
      
     เมื่อเราเจริญวิปัสสนาสมบูรณ์ ไม่มีกิเลส ตัณหา อุปาทานในขันธ์5แล้ว ก็เปรียบเสมือนสัตว์เหล่านี้ต่างคนต่างก็ไปกินน้ำที่สระน้ำ ที่สงบเยือกเย็น ที่อยู่ในป่าที่กว้างใหญ่ตามธรรมชาติ เขาก็ต่างคนต่างมากินน้ำที่สระได้ด้วยสันติสุข 

     เหมือนกับขันธ์ 5 ก็ต่างคนต่างทำหน้าที่ตามเหตุปัจจัย เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ไม่มีอุปาทาน ไม่มีกิเลส ตัณหา เข้าไปยึดมั่นถือมั่น เกิดสันติสุข แล้วในที่สุดก็สลัดคืนธรรมชาติหมด เมื่อนั้นเราก็สามารถอยู่ได้อย่างสงบสุข

   - ลิงปอกหอมใหญ่

     ขันธ์ 5 เป็นของหนัก เราก็แบกขันธ์5ไปๆมาๆอยู่อย่างนั้น เพราะเรามีอุปาทานในขันธ์5 มองไปจุดไหน มองไปที่อะไร ก็มีแต่ตัวตน มีแต่เรามีแต่ของเราทั้งนั้น เรารู้สึกว่า ขันธ์5 เป็นเรา มันเป็นของเรา

     เมื่อเรามีศรัทธาเจริญวิปัสสนากรรมฐาน เราก็จะคล้ายกับลิงปอกหอมใหญ่ เราเอาหอมใหญ่ให้ลิง 1 ลูก ลิงก็ปอกเปลือกออกทีละชั้นๆๆ นี่ไม่ใช่ ทิ้งไป...นี่ไม่ใช่ ทิ้งไป...นี่ก็ไม่ใช่ ทิ้งไป นี่กินไม่ได้...นี่ก็กินไม่ได้ จนในที่สุดมันก็รู้ว่า ไม่มีอะไรกินได้

     ผู้เจริญวิปัสสนาก็เหมือนกัน สิ่งที่เรารู้สึกว่าเป็นเรา เป็นของเรา เป็นตัวเป็นตนของเรา เมื่อเราเจริญสมถวิปัสสนากรรมฐาน เราก็เข้าไปดูๆ ก็เห็นว่า อ้อ นี่ก็ไม่ใช่ของเรา...นี่ก็ไม่ใช่ของเรา...นี่ก็ไม่ใช่ของเรา

     ในที่สุดสิ่งที่ยึดถือเป็นตัวเราของเรา ก็ไม่มีอีกต่อไป เพราะรู้ชัดเห็นชัดแล้วว่า ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เกิดขึ้นแล้วแปรปรวนแตกสลายไปตามธรรมชาติ ไม่มีสิ่งที่จะยึดเอาเป็นตัวเป็นตน เป็นเราเป็นของเราได้
สัพเพ ธัมมา นาลัง อภินิเวสายะ

สิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น

ไม่มีตัว ไม่มีตน เป็นสุญญตา



   ผู้ที่เข้าถึงอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาโดยสมบูรณ์ก็คือพระอรหันต์นั่นเอง สภาวะของจิตเป็น ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน อย่างแท้จริง ไม่มีอุปาทาน ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใดๆทั้งสิ้น และที่สำคัญคือ ชีวิตที่เหลืออยู่ ท่านอยู่เพื่อประโยชน์สุขของมหาชนล้วนๆ

   ชีวิตของพระบรมศาสดาเป็นแบบอย่าง หลังจากที่พระองค์ทรงตรัสรู้แล้ว ได้ทรงใช้เวลาที่เหลือทั้งหมด 45 พรรษา
พหุชน หิตาย   เพื่อประโยชน์แก่มหาชน
พหุชน สุขาย   เพื่อความสุขแก่มหาชน
   โดยการเสด็จสั่งสอนมหาชนให้เข้าถึงความพ้นทุกข์ทั้งปวง ตราบจนกระทั่งเสด็จเข้าสู่มหาปรินิพพานในที่สุด



บทส่งท้าย



พระโสดาบัน

   ดวงตาเห็นธรรม เกิดขึ้นเมื่อ ศีล สมาธิ ปัญญา ปรากฏขึ้นพร้อมกัน ในขณะเดียวกัน เกิดมรรคสมังคีหรืออริยมรรคมีองค์แปด เห็นพระนิพพานในขณะนั้น คือเห็นชัดว่า

"ยังกิญจิสะมุทะยะธัมมัง สัพพันตังนิโรธะธัมมัง"


"สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา

สิ่งเหล่านั้นทั้งหมดย่อมมีความดับไปเป็นธรรมดา"



   ละสังโยชน์ขั้นต่ำ 3 อย่างได้ คือ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส จิตตกกระแสพระนิพพาน เป็นโสดาบันบุคคล

   โสดาบันบุคคล ไม่เกิดในอบายภูมิ มี นรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดียรัจฉาน เป็นต้น เมื่อตายก็ไปสุคติ และเกิดในภูมิที่ดี เช่น มนุษย์ เทวดา เป็นต้น และเกิดในตระกูลที่เป็นสัมมาทิฏฐิ พร้อมที่จะศึกษาและปฏิบัติธรรมต่อไป

   บางทีก็ใช้สำนวนว่า พระโสดาบัน ตั้งมั่นใน พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ตั้งอยู่ในศีล 5 ในทุกกรณี ไม่ทำความชั่ว

   คนที่ได้เป็นโสดาบันกลุ่มหนึ่ง เห็นโทษเห็นภัยในวัฏสงสาร ก็เร่งรีบภาวนาเพื่อที่จะบรรลุพระนิพพาน

   แต่บางท่านก็ยังพอใจในโลกียสุข ไม่รีบเร่งที่จะเลื่อนจิตใจให้สูงขึ้นมากมาย ท่านก็อยู่สบายๆ มีความสุขอยู่ในทางโลก แต่ก็ไม่ทำบาป ทำแต่ความดี บำเพ็ญ ทาน ศีล ภาวนา เป็นต้น ท่านมีมนุษย์สมบัติบริบูรณ์ ตัวอย่างก็คือนางวิสาขา

   การปฏิบัติธรรมของเราทุกคนก็เพื่อ ละสังโยชน์ ถ้าหากละสังโยชน์ไม่ได้ การปฏิบัติของเรา การเจริญสมถะ วิปัสสนากรรมฐานก็ไม่ได้ผล ไม่ได้ประโยชน์ที่แท้จริง

สังโยชน์ 10

   สังโยชน์ คือ ธรรมที่มัดสัตว์ไว้กับทุกข์ มี 10 อย่าง

   1.สักกายทิฏฐิ คือ ความห็นว่า เป็นตัวเป็นตน เช่น เห็น รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นตัว เป็นตน

   2.วิจิกิจฉา คือ ความสงสัย ความลังเล ในพระพุทธ พระธรรม และ พระสงฆ์

   3.สีลพพตปรามาส คือ ความถือมั่นในศีลพรต โดยสักแต่ว่าทำตามๆกันไปอย่างงมงาย เห็นว่าจะบริสุทธ์หลุดพ้นได้ด้วยศีลและพรต

   4.กามราคะ คือ ความกำหนัดในกาม ความติดใจในกาม

   5.ปฏิฆะ คือ ความกระทบกระทั่งใจ ความหงุดหงิด ขัดเคือง

   6.รูปราคะ คือ ความติดใจในอารมณ์แห่งฌานหรือ รูปธรรมอันประณีต

   7.อรูปราคะ คือ ความติดใจในอารมณ์แห่งอรูปฌาน

   8.มานะ คือ ความสำคัญตน 

   9.อุทธัจจะ คือ ความฟุ้งซ่าน

   10.อวิชชา คือ ความไม่รู้จริง

   พระโสดาบัน ละสังโยชน์ข้อ 1 2 3ได้ ได้ดวงตาเห็นธรรม (เกิดในกามภพอีกไม่เกิน 1 ชาติถึง 7 ชาติ)

   พระสกิทาคามี ละสังโยชน์ได้เท่ากับพระโสดาบันบุคคล แต่สามารถทำสังโยชน์ที่เหลือให้เบาบางลงได้ (กลับมาเกิดในกามภพอีกชาติเดียว)

   พระอนาคามี ละสังโยชน์ข้อ 4 5 ได้ (ไม่มาเกิดในกามภพอีก ท่านเสวยสุขในสุทธาวาสแล้วปรินิพพานที่นั่น)

   พระอรหันต์ ละสังโยชน์ ข้อ 6-10ได้ (ท่านตัดกิเลสได้โดยเด็ดขาด ไม่เกิดอีก)





ที่มา : หนังสือ "อานาปานสติ : วิถีแห่งความสุข" และ "ปัญหา 108 เล่ม 2"
โดย พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก
 



                                   


แก้ไขครั้งที่ 1 เมื่อ 7 มกราคม 2555 / 17:24
แก้ไขครั้งที่ 2 เมื่อ 20 มกราคม 2555 / 20:36
แก้ไขครั้งที่ 3 เมื่อ 8 ธันวาคม 2555 / 11:27

แสดงความคิดเห็น

>

2 ความคิดเห็น