Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

เคล็ดลับมีความสุขง่ายๆ 5 อย่าง ที่ทุกคนทำได้

ตั้งกระทู้ใหม่
ตั้งกระทู้ใหม่




ปัจจัยแห่งความสุข

   ทุกชีวิตบนโลกใบนี้ต้องการความสุขและกำลังแสวงหาความสุข ซึ่งก็หมายรวมทั้งความสุขกายและความสุขใจ ทุกคนทุกชีวิตไม่ว่าจะเป็นเพศใดวัยใด หรือแม้แต่สัตว์มันก็แสวงหาความสุขด้วยกันทั้งนั้น มนุษย์เราจึงได้พยายามศึกษาค้นคว้าหาแนวทางในการดำเนินชีวิตหลากหลายรูปแบบ ซึ่งก็มีเป้าหมายอย่างเดียวกันคือ เพื่อความสุข

   เมื่อประมาณปลายปี พ.ศ. 2552 มูลนิธิเศรษฐกิจใหม่ (New Economics Foundation) ของประเทศอังกฤษ ได้สรุปผลการวิจัยเรื่องความสุขไว้ว่า หลังจากมีปัจจัยเบื้องต้นเพียงพอต่อความต้องการของร่างกายแล้ว การใช้จ่ายเงินเพื่อหาสรรพสิ่งมาเพิ่มจะไม่ได้ทำให้เกิดความสุขเพิ่มขึ้นตามไปด้วย กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ความสุขไม่ได้ผันแปรไปตามปริมาณของทรัพย์สินเงินทอง





   เรื่องเงินทองนั้นจำเป็นสำหรับชีวิต เป็นปัจจัยหนึ่งในการแสวงหาความสุขได้ก็จริง แต่บางครั้งการมีเงินมากๆ ก็เป็นเหมือนดาบสองคม ถ้าไม่รู้จักใช้ก็ทำให้ชีวิตเป็นทุกข์ได้เหมือนกัน งานวิจัยทางสังคมศาสตร์จำนวนมากให้ข้อสรุปตรงกันว่า คนที่ชอบซื้อลอตเตอรี่ส่วนใหญ่เป็นคนที่หาเช้ากินค่ำ โดยหวังว่าการเสี่ยงโชคจะเป็นทางหนึ่งที่จะได้เงินมาโดยไม่ต้องเหนื่อย แต่ทรัพย์ที่ได้มาง่ายๆและรวดเร็วนั้น มักจะอยู่ได้ไม่นาน เพราะคนเรามักจะไม่เห็นคุณค่าของสิ่งที่ได้มาง่ายๆ จึงมักจะใช้มันอย่างฟุ่มเฟือย หมดไปกับการเสพสุข ปรนเปรอตน ทีแรกก็เพื่อเฉลิมฉลอง แต่นานเข้าก็ติดเป็นนิสัย แต่ละวันหมดไปกับการกิน เที่ยว เล่น ผลคือนอกจากโชคลาภจะหมดไปอย่างรวดเร็วแล้ว เงินทุนที่มีอยู่เดิมก็หดหายไปง่ายๆด้วย สุดท้ายก็ต้องกู้หนี้ยืมสิน เพราะถอนตัวออกจากอบายมุขไม่ได้ กลายเป็นว่าชีวิตกลับตกต่ำกว่าตอนก่อนจะถูกลอดเตอรี่เสียอีก

   มีลูกศิษย์คนหนึ่งเล่าให้อาจารย์ฟังว่า เคยอ่านบทความที่พูดถึงผลการสำรวจชาวอเมริกันที่ถูกลอตเตอรี่ มีจำนวนมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ที่ตอบว่า หากย้อนกลับไปได้ ก็ไม่อยากเป็นผู้ถูกรางวัล เพราะเงินที่ได้มาไม่ได้นำความสุขมาให้อย่างที่ฝัน แต่กลับทำให้ชีวิตยุ่งยาก มีความเครียดวิตกกังวล ครอบครัวแตกแยก และมีความปลอดภัยในชีวิตน้อยลง

   ที่เมืองไทยอาจารย์ก็เคยอ่านหนังสือพิมพ์ ลงข่าวเรื่องพ่อค้าเร่คนหนึ่งถูกลอตเตอรี่รางวัลที่ 1 ได้เงิน 20ล้านบาท แต่ภายในเวลาไม่ถึงเดือน เขาก็กินยาหวังจะฆ่าตัวตาย เพราะกลุ้มใจที่มีคนมารุมขอมากมาย บางคนถึงกับขู่ฆ่าเขาและภรรยา เพราะไม่พอใจที่ได้เงินส่วนแบ่งน้อยเกินไป




    นอกจากนี้ข้อมูลจากรัฐบาลจีนน่าจะเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่สนับสนุนผลการวิจัยของมูลนิธิเศรษฐกิจใหม่ได้ดี กล่าวคือ ในช่วงที่จีนปฏิรูปเศรษฐกิจและเปิดประเทศ ทำให้เศรษฐกิจของจีนเจริญรุ่งเรืองอย่างรวดเร็ว เศรษฐีชาวจีนที่มีทรัพย์สินหลักพันล้านดอลลาร์สหรัฐมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม เศรษฐีที่มีจำนวนเพิ่มขึ้น และมีความร่ำรวยมากขึ้นไม่ได้มีความสุขเสมอไป ตรงกันข้าม รายงานทางการแพทย์พบว่า ในกลุ่มมหาเศรษฐีจีนที่เสียชีวิตมีสาเหตุมาจากการฆ่าตัวตายถึงร้อยละ23.6 ของจำนวนเศรษฐีที่เสียชีวิตในช่วงปี พ.ศ. 2551-2553 และมีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากความเครียดจากการทำงานและสภาพสังคมที่มีการแข่งขันกันรุนแรง ยิ่งไปกว่านั้นก็คือ มีข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ระบุว่า อัตราการฆ่าตัวตายของคนจีนพุ่งสูงขึ้นอย่างมาก โดยเฉลี่ยแล้วมีคนจีนฆ่าตัวตาย 1คน ในทุกๆ2นาที ทำให้จีนเป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศ ที่มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงที่สุดในโลก จากผลการสำรวจในเดือนกันยายน 2554

   นอกจากนั้นการศึกษากลุ่มชนทั่วโลกที่มีวิถีชีวิต มาตรฐานการครองชีพและรายได้ที่ต่างกันมากพบว่า ชาวอามิชที่ตั้งหลักแหล่งอยู่ทางตอนกลางของรัฐเพนซิลวาเนีย ยังชีพแบบเกษตรกรดั้งเดิม ไม่ใช้ไฟฟ้า ไม่ใช้รถยนต์ ชาวอินุยต์บนเกาะกรีนแลนด์ เกาะที่ใหญ่ที่สุดในโลกซึ่งปกคลุมด้วยหิมะ และชนเผ่ามาไซในแอฟริกาที่ดำรงชีวิตด้วยการเลี้ยงสัตว์แบบเร่ร่อน เมื่อเทียบกับเศรษฐีพันล้านชาวอเมริกันล้วนมีความสุขในระดับใกล้เคียงกัน



เกาะกรีนแลนด์ ประเทศเดนมาร์ก


   การศึกษาเปรียบเทียบระหว่างประเทศก็ให้ผลทำนองเดียวกัน นั่นคือผู้คนในประเทศอุตสาหกรรมที่ร่ำรวย ไม่ได้มีความสุขมากกว่าผู้คนในประเทศที่มีรายได้ปานกลางหรือยากจน และอาจกลับกันเป็นตรงกันข้าม เช่น ประเทศที่ประชาชนมีความสุขมากที่สุดในอันดับต้นๆ กลับเป็นประเทศที่ยากจนในอันดับต้นๆ อย่างเช่น ภูฏาน วานูอาตู และคอสตาริกา โดยปัจจัยที่ทำให้เกิดความสุขสำหรับประชากรในประเทศดังกล่าวได้แก่ การได้อยู่กับครอบครัว สังสรรค์กับญาติมิตร การตอบแทนบุญคุณ ความศรัทธาในศาสนา สภาพแวดล้อมทางธรรมชาติที่สะอาด ชีวิตที่ไม่ต้องแข่งขัน มีความต้องการในสิ่งต่างๆน้อย การเติบโตเป็นผู้อาวุโสอย่างสง่างาม เป็นต้น



วานูอาตู ประเทศที่มีความสุขมากที่สุดในโลก อ้างอิง ; http://www.ped.si.mahidol.ac.th/mdbtemplate/mytemplate/template.php?component=view_article&qid=145














   อาจารย์พิจารณาดูแล้ว ก็เห็นว่าผลการวิจัยดังกล่าวสอดคล้องกันกับหลักปฏิบัติของพุทธศาสนา หากพูดถึงการแสวงหาความสุขตามหลักพุทธศาสนา เราทุกคนมีโอกาสเท่ากันที่จะมีความสุขได้ เพราะความสุขตามที่พระพุทธเจ้าสอนนั้น เป็นความสุขอันเกิดจากความสันโดษ คือยินดีในสิ่งที่ได้ พอใจในสิ่งที่มี โดยไม่ต้องคิดเปรียบเทียบกับคนอื่น มีชีวิตที่เรียบง่ายและไม่เบียดเบียนใคร ซึ่งเป็นการใช้ชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวทางพระราชดำริของพระเจ้าอยู่หัว

   ในเบื้องต้นการแสวงหาปัจจัย 4 ก็เป็นสิ่งสำคัญสำหรับทุกคน พระพุทธเจ้าก็อนุญาตเครื่องอาศัยเลี้ยงชีวิตของบรรพชิตในพระพุทธศาสนา 4 อย่าง ซึ่งหมายถึงปัจจัย 4 ได้แก่

   1.อาหาร

  
การเที่ยวบิณฑบาตด้วยปลีแข้งของภิกษุก็เพื่อเป็นการขออาหารและโปรดญาติโยมให้รู้จักให้ทาน ซึ่งอาหารที่ได้รับนั้นก็แล้วแต่ศรัทธาของผู้ให้ ภิกษุจะฉันโดยไม่กำหนดตามความต้องการของตนเอง การฉันอาหารจะต้องพิจารณาว่า ไม่ใช่เพื่อความอร่อยเพลิดเพลินในรสชาติหรือบำรุงร่างกายให้แข็งแรง ไม่ฉันจนอิ่มเกินไป แต่ให้รู้จักประมาณในการบริโภค คือฉันเพื่อบรรเทาความหิว เพื่อรักษาชีวิต เหมือนกับอาหารนั้นเป็นยา พอให้ร่างกายมีกำลังในการประพฤติปฏิบัติธรรมได้



หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน


   2.เครื่องนุ่งห่ม

  
ผ้าบังสุกุลจีวร ก็ให้นำผ้าที่ไม่มีค่าอะไรจากป่าช้า กองขยะ เป็นผ้าที่เขาทิ้งแล้วมาตัดเย็บ ย้อม ใช้เพื่อปกปิดร่างกายไม่ให้เป็นที่น่าละอาย ปกป้องร่างกายจากสภาพอากาศและสัตว์หรือแมลงต่างๆ โดยมีผ้าเพียงแค่ 3ผืน คือ สบง จีวร สังฆาฏิ ต่อมาภายหลังจึงอนุญาตให้มีผ้าอาบน้ำฝนเพิ่มอีกอย่าง

   3.ที่อยู่อาศัย
   
  
เสนาสนะสำหรับพระภิกษุก็เป็นที่อยู่อาศัยตามโคนต้นไม้ อยู่ในป่า เน้นความเป็นธรรมชาติและความสงบ ไกลจากเมืองที่มีเสียงรบกวนต่างๆ เมื่อเวลาผ่านไป พระพุทธเจ้าจึงอนุญาตให้ปลูกระต๊อบเล็กๆในป่า เพื่อเป็นที่กำบังแดด ฝน ปกป้องร่างกายจากสัตว์

   4.ยารักษาโรค

  
ในสมัยพุทธกาลนั้น พระพุทธเจ้าก็ให้ฉันสมอดองด้วยน้ำมูตรเน่า (น้ำปัสสาวะ) เพื่อเป็นยารักษาโรคเจ็บไข้ป่วยต่างๆ

   พระพุทธเจ้าตรัสว่า ความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ ดังนั้น การมีสุขภาพดีคือความไม่มีโรคทั้งทางกายและทางใจ เป็นสิ่งสำคัญ ถ้าสุขภาพไม่ดี ก็จะเป็นอุปสรรคแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนได้อย่างสมบูรณ์ ปัจจัย 4 ดังกล่าวข้างต้น จึงเป็นปัจจัยพื้นฐานเพื่อการดำรงชีวิต อย่างพออยู่พอกิน ไม่ใช้เพื่อตกแต่ง แสดงฐานะ หากเรามีความสันโดษ การมีเพียงปัจจัย4 ก็ทำให้ชีวิตมีความสุขได้

   ประมาณเกือบ20ปีก่อน อาจารย์เคยพาพระบวชใหม่ไปธุดงค์ที่หุบใหญ่ ในคณะก็มีพระญี่ปุ่นรูปหนึ่งซึ่งบวชได้10ปีแล้วติดตามไปด้วย พระญี่ปุ่นรูปนี้ก็เป็นคนที่มาจากครอบครัวที่มีฐานะดีมาก กินดีอยู่ดี มีโอกาสเดินทางไปท่องเที่ยวต่างประเทศหลายประเทศ เมื่อมาบวชเป็นพระก็ใช้ชีวิตแบบพระป่า กินง่าย อยู่ง่าย เมื่อออกธุดงค์ไปหุบใหญ่ ต้องเดินทางเหนื่อยทั้งวัน เวลาฉันอาหารก็ใช้ไม้ไผ่ใส่ข้าว ใส่น้ำ แล้วก็เผาไฟหุงข้าวเหมือนทำข้าวหลาม กับข้าวก็มีแค่ปลากระป๋อง แล้วก็ต้มมาม่า แต่พระญี่ปุ่นบอกว่าอาหารมื้อนี้อร่อยที่สุดในชีวิต

   สำหรับประสบการณ์ของอาจารย์เองก็เหมือนกัน เวลานึกถึงอาหารมื้ออร่อย ก็นึกถึงสมัยเด็กๆ เอาแตงกวามาแช่ในน้ำพุธรรมชาติที่เย็นจัดซึ่งอยู่ใกล้บ้าน แล้วเอามาจิ้มกินกับมิโสะ มันก็อร่อยดี มีความสุขกันแล้ว ทุกวันนี้ถึงจะกินอาหารอุดมสมบูรณ์มากกว่าแต่เมื่อนึกถึงความสุขในการกินทีไรก็นึกถึงสมัยเด็กๆทุกครั้ง

   สมัยที่อาจารย์ยังเด็ก แม่พูดอยู่เสมอว่า ชีวิตในชนบทดีที่สุด มีข้าวปลาอาหารพออยู่พอกินไม่ต้องเครียดอะไร แม่ไม่เคยบอกให้อาจารย์ต้องเรียนหนังสือสูงๆ ต้องรวย ต้องมียศมีตำแหน่งสูงถึงจะมีความสุข อาจารย์รู้สึกว่าน่าจะจริงตามที่แม่พูด คำพูดของแม่ทำให้รู้จักสันโดษ พอใจกับชีวิตแบบเรียบง่ายพออยู่พอกิน





   นอกเหนือจากปัจจัย 4 อันเป็นสิ่งจำเป็นพื้นฐานสำหรับร่างกายแล้ว การวิจัยของมูลนิธิเศรษฐกิจใหม่ เขาก็สรุปผลว่า ปัจจัยสำคัญอื่นๆที่ทำให้เกิดความสุขเพิ่มมากขึ้นนั้นมีอยู่ 5 ข้อด้วยกันคือ
 
   1.การมีเพื่อน และมีความสัมพันธ์อันดีกับคนรอบข้าง
   2.การที่ร่างกายได้เคลื่อนไหวอยู่เป็นนิจ
   3.การเป็นคนช่างสังเกต
   4.การเรียนรู้อยู่เสมอ
   5.การให้ความช่วยเหลือแก่ผู้อื่น



การมีเพื่อน




   การมีเพื่อนและมีความสัมพันธ์อันดีกับคนรอบข้างนำมาซึ่งความสุข โดยเฉพาะความสัมพันธ์ที่ดีของสมาชิกในครอบครัว ญาติ พี่น้อง เพื่อนร่วมงาน ตลอดจนเพื่อนๆในความหมายของกัลยาณมิตร คือเพื่อนที่มีความปราถนาดีให้แก่กัน เป็นพื้นฐานของความรู้สึกมั่นคง อบอุ่นใจ การมีเพื่อนสำหรับหลายๆคน ถือว่าเป็นสิ่งที่มีคุณค่ามากกว่าการมีทรัพย์สินเงินทอง

กัลยาณมิตรคนแรก

   พระพุทธเจ้าสอนว่า พ่อแม่เป็นกัลยาณมิตรคนแรกในชีวิตของเรา ชีวิตของเราเติบโตขึ้นมาได้ก็อาศัยพ่อแม่ผู้ให้กำเนิด อุปการะเลี้ยงดู อบรมสั่งสอนเรามา ความรักของพ่อแม่ที่มีกับลูกเป็นความรักและปราถนาดีอย่างหาที่สุดมิได้ เราทุกคนจึงควรสำนึกในบุญคุณของพ่อแม่ และหาโอกาสที่จะตอบแทนพระคุณของท่าน เช่น ช่วยเหลือในการงานของพ่อแม่ เลี้ยงดูพ่อแม่เมื่อท่านแก่ชรา และช่วยดูแลรักษายามที่ท่านเจ็บไข้ได้ป่วย แต่การตอบแทนบุญคุณที่สำคัญที่สุด และเป็นสิ่งที่ทุกคนมีโอกาสจะทำได้ไม่ว่าจะมีฐานะอย่างไร อยู่ที่ไหน ก็คือการประพฤติตนเป็นคนดี ตั้งมั่นอยู่ในศีลในธรรม เพราะการสร้างคุณงามความดีให้แก่ตน เป็นสิ่งที่ทำให้คนที่เป็นพ่อเป็นแม่ทุกคนมีความสุข ความสบายใจ

   การตอบแทนบุญคุณพ่อแม่นั้น พระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญ ดังจะเห็นได้จากสมัยพุทธกาล เคยมีพระภิกษุรูปหนึ่ง ที่จะสึกเพื่อที่จะออกมาดูแลแม่ที่ป่วย แต่พระพุทธเจ้าตรัสว่าการเป็นพระก็ดูแลได้ไม่ผิดหลัก โดยเฉพาะอาหารที่บิณฑบาตมาได้นั้น ให้แม่กินก่อนได้ และหากเราสามารถดูแลแม่ในขณะยังครองผ้าเหลืองอยู่ได้ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ประเสริฐ

กตัญญูเป็นเครื่องหมายของคนดี

   พระพุทธเจ้าสอนว่า ความกตัญญูเป็นเครื่องหมายของคนดี ในชีวิตของเรา ไม่แต่เฉพาะพ่อแม่เท่านั้นที่เป็นผู้มีพระคุณต่อเรา ลองทบทวนดู ญาติพี่น้องที่ได้ช่วยเหลือเรา ช่วยเลี้ยงดู ให้คำแนะนำหรือให้สิ่งของแก่เรา และเมื่อเราเติบโตเข้าโรงเรียน จนถึงวัยทำงาน ความสัมพันธ์กับบุคคลอื่นๆ ก็จะขยายวงกว้างขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ครูบาอาจารย์ เจ้านาย รุ่นพี่ รุ่นน้อง เพื่อนฝูง หรือคนที่เราพบเจอในวาระโอกาสต่างๆ เช่น ในการเข้าอบรมปฏิบัติธรรม ในกิจกรรมอาสาสมัครเพื่อสาธารณประโยชน์ บุคคลเหล่านี้เป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งที่ทำให้ชีวิตเรามีความสุข โดยเฉพาะกัลยาณมิตรที่ชักชวนหรือแนะนำให้เราศึกษาปฏิบัติธรรม ให้เราเป็นผู้มีสัมมาทิฏฐิ ดังนั้น เราจึงควรทำให้บุคคลผู้มีพระคุณต่อเรานี้มีความสุขด้วยเช่นกัน ด้วยการกตัญญูรู้คุณและตอบแทนพระคุณในทุกครั้งที่มีโอกาส การสำนึกในบุญคุณและความกตัญญูเป็นเหตุปัจจัยที่สำคัญต่อการสร้างสังคมให้น่าอยู่ โดยเริ่มจากจุดเล็กๆที่ตัวเราทุกคน

   ที่ประเทศญี่ปุ่น มีบริษัทใหญ่แห่งหนึ่ง ให้ความสำคัญกับคุณธรรมเรื่องความกตัญญูมาก เป็นข้อหนึ่งในการพิจารณารับพนักงานเข้าทำงาน และในการฝึกอบรมพนักงานก็จะเน้นว่า พนักงานทุกคนต้องกตัญญูต่อพ่อแม่ ต่อผู้มีพระคุณ เพราะเชื่อว่าคนที่กตัญญูรู้คุณคือคนดี ไม่ว่าอยู่ที่ไหนก็เจริญก้าวหน้า

สร้างมิตรไมตรี ด้วยสังคหวัตถุ4


   พระพุทธเจ้าสอนว่า การอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างร่มเย็นเป็นสุขได้นั้น เราต้องประพฤติตนตามหลักสังคหวัตถุ4 ประกอบด้วย

   1.ทาน มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ รู้จักการทำบุญให้ทาน

   2.ปิยวาจา คือคำพูดที่สุภาพ เป็นความจริง พูดแล้วเกิดประโยชน์ และควรเป็นการพูดที่ถูกกาลเทศะด้วย

   3.อัตถจริยา ช่วยเหลือเกื้อกูลต่อผู้อื่น การบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์แก่สังคม

   4.สมานัตตตา วางตนให้เหมาะสมตามหน้าที่ของตนอย่างเสมอต้นเสมอปลาย

   ถ้าเราประพฤติตนตามนี้ได้ ก็จะเป็นการสร้างเหตุปัจจัยที่ดีในการอยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างมีความสุข เราจะเป็นที่รักของบุคคลรอบข้าง มีบริวารดี ถึงแม้ว่าเราจะอยู่เป็นโสด เมื่อแก่แล้ว แม้อยู่ถึง 100 ปี ก็ไม่น่ากลัวว่าจะไม่มีลูกหลานดูแล การเป็นที่รักของผู้อื่นก็เท่ากับมีบริวาร เปรียบเหมือนมีลูกหลานเหมือนกัน


หากไม่มีเพื่อนที่ดี อยู่คนเดียวดีกว่า


   พระพุทธเจ้าสอนว่า "ถ้าบุคคลไม่ได้มิตรสหาย เสมอหรือดีกว่าตน พึงเที่ยวไปผู้เดียวเหมือนนอแรดฉะนั้น" คำว่าเสมอหรือดีกว่าในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงฐานะ ชาติตระกูล หรือการศึกษา แต่หมายถึงความเป็นผู้มีคุณธรรม ศีลธรรม

   สำหรับบรรพชิต พระพุทธเจ้าก็เปรียบการประพฤติพรหมจรรย์ว่า ต้องไม่มีจิตผูกพัน ปลีกวิเวกไปแต่ผู้เดียว เหมือนนอแรด(เป็นแรดพันธุ์อินเดีย ที่มีเพียงนอเดียว) โดดเดี่ยวไม่มีคู่

   สำหรับเรา ถ้าหาเพื่อนที่ดีไม่ได้ หรือมีเพื่อนน้อย อาจเป็นด้วยอุปนิสัยของเรา หรือไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใด ก็ให้เราทำอะไรด้วยตัวเอง เช่น เดินทางคนเดียว ไปปฏิบัติธรรมคนเดียว หรืออยู่คนเดียวเป็นโสด เราต้องรู้จักพอใจในชีวิต แม้ว่าจะไม่มีคู่ก็ไม่เป็นไร เราก็อยู่ได้ด้วยตนเอง มีตนเป็นที่พึ่ง
แห่งตน พระพุทธเจ้าตรัสว่า "ความรักเสมอความรักตนไม่มี" หมายความว่า เราต้องรู้จักรักและเมตตาแก่ตนเอง รักษาจิตใจตัวเองให้มีความสุข ความสบายใจ จริงๆแล้วคนที่เลือกใช้ชีวิตโสดก็มีอยู่มาก พระพุทธเจ้าก็สอนว่าการไม่มีสามี หรือไม่มีภรรยา เป็นลาภอันประเสริฐ  การไม่มีคู่ก็ทำให้ชีวิตเป็นอิสระ สามารถเลือกทำสิ่งที่ตนเองชอบได้ ทั้งเพื่อประโยชน์ตน และประโยชน์ผู้อื่น โดยเฉพาะเมื่อตั้งใจจะปฏิบัติธรรม แสวงหาความสุขในชีวิตด้วยการรักษาศีล เจริญสมาธิ บำเพ็ญภาวนา ก็น่าจะมีอิสระเต็มที่ ไม่ต้องมีห่วงกังวลกับครอบครัว


พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก




การเคลื่อนไหวอยู่เป็นนิจ





   การที่ร่างกายได้มีการเคลื่อนไหวอยู่เสมอ เป็นปัจจัยหนึ่งของความสุขกาย สุขใจ การเคลื่อนไหวมีอยู่หลายรูปแบบ ทั้งการขยับร่างกายส่วนต่างๆ ง่ายๆ เช่น การแกว่งแขน การเดิน การเต้นรำ การออกกำลังกาย เล่นกีฬา รวมไปถึงการทำงานที่ทำให้ร่างกายได้เคลื่อนไหว เช่น การปลูกต้นไม้ ทำไร่ทำนา เพราะเมื่อร่างกายได้มีการเคลื่อนไหวเป็นประจำ จะช่วยให้มีความยืดหยุ่นแข็งแรง กระตุ้นระบบประสาทและสมอง ช่วยลดความเครียด และอาการซึมเศร้า เพราะจากการวิจัยพบว่า เมื่อร่างกายได้เคลื่อนไหวติดต่อกันเป็นเวลาประมาณ 15 นาที ร่างกายเราจะหลั่งสารที่ชื่อว่า เอ็นดอร์ฟิน (Endorphin) และ เซโรโทนิน (Serotonin)

เอ็นดอร์ฟิน สารแห่งความสุข

   สารเอ็นดอร์ฟิน เป็นสารแห่งความสุข เพราะเป็นสารเคมีที่ส่งผลดีต่อการทำงานของร่างกาย ทำให้สมองปลอดโปร่ง คลายความเครียดทั้งร่างกายและจิตใจ

เซโรโทนิน สารคลายเครียด

   การที่ร่างกายได้เคลื่อนไหวเป็นจังหวะสม่ำเสมอติดต่อกันเป็นเวลานานๆ เมื่อทำไปเรื่อยๆ จิตใจจดจ่อมีสมาธิกับกิจกรรมที่ทำ จะทำให้ใจสงบ มีความสุข

   สมองจะหลั่งสารที่ชื่อว่าเซโรโทนินออกมา เซโรโทนินเป็นสารที่ทำให้อารมณ์ดี นอนหลับง่าย



การเดินจงกรม


   การเดินจงกรมเป็นหนึ่งในวัตรปฏิบัติที่สำคัญตั้งแต่สมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าและสาวกของพระองค์ก็เดินจงกรมเป็นประจำ ในสมัยปัจจุบัน วัตรปฏิบัติประจำวันสำหรับพระภิกษุ หลังจากนอนพักผ่อนในช่วงมัชฌิมยาม ประมาณ 4 ชั่วโมง คือ 4ทุ่มถึงตี2 เมื่อรู้สึกตัวตื่นขึ้นแล้วก็ให้เดินจงกรมเพื่อขจัดความง่วง เมื่อฟ้าใกล้สว่างก็ห่มจีวรเดินออกไปรับบิณฑบาตจากญาติโยม

   ในสำนักกรรมฐานทุกแห่ง โดยเฉพาะในวัดป่า จะมีการสร้างทางเดินจงกรม เพื่อให้พระเณรรวมทั้งอุบาสกอุบาสิกาได้ใช้เป็นที่ปฏิบัติกรรมฐานในอิริยาบถเดิน พระพุทธเจ้าตรัสถึงประโยชน์ของการเดินจงกรมไว้ 5 ประการคือ 

   1.เป็นผู้อดทนต่อการเดินทางไกล

   2.เป็นผู้อดทนต่อการทำความเพียร

   3.เป็นผู้มีสุขภาพดี

   4.อาหารที่บริโภคแล้วย่อยง่าย

   5.สมาธิที่ได้ในขณะเดินจงกรมอยู่ได้นาน

   หากศึกษาประวัติของพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ที่เขียนโดยหลวงตามหาบัว ช่วงมัชฌิมวัยของพระอาจารย์มั่น เมื่อรู้สึกตัวตื่นขึ้นก็จะเดินจงกรมเป็นประจำ จะเว้นบ้างถ้าฝนตก ท่านก็จะนั่งสมาธิ พอสว่างออกบิณฑบาตโปรดญาติโยม กลับมาแล้วก็จะพิจารณาอาหาร ฉันเสร็จก็เดินจงกรมเพื่อย่อยอาหาร จนถึงเวลาประมาณเที่ยงวันก็ค่อยเอนกายพักผ่อนนิดหน่อย และตื่นขึ้นมาก็นั่งสมาธิปรารภความเพียรต่อ จนกระทั่งบ่ายสามโมงก็ปัดกวาดเสนาสนะ กุฏิ ลานวัด จัดเก็บทำความสะอาดบริขารต่างๆ แล้วก็จะพักฉันน้ำปานะ เมื่อสรงน้ำเสร็จแล้วก็เดินจงกรมเป็นส่วนใหญ่



 


 


 





 

แสดงความคิดเห็น

>

5 ความคิดเห็น

hua hom 8 มิ.ย. 55 เวลา 20:46 น. 1

...ต่อ

เคล็ดลับอายุยืน เดินวันละ 10,000 ก้าว

   กระทรวงสาธารณสุขของญี่ปุ่น เปิดเผยว่า ผู้หญิงชาวญี่ปุ่นมีช่วงอายุชีวิตเฉลี่ยประมาณ 86 ปี ซึ่งทำให้ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ประชากรเพศหญิงมีอายุชีวิตเฉลี่ยสูงสุดในโลก ครองอันดับ 1 ติดต่อกันมานานกว่า 20 ปี ขณะเดียวกันญี่ปุ่นยังครองอันดับ5 ของประเทศซึ่งเพศชายมีอายุชีวิตเฉลี่ยสูงสุดในโลก ที่อายุประมาณ 79 ปี

   ปัจจัยที่ส่งเสริมให้ชาวญี่ปุ่นมีอายุยืนนั้น เป็นที่ทราบกันดีว่าส่วนหนึ่งมาจากการกินอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ แต่ที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ การใช้ชีวิตที่มีการเคลื่อนไหว กระฉับกระเฉง ญี่ปุ่นเป็นสังคมที่มีกิจกรรมการเดินในชีวิตประจำวันค่อนข้างมาก ซึ่งผลการวิจัยพบว่าการเดินประมาณวันละ 10,000 ก้าว (ประมาณ 6 กิโลเมตร) โดยไม่จำเป็นต้องเป็นการเดินต่อเนื่องกัน แต่สามารถนำการเดินตลอดทั้งวันสะสมรวมกันได้ จะสามารถเผาผลาญพลังงานได้ในช่วง 400 ถึง 500 กิโลแคลอรีต่อวัน ซึ่งจะช่วยลดการสะสมของไขมัน ลดความเสี่ยงต่อโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ และเบาหวาน นอกจากนั้นยังช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อ กระดูก และข้อต่อให้แข็งแรง

   ครั้งหนึ่งยายของอาจารย์เคยบอกว่า จริงอยู่ว่าร่างกายเรา เมื่อแก่แล้วทำอะไรก็เหนื่อย แต่เราก็ต้องฝืนลุกขึ้น พยายามเคลื่อนไหว ร่างกายจึงค่อยๆสบายขึ้น ถึงจะอายุมากเท่าใดก็ต้องพยายามให้ร่างกายได้ออกกำลังบ้าง ในช่วงฤดูเก็บของป่า ตอนเช้ายายของอาจารย์จะให้คนพาไปส่งในป่า จากนั้นยายก็จะค่อยๆเดินเก็บของป่า เก็บเห็ด เก็บผัก อยู่ในป่าได้ทั้งวัน ตอนเย็นๆก็มีคนไปรับกลับบ้าน ยายบอกว่า ในตอนแรกๆจะทำอะไรสักอย่างก็ต้องพยายามฝืนความเจ็บปวด หรือความรู้สึกเหนื่อยง่าย แต่ถ้าเราฝืนทำไปไม่นาน อาการไม่สบายก็จะหาย เป็นหลักที่คนญี่ปุ่นพูดสอนกันตั้งแต่เด็ก จึงจะเห็นว่าคนญี่ปุ่น ถึงแม้ว่าแก่แล้วก็ยังทำงานเล็กๆน้อยๆ ปลูกต้นไม้ ดอกไม้หน้าบ้าน หรือพาสุนัขออกมาเดินเล่น เป็นต้น

   สำหรับบางคนที่ไม่สามารถเดินไปไหนมาไหนได้จริงๆ ก็ให้ทำงานอดิเรกเล็กๆน้อยๆ อย่างเช่นเย็บผ้า ทำของใช้เองในครอบครัว กิจกรรมที่ทำจะช่วยให้จิตใจจดจ่อมีสมาธิ เกิดความสุขที่ได้ทำงาน และสร้างความรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า ไม่เป็นที่กังวลของลูกๆหลานๆ




การเป็นคนช่างสังเกต





   ความสุขจากการสังเกตเป็นความสุขที่อยู่ใกล้ๆตัวเราทุกคน การสังเกต หมายถึง การเฝ้าดูสิ่งที่เกิดขึ้น ทั้งสิ่งแวดล้อมภายนอกและภายในจิตใจของเราเอง โดยอาศัยความสามารถในการใช้ประสาทสัมผัส ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างร่วมกัน เข้าไปสัมผัสโดยตรงกับวัตถุ เหตุการณ์ หรือ ปรากฏการณ์ การสังเกตนอกจากจะเป็นทักษะในการเก็บรวบรวมข้อมูล ช่วยทำให้เกิดการเรียนรู้ และมีความละเอียดรอบคอบแล้ว ยังเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดความสุข

ความสุขจากการสังเกต

  
การสังเกตสิ่งแวดล้อมรอบตัว ก่อให้เกิดประสบการณ์อันหลากหลาย ส่วนมากเรามักรู้สึกว่า ชีวิตประจำวันของเราซ้ำซาก จำเจ แต่ความจริงแล้ว หากเราลองใส่ใจสังเกตสิ่งต่างๆให้มากขึ้น เช่น อารมณ์ความรู้สึกของคนใกล้ชิด พัฒนาการของเด็กๆ พฤติกรรมของสัตว์เลี้ยง สีหน้าของบุคคลที่เราพบเจอ การแต่งกายของผู้คน สภาพท้องถนน สถานที่และธรรมชาติแวดล้อมต่างๆ จะพบว่าทุกสิ่งทุกอย่าง มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

   เคยมีผู้เข้ารับการอบรมด้านการพัฒนาจิตที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง นำประสบการณ์มาเขียนเล่าไว้ว่า มีกิจกรรมหนึ่งที่ให้ผู้เข้าร่วมอบรมออกไปหามุมสงบของตัวเองในสวน โดยไม่ต้องพูดคุยกับใคร แต่ให้สังเกตความเป็นไปและความสัมพันธ์ของสิ่งต่างๆที่ปรากฏต่อหน้าเป็นเวลา 20 นาที โดยไม่รีบร้อนที่จะสรุปหรือตัดสินจากประสบการณ์เดิม แล้วกลับมาเล่าสิ่งที่ตนสังเกตให้เพื่อนในกลุ่มฟัง ในตอนท้ายเมื่อมีการสรุปบทเรียน ผลปรากฏว่าข้อสรุปสั้นๆจากผู้เข้าอบรมหลายคน เป็นสิ่งที่มีความหมายลึกซึ้ง และสะท้อนถึงความสุขใจที่ได้รับ เช่น 

   "ผมสังเกตเห็นลมหายใจของสิ่งมีชีวิตรอบๆตัว"

  
"ในความเรียบง่าย ฉันได้เห็นความงดงามของธรรมชาติ"

  
"กิ่งไม้เล็กๆที่ร่วงหล่นได้กลายเป็นรังนก ที่โอบอุ้มและพยุงชีวิตใหม่"

   "การพึ่งพาซึ่งกันและกัน เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต"

  
"ใบไม้แห้ง ให้ความเจริญงอกงามกับชีวิตใหม่"



  
เมื่อมีโอกาสเดินทางท่องเที่ยงไปต่างจังหวัดหรือต่างประเทศ เปลี่ยนบรรยากาศไปอยู่ในที่ต่างถิ่นต่างวัฒนธรรม หรือไปในสถานที่ที่เป็นธรรมชาติ ความสุขของการเดินทางเกิดจากการรู้จักสังเกต ซึ่งนอกจากจะทำให้ร่างกายและจิตใจได้พักผ่อนแล้ว ยังเป็นการหาประสบการณ์ใหม่ๆ ให้ชีวิตได้เห็นสภาพบ้านเมือง ชีวิตความเป็นอยู่ ของชาวบ้าน ได้รู้จักวัฒนธรรมท้องถิ่น ได้ชื่นชมความงามของธรรมชาติ เป็นความรู้ใหม่ๆ ที่ได้จากประสบการณ์ตรงที่เราพบเห็นด้วยตัวเอง ก็จะกระตุ้นให้คิด ให้ตั้งคำถาม ช่วยทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ และแรงบันดาลใจได้มาก

   การได้เห็นธรรมชาติข้างทาง ต้นไม้ ดอกไม้ ใบหญ้า ทุ่งนา ทิวเขา ลำธาร พื้นที่โล่งๆกว้างๆ ก็ทำให้สบายตา สบายใจได้ ให้เราลองสังเกตดู เมื่อตามองเห็นต้นไม้ ดอกไม้ ใจก็ได้สัมผัสกับความงามของธรรมชาติแล้วก็จะหยุดคิดปรุงแต่งได้ ไม่เหมือนกับเวลาที่เรามองเห็นผู้หญิงสวย ผู้ชายรูปหล่อ หรือเห็นความสวยงามของวัตถุสิ่งของ เช่น เครื่องประดับ เพชรนิลจินดา รถยนต์ ฯลฯ ซึ่งกระตุ้นให้เกิดกิเลส ตรงกันข้าม ความงามของธรรมชาติกลับเตือนให้เรามองเห็นอนิจจัง คือความไม่เที่ยงของสรรพสิ่ง ดังนั้นเราจึงสามารถอาศัยธรรมชาติที่ไม่ปรุงแต่ง ช่วยเปลี่ยนอารมณ์ เปลี่ยนความรู้สึก ปรับสภาพจิตใจของเรา ที่ชอบคิดปรุงแต่งเป็นเรื่องราว ซึ่งทำให้เกิดความรู้สึกไม่สบายใจต่างๆ ให้หยุดคิดปรุงแต่งได้ เพียงแค่นี้ก็ทำให้เรามีความสุขสดชื่นได้






ธรรมะเกิดจากการสังเกต

  
ธรรมะคือธรรมชาติ ดังนั้นการศึกษาธรรมะคือ การสังเกตธรรมชาติแวดล้อมภายนอก และธรรมชาติภายใน คือจิตใจของเราเอง ซึ่งล้วนตกอยู่ภายใต้กฎธรรมชาติเดียวกัน คือ อนิจจัง (ไม่เที่ยง) ทุกขัง (ไม่คงทนถาวร) อนัตตา (ไม่มีตัวตน) การศึกษาธรรมชาติภายนอก ก็เพื่อช่วยให้เรามองเห็นธรรมชาติภายในตัวเราได้ง่ายขึ้น

   เราทุกคนที่เกิดมาในโลกนี้ ทุกคนต้องประสบกับโลกธรรม8 ซึ่งหมายถึง เรื่องของโลกซึ่งเกิดขึ้นประจำกับทุกชีวิตที่เวีนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏสงสาร โลกธรรมฝ่ายที่น่าปราถนา ได้แก่ ได้ลาภ ได้ยศ สรรเสริญ สุข โลกธรรมฝ่ายที่ไม่น่าปราถนา ได้แก่  เสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์ เปรียบเทียบโลกธรรม8 เป็นเหมือน ลมฟ้า อากาศ ฤดูร้อน ฤดูหนาว ฝนตก น้ำท่วม แผ่นดินไหว หรือสึนามิ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ ที่เกิดขึ้นตามเหตุตามปจจัย บังคับไม่ได้ ไม่ว่าเราจะรู้สึกพอใจ หรือไม่พอใจ เราก็ต้องประสบกับปรากฏการณ์ธรรมชาติ และโลกธรรม8 อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ แม้แต่พระพุทธเจ้าและพระอรหันต์สาวกผู้มีจิตบริสุทธิ์แล้วก็ตาม ท่านก็ยังต้องประสบกับโลกธรรมฝ่ายที่ไม่น่าปราถนา พระพุทธเจ้าจึงสอนว่า ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ให้เราทำใจยอมรับความจริง ด้วยใจที่หนักแน่นไม่หวั่นไหว ไม่ยินดี ยินร้าย ทำใจเป็นศีล คือตั้งเจตนาถูกต้อง ไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น

   เมื่อเราใช้ "ใจ" เฝ้าสังเกตดูเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับชีวิตของเรา รวมทั้งสภาพร่างกายของเราที่จะต้อง แก่ เจ็บ และตาย เหมือนกันหมดทุกคน จะเห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้น เป็นไปตามเหตุปัจจัย อดีตเป็นเหตุ ปัจจุบันเป็นผล ปัจจุบันเป็นเหตุ อนาคตเป็นผล เราต้องทำใจยอมรับความจริง และรักษากาย วาจา ใจ เป็นศีล

   โรคค่างๆของมนุษย์ ประมาณ 1 ใน 3 เกิดจากความเครียด ความโกรธ อุปาทานความยึดมั่นถือมั่นในโรคภัยต่างๆที่ร่างกายประสบอยู่มีผลกระทบต่อร่างกายมาก จิตอุปาทานจะกีดกั้นระบบการทำงานของร่างกาย ทำให้เกิดโรคต่างๆ ถ้ามีโรคอยู่แล้ว ก็จะทำให้แย่ลง แต่ถ้าหากจิตใจเข้มแข็ง สุขภาพใจดี ก็พอที่จะต่อสู้กับโรคภัยได้ เรียกว่าถ้ามีกำลังใจก็มีชัยไปกว่าครึ่ง

   หากเรารู้จักพิจารณาและยอมรับความจริงที่เกิดกับเราในทางกายภาพ ซึ่งเป็นเรื่องภายนอกแล้ว เราก็จะมองดูภายในจิตใจของเราได้ง่ายขึ้น อารมณ์ความรู้สึกยินดี ยินร้าย ในจิตใจของเราก็เหมือนปรากฏการณ์ธรรมชาติ เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เมื่อเราเฝ้าสังเกตดูการกระทำ คำพูด และความรู้สึกนึกคิดภายในจิตใจของตัวเองได้มากเท่าไร เราก็จะรู้จักและเข้าใจตัวเองได้มากเท่านั้น

  
พระพุทธเจ้าตรัสว่า คนโง่เห็นความโง่ของตัวเอง ผู้นั้นเป็นบัณฑิต หมายความว่า เมื่อคนโง่มองเห็นตัวเองว่าโง่ แสดงว่าเขาเริ่มฉลาดแล้ว ย่อมดีกว่าคนโง่แล้วเข้าใจว่าตัวเองฉลาด ความโง่ในที่นี้หมายถึงกิเลส ใครก็ตามที่เริ่มมองเห็นกิเลสในจิตใจตัวเอง กิเลส ความโลภ ความโกรธ ความหลง ที่เราเคยรู้จักชื่อ เมื่อเราโอปนยิโก น้อมเข้ามาสังเกตดูใจตัวเอง ก็จะมองเห็นโทษของกิเลสที่เกิดขึ้นในใจของเราชัดเจนขึ้น จากเมื่อก่อนที่เคยรู้สึกเพ่งโทษคนอื่น ว่าเขาไม่ดี เขาทำให้เราเสื่อมลาภ เขาทำให้เราเสื่อมยศ เขานินทาเรา เขาทำให้เราทุกข์ ก็จะค่อยๆมองเห็นความจริงว่า ทุกข์เพราะใจเราไม่ดี ทุกข์เกิดจากความยึดมั่นถือมั่น เกิดจากกิเลสในใจของเรา




   กิเลสในจิตใจของเรา หากพูดง่ายๆก็คือความไม่สบายใจต่างๆ เป็นอารมณ์ที่ขึ้นต้นด้วย "ขี่้" เช่น ขี้เกียจ ขี้ฟุ้งซ่าน ขี้โมโห ขี้น้อยใจ ขี้อิจฉา ขี้กลัว ขี้โกรธ ฯลฯ เปรียบเหมือนปฏิกูลทางจิตใจ ตามปกติสำหรับร่างกายเราก็ต้องขับถ่ายของเสียอยู่เป็นประจำ ของเสียเมื่อออกจาร่างกายแล้ว เราก็ไม่ได้เสียดายเสียใจกับมันอีกต่อไป ปล่อยทิ้งไป แล้วร่างกายก็สบาย สำหรับจิตใจเมื่อเกิดปฏิกูลหรือของเสียทางใจ ก็ถือเป็นเรื่องธรรมดา เกิดขึ้นแล้วก็ให้รู้ และรีบกำจัดทิ้งเสีย อย่าปล่อยทิ้งไว้ให้เน่าเหม็น การกำจัดปฏิกูลทางจิตใจ คือการรู้จักปล่อยวางอารมณ์ไม่สบายใจต่างๆ ถ้าเรารู้จักปล่อยวางได้มาก ปล่อยวางได้เร็วเท่าใด จิตใจเราก็จะสบาย มีความสุขกายสุขใจได้มากเท่านั้น


สุขภาพใจดี คือเป้าหมายเบื้องต้นสำหรับทุกคน

  
ธรรมชาติของจิตเราทุกคนมีความบริสุทธิ์ประภัสสร ผ่องใสตามธรรมชาติ มีความสุขใจ แต่เมื่อเกิดอารมณ์พอใจ ไม่พอใจ ยึดมั่นถือมั่น ก็ทำให้เกิดทุกข์ใจ

   พระพุทธเจ้าตรัสว่า ความรักเสมอความรักตนไม่มี หมายความว่า ให้เรารู้จักรักและเมตตาต่อตัวเอง คือ รู้จักรักษาใจของตนให้มีความสงบ สบายใจ รู้จักปล่อยวางอารมณ์พอใจและไม่พอใจ ที่เกิดขึ้นจากโลกธรรม8 ไม่ว่าปัจจัยภายนอกจะเป็นอย่างไร ไม่ว่าจะมีอุปสรรค มีทุกข์มากขนาดไหน เราก็สามารถคิดดี คิดถูก มีกำลังใจ ตั้งมั่นอยู่ในความดี ความถูกต้องได้ ในทุกสถานการณ์

   ใจเป็นประธาน ใจเป็นหัวหน้าของชีวิต ให้เราตั้งมั่นอยู่ใน คิดดี พูดดี ทำดี "ใจที่ดี" เปรียบเหมือนแม่เหล็กที่จะดึงดูดสิ่งที่ดีๆ ให้เข้ามาหาเรา อย่างน้อยสุขภาพจิตใจก็ดีขึ้น ความสัมพันธ์ที่เรามีกับคนรอบข้างก็จะดีขึ้น เป็นปัจจัยให้เกิดความสามัคคี ช่วยเหลือเกื้อกูลกันในสังคม






   เพื่อน้อมนำใจของเราเข้าไปหาจิตใจที่ดี เราก็ต้องรู้จัก "ปล่อยวาง" อารมณ์ไม่สบายใจต่างๆ ที่เป็นปฏิกูลทางจิตใจ ปล่อยวางอารมณ์ด้วยการตั้งสติ ให้มีสติระลึกรู้ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ไม่ว่าจะยืน เดิน นั่ง หรือนอน  ให้เอาลมหายใจเป็นกัลยาณมิตร หมายถึงมีลมหายใจเป็นเพื่อนที่ดีอยู่ภายในจิตใจของเราเสมอ แม้แต่ในท่ามกลางวิกฤตการณ์ก็ตาม



" ยิ้มน้อยๆในใจ
หายใจเข้าลึกๆ หายใจออกยาวๆ
หายใจเข้าสบาย หายใจออกสบาย
ทำใจสบายๆ "







0
hua hom 8 มิ.ย. 55 เวลา 20:53 น. 2
การเรียนรู้อยู่เสมอ





   การเรียนรู้เป็นปัจจัยสำคัญต่อการมีความสุขสำหรับทุกคน การเรียนรู้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ตลอดชีวิต และไม่จำกัดว่าต้องเป็นการเรียนในระบบการศึกษาเท่านั้น วัยเด็กการเรียนรู้มีความสำคัญต่อการพัฒนาสมองและทักษาะการเข้าสังคม วัยผู้ใหญ่ การเรียนรู้ทำให้เกิดความเชื่อมั่น และช่วยในการสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่น เราสามารถเรียนรู้สิ่งใหม่ๆได้ในชีวิตประจำวัน เช่น จากการสนทนากับผู้อื่น การทดลองทำอะไรใหม่ๆ เช่น ทำอาหาร เล่นดนตรี ทำงานฝีมือ ประดิษฐ์สิ่งของใช้เอง การอ่านหนังสือ ฟังเทศน์ฟังธรรม ปฏิบัติธรรม เป็นต้น

การศึกษา คือการเรียนรู้ตลอดชีวิต

  
ในสมัยก่อนถือว่าช่วงวัยแห่งการศึกษาคือตั้งแต่แรกเกิด ไปจนถึงอายุประมาณ 20 ปี คือเรียนจบมหาวิทยาลัย แต่ปัจจุบันนี้ ถือว่า การศึกษาคือการเรียนรู้ทุกรูปแบบตลอดช่วงชีวิต ทั้งประเทศที่พัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนา ถือว่าแนวคิดการศึกษาตลอดชีวิตเป็นวาระแห่งชาติ โดยสนับสนุนประชาชนให้มีการเรียนรู้ตลอดช่วงชีวิต เพื่อพัฒนาความรู้ ความสามารถ บุคลิกภาพ ตลอดจนพัฒนาจิตใจ เพื่อนำไปสู่การมีชีวิตที่มีคุณภาพและมีความสุข

ไม่มีใครแก่เกินเรียน

  
คำว่าไม่มีใครแก่เกินเรียนเป็นคำพูดที่ให้กำลังใจแก่ทุกคน และสำหรับยุคสมัยปัจจุบัน มีสื่อการเรียนรู้มากมายที่เปิดโอกาสให้เราได้ศึกษาหาความรู้ สำหรับคนสูงอายุ เมื่อว่างจากภาระครอบครัวแล้ว การมีโอกาสกลับเข้าไปนั่งในห้องเรียนอีกครั้ง นอกจากจะเป็นการแสวงหาความรู้ ช่วยให้สามารถปรับตัวให้ทันกับยุคสมัยแล้ว ยังทำให้มีชีวิตชีวา ฝึกสมองให้ได้ทำงานอย่างต่อเนื่อง ป้องกันโรคสมองเสื่อม และอาจเป็นการทำตามความใฝ่ฝันของตน เมื่อสมัยเป็นเด็กก็ได้

   ปัจจุบันจึงมีผู้สูงอายุเป็นจำนวนมาก เมื่อเกษียณอายุจากการทำงานแล้ว ก็มาเริ่มต้นเรียนวิชาใหม่ๆ เช่น เรียนภาษาต่างประเทศ เรียนศิลปะ ศึกษาธรรมะ เข้าวัดปฏิบัติธรรม เป็นต้น

   เมื่อไม่นานมานี้ (มิถุนายน 2554) มีข่าวของคุณยายวัย 100 ปี ชาวบราซิล ชื่อว่า อีโซลินา คัมโปส ได้พิสูจน์ถึงคำพูดที่ว่า ไม่มีใครแก่เกินเรียน ด้วยการขอเข้าเรียนในโรงเรียนแห่งหนึ่ง ในเมืองทางตอนใต้ของบราซิล แม้ว่าคุณยายจะเคยเข้าเรียน อ่าน และเขียน มาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อสิบกว่าปีก่อน แต่ด้วยปัญหาสุขภาพ ทำให้ต้องลาออกจากโรงเรียน คุณยายบอกว่า ชีวิตตอนเด็กๆลำบาก ครอบครัวมีฐานะยากจน ต้องช่วยพ่อแม่ทำงาน ถึงตอนนี้อายุมากแล้ว แต่ก็ไม่อยากอยู่บ้านเฉยๆโดยไม่ได้ทำอะไร และอยากเป็นตัวอย่างแก่คนอื่นๆ จึงตัดสินใจกลับเข้าชั้นเรียนอีกครั้งหนึ่ง

การศึกษาตามหลักพุทธศาสนา คือ ไตรสิกขา





   สำหรับพุทธศาสนา ถือว่าการศึกษาเป็นเรื่องที่ต้องทำอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต เพื่อพัฒนาสติปัญญา โดยเป็นการศึกษาตามหลักไตรสิกขา ประกอบด้วย ศีล สมาธิ ปัญญา

   1.ศีล เป็นข้อปฏิบัติ เพื่อฝึกอบรม กาย วาจา ใจ ให้เรียบร้อย ให้มีความประพฤติดีงาม

   2.สมาธิ คือ ข้อปฏิบัติสำหรับฝึกอบรมใจ เพื่อให้จิตใจสงบ ตั้งมั่น พร้อมแก่การพิจารณา คือการใช้ปัญญาอย่างลึกซึ้ง

   3.ปัญญา คือ ข้อปฏิบัติสำหรับ ฝึกอบรมปัญญา เพื่อให้เกิดความรู้แจ้ง เข้าใจสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง

ความรู้คู่กับปัญญา

   ตามความเห็นของอาจารย์ การมีความรู้(Knowledge) แตกต่างจากการมีปัญญา(Wisdom) ความรู้เป็นพื้นฐานให้เกิดปัญญา แต่ยังไม่ใช่ตัวปัญญา อาจกล่าวได้ว่า ความรู้เป็นการสั่งสมข้อมูล หรือวิชาการ ทั้งทางโลกและทางธรรมที่เราศึกษากัน เป็นศาสตร์ต่างๆทุกสาขา ไม่ว่าจะเป็นวิทยาศาสตร์ แพทยศาสตร์ สังคมศาสตร์ ศิลปศาสตร์ ประวัติศาสตร์ พุทธศาสตร์ ฯลฯ ที่เราศึกษากันแล้ว ก็เข้าใจกันว่าคือความจริงของยุคสมัยนั้นๆ และมีการถ่ายทอดกันมา เมื่อเราได้ยินได้ฟังแล้วก็จำไว้เป็นความรู้ของเรา ในแง่ธรรมะก็เหมือนกัน วิชาความรู้ในทุกศาสนาก็เป็นสิ่งที่เชื่อว่าเป็นความจริง และสั่งสอนกันมาเรื่อยๆ ใครที่ศึกษามาก จำได้มาก ก็เป็นผู้มีความรู้มาก

   แต่ "ปัญญา" หมายถึง การสั่งสมประสบการณ์ ซึ่งนำไปสู่การตัดสินใจ เลือกทำในสิ่งที่ถูกที่ควร เป็นปัญญารู้ทั่วถึงเหตุและผล รู้เรื่องบาปบุญคุณโทษ รู้สิ่งที่ควรทำ ควรเว้น รู้สิ่งที่เป็นประโยชน์และมิใช่ประโยชน์ รู้และเข้าใจในความเป็นจริงแห่งสัจธรรม

   ตามแนวทางของพุทธศาสนา ถือว่ามีวิธีการสร้างปัญญาให้เกิดขึ้น บำเพ็ญให้เจริญขึ้นได้ มี3ระดับเรียกว่า

   1.สุตมยปัญญา ปัญญาที่เกิดขึ้นจากได้ยินได้ฟัง การเล่าเรียน หรือจากการอ่าน แล้วจดจำไว้ สิ่งที่จำได้นี้ ก็เป็นสิ่งที่ดีมีประโยชน์ เป็นพื้นฐานสำหรับการวิเคราะห์ พิจารณา เพื่อพัฒนาเป็นปัญญาในระดับสูงขึ้น ปัจจัยที่เกื้อหนุนให้เกิดสุตมยปัญญา คือการมีกัลยาณมิตร ช่วยชี้แนะแนวทางที่ถูกที่ควรให้แก่เรา




2.จินตามยปัญญา เป็นการสังเกตพิจารณาด้วยจิตใจของเราเอง ด้วยสติ สัมปชัญญะ ด้วยเหตุผล สุตมยปัญญาคือระดับสมอง เป็นความรู้ทีได้ยินได้ฟังมา จินตามยปัญญา คือระดับจิตใจ สังเกตพิจารณาด้วยจิตที่มีสติสัมปชัญญะ เมื่อมีจินตามยปัญญาแล้ว ก็จะเริ่มแก้ปัญหาในจิตใจได้ ลดละกิเลส ความโลภ ความโกรธ ความหลงได้ในระดับหนึ่ง



3.ภาวนามยปัญญา เป็นปัญญาขั้นสูงสุด ที่ต้องอาศัยสมาธิจิตตั้งมั่น จึงจะเกิดปัญญาเห็นตามความเป็นจริงได้ คือรู้แจ้ง เห็นจริงว่า สัพเพ ธัมมา อนัตตา ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา สัพเพ ธัมมานาลัง อภินิเวสายะ ธรรมทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น จึงละกิเลสได้อย่างสมบูรณ์




โยนิโสมนสิการ

   พระพุทธเจ้าตรัสว่า "เราไม่เล็งเห็นธรรมอื่น แม้สักข้อหนึ่ง ซึ่งเป็นเหตุให้สัมมาทิฎฐิที่ยังไม่เกิด  ให้เกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้ว ก็เจริญขึ้น เหมือนโยนิโสมนสิการเลย"

   โยนิโสมนสิการ คือการคิดทบทวน พินิจพิจารณาอย่างมีสติ สัมปชัญญะ ด้วยเหตุด้วยผล ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดปัญญา ทำให้เกิดสัมมาทิฎฐิ ความเห็นถูกต้อง เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในกระบวนการเรียนรู้

   เมื่อเรามีโอกาสได้ฟังเทศน์ ฟังธรรม ได้สนทนาธรรม หรืออ่านหนังสือธรรม ฯลฯ ธรรมที่จำได้จากการได้ยินได้ฟังเหล่านี้ ถ้าเปรียบเทียบก็เป็นอาหารดิบที่มีอยู่ในโรงครัว เช่น ข้าวสาร เนื้อ ปลา ผัก กะปิ น้ำปลา เป็นต้น ถึงแม้ว่าจะเป็นของเราก็จริง แต่ยังไม่มีประโยชน์ต่อร่างกายของเรา ต้องปรุงเป็นอาหารเสียก่อน แล้วก็กิน เคี้ยวๆให้มันละเอียด ที่ญี่ปุ่นเขาก็สอนว่าต้องเคี้ยวให้ละเอียด เคี้ยวข้างซ้าย 50 ครั้ง เคี้ยวข้างขวา 50 ครั้ง ผสมกับน้ำย่อยในปาก แล้วจึงกลืนเข้าในท้อง ผสมกับน้ำย่อยในกระเพาะอาหารอีกที จึงจะเกิดประโยชน์ต่อร่างกายของเราอย่างเต็มที่

   ธรรมต่างๆที่เราได้ยินได้ฟังก็เหมือนกัน แค่จำได้ คิดได้ พูดได้ ยังอยู่แค่ในสมองของเรา ยังไม่ได้ช่วยละกิเลส หรือแก้ปัญาหาชีวิตของเราได้จริงๆ เหมือนอาหารดิบอยู่ในโรงครัวในบ้านเรา ยังช่วยเราไม่ได้ ยังไม่อาจบำรุงร่างกายของเราได้  เพื่อให้ธรรมเข้าถึงใจ เราต้องอาศัยสติควบคุมความคิด พิจารณาด้วยเหตุผล ด้วยปัญญา  พิจารณาลึกๆเข้าไปในจิตใจ ค่อยๆย่อย ค่อยๆย่อย จนใจเราเห็นดีเห็นชอบ และยอมรับธรรมนั้นๆ ด้วยใจจริง เหมือนกับว่าธรรมะได้เกิดในใจของเราเอง เกิดเป็นจินตามยปัญญา และภาวนามยปัญญาในที่สุด

   ในสมัยพุทธกาล แม้แต่พระอรหันต์ทั้งหลายที่จบการศึกษาแล้ว คือบรรลุธรรมขั้นสูงสุด เป็นผู้ไม่มีกิเลสแล้วก็ตาม ท่านก็ยังคงเจริญสติ สมาธิ ปัญญา สนทนาธรรม ฟังเทศน์ฟังธรรมจากพระเถระและพระพุทธเจ้าอยู่เป็นประจำ

   ดังตัวอย่างเช่น ในคืนหนึ่งวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ พระโมคคัลลานะ เมื่อออกจากสมาธิแล้ว ก็ชวนพระเถระสาวกของพระพุทธเจ้าหลายองค์ ให้ไปฟังธรรมจากระสารีบุตร ณ ป่าสิงคสาลวัน ซึ่งเป็นสถานที่สงบ ร่มเย็น น่ารื่นรมย์ ไม้สาละบานสะพรั่งทั่วต้น กลิ่นคล้ายทิพย์หอมฟุ้งไป บรรยากาศเหมาะแก่การปฏิบัติภาวนา พระสารีบุตรตั้งคำถามขึ้นมาว่า พระภิกษุที่ปฏิบัติแบบไหนจึงเหมาะสม คู่ควรกับสถานที่สวยงามสงบวิเวกเช่นนี้

 
  พระอานนท์ ตอบว่า "สถานที่แห่งนี้เหมาะแก่ภิกษุผู้ซึ่งเป็นพหูสูต ได้ยินได้ฟังธรรมมาก ยินดีในการแสดงธรรม"

   พระเรวตะ ตอบว่า "สถานที่แห่งนี้เหมาะแก่ภิกษุ ผู้ยินดีในการปลีกวิเวกอยู่ในป่า"

   พระอนุรุทธะ ตอบว่า "สถานที่แห่งนี้เหมาะแก่ภิกษุผู้มีทิพยจักษุ"

   พระมหากัสสัปปะ ตอบว่า "สถานที่แห่งนี้เหมาะแก่ภิกษุผู้สันโดษ ยินดีในธุดงควัตร"

   พระโมคคัลลานะ ตอบว่า "สถานที่แห่งนี้เหมาะแก่ภิกษุผู้รู้ธรรม อธิบายธรรมได้ลึกซึ้ง"

  
เมื่อสาวกแต่ละองค์ ต่างก็แสดงความเห็นต่างกันไป พระโมคคัลลานะจึงถามความเห็นของพระสารีบุตรผู้ตั้งคำถามนี้

   พระสารีบุตร ตอบว่า "สถานที่แห่งนี้หมาะแก่ภิกษุ ผู้สามารถทำจิตให้อยู่ในอำนาจของตน"




   พระสาวก 6 องค์ต่างก็มีความเห็นแตกต่างกันไป ท่านจึงชวนกันไปถามพระศาสดา ว่าสถานที่ดังกล่าวข้างต้นนั้นคู่ควรแก่ภิกษุแบบไหนที่จะเข้าไปปฏิบัติภาวนา พระพุทธเจ้าตรัสตอบแก่สาวกว่า คำตอบของสาวกทุกองค์เป็นความเห็นตามประสบการณ์ของสาวกองค์นั้นๆ ไม่มีคำกล่าวใดผิดเลย แต่พระศาสดาได้ตรัสถึงเรื่องนี้แก่พระสาวกว่า

   "ภิกษุผู้มีสัมมาทิฎฐิ ตั้งใจปรารภความเพียร เพื่อความสิ้นไปแห่งอาสวะกิเลส คือภิกษุที่เหมาะสม คู่ควรแก่สถานที่แห่งนั้น"

   คำตอบของพระพุทธเจ้าแสดงให้เห็นว่า สิ่งที่พระองค์ให้ความสำคัญมากที่สุด ในการศึกษาปฏิบัติธรรมคือ ขอให้การปฏิบัตินั้น เป็นไปเพื่อสัมมาทิฏฐิ





0
hua hom 8 มิ.ย. 55 เวลา 21:01 น. 3
การให้





   การให้เป็นเหตุแห่งความสุข การเสียสละแบ่งปันสิ่งที่เรามีให้แก่ผู้อื่น เป็นการฆ่าความตระหนี่ขี้เหนียว ทำให้จิตใจสบาย การให้ทาน เป็นธรรมข้อสำคัญที่สุดข้อหนึ่ง ที่รวมอยู่ในหมวดธรรมหลายหมวดในพุทธศาสนา เช่น ทศบารมี, บุญกิริยาวัตถุ 10, ทศพิศราชธรรม, อริยทรัพย์ 7, ฆราวาสธรรม 4, สังคหวัตถุ 4 เป็นต้น

   พุทธศาสนากล่าวถึงอานิสงส์ของการให้ไว้ว่า "ผู้ให้ย่อมผูกไมตรีไว้ได้" หรือ "ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก" การให้เป็นวิธีหนึ่งในการสร้างความรู้สึกที่ดีทั้งของผู้ให้และผู้รับ และเป็นอุบายอย่างหนึ่ง ในการเปลี่ยนความรู้สึกที่เคยขุ่นเคืองต่อกันมาเป็นมิตรได้ สำหรับคนที่มีปัญหาเคยทะเลาะกัน ไม่พูดกัน เมื่อฝ่ายหนึ่งแสดงน้ำใจด้วยการให้ แม้เป็นสิ่งของเล็กๆน้อยๆ เช่น ซื้อขนม หรือผลไม้มาฝากเขา ก็จะช่วยให้เกิดความรู้สึกที่ดีต่อกันได้



ผู้ให้คือผู้รับ


   ผู้ให้คือผู้รับ ฟังดูแล้วอาจรู้สึกขัดแย้งในความหมาย เพราะโดยทั่วไป เราก็รู้สึกว่าผู้ให้คือผู้มีบุญคุณ ในขณะที่ผู้รับเป็นหนี้บุญคุณ แต่มีคำอธิบายในอีกแง่มุมหนึ่งคือ ถ้าไม่มีผู้รับ เราก็ไม่ได้ทำสิ่งที่ดีงามแห่งการให้ เพราะมีผู้รับ เราจึงได้ทำบุญ ด้วยวิธีคิดเช่นนี้ก็จะทำให้เราให้ด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตน ให้คุณค่าและให้เกียรติแก่ผู้รับ

   ตามหลักความคิดของเซ็นก็เช่นกัน ที่มองว่าผู้ให้แท้จริงแล้วคือผู้รับ เพราะการให้ การเสียสละ ไม่เพียงแต่สร้างบุญบารมี และนำความสุขใจมาสู่ผู้ให้เท่านั้น หากยังเป็นเครื่องมือในการขัดเกลาจิตใจของผู้ให้ด้วย

   มีเรื่องเล่าของนิกายเซ็น ที่กล่าวถึงอาจารย์เฉิงจัว ซึ่งเป็นอาจารย์ที่ได้รับความเคารพเลื่อมใสมากผุ้หนึ่ง ท่านมีความประสงค์จะขยายศาลาปฏิบัติธรรม เพราะที่มีอยู่เดิมคับแคบ ไม่เพียงพอกับผู้ที่มาฟังธรรม มีพ่อค้าผู้หนึ่งตกลงใจที่จะเป็นผู้บริจาคปัจจัย เพื่อเป็นค่าก่อสร้าง เป็นจำนวนเงินถึง 500 เหรียญทอง ซึ่งในสมัยนั้นนับว่ามากที่สุดแล้ว เพราะว่าเงินเพียง 3 เหรียญทอง ก็สามารถใช้สอยอยู่กินได้ตลอดปี พ่อค้าได้หิ้วถุงเงินเข้าไปหาท่านอาจารย์ แล้วน้อมถวายบอกความประสงค์ให้ทราบ ท่านอาจารย์ก็กล่าวแต่เพียงว่า

   "ดีแล้ว อาตมาจะรับไว้ " แล้วก็นั่งนิ่งเงียบ
 
   พ่อค้าผู้นั้นก็ยังนั่งรอ ด้วยหวังว่าท่านอาจารย์คงจะกล่าวอวยพรให้ตนโชคดี ทำมาค้าขึ้นต่อๆไป แต่เห็นอาจารย์ก็ยังคงนั่งนิ่ง เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น จึงนั่งกระสับกระส่าย ฟุ้งซ่านต่างๆนานา แล้วก็ทำใจกล้ากราบเรียนว่า

  
"หลวงพ่อครับ เงินในถุงใส่ไว้ครบ 500 เหรียญเลยครับ"

   "เธอบอกอาตมาแล้วไม่ใช่หรือ?"

  
พ่อค้าเริ่มรู้สึกไม่พอใจ และตัดสินใจพูดอีกครั้งหนึ่งว่า

  
"หลวงพ่อครับ เงินจำนวน 500 เหรียญทองนี่ไม่ใช่เงินน้อยๆนะครับ แค่คำขอบคุณสักคำท่านก็ไม่กล่าวตอบแทน"

  
"เธอทำบุญก็เพิ่มพูนบารมีให้ตัวเธออยู่แล้ว ทำไมต้องให้ฉันขอบคุณด้วยล่ะ ผู้ใดเป้นผู้ให้ทาน ผู้นั้นต่างหากที่ควรจะขอบคุณ"



จิตอาสา สิ่งสวยงามท่ามกลางวิกฤติ






   คำว่า "จิตอาสา" มีการใช้ครั้งแรกภายหลังการเกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติสึนามิในภาคใต้ของประเทศไทยประมาณ 1 ปี แต่น่าเชื่อว่า คุณสมบัติของจิตอาสา คือ ความมีเมตตา กรุณา ยินดีสละแรงกายแรงใจเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น โดยไม่หวังผลตอบแทน เป็นคุณสมบัติที่มีอยู่ในจิตใจมนุษย์ทุกคน ไม่มากก็น้อย ในทุกวิกฤตการณ์ ก็จะมีปรากฏการณ์ของจิตอาสา ที่อาจเรียกว่าเป็นสิ่งสวยงามท่ามกลางวิกฤติก็ว่าได้

   ในวิกฤตการณ์สึนามิที่เกิดขึ้นในประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2554 ก็เช่นกัน ภายหลังเกิดเหตุการณ์สึนามิได้ประมาณ1เดือน คนชราหลายร้อยคนได้มาประชุมที่อาคารใกล้รัฐสภาในกรุงโตเกียว เพื่อขอเป็นอาสาสมัครช่วยงานกู้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกุชิมะ โดยมีผู้สมัครมากกว่า 1,300คน แต่มีเพียง 274 คน ที่มีคุณสมบัติสามารถทำงานนี้ได้ อย่างเช่น อดีตวิศวกรโยธาและก่อสร้าง โดยผู้ที่ได้รับการคัดเลือกจะเข้ามาช่วยงาน หรือทำงานแทนวิศวกร ช่าง และคนงานของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกุชิมะซึ่งหลอมละลาย หลังจากเกิดแผ่นดินไหวและสึนามิ

   คนชราหลายคนเผยว่า เหตุที่มาเป็นอาสาสมัครเพราะมองว่าตนเองต้องรับผิดชอบ เพราะเป็นคนรุ่นที่ปล่อยให้มีการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ และที่สำคัญเขาผ่านชีวิตมามากแล้ว เมื่อเทียบกับคนหนุ่มสาว หากได้รับสารกัมมันตรังสีก็ไม่ได้ทำให้ชีวิตที่เหลือมีผลกระทบยาวนาน เมื่อเทียบกับคนหนุ่มสาว ฉะนั้นจึงควรจะช่วยยุติวิกฤติครั้งนี้ ขณะที่บางคนก็มองว่า งานอาสาเป็นโอกาสดีที่พวกเขาจะได้ตอบแทนประเทศ และให้คนเลิกมองว่า นั่งๆ นอนๆ รอเงินบำนาญ พวกเขาต้องการให้รัฐบาลส่งอาสาสมัครสูงวัยเข้าไปทำงานแทน โดยไม่รับเงินเดือน ไม่ว่าพวกเขาจะทำงานนี้เสร็จหรือไม่ก็ตาม ความกล้าหาญและความเสียสละนี้ ได้สร้างแรงบันดาลใจและกระตุ้นเตือนให้คนทั่วโลกได้คิดและทำเพื่อผู้อื่นมากขึ้น



เป็นผู้ "ให้" ด้วยจิตใจที่ "เสียสละ"

   เรื่องของเด็กชายโนบุ เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่อาสาสมัครตำรวจชาวเวียดนามได้นำมาเผยแพร่ นายตำรวจผู้นี้เล่าว่า ขณะที่เขาเข้าไปช่วยหน่วยงานอาสาสมัครในการแจกอาหารให้แก่ผู้ประสบภัย เขาเห็นเด็กชายคนหนึ่งอายุประมาณ 9 ขวบ ใส่เสื้อคอกลมและกางเกงขาสั้น แม้ว่าอากาศขณะนั้นหนาวเย็นมาก เด็กชายกำลังยืนเข้าแถวยาวรอรับอาหารอยู่ตอนท้าย นายตำรวจรู้สึกเป็นห่วงว่าอาจจะไม่มีอาหารหลงเหลือพอ เมื่อถึงคิวของเด็กชาย จึงเดินไปคุยและถามชื่อ เขาตอบกลับมาว่า "ผมชื่อโนบุครับ"

   เขาเล่าว่า ขณะที่สึนามิเกิดขึ้น เขาอยู่ที่ชั้นสามของอาคารโรงเรียน เขามองเห็นรถของพ่อที่วิ่งมาที่โรงเรียนเพื่อจะมารับเขา แต่โชคร้ายรถของพ่อเขาถูกคลื่นสึนามิพัดหายไปต่อหน้าต่อตา เมื่อถามถึงคนอื่นๆในครอบครัว เด็กน้อยเช็ดน้ำตาเมื่อตอบว่า ครอบครัวของเขาอาศัยอยู่ริมทะเล จนป่านนี้เขายังไม่ได้ข่าวคราวของแม่และพี่สาว นายตำรวจรู้สึกสะเทือนใจอย่างมาก เขาถอดเสื้อคลุมของเขาเอามาคลุมให้เด็กชาย และหยิบขนมปังที่เขามีอยู่ยื่นให้ "ฉันเป็นห่วงว่าจะม่มีอาหารเหลือเมื่อถึงคิวของเธอ รับขนมปังนี่ไว้กินนะ" เด็กน้อยยื่นมือมารับอาหาร แล้วค้อมตัวลงขอบคุณ นายตำรวจคิดว่าเด็กชายคงรีบกินด้วยความหิวโหย แต่เปล่าเลย โนบุถือขนมปังแล้วเดินตรงไปยังหัวแถวซึ่งมีคนคอยแจกอาหารอยู่ แล้ววางขนมปังที่ได้รับมาลงไปในกล่องอาหารสำหรับแจก แล้วเขาก็เดินกลับมาเข้าแถวเหมือนเดิม นายตำรวจประหลาดใจเป็นอย่างยิ่ง จึงถามเขาว่า " ทำไมหนูไม่กินอาหารนั้นล่ะ หนูกำลังหิวอยู่ไม่ใช่หรือ "


   เด็กชายตอบว่า " ผมหิวมากครับ แต่ผมเชื่อว่าคนที่กำลังเข้าแถวก็คงหิวไม่น้อยไปกว่าผม ผมไม่อยากเอาเปรียบคนอื่น " นายตำรวจนำเรื่องนี้มาเขียนเพื่อเผยแพร่ด้วยความรู้สึกประทับใจ เขาไม่อยากจะเชื่อว่าเด็กชายอายุ 9 ขวบ ซึ่งยังเรียนอยู่ชั้นประถมปีที่ 3 จะสอนบทเรียนล้ำค่าแก่เขาในเวลาคับขันเช่นนี้ เขาเชื่อว่าประเทศใดที่มีเด็กอายุเพียง 9 ขวบ แต่เรียนรู้ที่จะอดทนต่อความยากลำบาก และยังเสียสละเพื่อผู้อื่นได้ คือประเทศที่ยิ่งใหญ่ แม้ว่าจะต้องตกอยู่ในภาวะที่คับขันที่สุด แต่จะต้องฟื้นกลับมาแข็งแกร่งยิ่งขึ้น

ทานจักร 10 ประการ


   ช่วงกลางเดือนเมษายน พ.ศ.2532 อาจารย์และพระญาณรโต ได้ไปธุดงค์ที่ประเทศญี่ปุ่นด้วยการเดินเท้า โดยเริ่มเดินจากสนามบินนาริตะ จนถึงอนุสรณ์สันติภาพที่เมืองฮิโรชิมา เป็นระยะทางกว่า 1,000 กิโลเมตร ใช้เวลา 72 วัน นับก้าวได้ประมาณ 2 ล้าน 2 แสนก้าว และหลังจากนั้นก็จำพรรษาที่วัดฮอนเซ็นจิในกรุงโตเกียว ตลอดระยะเวลาที่อยู่ที่ประเทศญี่ปุ่นประมาณ6เดือน อาจารย์ก็คิดพิจารณาอยู่เสมอว่า ในฐานะภิกษุในพุทธศาสนา เราจะทำอะไรได้บ้างที่จะช่วยแก้ปัญหาในสังคม และสร้างสันติภาพให้แก่โลก วันหนึ่งก็ฉุกคิดขึ้นมาในมโนภาพด้วยใจปีติว่า หากมนุษย์เราทุกคนช่วยกันหมุนวงล้อแห่งทาน (ทานจักร) ที่มีความเมตตากรุณาเป็นศูนย์กลาง ให้เคลื่อนไปในทุกแห่งหน ก็จะช่วยแก้ปัญหาสังคมและนำโลกไปสู่สันติภาพได้อย่างแท้จริง ความเมตตาและการให้ทานเป็นธรรมะของพระพุทธเจ้า ที่จะช่วยบรรเทาทุกข์ให้เพื่อนมนุษย์ได้ โดยไม่ขัดแย้งกับหลักศาสนาอื่น หรือขัดกับอุดมการณ์การเมืองใดๆ โดยเฉพาะฝ่ายเถรวาทก็เน้นการให้ ฝ่ายมหายานก็เน้นให้มีความเมตตากรุณา



อาคารมูลนิธิมายา โคตมี

   ความคิดดังกล่าวเป็นที่มาของการก่อตั้งมูลนิธิมายา โคตมี ในปี พ.ศ. 2533 เพื่อเป็นองค์กรการกุศลที่ให้ทุนการศึกษาและส่งเสริมจริยธรรมให้แก่เยาวชนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ในท้องถิ่นชนบทของประเทศไทย ซึ่งเป็นการนำหลักความคิดเรื่อง "ทานจักร" มาลงมือกระทำอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมทั้งเผยแผ่และสนับสนุนให้พวกเราทุกคนในสังคมร่วมมือร่วมใจกันบำเพ็ญทานตามหลัก ทานจักร 10 ประการ ได้แก่

   1.ให้ทานด้วยทรัพย์สินเงินทอง
   2.ให้ทานด้วยสายตาที่เมตตาปราณี
   3.ให้ทานด้วยใบหน้าที่ยิ้มแย้มแจ่มใส
   4.ให้ทานด้วยวาจาที่ไพเราะน่าฟัง
   5.ให้ทานด้วยแรงงานช่วยเหลือผู้อื่น
   6.ให้ทานด้วยการอนุโมทนายินดีเมื่อผู้อื่นทำดี
   7.ให้ทานด้วยการให้ที่นั่ง
   8.ให้ทานด้วยการให้ที่พักอันสะดวกสบาย
   9.ให้ทานด้วยการให้อภัย
   10ให้ทานด้วยการให้ธรรมะ

  
การให้ทานจึงไม่จำกัดอยู่แต่เฉพาะการให้ทรัพย์สินเงินทอง และไม่จำกัดเฉพาะว่าต้องทำบุญกับวัดกับพระเท่านั้น ไม่ว่าจะให้แก่พ่อแม่ พี่น้อง ญาติ เพื่อน ให้แก่ผู้ที่ขาดแคลนหรือกับสรรพสัตว์ทั้งหลาย ก็เรียกว่าเป็นการให้ทานทั้งสิ้น ทุกคนไม่ว่าจะมีฐานะอย่างไร ก็สามารถเป็นผู้ให้ได้เสมอ ตามหลักการบำเพ็ญทาน 10 ประการ







 
0
hua hom 8 มิ.ย. 55 เวลา 21:08 น. 4

...จบ


ความทุกข์เป็นโอกาสทองแห่งการสร้างบารมี




   ความสุขกาย สุขใจ เป็นรางวัลแห่งชีวิต เป็นสิ่งที่ทุกคนปราถนา เมื่อได้มาแล้วก็อยากให้ความสุขนั้นอยู่กับเราตลอดไป แต่ความสุขกับความทุกข์เป็นของคู่กัน เหมือนเหรียญที่มีสองด้าน

   สิ่งที่เราปราถนานั้นได้แก่ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข แต่ธรรมดาของโลกก็ต้องมี เสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์ เป็นของคู่กัน แม้แต่พระพุทธเจ้าตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณจนกระทั่งเข้ามหาปรินิพพาน รวมระยะเวลา 45 พรรษา จิตใจของท่านบริสุทธิ์ เปี่ยมด้วยพระปัญญาธิคุณ พระกรุณาธิคุณ พระองค์ก็ยังต้องประสบกับโลกธรรมฝ่ายที่ไม่น่าปราถนา ทั้งนี้เป็นเพราะโทษภัยในวัฏสงสาร



   พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า ชีวิตนี้เป็นทุกข์ ความแก่ ความเจ็บ ความตายเป็นทุกข์ เมื่อเราต้องอยู่กับคนที่ไม่ชอบใจ อยู่กับสิ่งที่ไม่ชอบใจก็เป็นทุกข์ การพลัดพรากจากคนที่เรารัก สิ่งที่เรารักก็เป็นทุกข์ เมื่อเรามีความปราถนาสิ่งใด แต่ไม่สมปราถนาก็เป็นทุกข์

   เราต้องพยายามยอมรับความจริงในข้อนี้ เรื่องเหตุการณ์ภายนอก เสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์ก็ดี มีลาภ มียศ สรรเสริญ สุขก็ดี เปรียบเทียบเหมือนลมฟ้าอากาศ บางครั้งก็หนาวจัด บางครั้งก็ร้อนจัด มีฝนมากมีฝนน้อย มีฝนพอดีๆ มีพายุลมแรง บางครั้งลมพัดสบายๆก็มี บางครั้งน้ำท่วมใหญ่ แผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิดหรือเกิดคลื่นสึนามิ เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ เราต้องยอมรับได้ด้วยจิตใจที่เป็นกลางๆ หนักแน่น ไม่หวั่นไหว

   เมื่อเราต้องประสบกับปัญหาและอุปสรรค อาจจะเปรียบเทียบอุปสรรคนี้เป็นเหมือนกำแพง แต่เมื่อเรามีปัญญาก็เปรียบเหมือนมีบันไดสำหรับก้าวข้ามกำแพงไปสู่ความร่ำรวยทางจิตใจ หมายถึงการสร้างสม "อริยทรัพย์" ซึ่งเป็นคุณธรรมที่จะติดตามเราไปในทุกภพทุกชาติ หรือจะเรียกว่าสร้าง "บารมี" ก็ได้ หากศึกษาการบำเพ็ญบารมีของพระพุทธเจ้าสมัยเป็นพระโพธิสัตว์ เมื่อชีวิตมีอุปสรรคเป็นทุกข์ พระองค์สามารถผ่านพ้นอุปสรรคนั้นได้ด้วยคุณธรรมในบารมี 10 ประการ ได้แก่ ทาน ศีล เนกขัมมะ ปัญญา วิริยะ ขันติ สัจจะ อธิษฐาน เมตตา อุเบกขา

   การดำเนินชีวิตของเรา ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็ตาม ไม่ว่าจะทุกข์ขนาดไหนก็ตาม เราตั้งมั่นอยู่ในความดีความถูกต้องในทุกสถานการณ์ อดได้ ทนได้ รอได้ ด้วยใจดี 

อดได้ คือ สิ่งที่เราต้องการแต่ไม่มี

ทนได้ คือ มีในสิ่งที่เราไม่ต้องการ

รอได้ คือ อยากจะได้ อยากจะทำเดี๋ยวนี้ แต่ยังทำไม่ได้

ด้วยใจดี
คือด้วยใจสงบ ไม่ยินดี ยินร้าย หนักแน่น ไม่หวั่นไหว "ใจดี" คือ "บารมี 10"





   โดยปกติเรามักดิ้นรนให้พ้นจากทุกข์ เปลี่ยนสภาวะแวดล้อมที่เราไม่ถูกใจ ทุกข์กาย ทุกข์ใจ ให้เป็นความสุข รอว่าสักวันหนึ่ง เมื่อได้สิ่งที่ปราถนาแล้วจะมีความสุข จึงวิ่งตามกิเลสตัณหาไปเรื่อยๆ แต่พระพุทธเจ้าไม่เคยสอนให้เราหนีจากทุข์ เพราะทุกข์คือความจริงอันประเสริฐที่ควรกำหนดรู้ ที่เกิดของทุกข์ คือจุดสำคัญที่สุด ทุกข์ที่สุดอยู่ที่ไหน ความดับทุกข์คือนิพพานอันเป็นบรมสุขก็อยู่ที่นั่น เพราะการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ก็คือการรู้แจ้งในอริยสัจ4 หรือความจริงอันประเสริฐ 4 ประการคือ

   1.ทุกข์
   2.เหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ (สมุทัย)
   3.ความดับทุกข์ (นิโรธ)
   4.ทางปฏิบัติเพื่อดับทุกข์ (มรรค)

   พระพุทธเจ้าตรัสว่าสติปัฏฐาน 4 เท่านั้น ที่จะทำให้จิตของสัตว์บริสุทธิ์ พ้นจากทุกข์ได้ เมื่อเจริญสติปัฏฐาน 4สมบูรณ์ ก็หมายถึง อริยมรรคมีองค์ 8 หรือ ไตรสิกขาสมบูรณ์ คือบรรลุนิพพานได้

   สติปัฏฐาน 4 พูดถึงกายและจิตใจของเรา ซึ่งประกอบด้วย กาย เวทนา จิต ธรรม ซึ่งเราสามารถกำหนดเป็นฐานของสติ สมาธิ และปัญญา เพื่อให้เรารู้จักตัวเองตามความเป็นจริง

   พระพุทธเจ้าสอนให้เราพิจารณาร่างกายของตัวเอง ท่านให้พิจารณา เห็นกายในกาย

   กาย หมายถึง กายของสรรพสัตว์ ซึ่งพวกเรายึดมั่นถือมั่นว่า พ่อแม่ของเรา สามี ภรรยา ลูกๆ เพื่อนๆของเรา ตลอดจนถึง สัตว์ต่างๆ ว่าน่ารัก น่าเกลียด คิดถึงบุคคลและสัตว์ต่างๆ ทั้งด้วยความรัก ความชัง ความกลัว คิดไปสารพัด ต่างๆนานา ในแต่ละวันเราคิดถึงด้วยความยึดมั่นถือมั่นในกายของคนอื่นด้วยกันทั้งนั้น เราอาจพิจารณากายของคนอื่น สัตว์อื่นว่ากายนี้น่าเกลียด กายนี้ต้องแก่เจ็บตาย กายนี้อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น พิจารณากายคนอื่นอย่างไร ก็ไม่สามารถพ้นทุกข์ได้ ยกเว้นแต่พิจารณากายคนอื่นแล้วโอปนยิโก น้อมเข้ามาพิจารณากายของตน กายในกาย คือกายของตน พิจารณาจนเห็นด้วยปัญญาชอบว่า กายก็สักแต่ว่ากาย กายเป็นเหมือนเสื้อผ้า รถ บ้านที่เราอาศัยอยู่ เห็นเราผู้พิจารณาว่าเป็นส่วนหนึ่ง กายก็เป็นอีกส่วนหนึ่ง เห็นกายเหมือนแผ่นดิน แม่น้ำ อากาศ เป็นธรรมชาติที่เราบังคับไม่ได้ เราเอาใจใส่ดูแล บำรุงรักษาได้ แต่ขอให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ตามใจปราถนาไม่ได้ เพราะกายไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของเรา กายเป็นอนัตตา จึงแก่ เจ็บ ตายไปตามธรรมชาติ

 
  พระพุทธเจ้าสอนให้เราพิจารณาเวทนาที่เกิดขึ้นกับกายและใจของตัวเอง ท่านให้พิจารณา เห็นเวทนาในเวทนา

  
เวทนา คือ ความรู้สึก
  
   สุขเวทนา ทุกขเวทนา เป็นความรู้สึกทางกาย

   โสมนัส (สบายใจ) โทมนัส (ไม่สบายใจ) เป็นความรู้สึกทางใจ

   อทุกขมสุขเวทนา คือ ความรู้สึกเฉยๆ ไม่ทุกข์ไม่สุข เป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นได้ ทั้งทางกายและทางใจ

   ความรู้สึกสุข ทุกข์ เฉยๆ ของเรานี้เกิดขึ้นจาก ตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้รับกลิ่น ลิ้นได้ลิ้มรส กายได้สัมผัส และการรับรู้ทางใจ แล้วก็จะเกิดความรู้สึกสุข ทุกข์ หรือความรู้สึกเฉยๆขึ้น

   วันหนึ่งๆเรามักจะอุปาทาน ยึดมั่นถือมั่นในความรู้สึกคนอื่นเป็นส่วนมาก เช่นว่า พ่อแม่กำลังป่วย เราก็เป็นทุกข์ ลูกของเรามีความสุขไหม ลูกของเราทุกข์ไหม สามีพอใจไหม ไม่พอใจไหม ถึงแม้เราจะพิจารณาเวทนาของคนอื่นมากขนาดไหน ก็ไม่มีทางที่จะทำให้จิตใจของเราบริสุทธิ์ได้

   ตัวเวทนา หรือความรู้สึกนี้เป็นปัจจัยให้เกิดตัณหา อุปาทาน และคนเราก็อุปาทานยึดมั่นถือมั่นในเวทนา ยึดถือว่าเวทนาเป็นเรา เป็นของเรา อันเป็นปัจจัยให้เกิดตัณหา อุปาทาน เป็นเหตุของปัญหาทั้งหมด ไม่ว่าจะความทุกข์ของเรา เช่นเมื่อถูกนินทา รู้สึกน้อยใจ เสียใจ กลัว โกรธ ไม่สบายใจต่างๆเกิดขึ้น แล้วก็ยึดมั่นถือมั่น หรือปัญหาที่เกิดกับครอบครัว สังคม ประเทศชาติ หรือแม้แต่สงครามระหว่างประเทศก็ล้วนเกิดขึ้นเพราะอุปาทาน ยึดมั่นถือมั่นในเวทนาทั้งสิ้น เมื่อเรายึดมั่นถือมั่นในเวทนา เท่ากับจิตใจของเราเป็นทาสของเวทนา ความเป็นทาสคือทุกข์ การพิจารณาเวทนาก็เพื่อเข้าใจเวทนาตามความเป็นจริงว่า เวทนาเป็นสักแต่เวทนา เวทนาไม่เที่ยง มองเห็นความดับของเวทนา เพื่อปลดปล่อยจิตจากความเป็นทาสของเวทนา คือความพ้นทุกข์

  
พระพุทธเจ้าสอนให้เราพิจารณาจิต ท่านให้พิจารณา เห็นจิตในจิต

  
จิต คือ จิตของสัตว์ทั้งหลาย แม้แต่จิตก็เหมือนกัน เรามักจะนึกคิดพิจารณาจิตของคนอื่น คนนี้ขี้เกียจ คนนี้ง่วงนอน คนนี้ฟุ้งซ่าน คนนี้ไม่มีสติ คนนี้จิตใจดี คนนี้จิตใจไม่ดี อย่างไรก็ตาม การพิจารณาวิเคราะห์จิตของคนอื่น ว่าเขามีจริตนิสัยเป็นอย่างไร ก็ไม่มีประโยชน์ต่อการทีจะทำให้จิตใจของตัวเองบริสุทธิ์ได้




   จิตเป็นนามธรรมที่ละเอียด ไม่มีรูปร่าง เปลี่ยนแปลงเร็ว หากเปรียบให้เห็นเป็นรูปธรรม ว่าจิตอยู่ที่ไหน จิตก็อาศัยอยู่ในถ้ำ คือ ร่างกายของเรา เราจะจับตัวจิตได้อย่างไร ก็ใช้หลัก ความรู้สึกอยู่ที่ไหนจิตก็อยู่ที่นั่น การพิจารณาจิต ตามรู้จิตตลอดกาลตลอดเวลาจะทำได้อย่างไร ก็ให้ตั้งสติ ระลึกรู้ที่ความรู้สึก เช่น ชอบใจ ไม่ชอบใจที่เกิดขึ้น นึกน้อยใจ นึกเสียใจ นึกโกรธ นึกดี นึกชั่ว ฯลฯ

  เมื่อเราตามดูจิต เฝ้าสังเกตจิตใจของเราแล้ว เมื่อมีความรู้สึกนึกคิดต่างๆเกิดขึ้น เช่น นึกขี้เกียจ นึกน้อยใจ นึกอิจฉา นึกโกรธ นึกกลัว นึกสงสัย นึกวิตกกังวล ฯลฯ เราจะรู้เท่าทันความรู้สึกเหล่านี้ได้มากขึ้น

   รู้เท่าทันหมายถึง เมื่อรู้สึกนึกขึ้นมาก็ดับไปพร้อมกัน นึกดีหรือนึกชั่วก็ตาม กำหนดรู้เท่าทันคือ
ความดับ ไม่คิดปรุงแต่งต่อ ไม่คิดไปตามกิเลส ตัณหา ไม่เป็นมโนกรรม ก็ไม่เกิดโทษ

   การที่เราพยายามฝึกเจริญสติสัมปชัญญะด้วยการตามรู้จิตอย่างสม่ำเสมอ ก็เพื่อให้เกิดความรู้สึกตัวชัดเจนถึงอาการของจิตในลักษณะต่างๆ จนรู้เท่าทันจิต ไม่ไปยึดมั่นถือมั่นปรุงแต่งต่อเป็นตัณหา อุปาทาน
เมื่อสติสัมปชัญญะมีกำลัง ก็จะเห็นการเกิดดับๆ ของจิต เกิดความรู้สึกตัวชัดเจน รู้อยู่ เห็นอยู่ เกิดสติปัญญา รู้แจ้งว่า จิตสักแต่ว่าจิต เป็นอนัตตา




   พระพุทธเจ้าสอนให้เราพิจารณาธรรม ท่านให้พิจารณา เห็นธรรมในธรรม

  
ธรรมะก็เป็นทุกสิ่งทุกอย่าง ทั้งในโลก นอกจักรวาลทั้งหมด มีอะไรก็แล้วแต่ ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นธรรมะ ทีนี้ถ้าเราพิจารณาแต่สิ่งภายนอก ก็ไม่มีทางที่จะทำให้จิตใจของตัวเองบริสุทธิ์ได้ พระพุทธเจ้าจึงสอนให้เราโอปนยิโกน้อมเข้ามาดูที่กายและจิตของเรา

   การเจริญธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานตามหลักมหาสติปัฏฐานสูตรคือการพิจารณาธรรมในหมวดต่างๆโดยความเป็นธรรมเสมอกัน หมายถึง
ถอนความพอใจและไม่พอใจ ไม่ยึดมั่นถือมั่นในธรรมทั้งปวง ไม่ว่าจะเป็นอกุศลธรรม กุศลธรรม หรือธรรมที่เป็นกลางๆ รู้แจ้งเห็นจริง ตามความเป็นจริงว่า ธรรมสักแต่ว่าธรรม ธรรมทั้งหลายทั้งปวงไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน เป็นอนัตตา



สัพเพธัมมาอนัตตา
ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา

สัพเพธัมมานาลัง อภินิเวสายะ
ธรรมทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น








คัดลอกจากหนังสือ "สุขกาย สุขใจ" ของพระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก
ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ท



พระอาจารย์มิตซูโอะ และ พระอาจารย์ชยสาโร ภิกขุ ณ สวนโมกข์ กรุงเทพฯ



สนใจอ่านบทความธรรมะอื่นๆได้ที่ ; http://my.dek-d.com/onion-head/

0