Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

การตั้งชื่อของชาวอาหรับ

ตั้งกระทู้ใหม่
ตั้งกระทู้ใหม่

“ชื่อ - สกุล” สิ่งบ่งบอกถึงตัวบุคคลที่เราใช้เรียกขานเพื่อสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน ทว่าเมื่อพิจารณาแล้ว ชื่อ - สกุล ไม่เพียงแต่เป็นคำศัพท์หรือวลีที่ได้รับการประดิดประดอยขึ้นเพื่อเรียกขาน เพียงเท่านั้น หากชื่อ – สกุล นี้ยังมี “ความหมาย” ทั้งที่เป็นความหมายของคำในตัวเองและ “ภาพลักษณ์” สะท้อนความผูกพันกับท้องที่ ความเชื่อ ปรัชญา ศาสนา ภาษา จารีตประเพณี ยุคสมัย ฯลฯ ของสังคมนั้นๆ อยู่ด้วย ด้วยเหตุนี้ชื่อ –สกุลจึงเปรียบเสมือนเครื่องประดับทางสังคมที่ฉายให้เห็นอัตลักษณ์ทั้งของ ปัจเจกชนและของสังคมนั้น

        ชื่อของชาวอาหรับส่วนใหญ่ใช้ภาษาอาหรับ (Arabic) โดยจะอ่านจากขวาไปซ้ายตามหลักภาษาอารบิก ดังตัวอย่าง





ซึ่งชื่อเต็มของคนอาหรับส่วนมากค่อนข้างยาวเนื่องจากชื่อเต็มจะมีส่วนประกอบรวม 5 ส่วนด้วยกัน ได้แก่ 

  اسم‎ (อิซึ่ม: ism) คือ ชื่อจริง (given name) ที่บุคคลนั้นได้รับหลังถือกำเนิดขึ้น เช่น มูฮัมหมัด (Muhammad), อิบราฮิม (Ibrahim), ยูซุฟ (Joseph) เป็นต้น
كنية‎ (กุนยาห์: kunyah) คือ ส่วนเติมเพื่อให้เกียรติสถานะแก่บุคคลผู้นั้น โดยปกติชื่อเต็มภาษาอาหรับจะใช้กุนยาห์เพื่อให้เกียรติเจ้าของชื่อโดยเฉพาะ อย่างยิ่งเมื่อแต่งงานแล้ว โดยเติม abu แปลว่าบิดา หรือ umm แปลว่ามารดา ตามด้วยชื่อจริงบุตรคนแรก เช่นabu Da’ud (ผู้เป็นบิดาของเดวิด), umm Salim (ผู้เป็นมารดาของซาลีม) ทั้งนี้ ตำแหน่งส่วนเติมกุนยาห์จะวางไว้หน้าอิซึ่ม  เช่น Abu Yusuf Hasan  แปลได้ว่า  ฮัสซันผู้เป็นบิดาของโจเซฟ

نسب‎ (น่ะซับ: nasab) คือ ส่วนเติมเพื่อให้เกียรติสถานะแก่บุคคลผู้นั้น  น่ะซับทำหน้าที่ต่างจากกุนยาห์ เพราะในขณะที่กุนยาห์เติมเพื่อให้เกียรติว่าบุคคลนั้นเป็นบิดาหรือมารดาของ ใคร แต่น่ะซับใช้ bin ในชื่อเต็มเพื่อให้เกียรติสถานะว่าบุคคลนั้นเป็นบุตรของใคร เช่น bin 'Omar (ผู้เป็นบุตรชายของโอมาร์), binti 'Abbas (ผู้เป็นบุตรธิดาของแอบบาส) เป็นต้น โดยเมื่อเขียนชื่อเต็ม ตำแหน่งของน่ะซับจะวางไว้หลังอิซึ่ม ซึ่งต่างจากตำแหน่งของกุนยาห์เช่นกัน ข้อสังเกตคือน่ะซับสามารถเขียนติดต่อกันเพื่อบ่งบอกรุ่น (Generation) ของบุคคลผู้นั้นได้ เช่น Abu Al-Qasim Mansur bin Al-Zabriqan bin Salamah Al-Namari เป็นต้น


لقب‎ (ลาก็อบ: laqab) คือ ชื่อรองหรือฉายาเพื่อบ่งบอกบุคลิกหรือคุณลักษณะที่โดดเด่นของบุคคลผู้นั้น โดยนำคำศัพท์ภาษาอาหรับใช้เป็นชื่อรอง ฉายา หรือชื่อเล่น (Nickname) ก็ได้ ซึ่งโดยมากแล้วจะเป็นศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับศาสนา ลักษณะทางธรรมชาติ บุคลิกภาพ หรือคำยกย่องสรรเสริญ เช่น Al-Rashid (ผู้ได้รับการชี้นำอย่างถูกต้อง), Al-Fadl (ผู้เลื่องชื่อ) เป็นต้น โดยตำแหน่งของลาก็อบจะวางอยู่หลังอิซึ่มเช่นกัน ตัวอย่างเช่น Harun Al-Rashid (ฮารูนผู้ได้รับการชี้นำอย่างถูกต้อง) เป็นต้น

نسبة‎ (นิสบา: nisba) คือ สกุลหรือชื่อวงศ์ตระกูล (Family Name) หรือบางกรณีก็คือส่วนเติมเพื่อขยายลักษณะเฉพาะ เช่น ศาสนาที่นับถือ ศาสตร์ที่เชี่ยวชาญ เชื้อชาติ สถานที่เกิด ฯลฯ ตัวอย่างเช่น Al-Hallaj (ช่างฝ้าย), Al Msri (ชาวอียิปต์), Islami (นับถือศาสนาอิสลาม) เป็นต้น ตำแหน่งของนิสบานี้โดยปกติจะวางต่อจากอิซึ่ม แต่ในกรณีที่ชื่อจริงนั้นมีน่ะซับต่อท้ายอยู่แล้วก็จะวางนิสบาต่อท้ายน่ะซับ อีกทีหนึ่ง

ดังนั้นเมื่อพิจารณาจากการวางรูปของชื่อเต็มของชาวอาหรับแล้ว จะพบว่าชื่อเต็มของชาวอาหรับโดยทั่วไปจะเรียงตามลำดับคือ กุนยาห์ – อิซึ่ม – ลาก็อบ – น่ะซับ – นิสบา โดยมีอิซึ่มทำหน้าที่เป็นชื่อจริงของบุคคลคนนั้น ส่วนประกอบอีก 4 ส่วนที่เหลือทำหน้าที่เป็นส่วนขยายเกือบทั้งหมด เมื่อย้อนกลับไปถอดความตัวอย่างชื่อเต็มของชายชาวอาหรับที่ได้ยกมาแล้วข้าง ต้น โดยแยกส่วนของชื่อเพื่อให้เห็นถึงองค์ประกอบต่าง ๆ  ก็จะได้ชื่อเต็มที่มีใจความว่า



เนื่องจากชื่อเต็มในภาษาอาหรับมีขนาดยาวมาก บางครั้งชาวอาหรับจึงตัดทอนย่นย่อชื่อเต็มของตนเหลือไว้เพียงชื่อตัว ชื่อบิดา และชื่อสกุล (อิซึ่ม น่ะซับ และนิสบา) เท่านั้นเพื่อความสะดวกในการเรียกขานและจดจำ ทั้งนี้การตั้งชื่อของชาวอาหรับไม่มีลักษณะตายตัว โดยในบางรายนิยมใช้แต่กุนยาห์แทนชื่อและชื่อสกุล เช่น Abu Mazin เพียงคำเดียวใช้แทนชื่อนาย Mahmoud Abbas ผู้นำปาเลสไตน์คนปัจจุบัน เป็นต้น และในบางกรณี Abu กับ Umm ในวรรคกุนยาห์ก็กลายเป็นชื่อเฉพาะของบุคคลได้ เช่น อาบู บักร์ (Abu Bakr) และ อูม กัลโซม (Umm Khalsoum) เป็นต้น

        ทั้งนี้ นายสุรินทร์ เจ๊ะมะ นักการทูต กองตะวันออกกลาง กรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา กระทรวงการต่างประเทศ ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าระบบการตั้งชื่อของชาวอาหรับนี้เป็นขนบธรรมเนียม ที่มาแต่โบราณ โดยแต่เดิมชาวอาหรับโดยเฉพาะชาวอียิปต์ทั้งที่เป็นมุสลิมและคริสต์ จะนิยมตั้งชื่อบุตรหรือบุตรีตามชื่อของบิดาหรือมารดา และบรรพบุรุษของตน และมีลักษณะสลับกลับไปมาเป็นอนุกรม ยกตัวอย่าง เช่น คนชื่อ Osman Ahmad Osman (ชื่อตัว – ชื่อบิดา – ชื่อปู่) เมื่อนาย Osman มีบุตรชายก็จะตั้งชื่อบุตรตามชื่อบิดาของตนเป็น Ahmad Osman Ahmad โดยจะใช้ชื้อซ้ำกันกลับไปมา ดังนี้



  การตั้งชื่อตามบิดาและบรรพบุรุษหลาย ๆ ชั้นขึ้นไปดังกล่าวนี้ อาจก่อให้เกิดความสับสนขึ้นบ้าง แต่จะทำให้สามารถสืบทราบเชื้อสายได้ กล่าวคือ การตั้งชื่อกลับไปกลับมานี้อาจทำให้เกิดความสับสนในการระบุตัวบุคคล จึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่ชื่อจริงของชาวอาหรับอย่างน้อยที่สุดต้องมีวรรคที่ ระบุถึงชื่อบิดา และปู่ หรือมีการใส่รุ่นกำกับ เช่น Osman II Ahmad III อาจกล่าวโดยสรุปได้ว่าการตั้งชื่อแบบชาวอาหรับเอื้อประโยชน์ให้สามารถไล่ ลำดับเชื้อสายพงศาวลี (Family Tree) ได้ ไม่ว่าวงศ์ตระกูลจะมีขนาดใหญ่เพียงไร และมีกี่สิบรุ่นก็ตาม ซึ่งทำให้ระบบความสัมพันธ์ในสถาบันครอบครัวมีความแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

ดังนั้น เมื่อกลับมาพิจารณาชื่อจริงของ มุฮัมหมัด ที่ได้ยกเป็นตัวอย่างไว้ข้างต้น จะสร้างระบบความสัมพันธ์ทางครอบครัวได้ ดังนี้



ในด้านความหมาย ปกติแล้วคำศัพท์ที่จะผสมกันขึ้นเป็นชื่อ - สกุล มักเป็นคำที่มีความหมายดีเป็นสิริมงคลแก่ตัวผู้ได้รับชื่อนั้นๆ “เฉกเช่นเดียวกับภาษาอังกฤษ” เช่น Alexander (ผู้ปกป้อง), Roxana (ผู้ฉลาดปราดเปรื่อง) และในภาษาอื่นๆ เช่น กมลวร (ประเสริฐเหมือนดอกบัว), ธัญเทพ (โชคดีดุจอย่างเทวดา) ในภาษาไทย เป็นต้น โดยที่ประเพณีการตั้งชื่อของชาวอาหรับส่วนใหญ่ได้รับอิทธิพลจากศาสนาอิสลาม จึงมักปรากฏโดยทั่วไปว่ารูปศัพท์ที่ใช้ตั้งชื่อนั้นจะเกี่ยวพันกับความเชื่อ และศรัทธาพระอัลเลาะฮ์



  คลังคำศัพท์ที่นิยมใช้ตั้งชื่อในภาษาอารบิกเป็นอันดับต้นๆ ได้รับจากพระนาม 99 พระนามของอัลเลาะฮ์จากคัมภีร์กุลอ่าน เช่น อัลเราะห์มาน (Al-Rahman) หมายถึงผู้ทรงกรุณาปราณี, อัลฮะกีม (Al-Hakeem) หมายถึงผู้ทรงปรีชาญาณ, อัลบาซิฏ (Al-Basit) หมายถึงผู้ทรงประทานความมั่งคั่ง เป็นต้น โดยจะต้องเพิ่มคำว่า อับดุล (Abdul) ที่แปลว่า “ข้าหรือบ่าวของ” นำหน้า
พระนามของอัลเลาะฮ์ทั้ง 99 พระนามทุกครั้ง เป็น อับดุลเลาะห์ (Abdullah), อับดุลเลาะห์มาน (Abdulrahman), อับดุลฮะกีม (Abdulhakeem), อับดุลบาซิฏ (Abdulbasit) ตามลำดับ    ยิ่งไปกว่านั้น ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่าชื่อที่นิยมใช้ตั้งชื่อจริง (อิซึ่ม) อย่างยิ่ง  มักจะนำมาจากชื่อของบรรดาศาสดา  อัครสาวก และบุคคลสำคัญในศาสนาอิสลาม เช่น มุฮัมหมัด (Muhammad), อาลี (Ali), อิบราฮิม (Abraham), อาดัม (Adam), มูซา (Moses), จีซา (Jesus), มาเรียม (Mary), ฟาติมา (Fatima) เป็นต้น ซึ่งแสดงถึงอิทธิพลทางศาสนาที่มีต่อชาวอาหรับมุสลิม

Related Link ::  99 พระนามของอัลเลาะฮ์จากคัมภีร์กุรอ่าน (คำอ่านภาษาไทย พร้อมความหมาย)

        การตั้งชื่อตามอิทธิพลของศาสนาอิสลามนี้ไม่เพียงปรากฏแต่ในเฉพาะชาวอาหรับ เท่านั้น หากชาวมุสลิมที่อาศัยอยู่ทั่วโลกต่างก็มีประเพณีตั้งชื่อที่ใช้ภาษาอารบิก เช่นเดียวกัน ที่เป็นเช่นนี้เนื่องด้วยเหตุผลสองประการสำคัญคือ ประการแรกชาวมุสลิมยึดมั่นว่าในวันกียามะฮฺ ซึ่งเป็นวันตัดสินพิพากษามนุษย์นั้น มนุษย์ทุกคนทุกยุคสมัยไม่ว่าจะมาจากแหล่งอารยธรรมใดก็ตามจะถูกเรียกชื่อด้วย ภาษาอาหรับทั้งหมด และสื่อสารกันด้วยภาษาอาหรับเพียงภาษาเดียว ประการต่อมาคือชาวมุสลิมต่างยึดมั่นในพระวัจนะของท่านนบีมุฮัมหมัดที่ว่า บรรดาชื่อที่รักยิ่งของพระองค์อัลเลาะฮ์นั้น คือชื่ออับดุลเลาะห์ และอับดุลเราะห์มาน ซึ่งเป็นชื่อในภาษาอาหรับนั่นเอง

        แม้กระนั้นประเพณีการตั้งชื่อของชาวอาหรับและชาวมุสลิมก็แตกต่างกันออกไปตาม บริบททางสังคมและประวัติศาสตร์ในแต่ละท้องที่ กล่าวคือยังมีชาวอาหรับอีกส่วนหนึ่งที่ไม่ได้ตั้งชื่อให้แก่บุตรหลานของตน แบบเดียวกับชื่ออารบิก (Arabic Name) ตัวอย่างเช่น ชาวมุสลิมในอิหร่านใช้ชื่อแบบอิหร่าน (Iranian Name) ซึ่งสืบทอดมรดกจากภาษาเปอร์เซีย (Persian Language) จะนิยมตั้งชื่อตามบุคคลสำคัญทางศาสนาอิสลาม นิกายชิอะห์มากกว่านิกายสุนนี่ ชาวเติร์ก (Turkish) ตั้งชื่อด้วยภาษาตุรกี (Turkish Language) เป็นส่วนใหญ่ เช่น อีมิน (Emin), ตูเลย์ (Tülay), ตูรัน (Turan) เป็นต้น โดยจะมีการใช้ภาษาอาหรับเพียงส่วนน้อย ชาวตูนีเซีย (Tunisia) และอัลจีเรีย (Algeria) บางส่วนจะนิยมใช้ชื่อมารดาเป็นน่ะซับ เช่น Muhammad bin Azizah หรือ Abdulrahim bin Aminah เป็นต้น

        กล่าวโดยสรุป ชื่อของชาวอาหรับและชาวมุสลิมไม่เพียงใช้เรียกขานเพื่อสร้างปฏิสัมพันธ์ ระหว่างกันเท่านั้น หากชื่อของชาวอาหรับและชาวมุสลิมยังแสดงถึงความผูกพันและการยึดมั่นในสถาบัน ครอบครัว แสดงถึงความศรัทธาอันแรงกล้าในศาสนาอิสลาม แม้ว่าจะมีการปรับเปลี่ยนไปบ้างตามยุคสมัยและบริบทอื่นๆ ของสังคมแต่ละท้องที่ แต่การตกผลึกเป็นจารีตประเพณีการตั้งชื่อ – สกุล มาตั้งแต่โบราณของชาวอาหรับและชาวมุสลิมนี้ ผลที่ได้คือเอกลักษณ์เฉพาะตัวอันเป็นความภาคภูมิใจของชาวอาหรับและชาวมุสลิม นั่นเอง

แสดงความคิดเห็น

>

1 ความคิดเห็น