Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

รู้ทันข้อสอบ ent

ตั้งกระทู้ใหม่
ตั้งกระทู้ใหม่
รู้ทันข้อสอบ Ent' ตอน การวิเคราะห์ชนิดของประโยค  
ได้จริงหรือ ที่คะแนนสอบ O - NET, A - NET ภาษาไทยครั้งที่สอง จะเพิ่มขึ้นจากครั้งแรกเป็นสิบๆ คะแนน ?

คำตอบคือ เป็นไปได้ !!! แถมยังไม่ต้องรอให้ข้อสอบรั่วอีกด้วย ขอเพียงรู้ทันข้อสอบเสียอย่าง ข้อสอบจะมา ไม้ไหนก็ไม่หวั่น ทำได้สบายๆ

เรื่องหนึ่งที่ออกข้อสอบเป็นประจำทุกปี ปีละหลายข้อ และทำให้หลายคนต้องเสียคะแนนไปฟรีๆ อย่างน่าเสียดาย คือข้อสอบเรื่อง การวิเคราะห์ชนิดของประโยค ทั้งที่ความจริงแล้วข้อสอบเรื่องนี้ไม่มีอะไรยากอย่างที่คิด เพียงแต่ต้องอาศัยความรู้เรื่องหลักภาษาและการสังเกตอีกเล็กน้อยเท่านั้น

ใครอยากรู้ทันข้อสอบ O - NET, A - NET ตามมาทางนี้
ความรู้เรื่อง “ ชนิดของประโยค ” ในหนังสือเรียน

ก่อนอื่นลองเปิดไปดูเนื้อหาเรื่องชนิดของประโยคในหนังสือเรียนกัน แบบเรียนภาษาไทย

ท 503 ตามหลักสูตรมัธยมศึกษาตอนปลาย พุทธศักราช 2524 (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2533) ของกรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันนั้นนิยามว่า ถ้อยคำที่เราใช้สื่อสารกัน มักจะประกอบกันเข้าเป็น ประโยค และแบ่งชนิดของประโยคเป็นประโยคความเดียว ประโยคความรวม และประโยคความซ้อน

ประโยคอาจมีส่วนประกอบต่างๆ กันไป ประโยคความเดียว หมายถึงประโยคมีส่วนประกอบสำคัญเพียง 2 ส่วน คือภาคประธานและภาคแสดง อาจมีรายละเอียดเป็นส่วนขยายเพิ่มขึ้นด้วยก็ได้ แต่ส่วนขยายนั้นต้องไม่มีลักษณะเป็นประโยค ถ้าเพิ่มประโยคเข้าไปทั้งประโยค เพื่อช่วยจำกัดความหมายของคำนาม หรือคำกริยา ประโยคที่เปลี่ยนแปลงไปก็ถือว่าเป็น ประโยคความซ้อน แต่ถ้าประโยคที่เพิ่มขึ้นสัมพันธ์กับประโยคเดิมโดยมีคำเชื่อม เพื่อบอกให้รู้ว่าประโยคทั้งสองสัมพันธ์กันอย่างไร ประโยคที่เปลี่ยนแปลงไปก็ถือว่าเป็น ประโยคความรวม

  

ข้อสอบ O - NET, A - NET ถามอะไร

คราวนี้ลองดูข้อสอบ Ent' ปีที่ผ่านๆ มา ในส่วนของการวิเคราะห์และสังเคราะห์ประโยคดูบ้าง ไม่ต้องย้อนไกลมาก เอาแค่เริ่มเอนทรานซ์ระบบใหม่คือ เมื่อเดือนตุลาคม 2541 มาจนถึงปัจจุบัน จะพบว่าข้อสอบเรื่องการวิเคราะห์และสังเคราะห์ประโยค แบ่งได้เป็น 3 กลุ่มคือ 1) ข้อสอบวัดความเข้าใจความแตกต่างของวลีและประโยค 2) ข้อสอบวัดความเข้าใจเรื่องชนิดของประโยค และ 3) ข้อสอบให้วิเคราะห์ส่วนประกอบของประโยค และกลุ่มที่ออกมากที่สุดเป็นประจำทุกปี ปีละประมาณ 2-4 ข้อ ก็คือข้อสอบกลุ่มที่ให้วิเคราะห์ชนิดของประโยคนั่นเอง

ลักษณะคำถามที่พบแบ่งเป็น 1) คำถามที่ให้วิเคราะห์ชนิดของประโยคจากตัวอย่างประโยคที่โจทย์กำหนดให้ และ 2) คำถามที่ให้วิเคราะห์ชนิดของประโยคจากคำตอบตัวเลือก

คำถามแบบแรกพบไม่มากนัก ลักษณะของโจทย์ จะกำหนดข้อความมาให้นักเรียนวิเคราะห์เพื่อตอบคำถาม เช่น ข้อความตอนใดเป็นประโยคต่างชนิดกับข้ออื่น ข้อความตอนใดเป็นประโยคความซ้อน เป็นต้น

ตัวอย่าง

1.  ข้อความตอนใดเป็นประโยคต่างชนิดกับข้ออื่น

(1) กฎหมายตราสามดวงเป็นเอกสารที่มีคุณค่ายิ่งในไทยคดีศึกษา / (2) กฎหมายดังกล่าวสะท้อนแบบแผนประเพณีและวัฒนธรรมของชุมชนไทยลาวแต่โบราณ / (3) รัชกาลที่ 1 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ชำระกฎหมายที่มีมาแต่ครั้งโบราณ / (4) นักวิชาการที่ใช้กฎหมายโบราณเพื่อศึกษาเกี่ยวกับสังคมไทยยังมีไม่มากนัก

ก. ตอนที่ (1)                                            ข. ตอนที่ (2)
ค. ตอนที่ (3)                                            ง. ตอนที่ (4)

(ข้อสอบ Ent' มี.ค. 2545)

คำถามแบบที่พบมากคือ คำถามที่ให้วิเคราะห์ชนิดของประโยคจากคำตอบตัวเลือก ( choice ) โดยโจทย์จะให้นักเรียนหาตัวเลือกที่มีชนิดของประโยคตรงกับที่โจทย์กำหนด ได้แก่ คำถามว่า ข้อใดเป็นประโยคความเดียว ข้อใดเป็นประโยคความรวม ข้อใดเป็นประโยคความซ้อน หรือให้นักเรียนหาตัวเลือกที่มีชนิดของประโยคไม่ตรงกับที่โจทย์กำหนด ได้แก่ คำถามว่า ข้อใด ไม่ เป็นประโยคความเดียว ข้อใด ไม่ เป็นประโยคความรวม ข้อใด ไม่ เป็นประโยคความซ้อน

นอกจากนี้บางครั้งโจทย์ยังให้นักเรียนวิเคราะห์ชนิดของประโยคตัวเลือกทั้งหมด เพื่อหาคำตอบที่มีชนิดของประโยคต่างไปจากข้ออื่นๆ โดยใช้คำถามว่า ข้อใดเป็นประโยคต่างชนิดกับข้ออื่น หรือ ชนิดของประโยคในข้อใดต่างกับข้ออื่น อีกด้วย

ตัวอย่าง

2.  ข้อใดเป็นประโยคความรวม

     ก. เจ้าหมาน้อยไม่สบายร้องครางทั้งวัน

     ข. หลานสาวตัวน้อยเดินไปโรงเรียนใกล้บ้าน

     ค. คนไทยแทบทุกคนรู้จักนักชกเหรียญทองคนนั้น

     ง. สมบัติดูหนังสืออย่างเอาเป็นเอาตายมาหลายเดือน

(ข้อสอบ Ent' ต.ค. 2543)

3.  ข้อใด ไม่ใช่ ประโยคความซ้อน

     ก.  พิมลทำงานหนักเพื่อเขาจะได้เงินมากๆ

     ข.  สคราญย้ายไปอยู่ที่เชียงใหม่เป็นเวลา 20 ปีแล้ว

     ค.  คุณพ่อเสนอแนะว่าควรตัดต้นไม้ที่ล้มอยู่หลังบ้าน

     ง.  วิมลทิพย์เก็บผลไม้ในสวนที่อยู่ติดกับสวนดอกไม้

(ข้อสอบ Ent' ต.ค. 2544)

4.  ข้อใดเป็นประโยคต่างชนิดกับข้ออื่น

     ก.  ของกินสำหรับเด็กๆ เต็มตะกร้าใบใหญ่

     ข.  เราจะได้นั่งรถรางรอบเกาะรัตนโกสินทร์

     ค.  สินค้าในร้านของเขาทันสมัยทุกชนิด

     ง.  เรื่องที่เสนอขึ้นไปติดขัดตรงไหนบ้าง

(ข้อสอบ Ent' ต.ค. 2541)

ตัวเลือกของข้อสอบแต่ละข้อจะสัมพันธ์กับโจทย์ กล่าวคือถ้าโจทย์กำหนดให้หาประโยคชนิดที่ต้องการ ตัวเลือกจะประกอบด้วยตัวเลือกที่เป็นประโยคชนิดที่โจทย์ต้องการ 1 ข้อและตัวเลือกที่เป็นประโยคชนิดอื่นๆ อีก 3 ข้อ ถ้าโจทย์กำหนดให้หาประโยคคนละชนิดกับชนิดของประโยคที่โจทย์กำหนดให้ ตัวเลือกจะประกอบด้วยตัวเลือกที่เป็นประโยคชนิดที่โจทย์กำหนดให้ 3 ข้อและตัวเลือกที่เป็นประโยคชนิดอื่นๆ 1 ข้อ แต่ถ้าเป็นโจทย์ที่ให้หาประโยคชนิดที่ต่างจากตัวเลือกข้ออื่นๆ ตัวเลือกที่โจทย์กำหนดให้จะเป็นประโยคชนิดเดียวกัน 3 ข้อ และชนิดที่ต่างออกไป 1 ข้อ โดยนักเรียนต้องวิเคราะห์เองว่าคำตอบที่ถูกต้องนั้นเป็นประโยคชนิดใด

ข้อสังเกตอย่างหนึ่งเกี่ยวกับตัวเลือกในข้อสอบ Ent' ก็คือ ตัวเลือกในแต่ละข้อมักจะมีลักษณะบางอย่างคล้ายคลึงกัน เช่น มีบางส่วนของประโยคที่ซ้ำกัน หรือ มีการซ้ำโครงสร้างของประโยค หรือใช้โครงสร้างของประโยคที่คล้ายคลึงกัน

ตัวอย่าง

5.  ข้อใดเป็นประโยคความซ้อน

     ก.  ฉันพบอาจารย์ของลูก ที่ ตลาด เสมอ

     ข.  เราไปซื้อผลไม้ ที่ ร้านเจ้าประจำ

     ค.  มะม่วงต้น ที่ อยู่หลังครัว มีลูกหลายใบ

     ง.  กล้วยไม้ ที่ คาคบ ออกดอกแล้ว

(ข้อสอบ Ent' ต.ค. 2543)

6.  ข้อใดเป็นประโยคความเดียว

     ก.  รถ แล่นมาดีๆ ก็ พลิกคว่ำ

     ข.  งูตัวจ้อยเกาะกิ่งไม้ที่ริมรั้ว

     ค.  แม่น้ำสายยาว ไหลเซาะตลิ่ง พังทลาย

     ง.  คุณตา นัดรำมวยจีน กับเพื่อนๆทุกวันเสาร์

(ข้อสอบ Ent' มี.ค. 2543)

จากตัวอย่างที่ 6 จะเห็นว่ามีตัวเลือกที่บทกริยาประกอบด้วยคำกริยามากกว่าหนึ่งคำถึง 3 ข้อ ถ้านักเรียนสามารถมองเห็นความคล้ายคลึงเหล่านี้ได้ ก็จะช่วยให้มองเห็นแนวทางการทำข้อสอบและวิเคราะห์หาคำตอบได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้บางครั้งตัวเลือกยังอาจมีเนื้อหาต่อเนื่องกันดังตัวอย่างต่อไปนี้

7.  ชนิดของประโยคในข้อใดต่างกับข้ออื่น

     ก.  เกาะสิงคโปร์เกือบทั้งเกาะเต็มไปด้วยตึกรามบ้านช่อง จึงไม่มีพื้นที่สำหรับทำการเกษตร

     ข.  ถ้าพื้นที่ทั้งหมดบนดาดฟ้าสามารถนำมาปลูกพืชผักได้   ก็จะทำให้สิงคโปร์มีวัตถุดิบในการผลิตอาหารมากเพียงพอ

     ค. โรงเรียนมัธยมหลายแห่งในสิงคโปร์ได้เปิดหลักสูตรกิจกรรมภาคพิเศษ เกี่ยวกับการปลูกผักบน ดาดฟ้าคอนโดมิเนียม หรือสำนักงานทันสมัย

     ง. อีกไม่นานเราคงได้เห็นดาดฟ้าตึกระฟ้าของสิงคโปร์เต็มไปด้วยผักลอยฟ้า ส่วนที่เมืองไทยเราจะเห็นแต่ผักชีโรยหน้าเหมือนเดิม

         (ข้อสอบ Ent' มี.ค. 2542)

เราอาจแบ่งกลุ่มของข้อสอบเรื่องชนิดของประโยคนี้อีกแบบหนึ่ง ตามชนิดของประโยคได้เป็น 3 กลุ่มคือ ข้อสอบเรื่องประโยคความเดียว ข้อสอบเรื่องประโยคความรวม และข้อสอบเรื่องประโยคความซ้อน

ตัวอย่าง

8.  ข้อใดเป็นประโยคความเดียว

     ก.  รถแล่นมาดีๆ ก็พลิกคว่ำ                            ข. งูตัวจ้อยเกาะกิ่งไม้ที่ริมรั้ว

     ค. แม่น้ำสายยาวไหลเซาะตลิ่งพังทลาย    ง. คุณตานัดรำมวยจีนกับเพื่อนๆ ทุกวันเสาร์

(ข้อสอบ Ent' มี.ค. 2543)

9.  ข้อใดเป็นประโยคความเดียว

     ก.  สมบัติขึ้นรถไฟไปเที่ยวทางใต้ทุกปี

     ข.  คุณยายตื่นขึ้นมาทำอะไรกุกกักตอนดึกบ่อยๆ

     ค. เรื่องสั้นของ “ วินทร์ ” มักจบแบบหักมุม

     ง. ตอนเด็กๆ เขาว่ายน้ำไปเกาะเรือโยงเสมอ

(ข้อสอบ Ent' ต.ค. 2542)

10. ข้อใดเป็นประโยคความรวม

     ก.  สมศักดิ์ขายรถคันโปรดไปแล้ว

     ข.  เด็กน้อยร้องเพลงของพี่เบิร์ดได้อย่างคล่องแคล่ว

     ค.  เจ้าแมวดำจับลูกนกบนต้นมะม่วงอย่างว่องไว  

     ง.  คนรู้จักประหยัดจะอยู่รอดในสภาพเศรษฐกิจเช่นนี้

(ข้อสอบ Ent' มี.ค. 2543)

11.  ข้อใดเป็นประโยคความซ้อน

ก. ฉันพบอาจารย์ของลูกที่ตลาดเสมอ                       ข. เราไปซื้อผลไม้ที่ร้านเจ้าประจำ

ค. มะม่วงต้นที่อยู่หลังครัวมีลูกหลายใบ                      ง. กล้วยไม้ที่คาคบออกดอกแล้ว

(ข้อสอบ Ent' มี.ค. 2543)

แสดงความคิดเห็น

>

2 ความคิดเห็น