Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

" เพลงชาติไทย "

ตั้งกระทู้ใหม่
ตั้งกระทู้ใหม่
" คุณจะได้รู้สึกภูมิใจ  และรักประเทศชาติมากขึ้น  หากคุณมีสติและสามัญสำนึกมากพอ "
เมื่อประเทศสยามเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตยเมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ นั้น ได้มีสิ่งแปลกใหม่สำหรับคนไทยเกิดขึ้นอย่างหนึ่งคือ “เพลงชาติ” ซึ่งคณะราษฏร์ได้ มอบให้เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) เป็นผู้ประพันธ์ มีเนื้อร้องดังต่อไปนี้
“สยามอยู่คู่ฟ้าอย่าสงสัย
เพราะชาติไทยเป็นไทยไปทุกเมื่อ
ชาวสยามนำสยามเหมือนนำเรือ
ผ่านแก่งเกาะเพราะเพื่อชาติพ้นภัย
เราร่วมใจร่วมรักสมัครหนุน
วางธรรมนูญสถาปนาพาราใหม่
ยกสยามยิ่งยงธำรงชัย
ให้คงไทยตราบสิ้นดินฟ้า”
เนื้อร้องข้างต้นนี้ใช้ทำนองเพลงมหาชัย (ไทยเขษม ปีที่ ๙ เล่ม ๓ วันที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๔๗๕)

เมื่อมีธงไตรรงค์และเพลงชาติครบแล้ว กระทรวงกลาโหมจึงได้เสนอให้มีการชักและประดับธงชาติขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๗ การประชาสัมพันธ์ในสมัยนั้นจึงนิยมทำรูปพานรัฐธรรมนูญมีธงชาติไขว้ แม้แต่เหรียญที่ระลึกในงานขึ้นปีใหม่ พ.ศ. ๒๔๗๘ ก็ทำเป็นรูปพานรัฐธรรมนูญ และมีธงชาติไขว้เช่นเดียวกัน

เพลงชาติดังกล่าว พระเจนดุริยางค์ (ปิติ วาทยะกร) เป็นผู้ให้ทำนอง
๒. เพลงชาติ เนื้อร้องของ ขุนวิจิตรมาตรากับนายฉันท์ ขำวิไล ทำนองยังคงเป็นพระเจนดุริยางค์ เป็นผลงานซึ่งรัฐบาลประกาศให้มีการประกวดแต่งเพลงชาติขึ้นใหม่ พร้อมให้รางวัล
ประกาศเพลงชาติ

บัดนี้ คณะกรรมาธิการเพลงชาติได้รับรองทำนองเพลงของพระเจนดุริยางค์ และเนื้อร้องของขุนวิจิตรมาตรากับนายฉันท์ ขำวิไล ตามแบบที่แนบมานี้แล้ว จึงขอประกาศให้ทราบทั่วกันว่า รัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรับรองเพลงที่ว่านี้เป็นเพลงชาติอันจะพึงบรรเลงและร้องได้ในบรรดาโอกาสอันสมควร

ประกาศมา ณ วันที่ ๒๐ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๗๗
นายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา
นายกรัฐมนตรี

บทเพลงชาติ

แผ่นดินสยามนามประเทืองว่าเมืองทอง
ไทยเข้าครองตั้งประเทศเขตแดนสง่า
สืบเผ่าไทยดึกดำบรรพ์โบราณลงมา
รวมรักษาสามัคคีทวีไทย
บางสมัยศัตรูจู่โจมตี
ไทยพลีชีพร่วมรวมรุกไล่
เข้าลุยเลือดหมายมุ่งผดุงผะไท
สยามสมัยบุราณรอดตลอดมา
อันดินสยามคือว่าเนื้อของเชื้อไทย
น้ำรินไหลคือว่าเลือดของเชื้อข้า
เอกราชคือเจดีย์ที่เราบูชา
เราจะสามัคคีร่วมใจ
รักษาชาติประเทศเอกราชจงดี
ใครย่ำยีเราจะไม่ละให้
เอาเลือดล้างให้สิ้นแผ่นดินของไทย
สถาปนาสยามให้เทอดไทยไชโย
*
เหล่าเราทั้งหลายขอน้อมกายถวายชีวิต
รักษาสิทธิอิสระ ณ แดนสยาม
ที่พ่อแม่สู้ยอมม้วยด้วยพยายาม
ปราบเสี้ยนหนามให้พินาศสืบชาติมา
แม้ถึงไทยไทยด้อยจนย่อยยับ
ยังกู้กลับคงคืนได้ชื่นหน้า
ควรแก่นามงามสุดอยุธยา
นั้นมิใช่ว่าจะขัดสนหมดคนดี
เหล่าเราทั้งหลายเลือดและเนื้อเชื้อชาติไทย
มิให้ใครเข้าเหยียบย่ำขยำขยี้
ประคับประคองป้องสิทธิ์อิสระเสรี
เมื่อภัยมีช่วยกันจนวันตาย
จะสิ้นชีพไว้ชื่อลือลั่น
ว่าไทยมั่นรักชาติไม่ขาดสาย
มีไมตรีดียิ่งทั้งหญิงทั้งชาย
สยามมิวายผู้มุ่งหมายเชิดชัยไชโย

ถึงแม้ว่าจะมีเพลงชาติแล้วก็ตาม แต่การชักธงและประดับธงชาติตลอดจนการบรรเลงเพลงชาติ ยังไม่มีระเบียบแบบแผนกำหนดไว้ให้แน่นอน ต่อมาในเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๘ คณะรัฐมนตรีจึงได้ประชุมปรึกษาลงมติให้วางระเบียบการชักธงชาติขึ้น ดังมีข้อความปรารภในตอนต้นว่า

“โดยที่ธงชาติเป็นสิ่งหนึ่ง ซึ่งเป็นเครื่องเชิดชูของประเทศเอกราช และเป็นสิ่งเคารพของประชาชน ประเทศสยามก็มีธงประจำชาติอยู่แล้ว แต่ยังไม่มีระเบียบแน่ชัดในการชักธงให้เป็นการสม่ำเสมอทั่วกันทั้งประเทศ จึงสมควรจะวางระเบียบขึ้นไว้เป็นทางปฏิบัติโดยทั่วกัน”

อย่างไรก็ตามระเบียบดังกล่าวก็ยังเป็นปัญหาอยู่บ้างเกี่ยวกับสถานที่ก็มีข้อยกเว้น เช่น

“หากสถานที่ราชการของกระทรวงทบวงกรมต่างๆ ไม่เป็นสถานที่ที่สง่างาม เช่นเช่าห้องแถว หรือไม่มีเจ้าหน้าที่อยู่ประจำนอกเวลาทำงานสำหรับชักธงชาติ ขึ้นลงตามกำหนดเวลา ให้ยกเว้นการชักธงชาติได้” หลังจากวางระเบียบการชักธงแล้ว จึงได้วางระเบียบการบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมีและเพลงชาติ ให้ใช้ปฏิบัติตั้งแต่วันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๘ เป็นที่น่าสังเกตว่า หลังจากประกาศเนื้อเพลงชาติ แล้วปีเศษ จึงได้ออกระเบียบการบรรเลงเพลงชาติ ดังประกาศต่อไปนี้
ประกาศ
ระเบียบการบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมีและเพลงชาติ

โดยที่เห็นสมควรวางระเบียบการบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมีและเพลงชาติ คณะรัฐมนตรีจึงได้ปรึกษาลงมติด้วยความเห็นชอบของคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ให้ประกาศระเบียบการดังต่อไปนี้
๑. เพลงสรรเสริญพระบารมีและเพลงชาตินั้น มีแบบสังเขปและแบบพิสดารดั่งตัวอย่างที่สอบดูได้ ณ กรมศิลปากร
๒. โอกาสอันใดสมควรจะบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี และโอกาสอันใดสมควรจะบรรเลงเพลงชาตินั้น อาศัยหลักเกณฑ์ดั่งนี้ คือในกรณีใดที่มุ่งหมายจะถวายความเคารพแด่พระมหากษัตริย์เฉพาะพระองค์ก็ดี หรือ ในฐานที่ทรงเป็นประมุขแห่งชาติก็ดี สมควรบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมีและในกรณีที่มุ่งหมายจะแสดงความเคารพต่อชาติก็สมควรบรรเลงเพลงชาติ ทั้งนี้ภายใต้เงื่อนไขดั่งจะกล่าวต่อไป
๓. ในการพิธีซึ่งเสด็จพระราชดำเนินหรือมีกำหนดเสด็จพระราชดำเนิน หรือมีความมุ่งหมายที่จะถวายความเคารพแด่พระมหากษัตริย์นั้น โดยปกติสมควรบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมีแบบสังเขปแต่ถ้าเป็นพิธีใหญ่เช่นที่มีกำหนดให้แต่งเครื่องแบบเต็มยศ ก็สมควรบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมีแบบพิสดาร
ในการพิธีดังกล่าวแล้ว ถ้ามีความประสงค์จะแสดงความเคารพต่อชาติด้วย จะบรรเลงเพลงชาติด้วยก็ได้ ส่วนจะบรรเลงแบบสังเขปหรือแบบพิสดารนั้น ให้อนุโลมตามความในวรรคก่อน
๔. ในการพิธีอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับประชาชนนั้น โดยปกติสมควรบรรเลงเพลงชาติแบบสังเขป แต่ถ้าเป็นพิธีใหญ่ก็สมควรบรรเลงเพลงชาติแบบพิสดาร
๕. ในการสโมสรสันนิบาต ถ้าดื่มถวายพระพรพระมหากษัตริย์ก็สมควรบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี ถ้าดื่มเพื่อความเจริญของชาติและรัฐธรรมนูญก็สมควรบรรเลงเพลงชาติ
๖. ในการมหรสพ สมควรบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมีแบบสังเขป แต่ถ้ามีการแสดงเป็นพิธีใหญ่ก็สมควรบรรเลงแบบพิสดาร
๗. ระเบียบการนี้เกี่ยวกับการบรรเลง เพราะฉะนั้นถ้าจะมีการร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีหรือเพลงชาติแล้ว ก็ย่อมบรรเลงประกอบคำร้องจนสิ้นบทเพลง
๘. ในกรณีอื่น ๆ ที่มิได้บ่งไว้ในระเบียบการนี้ ให้นำข้อความในระเบียบการนี้มาใช้โดยอนุโลมทั้งนี้ให้เริ่มใช้ระเบียบนี้ตั้งแต่วันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๔๗๘ เป็นต้นไป

ประกาศมา ณ วันที่ ๔ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๔๗๘
พ.อ. พหลพลพยุหเสนา
นายกรัฐมนตรี

เพลงชาติตามที่กล่าวข้างต้นนั้นตามปกติก็ร้องเฉพาะ ๒ บทต้น (๑๖ วรรค) ซึ่งเป็นบทของขุนวิจิตรมาตรา ภายหลังได้มีผู้ปรารภถึงความยาวของเพลงชาติว่า “เมื่อพิจารณาเพลงประจำชาติของชาติต่าง ๆ จะเห็นได้ว่า ชาติที่สำคัญย่อมใช้เพลงสั้น แต่ชาติเล็ก ๆ น้อย ๆ มักใช้เพลงยาว ๆ จนชอบกล่าวกันในหมู่ผู้รู้เพลงประจำชาติต่าง ๆว่า ชาติยิ่งเล็กเพลงยิ่งยาวชาติยิ่งใหญ่เพลงยิ่งสั้น” และเห็นจะเป็นด้วยคติดังกล่าวนี้ก็ได้ ที่ในสมัยต่อมาเพลงชาติได้แต่ให้สั้นเหลือเพียง ๘ วรรคเท่านั้น
ต่อมาในปี ๒๔๘๒ ได้มีการเปลี่ยนชื่อประเทศจาก “สยาม”เป็น “ไทย” เนื้อร้องเพลงชาติแต่เดิมจึงต้องมีการเปลี่ยนแปลงตาม โดยรัฐบาลเห็นว่า เนื้อร้องเดิมยาวไปจึงมี “ประกาส” ประกวดเนื้อร้องเพลงชาติ ขึ้นใหม่เมื่อวันที่ ๒๖ สิงหาคม ๒๔๘๒ และผู้ที่ชนะการประกวดคือพันเอกหลวงสารานุประพันธ์ (นวล ปาจิณพยัคฆ์) ซึ่งแต่งเข้าประกวดในนามของกองทัพบก เมื่อตัดสินแล้วได้ออกเป็นรัฐนิยมดังนี้
ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี
ว่าด้วยรัฐนิยม ฉบับที่ ๖
เรื่อง ทำนองและเนื้อร้องเพลงชาติ

ด้วยรัฐบาลได้พิจารณาเห็นว่า ทำนองและเนื้อร้องเพลงชาติซึ่งได้ประกาศไว้ ณ วันที่ ๒๐ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๗๗ นั้น ทำนองเพลงเป็นที่นิยมแพร่หลายตามสมควรแล้ว แต่เนื้อร้องจะต้องมีใหม่ เพราะชื่อประเทศได้เรียกว่าประเทศไทยแล้ว จึงได้ประกาศให้ประชาชนเข้าประกวดแต่งมาใหม่ บัดนี้คณะกรรมการได้พิจารณาคัดเลือกเนื้อร้องบางบทเสนอให้คณะรัฐมนตรีวินิจฉัย คณะรัฐมนตรีได้ประชุมปรึกษาพิจารณาแล้วแล้ว ลงมติพร้อมกันตกลงตามบทเพลงของกองทัพบก โดยได้แก้ไขเล็กน้อย

จึงได้ประกาศเป็นรัฐนิยมไว้ดั่งต่อไปนี้
๑. ทำนองเพลงชาติ ให้ใช้ทำนองเพลงของพระเจนดุริยางค์ ตามแบบที่มีอยู่ ณ กรมศิลปากร
๒. เนื้อร้องเพลงชาติ ให้ใช้บทเพลงของกองทัพบก ดั่งต่อไปนี้

ประเทศไทยรวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย
เป็นประชารัฐไผทของไทยทุกส่วน
อยู่ดำรงคงไว้ได้ทั้งมวล
ด้วยไทยล้วนหมายรักสามัคคี
ไทยนี้รักสงบแต่ถึงรบไม่ขลาด
เอกราชจะไม่ให้ใครข่มขี่
สละเลือดทุกหยาดเป็นชาติพลี
เถลิงประเทศชาติไทยทวีมีชัย ชโย

ประกาศมา ณ วันที่ ๑๐ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๘๒
พิบูลสงคราม
นายกรัฐมนตรี

เนื้อร้องเพลงชาติใหม่นี้สั้นกว่าเพลงชาติแรกของขุนวิจิตรมาตราครึ่งหนึ่ง แต่ตามความเห็นของพระเจนดุริยางค์ผู้แต่งทำนองแล้วเห็นว่า “เนื้อใหม่นี้ไม่สู้จะสอดคล้องกับทำนองเท่าเทียมกับเนื้อร้องเดิม”

เนื่องจากรัฐมนตรีนิยมฉบับที่ ๑ เรื่องให้ใช้ชื่อประเทศ ประชาชนและสัญชาติว่า “ไทย” อันเป็นผลให้ต้องเปลี่ยนเพลงชาติดังได้กล่าวมาแล้ว แต่ยังมีเพลงสำคัญอีกเพลงหนึ่งคือเพลงสรรเสริญพระบารมีซึ่งแต่เดิมมีเนื้อร้องว่า
ข้าวรพุทธเจ้า
นบพระภูมิบาล
เอกบรมะจักริน
พระยศะยิ่งยง
ผลพระคุณธรักษา
ขอบันดาล
จงสฤษดิดัง
ดุจถวายชัย   เอามะโนและศิระกราน
บุญญะดิเรก
พระสยามินทร์
เย็นศิระเพราะพระบริบาล
ปวงประชาเป็นสุขสานต์
ธ ประสงค์ใด
หวังวรหฤทัย
ชโย

โดยเหตุที่มีคำว่า “พระสยามินทร์” อยู่ในเพลง รัฐบาลจึงแก้ไขบทเพลงออกมาอีกฉบับหนึ่งดังนี้

ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี
ว่าด้วยรัฐนิยม ฉบับที่ ๘
เรื่อง เพลงสรรเสริญพระบารมี

โดยเหตุที่ได้บัญญัติให้เรียกชื่อประเทศว่า ประเทศไทย รัฐบาลจึงเห็นควรแก้ไขบทเพลงสรรเสริญพระบารมี มิให้มีคำว่าสยาม และตัดทอนข้อความและทำนองให้กะทัดรัดเหมาะสมยิ่งขึ้น คณะรัฐมนตรีจึงลงมติเป็นเอกฉันท์ ให้ประกาศเป็นรัฐนิยม แก้ไขบทเพลงสรรเสริญพระบารมีแบบพิสดาร ให้มีข้อความดั่งต่อไปนี้

ข้าวรพุทธเจ้า
นบพระภูมิบาล
ขอบันดาล
จงสิทธิดัง
ดุจถวายชัย    เอามโนและศิระกาน
บรมกษัตริย์ไทย
ธ ประสงค์ใด
หวังวรหฤทัย
ชโย

ส่วนทำนองเพลงแบบสังเขปนี้ ให้คงไว้ตามเดิม

ประกาศมา ณ วันที่ ๒๖ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๘๓
พิบูลสงคราม
นายกรัฐมนตรี


" รู้สึกรักชาติกันบ้างหรือยังค่ะ "

แสดงความคิดเห็น

>

1 ความคิดเห็น