Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

รู้ไหมว่า สดับปกรณ์ สวดมาติกา คืออะไร

ตั้งกระทู้ใหม่
ตั้งกระทู้ใหม่

        
                       พระเมรุ 5 ยอด สมเด็จเจ้าฟ้าพาหุรัดมณีมัย (กรมพระเทพนารีรัตน์) 
                                และสมเด็จเจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ ณ ท้องสนามหลวง


จำได้ว่าใน งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพของสมเด็จย่า มีการถ่ายทอดพระราชพิธีทางทีวี ให้ประชาชนได้ชมกันทั่วประเทศ พระสงฆ์ได้รับนิมนต์มาสวดหน้าพระบรมศพ พิธีกรบอกผู้ชมผู้ฟังว่า พระสงฆ์จำนวนเท่านั้นเท่านี้ “สดับปกรณ์” แม้ใน งานพระราชพิธีพระศพของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ พระพิธีธรรมก็รับนิมนต์มา “สดับปกรณ์” เช่นกัน

หลายคนถามผมว่า “สดับปกรณ์” คืออะไร

คำว่า “สดับปกรณ์” มาจากคำเดิมว่า “สัตตัปปกรณ์” ซึ่งแยกเป็น สัตต (เจ็ด) + ปกรณ์ (คัมภีร์) รวมเป็น สัตตัปปกรณ์ แล้วก็กร่อนเป็น สดับปกรณ์

สดับปกรณ์ จึงหมายถึง อภิธรรม 7 คัมภีร์ คำนี้ความจริงเป็นคำนามใช้เรียก อภิธรรม 7 คัมภีร์ แต่เห็นใช้เป็นคำกริยาได้ด้วยว่า “พระสงฆ์สดับปกรณ์ (คือ สวดอภิธรรม 7 คัมภีร์)” และใช้เรียกผ้าบังสุกุลว่า “ผ้าสดับปกรณ์”

ถ้าเป็นงานศพสามัญชน เราเรียกการสวดแบบนี้ว่า “สวดมาติกา” ส่วนสดับปกรณ์ใช้เฉพาะกับงานพระราชทานเพลิงศพเจ้านายชั้นสูง ตั้งแต่หม่อมเจ้าขึ้นไป


อภิธรรม 7 คัมภีร์ ที่พระสงฆ์นำมาสวดนี้ ไม่ได้สวดหมดทั้ง 7 คัมภีร์ สวดเฉพาะ “หัวข้อ” หรือ “แม่บท” ของพระคัมภีร์ ซึ่งพระพุทธเจ้าตรัสสรุปใจความสั้นๆ อันเรียกว่า “มาติกา” (แม่บท, หัวข้อใหญ่)

7 คัมภีร์ที่ว่านี้คืออะไรบ้าง ถ้าไม่นำมาเล่าให้ฟังก็จะไม่เป็นบทความที่ครบถ้วน จึงต้อง “กัดฟัน” นำมาลงให้อ่าน (ที่ต้อง “กัดฟัน” ก็เพราะอภิธรรมนั้นเป็นพระไตรปิฎกส่วนที่ว่าด้วยเนื้อหาลึกซึ้ง อ่านไม่ค่อยจะเข้าใจ ยิ่งเป็นบท “มาติกา” สั้นๆ ด้วยแล้วยิ่งยากขึ้นอีกหลายเท่า)

อภิธรรม 7 คัมภีร์ คือ

1. ธัมมสังคณี รวบรวมหัวข้อธรรมต่างๆ ที่กระจัดกระจายอยู่ มาจัดเข้าเป็นกลุ่มๆ แล้วแยกออกอธิบายเป็นประเภทๆ

2. วิภังคะ แยกแยะหัวข้อธรรมที่รวมกันเป็นกลุ่มๆ ในข้อ 1 นั้นออก แสดงให้เห็นรายละเอียดโดยพิสดาร

3. ธาตุกถา จัดธรรมที่กล่าวไว้ในธัมมสังคณีและวิภังค์เข้าเป็น 3 ประเภท คือ ขันธ์ อายตนะ และธาตุ ว่าเข้ากันได้หรือไม่โดยชาติ สัญชาติ กิริยา และคณนา

4. ปุคคลบัญญัติ ว่าด้วยการบัญญัติเรียกบุคคลตามคุณธรรมหรือคุณสมบัติที่มีในบุคคลนั้น จัดเป็นพวกๆ และอธิบายให้เห็นลักษณะอาการของบุคคลที่บัญญัติเรียกอย่างนั้นๆ โดยชัดเจน 

5. กถาวัตถุ ว่าด้วยคำถามคำตอบแสดงทรรศนะที่ขัดแย้งกันของนิกายต่างๆ ในพระพุทธศาสนายุคแรกๆ (ในราวพุทธศตวรรษที่ 2-3) รวม 18 นิกาย แล้วชี้ให้เห็นว่าทรรศนะที่ถูกต้องเป็นอย่างไร รวมทั้งสิ้น 219 กถา คัมภีร์นี้เป็นนิพนธ์ของพระเถระรูปหนึ่งชื่อ พระโมคคลีบุตรติสสเถระ รจนาขึ้นเมื่อมีการสังคายนาครั้งที่ 3

6. ยมกะ ว่าด้วยการอธิบายธรรมเป็นคู่ๆ เช่นกุศลกับอกุศล เป็นต้น โดยวิธีตั้งคำถามคำตอบ

7. ปัฏฐาน อธิบายปัจจัย (เงื่อนไขทางธรรม) 24 อย่าง ว่าธรรมข้อใดเป็นปัจจัยของธรรมข้อใด โดยปัจจัยชื่ออะไร

คำสอนในอภิธรรมปิฎกมีเนื้อหาบรรจุในหนังสือถึง 12 เล่มใหญ่ ย่อความได้สั้นขนาดนี้ อ่านเข้าใจก็บุญแล้วครับ

มีคำถามอีกว่า ทำไมชาวพุทธจึงได้นำเอาอภิธรรม 7 คัมภีร์ มาใช้สวดในงานศพ ก็เห็นจะต้องเล่าถึงความเป็นมาของอภิธรรมสักเล็กน้อย ดังนี้ขอรับ

พระพุทธเจ้าหลังจากทรงประกาศพระศาสนา สั่งสอนประชาชนให้ได้ลิ้มรสพระธรรมเป็นจำนวนมากแล้ว ทรงหวนรำลึกว่า พระองค์ได้สงเคราะห์เวไนยสัตว์ทุกหมู่เหล่าแล้ว ยังเหลือแต่พระพุทธมารดาเท่านั้นที่มิได้รับรสพระธรรมจากพระองค์ เนื่องจากพระนางได้สิ้นพระชนม์ตั้งแต่พระพุทธองค์ยังทรงมีพระชนม์เพียง 7 วัน ด้วยพระประสงค์จะ “โปรด” พระพุทธมารดา ซึ่งขณะนั้นได้ไปบังเกิดเป็นเทพบุตรอยู่บนสวรรค์ชั้นดุสิต พระพุทธองค์จึงเสด็จขึ้นไปจำพรรษา ณ ดาวดึงส์สวรรค์ เหล่าเทพยดาอันมีท้าวสักกเทวราช หรือพระอินทร์เป็นประมุข ได้มาเฝ้าฟังธรรมจากพระพุทธองค์ตลอดเวลา 3 เดือน ที่พระองค์เสด็จประทับจำพรรษา

เทพบุตร อดีตพุทธมารดา ความจริงอยู่บนสวรรค์ชั้นสูงกว่า แต่ก็ลงมาร่วมฟังธรรมด้วย ว่ากันว่าธรรมที่พระองค์ทรงแสดงนั้น คือ อภิธรรม อันเป็นหลักธรรมที่ลึกซึ้ง

กล่าวถึงประชาชนทั้งหลาย เมื่อพระองค์ทรงหายไป ก็ถามไถ่พระสารีบุตร อัครสาวก พระสารีบุตรก็แจ้งให้ประชาชนทราบว่าพระองค์ประทับจำพรรษาอยู่ ณ ดาวดึงส์สวรรค์ ต่างก็ใคร่จะสดับธรรมจากพระองค์ดังที่เคยปฏิบัติ พระพุทธองค์ทรงทราบความประสงค์ของประชาชน จึงเสด็จลงมายังมนุษย์โลก ทรงแสดงอภิธรรม (ที่พระองค์ตรัสสอนเหล่าเทวดา) ให้พระสารีบุตรฟัง พระสารีบุตรก็นำไปถ่ายทอดให้ประชาชนฟังอีกต่อหนึ่ง

นี้คือเหตุผลที่ว่า ทำไมอภิธรรมที่ทรงแสดงแก่เทวดา มนุษย์จึงมีโอกาสได้รับรู้ และได้รับการบันทึกลงในคัมภีร์พระพุทธศาสนา (คือรู้จากพระสารีบุตรอีกต่อหนึ่งนั่นเอง)

เมื่อครบสามเดือนแล้ว พระองค์ก็เสด็จลงมายังโลก ณ เมืองสังกัสสะ ท่ามกลางประชาชนคอยเฝ้ารับเสด็จมากมาย ว่ากันว่า วันนี้เป็นวันที่พระพุทธองค์ทรงทำปาฏิหาริย์ “เปิดโลก” คือทรงบันดาลให้สัตว์โลกทุกหมู่เหล่าได้มองเห็นกัน บันดาลให้เทพ พรหม มนุษย์ สัตว์นรก อยู่ในมิติเดียวกัน สามารถมองเห็นกันหมด ยังกับอยู่ใกล้กัน

ชาวพุทธเรามีประเพณีทำบุญตักบาตรในวันคล้ายวันที่พระพุทธองค์เสด็จลงจากเทวโลกนี้ เรียกว่า “วันเทโวโรหณะ” (วันที่เสด็จลงจากเทวโลก) มาจนทุกวันนี้ บางวัด (อย่างวัดทองนพคุณ ที่ผมเคยบวชอยู่) จำลองสถานที่คล้ายกับสวรรค์ และมนุษย์โลกจริงๆ คือนิมนต์พระสงฆ์ขึ้นไปบนเขาที่บรรจุพระพุทธบาท สมมุติเป็นสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ขณะพระสงฆ์อุ้มบาตรเดินลงจากเขา ประชาชนที่ยืนรออยู่บนพื้นราบก็เตรียมใส่บาตรทีละรูปๆ ในใจก็นึกไปถึงเมื่อครั้งพระพุทธองค์เสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์เมื่อสองพันกว่าปีล่วงมาแล้ว

ฟังประวัติความเป็นมาแล้ว โยงได้ไหมครับ ว่าทำไมอภิธรรม 7 คัมภีร์ จึงเกี่ยวข้องกับคนตาย หรืองานศพ ไม่เกี่ยวก็ต้องอธิบายให้เกี่ยวจนได้สิน่า

พระพุทธองค์ทรงมีพระประสงค์จะ “โปรด” พระพุทธมารดาซึ่งได้สวรรคตไปเกิดในเทวโลก ได้ทรงแสดงอภิธรรม ซึ่งเป็น “ปรมัตถธรรม” (ธรรมชั้นสูง, ธรรมชั้นยอด) ชาวพุทธจึงดำเนินตามรอยพระยุคลบาท เมื่อต้องการจะให้ผู้ล่วงลับซึ่งเป็นผู้มีบุญคุณต่อตน เช่น บิดามารดา เป็นต้น ได้รับสิ่งที่ดีที่สุด ประเสริฐที่สุด จึงให้มีการสวดอภิธรรม 7 คัมภีร์

คติเทศน์อภิธรรมโปรดมารดานี้ สืบได้ว่า ถือมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย ดังพระยาลิไททรงพระราชนิพนธ์ “ไตรภูมิกถา” (ไตรภูมิพระร่วง) ก็เพื่อโปรดพระราชมารดาของพระองค์

ว่ากันอย่างนั้นนะครับ จริงเท็จอย่างไรผู้รู้ย่อมรู้เอง ผู้ไม่รู้ย่อมไม่รู้เป็นของธรรมดา (อยู่แล้ว) 


หนังสือพิมพ์มติชน รายวัน หน้า 6
คอลัมน์ รื่นร่มรมเยศ โดย เสฐียรพงษ์ วรรณปก
วันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 10935

แสดงความคิดเห็น

>

5 ความคิดเห็น

F21 18 พ.ย. 51 เวลา 18:17 น. 1

เครดิต ลุงเสฐียรพงษ์

ถือว่าถูกต้อง

แต่เราจะบอกว่า

ทั้งหมดคือ การสวด อภิธรรม ในงานศพ ของศาสนาพุทธ

จะมี 7 บท อย่างที่กล่าว

คำว่า&nbsp อภิธรรม คือ&nbsp อภิ = ยิ่งใหญ่&nbsp  ธรรม = ธรรม-มะ&nbsp ความจริง

รวมแล้ว คือ&nbsp ความจริงอันยิ่งใหญ่

ถ้าใครมะรุ้จัก&nbsp ลองนึก บทสวดที่ว่า กุศลาธรรมา อกุศลาธรรมา อ่ะ

ซึ่งบรรทัดนี้ แปลว่า&nbsp ความจริงที่เป็น กุศล และ ความจริงที่ไม่เป็นกุศล นั้นเอง

ใครว่างๆ ก็ เอา 7 บท นี้ไปแปล เป็นภาษาไทยดูจิ&nbsp แล้วจะเจอความจริงอันยิ่งใหญ่

ขอบอกว่า ดีมากๆๆ

0
ภาวิดา คำสัตย์ 17 พ.ย. 58 เวลา 10:10 น. 5

กุสะลา ธัมมา, ธรรมที่เป็นกุศล ก็มี
อะกุสะลา ธัมมา, ธรรมที่เป็นอกุศล ก็มี
อัพยากะตา ธัมมา, ธรรมไม่เป็นทั้งกุศลและอกุศลก็มี
สุขายะ เวทะนายะ สัมปะยุตตา ธัมมา, ธรรมที่ประกอบด้วยความรู้สึกเป็นสุขก็มี
ทุกขายะ เวทะนายะ สัมปะยุตตา ธัมมา, ธรรมที่ประ กอบด้วยความรู้สึกเป็นทุกข์ ก็มี
อะทุกขะมะสุขายะ เวทะนายะ สัมปะยุตตา ธัมมา, ธรรมที่ประกอบด้วยความ รู้สึกไม่สุขไม่ทุกข์ ก็มี

วิปากา ธัมมา, ธรรมที่เป็นผล ก็มี
วิปากะธัมมะ ธัมมา, ธรรมที่เป็นเหตุแห่งผล ก็มี
เนวะวิปากะนะวิปากะ ธัมมะ ธัมมา, ธรรมที่ทั้งไม่เป็นผลและไม่เป็นเหตุแห่งผล ก็มี
อุปาทิน นุปาทานิยา ธัมมา, ธรรมที่ถูกยึดมั่น และเป็นที่แห่งความยึดมั่น ก็มี
อะนุปาทินนุปาทานิยา ธัมมา, ธรรมที่ไม่ถูกยึดมั่น แต่เป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่น ก็มี
อะนุปาทินนานุปาทานิยาธัมมา, ธรรมที่ทั้งไม่ถูกยึดมั่นและไม่เป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่น ก็มี

สังกิลิฏฐะสังกิเลสิกา ธัมมา, ธรรมที่เศร้าหมองและเป็นที่ตั้งแห่งความเศร้าหมองได้ ก็มี
อะสังกิลิฏฐะสังกิเลสิกา ธัมมา,ธรรมที่ไม่เศร้าหมองแต่เป็นที่ตั้งแห่งความเศร้าหมองได้ ก็มี,
อะสังกิลิฏฐาสังกิเลสิกา ธัมมา, ธรรมที่ทั้งไม่เศร้าหมองและไม่เป็นที่ตั้งแห่งความเศร้าหมองได้ ก็มี
สะวิตักกะสะวิจารา ธัมมา, ธรรมที่มีวิตก คือความตรึกและมีวิจาร คือความตรอง ก็มี
อะวิตักกะวิจาระมัตตา ธัมมา, ธรรมที่ไม่มีทั้งวิตกมีแต่วิจาร ก็มี
อวิตักกาวิจารา ธัมมา, ธรรมที่ไม่มีทั้งวิตกและวิจาร ก็มี

ปีติสะหะคะตา ธัมมา, ธรรมที่เป็นไปพร้อมกับความเอิบอิ่มใจ ก็มี
สุขะสะหะคะตา ธัมมา, ธรรมที่เป็นไปพร้อมกับความสุขก็มี
อุเปกขาสะหะคะตา ธัมมา, ธรรมที่เป็นไปพร้อมกับความวางเฉยก็มี
ทัสสะเนนะปะหาตัพพา ธัมมา, ธรรมที่พึงละด้วยทัศนะก็มี
ภาวะนายะ ปะหาตัพพา ธัมมา, ธรรมที่พึงละด้วยภาวนาก็มี
เนวะ ทัสสะเนนะ นะ ภาวะนายะปะหาตัพพา ธัมมา, ธรรมที่ละไม่ได้ทั้งด้วยทัศนะ และด้วยภาวนา ก็มี
ทัสสะเนนะ ปะหาตัพพะเหตุกา ธัมมา, ธรรมมีสาเหตุที่พึงละด้วยทัศนะก็มี
ภาวะนายะ ปะหาตัพพะเหตุกา ธัมมา, ธรรมมีสาเหตุที่พึงละด้วยภาวนาก็มี
เนวะ ทัสสะเนนะ นะ ภาวะนายะ ปะหาตัพพะ เหตุกา ธัมมา, ธรรมมีสาเหตุที่ละมิได้ด้วยทัศนะและมิได้ด้วยภาวนาก็มี,

อาจะยะคามิโน ธัมมา, ธรรมที่นำไปสู่การสั่งสม ก็มี
อะปะจะยะคามิโน ธัมมา, ธรรมที่นำไปสู่ความปราศจากการสั่งสม ก็มี
เนวาจะยะคามิโน นาปะจะยะคามิโน ธัมมา, ธรรมที่ไม่นำไปทั้งสู่การสั่งสม และสู่ความปราศจากการสั่งสมก็มี,

เสกขา ธัมมา, ธรรมที่เป็นของอริยบุคคลผู้ยัง ต้องศึกษาอยู่ ก็มี
อะเสกขา ธัมมา, ธรรมที่เป็นของผู้บรรลุอรหัตผล ซึ่งไม่ต้องศึกษาแล้ว ก็มี,
เนวะเสกขา นาเสกขา ธัมมา, ธรรมที่ไม่เป็นทั้งของผู้ยังต้องศึกษาและผู้ไม่ต้องศึกษาก็มี

ปะริตตา ธัมมา, ธรรมที่ยังเล็กน้อย ก็มี
มะหัคคะตา ธัมมา, ธรรมที่ถึงภาวะใหญ่แล้วก็มี
อัปปะมาณา ธัมมา, ธรรมที่ประมาณมิได้ ก็มี
ปะริตตารัมมะณา ธัมมา, ธรรมที่มีสภาวะที่ยังเล็กน้อยเป็นอารมณ์ ก็มี
มะหัคคะตารัมมะณา ธัมมา, ธรรมที่มีสภาวะที่ถึงภาวะใหญ่แล้วเป็นอารมณ์ก็มี
อัปปะมาณารัมมะณา ธัมมา, ธรรมที่มีสภาวะอันประมาณมิได้เป็นอารมณ์ ก็มี
-นา ธัมมา, ธรรมอย่างทราม ก็มี
มัชฌิมา ธัมมา, ธรรมอย่างกลาง ก็มี
ปะณีตา ธัมมา, ธรรมอย่างประณีต ก็มี
มิจฉัตตะนิยะตา ธัมมา, ธรรมที่แน่นอน ฝ่ายผิดก็มี
สัมมัตตะนิยะตา ธัมมา, ธรรมที่แน่นอนฝ่ายถูก ก็มี
อะนิยะตา ธัมมา, ธรรมที่ไม่แน่นอน ก็มี
มัคคารัมมะณา ธัมมา, ธรรมที่มีมรรคเป็นอารมณ์ก็มี
มัคคะเหตุกา ธัมมา, ธรรมที่มีมรรคเป็นเหตุ ก็มี
มัคคาธิปะติโน ธัมมา, ธรรมที่มีมรรคเป็นประธานก็มี

อุปปันนา ธัมมา, ธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ก็มี
อะนุปปันนา ธัมมา, ธรรมที่ยังไม่เกิดขึ้น ก็มี
อุปปาทิโน ธัมมา, ธรรมที่จักเกิดขึ้น ก็มี
อะตีตา ธัมมา, ธรรมที่เป็นอดีต ก็มี
อะนาคะตา ธัมมา, ธรรมที่เป็นอนาคต ก็มี
ปัจจุปปันนา ธัมมา, ธรรมที่เป็นปัจจุบันก็มี
อะตีตา รัมมะณา ธัมมา, ธรรมที่มีอดีตเป็นอารมณ์ก็มี
อะนาคะตารัมมะณา ธัมมา,ธรรมที่มีอนาคตเป็นอารมณ์ก็มี
ปัจจุปปันนารัมมะณา ธัมมา, ธรรมที่มีปัจจุบันเป็นารมณ์ก็มี
อัชฌัตตา ธัมมา, ธรรมภายใน ก็มี
พะหิทธา ธัมมา, ธรรมภายนอก ก็มี
อัชฌัตตะพะหิทธา ธัมมา, ธรรมทั้งภายในและภายนอกก็มี
อัชฌัตตา รัมมะณา ธัมมา, ธรรมที่มีสภาวะภายในเป็นอารมณ์ ก็มี
พะหิทธา รัมมะณา ธัมมา, ธรรมที่มีสภาวะภายนอกเป็นอารมณ์ ก็มี
อัชฌัตตะพะหิทธา รัมมะณา ธัมมา, ธรรมที่มีสภาวะทั้งภายในและภายนอกเป็นอารมณ์ก็มี

สะนิทัสสะนะสัปปะฏิฆา ธัมมา, ธรรมที่เห็นได้และกระทบได้ ก็มี
อะนิทัสสะนะสัปปะฏิฆา ธัมมา, ธรรมที่เห็นไม่ได้ แต่กระทบได้ก็มี,
อะนิทัสสะนาป ปะฏิฆา ธัมมา, ธรรมทั้งที่เห็นไม่ได้และกระทบไม่ได้ ก็มี.

0