Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

[บทความ] ศิลปะในเนื้อแท้ หรือเป็นแค่ค่านิยมทางสังคม ?

ตั้งกระทู้ใหม่
ตั้งกระทู้ใหม่

ศิลปะในเนื้อแท้ หรือเป็นแค่ค่านิยมทางสังคม ?

 

เมื่อกล่าวถึงคำว่า ศิลปะ แท้จริงเป็นนามธรรมที่เกิดจากความรู้สึกและการถ่ายทอดออกมาด้วยอารมณ์สู่อารมณ์ จนเมื่อเกิดเป็นการปลูกฝัง ซึมซับหรือขั้นของการสร้างสูตรสำเร็จให้เป็นไปตามสิ่งที่เรียกว่า ศาสตร์แห่งศิลปะ คำว่าศิลปะดูเหมือนจะเปลี่ยนความหมายไปมากจากความหมายเดิม

 

หลายครั้งผมมักได้คำถามจากการที่ลงไปพบปะหรือแสดงความคิดเห็นในวงการศิลปะแขนงต่างๆอยู่เสมอ พูดถึงข้อดีในเนื้อแท้ของศิลปะย่อมไม่จำเป็นต้องอธิบายอะไรมากมาย เพราะทุกคนได้เห็นและรับรู้คุณค่ามามาก ไม่ว่าจะเป็นความงามของวัจนภาษาหรือสีสันในผลงานต่างๆที่หลากหลายมุมมอง รวมถึงทัศนคติอันดีงามที่ศิลปะได้มอบแง่คิดให้เราตีความไปต่างๆนานา

 

แต่ปัญหาอยู่ที่แนวความคิดอีกซีกส่วนของจิตใจซึ่งถ่ายทอดออกมาเป็นศาสตร์เพื่อโน้มน้าวให้เกิดแบบแผนในงานด้านต่างๆ จนบางครั้งดูเหมือนจะมากกว่าความสวยงามตามนามธรรมอันเลอเลิศในศิลปะแขนงนั้นๆเสียอีก

 

บางครั้งถ้าหยิบหนังสือเทคนิคของการลงสีในหนังสือสอนทำ CG (Computer Graphic) หรือไปหยิบหนังสือพื้นฐานการถ่ายรูปมา อาจจะเจอเรื่องตารางเก้าช่อง กฏสามส่วน เรื่องของส่วน (Perspective) รวมไปถึงส่วนประกอบ (Composition) หรือกฏของแม่สีและการใช้สีที่เป็นทฤษฎีซับซ้อนจนบางทีแอบหวั่นใจ ก่อนลงมือทำจริงๆเสียอีก

 

แต่มันก็ไม่ใช่สิ่งที่ไม่ดี ถ้าเรามีทฤษฎีที่ชัดเจนและระบุแน่ชัดเพื่ออ้างอิงผลงานในเชิงการวิจารณ์หรือใช้เป็นมาตรฐานเชิงพาณิชย์ ย่อมเกิดประโยชน์ และนั่นก็คือศิลปะมีศาสตร์ในแบบฉบับนัยสำคัญของตัวมันเอง ซึ่งหากจำเป็นต้องอยู่ร่วมกับมันก็ขาดเสียมิได้

 

แล้วถ้ามันล้ำเส้นคำว่าศิลป์เข้ามา จนกลายเป็นว่าคุณต้องย้ำคิดย้ำทำให้เห็นศาสตร์ก่อนที่จะกล้าเรียกตัวเองว่าศิลปิน ? ถ้าเช่นนั้นแล้ว เราจะเป็นผู้รู้ซึ้งถึงศิลปะในเนื้อแท้ หรือเป็นแค่พวกนิยมศาสตร์ของศิลปะเท่านั้น

 

ก็ในเมื่อ นามธรรมอย่างศิลปะ เราต้องใช้ใจ ใช้อารมณ์และความรู้สึกถ่ายทอดออกมาเป็นผลงานเอกลักษณ์ แล้วทำไมบางครั้งกลับถูกมหาชนหมู่มากที่นิยมในค่านิยมหรือแบบแผนตามตำรามากล่าวหาว่าไร้รสนิยมเล่า ? เพียงเพราะไม่มีชื่อเสียงหรืออาจไม่ได้เดินตามรูปธรรมของศิลปะที่มีใบประกาศนียบัตรเป็นตัวรับรองความสามารถ หรืออื่นใดที่จับต้องได้ด้วยกายหยาบเพื่อบ่งชี้ว่ามีฝีมือเกินใคร

 

บางครั้งเราอาจคิดในใจถึงความหมายที่แท้จริงของศิลปะ ไม่ว่าจะเป็นนิยามว่ามันคือสิ่งใดกันแน่ หรืออะไรคือมาตรวัดความมีคุณค่าในตัวงานของมัน เพราะแท้จริง ศิลปะกำหนดความสวยงามด้วยใจ ไม่ใช่ราคา ชื่อเสียงหรือค่านิยม  

 

แต่กลับเป็นว่า พอเปิดไปเห็นสื่อที่นำภาพขีดสีเป็นเส้นสายเลอะเทอะ แถมมีนักบริโภคศิลปะยอมจ่ายค่าตอบแทนในราคาสูงลิ่วเพื่อบ่งบอกถึงรสนิยม สิ่งเหล่านั้นย่อมมีนัยยะแอบแฝงแต่เราอาจเข้าไม่ถึง

 

พอหันไปถามใคร มีทั้งที่บอกว่าเรายังอาจเข้าไม่ถึงเลยไม่เข้าใจ หรืออาจเป็นนานาทัศนะที่ตอบกลับมาจนเราสับสนว่าแท้จริงรูปที่นักศิลปะมือใหม่ก็ทำได้หรืออาจจะทำได้ดีกว่านี้ เป็นศิลปะที่ลึกล้ำ คือกระบวนความคิดแอบแฝงใดที่ล้ำลึก

 

หากมองด้วยความคิดเชิงเปรียบเทียบ ก็เหมือนการตั้งคำถามแก่นักธุรกิจไฟแรงว่าที่ทำงานหาเงินมากมายเพื่ออะไร แล้วได้คำตอบว่า จะได้รวยจนมีเวลาว่างมานั่งตกปลาเหมือนอย่างที่ชาวไร่ในชนบทเขาชอบชวนกันไปทำกันเวลาว่างๆไง แล้วอย่างนี้จะเสียเวลาทำให้ตัวเองรวยมหาศาลไปทำไมเล่า ในเมื่อหากมีเงินพอมีพอกินก็ทำได้อย่างที่ตั้งปณิธานไว้แล้ว หรือยังมีนัยสำคัญใดที่เขายังมิได้บอกเรา ? หรือมันเป็นแค่ผลลัพธ์ที่ไม่ได้มีความหมายอะไร นอกเสียจากความรู้สึกก่อนที่จะบังเกิดเป็นผลลัพธ์นั้นๆ

 

หรือเนื้อแท้ของศาสตร์แห่งศิลป์ ก็คือการที่ทุกคนกำลังใส่ใจองค์ประกอบโดยรวมของผลงาน มากกว่าผลลัพธ์ของตัวผลงานเสียอีก

 

เช่นนั้นแล้ว ศิลปะในศาสตร์คืออะไรกันแน่ เป็นแบบแผนของการนำมาซึ่งผลลัพธ์อันเลอค่า หรือเป็นเพียงพรมปูทางไปจนกว่าจะมีอำนาจ สามารถใช้ความคิดของตนตัดสินว่าสิ่งใดคือศิลปะและสิ่งใดไม่ใช่ศิลปะ

 

ถ้างานเลอค่า มีมูลค่าเป็นเลขหลายหลักโดยศิลปินระดับปรมาจารย์ คือการวาดเส้นแม่สีขึ้นมาสามเส้นด้วยพลังการวาดตามถนัด แล้วแจ้งว่ารูปนี้คือทั้งหมดของสี คืออภินิหารแห่งสัจธรรม สีทั้งสามคือสีที่ครอบคลุมจักรวาลและนักศิลปะทั่วโลกก็ใหลหลง ยอมรับในมหัศจรรย์แห่งพลังของแม่สีนั้นอย่างสุดจิตสุดใจ

 

กับงานด้อยค่า มีมูลค่าแค่ให้ผ่านวิชาศิลปะโดยนักเรียนชั้นประถมหกของโรงเรียนแห่งหนึ่ง คือการวาดเส้นแม่สีขึ้นมาสามเส้นด้วยพลังการวาดตามถนัด แล้วแจ้งว่ารูปนี้คือแม่สีทั้งสาม ไม่มีอะไรมาก คุณครูสั่งให้กลับมาวาดเมื่อตอนเย็น ในหัวข้อ แม่สี

 

ผลงานสองผลงานในนัยสำคัญต่างกัน จุดประสงค์ต่างกัน แต่มันคืองานศิลปะเหมือนกัน... ถ้าวันหนึ่ง นักเรียนชั้นประถมหกของโรงเรียนแห่งหนึ่ง คนนั้นเติบโตเป็นปรมาจารย์ด้านภาพวาดสีน้ำ รูปที่เขาส่งอาจารย์เมื่อตอนเด็ก จะกลับมามีมูลค่าอาจทัดเทียมงานเลอค่าของ ศิลปินระดับปรมาจารย์ เลยก็ว่าได้

 

อย่างนี้แล้วในตัวศิลปะนั้นมีอะไรซ่อนอยู่ หรือเป็นเพียงกุศโลบายของมนุษย์ที่สรรสร้างความคิดเหล่านี้สอดแทรกเข้าไปในศาสตร์เพื่อหล่อหลอมให้คนในสังคมมองมันในรูปแบบเดียวกัน จนท้ายสุดสิ่งที่เรียกว่างานศิลป์ที่เราเห็นๆทุกวันนี้ เป็นงานศาสตร์ ไม่ใช่ ศิลปะอะไรทั้งนั้น หรืออาจเป็นความรู้สึกถึงศิลป์ที่หล่อหลอมด้วยศาสตร์เสียจนไม่มีใครคิดว่ามันคือศาสตร์หรือศิลป์อีกต่อไป

 

กลับมาถึงงานเชิงวัจนภาษา อักษรศาสตร์ที่เป็นศิลป์ภาษา ร้อยเรียงเป็นบทความให้อ่านแล้วคิดตามด้วยจินตนาการและความคิด ที่ต่างจากรูปหรือสีสันที่เป็นงานชั้นศิลปะเชิงอารมณ์ความรู้สึก

 

งานด้านตัวอักษรมีเสน่ห์ที่สื่อความหมายด้วยตัวของภาษานั้นๆอย่างตรงไปตรงมา และอาจสอดแทรกนัยสำคัญต่างๆไว้อย่างมีชั้นเชิง ซึ่งเป็นไปได้ว่าการตีความยิ่งหลากหลายแต่ท้ายสุดย่อมเป็นไปด้วยบรรทัดฐานทางภาษาที่มีขอบเขต

 

งานเขียนมีรูปแบบที่สวยงามตายตัวและเสน่ห์หลากหลาย สามารถเพิ่มมูลค่าเป็นที่ยอมรับด้วยการเข้าถึงของผู้อ่าน บทความหนึ่งอาจมีมูลค่าด้วยความหมายและการสื่อสารที่ส่งทอดออกมาเป็นตัวอักษร ซึ่งต่างจากงานศิลปะบางแขนงที่มูลค่าอยู่ที่ความซับซ้อนของความเป็นมามากว่าความสวยงามในตัวผลงานที่โดดเด่น และมูลค่าของมันรวมไว้ที่รายจ่ายเพียงครั้งเดียว...

 

เมื่อมองลงไปถึงเนื้อแท้ จุดมุ่งหมายของงานศิลปะย่อมเป็นไปตามความคิดของผู้รังสรรค์ผลงานขึ้นมาและมันมีคุณค่าในตัวของตัวมันเอง นักศิลปะบางคนวาดคุณค่าผลงานของตนจากเสียงตอบรับ จากมูลค่าที่ได้รับหรือจากความรู้สึกในเวลาช่วงหนึ่งที่มองลงไป จนอาจจะลืมเลือนความเป็นศิลป์ในผลงานนั้นไปอย่างน่าเสียดาย

 

ครั้งหนึ่งเราอาจหยิบกล้องถ่ายรูปขึ้นมาถ่ายครอบครัว เพื่อน แฟนหรือคนรอบข้างด้วยความสุขจากการที่เราได้ถ่ายภาพ แต่แล้วเมื่อถูกสังคมรอบตัวตีกรอบใหม่ๆให้เราเข้าใจในตัวงานต่างออกไป เราไปขวนขวายหาวัตถุนิยมมาเติมเต็มให้รูปหนึ่งรูปของเราเป็นศิลปะร่วมสมัย ในคุณค่าของงานทางด้านอาร์ตที่นักถ่ายภาพยอมรับ

 

ใบหน้าของครอบครัว เพื่อน แฟนหรือคนรอบข้าง อาจเปลี่ยนไป จากกำลังยิ้มอย่างมีความสุขอาจต้องมาเกร็งยิ้มให้เราถ่าย ในมุมที่จัดไว้ตรงตามตำราที่ซื้อมาด้วยความต้องการจะเข้าถึงศาสตร์แห่งการถ่ายรูป

 

ใช่ นั่นอาจเป็นศาสตร์แห่งการถ่ายรูป แต่ไม่ใช่ศิลปะโดยเนื้อแท้ รอยยิ้มของโมนาลิซ่าที่อาจฝืนยิ้มหรือความผิดพลาดของเชิงการวาดอาจเป็นที่กล่าวขานมานานนับร้อยนับพันปี รูปที่ญาติของเรายิ้มแบบฝืนธรรมชาติก็อาจเป็นรูปในตำนานสักวันหนึ่ง หากฝีมือของผู้ถ่ายภาพนั้น กระเดื่องเลืองลือไปไกลทั่วทุกทิศานุทิศ

 

เช่นนั้นแล้ว สิ่งใดคือศิลปะในเนื้อแท้ หรือค่านิยมทางสังคม จากศาสตร์ที่เขียนขึ้นจากประสบการณ์ของคนจำนวนมากผู้เป็นที่ยอมรับของสังคม ซึ่งรวบรวมความชอบระดับมาตรฐานของสังคม โดยเฉพาะกลุ่มสังคมที่เสพย์คุณค่าแรงบันดาลใจเหล่านี้เข้าไปเต็มสมอง ทะลุอกทะลวงใจมาตั้งแต่ครั้งที่เริ่มหยิบตำราศาสตร์มาอ่าน ก่อนที่จะค่อยๆลืมศิลป์ในผลงานที่กำลังถูกตีกรอบไว้ด้วยกระบวนความคิดซับซ้อน

 

การตีค่าคุณค่าศิลปะมีมาหลายยุคหลายสมัย และผู้ที่เปลี่ยนรสนิยมทางสังคมก็เกิดขึ้นอยู่ทุกยุคทุกสมัย ภาพวาดระดับสูงสุดของสังคมยุคหนึ่ง อาจกลายเป็นภาพวาดธรมดาในอีกยุคสมัย วรรณกรรมชั้นทองคำขาวของนักประพันธ์ที่ถูกยอมรับในยุคหลัง อาจมาจากงานประพันธ์เพื่อเลี้ยงปากท้องที่มีมูลค่าไม่มากในยุคๆหนึ่ง หรือแม้แต่รูปถ่ายธรรมดาๆอาจกลายเป็นรูปที่ถูกตีความหมายไปร้อยแปดพันเก้า ล้วนขึ้นอยู่ทึความคิดของมนุษย์

 

เพราะท้ายสุดสิ่งที่ยอมรับในศิลปะ หากนับกันอย่างแท้จริงแล้ว ในรูปธรรมที่จับต้องได้ เห็นจะมีเพียงมนุษย์เท่านั้นที่เป็นผู้บริโภคนามธรรมที่เรียกว่า ศิลปะ อย่างแท้จริง



/// บทความนี้อุทิศให้ความรู้สึกของผมในหลายๆครั้งที่ผ่านงานด้านศิลปะมาอย่างทุลักทุเลนะครับ
เพื่อนๆคนไหนคิดเห็นอย่างไร อยากเสนอแนวคิดสามารถแลกเปลี่ยนได้เต็มที่ครับ เพราะเห็นว่าน่าจะมีประโยชน์เพื่อก่อเกิดมุมมองในงานเชิงศิลปะ ที่มุกวันนี้มีหลายคนมองมันในลักษณะที่ต่างออกไปจากสิ่งที่เป็นศิลปะตามที่เคยรู้จักมา ... ///


PS.  http://emperorsss.deviantart.com http://emperorsss.multiply.com อ่านนิยาย N.E.W.ได้ที่หน้านิยาย http://my.dek-d.com/emperors/story/view.php?id=296721

แสดงความคิดเห็น

>

18 ความคิดเห็น

Demon-Er 3 พ.ค. 52 เวลา 20:55 น. 2

เพราะงี้สินะ ถึงว่าศิลปะไม่ต้องการการเข้าใจ...


PS.  เมื่อฟ้าสีทองผ่องอำไพ พวกเราจะได้เป็นใหญ่ในแผ่นดิน
0
จักรพรรดิ_หน่อง 3 พ.ค. 52 เวลา 21:11 น. 3
โอ้ว งานชิ้นนี้ได้แรงบันดาลใจจนเขียนยาวเหยียดเป็นบทความสั้นๆ
เพราะคุณ
Cliffon ส่วนหนึ่งนี่แหละครับ

ตอนแรกว่าจะมาบ่นๆเฉยๆ เขียนเป็นบทความเลยดีกว่า น่าจะเป็นคุณค่าทางใจด้วย


PS.  http://emperorsss.deviantart.com http://emperorsss.multiply.com อ่านนิยาย N.E.W.ได้ที่หน้านิยาย http://my.dek-d.com/emperors/story/view.php?id=296721
0
bob overlord 3 พ.ค. 52 เวลา 21:37 น. 4

ผมออกตัวก่อนนะครับ ว่าผมไม่มีความถนัดด้านอักษรศาสตร์ แต่กับการวาด ผมก็พอมีอยู่นิดหน่อย

ประเด็นที่ท่านต้องการจะบอกคือ คุณค่าทางศิลปะที่ควรจะเป็นไป น่าจะชี้วัดด้วย "เนื้อใน" มากกว่าค่านิยม รสนิยม และทฤษฎีศิลป์ต่าง ๆ สินะครับ เพื่อว่า ผมไม่ได้เข้าใจอะไรผิดไป

ผมเข้าใจว่า "เนื้อใน" ที่ท่านพูดถึง คือการถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึก ความประทับใจ และจิตวิญญาณของผู้สรา้งสรรค์งานสินะครับ แต่เอาเข้าจริง ผมมองไม่ค่อยออกหรอกครับ ว่างานแบบไหนมีเนื้อในแบบนั้น เพราะมันเป็นนามธรรมเกินไป

ทฤษฎีศิลป์นี่ ผมว่ามันมีคุณค่าในฐานะที่ "เป็นสามัญสำนึกทางความงามของคนส่วนใหญ่" อ่ะครับ เช่น ทฤษฎีสี ก็จะบอกเราว่า ลงสีแบบนี้จะมันกลืนกันสวยดี ลงสีแบบนี้แล้วมันแจ๋น นี่แหละครับ เหตุผลที่มีทฤษฎีศิลป์ขึ้นมา พูดตรง ๆ นะครับ งานศิลปะที่วาดแบบเขี่ย ๆ ส่ง ๆ แต่ออกมาสวยน่ะ นอกจากอัจฉริยภาพแล้ว มันจำเป็นต้องมีการฝึกฝนนับไม่ถ้วน และการเข้าใจ "หลักการในความงาม" อยู่ดี คนที่ไม่ได้ฝึกฝน วาดให้สวยได้ยากครับ ต่อให้บอกว่าทุ่มจิตวิญญาณไปแค่ไหนก็เถอะ

ผมเห็นคนหลายคนที่มีอารมณ์ทางศิลปะที่สูงส่ง แต่ไม่สามารถสรา้้งสรรค์งานศิลปะได้ดี แบบนั้นแหละครับที่ผมต้องการสื่อ

ถ้าเราทุ่มเทความพยายามทั้งหมดไปที่งานศิลปะจริง ๆ เราต้องฝึกฝนงานศิลปะ เราต้องสนใจงานศิลปะ เราต้องศึกษาหลักการว่าวาดยังไงให้งาม พูด ๆ ง่ายคือ สำหรับผมคือ ทฤษฎีศิลป์ สามารถบ่งบอกจิตวิญญาณของคนวาดได้ครับ

ส่วนรสนิยม ผมเข้าใจครับว่าภาพหลายภาพ สวยงามเพียงฉาบฉวยเพราะยึดในรสนิยมและความต้องการคนหมู่มาก แต่เราสามารถคิดในมุมกลับได้ครับ ว่าการสนใจรสนิยม ๆ หนึ่ง และวาดตามรสนิยมนั้น ถือเป็น Impressionism อย่างนึง ก็เราประทับใจในรสนิยมนี้นี่ ? เราก็ต้องอยากวาดตามรสนิยมนั้นเป็นธรรมดา ผลลัพท์ที่ได้คือ ภาพวาดนั้น จะมีความประทับใจที่เราต้องการถ่ายทอดลงไปด้วย

หรือคิดอีกแง่ ศิลปินหลายคนถือว่าเขาวาดภาพในสังคมได้เสพ ไม่ใช่เขาเสพคนเดียว ฉะนั้น เขาต้องวาดในสิ่งที่สังคม ที่ผู้คนต้องการ การคำนึงถึงอารมณ์ความรู้สึกผู้อื่นนั้น ก็มีค่าพอที่จะเป็นจิตวิญญาณหรือไม่ ? โดยสรุปคือ รสนิยม ค่านิยมทั้งหลายนั้น ในความคิดผม ก็สามารถสื่อถึงจิตวิญญาณและคุณค่าของงานศิลปะได้เช่นกัน

โดยสรุปแล้ว คุณค่าของงานศิลป์ในความคิดของผม ต้องประกอบองค์ประกอบดังต่อไปนี้
1.ความพยายาม โดยแสดงออกมาในรูปของ ความประณีตละเอียดอ่อน แม่นยำ และอิงตามองค์ประกอบ/ทฤษฎีศิลป์ (เพราะต้องศึกษามาดี)
2.ความคิดสรา้งสรรค์ อารมณ์ความรู้สึก และทัศนคติที่ผู้สรา้งสรรค์ต้องการสื่อให้ผู้เสพ และสังคมรับรู้
3.การคำนึงถึงผู้เสพและสังคม ไม่ยัดเยียดความคิดของตนให้ผู้อื่นแต่เพียงฝ่ายเดียว นั่นคือ ต้องอิงตามรสนิยมและค่านิยมของผู้เสพด้วย

ปล. ขอเสริมอีกข้อครับ รุ่นพี่ผมที่ไร้สาระนุกรม เคยสอนผมไว้ว่า "จงทำตัวเฉกเช่นไม้ไผ่ อันเอนอ่อนไปตามลม แต่ยังมีจุดยืนเป็นของตัวเอง" นี่แหละครับ งานศิลปะที่ยอดเยี่ยม

แก้ไขครั้งที่ 1 เมื่อ 3 พฤษภาคม 2552 / 21:50


PS.  โอ เจ้าจักรวาลผู้สร้างโลก แม้นความโศกท่านมิอาจขจัดได้ ถึงจักมีเดชาฤทธาลัย ธ ยังย่อมอยู่ในวงเวียนกรรม [bob overlord]
0
สมิิงเดียวดาย 3 พ.ค. 52 เวลา 22:46 น. 7

ศิลปะเหรอ...บางทีคนเราจะใส่กฏเกณฑ์ให้มันมากไปรึเปล่า ผมเห็นด้วยอย่างนึงนะที่ว่า ศิลปะย่อมเปลี่ยนไปตามยุคสมัย งานระดับเทพในยุคนี้ อาจจะเป้นงานธรรมดาในยุคหน้า ในแต่ละยุคมันมีอะไรที่ไม่เหมือนกัน ในยุคของทุนนิยมแบบนี้ งานศิลปะมันเลี้ยงวิญญาณอย่างเดียวไม่ได้หรอก อดตาย เราจำเป็นต้องสร้างงานออกมาให้สังคมยอมรับด้วย เพราะงั้น การตามประแสสังคม ผมว่าจึงไม่ผิด งานศิลปะ จะเป็นศิลปะรึเปล่า มันอยู่ที่เจตนา เจตนาให้เป็น มันก็เป้นวันยังค่ำ ต่อให้มันจะพูดมองว่า เป็นงานที่ทำออกมาตามกระแสตลาด แต่มันก็คืองานศิลปะอยู่นี่ เพราะศิลปิน เขาอยากให้มันออกมาเป็น ศิลปะ คนเราแข็งเกินไปไม่ได้หรอก ในเมื่อยุคทุนนิยมแบบนี้ ตลาดคืออะไรที่หล่อเลี้ยงชีวิตของศิลปิน ศิลปินก็ต้องทำเพื่อความอยู่รอดของตัวเองต่อไป 

ผู้ที่แข็งแกร่งที่สุดในธรรมชาติ ไม่ใช่ผู้ที่เก่งกาจที่สุด แต่คือผู้ที่ ปรับตัวได้ต่างหาก

ดูแมลงสาบสิ เมื่อไม่รู้กี่ล้านปีมาแล้วมันกินอะไรก็ไม่รุ้ รู้แต่ว่าทุกวันนี้มันย่องเบาเข้ามาตอดของกินในครัวได้ มันไม่เห็นจะมานั่งสนใจเลยว่า "ไม่ใช่อาหารที่เรากินมาเมื่อ พันล้านปีที่แล้ว เราไม่กิน"

ถ้าหากจะรักษาศิลปะให้ยั่งยืน ก็ควรจะปล่อยให้มันเป้นไปตามยุคสมัยเถอะครับ ถ้ายุคสมัยนี้เขาต้องการความเป็นศาสตร์ เราก็ต้องเอาศาสตร์เข้าไป ถ้าเรายังแข็งขัน ดื้อด้าน ทีนี้ล่ะคำว่า ศิลปะ สูญพันธุ์ จริงๆแน่

0
– หุ่ น ไ ล่ ก า – 4 พ.ค. 52 เวลา 00:14 น. 8

ผมไม่เข้าใจในความหมายของศิลปะหรอกนะครับ บอกตรง ๆ 

แต่ก็เคยสงสัยเช่นกัน ว่า ศิลปะ มันคืออะไรกันแน่ เราใช้สิ่งไหนวัดว่าภาพไหนสวย ภาพไหนดูดี

มันก็ออกมาจากสามัญสำนึกของคนเราทั้งสิ้น  และมุมมองของคนเราก็ต่างกันไป


PS.  "เงิน ทำให้ฉันมีทุกอย่าง ฉันจึงทำทุกอย่างเพื่อเงิน และใช้เงินซื้อทุกอย่าง แม้กระทั่ง ความรัก"
0
zp34k 4 พ.ค. 52 เวลา 01:24 น. 9

ผมว่า

เพราะปัจจุบัน ส่วนใหญ่สุดๆ

มันอยู่ในรูป pop art ไงล่ะ


PS.  You are so Cute with out an 'E'
0
จักรพรรดิ_หน่อง 4 พ.ค. 52 เวลา 12:17 น. 10
คอบ bob overlord  

ผมก็คิดทำนองนั้นแหละครับ ซึ่งที่กล่าวมาก็คือเนื้อในของศิลปะนะ
แต่ที่ผมจะอธิบาย กำลังมองถึง ค่านิยมจากวัตถุนิยมที่ส่งผลโดยตรงกับงานศิลปะ

เช่น รูปภาพที่มาจากกล้องระดับสุดยอด ย่อมดีกว่า รูปจากกล้องราคาถูกเสมอ
หรือ คุณค่าศิลปะวัดจากระดับชื่อเสียงของผู้สร้างสรรคืผลงาน

ทฤษฎีศิลป์เป็นเรื่องที่ผมยอมรับ เพราะผมก็อ่านและศึกษามาพอสมควร
ไม่ได้ทดทิ้งความรู้เลย และบทความนี้ ไม่ได้เป็นปรปักษ์กับศาสตร์ใดๆ

แต่กำลังจะสื่อว่า เกิดค่านิยมบางอย่างกับงานศิลปะ จนบางครั้งงานศิลปะกำลังถูกกลืนด้วย
รูปธรรมที่บังคับให้นามธรรมเสียสมดุลในตัวของตัวมันเอง

ผมชอบความคิดเห็นของคุณนะ เพราะมันก็คือหนึ่งในสิ่งที่ผมอธิบาย
คุณคือคนที่สนใจในเนื้อแท้ของงานศิลปะคนหนึ่ง และมันก็ไม่ได้ไปไหนไกลจากที่ผมร่ายมาจนเป็นบทความ

แต่แรงจูงใจที่ผมได้รับมาก่อนที่จะเขียนบทความนี้น่ะสิ ... มันทำให้ผมรู้สึกอยากเขียนบทความนี้ขึ้นมา
และแน่นอน ผมเองแรกเริ่มจะทำอะไร ไม่ได้มองข้ามศาสตร์เลย และอาจจะเน้นหนักเสียด้วยซ้ำ
ซึ่งคุณค่าของงานต่างๆ ออกมาต้องมีศาสตร์และศิลป์กำกับไว้อย่างลงตัว ไม่ใช่ ไปบังคับฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเกินไป

คุณจะรู้สึกอย่างไร ถ้าวันหนึ่งคุณวาดรูปขึ้นมาหนึ่งรุป แล้วถูกนักวิจารณ์บอกว่า 
โอย Resource ห่วยแบบนี้ ผมไม่วิจารณ์นะ กลับไปทำมาใหม่เหอะ ใช้ของดีๆหน่อยแล้วมาคุยกันใหม่ ...
แล้ววันต่อมา ก็มีศิลปินสาวแสนสวยมาลงอะไรที่คล้ายๆงานคุณ แต่ถูกชมเป็นเทน้ำเทท่า

แบบนี้คือ ศิลปะ หรือ ? 

คือง่ายๆ ผมแค่อยากจะพูดถึงความสมดุลในงานหนึ่งชิ้นว่า มันมีคุณค่าของมันเองได้หลายรุปแบบ
งานบางชิ้นสื่อที่ความหมาย งานบางชิ้นสื่อที่ศาสตร์ที่ทำมันขึ้นมา หรือ อาจจะเป็นศิลป์ที่เหลือล้ำ

และมันก็เหมือนกับ คห. ของคุณนั่นแหละครับ เพราะผมก็เองก็มีเพื่อนอยู่วงการศิลปะหลายแขนงนะ
ได้ฟัง ได้คิดตามมามาก มองด้านดี บทความนี้เขียนไว้ไม่มาก เน้นเขียนมุมมองด้านไม่ค่อยดีเท่าไรนัก

ท้ายสุด กลัวไม่มีคนมาอ่านแล้ว ... "จงทำตัวเฉกเช่นไม้ไผ่ อันเอนอ่อนไปตามลม แต่ยังมีจุดยืนเป็นของตัวเอง"
ประโยคนี้ผมอ่านมาเมื่อนานมาแล้ว และก็เชื่อตามมาตลอด ผมถึงมีเพื่อนเยอะ และได้มุมมองมากมาย
ในชีวิตจริง ผมเป็นคนหนึ่งที่เข้ากับคนได้ง่าย และดูดซับความรุ้มาหลาหลาย และเห็นว่า ประโยคนี้สำคัญมาก

ผมจึงการันตีได้เลยว่า สิ่งที่คุณ bob overlord กล่าวมานั้นเป็นทิศทางเดียวกับที่ผมอธิบาย



PS.  http://emperorsss.deviantart.com http://emperorsss.multiply.com อ่านนิยาย N.E.W.ได้ที่หน้านิยาย http://my.dek-d.com/emperors/story/view.php?id=296721
0
จักรพรรดิ_หน่อง 4 พ.ค. 52 เวลา 12:20 น. 11
ประเด็น วรรณกรรมโลกออนไลน์ 
ศิลปศาสตร์เชิงอิสระหรือกลยุทธ์ทางการตลาด (ฉบับแก้ไข)

โดย Emperorsss 

http://www.dek-d.com/board/view.php?id=1162784


ว่าแล้วก็ขอเอาบทความเก่าที่สร้างสรรค์ไว้ เมื่อหลายเดือนก่อนมา ให้อ่านนะครับ
สำหรับหลายๆคนที่อ่านบทความนี้แล้ว อาจจะคลุมเครือ ...


PS.  http://emperorsss.deviantart.com http://emperorsss.multiply.com อ่านนิยาย N.E.W.ได้ที่หน้านิยาย http://my.dek-d.com/emperors/story/view.php?id=296721
0
จักรพรรดิ_หน่อง 4 พ.ค. 52 เวลา 12:31 น. 12
ตอบ สมิิงเดียวดาย

ผู้ที่แข็งแกร่งที่สุดในธรรมชาติ ไม่ใช่ผู้ที่เก่งกาจที่สุด แต่คือผู้ที่ ปรับตัวได้ต่างหาก

ดูแมลงสาบสิ เมื่อไม่รู้กี่ล้านปีมาแล้วมันกินอะไรก็ไม่รุ้ รู้แต่ว่าทุกวันนี้มันย่องเบาเข้ามาตอดของกินในครัวได้ 
มันไม่เห็นจะมานั่งสนใจเลยว่า "ไม่ใช่อาหารที่เรากินมาเมื่อ พันล้านปีที่แล้ว เราไม่กิน" 

นี่ก็อีกความคิดเห็นที่เยี่ยมมาก ผมเคยอ่านบทความหนึ่ง เขาเขียนว่า ... จงใช้ชีวิตเยี่ยงแมลงสาบ
และดูไดโนเสาร์เป็น อุทาหรณ์ ... ไดโนเสาร์ที่ยิ่งยง ก็เหมือน ความเรืองรองของศลิปะในยุคนั้น
พอเปลี่ยนยุคก็วูบดับไป ไม่เหมือนศิลปะประยุกต์ที่อยู่ยุคไหนก็อยู่ได้ไม่อดตาย

กล่าวคือ ตามหลักที่ผมเคยกล่าวไว้ เรื่อง อนุรักษ์นิยม กับ โพสต์โมเดิร์น
ก็ย่อมมีคุณค่าในตนเองแตกต่างกัน แล้วแต่ที่เราจะเลือกเดิน

บทความล่าสุด ศิลปะในเนื้อแท้ หรือเป็นแค่ค่านิยมทางสังคม ?
ไม่ได้กล่าวถึงศิลปะที่ทำเพื่อตนเองหรือเพื่อการยอมรับของสังคม

แต่กำลังแฝงความคิดที่ว่า การจะตัดสินความสวยงามของศิลปะนั้น
อาจเกิดเพราะความชอบทางศิลปะ หรือ ค่านิยมในสังคมบางกลุ่ม
ที่กำลังจะตีกรอบให้ศิลปะมีวงแคบลง ... และแน่นอน บทความนี้เอนเอียงไปทาง รสนิยมในศิลปะทางอารมณ์

ผมเองก็ต้องยอมรับก่อนว่า ทำงานแบบที่มีทั้งอารมรืร่วมทางศิลปะ และ งานที่ทำเพื่อค่านิยมทางสังคมก็มีมาก
อย่างถ่ายรูปรับปริญญา หรือ ทำโลโก้ ออกแบบเสื้อ มันก็ต้องเป็นไปตามความต้องการหมู่มาก ...

และนั่นคือประสบการณ์ในมุมมองที่เขียนออกมาในด้านหนึ่ง ซึ่งบางครั้งการตีความอาจเป็นไปได้หลายแบบ
วึ่งผมก้ไม่ทันคิดเลยจริงๆว่า อาจจะมีคนเข้าใจบทความของผม ผิดไปนิดหน่อยหรือค่อนข้างมาก

เอาเป็นว่า ทั้งคุณ Bob และ สมิงเดียวดาย กล่าวได้ดี และผมเองก็ยอมรับ เพราะสิ่งที่พวกคุณกล่าวมา
ก้เป้นสิ่งที่ผมใช้ในชีวิตประจำวันอยู่ตลอด ไม่ได้ ดื้อด้านต้านทานแรงสังคมใดเลย
และประยุกตืใหสงคม กลืนและยอมรับ อัตลักษณ์ของผมเข้าไปด้วยเท่านั้นเอง

PS.  http://emperorsss.deviantart.com http://emperorsss.multiply.com อ่านนิยาย N.E.W.ได้ที่หน้านิยาย http://my.dek-d.com/emperors/story/view.php?id=296721
0
spock 4 พ.ค. 52 เวลา 12:39 น. 13

โอ้ ประเด็นยาว เดี๋ยวขออ่านแล้วมาตอบอีกรอบนะ


PS.   และแล้วก็หมดเทศกาลสงกรานต์ เริ่มทำงานทำการกันต่อไป
0
bob overlord 4 พ.ค. 52 เวลา 14:55 น. 14

อืม จากที่ท่านยกตัวอย่างมา ในความคิดผม นักวิจารณ์เหล่านั้นใช้เพียงแต่รสนิยมและค่านิยมตนในการตัดสินงานเพียงอย่างเดียว ไม่มองถึงความพยายามของผู้สร้างสรรค์งานนั้น ๆ เลย ถ้าเป็นผม ผมคงจะเรียกสิ่งนั้นว่า "อคติ" ซะมากกว่า ซึ่งส่วนตัวผมคิดว่านักวิจารณ์ไม่สมควรมีอคติ แต่ในโลกความจริงเราก็รู้ ๆ กันอยู่ล่ะนะ ไม่มีใครหนีพ้นซักที

อย่างที่ท่านบอกครับ ผมเห็นคนหลายคนตัดสินคุณค่างานศิลป์ผ่านรสนิยมของตัวเองมากเกินไป (ผมเคยเจอนักวาดที่มีฝีมือคนนึง เขาบอกตรง ๆ เลยว่า เกลียดภาพวาดที่มีรูปผู้หญิงอยู่ - -" ถึงเจ้าตัวก็เป็นหญิงเหมือนกันก็เถอะ แต่ผมเองก็เปลี่ยนใจเขาไม่ได้ง่าย ๆ หรอก) ผมเองก็คิดเหมือนท่านครับว่ามันจะทำให้กรอบศิลปะแคบลงอย่างมาก โดยเฉพาะพวกหน้าตาศิลปินกับพวกราคาอุปกรณ์ทั้งหลายแหล่ มันไม่ได้เกี่ยวอะไรกับคุณค่าของผลงานเลย (แอบประชดพวกนักร้องศัลยกรรมพลาสติก)

ในทางตรงกันข้าม ผมรู้จีักเพื่อนคนนึงที่ขึ้นไปบนสะพานลอย มองรถที่ขับผ่านไปมาจากด้านบนสะพานนานอยู่ครึ่งชั่วโมง แล้วบอกว่าสวยงามอ่ะครับ เจอแบบนั้น ผมเองก็คงคิดว่า คนส่วนใหญ่ไม่คิดตามแบบนั้นแน่ ๆ -_-" การคิดแหวกแนวนั้น ผมคิดว่าเป็นอะไรที่เจ๋ง แต่กับสายตา (ชาวไทย) ส่วนใหญ่ ไม่ได้คิดแบบนั้น

ในทางอุดมคติ ผมคิดว่า คุณค่าของศิลปะ ควรวัดจากที่ผลงานทางศิลป์อย่างเดียว ที่ผมกล่าวไว้ใน คห. ก่อน แต่ในความเป็นจริง ก็มีปัจจัยอื่น ๆ มาเกี่ยวข้องตลอด (ซึ่งจะกลายเป็นกลยุทธ์ทางการตลาดไป) แล้วผมก็คิดว่า อคติจะทำให้อะไร ๆ มันเลวร้ายลง

โดยสรุปคือ อย่างที่ท่านบอกแหละครับ บางคนใช้อคติส่วนตัวมากเกินไป มองข้ามความพยายามและจุดมุ่งหมายที่ศิลปินต้องการจะสื่อ แต่ผมแก้ไขอะไรไม่ได้หรอกครับ นักวิจารณ์พวกนี้ ผมคิดว่าเขาอาจเป็นศิลปินที่ดี แต่ไม่ได้หมายความว่า จะเป็นนักวิจารณ์ที่ดีด้วยนี่นา (เหมือน ดร. หลายคนที่มีความรู้แน่น แต่ถ่ายทอดไม่เก่งเอาซะเลย)


PS.  โอ เจ้าจักรวาลผู้สร้างโลก แม้นความโศกท่านมิอาจขจัดได้ ถึงจักมีเดชาฤทธาลัย ธ ยังย่อมอยู่ในวงเวียนกรรม [bob overlord]
0
จักรพรรดิ_หน่อง 4 พ.ค. 52 เวลา 16:22 น. 15

ครับอย่างที่ คุณ&nbsp bob overlord กล่าวมานั่นแหละครับ

อคติ บางที่ก็ปิดกั้นความอิสระของศิลปะให้มีกรอบแคบลง
ในเรื่องของค่านิยมที่กลายเป็นว่าปลูกฝังกันอย่างจริงจังในวงการบางวงการ
ทำให้ภาพรวมของศิลปะแขนงนั้นๆ ปิดกั้นเรื่องบางเรื่องไปอย่างน่าเสียดาย

บางครั้ง การก้าวเดินเข้ามาพบ แล้วเจอเรื่องที่สะเทือนใจ กลับทำให้
การมองในมุมกว้างเสียสมดุลไปในทันที

และท้ายสุดเมื่อกลับมานั่งคิดนอนคิด เราก็จะเข้าใจได้เอง
ว่าแท้จริงศิลปะมีความหลากหลายและสร้างสรรค์ได้ไม่สิ้นสุด
โดยไม่จำเป็นต้องตีกรอบมากเกินไป แต่ก็ความมีแนวทางที่บ่งบอก
ถึงอัตลักษณ์ในตัวของศิลปินนั้นอยู่ครับ

ขอบคุณที่เข้ามาแสดงความคิดเห็นอีกครั้งครับ


PS.  http://emperorsss.deviantart.com http://emperorsss.multiply.com อ่านนิยาย N.E.W.ได้ที่หน้านิยาย http://my.dek-d.com/emperors/story/view.php?id=296721
0
สมิิงเดียวดาย 4 พ.ค. 52 เวลา 20:00 น. 16

แหม ต้องขอโทษจริงๆนา ที่เข้าใจอะไรผิดไปจากเจตนาเอามากๆเลย สงสัยผมยังขาดคำว่า "วิจักษ์" อยู่ ยังได้แต่ "วิจารย์ และออกความคิดเห็น" ถ้าขัดเคืองใจอะไรก็อย่าโกรธกันนา แค่พูดไปตามความรู้สึก

0
จักรพรรดิ_หน่อง 4 พ.ค. 52 เวลา 20:21 น. 17

ไม่ได้เคืองเลยครับ แค่แปลกใจว่า เอ เราเขียนไม่เคลียร์หรือเปล่า

อาจจะเป็นเพราะไม่ได้สื่อเจตนาออกมาชัดๆแบบ คห. ที่ตอบคุณ Bob และ สมิง
จึงทำให้ความหมายอาจคาดเคลื่อนไป ยังไงน่า่จะเข้าใจตรงกันมากขึ้นนะครับ

ถือว่าเป็น อีกบทความที่น่าสนใจทีเดียว เหอๆๆ


PS.  http://emperorsss.deviantart.com http://emperorsss.multiply.com อ่านนิยาย N.E.W.ได้ที่หน้านิยาย http://my.dek-d.com/emperors/story/view.php?id=296721
0
Deta 5 พ.ค. 52 เวลา 19:33 น. 18

ถ้าที่เห็นในปัจจุบันนี้ส่วนใหญ่ เรียกมันว่า "ค่านิยม" จะดีกว่า
เพราะถ้ามองตามมุมข้าน้อยแล้ว ศิลปะมันคือ "ทุกสิ่งทุกอย่าง"
บางที...เห็นเด็กไม่ถึงขวบ จับสีเทียนมาขีดเขียนลงบนพืเน ข้าน้อยยังมองมันเป็นศิลปะเลย (ถึงจะต้องมานั่งขัดถูพื้นอีกร่วมชั่วโมงก็เถอะนะ -*- ฮึ่ม)


PS.  อ๊ากกกกก ชิพมั้งค์!!! ธีโอดอร์ แอลวิน ไซม่อน!!! ข้าน้อยหลงรักซะแล้ว!!!///[โหมด:คลั่ง] เจฟฟ์ ลี...สุโก้ย///โจอาเกีย///อ๊ากกกก ฉันรักแก!!! อัคนี!!!///วิบัติฟีเวอร์!!! รักชาติ รักไทย อย่าใช่ภาษาวิบัติ!!!
0