Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

ที่มาของบัตร 30 บาท กับ อดีตรัฐบาลที่ได้หน้า (นานแล้วแต่..อยากให้อ่านค่ะ)

ตั้งกระทู้ใหม่
ตั้งกระทู้ใหม่
ที่มาของบัตร 30 บาท (กับรัฐบาลที่ได้หน้า555+)

การจากไปของ น.พ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ เป็นความสูญเสียที่ประมาณค่ามิได้ของสังคมไทย แม้มีหลายคนที่ทราบว่า "หมอหงวน" เป็นเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) บางคนอาจจะรู้ว่าดำรงตำแหน่งเป็นวาระที่ 2 แต่น้อยคนที่จะรู้ว่าสิ่งใดนำพา "หมอหงวน" มาทำงานที่ทั้งยิ่งใหญ่ทั้งยากลำบากนี้ปราณี ศรีกำเหนิด รำลึกด้วยจิตคารวะ

          1.
          เช่นเดียวกับแพทย์คนอื่นๆ น.พ.สงวน เริ่มต้นทำงานด้านสาธารณสุขด้วยการเป็น "หมอ" ที่ให้การรักษาผู้ป่วย หมอหงวนรักษาคนไข้ในกรุงเทพฯ อยู่หนึ่งปี จากนั้นในปี พ.ศ.2520 หมอหงวนก็เลือกที่จะออกไปรักษาคนไข้ในชนบท โดยย้ายไปเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ หมอหงวนทำงานที่ราษีไศลราวห้าปี ก่อนจะย้ายไปเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลบัวใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา ที่นี่เองที่หมอหงวนได้รับการคัดเลือกให้เป็นแพทย์ดีเด่นประจำปี 2528
          ในช่วงที่ทำงานภาคสนามนี้เอง หมอหงวนได้เข้าร่วมชมรมแพทย์ชนบท ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของแพทย์ที่มีเป้าหมายเพื่อให้งานสาธารณสุขดีขึ้น โดยในปี 2528 ได้รับตำแหน่งประธานชมรมแพทย์ชนบทด้วย
          การเป็นหมอบ้านนอกทำให้หมอหงวนเข้าใจปัญหาสาธารณสุขของชาวบ้าน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาชาวบ้านเข้าไม่ถึงการรักษาพยาบาล โรงพยาบาลมีเตียงไม่พอ บางจังหวัดขาดแคลนหมอ บางจังหวัดหมอมากเกินไป หรือที่เรียกกันว่าปัญหาการกระจายแพทย์ และปัญหาอื่นๆ อีกสารพัด

          2.
          การรับรู้ปัญหาจากภาคสนามนำไปสู่การผลักดันเชิงนโยบาย ปี 2538 เป็นต้นมา หมอหงวนย้ายเข้ามาอยู่ส่วนกลางในตำแหน่งผู้ช่วยปลัดกระทรวง และรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ตามลำดับ
          ภารกิจในตอนนี้ไม่ใช่การรักษาคนไข้อีกต่อไป หากแต่ทำอย่างไรระบบสาธารณสุขทั้งระบบจะพัฒนาขึ้น
          ในเวลาต่อมา หมอหงวนก็พ่วงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานโครงการปฏิรูประบบบริการสาธารณสุขด้วย ไม่นับตำแหน่งอื่นๆ อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นกรรมาธิการสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎร, คณะกรรมการนโยบายสังคมแห่งชาติ, ประธานการประชุมองค์การอนามัยโลก ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
          หมวกทุกใบล้วนเพื่อผลักดันให้เกิดการยกระดับด้านสาธารณสุขของประเทศ
          ในช่วงนี้เองที่ในแวดวงสาธารณสุข โดยเฉพาะอย่างยิ่งหมอหงวนได้ยกประเด็นปัญหาเรื่องประชาชนประมาณ 18-25 ล้านคนไม่มีหลักประกันด้านสุขภาพขึ้นมาพิจารณาอย่างจริงจัง
          คนที่มีหลักประกันสุขภาพ ได้แก่ ข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ และครอบครัวที่เบิกค่ารักษาพยาบาลได้ พนักงานบริษัทเอกชนที่ใช้สิทธิประกันสังคม และผู้ที่ทำประกันชีวิตเองเท่านั้น
          แม้ว่าในตอนนั้นจะมีระบบ "คนไข้อนาถา" หรือ "บัตรสงเคราะห์" จากโครงการสวัสดิการผู้มีรายได้น้อยและผู้ที่สังคมควรช่วยเหลือเกื้อกูล รวมไปถึงโครงการบัตรประกันสุขภาพโดยสมัครใจที่ประชาชนจ่ายซื้อเองในราคา 500 บาท แต่ก็ไม่สามารถครอบคลุมประชาชนส่วนใหญ่ที่ไร้หลักประกันด้านสุขภาพได้
          ประเด็นหลักประกันด้านสุขภาพยิ่งเข้มข้นขึ้นหลังจากมีรัฐธรรมนูญปี 2540 ซึ่งระบุว่ารัฐพึงมีหน้าที่ดูแลประชาชนด้านการรักษาพยาบาล
          ประเด็นปัญหาดังกล่าว นำไปสู่ข้อเสนอเรื่อง "หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ" เหมือนกับที่ประเทศต่างๆ ที่พัฒนาแล้วล้วนแต่มีระบบหลักประกันสุขภาพทั้งสิ้น
          น่าเสียดายว่า ในตอนนั้น ไม่มีพรรคการเมืองใดสนใจประเด็นดังกล่าวนี้เลย
          แต่หมอหงวนก็ยังผลักดันประเด็นนี้ต่อไปอย่างไม่รู้เหน็ดรู้เหนื่อย

          3.
          และแล้ววันหนึ่งราวปี 2543 พรรคการเมืองพรรคหนึ่งก็ยอมซื้อไอเดียเรื่องหลักประกันสุขภาพในชื่อนโยบาย "30 บาท รักษาทุกโรค" และในที่สุดผลักดันเป็นนโยบายของรัฐได้สำเร็จเมื่อพรรคการเมืองนั้นได้เป็นรัฐบาล
          แต่การผลักดันโดยใช้อำนาจการเมืองไม่ใช่เครื่องการันตีความสำเร็จ
          นโยบายหลักประกันสุขภาพถูกคัดค้านและวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง จากทั้งพรรคการเมืองอื่น นักวิชาการศาสตร์ต่างๆ ที่ไม่ใช่เศรษฐศาสตร์สาธารณสุข
          "ประชานิยม" เป็นประเด็นหลักที่นโยบายนี้ถูกโจมตี ทั้งที่ไม่เป็นความจริง เพราะเนื้อแท้ของนโยบายนี้ คือ การปฏิรูปการเงินการคลังของระบบสาธารณสุข ยกตัวอย่างเช่น เปลี่ยนการใช้งบประมาณจากเดิมที่จ่ายเงินตาม "ขนาด" ของโรงพยาบาล มาเป็นการจ่ายตาม "จำนวนประชากร" ที่โรงพยาบาลต้องรองรับ
          หมายถึงการใช้เงินอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยมีเป้าหมายให้บริการประชาชนได้มากขึ้น
          นอกจากกลุ่มนักการเมืองที่โจมตีนโยบายนี้ด้วยเหตุผลทางการเมืองแล้ว ยังมีกลุ่มแพทย์ที่โจมตีนโยบายนี้เพราะผลประโยชน์ส่วนองค์กร หรือส่วนตัว
          โรงพยาบาลเอกชนกลัวเสียรายได้ โรงเรียนแพทย์ (โรงพยาบาลใหญ่ๆ ที่มีการสอนนักศึกษาแพทย์) กลัวงบประมาณไม่เพียงพอ โรงพยาบาลของรัฐที่เป็นโรงพยาบาลศูนย์ก็กลัวงบประมาณลดลง ส่วนแพทย์กลัวเหนื่อยเพิ่มมากขึ้น
          ไม่มีใครมองภาพใหญ่เหมือนหมอหงวนเลยว่า ต่อไปนี้ คนไทยทุกคนจะมีหลักประกันด้านสุขภาพ ใครป่วยจะได้รับการรักษาทุกคน
          นอกจากนี้ สำนักงานประกันสังคมและกลุ่มแรงงานก็กลัวว่านโยบายนี้จะฮุบประกันสังคมเข้ามาถัวเฉลี่ยการขาดทุน
          ท่ามกลางปัญหาที่รุมเร้านี้ หมอหงวนได้รับรางวัลแพทย์ผู้ทำประโยชน์ต่อสังคม "ทุนสมเด็จพระวันรัต" ประจำปี 2544

          4.
          ในที่สุด ด้วยอำนาจการเมืองบวกกับอำนาจของกฎหมาย และที่สำคัญที่สุดคือ น้ำอดน้ำทนของคนทำงานในการทำความเข้าใจกับคนกลุ่มต่างๆ ในประเด็นที่หลากหลาย พร้อมทั้งการคลี่คลายปัญหาต่างๆ เสียงคัดค้านก็ค่อยๆ แผ่วลงไป
          แต่ปัญหาในการบริหารจัดการเพิ่งเริ่มต้นขึ้น
          ดูเหมือนว่าเมื่อฝ่ายการเมืองได้สมประโยชน์โดยได้รับคะแนนนิยมไปเรียบร้อยแล้ว ก็ไม่มีความจำเป็นต้องดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับนโยบายนี้อีก
          ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นจึงไม่ได้รับการดูแลเอาใจใส่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาเรื่องงบประมาณ เพราะตัวเลขพันสองหน่อยๆ นั้นไม่เพียงพอกับการรักษาผู้ป่วย
          โรงพยาบาลใหญ่ที่มีผู้ป่วยหนัก หรือผู้ป่วยเรื้อรัง ประสบปัญหางบประมาณไม่เพียงพอ โรงพยาบาลเล็กที่รองรับประชากรจำนวนมากก็ประสบปัญหาขาดทุน โรงพยาบาลเอกชนก็บอกว่าไม่อยากร่วมโครงการเพราะกลัวขาดทุน
          นอกจากเรื่องงบประมาณ มาตรฐานในการรักษาก็เป็นประเด็นหนึ่งที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก เนื่องจากบางโรงพยาบาลพยายามประหยัดต้นทุนในการรักษา
          ยังมีปัญหาจุกจิกสารพัดสารพัน ปัญหาสิทธิซ้ำซ้อน เพราะครอบครัวข้าราชการก็อยากได้บัตรทองไว้ควบคู่กับสิทธิที่จะเบิกเงินหลวง ปัญหาชื่อตกหล่นเนื่องจากเป็นกลุ่มที่ไม่มีบัตรประชาชน ราคากลางในการผ่าตัดโรคนั้นโรคนี้ควรจะเป็นเท่าไรที่โรงพยาบาลรับได้และงบประมาณเพียงพอ เป็นต้น

          5.
          การบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติไม่ใช่เรื่องง่ายแน่นอน เพราะในปัจจุบัน กองทุนหลักประกันสุขภาพดูแลคนไทยประมาณ 48-49 ล้านคน กล่าวคือ ทุกคนที่ไม่ใช่ข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ และพนักงานเอกชน ล้วนใช้สิทธิรักษาพยาบาลจากกองทุนนี้ภายใต้ชื่อ "บัตรทอง"
          การบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติไม่ใช่เรื่องง่ายแน่นอน เพราะว่า สปสช.จะต้องประสานงานกับโรงพยาบาลหลายหมื่นโรง และที่สำคัญ สปสช.เป็นเหมือนคนกลางที่เป็น "ผู้ซื้อ" บริการรักษาพยาบาลจากโรงพยาบาลซึ่งเป็น "ผู้ขาย" โดยประชาชนเป็นผู้รับบริการรักษาพยาบาลดังกล่าวโดยไม่ต้องจ่ายเงิน การซื้อของจากผู้ขายนับหมื่นรายให้กับประชาชน 49 ล้านคน ย่อมต้องซับซ้อนและยุ่งยากพอควร
          แต่ไม่ว่าปัญหาในการบริหารจัดการจะมีมากเพียงใด หมอหงวนก็เดินหน้านโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าอย่างมุ่งมั่น
          ภาพใหญ่ที่ว่า "ต่อไปนี้ คนไทยทุกคนจะมีหลักประกันด้านสุขภาพ ใครป่วยจะได้รับการรักษาทุกคน" ยังอยู่ในใจของหมอหงวนเสมอ
          ดังนี้ เราจึงได้เห็นหมอหงวนพัฒนากองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติอยู่ตลอดเวลา พัฒนาในแง่ที่ให้การรักษาพยาบาลเชิงรุกมากขึ้น เน้นการสร้างสุขภาพหรือการป้องกัน ไม่ว่าจะเป็นโครงการบูรณาการผู้ติดเชื้อผู้ป่วยเอดส์ โครงการเบาหวานครบวงจร โครงการให้ท้องถิ่นบริหารจัดการสถานพยาบาลเอง โครงการรณรงค์ให้ผู้พิการลงทะเบียนเพื่อเข้าถึงหลักประกันด้านสุขภาพ โครงการกองทุนตำบลเพื่อสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ฯลฯ
          พร้อมกันไปกับการคิดค้นโครงการต่างๆ หมอหงวนก็ค่อยเจรจาขอเพิ่มค่าหัวจากเดิม 1,202 บาท ในตอนเริ่มต้น จนเป็น 2,100 บาทในปีงบประมาณ 2551 นี้

          6.
          หมอหงวนมักจะกล่าวว่า นโยบายหลักประกันสุขภาพเป็นผลงานของหลายฝ่ายและหลายคน
          และความจริงก็เป็นเช่นนั้น
          ศาสตราจารย์อัมมาร สยามวาลา เป็นประธานคณะทำงานหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ของสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ขณะเดียวกัน มีทีมงานวิจัยของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เกี่ยวกับประเด็นนี้
          เครือข่ายประชาชน 11 เครือข่าย นำโดยจอน อึ๊งภากรณ์ ได้เคลื่อนไหวล่ารายชื่อ 50,000 ชื่อ เพื่อยกร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แม้ว่าร่างฉบับนี้จะตกไปเนื่องจากรายชื่อหลังตรวจสอบไม่ครบถ้วน แต่ภาคประชาชนกลุ่มนี้ก็มีบทบาทหลักและมีส่วนร่วมในการพิจารณาร่างฉบับของรัฐบาลโดยตลอด
          ผู้คนจำนวนมากมายเกินกว่าจะระบุชื่อได้หมดในที่นี้ ไม่ว่าจะเป็นหมอ และบุคลากรสาธารณสุข นักวิชาการสายอื่น นักวิจัย องค์กรพัฒนาเอกชน เครือข่ายประชาชน รวมตลอดไปถึงฝ่ายการเมือง
          ผู้คนจำนวนมากมายร่วมกันผลักดันให้เกิดนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หากหมอหงวนรับเป็น "พ่องาน" ในการบริหารจัดการเพื่อสืบสานปณิธานนั้น
          ผลงานชิ้นล่าสุดของหมอหงวน ก็คือ การผลักดันเพิ่มสิทธิประโยชน์สำหรับผู้ป่วยโรคไต จากเดิมที่บัตรทองไม่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับโรคไต เป็นคุ้มครองค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดเปลี่ยนไต การล้างไต และการฟอกเลือดสำหรับผู้ป่วยระยะสุดท้าย โดยเริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2551 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ เนื่องจากโรคไตเป็นโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง และเป็นโรคเดียวที่ไม่อยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ของบัตรทอง
          เรื่องการให้ความคุ้มครองผู้ป่วยโรคไตนั้น ถกเถียงกันตั้งแต่ช่วงปี 2544-2545 ที่มีการผลักดันนโยบายหลักประกันถ้วนหน้า ท้ายที่สุดก็ตกไปด้วยปัญหางบประมาณ มีเพียงกลุ่มผู้ติดเชื้อเท่านั้นที่ได้รับความคุ้มครองในเรื่องยาต้านไวรัสเอชไอวี 6-7 ปีผ่านไป หมอหงวนก็ทำได้สำเร็จเพราะว่าหมอหงวนไม่เคยลืมประเด็นนี้เลย

          7.
          18 มกราคม 2551 สังคมไทยสูญเสียบุคคลที่ล้ำค่ายิ่ง หมอหงวนจากเราไปด้วยความสงบ
          ด้วยความดีอันน่ายกย่องและผลงานที่ทรงคุณค่าทั้งหมด ขอให้ถ้อยความของสมาชิกชมรมเพื่อนโรคไตข้างล่างนี้ แสดงความอาลัยและความคารวะแทนสังคมไทยที่ได้รับคุณูปการอย่างล้นเหลือ
          "คุณหมอสงวน เป็นผู้ที่มีส่วนสำคัญในการสนับสนุนให้เกิดการขยายสิทธิการบำบัดทดแทนไตในระบบหลักประกันสุขภาพ น่าเสียดายที่ความหวังและความฝันที่ท่านตั้งใจให้เกิดกำลังเป็นจริงขึ้นมา แต่ท่านต้องมาจากเราไปอย่างไม่มีวันกลับ ในฐานะที่ผมเป็นผู้ป่วยโรคไต ผมขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้ง และขอให้คุณความดีที่ท่านได้กระทำมาอันเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยและด้านสาธารณสุขของประเทศเรา จงส่งผลให้ท่าน ครอบครัวและบุคคลอันเป็นที่รักประสบพบความสุข ด้วยผลบุญนั้นเทอญ"


PS.  เราคนไทย ใจกตัญญู รู้คุณชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

แสดงความคิดเห็น

>

4 ความคิดเห็น

```cha฿a’’♫ 10 พ.ค. 52 เวลา 12:28 น. 1

ขอยกย่องวีรชน

หมอหงวน ผู้ติดทองหลังพระ


PS.  เราคนไทย ใจกตัญญู รู้คุณชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
0