Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

ประโยชน์ในด้านต่างๆของ"ว่าว"

ตั้งกระทู้ใหม่
ตั้งกระทู้ใหม่
การละเล่น
ถ้าเป็นเรื่องของว่าวกับการละเล่น และ วัฒนธรรม แล้วละก็ ขอให้ลองอ่่านบทความ "ว่าวไทย" ที่เขียนโดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ สุภวรรณ พันธุ์จันทร์ ศูนย์วัฒนธรรมมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา พิษณุโลก ครับ มีทั้งเรื่องราวของว่าวในประเทศจีน ญี่ปุ่น เกาหลี เวียดนาม อินเดีย กัมพูชา รายละเอียดยอดเยี่ยมมากครับ

ว่าวผาดโผนว่าวผาดโผน

 
กีฬา
การเล่นว่าวก็เป็นกีฬาได้นะครับ มีชื่อเรียกว่า "กีฬาว่าว" หรือ "Sport Kite" ได้แก่ การแข่งขันจุฬา-ปักเป้า ของไทย, Fighter kite ของอินเดีย, การแข่งขันว่าวผาดโผน, การแข่งขันบินว่าวประกอบดนตรี, การแข่งขันบินว่าวแม่นยำ, และ Kite-surfing

ว่าวผาดโผน หมายถึงว่าวที่มีสายป่านตั้งแต่ 2 สายป่านขึ้นไป 

Kite Surfing เป็นกีฬาที่เล่นได้ทั้งบนบก (ฉุดรถ), ในน้ำ (ฉุดคนที่อยู่บนบอร์ดในน้ำ) และ บนหิมะ (ฉุดคนที่อยู่บนบอร์ด/รถ บนหิมะ)

Kite SurfKite Surf




วิทยาศาสตร์ และ อุตุนิยมวิทยา
พ.ศ. 2292 (ค.ศ.1749) อเล็กซานเดอร์ วิลสัน (Alexander Wilson) กับ โธมัส เมลวิน (Thomal Melivel) ทำการทดลองที่ เมืองกลาสโกว์ สกอตแลนด์ โดยการส่งว่าวสาย (หรือ ว่าวขบวน) (kite train) ติดเทอร์โมมิเตอร์ ขึ้นไปที่ระดับความสูงประมาณ 3,000 ฟุต ทำให้สามารถตรวจจับความแตกต่างของอุณหภูมิในระดับความสูงต่างๆ ได้

เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2255 (ค.ศ.1752) เบนจามิน แฟรงคลิน (Benjamin Framklin) ชาวอเมริกัน ส่งว่าวขึ้นฟ้าในช่วงมีพายุ เพื่อพิสูจน์ว่าฟ้าผ่ามีประจุไฟฟ้า เช่นเดียวกันกับไฟฟ้าที่มนุษย์ใช้ ว่าวที่แฟรงคลินใช้ ทำจากผ้าไหม เพื่อให้ทนต่อลมและฝน โครงกากบาททำจากไม้ซีดา (cedar) ว่าวยังมีหาง ห่วง และ สายว่าว

ว่าวมีสายไฟยาว 1 ฟุต ยื่นออกมาทางด้านหน้า ปลายของสายว่าวส่วนที่ติดกับมือจับ ผูกด้วยผ้าไหม ห้อยด้วยกุญแจโลหะ ใช้ว่าวให้ลอยไปบนฟ้าแล้วผูกกุญแจติดกับว่าว กุญแจเป็นอุปกรณ์เพื่อทดลองเกี่ยวกับประจุไฟฟ้าในบรรยากาศขณะที่ฟ้าแลบ

พ.ศ 2426 ดักลาส อาร์ชิบอล์ (Douglas Archibald) ชาวอังกฤษ นำว่าวมาใช้ประโยชน์ด้านอุตุนิยมวิทยา โดยผูกเครื่องมือวัดอัตราความเร็วของลม (Anemometor) เพื่อวัดความเร็วของลมติดไว้กับว่าว

ในปี พ.ศ. 2450 ซามูเอล แฟรงคลิน โคดี้ (Samuel Franklin Cody) แสดงให้เห็นว่า ว่าวมีประโยชน์ในการส่งเครื่องมืออุตุนิยมวิทยา ขึ้นไปวัดในระดับความสูง ได้แก่ เครื่องวัดความสูง, เครื่องวัดอุณหภูมิ, เครื่องวัดความชื้น, เครื่องวัดความเร็วลม ว่าวของเขา ทำสถิติยกอุปกรณ์อุตุนิยมวิทยา ขึ้นไปที่ความสูง 14,000 ฟุต ! เป็นที่น่าเสียดาย ที่โคดี้ และ ผู้โดยสารของเขา เสียชีวิตเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ.2456 จากการที่เครื่องบินน้ำลำใหม่ของเขาตก ที่ Laffan's Plain, Aldershot 

ว่าวของแฟรงคลิน Scientific Box Kite 

ว่าวที่ใช้ในการตรวจวัดอากาศของอุตุนิยมวิทยาของอเมริกา
ในภาพ ปีเตอร์ เกสท์ (Peter Guest) (คนยืน) และ ไบรอัน พาวเวลล์ (Brian Powell) (คนนั่ง) นักวิทยาศาสตร์ด้านชั้นบรรยากาศ ของ Naval Postgraduate School ส่งว่าวชื่อ Ben Franklin ติดอุปกรณ์ radiosonde เพื่อบันทึก อุณหภูมิ, แรงกดอากาศ, และ ความชื้น เหนือพื้นทะเลเปิดระหว่างก้อนน้ำแข็ง เพื่อศึกษาปริมาณความร้อนที่ออกมาจากพื้นน้ำเปิด เมื่อวันที่ 2-3 สิงหาคม 2548

ว่าวทำจากผ้าไนลอน และใช้เบ็ดตกปลาน้ำลึกในการควบคุมว่าว เนื่องจากความแรงของลม และจำนวนรอบของการเก็บข้อมูล Peter ต้องใช้มอร์เตอร์ไฟฟ้าที่ติดอยู่กับรอกบนคันเบ็ด ในการดึงว่าว ที่ปล่อยไปยาวถึง 200 เมตร และสูงถึง 120 เมตร 
Scientific KiteScientific Box Kite 
             Scientific Box Kite : ประดิษฐ์โดย เอช เอช เคลตัน (H.H.Clayton) หัวหน้าผู้สังเกตุการณ์ของ Blue Hill Observatory ใกล้กับเมืองบอสตัน ว่าวนี้สามารถติดตั้งอุปกรณ์ตรวจวัดสภาพอากาศ ส่งขึ้นไปได้สูงถึง 9,200 ฟุต หรือ เกือบ 2 ไมล์ แน่ะ! ข้อดีของว่าวประเภทนี้ คือขึ้นได้ง่าย ต้องการลมแรงปานกลาง ตัวว่าวทำจากไม้ และ ผ้าฝ้าย (รูปขวา)

พลังงานทดแทน
นักวิจัยชาวอิตาเลียน มีไอเดียในการผลิตพลังงานไฟฟ้าโดยใช้ว่าว บริษัท Sequoia Automation เสนอ ระบบชื่อ Kite Generator ที่ประกอบด้วยกลุ่มว่าวเทเตอร์ (tethered power kite) บินที่ระดับความสูง 800-1,000 กิโลเมตร ในชั้นบรรยากาศโทรโพสเสฟียร์ (troposphere) สายว่าวถูกยึดติดกับใบพัดขนาดเท่าสนามฟุตบอลที่หมุนได้บนพื้นดิน ว่าวจะถูกควบคุมโดยระบบอิเล็กทรอนิกส์และซอฟท์แวร์ เพื่อให้กังหันสามารถหมุนได้อย่างต่อเนื่อง

energy kite

ศิลปะ
การเล่นว่าวในลักษณะที่เป็นศิลปะ น่าจะประกอบด้วย การเล่นว่าวในร่ม (Indoor Kite Flying) และ การบินว่าวประกอบดนตรี

ผู้แข่งขันบินว่าวประกอบดนตรี จะต้องบินว่าวให้ ท่าบินสัมพันธ์กับจังหวะดนตรี โดยที่ดนตรีจะมีความยาวระหว่าง 2 ถึง 5 นาที สำหรับการแข่งประเภทคู่และทีม และไม่เกิน 4 นาที สำหรับการแข่งประเภทบุคคล 
Indoor KiteIndoor Kite

จิตรกรรม
บทความ "ว่าวไทย" ของผู้ช่วยศาสตราจารย์ สุภวรรณ พันธุ์จันทร์ กล่าวถึงการใช้ว่าวกับจิตรกรรมไทย ว่ามีการวาดภาพว่าวในจิตรกรรมฝาผนัง ที่ วิหารลายคำ วัดพระสิงห์ จังหวัดเชียงใหม่, พระอุโบสถวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม กรุงเทพมหานคร, พระอุโบสถหลังเก่าวัดหน้าพระธาตุ (วัดตะคุ) อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา, และ พระอุโบสถวัดมัชฌิมาวาส จังหวัดสงขลา

ภาพว่าวในจิตรกรรมฝาผนัง พระอุโบสถวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม กรุงเทพมหานคร
ภาพวาดว่าว ภาพวาดว่าว

ภาพว่าวในจิตรกรรมฝาผนัง วิหารลายคำ วัดพระสิงห์ จังหวัดเชียงใหม่
ภาพวาดว่าว ภาพวาดว่าว

ภาพวาดว่าว

จิตรกรรมฝาผนัง พระอุโบสถวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม กรุงเทพมหานคร 

วรรณคดีและบทเพลง

บทความ "ว่าวไทย" ของผู้ช่วยศาสตราจารย์ สุภวรรณ พันธุ์จันทร์ กล่าวถึงว่าวในวรรณคดีไทย ในโคลงทวาทศมาส วรรณคดีโบราณในรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ แห่งกรุงศรีอยุธยา และยังมีการใช้ในเนื้อเพลงอีกด้วย

โคลงทวาทศมาส (บทที่เกี่ยวกับว่าว)

    รดูดูว่าวคว้างกลางหาว
เห็นว่าวหว่างอกปลอมว่าวขึ้น
สายทรุงปั่นอกทาวทรวงพี่
เห็นละลักชักฟื้นฟั่นแด ฯ
    ลมพัดเผยอข่าวด้วยลมเฮย
ลมแล่นรับขวัญบินบ่าไส้
เรียมรักร่ำยังเลยลาญสวาท
สารส่งว่าววานให้แม่มา ฯ
    ว่าวรับข่าวแล้วว่าวบินบน
ลมส่งสายทรุงพาว่าวหว้าย
เรียมฟังข่าวนุชฉงนไฉนอยู่
ว่าวบ่บอกสารหน้ายแสบทรวง ฯ
    เสร็จสั่งไพสพสิ้นสารสุด
เพลิงฉี่ใบบัวบงเ่ยวแห้ง
ว่าววางกระลาบุษย์พนิกาศ
โอ้อุทรทรวงแล้งลั่นลิว ฯ

ว่าวเป็นสื่อประชาสัมพันธ์ที่ดีสื่อหนึ่ง เนื่องจากคนส่วนใหญ่ชอบดูว่าวเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว บริษัทต่างๆ มักให้นักประดิษฐ์ว่าว สร้างว่าวเป็นรูปร่างเลียนแบบโลโก้, ภาพประชาสัมพันธ์, หรือ สินค้า ของตนเอง

ในงานเทศกาลกีฬาไทย 2548 บริษัท Family ทำการประชาสัมพันธ์ความทนทานของเครื่องเล่น DVD โดยใช้ว่าวแรด, กทม. ทำว่าวโลโก้ กทม. และ โครงการดาวเทียมธีออส ดำเนินการประชาสัมพันธ์ดาวเทียมธีออส โดยใช้ว่าวแผงรูปดาวเทียมธีออส ขนาดเท่าของจริง

ว่าวดาวเทียมธีออส
พี่เป็ด ปริญญา สุขชิต กับว่าวดาวเทียมธีออส ตัวที่ 1 ใน งานเทศกาลกีฬาไทย 2548 ณ สนามหลวง ระหว่างวันที่ 5 มีนาคม - 2 เมษายน 2548
ว่าวดาวเทียมธีออส
ว่าวดาวเทียมธีออส ตัวที่ 2 ใน งานว่าวไทยและว่าวนานาชาติ ครั้งที่ 9 ณ ค่ายพระรามหก ชะอำ ระหว่างวันที่ 11-12 มีนาคม 2549
ว่าวดาวเทียมธีออส
ว่าวดาวเทียมธีออส ตัวที่ 3 ใน กิจกรรมครอบครัวสุดสนุกกับดาวเทียมธีออส ณ สวนวชิรเบญจทัศ (สวนรถไฟ) วันอาทิตย์ที่ 29 เมษายน 2550

การกู้ภัย
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 มีการนำว่าวกู้ภัย (Rescue Kite) ชื่อ Gibson Girl ไว้ในแพชูชีพ เพื่อให้นักบินที่ถูกยิงตก ใช้ว่าวนำเสาอากาศขึ้นที่สูงเพื่อติดต่อขอความช่วยเหลือ

ชุดของว่าว ประกอบด้วย โครงว่าวกล่องทำด้วยโลหะ ที่หุบได้คล้ายร่ม, วิทยุ ที่มีสายต่อกับเสาอากาศที่ติดกับว่าว, สายว่าวสำรอง 2 ชุด, ลูกบัลลูน (ใช้ในกรณีที่ไม่มีลม), กระป๋อง ที่ใช้สร้างกาซไฮโดรเจน สำหรับเติมบัลลูน, ท่อโลหะ 2 อัน สำหรับเติมลม, ประแจ, และ ไฟวาบ

ว่าวกู้ภัย

การสำรวจโดยการถ่ายภาพทางอากาศจากว่าว
มีคนไม่น้อยที่สนใจการถ่ายภาพทางอากาศจากว่าว (KAP - Kite Aerial Photography) ระบบที่ใช้ในการถ่ายภาพ มีตั้งแต่ระบบง่ายๆ ราคาถูก จนถึงระบบซับซ้อนที่มีราคาแพง

การถ่ายภาพทางอากาศจากว่าว ถือว่าเป็นการสำรวจระยะไกล (Remote Sensing) อย่างหนึ่ง ที่นอกเหนือจาก การถ่ายภาพจากดาวเทียม, การถ่ายภาพจากเครื่องบิน เป็นต้น 
ภาพถ่ายทางอากาศจากว่าว

การสงคราม

  • การยกผู้สังเกตุการณ์ (จีน) : มีบันทึกในหนังสือ The Art of War ของ Sun Tzu ว่ามีการใช้ว่าวเพื่อยกผู้สังเกตุการณ์ ขึ้นในอากาศเพื่อสอดส่องความเคลื่อนไหวของ กองทัพข้าศึก
  • การกะระยะการขุดอุโมงค์ (จีน) : มีตำนานกล่าวถึงเมื่อ 169 ปี ก่อน ค.ศ. นายพลจีนชื่อ ฮั่น ฉิน (Han Hsin) ใช้ว่าวในการความยาวของระยะทางระหว่างกองทัพของเขากับกำแพงเมืองศัตรู เพื่อใช้กะระยะของการขุดอุโมงค์เข้าไปโจมตีศัตรูทางใต้ดิน
  • ใช้แจ้งเหตุฉุกเฉินขณะข้าศึกเข้าล้อมเมือง (จีน)
  • ใช้สร้างเสียงในสงครามจิตวิทยา (จีน) : B.Laufer เขียนไว้ในหนังสือ "The Pre-History of Aviation" เมื่อ 202 ปี ก่อน ค.ศ. แม่ทัพของราชวงศ์ฮั่น ชื่อ ลิ่ว ปัง (Liu Pang) ถูกกองทัพของ ฮวน เต็ง (Huan Theng) ปิดล้อม จึงส่งว่าวขึ้นท้องฟ้าในเวลากลางคืน ติดอุปกรณ์ที่ทำให้เกิดเสียงดัง ที่เรียกว่า Aeolian strings (มีเสียงแปลกๆคล้าย "แหว่วๆ แหง่วๆ แป่วๆ" ทำนองนั้น) กองทัพข้าศึกคิดว่าเป็นเสียงเตือนจากพระเจ้า จึงถอยทัพกลับไป
  • ใช้ลงโทษนักโทษ (เกาหลี) : เล่ากันว่า จักรพรรดิ เว็น ชวน ที (Wen Hsuan Ti) ของราชวงศ์ โกยาง (Koa Yang) ลงโทษนักโทษโดยให้ขึ้นว่าวที่ชักจากหอคอย หากรอดชีวิตก็จะปล่อยตัวไป
  • ใช้ติดโคมไฟในเวลากลางคืน เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจ (เกาหลี) : ซำกุก ซากิ (Samguk Sagi) เขียนหนังสือในปี ค.ศ.1145 ถึงเรื่องราวระหว่างปี ค.ศ. 596-637 ของ นายพล กิม ยู ซิน (Gim Yu-Sin) ที่ได้รับบัญชาจากราชินี ชินดง (Zindong) ซึ่งเป็นผู้ปกครองลำดับที่ 28 ของ Silla Dynasty ให้ไปปราบกบฏ ขณะที่นายพลฯ กำลังจะบดขยี้กองทัพกบฏ ก็เกิดปรากฏการณ์ดาวตก ซึ่งถือว่าเป็นลางร้าย ส่งผลให้ขวัญและกำลังใจของทหารลดลง นายพลฯ จึงใช้ว่าวขนาดใหญ่ ยกโคมไฟขึ้นไปลอยในอากาศในเวลากลางคืน ทำให้ทุกคนหลงเชื่อว่าดาวตกได้กลับขึ้นไปสู่สวรรค์อีกครั้งหนึ่ง ทำให้ขวัญและกำลังใจของทหารกลับมา
  • ใช้ส่งข่าวเพื่อปลุกระดม (จีน) : จากบทความ "Science and Civilization in China" ของ J.Needham ที่เขียนในปี ค.ศ.1232 มีการใช้ว่าวเพื่อการสงครามจิตวิทยา โดยใช้ว่าวเพื่อทิ้งใบปลิวลงในคุก เพื่อปลุกระดมให้นักโทษก่อความไม่สงบ และหลบหนีออกมาในที่สุด
  • ใช้ส่งทหารข้ามช่องเขา (อินเดีย) : จาก "The Complete Wolrld of Kites" ของ Bill Thomas มีการใช้ว่าวในการรบแย่งชิงพื้นที่ระหว่างชาวฮินดูกับชาวมุสลิม ในปี ค.ศ.1659 กษัตริย์หนุ่ม (Shah) ชื่อ ชิวาจิ (Shivaji) ใช้ว่าวเพื่อส่งเชือกข้ามช่องเขา (chasm) ใกล้กับ ปูนา (Poona) ในตอนกลางคืน จากนั้น ก็เปลี่ยนจากเชือกว่าวเป็นเชือกใหญ่ (คงใช้เชือกว่าวเพื่อดึงเชือกใหญ่ให้ข้ามตามมาด้วย) ในที่สุด ทหารของชิวาจิ ก็สามารถปีนกำแพงค่ายเพื่อกำจัดทหารยามได้
  • ใช้ลากตอร์ปิโด (รัสเซีย) : ระหว่างสงครามรัสเซีย ในปี ค.ศ.1855 นายพลเรือ เซอร์ อาร์เธอร์ คอกเครน (Admiral Sir Arthur Cochrane) ใช้ว่าวขนาด 12 ฟุต ลากตอร์ปิโดเพื่อให้ชนเป้าหมาย ถึงแม้ว่าวิธีนี้จะใช้ได้ดีในการซ้อม แต่กลับไม่ได้ผลเมื่อใช้จริง เนื่องจากปัญหาของลม และเป้าหมายที่เคลื่อนที่ได้
  • ใช้ส่งข่าว (อเมริกา) : ระหว่างสงครามกลางเมือง ในปี ค.ศ.1863 มีหลักฐานการสร้างว่าวใกล้เมือง Vicksburg และ ในปี ค.ศ.1865 มีการใช้ว่าวเพื่อส่งข่าวสารข้ามแนวรบศัตรู เพื่อชักชวนให้ทหารหนีทัพกลับเข้ามาประจำการ โดยการเสนอเงินสำหรับซื้อม้าและอาวุธ หลักฐานอย่างหนึ่งที่ยืนยันเรื่องราวนี้ ได้แก่ คำสั่ง "...ส่งเชือกว่าวที่แข็งแรง ยาว 10,000 ฟุต มาทันที..."
  • การสังเกตุการณ์และการส่งข่าวสาร (อังกฤษ) : ในปี ค.ศ.1893 กัปตัน บี เอฟ เอส บาร์เดน พาวเวล (Captain B.F.S. Baden-Powell) ออกแบบว่าวหกเหลี่ยมขนาดใหญ่ จำนวน 6 ตัว สำหรับสงครามโบเออร์ (Boer War) อาฟริกาใต้ เพื่อใช้ยกทหารสังเกตุการณ์ขึ้นสู่ระดับสูง เขายังทำการทดสอบหลายครั้ง ในการใช้ว่าวเพื่อส่งข่าวสารระหว่างเรือ
  • การสังเกตุการณ์ (อเมริกา) : ในปี ค.ศ.1896 นายทหาร ฮิวจ์ ดี ไวส์ (Army officer Lieutenant Hugh D. Wise) ออกแบบระบบว่าว ที่ใช้ว่าวกล่องฮาร์เกรฟ (Hargrave box kites) เพื่อยกผู้สังเกตุการณ์ขึ้นที่สูงเพื่อดูข้าศึก ในสงครามสเปน-อเมริกา (Spanish American War) ระบบของเขา ยกฐานที่หนัก 104 กิโลกรัม (รวมผู้โดยสาร) ขึ้นสูง 12.2 เมตร (40 ฟุต)
  • การสังเกตุการณ์ (อังกฤษ) : ในปี ค.ศ.1901 Samuel F. Cody จดลิขสิทธิ์ระบบว่าวยกคน และจัดการสาธิตให้กับ War Office ในเดือนธันวาคม ค.ศ.1901 หลังจากการทดสอบบนเรือรบ ระหว่างปี ค.ศ.1904-1905 War Office ก็อนุมัติให้ใช้ระบบอย่างเป็นทางการในปี ค.ศ.1906 เพื่อใช้ในการสังเกตุการณ์ โคดี้ได้รับตำแหน่งทหาร Chief Kite Instructor ที่ Farnborough และรับมอบหน้าที่ในการออกแบบและผลิตว่าว และอบรมการใช้ระบบว่าวฯ
  • การสังเกตุการณ์ (รัสเซีย) : ในปี ค.ศ.1903 Lieutenant Schreiber ของราชนาวีรัสเซีย ทดสอบระบบการยกคนด้วยว่าว โดยใช้ว่าวกล่องฮาเกรฟ 2 ชั้น (Hargrave double box) ระบบของเขาถูกยกเลิกเนื่องจากความไม่เสถียร และทำให้เกิดการเสียชีวิตหลายคน ในขณะที่ Captain Ulyanin ของกองทัพบกรัสเซีย พัฒนาระบบการยกคนฯ โดยใช้ว่าวสายที่ประกอบด้วยว่าว double Conyne
  • การสังเกตุการณ์ (ฝรั่งเศส) : ในปี ค.ศ.1909 Charles Dollfus จัดการแข่งขันออกแบบเทคนิคการยกคนโดยใช้ว่าว เพื่อใช้ในงานของทหารบกฝรั่งเศส ผู้ชนะการประกวด คือ Captain Madiot ด้วยว่าวกล่องมีปีก เมื่อเขาเสียชีวิตลงในปีถัดมาในอุบัติเหตุทางเครื่องบิน ทหารบกฝรั่งเศสจึงเลือกใช้ระบบของ Captain Saconney ซึ่งประกอบด้วย รถยนต์, รถ trailer, และ กว้าน ที่ใช้กำลังของเครื่องยนต์ ระบบดังกล่าว ยังถูกติดตั้งบนเรือ The Edgar Quintet ในปี ค.ศ.1911 อีกด้วย
  • การสังเกตุการณ์ (เยอรมัน) : ในปี ค.ศ.1914 ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 เยอรมันออกแบบว่าวกล่องแบบพับได้ เพื่อใช้ยกผู้สังเกตุการณ์จากเรือดำน้ำ (man-lifing kite) ว่าวจะยกตะกร้าผู้โดยสารขึ้นจากเรือดำน้ำ ควบคุมโดยกว้านที่ใช้แรงคน
  • การสังเกตุการณ์ (อเมริกา) : ในปี ค.ศ.1915 ซามูเอล เปอร์กิ้นส์ (Samuel Perkins) ค้นคว้าระบบว่าว เพื่อใช้สังเกตุการณ์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ประกอบด้วยว่าวสาย ที่มีว่าวขนาดสูง 9-12 ฟุต ต่อเรียงกัน จำนวน 3-6 ตัว น่าเสียดายที่โครงการของเขา ไม่ผ่านการทดสอบ
  • การป้องกันการโจมตีของเครื่องบิน (อังกฤษ) : ในปี ค.ศ.1940 กองทัพอังกฤษนำว่าวกล่องฮาเกรฟ 2 ชั้น ติดตั้งระเบิด เพื่อใช้ป้องกันเรือพิฆาตจากการโจมตีทางอากาศของเครื่องบินศัตรู
  • การป้องกันการโจมตีของเครื่องบิน (อเมริกา) : ในปี ค.ศ.1941 มีการเปิดโรงเรียนชื่อ The Barrage Balloon and Kite School ในเมืองนิวยอร์ค ว่าว barrage ของ Saul ถูกปล่อยโดยใช้สายลวด ที่สามารถเฉือนปีกเครื่องบินได้ และเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันการปักหัวทิ้งระเบิดของเครื่องบินข้าศึก มีการติดตั้งลูกระเบิดกับสายว่าวที่คล้ายกับสายเปียโน ในแต่ละครั้ง มีการบินว่าว 3,300 ตัว จากดาดฟ้าเรือสินค้า ที่เดินทางจากอเมริกา และแคนาดา ไปยังยุโรป
  • การปล่อยว่าวจากเรือดำน้ำ (เยอรมัน) : ในปี ค.ศ.1943 Dr. Henrich Focke ประดิษฐ์ว่าวใบพัดหมุน (Rotating Wing หรือ Gyroplane Kite) ชื่อ The Focke-Achegelis F.A. 330 ที่ใช้คนบังคับได้ง่าย ว่าวนี้ใช้แรงยกจากการลากของเรือดำน้ำ ว่าวนี้มีใบพัดอยู่ด้านบน และผู้โดยสารอยู่ด้านล่าง และสามารถประกอบขึ้นได้ภายใน 7 นาที และรื้อเก็บได้ภายในเวลาน้อยกว่านั้นอีก ว่าวฯ สามารถขึ้นสูงได้ 50 ฟุต
  • การซ้อมยิงเป้าในอากาศ และการส่งข้อความจากเรือ (อเมริกา) : ในปี ค.ศ.1943 Commander Paul Garber ของกองทัพสหรัฐ พัฒนาว่าวเป้า ที่มีรูปเครื่องบิน ให้นักบังคับว่าวให้ร่อนไปมาคล้ายเครื่องบินจริง สำหรับให้ทหารฝึกยิง Garber ยังใช้ว่าวเพื่อสื่อสารข้อความจากเรือให้เครื่องบินทราบ โดยการใช้กระดาษเขียนข้อความติดบนสายเคเบิลขึงระหว่างว่าว 2 ตัว เครื่องบินที่บินผ่านสามารถใช้ตะขอยาวเกี่ยวสายเคเบิลเพื่อรับข้อความ
  • การส่งข้อความขอความช่วยเหลือ (อเมริกา) : ในปี ค.ศ.1943 ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 มีการติดตั้งระบบส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือในทะเล ที่มีชื่อว่า Gibson Girl กับแพชูชีพ ประกอบด้วยว่าวกล่องเพื่อให้เห็นได้ชัดเจน และเสาอากาศวิทยุที่เชื่อมกับเครื่องส่งวิทยุแบบใช้มือหมุน Gibson Girl ถูกใช้งานจนกระทั่งสงครามเวียดนาม และหมดประโยชน์ไป เมื่อมีการประดิษฐ์โทรศัพท์มือถือ
  • ใช้ยกหม้อดินบรรจุดินดำเพื่อเผาเมืองศัตรู (ไทย) : ได้แก่คราวที่พระยายมราช (สังข์) เจ้าเมืองนครราชสีมาเป็นกบฏ พระเพทราชาส่งกองทัพไปปราบ แต่ตีเมืองไม่สำเร็จ จึงใช้อุบายเผาเมือง โดยใช้ว่าวยกหม้อดินบรรจุดินดำ เอาชนวนผูกสายป่านว่าวจุฬา แล้วจุดชนวนให้หม้อดินดำระเบิด ตกไปไหม้บ้านเมือง เกิดความระส่ำระสาย ทำให้ตีเมืองได้สำเร็จ

การถ่ายภาพทางอากาศจากว่าว ประกอบด้วยส่วนสำคัญ 3 ส่วน ได้แก่ ว่าว, กล้องถ่ายภาพ, และ อุปกรณ์ติดกล้องกับสายว่าว 

ว่าวยกคน
ในช่วงสงครามโลก ซามูเอล แฟรงคลิน โคดี้ (Samuel Franklin Cody) เสนอให้ใช้ว่าว ยกผู้โดยสาร เพื่อนำกล้องส่องทางไกล โทรศัพท์ กล้องถ่ายภาพ และ ปืน ขึ้นไปสอดแนมข้าศึก ภาพนี้ถ่ายเมื่อปี ค.ศ.1903 ขณะที่ โคดี้ บังคับว่าวให้ลอยต่ำลง
ที่มา : Samuel Franklin Cody and man-lifting kites

ว่าวยกคน
ในปี ค.ศ.1894 Baden Baden-Powell สร้างว่าวยักษ์สูง 36 ฟุต ที่สามารถยกตัวเขาขึ้นจากพื้นได้ และในปลายปีเดียวกัน เขาก็ประดิษฐ์ว่าวสูง 12 ฟุต จำนวน 5 ตัว ที่สามารถยกตัวเขา ที่หนัก 150 ปอนด์ สูงจากพื้นได้ 100 ฟุต
ที่มา : The Early History of Air Scouting

ว่าวยกคน
ว่าวกล่องฮาแกรฟ ของ ฮิวจ์ ดี ไวส์ว่าวยกคน
ว่าวสายของเปอร์กิ้นส์

การสงคราม (ซ้อมรบ)
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 (ค.ศ.1939-1945) ทหารเรืออเมริกันใช้ว่าวติดภาพเครื่องบิน เพื่อใช้ซ้อมยิง มีชื่อเรียกว่า U.S.Navy Target Kite

ว่าวเป้า เป็นว่าวที่ประดิษฐ์โดย Paul Garber เพื่อให้ทหารปืนต่อสู้อากาศยานซ้อมยิง ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ในเวลาต่อมา เขาเป็นผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์อากาศและอวกาศแห่งชาติ (National Air & Space Museum)

ว่าวเป้า

การก่อสร้าง
ในประเทศญี่ปุ่น มีการใช้ว่าวขนาดใหญ่เพื่อขนส่งแผ่นกระเบื้อง และอิฐ ในตะกร้าขนาดใหญ่ ไปให้กับช่างก่อสร้างหอคอย
ที่มา : www.design-technology.org

ในศตวรรษที่ 17 สถาปนิกชาวญี่ปุ่น ชื่อ คาวามูระ ซุยเคน (Kawamura Zuiken) ใช้ว่าวเพื่อขนส่งช่างก่อสร้าง ขึ้นไปยังหลังคาวัดที่เขาดำเนินการสร้าง
ที่มา : man-lifting kite: Information from Answers.com

เดือนมกราคม ปี ค.ศ.1848 Charles Ellet Jr. of Philadelphia ได้รับสัญญาจ้างให้สร้างสะพานข้ามแม่น้ำไนแอการ่า บริเวณ Whirlpool Gorge ที่มีความกว้าง 800 ฟุต และหน้าผาสูงถึง 225 ฟุต อุปสรรคของการก่อสร้างคือต้องส่งเชือกเส้นแรกข้ามฝั่งให้ได้เสียก่อน ในขณะนั้น มีผู้ให้ไอเดียหลายแบบ ตั้งแต่การใช้จรวด, ปืนใหญ่, เรือ แต่ในที่สุด ก็มีการจัดการแข่งขันว่าว ชื่อ The Niagara Gorge Kite Contest เพื่อหาคนที่ประสบความสำเร็จในการส่งว่าวข้ามช่องแคบ

ในที่สุด เด็กชาวอเมริกัน อายุ 15 ปี ชื่อ Homan Walsh ส่งว่าวชื่อ Union จากฝั่งแคนาดา ไปลงยังฝั่งอเมริกาได้เป็นผลสำเร็จ เมื่อวันที่ 30 มกราคม ค.ศ.1848 (โดยประมาณ) และได้รับรางวัลเงินสดจำนวน 5 หรือ 10 อเมริกันดอลล่าร์


การขนส่งคน
ตำนานของซามูไรที่มีชื่อเสียง ชื่อ มินาโมโตะ โนะ ทาเมะโตโมะ (Minamoto-no-Tametomo) ที่ถูกเนรเทศไปยังเกาะร้าง พร้อมกับลูกชาย เขาไม่อยากให้ลูกชายต้องอยู่บนเกาะร้างตลอดชีวิต จึงสร้างว่าวขนาดยักษ์ เพื่อส่งลูกชายกลับไปยังแผ่นดินใหญ่
ที่มา : www.design-technology.org

ในเดือนพฤศจิกายน ปี ค.ศ.1903 ซามูเอล แฟรงคลิน โคดี้ ประสพความสำเร็จในการใช้ว่าวลากเรือข้ามช่องแคบอังกฤษ จาก Calais ไป Dover โคดี้ต้องทิ้งสมอด้านหลังเรือเพื่อให้ครูดพื้นทะเล เพื่อให้มีแรงต้านที่เพียงพอให้สายว่าวมีความตึงตลอดเวลา

หลังจากที่โคดี้ประสบความสำเร็จในการยกผู้โดยสารขึ้นสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ ณ ความสูง 2,600 ฟุต ใช้เชือกยาว 4,000 ฟุต รัฐบาลก็ยอมให้โคดี้ใช้ว่าวในการสังเกตุการณ์ ในปี ค.ศ.1906

เดือนมิถุนายน 2549 Anne Quemere สร้างประวัติศาสตร์โดยเป็นแรกที่เดินทางข้ามมหาสมุทรแอนแลนติคเหนือ โดยใช้ว่าวลากเรือ

ที่มา : PedalTheOcean.com: Oct 1, 2006

ในปี ค.ศ.1822 George Po ประดิษฐืว่าวยกคนขึ้นไปบนหน้าผา และในปี ค.ศ.1880 เขาก็ได้เริ่มการพัฒนาอย่างจริงจัง

การยกคนโดยว่าว มีการบันทึกอย่างเป็นทางการ ณ Pirbight Camp ในปี ค.ศ.1894 ในช่วงต้นของทศวรรษ ค.ศ.1890 กัปตัน บาเดน พาวเวลล์ (Captain B.F.S Baden-Powell) สมาชิกของ the founder of the scouting movement ออกแบบว่าวยกคน (Levitor Kite) ที่มีรูปร่างหกเหลี่ยม เพื่อใช้ยกผู้สังเกตุการณ์ และเสาอากาศไร้สาย เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน ค.ศ.1894 เขาใช้ว่าวยกคนขึ้นไปสูง 50 ฟุต (15.25 เมตร) และในปลายปีนั้นเอง เขาก็สามารถยกคนได้สูงถึง 100 ฟุต (30.5 เมตร)

ว่าวของบาเดน (Baden-Powell's kites) ถูกส่งไปอาฟริกาใต้ เพื่อใช้ในการสงครามโบเออร์ (Boer War) แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ว่าวดังกล่าว ไม่ได้ถูกใช้งาน เนื่องจากสงครามจบลงเสียก่อน

ลอว์เลนซ์ ฮาเกรฟ (Lawrence Hargrave) ประดิษฐ์ว่าวกล่อง ในปี ค.ศ.1885 เขาได้ทดสอบการใช้ว่าวยกตัวเอง ในวันที่ 12 พฤศจิกายน ค.ศ.1894 ที่หาดใน Stanwell Park, New South Wales โดยใช้กว้าน 4 ตัว ยึดว่าวกับอุปกรณ์บนพื้นดินโดยสายลวดเปียโน ว่าวฯ ยกตัวของฮาเกรฟ สูงขึ้น 16 ฟุต (4.9 เมตร) ที่มีน้ำหนักรวมทั้งสิ้น 208 กิโลกรัม (94.5 กิโลกรัม)

ซามูเอล โคดี้ (Samuel Cody) ประดิษฐ์ว่าวชื่อ Bat ที่เขาเสนอให้ใช้ในการสังเกตุการณ์ในช่วงสงคราม เขาประสพความสำเร็จในการข้ามช่องแคบอังกฤษด้วยเรือที่ลากจูงโดยว่าว และทำให้ War Office ของ อังกฤษ อนุญาตให้เขาทำการทดลองต่อในปี ค.ศ.1904-1905 เขายกผู้โดยสารขึ้นสูงเป็นประวัติการณ์ที่ 2,600 ฟุต (792 เมตร) โดยใช้สายยาว 4,000 ฟุต (1,219 เมตร)

War Office ยอมรับการออกแบบว่าวของโคดี้ ในปี ค.ศ.1906 ว่าวดังกล่าวถูกใช้ในงานสังเกตุการณ์มาเรื่อยๆ จนกระทั่งถูกแทนที่ด้วยเครื่องบินในที่สุด

ว่าวยกคน 

การส่งไปรษณีย์
ว่าวไปรษณีย์ (Airmail Kite) มีความสำคัญในการใช้ส่งไปรษณีย์ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ไม่มีพื้นที่ให้เครื่องบินลงจอด เช่น Aleutians และ South Pacific ว่าวนี้ยังใช้ในการส่งข้อความระหว่างเรือขณะอยู่ในทะเล และใช้ส่งข้อความจากเรือให้เครื่องบิน โดยการยึดกระดาษไว้กับเคเบิลที่ผูกระหว่างว่าว 2 ตัว แล้วให้เครื่องบินใช้ตะขอยาวเกี่ยวเคเบิลไป

ว่าวไปรษณีย์ 

การโจรกรรม
เรื่องเล่าของประเทศญี่ปุ่น กล่าวถึงโจรที่ชื่อว่า อิชิกาว่า โกะเอม่อน (Ishikawa Goemon) ที่ใช้ว่าวเพื่อขโมยตาชั่งทองคำจากรูปปั้นปลาคู่ที่ติดตั้งบนหลังคาปราสาทนาโกย่า


การขนส่งทางทะเล
บริษัทของเยอรมนี ชื่อ SkySails ออกแบบว่าวขนาดใหญ่ เพื่อลากจูงเรือในมหาสมุทร โดยเฉพาะเรือขนส่งสินค้า (Cargo Ships) และ เรือยอร์ชขนาดใหญ่ (Superyachts) ทางบริษัทฯ อ้างว่าว่าวลากจูง (Towing Kites) นี้ สามารถลดค่าใช้จ่ายน้ำมันลงได้เฉลี่ย 10-35% ต่อปี ในกรณีที่มีสภาพลมดี อาจสามารถลดค่าใช้จ่ายลงได้ถึง 50% เลยทีเดียว

ระบบว่าวลากจูงแรก ที่ใช้ในปี 2007 จะมีพื้นที่ถึง 320 ตารางเมตร และทางบริษัทฯ จะเริ่มผลิตว่าวฯ อย่างต่อเนื่องในปี 2008

SkySailsระบบว่าวลากจูง ประกอบด้วย ว่าวขนาดใหญ่, เชือกลากจูง, ฝักควบคุมว่าว (Control Pod), กว้าน, ระบบปล่อยและเก็บว่าว, และ ระบบควบคุม

KiteShip ก็เป็นอีกบริษัทหนึ่ง ที่ออกแบบว่าวเพื่อการลากจูงเรือ
KiteShip KiteShip


การประมง

ชาวประมงเอเซียยังมีการใช้ว่าวเพื่อจับปลา โดยติดสายยาวที่ว่าว และติดตะขอที่ปลายสาย

ข้อดีของการใช้ว่าวจับปลา คือ จะไม่มีเงาบนผิวน้ำให้ปลาตื่นกลัว และทำให้ชาวประมงสามารถตกปลาในระยะไกลๆ ได้

ว่าวจับปลา อาจทำจากใบไม้ขนาดใหญ่ ประกอบกับไม้ไผ่
ที่มา : www.design-technology.org

ว่าวตกปลา


การฝึกนกเหยี่ยว
มีการใช้ว่าวเดลต้า (Delta Kite) ในการฝึกนกเหยี่ยว 
ว่าวฝึกเหยี่ยว

การเสี่ยงทาย

ในศตวรรษที่ 13 มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับการเสี่ยงทายว่าเรือที่จะออกเดินทางจะประสบความสำเร็จหรือไม่? โดยการบังคับให้คนอยู่ในว่าว หากว่าวขึ้นได้เรียบร้อย เชื่อกันว่าการเดินทางของเรือจะประสบความสำเร็จ หากว่าวไม่ขึ้น เรือก็จะต้องรออยู่ในท่าเรือในปีนั้น 

ใช้เป็นเครื่องบูชา

อาจฟังดูแปลกๆ แต่หากเคยไปเยือนวัดมหาธาตุเมืองเชลียง และได้นมัสการพระพุทธรูป "พระร่วง-พระลือ" ซึ่งเป็นพระพุทธรูปคู่ ที่ประดิษฐานอยู่ในวิหารด้านหน้าสุด จะเห็นว่าวจุฬา-ปักเป้า ตั้งรวมอยู่กับเครื่องบูชาอื่นๆ ด้วย ทั้งนี้ จากการที่เล่ากันมาว่า หากใครต้องการมีบุตรอย่างได้ผลแน่นอนแล้ว ให้นำ ว่าวจุฬา-ปักเป้า มาเป็นเครื่องบูชาด้วย เอ้า... ใครยังไม่มีบุตร ลองได้นะครับ :-)


PS.  ขอบคุณทุกรอยยิ้ม และเสียงหัวเราะ

แสดงความคิดเห็น

>

2 ความคิดเห็น