Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

พระมหาชนก

ตั้งกระทู้ใหม่
ตั้งกระทู้ใหม่
พระมหาชนก เป็น วรรณคดีทางพุทธศาสนาที่ปรากฏอยู่ในทศชาติชาดก ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงสดับพระธรรมเทศนาของ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (วิน ธมมสารมหาเถร) วัดราชผาติการาม ในปี ๒๕๒๐ หลังจากนั้นได้ทรงสนพระราชหฤทัย และได้ทรงค้นต้นเรื่องพระมหาชนกในพระไตรปิฎกและได้ทรงแปลเป็นภาษาอังกฤษจากต้นเรื่องมหาชนกชาดกในพระไตรปิฎก และได้ทรงดัดแปลงเพื่อให้สามารถเข้าใจง่ายและเหมาะสมกับสังคมปัจจุบันจากเค้าเรื่องเดิมที่พระมหา ชนกประสบความสำเร็จในราชการบ้านเมืองและสละราชสมบัติเสด็จออกผนวช แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริว่ายังไม่ถึงเวลาที่สมควรจะผนวชด้วยบ้านเมืองยังเจริญไม่ครบถ้วนและคนหมู่เหล่าต่าง ๆ ยังขาดภูมิปัญญา จึงต้องจัดการบำรุงการศึกษาซึ่งแสดงถึงการบำเพ็ญบารมีของ พระมหาชนกด้วยวิริยะบารมีอันประกอบด้วยความเพียรอย่างยิ่งยวด
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงมีกระแสพระราชดำรัสถึงหนังสือพระราชนิพนธ์พระมหาชนก เมื่อครั้งที่ได้มีการให้คณะสื่อมวลชน ศิลปิน และผู้พิมพ์และผู้จัดจำหน่ายเข้าเฝ้าฯ ถวายรายงานด้านต่าง ๆ ที่สวนจิตรลดา เมื่อวันที่ ๒๘ สิงหาคม ๒๕๓๕ ว่า "เป็นโอกาสตามปกติที่จะเปิดเผยหนังสือ เปิดเผยให้คนทราบว่ามีหนังสือจะออกจำหน่ายและโฆษณาว่ามีอะไรบ้าง และต้องขอขอบใจคณะทำงานที่ทำให้หนังสือสำเร็จได้ โดยเฉพาะศิลปินที่เขียนรูปประกอบ ต้องคิดมากเหนื่อยมากเพราะเป็นงานพิเศษ ขอรับรองว่าผลงานที่ออกมาใช้ได้ดีและคงเป็นที่ชอบใจของผู้ซื้อ"
เกี่ยวกับพระราชนิพนธ์เรื่องนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระบรมราชาธิบายว่า "ประกอบด้วยหลายส่วน ภาษาไทยมาจากพระไตรปิฎก คือแปลออกจากดั้งเดิม และมีส่วนที่ดัดแปลงตัวหนังสือบางอย่าง และคำที่ไม่ตรงกับความคิด แปลงบ้าง จนในที่สุดก็มีความคิดออกมาเป็นอย่างหนังสือนี้ที่ตกแต่งใหม่ให้เป็นประโยชน์ต่อสังคมปัจจุบัน ส่วนภาษาอังกฤษก็แปลตรงจากภาษาไทย มีทั้งคำเก่าคำใหม่ เป็นภาษาอังกฤษที่บางคนอาจจะฉงน เป็นภาษาที่แปลกเพราะเป็นเรื่องเก่าโบราณนับเวลาไม่ได้ ภาษาที่ใช้ก็ต้องโบราณ คนที่อ่านภาษาอังกฤษได้ก็ต้องดูภาษาไทย คนอ่านภาษาไทยก็ต้องดูภาษาอังกฤษ เป็นประโยชน์ต่อผู้ชอบศึกษาด้านภาษา เป็นการขัดเกลาภาษาอังกฤษสำหรับผู้รู้ภาษาอังกฤษ และขัดเกลาภาษาไทยสำหรับผู้รู้ภาษาไทย และยังมีภาษาบาลีเป็นอักษรเทวนาครีที่มีผู้รู้น้อยอีกด้วย"
หัวใจของบทพระราชนิพนธ์เรื่องนี้คือเรื่องของความเพียร ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีกระแสพระราชดำรัสถึงแก่นของเรื่องว่า "การแสดงออกซึ่งความคิดหลักของชาดกคือมีความเพียร ซึ่งจะต้องมีและสำคัญที่สุด พระมหาชนกว่ายน้ำไปทั้งที่ไม่เห็นฝั่งแต่ก็ว่ายต่อไป การว่ายน้ำในมหาสมุทรที่ไม่เห็นฝั่งมีประโยชน์อะไร ถ้าหากไม่ได้ว่ายน้ำ ๗ วัน ๗ คืนก็ไม่ได้พบเทวดาและนางมณีเมขลามาช่วย คนอื่น ๆ ที่ไม่ได้ว่ายน้ำต้องตกเป็นอาหารของปลาเต่า เมื่อไม่เห็นฝั่งก็ต้องใช้ความเพียรว่ายน้ำต่อไปถึงจะรอด อย่างอื่นก็ต้องเป็นเหมือน ๆ กัน"

แสดงความคิดเห็น

>