Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

สังคมไทยในสมัยอยุธยา

ตั้งกระทู้ใหม่
ตั้งกระทู้ใหม่

สังคมและกฎหมายอยุธยา

สังคมไทยสมัยกรุงศรีอยุธยา แม้ว่าจะต่อเนื่องมาจากสังคมสมัยสุโขทัย แต่ก็ได้มีความเปลี่ยนแปลงแตกต่างไปจากสังคมสมัยสุโขทัยหลายด้าน ทั้งนี้ก็เพราะว่าสถาบันสูงสุดของการปกครองได้เปลี่ยนฐานะไป นั่นคือ พระมหากษัตริย์ได้เปลี่ยนฐานะจากมนุษยราชในสมัยสุโชทัยเป็นเทวราชขึ้นในสมัยอยุธยา เปลี่ยนจากฐานะความเป็น "พ่อขุน" มาเป็น "เจ้าชีวิต" ของประชาชนซึ่งเป็นผลให้ระบบและสถาบันทางการปกครองต่างๆ แตกต่างไปจากสังคมไทยสมัยสุโขทัยด้วย
  ชนชั้นของสังคมสมัยอยุธยา 
           สังคมอยุธยา เป็นสังคมที่เต็มไปด้วยชนชั้น นับตั้งแต่การแบ่งแยกชนชั้นอย่างเด็ดขาด ระหว่างกษัตริย์กับราษฎรแล้ว พระบรมวงศานุวงศ์ ก็มีอันดับสูงต่ำลดหลั่นกันเป็นชั้นๆ ในหมู่ราษฎร ก็มีการแบ่งชนชั้นกันเป็นชนชั้นผู้ดีกับชนชั้นไพร่ ในหมู่ข้าราชการก็มีศักดินาเป็นตัวกำหนดความสูงต่ำของข้าราชการในชนชั้นต่างๆ ซึ่งชนชั้นต่างๆ เหล่านี้ จะก่อให้เกิดมีสิทธิในสังคมอยุธยาขึ้นแตกต่างกันด้วย
           ชนชั้นสูงสุดในสมัยอยุธยาคือพระบรมวงศานุวงศ์ ส่วนข้าราชการหรือขุนนางนั้น ก็แบ่งเป็นชั้นๆ ลดหลั่นกันไปตามลักษณะหน้าที่และความรับผิดชอบ พร้อมกับตำแหน่งหน้าที่แล้ว ราชการสมัยอยุธยายังมีศักดินาซึ่งมากน้อยตามตำแหน่งหน้าที่ ระบบศักดินานี้เป็นระบอบของสังคมอยุธยาโดยแท้ เพราะศักดินานั้น ทุกคนต้องมีตั้งแต่ขุนนางชั้นผู้ใหญ่ พระบรมวงศานุวงศ์ลงไปจนถึงข้าราชการชั้นผู้น้อย และประชาชนธรรมดา จำนวนลดหลั่นลงไป
           นอกจากจะแบ่งตามหน้าที่ตำแหน่งและความรับผิดชอบแล้ว ชนชั้นในสังคมอยุธยา ยังแบ่งออกกว้างๆ เป็นสองชนชั้นอีก คือ ผู้มีศักดินาตั้งแต่ ๔๐๐ ขึ้นไป เรียกว่าชนชั้นผู้ดี ส่วนที่ต่ำลงมาเรียกว่า “ไพร่” แต่ไพร่ก็อาจเป็นผู้ดีได้ เมื่อได้ทำความดีความชอบเพิ่มศักดินาของตนขึ้นไปถึง ๔๐๐ แล้ว และผู้ดีก็อาจตกลงมาเป็นไพร่ได้หากถูกลดศักดินาลงมาจนต่ำกว่า ๔๐๐
           การเพิ่มการลดศักดินาในสมัยอยุธยาก็อาจทำกันง่ายๆ หากได้ทำความดีความชอบหรือความผิด การแบ่งคนออกเป็นชนชั้นไพร่ และชนชั้นผู้ดีเช่นนี้ ทำให้สิทธิของคนในสังคมแต่ละชั้นต่างกัน สิทธิพิเศษต่างๆ ตกไปเป็นของชนชั้นผู้ดีตามลำดับของความมากน้อยของศักดินา เช่นผู้ดีเองและคนในครอบครัวได้รับยกเว้นไม่ถูกเกณฑ์ไปใช้งานราชการ ในฐานะที่เรียกกันว่า เลก เมื่อเกิดเรื่องศาล ผู้ดีก็ไม่ต้องไปศาล เว้นแต่ผิดอาญาแผ่นดิน เป็นขบถ ธรรมดาผู้ดีจะส่งคนไปแทนตนในโรงศาล มีทนายไว้ใช้เป็นการส่วนตัว นอกจากนั้น ก็ยังมีสิทธิเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทได้ในขณะที่เสด็จออก ขุนนาง เมื่อมีสิทธิก็ต้องมีหน้าที่ ผู้ดีที่มีศักดินาสูงๆ จะต้องคุมคนไว้จำนวนหนึ่ง เพื่อรับราชการทัพได้ในทันทีเมื่อพระมหากษัตริย์เรียก เช่น ผู้มีศักดินา ๑๐,๐๐๐ และมีหน้าที่บังคับบัญชากรมกอง ซึ่งมีไพร่หลวงสังกัดอยู่ ก็ต้องรับผิดชอบกะเกณฑ์คนแข็งแรงและมีประสิทธิภาพด้วย
           สังคมอยุธยานั้น กฎหมายกำหนดให้ทุกคนต้องมีนาย ตามกฎหมาย ลักษณะรับฟ้องมาตรา ๑๐ กล่าวว่า "ราษฎรรับฟ้องร้องด้วยคดีประการใดๆ แลมิได้สังกัดมูลนายอย่าพึงรับไว้บังคับบัญชาเป็นอันขาดทีเดียว ให้ส่งตัวผู้นั้นแก่สัสดี เอาเป็นคนหลวง" จะเห็นว่า ไพร่ทุกคนของสังคมอยุธยาต้องมีสังกัดมูลนายของตนไม่มีนายสังกัดกฎหมายไม่รับผิดชอบในการพิทักษ์รักษาชีวิตและทรัพย์สิน ไพร่จะต้องรับใช้ชาติในยามสงคราม จึงต้องมีสังกัดเพื่อจะเรียกใช้สะดวก” เพราะในสมัยอยุธยานั้น ไม่มีทหารเกณฑ์หรือทหารประจำการในกองทัพเหมือนปัจจุบัน จะมีก็แต่กองทหารรักษาพระองค์เท่านั้น นอกจากนั้น เป็นเพราะสมัยแรกตั้งกรุงศรีอยุธยา ต้องใช้ชายฉกรรจ์จำนวนมากในการปกป้องข้าศึก ศัตรู ความจำเป็นของสังคมจึงบังคับให้ราษฎรต้องมีนาย เพราะนายจะเป็นผู้เกณฑ์กำลังไปให้เมืองหลวงป้องกันภัยจากข้าศึกศัตรู และนายซึ่งต่อมากลายเป็น "เจ้าขุนมูลนาย" ต้องมีความรับผิดชอบต่อลูกหมู่ของตน ถ้านายสมรู้ร่วมคิดกับลูกหมู่ทำความผิด ก็ถูกปรับไหมตามยศสูงต่ำ และหากลูกหมู่ของตนถูกกล่าวหาว่าเป็นโจรปล้นทรัพย์ มูลนายก็ต้องส่งตัวลูกหมู่ให้แก่ตระลากร สังคมอยุธยาจึงเป็นสังคมที่ต้องมีความรับผิดชอบมากอยู่ มีกฎเกณฑ์ต่างๆ มากมาย เพราะลักษณะและองค์ประกอบของสังคมซับซ้อนกว่าสังคมสุโขทัย

ระบบราชการสมัยกรุงศรีอยุธยา
           ลักษณะสังคมไทยที่น่าสนใจอยู่อีกประการหนึ่งคือ ระบบราชการ ซึ่งเป็นเครื่องผูกมัดราษฎรให้มีภาระต่อแผ่นดิน ชีวิตคนไทยได้ผูกพันอยู่กับราชการมาตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึงปัจจุบัน
           ข้าราชการในสมัยอยุธยา เรียกว่า ขุนนาง มียศหรือบรรดาศักดิ์ชั้นพระยาหรือออกญาเป็นชั้นสูงสุด และลดลงไปตามลำดับคือ เจ้าหมื่น พระ จมื่น หลวง ขุน จ่า หมื่น และพัน ส่วนเจ้าพระยา และสมเด็จพระยานั้น เกิดในตอนปลายๆ สมัยอยุธยา ส่วนยศ เจ้าหมื่น จมื่น และจ่านั้น เป็นยศที่ใช้กันอยู่ในกรมหาดเล็กเท่านั้น ส่วนตำแหน่งข้าราชการสมัยอยุธยาก็มี อัครมหาเสนาบดี เสนาบดี จางวาง เจ้ากรม ปลัดกรม และสมุหบัญชี เป็นต้น ตำแหน่งอัครมหาเสนาบดี และเสนาบดีนั้นในระยะแรกๆ มีบรรดาศักดิ์เป็นพระยา ต่อมาในระยะหลังๆ ก็เป็นเจ้าพระยาไปหมด ส่วนตำแหน่งอื่นๆ ตั้งแต่ จางวาง เจ้ากรม ปลัดกรมลงมาจนถึงสมุบัญชีนั้น มีบรรดาศักดิ์เป็นพระยาบ้าง พระบ้าง จนถึงหลวง และขุนตามความสำคัญของตำแหน่งนั้นๆ
      ข้าราชการในสมัยอยุธยา ไม่ได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินเดือนหรือเงินปี ได้รับพระราชทานเพียงที่อยู่อาศัยและเครื่องอุปโภคบริโภคบางอย่าง เช่น บเงินใช้ใส่พลู ศาตราวุธ เรือยาว สัตว์ พาหนะ เลกสมกำลังและเลกทาสไว้ใช้สอย ที่ดินสำหรับทำสวนทำไร่ แต่เมื่อออกจากราชการแล้วก็ต้องคืนเป็นของหลวงหมดสิ้น

ไพร่สมัยอยุธยา
          ระบบราชการของอยุธยานั้น ได้นำคนลงเป็นไพร่ สังคมอยุธยาจึงมีไพร่มีนาย ตามจดหมายเหตุลาลูแบร์กล่าวไว้ว่า "ประชาชนชาวสยามรวมกันเป็นกองทหารรักษาดินแดน" ซึ่งทุกคนต้องขึ้นทะเบียนหางว่าวกรมสุรัสวดีเข้าไว้ทั้งหมด ทุกคนเป็นพลรบต้องเกณฑ์เข้าเดือนรับราชการในพระองค์ปีละ ๖ เดือน
           พลเมืองทั้งสิ้นต้องขึ้นทะเบียนเป็นหลักฐานไว้โดยแบ่งออกเป็นฝ่ายขวาฝ่ายซ้าย เพื่อทุกคนรู้ว่าตนต้องขึ้นสังกัดหน้าที่ฝ่ายใด นอกจากนั้น ยังแบ่งส่วนราชการออกเป็นกรมอีก แต่ละกรมมีหัวหน้าคนหนึ่งเรียกว่า นาย จนกระทั่งนายนี้เป็นคำแสดงความเคารพยกย่องที่ใช้กันทั่วไป
           แม้ระเบียบการปกครองสมัยอยุธยาจะแบ่งแยกอำนาจหน้าที่ออกเป็นฝ่ายทหารและ พลเรือน แต่ก็ปรากฏว่าใช้ได้แค่ยามปรกติเท่านั้น พอเกิดสงครามขึ้น เจ้านายทั้งฝ่ายทหารและพลเรือนก็ต้องเข้าประจำกองตามทำเนียบตน ทั้งนี้เพราะกำลังพลมีน้อย ไม่อาจแยกหน้าป้องกันประเทศไว้กับทหารฝ่ายเดียวได้ จำเป็นต้องใช้หลักการรวม จึงทำให้ชายฉกรรจ์ทุกคนต้องเป็นทหาร สมัยอยุธยาและสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นเรียกว่า “ไพร่” ไพร่เป็นคำที่กินความกว้างขวาง เพราะผูกพันอยู่กับราชการมากกว่าทหารปัจจุบัน ในสมัยอยุธยา ไพร่คือ ประชาชนที่สังกัดมูลนายต่างๆ มีหน้าที่และความรับผิดชอบแยกออกได้ดังนี้
           ๑. ไพร่หลวง หมายถึง ไพร่ที่สังกัดวังหลวงหรือพระเจ้าแผ่นดิน ไพร่หลวงจะต้องถูกเกณฑ์เข้ารับราชการปีละ ๖ เดือนคือเข้าเดือนหนึ่งออกเดือนหนึ่งสลับกันไป ถ้าไม่อยากถูกเกณฑ์เข้ารับราชการก็จะต้องเสียเงินแทน ซึ่งอาจจะเป็นเดือนละ ๔-๖ บาท ไพร่หลวงจะต้องสังกัดอยู่ในกรมพระสัสดีซ้าย ขวา นอก ใน ไพร่หลวงที่เป็นชายเมื่อเกิดศึกสงครามก็จะต้องออกรบได้
           ๒. ไพร่สม หมายถึง ไพร่ที่สังกัดบรรดาเจ้านายหรือขุนนางใหญ่น้อยทั้งหลายในยามปรกติก็ถูกเกณฑ์ แรงงานหรือรับราชการ ถ้าเกิดศึกสงครามผู้เป็นชายก็จะต้องออกรบ มีบางครั้งพวกไพร่หลวงหนีไปสมัครเป็นไพร่สมอยู่กับเจ้านาย กฎหมายอยุธยามีบทลงโทษถึงจำคุกและถูกเฆี่ยนถ้าหากจับได้
           นอกจากนั้น กฎหมายอยุธยายังได้กำหนดอีกว่า ถ้าพ่อกับแม่สังกัดแตกต่างกันเช่นคนหนึ่งเป็นไพร่หลวง อีกคนหนึ่งเป็นไพร่สม ลูกที่เกิดออกาจะต้องแยกสังกัดตามที่กฎหมายกำหนด
           ๓. ไพร่ราบ หมายถึง ไพร่ที่สังกัดมูลนาย มีอายุระหว่าง ๑๓-๑๗ ปี มีศักดินาระหว่าง ๑๕
           ๔. ไพร่ส่วย คือ พวกที่ยกเว้นไม่ต้องถูกเกณฑ์เข้ามารับราชการแต่จะต้องส่งสิ่งของมาให้หลวงแทน เช่น อาจจะเป็นดีบุก ฝาง หญ้าช้าง ถ้าไม่นำสิ่งของเหล่านี้มาจะต้องจ่ายเงินแทน
           ๕. เลก เป็นคำรวมที่ใช้เรียกไพร่หัวเมืองทั้งหลายตลอดจนข้าทาส พวกเลกหัวเมือง ยังขึ้นกับกระทรวงใหญ่ ๒ กระทรวง คือ กระทรวงมหาดไทย และกลาโหม มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา
  ทาสสมัยอยุธยา
          เป็นที่ยอมรับกันว่า สังคมอยุธยามีทาสไว้ใช้ ทาสเป็นชนชั้นอีกชนชั้นหนึ่งของสังคมสมัยอยุธยาและกฎหมายอยุธยาก็ได้ยอมรับการมีทาส มีบทบัญญัติเกี่ยวกับทาสไว้มากมายและได้แบ่งประเภทของทาสไว้ ๗ พวกด้วยกันคือ
           ๑. ทาสสินไถ่
           ๒. ทาสเกิดในเรือนเบี้ย
           ๓. ทาสได้มาแต่บิดามารดา
           ๔. ทาสท่านให้
           ๕. ทาสอันได้ช่วยเหลือในยามโทษทัณฑ์
           ๖. ทาสอันได้เลี้ยงมาเมื่อเกิดทุพภิกขภัย
           ๗. ทาสอันได้ด้วยเชลย
           จะเห็นว่า ทาสในสมัยอยุธยานั้น เป็นทาสที่ถูกกฎหมายคุ้มครอง เป็นทาสที่มีสภาพเป็นมนุษย์และเป็นพลเมืองของชาติอย่างสมบูรณ์ ฉะนั้นคนไทยในสมัยอยุธยาจึงสมัครใจจะเป็นทาสมากกว่าจะเป็นขอทาน เพราะอย่างน้อยก็มีข้าวกิน มีที่อยู่อาศัยโดยไม่เดือดร้อน


ชีวิตความเป็นอยู่และประเพณีบางอย่างสมัยอยุธยา
           การก่อรูปสังคมนั้น โดยทั่วไปย่อมเป็นหมู่บ้านตามที่อุดมสมบูรณ์พอจะเพาะปลูกเพื่อยังชีพได้ เช่น บริเวณลุ่มแม่น้ำ ลักษณะการก่อรูปของสังคมไทยโบราณก็เป็นไปลักษณะนี้
           ๑. บ้านเรือนสมัยอยุธยา สร้างเป็นหลังขนาดย่อมๆ 
           ๒. ผู้หญิงต้องรับผิดชอบต่อครอบครัวมากกว่าผู้ชาย
           ๓. ชอบเล่นการพนันกันอย่างกว้างขวาง
           ๔. ชอบสูบยาเส้น และสูบกันอย่างกว้างขวาง
           ๕. นิยมให้ลูกชายได้ศึกษาเล่าเรียนโดยใช้วัดเป็นสถานศึกษา
           การเลื่อนชนชั้นในสังคมอยุธยาแม้ไม่มีกฎข้อห้ามในทางทฤษฎีว่าเลื่อนชั้นไม่ได้แบบอินเดีย แต่ในทางปฏิบัติ มักจะทำได้ยากเพราะขุนนางย่อมไม่สนับสนุนไพร่ให้เข้ารับราชการซ้ำยังกีดกันเพราะอำนาจ อภิสิทธิ์ เกียรติยศที่ขุนนางได้รับได้มาเพราะตำแหน่งราชการ เมื่อออกจากราชการก็จะหมดทั้งอำนาจ อภิสิทธิ์และเกียรติยศ  จึงไม่สนับสนุนบุคคลอื่นให้เข้ารับราชการนอกจากลูกหลานของตนเอง

การเปลี่ยนแปลงทางสังคม

           หลังการปฏิรูปการปกครองมีการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่สำคัญ ๒ ประการ คือ การขึ้นมามีอำนาจของชนชั้นขุนนาง และการรับวิทยาการจากตะวันตก

           การขึ้นมามีอำนาจของชนชั้นขุนนางได้กล่าวมาแล้วว่า รูปแบบการปกครองที่สมเด็จพระบรมไตรโลกนารถทรงปฏิรูปจัดขึ้นใหม่นั้น ใช้ระบบขุนนางเป็นเครื่องมือในการบริหารด้วยเหตุนี้หลังการปฏิรูปการปกครองชนชั้นขุนนางจึงมีอำนาจทางการเมืองเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม อย่างไรก็ตามนับตั้งแต่หลังการปฏิรูปการปกครองมาจนถึงช่วงเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่าในปี พ.ศ.๒๑๑๒  แม้ว่าชนชั้นขุนนางจะมีอำนาจทางการเมืองมากขึ้น แต่ก็ยังมิได้มีอำนาจถึงขีดสูงสุด
           ในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช (พ.ศ.๒๑๓๓-๒๑๔๘) ได้มีการปรับปรุงระบบการปกครองอีกครั้งหนึ่ง กล่าวคือได้ยกเลิกการส่งเจ้านายบางพระองค์ไปปกครองหัวเมืองชั้นนอกเช่น เมืองพิษณุโลกให้บรรดาเจ้านายประทับในเมืองหลวง  และให้พวกขุนนางเป็นผู้รับผิดชอบปกครองหัวเมืองทั้งหมด การปรับปรุงการปกครองครั้งนี้ ทำให้อำนาจของชนชั้นเจ้านายลดน้อยลงยิ่งกว่าเดิม  ส่วนอำนาจของชนชั้นขุนนางซึ่งเพิ่มมากขึ้นตั้งแต่หลังการปฏิรูปการปกครองได้ทวีมากยิ่งขึ้นถึงขีดสูงสุด  จนขุนนางผู้ใหญ่ท่านหนึ่งสามารถตั้งตนเป็นพระมหากษัตริย์ได้ในปี พ.ศ.๒๑๗๒ ขุนนางผู้นั้นคือเจ้าพระยากลาโหม สุริยวงศ์ผู้ซึ่งได้แย่งชิงราชสมบัติจากพระอาทิตย์วงศ์เยาวกษัตริย์แห่งราชวงศ์สุโขทัย แล้วตั้งตนเองขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ ทรงพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง(พ.ศ.๒๑๗๒-๒๑๙๙) กล่าวได้ว่าตลอดระยะเวลาสี่ร้อยปีเศษของประวัติศาสตร์อยุธยา ปัญหาการเมืองการปกครองข้อหนึ่งที่อยุธยาประสบอยู่ตลอดเวลาคือการถ่วงดุลอำนาจชนชั้นเจ้านายและชนชั้นขุนนางให้อยู่ในดุลที่เหมาะสม  ให้เจ้านายและขนนางคานอำนาจกันเอง เพื่อจะได้ไม่เป็นภัยต่อราชบัลลังก์ซึ่งเป็นสิ่งที่กระทำได้ยากยิ่ง ในสมัยอยุธยาตอนต้นก่อนการปฏิรูปการปกครองเจ้านายผู้ครองเมืองลูกหลวง เมืองหลานหลวง มีอำนาจทางการเมืองมากก่อให้เกิดปัญหาการแย่งชิงราชสมบัติทุกครั้งที่โอกาสอำนายให้เมื่อแก้ปัญหาด้วยการลดอำนาจของเจ้านายลงชนชั้นขุนนางก็มีอำนาจเพิ่มมากขึ้นแต่เมื่อไม่มีมาตรการควบคุมอำนาจที่ดีก็เปิดโอกาสให้ชนชั้นขุนนางเข้ามาแย่งชิงราชสมบัติได้เช่นกันการรับวิทยาการจากตะวันตก

กฎหมายและศาลสมัยกรุงศรีอยุธยา
ระบบกฎหมายสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น
         ลักษณะการตั้งกฎหมายในตอนแรกๆ นั้นทำเป็นหมายประกาศอย่างละเอียด ขึ้นต้นบอกวัน เดือน ปี ที่ประทับของพระเจ้าแผ่นดิน ใครเป็นผู้กราบบังคมทูลคดีอันเป็นเหตุให้ตรากฎหมาย พระเจ้าแผ่นดินยืดยาวเกินไป จึงตัดข้อความที่ไม่ต้องการออก แต่ต่อๆ มา กฎหมายมีมากขึ้น ก็ยากแก่การค้นห้า จึงตัดข้อความลงอีก ซึ่งพราหมณ์ชาวอินเดียเป็นผู้นำมาสอนให้ทำ อนุโลมตามแบบพระมนูธรรมศาสตร์ อันเป็นหลักกฎหมายของอินเดีย เช่น ลักษณะโจร ลักษณะผัวเมีย

    

           กฎหมายสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (พระเจ้าอู่ทอง)
ในระหว่าง พ.ศ. ๑๘๙๔-๑๙๑๐ ได้มีการพิจารณาตรากฎหมายขึ้นทั้งหมด ๑๐ ฉบับ คือ
           ๑. กฎหมายลักษณะพยาน พ.ศ. ๑๘๙๔
           ๒. กฎหมายลักษณะอาญาหลวง พ.ศ. ๑๘๙๕  
           ๓. กฎหมายลักษณะรับฟ้อง พ.ศ. ๑๘๙๙ 
           ๔. กฎหมายลักษณะลักพา พ.ศ. ๑๘๙๙ 
           ๕. กฎหมายลักษณะอาญาราษฎร์ พ.ศ. ๑๙๐๑ 
           ๖. กฎหมายลักษณะโจร พ.ศ. ๑๙๐๓
           ๗. กฎหมายลักษณะเบ็ดเสร็จว่าด้วยที่ดิน พ.ศ. ๑๙๐๓ 
           ๘. กฎหมายลักษณะผัวเมีย พ.ศ. ๑๙๐๔ 
           ๙. กฎหมายลักษณะผัวเมีย(เพิ่มเติม) พ.ศ. ๑๙๐๕
           ๑๐. กฎหมายลักษณะโจรว่าด้วยสมโจร พ.ศ. ๑๙๑๐

    

           กฎหมายลักษณะลักพา
           กฎหมายลักษณะลักพา มีอยู่บทหนึ่งว่าด้วยเรื่องทาส ดังนี้ ผู้ใดลักพาข้าคนท่านขายให้แก่คนต่างประเทศ คนต่างเมือง ฯลฯ พิจารณาเป็นสัจ ท่านให้ฆ่าผู้ร้ายนั้นเสีย ส่วนชาวต่างประเทศนั้นให้เกาะจำไว้ฉันไหมโจร
แต่เมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยากับกรุงสุโขทัยเป็นมิตรกันนั้น มีผู้ลักพาทาสในกรุงศรีอยุธยาหนีขึ้นไปเมืองเหนือ พวกเจ้าเงินกราบทูลพระเจ้าอู่ทองขอให้ไปติดตามเอาทาสกลับมา แต่พระเจ้าอู่ทองกลับมีพระราชดำรัสให้ว่ากล่าวเอาแก่ผู้ขายนายประกันเท่านั้น
         กฎหมายลักษณะผัวเมีย
กฎหมายลักษณะผัวเมียในสมัยนั้น ชายมีภรรยาได้หลายคน และกฎหมายก็ยอมรับ กฎหมายจึงแบ่งภรรยาออกเป็น
๑. หญิงอันบิดามารดากุมมือให้ไปเป็นเมียชาย ได้ชื่อว่าเป็นเมียกลางเมือง (เมียหลวง)
๒. ชายขอหญิงมาเลี้ยงเป็นอนุภรรยาหลั่นเมียหลวงลงมา ได้ชื่อว่าเมียกลางนอก
๓. หญิงใดทุกข์ยาก ชายช่วยไถ่ได้มาเห็นหมดหน้า เลี้ยงเป็นเมียได้ชื่อว่า เมียกลางทาสี


           การพิจารณาคดี
ในสมัยพระจ้าอู่ทองนั้น ได้อยู่ในอำนาจของเสนาบดีจตุสดมภ์ดังนี้
           ๑. เสนาบดีกรมเมือง พิจารณาพิพากษาคดีอุกฉกรรจ์ที่จะทำให้เกิดความไม่สงบขึ้นภายในแผ่นดิน
           ๒. เสนาบดีกรมวัง พิจารณาพิพากษาคดีเกี่ยวกับข้อพิพาทของราษฎร
           ๓. เสนาบดีกรมคลัง พิจารณาพิพากษาเกี่ยวกับพระราชทรัพย์
           ๔. เสนาบดีกรมนา พิจารณาพิพากษาคดีเกี่ยวกับ ที่นา โคกระบือ เพื่อระงับข้อพิพาทของชาวนา


ระบบกฎหมายสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนกลาง
สมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ

           ในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ได้มีกฎหมายใหม่หลายฉบับ บางฉบับก็ปรับปรุงจากของเก่า กฎหมายที่ตราขึ้นใหม่มีดังนี้
   ๑. กฎหมายว่าด้วยการเทียบศักดินา
          จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ เช่น ศิลาจารึกสุโขทัย และจดหมายเหตุของจีน ทำให้เราทราบว่า ศักดินาไม่ได้มีเมื่อสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ แต่ได้มีมานานแล้ว เป็นเพียงแต่พระองค์ได้ทรงวางหลักเกณฑ์และปรับปรุงใหม่เท่านั้น
ในสมัยก่อน ถือว่า พระเจ้าแผ่นดินทรงเป็นเจ้าของแผ่นดินทั่วราชอาณาจักร ข้าราชการและพระบรมวงศานุวงศ์ ยังไม่มีเงินเดือน เงินปีอย่างสมัยนี้ จึงใช้วิธีพระราชทานที่ดินให้มากน้อยตามฐานะแต่ความเป็นจริง แล้วก็ไม่ได้มีที่ดินไว้ในครอบครองตามที่กำหนด แต่อย่างไรก็ตาม ศักดินาเป็นเครื่องกำหนดชั้นฐานะของบุคคลและยังมีผลในทางด้านอื่นๆ ด้วยเช่น
           ๑.๑ การปรับไหม ผู้ที่ทำผิดอย่างเดียวกัน ถ้ามีศักดินาสูงกว่า จะเสียค่าปรับมากกว่ามีศักดินาต่ำกว่า หรือการปรับไหมให้แก่กันในคดีเดียวกัน ถ้าไพร่ผิดต่อไพร่ จะเสียค่าปรับตามศักดินาไพร่ ถ้าไพร่ทำผิดต่อขุนนาง ให้เอาศักดินาขุนนางมาปรับไพร่ ถ้าขุนนางผิดต่อไพร่ ให้ปรับตามศักดินาของขุนนาง
           ๑.๒ การตั้งทนาย ผู้ที่มีศักดินา ๔๐๐ ไร่ ขึ้นไป จะแต่งตั้งทนายว่าความแทนตนเองได้
           ๑.๓ กำหนดที่นั่งในการเฝ้า เมื่อพระเจ้าอยู่หัวเสด็จออกว่าราชการแผ่นดิน ผู้มีศักดินา ๑๐,๐๐๐ ถึง ๘๐๐ ต้องเข้าเฝ้า นอกนั้นไม่บังคับ ตำแหน่งที่นั่งจะสูงต่ำ ใกล้หรือไกลให้จัดตามศักดินา
           พอสรุปได้ว่า ศักดินา หมายถึง เกณฑ์ตามพระราชกำหนดที่กำหนดว่า บุคคลนั้นจะมีกรรมสิทธิ์ในที่นามากน้อยเพียงใด
ระเบียบตำแหน่งยศศักดินาของข้าราชการ มีดังนี้
           ๑. ยศ ได้แก่ เจ้าพระยา พระยา พระ หลวง ขุน หมื่น พัน
           ๒. ราชทินนาม ได้แก่ ยมราช สีหราชเดโชชัย ฯลฯ
           ๓. ตำแหน่ง ได้แก่สมุหกลาโหม สมุหนายก เสนาบดี ฯลฯ
           ๔. ศักดินา ได้แก่ เกณฑ์กำหนดสิทธิ์ที่นาตามยศแต่ละบุคคล
        ๒. กฎหมายลักษณะอาญาขบถศึก
           ตัวอย่างความบางตอนเกี่ยวกับลักษณะอาญาขบถศึก
           มาตรา ๑ ผู้ใดใฝ่สูงให้เกินศักดิ์มักขบถประทุษร้าย จะต่ำพระองค์ลงมาดำภูฉัตร อนึ่งทำร้ายพระองค์ด้วย โหรายาพิษ แลด้วยเครื่องศาสตราสรรพยุทธให้ถึงสิ้นพระชนม์ อนึ่งพระเจ้าอยู่หัวให้ผู้ใดไปรั้งเมืองครองเมืองและมิได้เอาสุพรรณบุปผาและ ภัทยาเข้ามาบังคมถวายแลแข็งเมือง อนึ่งผู้ใดเอาใจเผื่อแผ่ศึกศัตรูนัดแนะให้ยกเข้ามาเบียดเบียนพระนคร ขอบขัณฑเสมาธานีน้อยใหญ่ อนึ่งผู้ใดเอากิจการบ้านเมืองแจ้งให้ข้าศึก ถ้าผู้ใดกระทำดังกล่าวนี้ โทษผู้นั้นเป็นอุกฤษฏ์ ๓ สถาน
           สถานหนึ่ง ให้ริบราชบาทย์ ฆ่าเสียให้สิ้นทั้งโคตร
           สถานหนึ่ง ให้ริบราชบาทย์ ฆ่าเสีย เจ็ดโคตร
           สถานหนึ่ง ให้ริบราชบาทย์ แล้วให้ฆ่าเสียโคตรนั้นอย่าเลี้ยงต่อไปอีกเลย
           เมื่อประหารชีวิตนั้น ให้ประหารให้ได้ ๗ วัน จึงสิ้นชีวิต เมื่อประหารนั้นอย่าให้โลหิตและศพตกลงในแผ่นดินท่าน ให้ใส่แพลอยเสียตามกระแสน้ำ
             ๓. กฎหมายลักษณะอาญาหลวง
           ตัวอย่างความบางตอนเกี่ยวกับกฎหมายลักษณะอาญาหลวง
           มาตรา ๑ ผู้ใดโลภนักมักทำใจใหญ่ใฝ่สูงให้เกินศักดิ์ กระทำให้ล้นพ้นล้ำเหลือบรรดาศักดิ์ อันท่านไม่ให้แก่ตน แลจำพระราชนิยมพระเจ้าอยู่หัว แลถ้อยคำมิควรเจรจา มาเจรจาเข้าในระหว่างราชาศัพท์ แลสิ่งที่มิควรเอามาประดับ เอามาทำเป็นเครื่องประดับท่านว่าผู้นั้นทะนงองอาจ ให้ลงโทษ ๘ สถาน
           สถานหนึ่ง ให้ฟันคอริบเรือน
           สถานหนึ่ง ให้เอามะพร้าวห้าวยัดปาก
           สถานหนึ่ง ให้ริบราชบาทย์ แล้วเอาตัวลงหญ้าช้าง
           สถานหนึ่ง ให้ไหมจตุรคูณเอาตัวออกจากราชการ
           สถานหนึ่ง ให้ไหมทวีคูณ
           สถานหนึ่ง ให้ทวนด้วยลวดหนัง ๕๐ ที ๒๕ ที ใส่กรุไว้
           สถานหนึ่ง ให้จำแล้วถอดเสียเป็นไพร่  สถานหนึ่ง ให้ภาคทัณฑ์ไว้
   

           ๔. กฎหมายว่าด้วยกฎมณเฑียรบาล
          กฎมณเฑียรบาล หมายถึง พระราชกำหนดที่ใช้ภายในพระราชสำนัก แบ่งเป็น ๓ แผนก
           ๔.๑ แผนกพระตำรา หมายถึง พระตำราที่ว่าด้วยแบบแผน พระราชานุกิจ ซึ่งพระเจ้าแผ่นดินทรงประพฤติปฏิบัติตามกำหนด
           ๔.๒ แผนกพระธรรมนูญ หมายถึง แผนกที่ว่าด้วยตำแหน่งหน้าที่ข้าราชการ ตลอดถึงการจัดตำแหน่งต่างๆ ของพระราชวงศ์
           ๔.๓ แผนกพระราชกำหนด เป็นบทบัญญัติสำหรับใช้ในพระราชสำนัก รวมทั้งข้อบังคับว่าด้วยระเบียบการปกครองในราชสำนัก ซึ่งมีผลบังคับใช้เป็นกฎหมายด้วย เช่น 

                      วิวาทถกเถียงกันในวัง มีโทษให้จำใส่ชื่อไว้ ๓ วัน
                      ด่ากันในวัง มีโทษให้ตีด้วยหวาย ๕๐ ที
                      ถีบประตูวัง มีโทษให้ตัดเท้า
                      กินเหล้าในวัง มีโทษให้เอาเหล้าร้อนๆ กรอกปาก


ระบบกฎหมายสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย
สมัยพระเพทราชาถึงสิ้นกรุงศรีอยุธยา
           กฎหมายในสมัยพระเพทราชาถึงสิ้นกรุงศรีอยุธยานั้น เป็นกฎหมายที่ปรับปรุงเพิ่มเติมจากกฎหมายสมัยพระเจ้าอู่ทองบ้าง ตราขึ้นใหม่บ้าง เช่น
           กฎหมายลักษณะพิสูจน์ สมัยพระไชยราชา พ.ศ. ๒๐๗๘
           กฎหมายเพิ่มเติมลักษณะอาญาหลวง สมัยพระมหาจักรพรรดิ พ.ศ. ๒๐๙๓
           กฎหมายพิกัดเกษียณอายุ สมัยพระเจ้าปราสาททอง พ.ศ. ๒๑๗๖
           กฎหมายลักษณะอุทธรณ์ สมัยพระเจ้าปราสาททอง พ.ศ. ๒๑๗๘
           กฎหมายพระธรรมนูญตรากระทรวง สมัยพระเจ้าปราสาททอง พ.ศ. ๒๑๗๘
           กฎหมายลักษณะทาส สมัยพระเจ้าปราสาททอง พ.ศ. ๒๑๘๐

           การทหาร
           ในสมัยพระเพทราชา พระองค์ทรงเห็นข้อบกพร่องในทางการทหาร จึงจัดระเบียบและปรับปรุงแก้ไขส่วนที่บกพร่องให้ดียิ่งขึ้น โดยพระองค์ทรงดำเนินการปรับปรุง ดังนี้
           ๑. ทำสารบัญชี โดยการตั้งเป็นกรม แบ่งงานออกเป็น
                      ๑.๑ สุรัสวดีกลาง
                      ๑.๒ สุรัสวดีขวา
                      ๑.๓ สุรัสวดีซ้าย
           ๒. มีการแต่งตำรายุทธพิชัยสงคราม เพื่อใช้เป็นหลักในการทำสงครามให้ถูกยุทธวิธี ซึ่งเป็นตำราที่ใช้ยึดเป็นหลักปฏิบัติกันมาจนสิ้นกรุงศรีอยุธยา

ชายฉกรรจ์ที่มีสัญชาติไทย มีหน้าที่ดังนี้
          ๑. เมื่ออายุได้ ๑๘ ปี ต้องขึ้นทะเบียนเป็นไพร่สม ต่อเมื่ออายุ ๒๐ ปี จึงจะรับราชการเป็นไพร่หลวง และอยู่ในราชการจนกว่าจะอายุครบ ๖๐ ปี จึงจะถูกปลด แต่ถ้ามีบุตรชายและส่งเข้ารับราชการ ๓ คน ให้บิดาพ้นราชการได้
          ๒. ชายฉกรรจ์ทุกคนต้องมีสังกัดอยู่ในกรมใดกรมหนึ่ง ลูกหลานผู้สืบสกุลต้องอยู่ในสังกัดเดียวกัน ถ้าจะย้ายสังกัดต้องขออนุญาตก่อน
          ๓. ในเวลาที่บ้านเมืองสงบเรียบร้อย ไพร่หลวงจะต้องเข้าประจำการปีละ ๖ เดือน เรียกว่า เข้าเวร และจะต้องหาเสบียงของตนเองมาด้วย การเข้าเวรนี้จะเข้าเวร ๑ เดือน แล้วออกเวรไปทำมาหากิน ๑ เดือนแล้วจึงกลับมาเข้าเวรใหม่ สลับกันจนครบกำหนด
          ๔. หัวเมืองชั้นนอก ที่อยู่ห่างไกลในยามปกติ ไม่ต้องการคนเข้ารับราชการมากเหมือนในราชธานี จึงใช้วิธีเกณฑ์ส่วนแทนการเข้าเวร โดยการนำของที่ทางราชการต้องการ เช่น ดินประสิว แร่ดีบุก ฯลฯ มาให้กับทางราชการแทนการเข้าเวร

  

ศิลปะและวัฒนธรรมสมัยกรุงศรีอยุธยา

   

 

  

      

   

 

  ปัจจัยหนึ่งที่จะก่อให้เกิดความเจริญรุ่งเรืองทางศิลปวัฒนธรรม คือ สภาพความเป็นอยู่ที่สมบูรณ์ของประชาชนพลเมือง
           มงเซเญอร์ ปาลเลคัวซ์ มุขนายกมิซซัง เดอ มาลโลส์ เจ้าคณะเขตประเทศสยาม กล่าวถึง ความอุดมสมบูรณ์และสภาพความเป็นอยู่ของประชาชน พอสรุปได้ดังนี้
           ความอุดมสมบูรณ์ของอาณาจักร เนื่องด้วยดินดี มีปุ๋ยธรรมชาติ ปลูกข้าวได้ดี และข้าวก็มีรสอร่อยได้ผลเพียงพอต่อการเลี้ยงประชากร และเหลือส่งไปขายเมืองจีน และเมืองอื่น ๆ ปีละไม่น้อย ผลิตผลที่ว่านี้จะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าหรือสามเท่า หากมีการทำนากันเต็มพื้นที่ หรือทำนาปีละครั้ง
           ในน้ำมีปลาชุกชุม ฤดูน้ำท่วมมีปลาทุกท้องทุ่ง พอน้ำลด ปลาจะไปอยู่ตามแม่น้ำ ลำคลอง หนองบึง บรรดานกต่าง ๆ คอยจับปลากินกันเป็นฝูง ที่ปากอ่าวที่รวมของแม่น้ำสี่สาย มีปลามากมายหลายชนิด สามารถนำมาเป็นอาหาร และส่งไปขายยังเกาะชวาอีกด้วย
           สัตว์เลี้ยงมีเป็ดไก่ ขายกันในราคา นอกจากนี้เต่า อีเก้ง ก็หาซื้อได้ในราคาไม่แพง ส่วน พืช ผัก ผลไม้ ล้วนมีราคาถูก ค่าแรงคนงานค่อนข้างต่ำ ด้วยนายจ้างเลี้ยงอาหาร การที่ราคาข้าวของถูก เพราะการเกษตรให้ผลดีด้วยดินดี บางแห่งแม้อยู่บนเขา ก็มีคนไปปลูกพืชทำไร่ให้เขียวชอุ่มไปทั่ว
           ความอุดมสมบูรณ์ของกรุงศรีอยุธยาดังเช่นที่ว่ามานี้ทำให้ประชาชนอยู่ดีกินดี มีความร่มเย็นผาสุก ก่อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ สามารถพัฒนาศิลปวัฒนธรรมให้เจริญรุ่งเรือง

วัฒนธรรมและประเพณีสมัยกรุงศรีอยุธยา
          ดินแดนที่เป็นประเทศไทยทุกวันนี้มีความเป็นมายาวนาน จึงมีวัฒนธรรมดั้งเดิม ซึ่งมีที่มาจากจีน อินเดีย ขอม มอญ และประเทศใกล้เคียงอื่น ๆ วัฒนธรรมสมัยอยุธยาจึงเป็นการผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมไทยแท้ และวัฒนธรรมที่รับจากต่างชาติ แล้วนำมาดัดแปลงให้เหมาะสม วัฒนธรรมต่างชาติที่รับเข้ามามากที่สุด คือ วัฒนธรรมอินเดีย แต่มิได้รับโดยตรง รับต่อจากขอม มอญ และจากพวกพราหมณ์ที่สืบเชื้อสายต่อ ๆ กันมาอีกทีหนึ่ง บางอย่างยังปรากฏอยู่จนปัจจุบันนี้ ที่เห็นได้เด่นชัด คือ วัฒนธรรมเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา นอกจากนั้นอยุธยายังรับวัฒนธรรมจากอาณาจักรไทยอื่น ๆ เช่น รับเอารูปแบบตัวอักษรและการเขียนหนังสือจากสุโขทัย  

วัฒนธรรมที่สำคัญมีดังนี้
          ๑. วัฒนธรรมการแต่งกาย การแต่งกายมีบทบาทต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ในการสร้างความสุขใจได้ทางหนึ่ง ด้วยเหตุที่มนุษย์รักงาม และเป็นสิ่งที่หาได้ไม่ยากนัก วัฒนธรรมการแต่งกายของคนในแต่ละสังคมมีความแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับสภาพความเป็นอยู่ และมีการเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัยภาวะของบ้านเมือง สมัยอยุธยามีการแต่งกายดังนี้
                      ๑.๑ การแต่งกายของคนชั้นสูง คนชั้นสูงแต่งกายตามขนบธรรมเนียมประเพณีของราชการ ซึ่งเจ้านายหรือข้าราชการผู้ใหญ่ทั้งหลายใช้กัน และพวกผู้ดีมีสกุล ผู้หญิงทั้งหลายถือเป็นแบบอย่างเพราะแสดงให้เห็นว่าอยู่ในสังคมชั้นสูง
                      ๑.๒ การแต่งกายของชาวบ้าน ชาวบ้านจะนุ่งโจงกระเบน พวกทางเหนือ ผู้ชายมักไว้ผมยาว ส่วนพวกทางใต้มักตัดผมให้สั้น สมัยสมเด็จพระนารายณ์ ผู้ชายตัดผมทรงมหาดไทย ส่วนผู้หญิงคงไว้ผมยาวและห่มผ่าสไบ
                      ๑.๓ การแต่งกายยามเกิดสงคราม ยามสงครามผู้หญิงอาจต้องช่วยสู้รบหรือให้การสนับสนุน มีการเปลี่ยนทรงผมตัดผมให้สั้นดูคล้ายชาย ทะมัดทะแมงเข้มแข็งขึ้น การนุ่งห่มต้องให้รัดกุม แน่นไม่รุ่มร่าม เคลื่อนไหวได้สะดวก ห่มผ้าแบบตะเบ็งมาน ส่วนผู้ชายไม่เปลี่ยนแปลง
                      ประเพณีการแต่งผมสตรีชาวอยุธยา ซิมอง เดอ ลาลูแบร์ อัครราชทูตฝรั่งเศส จดไว้ว่า “ …ผมชาวสยามนั้นดำหนาและสลวย และทั้งชายหญิงไว้ผมสั้นมาก ผมที่ขอดรอบกระหม่อมยาวเพียงถึงชั่วแค่ปลายใบหูข้างบนเท่านั้น ผมข้างล่างจนถึงท้ายทอยนั้น ผู้ชายโกนเกลี้ยงและความนิยมกันอย่างว่านี้เป็นที่พอใจชาวสยามมาก แต่ผู้หญิงปล่อยผมกลางกระหม่อมยาวหน่อย ไปล่ขึ้นเป็นปีกตรงหน้าผาก กระนั้นก็ยังไม่รวมเข้าเกล้ากระหมวดเกศ…”

    

 

  

      

 

  

  ๒. กระบวนพยุหยาตราทางชลมารค ประเพณีสำคัญที่นับเป็นพระราชพิธีสมัยกรุงศรีอยุธยาซึ่งควรจะนำมาระบุไว้ได้แก่ กระบวนพยุหยาตราทางชลมารค จากประวัติศาสตร์กล่าวไว้ว่า เป็นประเพณีที่จัดให้มีขึ้นเป็นประจำทุกปี และในสมัยแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งเป็นยุคที่กรุงศรีอยุธยาเจริญรุ่งเรืองอย่างสูงสุด ทางราชการได้จัดกระบวนพยุหยาตราเต็มยศขึ้นเรียกว่า “กระบวนพยุหยาตราเพชรพวง “ ปรากฏว่าต้องใช้คนตั้งแต่ ๑๐,๐๐๐ คนเข้าริ้วกระบวน อันนับเป็นริ้วกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคที่ยิ่งใหญ่และมโหฬารที่สุด เป็นที่น่ายินดีที่รัฐบาลของเราเล็งเห็นความสำคัญของการจัดกระบวนพยุหยาตรา ทางชลมารค ซึ่งกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคที่จัดให้มีขึ้นครั้งล่าสุด เมื่อไม่ช้าไม่นานมานี้ เท่ากับเป็นการรักษาประเพณีประจำชาติไว้โดยแท้

   

 

  

       

 

 

   ๓. ประเพณีเดือนสิบเอ็ด เดือนสิบเอ็ดนี้ สมัยกรุงศรีอยุธยามีพิธีแผ่นดินที่สำคัญมากอยู่พิธีหนึ่ง คือพิธีแข่งเรือ เรือหลวงที่เข้าแข่งชื่อเรือสมรรถไชยของพระเจ้าอยู่หัว กับเรือไกรสรสุข ของสมเด็จพระมเหสี การแข่งเรือนี้ยังเป็นการเสี่ยงทายอีกด้วย คือถ้าเรือสมรรถไชยแพ้ก็แสดงว่าข้าวเหลือเกลืออิ่ม พลเมืองเป็นสุข ถ้าสมรรถไชยชนะ บ้านเมืองก็จะมีเรื่องเดือดร้อน

           ๔. ประเพณีเดือนสิบสอง ประเพณีลอยกระทงในเดือนสิบสองเป็นประเพณีที่ประชาชนไทยนิยมชื่นชมกันหนักหนา เพราะก่อให้เกิดความสุขการสุขใจเป็นพิเศษนั่นเอง ก่อนที่จะนำคำประพันธ์ของ นายมี ที่บรรยายถึงเดือนสิบสองมาลงไว้ประกอบเรื่องก็ใคร่จะเขียนเสนอท่านผู้อ่าน ให้ทราบว่าในเดือนสิบสอง ในสมัยกรุงศรีอยุธยามีประเพณีพระราชพิธีอะไรบ้าง มี (๑) พระราชพิธีจองเปรียงตามประทีป (ชักโคม) ในพระราชวังแลตามบ้านเรือนทั้งในรพระนครและนอกพระนครทั่วกัน กำหนด ๑๕ วัน (๒) ถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ โปรดให้ทำจุลกฐิน คือทอดผ้าให้เสร็จในวันเดียวแล้ว (เอาผ้าผืนนั้นพระราชทานกฐิน)

          ๕. ประเพณีสงกรานต์ ประเพณีสงกรานต์แต่ละแห่งย่อมผิดแผกแตกต่างกันไป และเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย หากจะกล่าวถึงพระราชพิธีละแลงสุก(เถลิงศก) เมื่อสงกรานต์แทน (๑) พระเจ้ากรุงศรีอยุธยาเสด็จไป สรงน้ำพระพุทธปฏิมากร ศรีสรรเพชญ์ พระพิฆเนศวร (๒) โปรดให้นิมนต์พระสงฆ์ราชาคณะเข้ามาสรงน้ำ รับพระราชทานอาหารบิณฑบาต จตุปัจจัยทาน ที่ในพระราชวังทั้ง ๓ วัน (๓) ทรงก่อพระเจดีย์ทรายที่วัดพระศรีสรรเพชญ์ และมีการฉลองพระเจดีย์ทรายด้วย (๔) ตั้งโรงท่อทานเลี้ยงพระแลราษฎรซึ่งมาแต่จตุรทิศ มีเครื่องโภชนาอาหารคาวหวาน น้ำกิน น้ำอาบและยารักษาโรค พระราชทานทั้ง ๓ วัน

          ๖. ประเพณีการลงแขกทำนา ประเพณีลงแขกทำนานับเป็นประเพณีอีกประเพณีหนึ่งที่ชาวกรุงศรีอยุธยารักษาเอา ไว้ คือ เมื่อถึงฤดูเกี่ยวข้าว ชาวนาก็ช่วยกันเก็บเกี่ยว ร้องรำทำเพลงกันไปบ้าง ได้ทั้งงานได้ทั้งความเบิกบานสำราญใจและไมตรีจิตมิตรภาพ ทุกวันนี้ก็ยังคงปฏิบัติกันอยู่ประเพณีนี้แสดงให้เห็นถึงความพร้อมเพรียง ความรักพวกพ้องของชาวกรุงศรีอยุธยา เป็นการปฏิบัติเข้าทำนองสุภาษิตที่ว่า “ โบราณว่า ถ้าเหลือกำลังลาก ให้ออกปากบอกแขกช่วยแบกหาม” เท่ากับเป็นเครื่องยืนยันถึงลักษณะนิสัยใจคอของคนไทยในสมัยก่อนอีกกรณีหนึ่ง

          ๗. วัฒนธรรมทางวรรณกรรม ในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีนั้น กรุงศรีอยุธยารุ่งเรืองมากที่สุดสุดจะพรรณนาให้จบสิ้นได้จะขอยกมากล่าวเฉพาะ วัฒนธรรมทางวรรณกรรมแต่อย่างเดียว ผู้เขียนวรรณกรรมสมัยเก่ามักจะขึ้นต้นเรื่องด้วยคำยกย่องพระเกียรติยศของพระ มหากษัตริย์ไทย และสรรเสริญความงามความเจริญของเมืองไทย เช่น ลิลิตพระลอ ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นวรรณคดีชิ้นเอก สันนิษฐานว่าแต่งในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ และขุนช้างขุนแผน จัดเป็นวรรณกรรมที่มีความหมายเกี่ยวกับความเป็นระเบียบในการกินอยู่ ซึ่งนับเป็นความเจริญทางวัตถุ เช่นตอนชมเรือนขุนช้าง

 


PS.  สวัสดีเพื่อนๆทุกคนที่เข้ามาทักทายนะ

แสดงความคิดเห็น

>

35 ความคิดเห็น

เกิดมาเพื่อรัก..mayomcup 4 มี.ค. 53 เวลา 18:32 น. 1

เนื้อหามีสาระมากเพราะสามารถนำไปใช้ในการเรียนวิชาประวัติศาสตร์ของม.2ได้จริงๆในเรื่องที่เยวกับอาณาจักรอยุธยา


PS.  สวัสดีเพื่อนๆทุกคนที่เข้ามาทักทายนะ
0
ท้องฟ้าไร้สี 4 มี.ค. 53 เวลา 18:50 น. 2

ฮ่าๆๆๆ เนื้อหาหลักการล้วนๆ
จำได้เลยที่เคยจำตอนม.2 นั่งอ่านนั่งจำ

มันก็ให้ข้อคิดอะไรได้มากเหมือนกันนะ ลองมาดูกับสังคมยุคปัจจุบันดูสิ


PS.  ขอเชิญทุกคนร่วมเป็นสมาชิกบ้านนักเขียนที่นี่ http://writerhouse.unbbz.com/
0
หนึ่ง 4 มี.ค. 54 เวลา 16:41 น. 8

ได้ความรู้มากมายเลยน่าเสียดายเนื้อหาที่เพิ่งสอบไปตรงกับข้อมูลนี้เกือบทั้งหมดเลยอ่ะ ><
TOT

0
เครี่องจักรสังหาร 19 มิ.ย. 54 เวลา 21:50 น. 9

พวกไปทำรายงานได้เลยนะคะ
ขอบคุณจริงๆค่ะ


PS.  อดีต คือความหลัง ปัจุบัน คือสิ่งที่ต้องก้าวเดิน อนาคต คือทางเดินที่ต้องพ่านไป
0
GΣNii³ 7 พ.ย. 54 เวลา 18:43 น. 13

โอ้ ขอบคุณมากๆเลยค่ะ ครูสั่งให้ทำรายงานพอดี


PS.  ...ข้าจะขอเคียงข้างเจ้าดั่งดวงจันทราที่เคลื่อนคล้อยลงมา ณ ขอบฟ้าตะวันตก...
0
อิ๋ว 25 เม.ย. 55 เวลา 07:21 น. 20

สอบถามค่ะ ว่า ชนชั้นไพร่มีมากที่สุดในสมัยใด
ข้อสอบเฉลยว่า กรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ถูกหรือเปล่าคะ

0