Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

สมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ ผู้ปกป้องขอบขันฑสีมา ราชอาณาจักรอโยธยาศรีรามเทพนคร

ตั้งกระทู้ใหม่
ตั้งกระทู้ใหม่


      ภาพของขุนทหารอยุธยาผู้เจ็บช้ำ สูญเสียมาตุภูมิ ......และพ่ายแพ้อย่างยับย่อย ในสงครามเกียรติยศ " ยุทธภูมิสุริยาศน์อมรินทร์ 2310 "ถูกภาพของ"ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง" บดบังด้วยวีรกรรม "จอมปลอม" ที่แต่งเติมขึ้นในสมัยของผู้มีอำนาจและ "วาทการ"

ผู้ต่อรบกว่า 14 เดือน จนถึงวันสิ้นพระนคร เจ็บปวด แสนเจ็บปวดและเจ็บช้ำ ต้องมาอัปยศอดสูด้วยลูกหลานประนามว่าอ่อนแอและขลาดเขลา ไม่มีแม้กระทั้งอนุสาวรีย์ของทหารหาญอยุธยาผู้วายชนม์ ในฐานะของ "ผู้แพ้"ในสงคราม

คนไทยอาจจะยังคงติดนิสัยใจคอ ดูถูก ซ้ำเติมและประนาม"ผู้แพ้"ในสังคมไทยด้วยกันในทุกเรื่องทั้งการเมือง เศรษฐกิจและการกีฬา จนถึงทุกวันนี้ ......

"ผู้ไม่เข้าใจความพ่ายแพ้ ย่อมไม่อาจจะเป็นผู้ชนะที่ยิ่งใหญ่ได้" 

ประวัติศาสตร์ของมนุษย์สอนไว้เช่นนี้........เสมอมา

และ "หากยิ่งไม่เข้าใจใน"หัวใจ"ของผู้พ่ายแพ้(ที่เป็นคนไทยด้วยกัน)แล้ว ยิ่งยากและห่างไกล...ที่จะเข้าใจในคำว่า "สมานฉันท์" ในสถานการณ์ปัจจุบัน" 

อีกมุมมองหนึ่งของประวัติศาสตร์ไทย ที่ไม่ควรค่าแก่การจดจำ เลย.......เพราะมันไม่เคยคิดจะไปรับใช้ใคร

   
                         
ยุทธภูมิสุริยาศน์อมรินทร์ 2310

"แม้เลือดหยดสุดท้ายกูไหลสิ้น
....อย่าได้หมิ่น
.....หมายศรีอยุธยาชาติ
... เป็นทาส"

        เรื่องราวแทนอนุสรณ์สถาน...แห่งวีรกรรม"ไพร่"ทหารหาญอยุธยาในประวัติศาสตร์ของสงครามครั้งเสียกรุงศรีอยุธยา ยุทธภูมิสุริยาศน์อมรินทร์ ในปีพ.ศ. 2310 ในแผ่นดินสมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ หรือเจ้าฟ้าเอกทัศน์ (กรมขุนอนุรักษ์มนตรี) พระราชโอรสในพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศฐ์ พระเชษฐาร่วมมารดาของเจ้าฟ้าดอกมะเดื่อ หรือเจ้าฟ้าอุทุมพร(กรมขุนพรพินิจ) กับการศึกครั้งสุดท้ายของอโยธยา 

หาก "ความจริง"ของเรื่องนี้ปรากฏอยู่ ขออุทิศแด่มหาวีรกรรมแห่งมหากษัตริย์และเหล่าทหารหาญผู้พ่ายแพ...........แต่ไม่เคยมีอนุสาวรีย์.....ในประวัติศาสตร์ไทย


เมฆหมอกแห่งการสิ้นสุด .....ได้มาเยือนแล้ว

     เมื่อสงครามย่างเข้าเดือน 4 หลังฤดูน้ำหลากผ่านไป มันเป็นเวลานานกว่า 13 เดือนล่วงมาแล้ว ที่ทหารหาญอโยธยามิอาจตั้งแนวรับปะทะทัพพม่าได้ ค่ายยายจันและค่ายหัวรอ ค่ายสุดท้ายของแนวรับด้านนอกพระนครตรงป้อมมหาไชย และสะพานคูขื่อป่าสัก ถูกทัพหน้าอังวะและทัพสวามิภักดิ์จากลุ่มแม่น้ำปิงเข้าตีกระหนาบจนมิอาจต้านทานได้อีกต่อไป ทหารหาญศรีอยุธยาทัพพระยามหามนตรี แตกทัพกระเจิดกระเจิงข้ามคลองคูเมืองเข้าสู่พระนคร อโยธยาสูญเสียไพร่พลพร้อมศัสตราวุธเป็นจำนวนมาก เหล่าไพร่ทหารอิดโรยและเสียขวัญ บ้างก็หลบหนี บ้างก็ทุรนทุรายจากพิษบาดแผลฉกรรณ์ บ้างก็เหม่อลอยแทบเป็นบ้าเสียสติ......... 

........เมื่อยุทธศาสตร์และยุทธวิธีสงครามของเหล่าเสนาทหารอโยธยาผิดพลาดจนสิ้นแล้ว กองทัพผสมอังวะกว่า 70,000 ไพร่พล ก็รุกเข้าตั้งค่ายรายล้อมชิดติดกำแพงพระนคร หมายเผด็จศึกทำลาย "เมืองที่มิอาจต่อรบได้ " อย่างกรุงศรีอยุธยาให้ราบคาบ


      ค่ายใหญ่ของพม่าตั้งทัพอยู่ที่ ดอนวัดสีกุก และดอนปากประสบ โดยมีเนเมียวเสหบดีเป็นแม่ทัพใหญ่ ส่วนค่ายย่อยหน่วยไพร่ราบ ไพร่ม้า ไพร่ช้างและไพร่ปืนใหญ่ ต่างก็รุกคืบเข้ายึดพื้นที่ดอนวัดหน้าพระเมรุ ตรงข้ามพระราชวังหลวง ตั้งฐานปืนใหญ่ที่วัดท่า วัดการ้อง 

.........เผาตำหนักและสร้างค่ายที่เพนียด บุกเข้าตีค่ายทหารอยุธยาที่วัดสามพิหาร เกาะวัดมณฑป วัดนางปลื้ม วัดศรีโพธิ์ ทางทิศเหนือและตะวันออกใกล้กับประตูข้าวเปลือก...........

...........ส่วนทางด้านทิศใต้และตะวันตก ทหารอังวะผู้ฮึกเหิมได้บุกเข้าเข้ายึดค่ายของทหารศรีอยุธยาไว้ได้ทั้งหมด ค่ายวัดภูเขาทอง วัดกระชาย วัดเต่า วัดสุเรนทร์ วัดแดง วัดพลับพลาไชย
 
..............ค่ายจีนสวนพลูถูกตีแตกในคืนที่ 19 ค่ายวัดไชยวัฒนาราม ถูกตีแตกใน 8 คืนของการต้านศึก ค่ายเซ็นโยเซฟ บ้านโปตุเกส บ้านฮอลันดา
 
.............ต่างล้วนถูกพม่าที่แยกกำลังเป็น 27 ส่วน กระจายตัวเข้าโจมตีอย่างโหดม วันสุดท้ายของอโยธยา .....ใกล้เข้ามาทุกขณะ 
    
       
สถานการณ์ยังสับสนยิ่งนัก

...........เพลานี้สมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ ยืนบัญชาการรบป้องกันพระนคร บริเวณค่ายผนบประตูข้าวเปลือกด้านทิศเหนือ ท่ามกลางเหล่าแม่ทัพนายกองน้อยใหญ่ที่เหลือรอดจากการสังหารของอังวะในศึกนอกพระนคร ต่างปรึกษาหารือกันว่าจะแก้ไขยุทธศาสตร์และยุทธวิธีในการป้องกันพระนครจากภายในได้อย่างไร
 
.......ทรงมีรับสั่งให้ปืนขนาดต่าง ๆ ที่อยู่บนเชิงเทินรอบกำแพงพระนครและบนป้อมทุกป้อม ยิงสกัดการข้ามน้ำของทหารพม่าทุก ๆ ทางอย่างแข็งขัน มิให้ข้าศึกสามารถผ่านขวากหนามข้ามคูน้ำมามาได้โดยสำเร็จ

........... ช่วงคราวหนึ่ง มีกระแสรับสั่งให้พระยามหามนตรีและมหาดเล็กหุ้มแพร นำกำลังทหารจำนวนหนึ่งตีหนีออกไปตามทิศใต้ เพื่อไปขอกำลังจากหัวเมืองตะวันออก เขมรและกำลังของกรมหมื่นเทพพิพิธ มาขนาบรบค่ายพม่าด้านนอกเพื่อหักทางทิศตะวันออกให้จงได้ และมีรับสั่งให้เจ้าพระยาท้ายน้ำ หลวงยกกระบัตรเมืองราชบุรี กรมพระนครบาลนำไพร่ทหารแยกเป็นออกเป็นหลายกลุ่ม ตีหนีออกไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ตรงประตูเกาะแก้ว เพื่อไปขอกำลังจากหัวเมืองนครศรีธรรมราชและปัตตานีทางใต้ ให้มาช่วยกระหนาบศึกพระนคร 

..........ครั้นเมื่อพระองค์มองมาที่หลวงยกกระบัตรคนหนึ่งที่อยู่ห่างจากพระองค์มากพอสมควร ทรงตรัสชื่นชมและทอดพระเนตรเห็นความรุ่งเรืองของหลวงกระบัตรผู้นั้นในอนาคต แต่ยังมิได้พบหน้าอย่างชัดเจน ทหารม้าเร็วนำสารเข้ามากราบทูลว่า ทหารพม่าที่ตั้ง 3 ค่าย อยู่ทางสะพานคูขื่อป่าสัก ตรงกับป้อมมหาไชยข้ามน้ำเข้ามามากผิดปกติวิสัย มีการขุดดินพูนขึ้นมาเป็นจำนวนมาก พวกพม่าอังวะกำลังทำอะไรอยู่กันแน่ ? 

           จึงมีรับสั่งให้ปืนใหญ่ระดมยิงให้มากกว่าเดิม พร้อมทั้งรับสั่งให้ส่งทหารออกไปทำลายค่ายที่ข้ามมาในทันที พระยากลาโหมจึงรีบกราบทูลว่า กำลังทหารส่วนป้อมมหาไชยนั้นยังมิเพียงพอที่จะรักษาเชิงเทินค่ายป้อม ไม่สามารถรวบรวมไพร่ทหารออกไปตีค่ายพม่าที่เข้ามาประชิดได้อีกในช่วงเพลาอันใกล้นี้
 
................ยังมิทันที่จะได้มีรับสั่งต่อ ทหารม้านำสารอีกนายหนึ่งก็ฝ่าวงล้อมของเหล่าราชองครักษ์ เข้ามากราบทูลข่าวว่า พระราชวังหลวงถูกปืนใหญ่ถล่มไฟไหม้อย่างหนักในหลาย ๆ จุด จึงมีรับสั่งให้ย้ายเหล่าสนมนางในออกมาอยู่ในพระตำหนักสระแก้วและสวนกระต่ายที่ติดกับวัดพระศรีสรรเพชญโดยเร็ว
 
.............ในค่ายบัญชาการรบมีแต่ความวุ่นวายและโกลาหล ทหารม้านำสารเข้ามารายงานข่าวจากหลาย ๆ ทิศทาง มากมายและสับสน เหล่าทหารองครักษ์ พระตำรวจหลวง มหาดเล็กหุ้มแพรและขุนนางชั้นต่าง ๆ เดินกันไปมาอย่างขวักไขว่ในค่ายรบประตูข้าวเปลือกในพระนคร มีรับสั่งให้ขุนทหารหลวงบางส่วน ตั้งค่ายรับศึกภายในพระนครด้านทิศเหนือ บริเวณด่านผนบหน้าวัดมหาธาตุราชบูรณะเป็นการเร่งด่วน และให้ยิงปืนใหญ่แลปืนน้อยประจันหน้ากับค่ายวัดพระเมรุ ค่ายวัดศรีโพธิ์ของพม่าอังวะ 

.............แล้วยังทรงมีรับสั่งอีกมากมาย............มากมายเสียเหลือเกิน...........
    
  
 
                 
 
           
กลับพระราชวังหลวง เตรียมตัวตีฝ่าวงล้อม

.........พระเจ้าเอกทัศน์เสด็จกลับมาที่วังหลวง พระที่นั่งสุริยามรินทรมหาปราสาท ท่ามกลางเปลวเพลิงและเสียงปืนใหญ่ที่กระหน่ำยิงอย่างผิดสังเกต นางสนมกำนัลต่างย้ายเข้าไปพำนักทางตำหนักสระแก้วและสวนกระต่ายตามบัญชา พระองค์โปรดให้มีการประชุมปรึกษาเหล่าขุนนางและเสนาทหารองครักษ์ให้เตรียมพร้อมในการตีฝ่าวงล้อมทางทิศใต้หากหน่วยของพระยามหามนตรี สามารถตีฝ่าออกไปได้จริง ขุนนางผู้ใหญ่ทูลขอให้ชลอการเสด็จหนีจนกว่าจะทราบข่าวทัพหัวเมืองตะวันออกและใต้เสียก่อน
 
.............อย่างไรก็ดี ขุนนางผู้ใหญ่บางคนก็เสนอให้พระองค์ยอมสวามิภักดิ์กับอังวะในช่วงเวลาที่คับขันนี้ สมเด็จพระที่นั่งสุริยาศ์นอมรินทร์ มีรับสั่งเชิงพิโรธว่า " หากพม่ามีปีกข้ามคูคลองหอรบที่เป็นดังปราการเหล็กแห่งทวารวดีเข้ามาได้เท่านั้น เราจึงจะยอม แต่หากในเพลานี้ เราหายอมอ่อนข้อให้ไม่ "

..............ขุนนางในกรมพระสัสดีถวายรายงานแก่พระองค์ว่าไพร่ทหารคงเหลือราว 40,000 คนภายในกำแพงพระนคร แต่เสบียงอาหารนี้นั้นอาจจะอยู่ได้อีกไม่เกินเดือน

...........พระเจ้าเอกทัศน์เสด็จเข้าบรรทมท่ามกลางเสียปืนใหญ่ระดมยิงและเสียงกรีดร้องตกใจของนางสนมกำนัล ทรงโอบกอดพระมเหสีแล้วปลอบใจต่าง ๆ นานา โดยทรงสัญญาว่าจะรีบชนะศึกในครั้งนี้ให้เร็วที่สุด เหล่านางในต่างขอเข้าเฝ้าร่วมบรรทมด้วยเพราะความหวาดกลัว........ อย่างที่สุด

.........ในคืนนั้น พม่าเกือบจะลุถึงจุดหมายในการขุดรากกำแพงพระนครตรงกำแพงส่วนของแนวกำแพงสะพานหัวรอคูขื่อป่าสักแล้ว....!!!!!!!

   
  
 
                 
 
            เสด็จหนีเมื่อข่าวทัพพม่าบุกเข้ามาในพระนคร

ราวตี 4 ของวันขึ้น 11 ค่ำ เดือน 5 ( เมษายน วันเนาสงกรานต์ ) พม่าอังวะก็สามารถบุกเข้าพระนครได้ เมื่อแผนพระ "มโหสถบัณฑิต" ที่เคยใช้กับเมืองกำแพงเพชร บรรลุสู่ความสำเร็จ ทัพสวามิภักดิ์ทัพหน้าจากลุ่มแม่น้ำปิง ลอดกำแพงเข้าสู่พระนคร กำแพงอีกส่วนหนึ่งถูกเผารากจนพังทลายลง ทหารพม่าทัพกองหน้าและไพร่สวามิภักดิ์ต่างกรูกันเข้าในช่องที่พังทลายลงนั้นอย่างกับห่าฝน 

....การบุกเข้ากำแพงพระนครได้นี้ ไม่มีขุนทหารอยุธยาผู้ใดได้คาดคิดมาก่อน!!!!!!

..........สมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ตกพระทัยเป็นยิ่งนัก เมื่อทหารม้าเร็ววิ่งควบฝ่าวงล้อมและเหล่าขุนนางทหารมาที่พระที่นั่งอย่างไม่เกรงกลัวพระอาญาในตอนเช้ามืด แจ้งให้ทราบข่าวว่าทัพพม่าฝ่าแนวป้องกันของค่ายผนบวังหน้าที่ป้อมมหาไชย วัดฝางและจำปาพลได้แล้ว กำลังเข้าปะชิดค่ายคลองข้าวเปลือกและกระจายกำลังไปทั่วพระนครทุกทิศทาง เสียงศึกรบกัมปนาทและควันไฟพวงพุ่งอยู่ใกล้ที่ประทับเข้ามาทุก ๆ ขณะ จึงทรงมีรับสั่งให้เร่งส่งทหารจากฟากตะวันตกและใต้ที่ก็ไม่สามารถมาช่วยได้ทันแล้ว ให้ไปตั้งรับที่ค่ายหน้าวัดมหาธาตุ 

..........แต่ทุกอย่างก็ดูจะสายเสียสิ้นแล้ว เพราะค่ายด่านวัดมหาธาตุเสียทีแก่พม่าไปเมื่อรุ่งสาง และเมื่อมีทหารนำสารจากจุดต่าง ๆ เข้ามารายงานว่า ทหารพม่าและทหารสวามิภักดิ์ต่างบุกฝ่าขวากหนามข้ามคูเมืองเข้าตีประตูพระนครทุกด้านพร้อม ๆ กัน บ้างก็สามารถทะลวงเข้ามาภายในพระนครได้แล้ว จึงเกิดเหตุความวุ่นวายโกลาหลภายในพระนคร ทหารอโยธยาด้านอื่น ๆ ก็พลันมิได้ทันได้ระวังตัว ถูกตีโอบจากด้านหลังพ่ายศึกอย่างรวดเร็ว ประตูหลาย ๆ ด้านถูกเปิดออก โดยเฉพาะด้านตะวันออก ทหารบนเชิงเทินต่างรบอย่างมิได้ย่อท้อ แต่ก็มิอาจต้านกำลังทหารพม่าที่ไหลเลื่อนเข้ามาเป็นจำนวนมาก

...........ตลอดจนช่วงเพลาบ่าย ไพร่ทหารแตกกระจายจากตะวันออกมาสู่ตะวันตก ใกล้พระราชวังหลวง แนวต้านปะทะอยู่ที่หน้าประตูพระราชวังและสนามหลวง พระเจ้ากรุงสยามจึงทรงเข้าไปเตรียมพระองค์ในชุดสงครามเกราะหนังขลิบทอง คล้าย ๆ กับชุดขององครักษ์ เพื่อพลางตัว แล้วจึงเสด็จหนีภัยไปทางตะวันตกของพระนครที่ดูจะปลอดภัยมากที่สุดในยามนี้ กรมทหารล้อมวังราชองครักษ์คุ้มกันพระองค์และพระญาติส่วนหนึ่งลงมาจากพระที่นั่ง เสด็จผ่านทางประตูมหาโภคราชของพระบรมมหาราชวัง ลงเรือผ่านคลองท่อ เร่งเดินทางไปยังพระราชวังหลัง........
........ทัพอังวะ หักเข้าสู่วัดพระศรีสวรรเพชญแล้วในเวลาเดียวกัน!!!!!

...........เมื่อพระเจ้ากรุงศรีอยุธยาเสด็จถึงพระราชวังหลัง ทรงรับสั่งให้จัดการรวบรวมไพร่ทหารเพื่อตีฝ่าออกไปโดยพลัน ........ทันใดนั้น ทหารม้าเร็วประตูตะวันตกก็วิ่งเข้ามาแจ้งข่าวว่า ทหารสวามิภักดิ์พม่า ได้ยกข้ามคูฝ่าขวากหนามเข้าสู่ประตูใหญ่ท่าวังหลังแล้ว ให้พระองค์เร่งเสด็จหนีไปทางอื่นเถิด
 
................ แต่มิทันจะกล่าวจบสิ้นกระบวนความ ทหารม้าพม่าพร้อมปืนคาบศิลาจำนวนมาก เข้าปะทะกับทหารองครักษ์ที่พยายามรวบรวมกันตั้งวงล้อมนำพระเจ้าเอกทัศน์เสด็จหนี เกิดการปะทะกันขั้นตะลุมบอน เสียงดาบและปืนดังสลับกันเป็นโกลาหลใกล้ประตูใหญ่ท่าน้ำ เจ้าสวานโปงนำไพร่ทหารมอญวิ่งฝ่าเข้าสู่พระราชวังหลัง โดยไม่ได้คิดว่ากษัตริย์อยุธยาศรีเทพทวารวดีจะประทับเตรียมหนีอยู่ที่ตรงนั้น ส่วนนายทัพพม่า พละนันทจอถิง มางยีไชยสู เตชะพละจอและพระราชบุรี ต่างก็เข้ารุมรบกับกลุ่มทหารหลวงองครักษ์
 
.............การรบที่วุ่นวายโกลาหล ไม่รับรู้ว่าใครเป็นใครที่บริเวณประตูใหญ่ท่าวังหลัง 

...........พลันเมื่อสิ้นเสียงปืนเสียงหนึ่ง ร่างของสมเด็จพระที่นั่งสุริยาศ์นอมรินทร์ก็ล้มลงสวรรคตในทันที โดยทหารหมู่ใหญ่ของอังวะ ยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าได้ปะทะกับทัพองครักษ์ของกษัตริย์อโยธยาอยู่ ทหารองค์รักษ์มีจำนวนน้อยกว่าต่างล้มตายเป็นราชพลีและได้ยอมจำนนในที่สุด


           
ถวายพระเพลิงบรมศพ กษัตริย์แห่งอโยธยา

เมื่อทหารอังวะสามารถเข้ายึดครองและควบคุมส่วนต่าง ๆ ของพระนครจนสิ้นแล้ว กองทัพพม่าได้จำตรวนทหารอโยธยาที่เหลือกว่า 20,000 คนไว้ตามที่ตั้งค่ายต่าง ๆ รวมทั้งเข้าปล้นสดมภ์ยึดทรัพย์ ศัสตราวุธจากพระราชวังหลวง วัดวาอาราม รวมทั้งบ้านเรือนราษฎร

..........หน่วยทหารหลวงพม่าเข้าควบคุมเชลย ไพร่ ทหาร ขุนนาง พระญาติพระวงศ์ และสนมกำนัล เนเมียวเสหบดีแม่ทัพใหญ่ชาวล้านนาแห่งอังวะ ให้สอบสวนพระญาติพระวงศ์รวมทั้งสนมนางในว่าพระเจ้าเอกทัศน์เสด็จไปอยู่ที่ไหน แต่ก็หามีผู้ใดล่วงรู้ว่าเสด็จสวรรคตเสียแล้ว จึงมีคำสั่งให้ไปรับตัวพระเจ้าอุทุมพรมาจากวัดประดู่ทรงธรรม 

จนรุ่งขึ้นอีกวันหนึ่ง ทหารม้าเสื้อเกราะแดงทอง สังกัดกรมราชองครักษ์หลวงอังวะ ได้นำเจ้าฟ้าสอสาน พระอนุชาของสมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์พระองค์หนึ่งที่ถูกลงพระอาญาให้เป็นตะพุ้งหญ้าช้าง มาสอบสวน ได้ความว่าเห็นพระองค์เคลื่อนขบวนหนีไปทางทิศตะวันตก จึงให้จัดทหารออกค้นหาร่วมกับขุนนางอโยธยาและพระญาติพระวงศ์จำนวนหนึ่ง จึงได้มาพบพระบรมศพนอนสวรรคตอยู่ที่บริเวณประตูตะวันตก
 
ทันทีที่พบพระบรมศพ แม่ทัพใหญ่พม่าได้สั่งการให้เหล่าขุนทหาร ทหารหลวง ไพร่ทหาร และไพร่ราบของพม่าอังวะทั้งหมดก้มลงกราบถวายความเคารพพระบรมศพกษัตริย์แห่งทวารวดีศรีอยุธยาเป็นครั้งสุดท้าย พร้อมปรารภว่า
"...พระเจ้าเซงพยูเชงไม่ได้มีพระราชประสงค์ให้จับพระองค์แบบไร้ชีวิตเช่นนี้ หากแต่ต้องการจับพระองค์แบบขัตติยราชา เฉกเช่นจักรพรรดิราชพึงจะสามารถกระทำ เพื่อเป็นพุทธราชาแห่งชมพูทวีป ..."

เมื่อเสร็จความพระบรมศพ เนเมียวผู้แม่ทัพใหญ่จึงมีคำสั่งเรียกให้นายทัพหน่วยที่เข้ารบปะทะกับเหล่าองครักษ์และฝ่าวงล้อมของพระเจ้ากรุงสยาม นายทัพพม่า และพระราชบุรีเข้ามารายงานด้วยสำนึก จึงมีคำสั่งให้ประหารชีวิตนายทัพในทันที 

    เหตุเพราะการสังหารกษัตริยราชา เป็นการขัดพระราชโองการศึกของพระเจ้ามังระในพันธะแห่งจักรพรรดิราช ทำให้เสื่อมพระเกียรติยศไปทั่วแว่นแคว้น แต่ได้ปูนบำเหน็จให้กับลูกเมียที่บ้านเกิด ในความดีความชอบที่ได้พึงกระทำ แล้วจึงสั่งให้เชลยศึกศรีอยุธยาที่เหลืออยู่ นำพระบรมศพไปถวายพระเพลิงที่วัดพระศรีสรรเพชญ พร้อมกับสั่งให้จัดการเฉลิมฉลองกองทัพในชัยชนะที่พระเจ้าช้างเผือกแห่งอังวะสามารถเข้าทำลาย เมืองที่มิอาจต่อรบได้ ลงราบคาบฉะนี้ .............. 

__________________

เจ้าของกระทู้อ่านแล้วรู้สึกว่า การที่วันนี้ เราเรียนประวัติศาสตร์ แล้วพูดถึงการเสียกรุง เพราะหนังสือประวัติศาสตร์เขียนไว้อย่างนั้น พอมาเจอกับอันนี้ ซึ่งเป็นจดหมายเหตุพม่าที่แปลเป็นไทย  และจดหมายเหตุที่คนไทยเขียนไว้บางส่วน ทำให้เรานึกถึงบางสิ่งบางอย่าง

ผู้แพ้........ ไม่มีสิทธิเขียนประวัติศาสตร์

ปล.โหวด เม้น เพื่อให้ขึ้นท๊อปก็ยังดี



แก้ไขครั้งที่ 1 เมื่อ 11 มีนาคม 2553 / 04:20

PS.  ข้าจะชิงบัลลังค์คืน โดยที่ไม่ให้เลือดของใครจะต้องหลั่งแม้แต่หยดเดียว

แสดงความคิดเห็น

>

6 ความคิดเห็น

ขุนกำแหง 10 มี.ค. 53 เวลา 17:17 น. 1

อะอ้าว เเปลี่ยนชื่อจากพระศรีสรรเพรช กลับมาเป็นนโปเลียนแล้วหรือ


PS.  หญิงพรหมจารีหายากยิ่ง ขออุทิศทั้งชีวิตเพื่อหาสาวพรหมจารีมาเคียงกาย
0
Imperial Majesty Victor"The Magnificent" 13 มี.ค. 53 เวลา 03:12 น. 5

ซึ่งเป็นจดหมายเหตุพม่าที่แปลเป็นไทย  และจดหมายเหตุที่คนไทยเขียนไว้บางส่วน


PS.  อย่ามัวแต่ใส่ฉลองพระพักตร์เทวดาเข้ารำหา พอลับหลังมาสวมหัวโขนยักษาไล่เชือดอย่างเลือดเย็น
0