Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

ไตรภูมิพระร่วง ฉบับสมบูรณ์...เผยความลับ 31 ภูมิ

ตั้งกระทู้ใหม่
ตั้งกระทู้ใหม่
ไตรภูมิกถา หรือ ไตรภูมิพระร่วง เป็นวรรณคดีทางพุทธศาสนาที่เก่าแก่และสำคัญเล่มหนึ่งของไทย มีอายุกว่า 600 ปี แต่งขึ้นโดยพญาลิไทย (พระมหาธรรมราชาที่ 1) พระมหากษัตริย์องค์ที่ 5 แห่งราชวงศ์พระร่วง เมื่อ พ.ศ. 1888 นับเป็นเวลา 7 ปีก่อนที่จะเสด็จออกผนวชในพ.ศ. 1905







ไตรภูมิพระร่วง

ไตรภูมิพระร่วง ทรงแต่งขึ้นเพื่อเทศนาแก่พระมารดาและสั่งสอนประชาชน ได้ทรงแสดงข้อคิดเห็นเกี่ยวกับหลักในพระพุทธศาสนา ตลอดจนชี้ให้เห็นผลบาปและผลบุญที่คนทั้งหลายได้กระทำไว้ แสดงให้เห็นถึงพระปรีชาสามารถและอัจฉริยภาพของบรรพบุรุษไทยในการนิพนธ์วรรณคดี และเป็นผู้มีจิตวิทยาสูง




เนื่องจากการก่อตั้งอาณาจักรขึ้นใหม่ ย่อมต้องการความร่วมมือร่วมใจของประชาชนให้อยู่ในศีลธรรม ระเบียบวินัย รู้บาปบุญคุณโทษ และยึดมั่นในศาสนา เพื่อสามารถต่อสู้กับศัตรูรอบด้านที่คอยคุกคาม อีกทั้งยังแสดงความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติและวิทยาศาสตร์ เช่นตอนพรรณาถึงกำเนิดมนุษย์ ทั้ง ๆ ที่ในสมัยสุโขทัย วิทยาศาสตร์ยังไม่ก้าวหน้าดังเช่นปัจจุบัน จุดมุ่งหมายสำคัญในไตรภูมิพระร่วงนี้ เพื่อให้คนเกรงกลัวต่อบาป ประกอบแต่กรรมดี โดยแบ่งออกเป็น 3 ภูมิใหญ่ คือ กามภูมิ 11 รูปภูมิ 16 อรูปภูมิ 4 รวมเป็น 31 ภูมิ เรียกว่า ไตรภูมิ ผลบาปและผลบุญของผู้กระทำจะส่งให้ผู้นั้นไปเกิดในภูมิต่าง ๆ กัน ผู้กระทำแต่บาปหยาบช้า อกตัญญูไม่รู้คุณบิดามารดา เมื่อตายจะไปเกิดในภูมิชั้นต่ำคือนรกภูมิ ภูมิชั้นต่ำสุดในกามภูมิ ที่มีขุมนรกลดหลั่นลึกลงไปถึง 8 ขุม หรือเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน เปรต หรือ อสุรกาย ตามแต่ผลบาปที่ได้กระทำไว้


ถ้าประพฤติตนอยู่ในศีลในธรรมประกอบแต่กรรมดี ก็จะได้ไปเสวยสุขในภูมิที่สูงขึ้นไปตามผลบุญที่ได้กระทำ ผู้ที่ทำทั้งบุญและบาป ก็จะไปเกิดเป็นเปรตสลับกับเทวดา จนหมดสิ้นกรรมที่ทำไว้ เมื่อเกิดเป็นเทวดาในสวรรค์แล้วไม่หลงในสุขสมบัติ ฝึกจิตสมาธิให้หมดจากกิเลส ก็จะได้ไปเกิดเป็นพรหมในรูปภูมิและอรูปภูมิ แม้จะอยู่ในอรูปภูมิที่มีเพียงแต่จิต แต่จิตยังดับกิเลสไม่หมด จิตนั้นก็ยังมีดับและเกิดใหม่ ในไตรภูมินี้ได้แสดงให้เห็นความน่ากลัวในนรก และความสุขความสวยงามในสวรรค์อย่างชัดเจน


เพื่อให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจได้ง่ายถึงผลของการทำดีและทำชั่ว และการเวียนว่ายตายเกิด อันเป็นผลจากกรรมที่ผู้นั้นได้กระทำไว้ จุดมุ่งหมายสำคัญก็คือ ให้หมั่นฝึกจิตสมาธิเพื่อเข้าถึง ศีล สมาธิ ปัญญา ตามคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือ อริยสัจ 4 และ มรรค 8 ให้เกิดปัญญาในการพิจารณาปัญหาต่าง ๆ ถ้าเราปฏิบัติได้ดั่งนี้ เราก็สามารถลดปัญหาและความทุกข์ต่าง ๆ ที่เผชิญอยู่ลงไปได้มาก จึงให้รู้ ลด ละ เลิก ในโลภ โกรธ หลง หมั่นฝึกจิตสมาธิให้ปราศจากกิเลส


ตามหลักการของพระพุทธศาสนา อันว่าเกิดมาจะได้สสุขสมบัติในเทวโลกก็ดี มนุษยโลกก็ดี ยังคงแตกดับสูญสลายไป มีแต่นิพพานสุขเท่านั้นที่หลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด ดังที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้

แสดงความคิดเห็น

>

1 ความคิดเห็น