Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

อยากถามเรื่องศีล 5 แท้จริงคืออะไรกันครับ

ตั้งกระทู้ใหม่
ตั้งกระทู้ใหม่
ผมมีความสงสัยเป็นข้อๆดังนี้ เพราะได้เจอจากหนังสือเรียนบ้าง หนังสือธรรมะที่ทำขายกันตามซีเอ็ดบ้าง จากคนสอยบ้าง เลยสงสัยครับ

ศีล 1 ผมคิดว่าเป็นการไม่เบียดเบียนกัน แต่ทำไมเห็นเป็นเพียงห้ามฆ่าสัตว์ ทั้งจากหนังสือบ้าง มีผู้สอนบ้าง.... ถ้างั้นมีคนหัวแหลม ไม่ฆ่า แต่ตัดแขนตัดขา ทรมาณ กักขัง หน่วงเหนี่ยว ก็ไม่ผิด กระทืบทรมาณ ก็คิดว่าไม่ได้ละเมิดศีล1หรือ ไม่แย่เลยหรือแบบนั้นอะ แต่ผมก็คิดว่าที่ทำข้างต้นก็ผิดอยู่ดี



ศีล 2 ห้ามลักขโมย.... ผมคิดว่า ถ้าหากเราเอาของคนอื่นโดยไม่ยินยอมก็คงถือว่าขโมยหมด แม้โกง ฉ้อ ... มากมายเกิดศัพท์จะรู้หมด................แต่หากเราไปเผาบ้านเมืองตีเมืองนั้นเผาโน้นเผานี้ เราจะบาปไหม.เพราะผมเข้าใจมาตลอดว่า ข้อ 2 คือการไม่ประพฤติผิดในทรัพย์ แม้จะเอาทำลายของคนอื่นมาก็คงผิด


ศีล 3 ห้ามผิดเมียผู้อื่น...ผมคิดว่าเป็นข้อห้ามประพฤติผิดในกามใช่ไหมครับ ถ้าหากเราข่มขืน ล่วงเกิน ลวนลามคงไม่ผิดหรือครับ...แต่ผมก็คิดว่าคงผิดอยู่ดี

ศีล 4 ห้ามพูดโกหก........ผมเห็นในทีวีที่มีภิกษุ ผมขอพูดตามที่ได้ยิน การพูดคำหยาบ ส่อเสียดเป็นเพียงแค่..สัมมาวาจาจริงหรือครับ...แต่เอ ผมเห็นคนในสมัยพุทธประวัติไม่โกหก..เพียงแค่ด่า ทำไมยังตกนรกเลย

ศีล 5 รู้ๆกันครับ

เนื่องจากผมพบเจอมาก มากซะจนคนทั้งประเทศเชื่ออย่างนี้แล้ว

ผมคิดว่าถูกหรือผิดครับ ถ้าหากถูก ผมจะได้ไม่ฆ่าสัตว์ ลักขโมย ผิดเมีย โกหก และเสพติดแค่นั้นพอ

โปรดชี้แนะด้วยครับ

PS.  หญิงพรหมจารีหายากยิ่ง ขออุทิศทั้งชีวิตเพื่อหาสาวพรหมจารีมาเคียงกาย

แสดงความคิดเห็น

>

10 ความคิดเห็น

นายแสนดี 7 ส.ค. 53 เวลา 21:09 น. 1
"เบญจศีล" นั้นเป็นธรรมที่คู่กับ "เบญจธรรม"

กลาวคือ  เบญจศีล คือ ข้อไม่พึงปฏิบัติ(ทุกท่านคงจะทราบอยู่แล้วจึงไม่ข้อกล่าวว่ามีอะไรบ้าง)
ส่วน        เบญจธรรม คือ  ข้อพึงปฏิบัติ

เบญจธรรม 5 ประการ ประกอบด้วย

    1.เมตตากรุณา คือความรัก ความปรารถนาดีต่อผู้อื่น
    2.สัมมาอาชีวะ คือการประกอบสัมมาชีพ
    3.กามสังวร คือการสำรวมในกาม
    4.สัจจะ คือการพูดความจริง
    5.สติสัมปชัญญะ คือความระลึกได้และความรู้ตัว

จากหนังสือพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต)
พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)

         ถ้าพิจารณาดูแล้วหลักเบญจศีลและเบญจธรรมนั้น
จะเห็นได้ว่านอกจากมีข้อห้ามแล้วยังมีข้อพึ่งปฏิบัติด้วย
หากเข้าใจตรงนี้ ก็จะเข้าใจว่าว่าการรักษาศีล๕นั้น
ไม่ใช่มีแค่เบจญศีลอย่างเดียวโดดๆ แต่ต้องคาบเกี่ยวเอาเบญจธรรมเข้าไว้ด้วย
จึงจะเป็นการประพฤติปฏิบัติที่สมบูรณ์
         ถ้าเบญจศีล เบญจธรรม มาคู่กัน ศีล๕ จะไม่มีช่องโหว่หรือไม่คลุมเคลือแต่อย่างใด
ตัวอย่างเช่นถ้าจะรักษาศีลข้อที่ ๑ นั้นแสดงว่า
         เบญจศีลข้อที่ ๑  จะต้องมาคู่กับเบจญธรรมข้อที่ ๑
           ห้ามฆ่าสัตว์ คู่กับ เมตตากรุณา
ดังนั้นจะเห็นได้ว่า นอกจากไม่ฆ่าสัตว์แล้ว ต้องมีเมตตากรุณาต่อสัตว์ด้วย
เมื่อเมตตากรุณาต่อสัตว์ ย่อมไม่เบียดเบียนสัตว์ ไม่รังแก ทรมาณกาย ทรมาณใจสัตว์ ดังนี้

ปล.ต้องขอคุณท่าน "ขุนกำแหง" สำหรับคำถามที่เป็นประโยชน์สำหรับผู้อื่นด้วย

ธรรมะรักษาครับ


แก้ไขครั้งที่ 1 เมื่อ 7 สิงหาคม 2553 / 21:18
แก้ไขครั้งที่ 2 เมื่อ 7 สิงหาคม 2553 / 21:24
แก้ไขครั้งที่ 3 เมื่อ 7 สิงหาคม 2553 / 21:23

PS.  ทันโต เสฏโฐ มนุสเสสุ แปลว่า ในหมู่มนุษย์ผู้ที่ฝึกแล้วประเสริฐ
0
ิbank 7 ส.ค. 53 เวลา 21:53 น. 2

การที่ภิกษุณูปนั้นพูด ก็เป็นความจริงส่วนหนึ่ง เช่นการด่าว่าของพ่อแม่ไม่บาป เพราะพ่อแม่มีเจตนาที่ดีงามต่อลูก ในทางพุทธศาสนา

แล้วเรียกว่า ปิยวาจา&nbsp  ฉะนั้น การด่าว่า (หรือแม้แต่การออกอุบายเพื่อให้บรรลุธรรม) ไม่ได้เป็นการผิดศีล เพราะเจตนาบริสุทธิ์

สุดท้ายนี้ ศีลขึ้นอยู่กับเจตนาเป็นหลัก หากเจตนาดีแม้วาจาทรามก็เป็นกุศล แต่ถ้าวาจาอ่อนหวาน เจตนาร้าย มันก็คือยาพิษนั่นเอง8

0
พีท 7 ส.ค. 53 เวลา 23:27 น. 4

รายละเอียดของศีล 5
ในศีล 5 แต่ละข้อนั้น มีรายละเอียดหรือกฎเกณฑ์ที่ใช้ในการพิจารณาการกระทำแต่ละอย่าง ว่าผิดศีลหรือไม่ แตกต่างกันออกไป ซึ่งหลักเกณฑ์โดยทั่วไปมีดังนี้คือ

การผิดศีลข้อที่ 1 ปาณาติบาต (การฆ่าสัตว์)

การกระทำที่ถือว่าผิดศีลข้อนี้อย่างสมบูรณ์ จะต้องประกอบด้วยส่วนประกอบดังนี้

สัตว์นั้นมีชีวิต (คำว่าสัตว์นั้นรวมถึงคนด้วย กรณีที่ผู้ถูกฆ่าเป็นคน แต่ไม่รวมถึงพืช)
รู้ว่าสัตว์นั้นมีชีวิต (กรณีที่ไม่แน่ใจว่าสัตว์นั้นยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ ความผิดก็น้อยลงไป)
มีจิตคิดจะฆ่า คือมีเจตนาที่จะฆ่าสัตว์นั้น
ทำความเพียรเพื่อให้สัตว์นั้นตาย คือลงมือฆ่านั่นเอง
สัตว์นั้นตายลงด้วยความเพียรนั้น (ถ้าสัตว์นั้นไม่ถึงตาย หรือตายไปด้วยสาเหตุอื่น ความผิดก็น้อยลงไป)
บาปกรรมที่เกิดขึ้นจะมากน้อยเพียงใดนั้น นอกจากจะขึ้นกับความสมบูรณ์ตามหลักเกณฑ์ 5 ข้อ นี้แล้ว ยังขึ้นกับคุณสมบัติของผู้ที่ถูกฆ่า และความพยายามที่ใช้ด้วยดังนี้คือ

ในการฆ่านั้น ถ้าต้องใช้ความพยายามมาก หรือใช้เวลาวางแผนและเตรียมการเป็นเวลานาน ก็จะยิ่งเป็นบาปมาก เพราะจิตจะต้องมีกำลังมาก และต้องเสพอารมณ์นั้นเป็นเวลานาน ดังนั้น การฆ่าสัตว์ใหญ่จึงเป็นบาปมากกว่าการฆ่าสัตว์เล็ก เพราะต้องใช้ความพยายามมากกว่า
ถ้าผู้ที่ถูกฆ่านั้นยิ่งมีศีลธรรมมาก ก็จะยิ่งเป็นบาปมาก
ถ้าผู้ที่ถูกฆ่านั้นมีบุญคุณต่อผู้ที่ฆ่ามาก ก็ยิ่งเป็นบาปมาก
การฆ่าที่เป็นบาปมากเป็นพิเศษ คือการฆ่าบิดา มารดาของตน และการฆ่าพระอรหันต์

0
พีท 7 ส.ค. 53 เวลา 23:28 น. 5

การผิดศีลข้อที่ 2 อทินนาทาน (การลักทรัพย์)

การกระทำที่ถือว่าผิดศีลข้อนี้อย่างสมบูรณ์ จะต้องประกอบด้วยส่วนประกอบดังนี้

วัตถุนั้นมีเจ้าของ
รู้ว่าวัตถุนั้นมีเจ้าของ
มีจิตคิดจะลักขโมยวัตถุนั้น
ทำความเพียรเพื่อลัก คือลงมือขโมยนั่นเอง
ได้วัตถุนั้นมาด้วยความเพียรนั้น
ศีลข้อนี้ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงการลักขโมยโดยตรงเท่านั้น การลักขโมยโดยอ้อม การฉ้อโกง ก็จัดว่าผิดศีลข้อนี้เช่นกัน เช่น การทำให้เขาเสียประโยชน์ที่เขาพึงได้ อย่างเช่น เขาซื้อสินค้าจากเรา 1 กิโลกรัม แต่เราตักให้เขาเพียง 0.9 กิโลกรัม ก็หมายความว่า เราได้ขโมยสินค้านั้นจากลูกค้ามา 0.1 กิโลกรัม นั่นเอง

หรือมีคนว่าจ้างให้เราทำงานให้เขา 8 ชั่วโมง แต่เราทำให้เขาเพียง 7 ชั่วโมง ก็หมายความว่าเราขโมยเงินจากเขาเท่ากับค่าจ้าง 1 ชั่วโมง เป็นต้น นอกจากนี้ การเลี่ยงภาษีอากรต่างๆ ที่เราจะต้องจ่ายให้รัฐ ก็เป็นเหมือนการที่เราขโมยเงินส่วนนั้นจากรัฐเช่นกัน ทำให้รัฐขาดเงินในส่วนนั้นไป

ข้อยกเว้นสำหรับศีลข้อนี้

การกระทำที่คล้ายกับการลักทรัพย์ แต่ไม่ใช่การลักทรัพย์ก็คือการถือวิสาสะ คือการถือเอาด้วยความสนิทสนม คุ้นเคยกัน

การถือวิสาสะที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้ภิกษุกระทำได้ คือการถือวิสาสะที่ประกอบด้วยองค์ 5 คือ

(เรากับเจ้าของวัตถุนั้นเป็นผู้) เคยเห็นกันมา
(เรากับเจ้าของวัตถุนั้นเป็นผู้) เคยคบกันมา
เคยบอกอนุญาตกันไว้ (ว่าให้เอาวัตถุนั้นไปได้)
(เจ้าของวัตถุนั้น) เขายังมีชีวิตอยู่ (เพราะถ้าเจ้าของทรัพย์นั้นเสียชีวิตแล้ว วัตถุนั้นย่อมตกเป็นของทายาท เราจึงต้องไปพิจารณาถึงองค์ 5 ในการถือวิสาสะนี้ กับทายาทนั้นต่อไป)
รู้ว่าเมื่อเราถือเอาวัตถุนั้นแล้ว เจ้าของวัตถุนั้นเขาจักพอใจ

0
พีท 7 ส.ค. 53 เวลา 23:30 น. 6

การผิดศีลข้อที่ 3 กาเมสุมิจฉาจาร (การประพฤติผิดทางกาม)

การกระทำที่ถือว่าผิดศีลข้อนี้อย่างสมบูรณ์ จะต้องประกอบด้วยส่วนประกอบดังนี้

บุคคลที่ไม่ควรเกี่ยวข้อง (ทางกาม)
มีจิตคิดจะเสพ (กาม) ในบุคคลนั้น คือมีเจตนาจะเสพนั่นเอง
มีความพยายามเสพ คือกระทำการเสพกามกับบุคคลนั้น
มีความยินดี พอใจในการเสพกามนั้น (ไม่ใช่ถูกบังคับ ขืนใจ)
บาปกรรมที่เกิดขึ้นจะมากน้อยเพียงใดนั้น ขึ้นกับปัจจัยหลายอย่าง เช่น การล่วงเกินผู้ที่ไม่ยินยอมพร้อมใจด้วย ย่อมมีโทษมากกว่าการล่วงละเมิดผู้ที่มีความยินยอม หรือยินดีด้วยกันทั้งสองฝ่าย การล่วงเกินผู้ที่มีศีลธรรมมาก เช่น พระอรหันต์ ย่อมมีโทษมากกว่าการล่วงละเมิดผู้ไม่มีศีลธรรม

บุคคลที่ไม่ควรเกี่ยวข้องนั้น พิจารณาง่ายๆ ก็คือผู้ที่มีเจ้าของ หรือผู้ปกครองหวงอยู่ คือไม่อนุญาตให้ล่วงเกิน หรืออนุญาตโดยไม่เต็มใจ ซึ่งการล่วงเกินนั้นจะทำให้คนเหล่านั้นไม่พอใจ ทั้งนี้รวมถึงผู้ที่มีระเบียบ กฎเกณฑ์ ข้อบังคับ หรือจารีตประเพณี ห้ามเอาไว้ด้วย เช่น ภิกษุ ภิกษุณี สามเณร สามเณรี แม่ชี เป็นต้น

ซึ่งนอกจากจะพิจารณาที่ผู้ที่ถูกล่วงละเมิดแล้ว ยังต้องพิจารณาที่ผู้กระทำการล่วงละเมิดเองด้วย เช่น ผู้ชายที่มีภรรยาอยู่ ถ้าภรรยาเขาไม่อนุญาตให้ไปมีเพศสัมพันธ์กับผู้อื่น ถ้าชายคนนั้นไปเสพกามกับใคร (นอกจากกับภรรยาของเขา) ชายผู้นั้นก็ย่อมจะผิดศีลข้อนี้อย่างแน่นอน ถึงแม้ว่าอีกฝ่ายจะไม่ใช่บุคคลที่ไม่ควรเกี่ยวข้องก็ตาม และหญิงใดที่ล่วงละเมิดกับชายผู้นี้ ผู้หญิงคนนั้นก็ย่อมจะเป็นผู้ที่ผิดศีลข้อนี้ด้วยเช่นกัน

หญิงที่ชายไม่ควรเกี่ยวข้อง มี 20 จำพวก คือ

หญิงที่มีมารดาปกครอง
หญิงที่มีบิดาปกครอง
หญิงที่มีทั้งมารดาและบิดาปกครอง
หญิงที่มีพี่สาวปกครอง หรือมีน้องสาวดูแลรักษาหรือหวงอยู่
หญิงที่มีพี่ชายปกครอง หรือมีน้องชายดูแลรักษาหรือหวงอยู่
หญิงที่มีญาติปกครอง
หญิงที่มีตระกูลเดียวกัน หรือเชื้อชาติเดียวกันเป็นผู้ปกครอง
หญิงที่มีผู้ประพฤติ ปฏิบัติศีลธรรมด้วยกันเป็นผู้ปกครอง เช่น แม่ชีมีหัวหน้าชีปกครอง เป็นต้น
หญิงที่กษัตริย์ หรือผู้มีอำนาจได้จองตัวเอาไว้
หญิงที่มีคู่มั่น
หญิงที่ถูกผู้อื่นซื้อตัวมา
หญิงที่สมัครใจไปอยู่กับชาย (คนอื่นแล้ว) คือหญิงที่มีสามีแล้ว
หญิงที่ยอมเป็นภรรยาของชาย (คนอื่นแล้ว) โดยหวังในทรัพย์สินเงินทอง คือหญิงที่มีสามีแล้วอีกประเภทหนึ่ง
(ข้อ 12 ถึง 20 คือหญิงที่มีสามีแล้วประเภทต่างๆ )
หญิงที่ยอมเป็นภรรยาของชาย (คนอื่นแล้ว) โดยหวังในเครื่องนุ่งห่ม
หญิงที่มีสามีแล้วโดยการทำพิธีแต่งงาน
หญิงที่เป็นภรรยาของชายคนอื่น โดยชายคนนั้นเป็นผู้ช่วยให้พ้นจากการแบกของขาย คือช่วยให้พ้นจากความยากลำบากนั่นเอง
หญิงที่มีสามีแล้ว โดยเมื่อก่อนเป็นเชลย แล้วภายหลังตกมาเป็นภรรยาของนายเชลยนั้น
หญิงที่มีสามีแล้ว โดยเมื่อก่อนเป็นลูกจ้าง แล้วภายหลังตกมาเป็นภรรยาของนายจ้างนั้น
หญิงที่มีสามีแล้ว โดยเมื่อก่อนเป็นทาส แล้วภายหลังตกมาเป็นภรรยาของนายทาสนั้น
หญิงที่เป็นภรรยาของชายชั่วครั้งชั่วคราว แล้วถูกล่วงละเมิดในขณะที่ทำหน้าที่เป็นภรรยาของชายคนอื่นอยู่ เช่น หญิงขายบริการที่อยู่ในช่วงสัญญากับชายคนหนึ่งอยู่ แต่กลับไปมีสัมพันธ์กับชายอีกคนหนึ่ง เป็นต้น
ทั้งหมดนี้เป็นการระบุรวบรวมเอาไว้ตั้งแต่สมัยโบราณ บางข้อจึงดูแปลกๆ อยู่บ้าง เพราะประเพณีที่แตกต่างกันออกไป ที่แสดงเอาไว้ก็เพื่อให้ครบถ้วนตามตำรา และเอาไว้ใช้ในการเทียบเคียงกับยุคปัจจุบัน

สำหรับผู้ที่ไม่เข้าข่ายต้องห้ามก็เช่น ชายหญิงที่เป็นสามีภรรยากัน หญิงขายบริการที่บิดา มารดา และผู้ปกครองทั้งหลายยินยอมพร้อมใจให้ทำอาชีพนั้น ทั้งนี้ต้องไม่อยู่ในช่วงสัญญากับคนอื่นด้วย หญิงที่ไม่มีผู้ใดปกครองดูแลและไม่มีเจ้าของหวงอยู่ (คือหญิงที่มีอิสระในตัวเองอย่างแท้จริง) หญิงที่ได้รับความยินยอมจากใจจริงของผู้ปกครองและผู้ที่เป็นเจ้าของ (เช่น บิดา มารดา สำหรับหญิงที่มีสามีแล้วต้องได้รับอนุญาตจากสามีก่อน) โดยทุกกรณีถ้าฝ่ายชายมีภรรยาแล้ว ต้องได้รับอนุญาตจากภรรยาก่อนด้วย

โดยสรุปก็คือ จะต้องไม่ทำให้ใคร (ผู้ที่มีสิทธิ์โดยชอบธรรมในตัวหญิงและชายนั้น) ไม่พอใจ หรือรู้สึกเจ็บช้ำน้ำใจ

0
พีท 7 ส.ค. 53 เวลา 23:30 น. 7

การผิดศีลข้อที่ 4 มุสาวาท (การพูดปด พูดเท็จ โกหก หลอกลวง)

การกระทำที่ถือว่าผิดศีลข้อนี้อย่างสมบูรณ์ จะต้องประกอบด้วยส่วนประกอบดังนี้

เรื่องราวนั้นไม่เป็นความจริง
มีจิตคิดจะมุสา คือมีเจตนาที่จะโกหก หลอกลวง
พยายามด้วยกาย หรือด้วยวาจา หรือวิธีการใดๆ เพื่อจะให้ผู้อื่นเชื่อตามเรื่องราวนั้น คือดำเนินการโกหก หลอกลวงนั่นเอง
ผู้อื่นเชื่อตามเรื่องราวนั้น
ข้อแตกต่างระหว่างมุสาวาท ปิสุณวาจา (พูดส่อเสียด) ผรุสวาจา (พูดคำหยาบ) สัมผัปปลาปะ (พูดเพ้อเจ้อ)

มุสาวาท คือการพูด หรือการกระทำใดๆ โดยมีเจตนาให้ผู้อื่นเชื่อในสิ่งที่ไม่เป็นความจริง โดยหวังจะให้เขาได้รับความเดือดร้อน เสียหาย หรือเสียประโยชน์อันพึงมีพึงได้ จากความเชื่อนั้น
ปิสุณวาจา (พูดส่อเสียด) คือการพูด หรือการกระทำใดๆ ในสิ่งที่เป็นความจริง หรือไม่เป็นความจริงก็ตาม โดยมีเจตนาจะยุยงให้เขาแตกแยกกัน ไม่สามัคคีกัน
ผรุสวาจา (พูดคำหยาบ) คือการพูด หรือการกระทำใดๆ ในสิ่งที่เป็นความจริง หรือไม่เป็นความจริงก็ตาม ด้วยคำที่สุภาพ หรือไม่สุภาพก็ตาม โดยมีเจตนาจะให้เขาเจ็บใจ ไม่สบายใจ หรือร้อนใจ (ไม่ได้มีเจตนาให้เขาเชื่อตามนั้นเป็นหลักใหญ่) เช่น การด่าว่าเขาเป็นสัตว์บางชนิด เป็นต้น โดยรู้อยู่แล้วว่าเขาจะไม่เชื่อ แต่จะต้องเจ็บใจ หรือการพูดถึงปมด้อยของเขาที่เป็นจริง การประชดประชันด้วยคำที่สุภาพ ฯลฯ
สัมผัปปลาปะ (พูดเพ้อเจ้อ) คือการพูด หรือการกระทำใดๆ ในสิ่งที่เป็นความจริง หรือไม่เป็นความจริงก็ตาม โดยเจตนาเพียงเพื่อความสนุกสนาน เพลิดเพลิน ไร้สาระ ไม่มีใครได้ประโยชน์จากการพูด หรือการกระทำนั้น
>>>>> สำหรับมุสาวาทนั้น เป็นทั้งการผิดศีล 5 และเป็นอกุศลกรรม คือเป็นวจีทุจริต ในอกุศลกรรมบถ 10
>>>>> ส่วนปิสุณวาจา ผรุสวาจา และสัมผัปปลาปะ นั้นไม่ถือเป็นการผิดศีล 5 แต่เป็นอกุศลกรรม คือเป็นวจีทุจริต ในอกุศลกรรมบถ 10

0
พีท 7 ส.ค. 53 เวลา 23:31 น. 8

การผิดศีลข้อที่ 5 สุราเมรยมัชชปมาทัฏฐาน (การเสพสุรา เมรัย และของมึนเมาทั้งหลายอันทำให้ประมาท หรือขาดสติ)

แยกรายละเอียดได้ดังนี้คือ

สุรา คือ น้ำเมาที่กลั่นแล้ว ได้แก่ เหล้าชนิดต่างๆ นั่นเอง
เมรัย คือ น้ำเมาที่ไม่ได้กลั่น, น้ำเมาที่เกิดจากการหมักหรือแช่ เช่น ไวน์ชนิดต่างๆ
มัชชะ คือ สิ่งที่เสพแล้วทำให้มึนเมา หรือขาดสติทั้งหลาย เช่น บุหรี่ ยาเสพติดทุกชนิด รวมทั้งเหล้า เบียร์ และสุรา เมรัยทุกชนิดด้วย
การผิดศีลข้อที่ 5 นี้ จัดว่าเป็นอันตรายมาก เพราะทำให้ขาดสติ เมื่อขาดสติแล้วการทำผิดทุกชนิดก็จะตามมาได้โดยง่าย นอกจากนี้ยังจะทำให้ต้องเสียทรัพย์ไปโดยไม่จำเป็น ทั้งยังเสี่ยงต่ออุบัติเหตุเภทภัยทั้งหลาย ความทะเลาะเบาะแว้ง ทำให้ครอบครัวขาดความอบอุ่น หรืออาจถึงขั้นทำให้ครอบครัวแตกแยกเลยก็ได้ และยังเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ทำให้ขาดการพักผ่อน ซึ่งอาจส่งผลไปถึงหน้าที่การงานอีกด้วย

0