Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

[บทความจิตวิทยา] "ความโกรธ กระบวนการทำงานที่ผิดพลาดของความคิด"

ตั้งกระทู้ใหม่
ตั้งกระทู้ใหม่
ความโกรธ  กระบวนการทำงานที่ผิดพลาดของความคิด

ก่อนที่มนุษย์จะหลับตาลงในค่ำคืนหนึ่ง   เขาย่อมใฝ่ฝันถึงวันรุ่งขึ้นว่าจะดีกว่าวันที่นี้  หรือดีได้อย่างวันนี้ตลอดไป   แต่จะไม่เป็นอย่างนั้นแน่  ถ้าวันที่คุณลืมตาตื่นขึ้นมาอีกวันหนึ่ง  เป็น Bad day ที่ทำให้วันนั้นของคุณ (และวันนี้ของคุณ) เป็นวันที่ไม่อยากจะพูดถึง  นานครั้งที่มนุษย์เราจะมีวันที่ประทับใจและน่าจดจำ  เพราะแต่ละวันของคนเราส่วนใหญ่พบเจอกับเรื่องที่ทำให้ "หมดอารมณ์" กับวันนั้นๆ เสมอ   การหมดอารมณ์  ที่พบเจอ  นั่นหมายถึง  การที่เราเจอกับคน  หรืออะไรสักอย่าง  ที่ทำให้เรา  หงุดหงิด  โกรธ  อยากให้ทุกอย่างจบๆ ไปที่วันนี้  หรือจบๆ ไปเสียที  พรุ่งนี้อย่าได้มีเรื่องแบบนี้อีก  ถ้าจะต้องเจอสิ่งเหล่านี้ในวันพรุ่งนี้  ฉันจะตื่นมาทำไม

หากวันอันแสนสุขของคุณ  ถูกแทนที่ด้วยการโมโหใครสักคนหนึ่ง  เช่น จากคนในครอบครัว  จากเพื่อนร่วมงาน  จากลูกค้า  จากนักการเมืองที่เห็นในโทรทัศน์   หรือจากอากาศที่ร้อน หรือเย็นเกินไป   หรือแม้แต่ฝนตกไม่ถูกเวลาเสียเลย  ที่ทำให้คุณหมดความสุขกับวันคืนที่ผ่านๆ ไป  ในขณะที่เวลาในการใช้ชีวิตมนุษย์ของคุณค่อยๆ ร่อยหรอลง  คุณจะทำอย่างไรให้วันต่อไปคุณไม่มี "เรื่องให้โมโห"  อีก

ความจริงแล้ว  การโมโห  เกิดจากความบอบบางของจิตใจมนุษย์  ผู้ที่แสดงความโมโห  ภายนอก จะส่งผลต่อบุคลิกภาพ  คนส่วนมากจะมองในแง่ลบ  ไม่อยากคบ  เพื่อนฝูงหาย  ยิ่งหากเป็นตัวแทนขององค์กร  หรือหน่วยงานด้วยแล้ว ยิ่งส่งผลให้ภาพลักษณ์ขององค์กรหรือหน่วยงานนั้นๆ  ถูกมองแบบติดลบตามไปด้วย  สำหรับภายใน  ผู้ที่โกรธจะมีความตึงเครียดอยู่ในระดับต่ำ  ไต่ขึ้นไปจนถึงระดับสูงได้ในที่สุด  หากไม่สามารถทำลายความโมโหหรือความโกรธระดับต้นไป  เหมือนการเกิดเพลิงไหม้ใหญ่กรุงลอนดอนทั้งเมือง  ที่เกิดจากห้องเพียงห้องเดียว


ในแง่ของพุทธจิตวิทยา สามารถแบ่งระดับความรุนแรงของความโกรธได้ดังนี้

ระดับ 1 - มีความข้องใจกรุ่นๆ  รำคาญหรือหงุดหงิด แต่ยังไม่ถึงกับทำสีหน้าหรือสายตาไม่พอใจ
ระดับ 2 - แสดงสีหน้า หรือสายตาที่ไม่พอใจออกมาให้เห็น เช่น ทำสีหน้าระอา  ไปจนถึงตาขวาง  
ระดับ 3 - มีอาการคางสั่น หรือมือสั่น
ระดับ 4 - เกิดการใช้คำพูดที่รุนแรง หยาบคาย  อาจกล่าวเพียงฝั่งเดียวหรือโต้กันไปมา
ระดับ 5 - มองหาของที่จะหยิบฉวยได้ เพื่อจะนำมาทำลาย หรือนำมาทำร้ายฝ่ายตนเองหรือฝ่ายตรงข้าม (แต่ยังไม่หยิบฉวย)
ระดับ 6 - หยิบฉวยสิ่งที่จะนำมาทำลายหรือทำร้ายร่างกายตนเองหรือผู้อื่นได้ (แต่ยังไม่ยกขึ้นจะตีหรือทำร้าย)
ระดับ 7 - ยกสิ่งนั้นขึ้นจะตีแต่ยังไม่ตีหรือทำร้าย
ระดับ 8 - เกิดการทำร้ายร่างกายตนเอง หรือผู้อื่น  เช่น ขว้างปาสิ่งของใส่กัน หรือเกิดการทำลายสิ่งของ
ระดับ 9 - ทำร้ายร่างกายตนเองหรือผู้อื่นจนเกิดบาดแผลทั้งเล็กและใหญ่
ระดับ 10- ทำร้ายร่างกายรุนแรงจนถึงขั้นกระดูกหัก (ขั้นวิวาท)
ระดับ 11- ทำร้ายร่างกายรุนแรงจนถึงขั้นสูญเสียอวัยวะ (ขั้นสงคราม)
ระดับ 11- ทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเสียชีวิต (การฆาตกรรม)
ระดับ 12- ทำให้ผู้อื่นเสียชีวิตและฆ่าตัวตายตาม


ความโมโหทั้ง 12 ระดับนี้  จะเกิดไม่ข้ามขั้นกัน  หากสามารถยับยั้งขั้นใดขั้นหนึ่งใดแล้ว  ขั้นต่อมาก็จะไม่ถูกสานต่อ  ดังนั้นจะเห็นได้ว่า  เพียงแค่การหงุดหงิดเล็กๆ ก็ทำให้เกิดความเสียหายที่รุนแรงที่จินตนาการไม่ถึงได้

ดังนั้น  สิ่งที่สำคัญจึงไม่ใช่การลดความโมโหแต่เป็นการทำลายความโมโห  แต่ก่อนอื่น  หากคุณไม่ทราบแหล่งกำเนิดของความโมโหแล้วละก็  คุณก็ไม่สามารถหยุดความโมโหได้  


ที่มาของการโมโหหรือความโกรธ  คืออะไร ?
คำตอบ - การเชื่อมโยงความเป็นจริงกับความคาดหวังขัดแย้งกัน
พูดให้ง่ายก็หมายถึง ความโกรธ  คือ ความคิดอันไม่สมดุลระหว่างความเป็นจริง กับสิ่งที่เราอยากให้เป็น  เมื่อความเป็นจริง ขัดแย้งกับสิ่งที่เราอยากจะให้เป็น  เราก็จะเกิดความโกรธขึ้นมา

ยกตัวอย่างเช่น  แดดร้อนจัด   แต่คุณอยากให้แดดร้อน  เพราะคุณจะนอนอาบแดด   คุณไม่โมโห ไม่โกรธ ไม่แม้แต่หงุดหงิด แต่สถานการณ์เดียวกัน  แดดเดียวกันนั้นเอง  คุณอยากให้แดดร่ม  เพราะกลัวเหงื่อจะออกแล้วหน้าจะโทรม  คุณก็อาจจะรำพึงในใจว่า "ร้อนอะไรนักหนา"

หรือกับบุคคล  เช่น  มีเพื่อนโทรศัพท์มาหาคุณ  คุณดีใจมากที่เพื่อนคุณคนนั้นโทรมา เพราะคุณกำลังเหงาอยากหาเพื่อนคุยพอดี  แต่หากเวลานั้นคุณกำลังอยู่กับแฟน หรือประชุมเรื่องสำคัญ  คุณจะรำคาญทันที

ตัวอย่างที่ยกมานี้  เป็นตัวอย่างเบาๆ  หากหนักกว่านั้นก็เช่น  สามีเอากระปุกน้ำพริกไปเก็บในตู้กับข้าวแทนที่จะเอาไว้ในตู้เย็น  ฝ่ายภรรยาก็เริ่มจะ "ด่า"  ว่า "เมริงเอาไปเก็บทำไม ตูจะกิน" (ภรรยาคาดหวังให้น้ำพริกอยู่ในตู้เย็น)  จากนั้นก็ตบตีกัน  จนถึงระดับที่ 8 หรือ 9 (ระดับที่ 9 พบได้ในโรงพยาบาล ส่วนใหญ่จะเป็นการหามกันมาหลังจากที่เห็นแผลของอีกฝ่ายแล้วตกใจ จึงหายโกรธ) หรือ ข่าวที่เกิดขึ้นเมื่อไม่นานนี้  ฝ่ายหญิงเล่นเฟซบุ๊คคุยกับผู้ชายอื่น  ฝ่ายชายหึงหวงไม่พอใจ  จนฆ่าแฟนที่รักของตัวเองตาย และสังหารตัวเองตายตาม (ฝ่ายชายคาดหวังให้แฟนของตัวเองไม่คุยกับผุ้ชายในเฟซบุ๊ค)  เป็นระดับที่ 12

สิ่งเหล่านี้เกิดจากความขัดแย้งระหว่างเรื่องเบาๆ เพียง ความอยากให้มันเป็น กับความเป็นจริง  ดังนั้นการยับยั้งความโมโห  จึงเป็นศาสตร์และศิลป์  ของความใจเย็นในการที่เราจะจูนความคาดหวังให้ตรงกับความเป็นจริง  ถามว่า  มนุษย์เรา  คาดหวังอะไรบ้างก่อนโกรธ  ตอบว่า มนุษย์เรา ทั้งชีวิตคาดหวัง 10 เรื่อง ก่อนโกรธ   แบ่งออกเป็น 3 ช่วงเวลา กับตัวเองและผู้อื่น 9 ข้อ และกับสิ่งไม่มีชีวิต 1 ข้อ ได้แก่


อดีต  (คาดหวังให้เขาเคยดีกับเรา...แต่..)
1. เขาเคยทำไม่ดีกับเรา
2. เขาเคยทำไม่ดีกับคนที่เรารัก
3. เขาเคยทำดีกับคนที่เราไม่รัก

ปัจจุบัน  (คาดหวังให้เขาดีกับเรา...แต่..)
4. เขากำลังทำไม่ดีกับเรา
5. เขากำลังทำไม่ดีกับคนที่เรารัก
6. เขากำลังทำดีกับคนที่เราไม่รัก

อนาคต (คาดหวังให้เขาจะดีกับเรา...แต่..)
7. เขาจะทำไม่ดีกับเรา
8. เขาจะทำไม่ดีกับคนที่เรารัก
9. เขาจะทำดีกับคนที่เราไม่รัก
สิ่งไม่มีชีวิต  (คาดหวังให้เป็นไปตามใจเรา...แต่..)

10. โกรธในเรื่องไม่สมควร เช่น อากาศร้อน , เดินสะดุดตอไม้ , ลมพัดเอกสารปลิว เป็นต้น

เมื่อเรานำสิ่งเหล่านี้มาคิดลึกๆ  เราจะพบว่า  ทุกๆ ข้อ นั้น เป็นธรรมชาติของคนอื่น  ที่จะทำดีบ้าง ไม่ดีบ้าง กับเราเองหรือกับคนที่เรารัก  แต่เรากลับคาดหวังให้เขาทำตามที่เราคิด  ซึ่งเป็นไปไม่ได้

ตัวอย่างเช่น คุณอยากให้เจ้านายขอโทษคุณที่เข้าใจคุณผิด แต่เขาไม่ขอโทษ  คุณจึงเก็บเรื่องนี้ไว้ในใจและโมโหเขาเสมอมา ทั้งที่ความเป็นจริงแล้ว  ไม่ว่าคุณจะโมโหเจ้านายคุณเป็นต้นหรือไม่   เขาก็ไม่ได้เปลี่ยนพฤติกรรมได้เพราะความโมโหนั้น  เพราะคุณไม่มีพลังอำนาจไปสั่งจิตใจของเขา  เช่นเดียวกัน  หากมองในมุมกลับ  คนอื่นๆ ก็ไม่สามารถใช้พลังอำนาจสั่งให้คุณคิดอะไรพูดอะไรหรือทำอะไรได้เช่นกัน  ตัวอย่างเช่น  แฟนคุณอยากให้คุณเอาใจ  แต่คุณกำลังเครียดเรื่องงาน  คุณไม่มีอารมณ์จะจู๋จี๋กับเธอ  วันนั้นคุณจึงไม่โทรหาเธอ  ทำให้เธอทะเลาะกับคุณในวันรุ่งขึ้น ตัวอย่างเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า  ไม่มีใครทำอะไรเป็นไปตามอำนาจความคิดของใคร  แม้แต่ตัวละครที่มีพลังจิตในภาพยนตร์  ก็ยังทำได้เพียง  ปล่อยแสงออกมาทางตา หรือเหาะได้  แต่ไม่มีใครเอาชนะคู่แข่งได้ด้วยการส่งพลังจิตออกไปว่า "แกยอมแพ้ฉันเถอะ"   มันไม่สำเร็จ เพราะจิตใครก็จิตมัน  หรือ  "ต่างคนต่างคิด"

แต่ในเมื่อคุณยังโมโหใครได้อยู่  คุณจะพบกับวันที่ไม่มีความสุข  แม้ในวันนี้ หากคุณโมโห  ความสุขก็หายไปแล้ว  ดังนั้น  เพื่อจะทำลายความโมโห และเรียกความสบายใจ  กลับมาให้กับชีวิตที่เหลือนี้นั้น  จำเป็นต้องนำ 10 ข้อ ข้างต้นนั้น กลับมาทบทวนใหม่  ให้เป็นดังนี้ว่า  ทุกข้อ  "มันเป็นไปไม่ได้ที่จะเป็นไปอย่างที่เราคิดหวัง" ระลึกถึงเสมอในความที่คุณไม่มีอำนาจในการบงการจิตใจของใครหรืออะไร


การปรับความคิดให้ตรงกับความเป็นจริง

อดีต  
1. เขาเคยทำไม่ดีกับเรา -  จะให้เขาเคยทำดีกับเรา  เป็นไปได้ที่ไหนกัน
2. เขาเคยทำไม่ดีกับคนที่เรารัก  -จะให้เขาเคยทำดีกับคนที่เรารัก  เป็นไปได้ที่ไหนกัน
3. เขาเคยทำดีกับคนที่เราไม่รัก - จะให้เขาเคยทำไม่ดีกับคนที่เราไม่รัก  เป็นไปได้ที่ไหนกัน

ปัจจุบัน  
4. เขากำลังทำไม่ดีกับเรา -  จะให้เขาทำดีกับเราอยู่ในตอนนี้  เป็นไปได้ที่ไหนกัน
5. เขากำลังทำไม่ดีกับคนที่เรารัก -  จะให้เขาทำดีกับคนที่เรารักอยู่  เป็นไปได้ที่ไหนกัน
6. เขากำลังทำดีกับคนที่เราไม่รัก -  จะให้เขาทำไม่ดีกับคนที่เราไม่รักอยู่  เป็นไปได้ที่ไหนกัน

อนาคต
7. เขาจะทำไม่ดีกับเรา - จะให้เขาจะทำไม่ดีกับคนที่เราไม่รัก  เป็นไปได้ที่ไหนกัน
8. เขาจะทำไม่ดีกับคนที่เรารัก - จะให้เขาจะทำดีกับคนที่เรารัก  เป็นไปได้ที่ไหนกัน
9. เขาจะทำดีกับคนที่เราไม่รัก - จะให้เขาจะทำไม่ดีกับคนที่เราไม่รัก  เป็นไปได้ที่ไหนกัน

กับสิ่งไม่มีชีวิต  
10. โกรธในเรื่องไม่สมควร เช่น อากาศร้อน , เดินสะดุดตอไม้ , ลมพัดเอกสารปลิว เป็นต้น -  จะให้สิ่งไม่มีชีวิตเหล่านี้ เป็นไปตามที่เราคิด  เป็นไปได้ที่ไหนกัน   แดดหรือลม หรือแม้แต่คอมพิวเตอร์ช้า ก็เป็นเรื่องของธรรมชาติมิใช่หรือ


ทั้ง 10 ข้อนี้  คือความเป็นจริง กับความคาดหวังที่ตรงกับความเป็นจริง  เมื่อคุณพิจารณาอย่างละเอียดคุณจะพบว่า  หากคุณปรับความคิดให้ตรงกับความเป็นจริงของทั้ง 10 เรื่องเหล่านี้ได้แล้ว  คุณจะไม่พบกับ bad day อีกต่อไปเลย  ตลอดชีวิต

หากคุณได้พิจารณาตามอย่างละเอียดถ่องแท้  แล้วคุณจะพบว่า  ในโลกนี้  นอกจาก 10 วิธีนี้  ไม่มีวิธีอื่น  เพราะเมื่อไรก็ตาม  ที่คุณกับความเป็นจริงไปทางเดียวกัน  คุณจะไม่มีความเสียใจหรือโกรธกับเรื่องอะไรอีกเลยตลอดชีวิต


บทความโดย  :   นักจิตวิทยาปี 49 รหัส 64  หลักสูตรจิตวิทยา  มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนดุสิต
แหล่งอ้างอิง   :  พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๔  อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต  อาฆาตปฏิวินยสูตร  ( http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/sutta_line.php?B=24&A=3525 )

แสดงความคิดเห็น

>