Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

โอวาทปาติโมกข์ ธรรม ที่พระพุทธเจ้าแสดง เมื่อวันมาฆบูชา เมื่อ 2500กว่าปีล่วงมาแล้ว

ตั้งกระทู้ใหม่
ตั้งกระทู้ใหม่

พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรม โอวาทปาติโมกข์ ณ เวฬุวันมหาวิหาร กรุงราชคฤห์ ซึ่งเป็นวันที่เกิด จาตุรงคสันนิบาต คือการประชุมอันประกอบด้วยองค์ ๔ นั่นคือ

๑. พระสงฆ์ ๑๒๕๐ รูปมาประชุมพร้อมกันโดยมิได้นัดหมาย

๒. พระสงฆ์เหล่านั้นล้วนแล้วแต่เป็นพระอรหันต์ทั้งสิ้น

๓. พระสงฆ์เหล่านั้นเป็นพระสงฆ์ที่ได้รับ เอหิภิกขุอุปสัมปทา (พระพุทธเจ้าบวชให้)

๔. ตรงกับวันเพ็ญ เดือนมาฆะ (เดือน ๓) ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมเทศนา โอวาทปาติโมกข์

โอวาทปาติโมกข์ เป็นหลักคำสอนสำคัญของพระพุทธศาสนา เป็น "ปาติโมกข์" ที่พระพุทธองค์ทรงแสดงตลอดปฐมโพธิกาล คือ 20 พรรษาแรก เฉพาะครั้งแรกในวันเพ็ญเดือนมาฆะ (เดือน 3) หลังจากตรัสรู้แล้ว 9 เดือน เป็นการแสดงปาติโมกข์ที่ประกอบด้วยองค์ 4 เรียกว่า จาตุรงคสันนิบาต ซึ่งมีเพียงครั้งเดียวในพระศาสนาของพระพุทธเจ้าองค์หนึ่งๆ (อรรถกถาแสดงไว้ว่า พระพุทธเจ้าทรงแสดง "โอวาทปาติโมกข์" นี้ ด้วยพระองค์เอง ท่ามกลางที่ประชุมสงฆ์ตลอด 20 พรรษาแรก หลังจากนั้นทรงบัญญัติให้พระสงฆ์แสดง "อาณาปาติโมกข์" แทน)

สัพพะปาปัสสะ อะกะระณัง
การไม่ทำบาปทั้งปวง

กุสะลัสสูปะสัมปะทา
การทำกุศลให้ถึงพร้อม

สะจิตตะปะริโยทะปะนัง
การชำระจิตของตนให้ขาวรอบ

เอตัง พุทธานะสาสะนัง
ธรรม ๓ อย่างนี้ เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย.

ขันตี ปะระมัง ตะโป ตีติกขา
ขันติ คือความอดกลั้น เป็นธรรมเครื่องเผากิเลสอย่างยิ่ง

นิพพานัง ปะระมัง วะทันติ พุทธา
ผู้รู้ทั้งหลาย กล่าวพระนิพพานว่าเป็นธรรมอันยิ่ง

นะ หิ ปัพพะชิโต ปะรูปะฆาตี
ผู้กำจัดสัตว์อื่นอยู่ ไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิตเลย

สะมะโณ โหติ ปะรัง วิเหฐะยันโต
ผู้ทำสัตว์อื่นให้ลำบากอยู่ ไม่ชื่อว่าเป็นสมณะเลย

อะนูปะวาโท อะนูปะฆาโต
การไม่พูดร้าย การไม่ทำร้าย

ปาฏิโมกเข จะ สังวะโร
การสำรวมในปาติโมกข์

มัตตัญญุตา จะ ภัตตัส์มิง
ความเป็นผู้รู้ประมาณในการบริโภค

ปันตัญจะ สะยะนาสะนัง
การนอน การนั่ง ในที่อันสงัด

อะธิจิตเต จะ อาโยโค
การหมั่นประกอบในการทำจิตให้ยิ่ง

เอตัง พุทธานะสาสะนัง
ธรรม ๖ อย่างนี้ เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย

โอวาทปาติโมกข์ ประกอบด้วย
หลักการ3 คือ
  • การไม่ทำบาปทั้งปวง ได้แก่การงดเว้น การลด ละเลิก ทำบาป ทั้งปวง ซึ่งได้แก่ อกุศลกรรมบถ ๑๐ ทางแห่งความชั่ว มีสิบประการ อันเป็นความชั่วทางกาย ทางวาจา และทางใจ

- ความชั่วทางกาย ได้แก่ การฆ่าสัตว์ การลักทรัพย์ การประพฤติผิดในกาม

- ความชั่วทางวาจา ได้แก่ การพูดเท็จ การพูดส่อเสียด การพูดคำหยาบ การพูดเพ้อเจ้อ

- ความชั่วทางใจ ได้แก่ การอยากได้สมบัติของผู้อื่น การผูกพยาบาท และความเห็นผิดจากทำนองคลองธรรม


  • การทำกุศลให้ถึงพร้อม ได้แก่ การทำความดี ทุกอย่าง ซึ่งได้แก่ กุศลกรรมบถ ๑๐ เป็นแบบของการทำฝ่ายดีมี ๑๐ อย่าง อันเป็นความดีทางกาย ทางวาจาและทางใจ

- การความดีทางกาย ได้แก่ การไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ทำร้ายเบียดเบียนผู้อื่น มีแต่ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน การไม่ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้มาเป็นของตน มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และการไม่ประพฤติผิดในกาม

- การทำความดีทางวาจา ได้แก่ การไม่พูดเท็จ ไม่พูดส่อเสียดไม่พูดคำหยาบ และไม่พูดเพ้อเจ้อพูดแต่คำจริง พูดคำอ่อนหวาน พูดคำให้เกิดความสามัคคีและพูดถูกกาลเทศะ

- การทำความดีทางใจ ได้แก่ การไม่โลภอยากได้ของของผู้อื่น มีแต่คิดเสียสละการไม่ผูกอาฆาตพยาบาทมีแต่คิดเมตตาและปรารถนาดี และมีความเห็นความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม เช่น เห็นว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว


  • การทำจิตให้ผ่องใส ได้แก่ การทำจิตของตนให้ผ่องใส ปราศจากนิวรณ์ซึ่งเป็นเครื่องขัดขวางจิตไม่ให้เข้าถึงความสงบมี ๕ ประการ ได้แก่

- ความพอใจในกาม (กามฉันทะ)

- ความอาฆาตพยาบาท (พยาบาท)

- ความหดหู่ท้อแท้ ง่วงเหงาหาวนอน (ถีนะมิทธะ)

- ความฟุ้งซ่าน รำคาญ (อุทธัจจะกุกกุจจะ)

- ความลังเลสงสัย (วิกิจฉา) เช่น สงสัยในการทำความดี ความชั่วว่ามีผลจริงหรือไม่

มีอุดมการณ์4
  • ความอดทน ได้แก่ ความอดกลั้น ไม่ทำบาปทั้งทางกายวาจา ใจ
  • ความไม่เบียดเบียน ได้แก่ การงดเว้นจากการทำร้ายรบกวน หรือเบียดเบียนผู้อื่น
  • ความสงบ ได้แก่ ปฏิบัติตนให้สงบทั้งทางกาย ทางวาจาและทางใจ
  • นิพพาน ได้แก่ การดับทุกข์ ซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดในพระพุทธศาสนาเกิดขึ้นได้จากการดำเนินชีวิตตามมรรคมีองค์ ๘
มีวิธีการ6
  • ไม่ว่าร้าย ได้แก่ ไม่กล่าวให้ร้ายหรือ กล่าวโจมตีใคร
  • ไม่ทำร้าย ได้แก่ ไม่เบียดเบียนผู้อื่น
  • สำรวมในปาติโมกข์ ได้แก่ ความเคารพระเบียบวินัย กฎ กติกา กฎหมาย รวมทั้งขนบธรรมเนียม ประเพณีอันดีของสังคม
  • รู้จักประมาณ ได้แก่ รู้จักความพอดีในการบริโภคอาหาร หรือการใช้สอยสิ่งต่างๆ
  • อยู่ในสถานที่ที่สงัด ได้แก่ อยู่ในสถานที่สงบมีสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม
  • ฝึกหัดจิตใจให้สงบ ได้แก่ ฝึกหัดชำระจิตให้สงบ มีสุขภาพ คุณภาพและประสิทธิภาพที่ดี
ปล.ใครสงสัยตรงไหนถามได้จร้า

PS.  ขอบคุณจ้ะ

แสดงความคิดเห็น

>

6 ความคิดเห็น

Raylun 17 ก.พ. 54 เวลา 22:18 น. 1
ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ข้าพเจ้า ย่อมซาบซึ้งและศรัทธาในพระมหากรุณาของพระองค์ ทรงเสด็จแต่ดุสิตภพ ทรงสละซึ่งสุขอันเลิศแล้วจากสวรรค์ ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ทรงกระทำให้โลกทั้งสามสว่างและเจริญแล้ว นำความโศกเศร้า ให้สิ้นไป พระองค์ผู้บรรเทาทุกข์ให้เบาลงแล้ว ทรงชี้ทางอันเป็นสุข ทรงชี้ทางแห่งการสิ้นของความทุกข์ทั้งหลาย

ก็เมื่อ พระองค์ทรงเทศนาธรรม มีชื่อว่า โอวาทปาติโมกข์แล้ว แม้ล่วงมาแล้ว สองพันห้าร้อยกว่าปี ธรรมของพระองค์ยังเจริญอยู่ ยังบรรเทาความโศกของสัตว์อยู่ ยังบำรุงสุขของสัตว์อยู่ พระองค์จึงเป็น ที่พึ่งของเราทั้งหลาย แม้พระองค์จะปรินิพพานไปแล้ว แต่จะพูดว่าพระองค์ทรงไม่โปรดเราก็พูดไม่ได้ เพราะพระองค์ ทรงแสดงธรรมอันโปรดสัตว์ให้สิ้นจากทุกข์แล้วโดยมาก

ทรงเทศนาและสั่งสอนสัตว์ทั้งหลายแล้ว ก็ธรรมที่พระองค์ทรงประกาศแล้ว ยังดังมานานกว่าสองพันกว่าปี ธรรมนั้นย่อมโปรดเราให้บรรเทาจากทุกข์แล้ว ชื่อว่าพระองค์ทรงไม่มาโปรดพวกเราย่อมไม่มี ในสามภพนี้ผู้ใดจะมาโปรดสัตว์ได้เห็นปานนี้ ย่อมไม่มีเช่นกัน

PS.  ขอบคุณจ้ะ
0