Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

โคลงสุภาษิตนฤทุมนาการ

ตั้งกระทู้ใหม่
ตั้งกระทู้ใหม่
 

ความเป็นมาของโคลงสุภาษิตนฤทุมนาการ 

 โคลงสุภาษิตนฤทุมนาการ เป็นบทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ( รัชกาลที่ ๕ ) เข้าใจว่าทรงพระราชนิพนธ์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๓ แต่เดิมเป็นสุภาษิตภาษาอังกฤษจึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้กวีในพระราชสำนักแปลและประพันธ์เป็นโคลงภาษาไทย พระองค์ท่านได้      ทรงตรวจแก้และทรงพระราชนิพนธ์โคลงบทนำด้วย

จุดประสงค์ในการแต่งโคลงสุภาษิตนฤทุมนาการ 

โคลงสุภาษิตนฤทุมนาการ มีจุดประสงค์ในการแต่งเพื่อต้องการจะอธิบายสุภาษิตที่เกี่ยวกับนามธรรมซึ่งเป็นเรื่องใกล้ตัวที่เกี่ยวข้องกับคนทุกคน ทุกฐานะ ทุกอาชีพ ได้นำไปเป็นเครื่องโน้มนำให้ประพฤติชอบอย่างผู้มีสติและมีความปลอดโปร่งในชีวิต สอนให้ปฏิบัติในสิ่งที่ดี และสอนให้ละเว้นสิ่งที่ไม่ดี ทั้งด้านการคิด การพูด และการกระทำ

ลักษณะโคลงสุภาษิตนฤทุมนาการ

โคลงสุภาษิตนฤทุมนาการ เป็นโคลงสี่สุภาพ ๑๒ บท ประกอบด้วย บทนำ ๑ บท       เนื้อเรื่อง ๑๐ บท และบทสรุป ๑ บท

กวีโวหารในโคลงสุภาษิตนฤทุมนาการ

            โคลงสุภาษิตนฤทุมนาการมีกวีโวหารชนิดอุปลักษณ์ซึ่งอยู่ในบทที่ ๙

สาระสำคัญของโคลงสุภาษิตนฤทุมนาการ

โคลงสุภาษิตนฤทุมนาการ

       " นฤทุมนาการ " หมายถึง กิจ ๑๐ ประการที่ผู้ประพฤติยังไม่เคยเสียใจ  

สาระสำคัญของโคลงสุภาษิตนฤทุมนาการเป็นคำสอน ซึ่งมีอยู่ ๒ แนวทางคือ
                      ๑ . สอนให้ปฏิบัติในสิ่งที่ดี
                     ๒ . สอนให้ละเว้นสิ่งที่ไม่ดี

โคลงสุภาษิตนฤทุมนาการ กล่าวถึง ๑๐ ประการ ที่ผู้ประพฤติยังไม่เคยเสียใจ เพราะเป็นความประพฤติดีในไตรทวาร ( กาย วาจา ใจ ) อันจะยังให้เกิดผลดีแก่ผู้ประพฤติเองและต่อสังคมส่วนรวม ตัวอย่างเช่น

๓.เพราะถามฟังความก่อนตัดสิน

                                             ยินคดีมีเรื่องน้อย             ใหญ่ไฉน  ก็ดี

                                   ยังบ่ลงเห็นไป                            เด็ดด้วน

                                  ฟังตอบขอบคำไข                       คิดใคร่  ครวญนา

                                  ห่อนตัดสินห้วนห้วน                  เหตุด้วยเบาความ 

ความหมายของโคลงสุภาษิตนฤทุมนาการทั้ง ๑๐ บท มีดังนี้ คือ

๑.เพราะความดีทั่วไป กล่าวถึง การทำความดีนั้นไม่ควรเลือกกระทำกับผู้ใดผู้หนึ่ง ควรทำกับคนทั่วๆไป และทำความดีเพิ่มขึ้นด้วยความชอบธรรม จะได้ไม่มีศัตรูคิดร้าย จะมีก็แต่ผู้ยกย่องเชิดชู

๒.เพราะไม่พูดจาร้ายต่อใครเลย กล่าวถึง การอยู่ห่างไกลความหลงและความริษยาไม่พูดจากล่าวเท็จให้ร้ายผู้อื่น ไม่พูดอาฆาตใคร และไม่พูดนินทากล่าวโทษผู้ใด

๓.เพราะถามฟังความก่อนตัดสิน กล่าวถึง การได้ยิน ได้ฟังเรื่องราวใดๆ มาไม่ควรจะเชื่อในทันที ต้องสอบสวนทวนความ คิดใคร่ครวญให้ดีก่อนที่จะตัดสินใจเชื่อ

๔.เพราะคิดเสียก่อนจึงพูด กล่าวถึง ก่อนที่จะพูดสิ่งใดให้ตั้งสติให้รอบครอบก่อน เพราะการพูดดีก็เหมือนกับการเขียนที่มีการเรียบเรียงไว้แล้ว ทำให้เวลาฟังเกิดความไพเราะเสนาะหู และไม่เป็นภัยตัวผู้พูดด้วย

๕.เพราะอดพูดในเวลาโกรธ กล่าวถึง การรู้จักหักห้ามตนเองไม่ให้พูดในขณะที่ยังโกรธอยู่โดยให้หยุดคิดพิจารณาว่าพูดแล้วจะเป็นฝ่ายแพ้หรือชนะ หรือพูดไปแล้วจะเป็นฝ่ายถูกหรือฝ่ายผิด หากไม่รู้จักยับยั้งแล้วละก็อาจทำให้เสียหายได้

๖.เพราะได้กรุณาต่อคนที่ถึงอับจน กล่าวถึง การมีความเมตตากรุณาและให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ที่ประสบภัย ทำให้เขารอดพ้นจากความทุกข์ยาก ผลที่ได้รับคือผู้คนจะพากันสรรเสริญทั้งในปัจจุบันแล้วอนาคต

๗.เพราะขอโทษบรรดาที่ได้ผิด กล่าวถึง เมื่อกระทำการสิ่งใดผิดพลาดแล้ว ก็ควรลดความอวดดีลง และรู้จักกล่าวโทษเพื่อลดความบาดหมางลง ดีกว่าคิดหาทางแก้ด้วยความคดโกง

๘.เพราะอดกลั้นต่อผู้อื่น กล่าวถึง การมีความอดทนอดกลั้นต่อผู้ที่มาข่มเหงรังแก ไม่ฉุนเฉียวเหมือนคนพาล นี่แหละจัดได้ชื่อว่าเป็นคนใจเย็น

๙.เพราะไม่ฟังคำคนพูดเพศนินทา กล่าวถึง การไม่ควรฟังคนที่ชอบพูดเพ้อเจ้อเท็จจริงบ้าง เพราะเปรียบเสมือนมีดที่กรีดหรือระรานคนทั่วไป ฟังแล้วจะพาเราเข้าไปอยู่ในพวกพูดจาเหลวไหลไปด้วย

๑๐.เพราะไม่หลงเชื่อข่าวร้าย กล่าวถึง การไม่ควรด่วนหลงหรือตื่นเต้นกับข่าวร้ายที่มีผู้นำมาบอก ควรสืบสาวเรื่องราวที่แท้จริงก่อน

ข้อคิดที่ได้จากโคลงสุภาษิตนฤทุมนาการ

สุภาษิตทั้งปวงมีเนื้อหาสาระที่ให้คติในการดำรงชีวิต ด้วยการชี้ให้เห็นสิ่งที่ควรปฏิบัติและควรละเว้น ผู้ประสงค์ความเจริญในชีวิตควรอ่านด้วยความพินิจพิจารณาแล้วเลือกนำสุภาษิตนั้นๆ ไปปฏิบัติให้เกิดประโยชน์แก่ชีวิตตนและสังคมส่วนรวมเท่าที่สามารถจะทำได้

 

ด้านกายกรรม ( การกระทำ ) 

๑. ทำความดีนั้นไม่ควรเลือกกระทำกับผู้ใดผู้หนึ่ง ควรทำกับคนทุกคน

๒. ควรมีความเมตตากรุณาและให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ตกทุกข์ได้ยาก

๓. เมื่อกระทำการสิ่งใดผิดพลาดแล้ว ก็ควรลดความอวดดีลง และรู้จักกล่าวขอโทษ

๔. ควรมีความอดทนอดกลั้นต่อผู้ที่มาข่มเหงรังแก ไม่ฉุนเฉียว

ด้านวจีกรรม ( การพูด ) 

๑. ไม่ควรพูดจาอาฆาต ให้ร้าย และนินทาผู้อื่น

๒. ควรรู้จักหักห้ามตนเองไม่ให้พูดในขณะที่ยังโกรธอยู่ ควรหยุดคิดพิจารณาว่าพูดแล้ว

                จะเกิดความเสียหายหรือไม่

ด้านมโนกรรม ( การคิด ) 

๑. เมื่อยินเรื่องราวต่างๆควรคิดทบทวนก่อนตัดสินใจเชื่อ

๒. ก่อนที่จะพูดสิ่งใด ควรจะคิดก่อนทุกครั้ง

. ไม่ควรฟังคนที่ชอบพูดเพ้อเจ้อ เท็จบ้าง จริงบ้าง

            ๔. ไม่ควรด่วนตัดสินใจในเรื่องที่ดีหรือร้าย ควรหาข้อเท็จจริงก่อน


แก้ไขครั้งที่ 1 เมื่อ 21 กุมภาพันธ์ 2554 / 18:23
แก้ไขครั้งที่ 2 เมื่อ 21 กุมภาพันธ์ 2554 / 18:31
แก้ไขครั้งที่ 3 เมื่อ 21 กุมภาพันธ์ 2554 / 18:32
แก้ไขครั้งที่ 4 เมื่อ 21 กุมภาพันธ์ 2554 / 18:36

แสดงความคิดเห็น

>

26 ความคิดเห็น

pink 14 ต.ค. 57 เวลา 20:37 น. 20
รักเลย





ขอบคุณมากๆเลยค่ะที่ให้ข้อมูล ตอนนี้ดิฉันได้ข้อมูลทำการบ้านภาษาไทยแล้วค่ะ^^
0