Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

อปัณณกปฏิปทา 3 ...บทธรรมแห่งความสุขใจ

ตั้งกระทู้ใหม่
ตั้งกระทู้ใหม่

  



   อปัณณกปฏิปทา คือ ข้อปฏิบัติที่ไม่ผิด มี 3 อย่าง

1.อินทรียสังวร คือ สำรวมอินทรีย์6 คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

2.โภชเน มัตตัญญุตา คือ ความรู้จักประมาณในการบริโภค

3.ชาคริยานุโยค คือ การประกอบความเพียรไม่เห็นแก่นอน


   อปัณณกปฏิปทา คือ ข้อปฏิบัติที่ควรทำทุกคน ไม่ว่าผู้เจริญกรรมฐานแบบไหน แม้แต่นักเรียน นักศึกษา ผู้ทำงานทุกชนิด ควรจะปฏิบัติอย่างยิ่ง ให้ปฏิบัติทุกคน ตั้งแต่เดี๋ยวนี้เป็นต้นไป เพื่อให้มีสมองปลอดโปร่ง สติปัญญาเฉลียวฉลาด อารมณ์ดี ทำให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงาน เป็นข้อปฏิบัติที่ไม่มีโทษ ไม่ผิด



อินทรียสังวร

   อินทรียสังวร คือ การสำรวมระวัง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ขณะที่เห็นรูป  ได้ยินเสียง ได้ดมกลิ่น ได้ลิ้มรส รู้สัมผัสทางกาย รู้ทางใจ ให้มีความสำรวมอยู่เสมอ

   ระวังไม่ให้ยินดี ยินร้าย ไม่ให้ติดอารมณ์นั้นๆ ระวังทุกอย่าง ตา หู จมูก ลิ้น กาย มือ แขน เท้า ปาก ใจ ระวังการกิน และที่สำคัญยิ่งกว่านั้นคือ ระวังเรื่องการพูด แล้วก็ระวังเรื่องความคิด

   พูดมากเรื่องมาก พูดน้อยเรื่องน้อย ไม่พูดไม่มีเรื่อง การพูดนี้ทำให้เรื่องเล็กกลายเป็นเรื่องใหญ่ ทุกคนมีประสบการณ์อยู่ในชีวิตประจำวัน แต่เราไม่ค่อยรู้สึกตัวเท่าที่ควร ปิดปากภายนอกก่อน แล้วค่อยปิดปากข้างใน คือ  ความคิด

   คิดมาก ทุกข์มาก คิดน้อย ทุกข์น้อย รักษาใจให้สงบ รักษาความเป็นปกติของใจ คือสงบเป็นปกติ เมื่อใจสงบเป็นปกติ ใจเป็นศีล ศีลถึงใจ ก็สะดวกที่จะฝึกอานาปานสติต่อไปได้

   กินน้อย นอนน้อย พูดน้อย ปฏิบัติมากๆ ทำให้อินทรียสังวรสมบูรณ์


บรรยากาศการปฏิบัติธรรม ณ วัดป่าสุนันทวนาราม


โภชเนมัตตัญญุตา

   โภชเน มัตตัญญุตา คือ " กินน้อย " รู้จักประมาณในการบริโภค การกินมาก เป็นอุปสรรคต่อการเจริญสติ เจริญสมาธิ เมื่อกินมาก อาหารก็ทับขันธ์ เลือดจะต้องลงไปทำการย่อยอาหาร ทำให้เหนื่อย ง่วงนอน ขี้เกียจ ไม่อยากทำอะไรเลย มีแต่อยากนอนอย่างเดียว


   วิกาลโภชนา เวระมะณี คือ การงดเว้นจากการบริโภคอาหารในเวลาวิกาล คือ ตั้งแต่เที่ยงวันจนถึงเช้าวันใหม่ เป็นการช่วยจำกัดการบริโภคเป็นอย่างดี และตอนเย็นพอท้องว่าง จะภาวนาได้ดี

   กินพอดี พระพุทธเจ้าสอนว่า ก่อนที่จะรู้สึกอิ่ม 5 คำ ให้หยุด แล้วดื่มน้ำครึ่งแก้วหรือหนึ่งแก้ว ถ้าทำได้อย่างนี้จะรู้สึกพอดี ตัวเบา เจริญความเพียร เจริญอานาปานสติได้สะดวก วิธีสังเกตเพื่อดูว่า เรากินมากไปหรือเปล่า คือ หลังจากรับประทานเสร็จแล้ว นั่งสมาธิได้สะดวก ไม่อึดอัด ไม่รู้สึกไม่สบายท้อง ไม่ง่วง ไม่จำเป็นต้องนอนพักผ่อนเพื่อย่อยอาหาร ก็ใช้ได้

พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก


   ท่านให้เราพิจารณาอาหาร อาหารที่สะอาด น่ากิน เช่น แอปเปิ้ล 5-6 ลูก วางไว้ข้างหน้าเรา แล้วพิจารณา : แอปเปิ้ลนี้มาจากไหน มาจากดิน เมล็ดแอปเปิ้ลเจริญเติบโตขึ้นมาเป็นต้นใหญ่ๆ ผลิตผลแอปเปิ้ลที่สวย น่ากิน น่ารับประทาน แอปเปิ้ล คือ "อาหาร"

   เราหั่นแอปเปิ้ล แล้วใส่ปากเคี้ยว คำใหญ่ๆหน่อย เคี้ยว ๆ ๆ สัก 1 นาที คายออกมาไว้บนฝ่ามือ แอปเปิ้ลเมื่อถูกเข้ากับร่างกายแล้ว เป็นอย่างไร ท่านให้เราพิจารณาดู สกปรกใช่ไหม เราชอบไหม

   อาหารที่เข้าปาก เคี้ยว กลืน ลงไปอยู่ในกระเพาะ ท่านเรียกว่า "อาหารใหม่" เมื่อผ่านลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ ย่อยๆ แล้วก็ถ่ายออกมาทางทวารหนัก ท่านเรียกว่า "อาหารเก่า"

   พิจารณาแล้วดูความรู้สึกของเราว่าเป็นอย่างไร มันจะบอกความจริงบางอย่างแก่เรา เราต้องพิจารณา เรียนรู้จากอาหาร อาหารใหม่-อาหารเก่า พิจารณาอยู่อย่างนี้ ทัศนคติจะค่อยๆเปลี่ยนไป




   ติดอาหาร เรื่องกินนี่เป็นเรื่องใหญ่สำหรับสัตว์ อย่างพวกเราก็เรียกว่า สัตว์มนุษย์ บางคนตลอดชีวิตไม่ต้องทำอะไรมาก ดิ้นรนเพื่อกินอย่างเดียวก็มี แม้แต่อยู่ในวัด เราไม่มีภาระอะไร บางทีเราอาจจะคิดเรื่องกินทั้งวันก็เป็นได้ บางคนก็ติดอาหาร ชอบอาหารบางอย่าง ต้องกินให้ได้ อาจก่อความทุกข์ เดือดร้อน ร้อนใจได้มากมายเหมือนกัน

   กินเป็นยา การบริโภคอาหาร ท่านให้พิจารณาให้ดีแล้วค่อยฉัน ฉันเป็นยา เพื่อความดำรงอยู่ได้ของชีวิต และเพื่อเกื้อกูลการประพฤติพรหมจรรย์ หรือ การปฏิบัติธรรม เรียกว่า "กินแบบพระอริยเจ้า"



ชาคริยานุโยค

   ชาคริยานุโยค คือ การไม่เห็นแก่นอน นอนน้อย มีสติตื่นอยู่เสมอ หมั่นประกอบความเพียรเพื่อชำระจิต

   นอนให้พอดี เราพูดว่า "นอนน้อย" เพราะ ปกติเรานอนมาก นอนพอดีนั่นแหละดีที่สุด ไม่น้อยไม่มาก ขจัดความง่วงเหงาหาวนอน ความเซื่องซึม หดหู่ คือ ถีนมิทธะออกจากจิตใจของเรา





   นอนมาก คนที่มีกามารมณ์มาก ติดสุข มักจะนอนมาก คนที่มีวิภวตัณหามาก อะไรๆก็ไม่ชอบ ไม่อยากรู้ ไม่อยากทำ อยากหนีจากปัญหา คือจมอยู่ในสภาวะที่ไม่อยากจะรับรู้ อยากนอนหลับอย่างเดียว จิตจมอยู่ในสัญญาขันธ์ หรือที่ท่านเรียกว่าสัญญาครอบงำจิต คือ ง่วงนอนหรือถีนมิทธะนั่นเอง ถ้าเป็นเช่นนี้ สมาธิวิปัสสนาเกิดไม่ได้ ไม่มีทางรู้เห็นตามความเป็นจริงของขันธ์ 5 ได้ เพราะฉะนั้น การปฏิบัติเบื้องต้น ต้องนอนน้อยและตื่นอยู่เสมอ

   ไม่นอน ผู้ปฏิบัติธรรมบางทีก็เนสัชชิก งดเว้นอิริยาบถนอน ปฏิบัติแต่อิริยาบถ 3 อย่าง คือ ยืน เดิน นั่ง ตลอดวัน ตลอดคืน การปฏิบัติเนสัชชิก 3วัน 7 วัน ตลอด 3 เดือน ก็มีเหมือนกัน  อันนี้ก็เป็นการประกอบความเพียรเพื่อแก้ถีนมิทธะนิวรณ์

   ผู้เริ่มปฏิบัติก็อาจจะนอนคืนละ 5 ชั่วโมง แต่ถ้าปฏิบัติดีแล้ว การพักผ่อนคืนละ 4 ชั่วโมง ในช่วงมัชฌิมยาม คือ 4 ทุ่ม ถึงตี 2 ก็เป็นการเพียงพอแล้ว




   
    นอนตื่นเดียว หลวงพ่อชาสอนไว้ว่า เมื่อถึงเวลานอนให้สอนใจตัวเอง แล้วอธิษฐานไว้ว่า "ข้าพเจ้าจะไม่เอาความสุขในการนอน ข้าพเจ้าจะขอพักผ่อนให้เพียงพอกับสภาพร่างกาย เมื่อข้าพเจ้ารู้สึกตัวตื่นขึ้นมาเมื่อใด ข้าพเจ้าจะลุกขึ้นปรารภความเพียรต่อไปทันที" แล้วเอนกายนอนอย่างมีสติ

   เมื่อมีความรู้สึกตัวขึ้นมา ให้ลุกขึ้นทันที และไม่ยอมให้หลับต่อไป ตลอดวัน จนกว่าถึงเวลาที่จะกำหนดไว้ ไม่ใช่ดูนาฬิกาแล้ว อีกสักครึ่งชั่วโมงนะ อีก15นาทีนะ แล้วก็ หลับ ๆ ตื่น ๆ เป็นชั่วโมง ๆ นั่นเป็นอาการของกิเลสแท้ๆ

   เมื่อปฏิบัติเช่นนี้ บางครั้งก็อาจจะนอนเพียงครึ่งชั่วโมงบ้าง หนึ่งชั่วโมงบ้าง สองสามชั่วโมงบ้าง ไม่จำเป็นต้องกำหนดชั่วโมงในการนอน วิธีนี้ทำได้ยากพอสมควร แต่เป็นวิธีขัดเกลากิเลสได้อย่างดี




   ถ้าง่วงมาก หายง่วง จึงนอน อีกอย่างหนึ่งท่านสอนไว้ว่า เมื่อง่วงนอน อยากนอน ไม่ให้นอน ให้ปรารภความเพียรจนหายง่วงนอน เมื่อหายง่วงแล้วจึงนอนพักผ่อน เพื่อให้ร่างกายพัก ตื่นขึ้นมาก็ปรารภความเพียรต่อไป

   ถ้าปฏิบัติได้อย่างนี้ บางครั้งนอนไม่กี่นาทีก็ตื่นขึ้นมา แล้วมีความรู้สึกสดชื่นเหมือนได้พักผ่อนหลายชั่วโมงก็มี แต่สำหรับพวกเรา จะให้ปฏิบัติอย่างนี้ติดต่อกันหลายๆวัน หรือปฏิบัติจนหมดถีนมิทธะนิวรณ์ คงจะยากหน่อย

   การนอนเป็นกิเลสที่ละเอียดพอสมควร ละเอียดกว่ากามและการกิน มีบางอาจารย์สอนว่า ความสุขที่สุดในโลกคือการนอนหลับ ความสุขของชีวิตคือแค่นั้น อดกิน อดกาม อดได้ แต่อดหลับ ทำยาก!


ที่สุดของชาคริยานุโยค คือ "หลับในตื่น ตื่นในหลับ"


พระเจดีย์สุนันทวนารามมหาเจดีย์ วัดป่าสุนันทวนาราม






"พระพุทธสุนันทปรมาภิมงคล" องค์พระประธาน ซึ่งปั้นขึ้นโดยอาจารย์นนทิวรรธน์ จันทนะผะลิน
ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ ประดิษฐานในพระเจดีย์สุนันทวนารามมหาเจดีย์




ภายในฐานองค์พระพุทธสุนันทมหาปรมาภิมงคล มีพระบรมสารีริกธาตุประดิษฐานอยู่
















พระบวชใหม่





























บทความคัดลอกจากหนังสือ "อานาปานสติ : วิถีแห่งความสุข" ของพระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก

ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ท






                                               






แสดงความคิดเห็น

>