Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

เป็นครู = เป็นหนี้?? : วงจรชีวิตครูไทย

ตั้งกระทู้ใหม่
ตั้งกระทู้ใหม่
เป็นครู = เป็นหนี้ : วงจรชีวิตครูไทย (ไม่ได้คิดจะลบหลู่หรือดูถูกครูนะ แค่เอาข้อมูลมาให้อ่าน อย่าดราม่ากันๆ)


ในสมัยหนึ่ง อาชีพครูในสังคมไทยถือเป็นอาชีพที่มีเกียรติมีศักดิ์ศรี ได้รับการยกย่องเป็น ‘แม่พิมพ์ของชาติ’ เป็นต้นแบบที่ช่วยหล่อหลอมเด็กและเยาวชนของชาติให้เติบโตมาเป็นคนที่มีคุณภาพของสังคม ซึ่งคนที่จะมาทำอาชีพเรือจ้างนั้นต้องเป็นคนที่เสียสละตัวเองอย่างยิ่ง



ในสมัยหนึ่ง อาชีพครูในสังคมไทยถือเป็นอาชีพที่มีเกียรติมีศักดิ์ศรี ได้รับการยกย่องเป็น ‘แม่พิมพ์ของชาติ’ เป็นต้นแบบที่ช่วยหล่อหลอมเด็กและเยาวชนของชาติให้เติบโตมาเป็นคนที่มีคุณภาพของสังคม ซึ่งคนที่จะมาทำอาชีพเรือจ้างนั้นต้องเป็นคนที่เสียสละตัวเองอย่างยิ่ง
      
       แต่จากผลการสำรวจของสวนดุสิตโพลในหัวข้อ 'ความเชื่อมั่นครูไทย ประจำปี 2552' พบว่าคนไทยให้คะแนนความเชื่อมั่นในตัวครูไทยเพียง 7.44 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10 ซึ่งลดลงจากปีที่แล้วถึง 0.35 คะแนน
      
       และประเด็นที่คนไทยเชื่อมั่นในตัวครูไทยน้อยที่สุด 3 อันดับแรกตามลำดับก็คือ
       1.การเป็นหนี้สินของครู
       2.การแสดงออกทางอารมณ์
       3.เรื่องของความประหยัดไม่ฟุ้งเฟ้อ
      
       ใครๆ ก็รู้ว่าอาชีพอันทรงเกียรติอย่างครูบาอาจารย์นั้น เป็นอาชีพที่มีรายได้ไม่มากนัก และยิ่งในสังคมปัจจุบันที่เป็นสังคมที่ขับเคลื่อนด้วยเงินตรา เงินเดือนอันน้อยนิดของบรรดาครูอาจจะไม่พอใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน
      
       เมื่อรายรับไม่สมดุลกับรายจ่าย สิ่งที่ตามมาก็คือการกู้หนี้ยืมสินนั่นเอง และนั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นของความไม่มั่นใจในตัวครูไทย ในเรื่องของการเป็นหนี้สินที่อาจจะส่งผลกระทบไปถึงคุณภาพการสอนและการเป็นตัวอย่างที่ดีให้แก่ลูกศิษย์
      
       หลายคนอาจจะสงสัยว่า แล้วบรรดาครูบาอาจารย์ทั้งหลายมีค่าใช้จ่ายอะไรหนักหนา เงินเดือนถึงไม่พอใช้
      
       ค่าใช้จ่ายของครู
      
       เดิมทีครูที่ทำหน้าที่ประสิทธิ์ประสาทวิชาในสังคมไทย ก็ไม่ได้เป็นคนที่มีรายได้อะไรมากมายอยู่แล้ว เพราะในสังคมไทยโบราณ บรรดาครูจะไม่มีการเรียกอามิสสินจ้างกับลูกศิษย์ที่มาฝากเนื้อฝากตัว และบางทีอาจจะต้องเลี้ยงข้าวปลาอาหารลูกศิษย์ด้วยซ้ำ แต่สิ่งตอบแทนที่บรรดาครูเหล่านั้นได้รับคือฐานะทางสังคมที่สูงกว่าคนอื่นๆ ในชุมชน เป็นที่นับหน้าถือตา และเป็นเสมือนผู้นำชุมชนคนหนึ่ง และวัฒนธรรมการนับถือครูก็สืบทอดกันมาในสังคมไทยจนถึงปัจจุบัน
      
       แต่เมื่อเวลาผ่านไป เอาเข้าจริงๆ แล้ว ครูของการศึกษาในระบบทุกวันนี้ ก็เป็นเหมือนลูกจ้างคนหนึ่งที่ผู้ปกครองจ่ายเงินจ้างให้มาสอนบุตรหลาน ไม่ได้มีบุญคุณกับลูกศิษย์ท่วมหัวอย่างเมื่อก่อน ดังนั้น การจะดำรงสภาพของ 'ผู้มีหน้ามีตาในชุมชน' เอาไว้ ก็ต้องเปลี่ยนมาเน้นเรื่องของวัตถุแทน
      
       ลองสังเกตดูก็ได้ว่าคนที่เป็นครูนั้น มักจะมีบ้านที่ใหญ่กว่าใคร ต้องมีรถเก๋งขับ มีการแต่งกายและความเป็นอยู่ที่ดีกว่าคนในชุมชนคนอื่นๆ เวลามีงานบวชงานแต่ง ก็ต้องไปเป็นเกียรติในงาน (แน่นอนว่าต้อง 'ใส่ซอง' มากกว่าชาวบ้านเขา)
      
       ทั้งๆ ที่รายได้ของครูที่เป็นเงินเดือนนั้น บางทีอาจจะเทียบไม่ได้เลยกับรายรับของร้านขายของชำหน้าปากซอย
      
       และเนื่องจากรายได้ที่น้อย และค่าใช้จ่ายทางสังคมที่สูงของครูนี่เอง ที่ทำให้คนรุ่นใหม่ๆ ไม่อยากเป็นครูสักเท่าไหร่ ถึงแม้สถานะของครูในสังคมไทยจะถูกรองรับด้วยวาทกรรม อย่าง 'แม่พิมพ์ของชาติ' 'เรือจ้างผู้เสียสละ' ก็ตาม
      
       เพราะในโลกปัจจุบัน เกียรติและศักดิ์ศรีก็ไม่น่าจะมีค่าไปกว่าตัวเลขเงินเดือนที่ได้รับจริง
      
       กลับกลายเป็นว่าอาชีพที่มีเกียรติอย่างครู กลับกลายเป็นอาชีพท้ายๆ ที่เด็กรุ่นใหม่เลือกทำ ไปสอบเข้าที่ไหนไม่ได้ ก็มาเรียนเป็นครูไว้ก่อนทั้งๆ ที่ไม่อยากเป็น แล้วก็จบไปเป็นเรือจ้างเงินเดือนน้อย และค่อยๆ แจวเรือเข้าสู่สายธารของการเป็นหนี้...
      
       ก็ไม่พอใช้ เลยต้องไปกู้...
      
       “อาชีพครูเป็นอาชีพที่ต้องทำด้วยใจ ถ้าคุณรักงานนี้แล้วเงินเดือนก็ไม่ใช่เรื่องสำคัญ สำหรับผมนะ ขึ้นอยู่กับวิธีการใช้ชีวิตของคุณ แต่ก็ต้องยอมรับว่าเรื่องครูเป็นหนี้นั้นเป็นเรื่องจริง”
      
       วราวุธ น้อยศิริ ครูสอนวิชาภาษาไทยของโรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่งย่านบางบอนกล่าว และเขายังยืนยันถึงความจริงข้อหนึ่งให้เห็นได้ว่า ครูนั้นเป็นอาชีพที่ได้เงินเดือนน้อยจริงๆ
      
       “ตอนที่เข้ามาทำงานใหม่ๆ เงินเดือนเริ่มต้นที่ 8,500 บาทต่อเดือน แต่บางทีก็อาจจะได้ค่าสอนพิเศษอยู่บ้าง จะหาทางออกโดยการบอกให้ต้นสังกัดขึ้นเงินเดือนก็ยาก ปัญหาที่เรื้อรังแบบนี้แก้ไม่ตกหรอก คือต้องยอมรับว่าเลือกที่จะทำอาชีพนี้แล้วรวยยาก”
      
       ซึ่งจากข้อเท็จจริงที่เห็นกันอยู่ตำตาว่า นอกจากอาชีพครูจะเป็นอาชีพที่รวยยากแล้ว ฐานะของครูส่วนมากยังจัดอยู่ในระดับค่อนไปทางจน และเป็นความจนแบบถาวรอีกด้วย โดยเฉพาะครูที่มีครอบครัวแล้ว ต้องผ่อนทั้งบ้านทั้งรถ ค่าเทอมลูก เงินเดือนที่ได้รับย่อมไม่พอแน่นอน ซึ่งทางออกที่เหลือของครูก็คือการกู้เงิน โดยเฉพาะกับครูที่เป็นราชการเพราะสามารถกู้เงินได้ง่ายกว่าครูโรงเรียนเอกชนมาก
      
       “อย่างผมสอนโรงเรียนเอกชนก็กู้ยากหน่อย ทางออกถ้าจำเป็นจริงๆ ก็ต้องเป็นพวกบัตรสินเชื่อต่างๆ นั้นแหละ แต่สำหรับพวกครูโรงเรียนรัฐบาลแล้วกู้สหกรณ์ฯ ก็ได้ ดอกเบี้ยน้อยกว่าหลายเท่าตัว”
      
       ซึ่ง ‘สหกรณ์ออมทรัพย์ครู’ นี่เอง ที่เป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ของครูโรงเรียนรัฐบาลทั่วประเทศ
      
       “เคยเป็นหนี้สูงสุดประมาณห้าแสนบาท ก็กู้มาซื้อบ้านทำบ้าน ครูส่วนมากมักจะกู้เงินกันที่สหกรณ์ออมทรัพย์ครู ซึ่งจำนวนเงินที่สามารถกู้ได้นั้น แล้วแต่เงินหุ้นที่มีอยู่และเงินเดือนมากสุดก็กู้ได้เป็นล้านเลย และการผ่อนชำระก็จะหักจากเงินเดือนโดยตรง มันกู้ง่าย ไม่ต้องใช้หลักทรัพย์แต่ใช้เพื่อนครูด้วยกันเป็นคนค้ำประกัน เพราะไม่มีใครหนีไปไหนแน่นอน แต่เขาก็จะไม่ให้กู้จนถูกหักเงินเดือนมากเกินไปนะ จะเหลือไว้ให้ใช้สองพันบ้าง ห้าพันบ้าง ส่วนดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายก็แพงกว่าธนาคารนิดเดียว อ้อ...นอกจากสหกรณ์ฯ แล้ว ก็ยังมีแบงก์มาปล่อยกู้บ้าง อย่าง แบงก์กรุงไทย หรือออมสินก็มีโครงการเงินกู้สำหรับข้าราชการครู แต่เงินที่ปล่อยจะไม่เยอะมากเหมือนสหกรณ์ ดอกเบี้ยก็เยอะกว่า”
      
       ครูไก่ (ขอสงวนนามจริง) ครูของโรงเรียนรัฐบาลแห่งหนึ่งกล่าวถึงยอดหนี้ที่ตนเคยเป็น (และยังเป็นอยู่) ซึ่งเจ้าหนี้ของเธอนั้นก็คือ สหกรณ์ออมทรัพย์ครู ที่ทางหนึ่งก็เป็นเสมือนแหล่งทุนใหญ่ที่ทำให้ครูซึ่งมีเงินเดือนน้อยอย่างเธอหายใจหายคอคล่องขึ้น แต่อีกด้านก็เป็นเหมือนพันธนาการอันแข็งแรงที่ทำให้ชีวิตของครูหนีไม่พ้นสภาพของลูกหนี้เสียที
      
       “การเป็นหนี้ของครูนี่อาจจะต้องผ่อนกันตลอดชีวิต เพราะการกู้ของสหกรณ์ฯ นี่พิเศษอยู่อย่างหนึ่ง คือสามารถกู้เพิ่มได้เรื่อยๆ สมมติว่าเป็นหนี้อยู่หนึ่งแสนบาท ผ่อนชำระไปได้สองหมื่นห้าแล้ว ทางสหกรณ์ก็จะสามารถอนุมัติให้กู้เพิ่มได้อีก มันก็จะต่อไปได้เรื่อยๆ ทบไปตลอด ดังนั้นครูก็จะเป็นหนี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็ทำยังไงได้ ที่กู้มาก็เพราะว่ามันไม่พอใช้จริงๆ รายได้ครูมันน้อยกว่าอาชีพอื่นๆ และไม่มีรายได้พิเศษอะไร อย่างเก่งก็หางานสอนพิเศษมาทำ หรือไม่ก็ขายตรงพวกเครื่องสำอางหรือของใช้ต่างๆ แทน”
      
       เมื่ออาชีพเสริมมาก่อนอาชีพสอน
      
       เมื่อเงินเดือนของครูไม่เพียงพอต่อการใช้จ่าย (และใช้หนี้) จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่บรรดาแม่พิมพ์ของชาติจะต้องเอาเวลาไปทำมาหากินในทางอื่น อย่างวราวุธก็เลือกที่จะทำงานสอนพิเศษนอกเหนือจากการสอนในห้องเรียน ซึ่งเขาก็ยอมรับว่า การไปทำงานอื่นนอกเหนือจากการสอนในห้องเรียนนั้น มักจะนำมาสู่ปัญหาคุณภาพของการสอน
      
       “ผมสอนพิเศษเด็กตอนเย็นหลังจากโรงเรียนเลิก ซึ่งมันก็พอให้ได้เงินเพิ่มมาบ้าง แต่ก็ไม่ได้มากมาย คือจุดเริ่มต้นของค่านิยมการเรียนพิเศษของเด็ก ก็มาจากความล้มเหลวของระบบการเรียนการสอนในห้องเรียน ที่ต้นเหตุมาจากครูและระบบการศึกษาที่ยังไม่มีคุณภาพเท่าที่ควร
      
       “ผมว่ามันอยู่ที่ค่านิยมของสังคมที่มีต่ออาชีพครู และระบบการศึกษาของประเทศไทย ถ้ารัฐบาลสามารถแก้ปัญหาระบบการศึกษาได้ เด็กก็ไม่ต้องเรียนพิเศษ คนที่มาเป็นครูก็ต้องอยากทำอาชีพนี้จริงๆ ไม่ใช่ไม่รู้จะทำอะไรก็มาเป็นครู คือพูดง่ายๆ เลย สำหรับคนสมัยนี้การเป็นครูมันไม่เท่ มีอาชีพเท่ๆ เงินเดือนเยอะๆ อีกมาก แล้วเด็กที่ไหนจะอยากมาเป็นครู”
      
       แต่หนักกว่าการไปทำอาชีพเสริมอย่างสอนพิเศษหรือขายของก็คือ ครูส่วนมากมักจะแก้ปัญหาเงินหมุนไม่ทันด้วยวิธีลัดอย่างการเล่นแชร์
      
       “ส่วนใหญ่นั้นเล่นกันก็เพราะว่า กู้สหกรณ์ฯ มาแล้ว เวลาผ่อนจ่าย ก็จะผ่อนจ่ายกันโดยการหักเงินเดือน ทีนี้พอเงินเดือนเหลือน้อยก็จะหมุนไม่ทัน ไม่พอใช้ เพราะทั้งส่งลูก ผ่อนรถผ่อนบ้าน ก็เลยตั้งวงแชร์กัน เพื่อที่จะเอาเงินก้อนมาหมุนก่อน
      
       “ใครหมุนเงินไม่ทันก็จะมาตั้งวงแชร์ คนตั้งวงเขาจะเรียกว่าเป็นเท้าแชร์ คือเป็นคนจัดการเก็บเงินสมาชิก คนที่เป็นเท้าจะได้เงินก้อนในเดือนแรกมาใช้ก่อนโดยไม่ต้องเสียดอก แต่ถ้าคนอื่นๆ หลังๆ เรา ถ้าเขาเบี้ยว เท้าแชร์ก็ต้องเป็นคนรับผิดชอบออกเงินที่ขาดไปก่อนแล้วก็ไปตามทวงกับคนที่เบี้ยวเอาเอง ที่ผ่านมาก็ไม่มีการโกงกันหรอก เพราะเป็นคนรู้จักและเป็นครูโรงเรียนเดียวกันส่วนมาก ถ้าจะเกิดการเบี้ยวเกิดขึ้น ก็เพราะว่าไม่มีเงินส่งกันจริงๆ สามารถคุยกันได้
      
       “บางโรงเรียนเขาห้ามครูเล่นแชร์กันเด็ดขาด เพราะถือว่าผิดกฎหมาย ผิดระเบียบข้าราชการ แต่ครูร้อยทั้งร้อยก็ยังแอบเล่นกันอยู่ดี”
      
       ฟังดูแล้ว การเล่นแชร์เป็นวิธีการหาเงินมาหมุนของบรรดาครูๆ ซึ่งเป็นที่นิยม อีกทั้งยังซับซ้อนและใช้เวลาพอสมควร แล้วอย่างนี้บรรดาครูๆ ที่มุ่งมั่นกับการหมุนเงินทั้งหลายจะเอาเวลาว่างที่ไหนมาสอนเด็กกันล่ะ?
      
       เป็นหนี้ไม่ว่า แต่อย่าทิ้งความเป็นครู
      
       สุพัตรา พูลศรี ในฐานะของแม่ซึ่งมีลูกที่กำลังอยู่ในวัยเรียน ได้แสดงทัศนะถึงเรื่องที่ครูส่วนมากมักจะเป็นหนี้ว่า
      
       “ครูจะเป็นหนี้หรือไม่ ก็ไม่เกี่ยวกับการสอนเท่าไหร่ ครูบางคนที่เป็นหนี้ก็มีจิตวิญญาณของความเป็นครูได้ เรื่องครูกับหนี้นี่มันมีมานานแล้ว แต่ถ้าให้เลือกจริงๆ ระหว่างครูที่เป็นหนี้และไม่เป็นหนี้ ก็คงจะไม่เลือก แต่จะดูที่ความเป็นครูมากกว่า จริงอยู่...การที่ครูเป็นหนี้มันอาจจะมีผลกระทบต่อการสอนเด็กนักเรียนบ้าง เช่น มีเวลาสอนเด็กไม่เต็มที่ทำให้การเรียนการสอนไม่มีประสิทธิภาพ
      
       “การเรียนการสอนในสมัยนี้นั้น เมื่อเปรียบเทียบกับสมัยก่อน ตอนที่เรายังเด็กๆ มันก็ไม่เหมือนกันอยู่แล้ว คือ เมื่อก่อนเด็กอาจจะดื้อน้อย มีจำนวนไม่มากเท่าเด็กในสมัยนี้ ดังนั้น เมื่อมีเด็กเกเรหรือไม่ตั้งใจเรียน ครูก็ตามถึงบ้านเพื่อให้มาเรียนหรือส่งการบ้าน แต่ตอนนี้เหมือนกับว่าจะสอนแบบตัวใครตัวมันไม่ค่อยใส่ใจเท่าที่ควร”
      
       .........
      
       สุดท้ายแล้ว ถึงแม้จะยังสรุปไม่ได้ว่า การครูที่เป็นหนี้ จะทำให้จิตวิญญาณความเป็นครูหายไปหรือไม่ แต่ที่เห็นและเป็นอยู่นั้น ก็พอจะมองออกว่า ทุกวันนี้ ครูทั้งหลายมี 'เวลา' ให้แก่ลูกศิษย์น้อยลง เพราะต้องเอาเวลาไปคิดทำมาหากินอย่างอื่นหรือบรรเทาภาระหนี้สิน แทนที่จะใส่ใจกับลูกศิษย์
      
       ..........
      
      

เรื่อง : ทีมข่าว CLICK
       ภาพ : ทีมภาพ CLICK

แหล่งที่มาขอภาพข่าวและข้อความภาพข่าวจาก : http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9530000006884

แสดงความคิดเห็น

>

6 ความคิดเห็น

LiLiandStitch 27 ก.ค. 55 เวลา 20:13 น. 1

ไม่เสมอไปที่จะเป็นครูเท่ากับเป็นหนี้ 
มันขึ้นอยู่กับการใช้จ่ายของแต่ละคนด้วย
ถ้าใช้ฟุ่มเฟือย เกินกำลังทรัพย์ของตัวเอง ไม่ว่าอาชีพไหนก็เป็นหนี้ได้ทั้งนั้น
อย่างแม่เราเป็นครู แต่ก็ไม่ได้เป็นหนี้

0
theXNs' 27 ก.ค. 55 เวลา 21:03 น. 3

เป็นครูแลจะลำบาก แต่ครูที่เรารู้จักนี่ เงินเดือนไม่เยอะ แต่สอนพิเศษนี่ได้แบบเหลือกินเหลือใช้ต่อเดือนอ่ะ

0
บะหมี่ใส่ไข่_กุ๊งกิ้ง~ก๊องแก๊ง~ 28 ก.ค. 55 เวลา 09:16 น. 5

_ _|| แม่เราก็เป็นครู....เหอๆ


PS.  "เพื่อนก็เหมือนดาวในท้องฟ้า...แม้ไม่เห็นด้วยตา...แต่ก็รู้ว่าท้องฟ้ายังมีดาว..."
0
สมาคมนิยมเด็กดี 28 ก.ค. 55 เวลา 18:01 น. 6
ทุกวันนี้สวัสดิการเงินช่วยเหลืออาชีพครูมีเยอะกว่าอาชีพอื่นๆมาก เลยอาจทำให้ครูบางท่านเคยตัว หลงระเริงเผลอฟุ่มเฟือยไป


เราเห็นครูบางท่านผ่อนทั้งรถเก๋ง ผ่อนนั่นนี่เยอะแยะ


แต่บางท่านก็ประหยัดมาก ดูสมถะดี แล้วแต่คนนะ


0