Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

ทำบุญให้ทานแล้วต้องแผ่บุญกุศล.

ตั้งกระทู้ใหม่
ตั้งกระทู้ใหม่





   เรื่องมีอยู่ว่า มีชาวนาคนหนึ่งเศร้าเสียใจมาก ที่ภรรยาของเขาตายจากไป ด้วยความคิดถึงอย่างมาก ชาวนาผู้นี้จึงนิมนต์พระมาประกอบพิธีทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้ เมื่อเสร็จพิธี เขาก็เข้ามาสนทนากับพระ


   "พระคุณเจ้าขอรับ ภรรยาของกระผมจะได้รับส่วนกุศลจากการทำบุญนี้หรือไม่ขอรับ ?"

   "ได้สิ ทั้งเพื่อนบ้าน สรรพสัตว์ทั้งหลาย ทั้งเจ้ากรรมนายเวร ก็มีส่วนได้รับผลบุญในครั้งนี้ด้วยนะ"

   "อ้าว ! ถ้าอย่างนั้นภรรยาของกระผมก็คงได้รับผลบุญไม่เต็มที่น่ะสิขอรับ"  เขากล่าวอย่างไม่สบายใจนัก

   "อาตมาว่า นี่คงจะเป็นพุทธประสงค์ ที่จะแผ่เมตตา แผ่บุญกุศล ให้ตกไปถึงสรรพสัตว์ทั้งหลายโดยทั่วกัน"

   "ถ้าอย่างนั้น กระผมขอให้ยกเว้นเพื่อนข้างบ้านออกจากหมู่สรรพสัตว์สักคนหนึ่งได้ไหมขอรับ กระผมเกลียดมัน มันเป็นคนหยาบคาย ชอบเอาเปรียบ ถ้าเว้นเจ้านี่ไว้ได้ก็คงจะดี"

   "เฮ้อ ! ... อาตมาจนใจ ที่จะอธิบายกับโยมจริง ๆ"


   เราทำบุญแล้วก็ตั้งใจแผ่กุศล ไม่ต้องแบ่งมากแบ่งน้อย ไม่ต้องเลือกจะแผ่บุญให้คนโน้นแต่ไม่ให้คนนี้ บุญนั้นเป็นสิ่งที่ยิ่งให้ยิ่งได้ ยิ่งให้ยิ่งสว่าง อุปมาเหมือนจุดเทียนในห้องที่มืดมิด จุดขึ้นมาหนึ่งเล่ม แล้วจุดต่อๆกันกับเทียนของคนอื่นไปเรื่อยๆ ห้องนั้นก็จะยิ่งสว่าง การแผ่บุญกุศลให้สรรพสัตว์โดยไม่ยกเว้น เป็นการฝึกยกระดับจิตใจเรา ให้มีเมตตากรุณามากขึ้นๆ




การกรวดน้ำเป็นการให้ทางหนึ่งหรือไม่


   การกรวดน้ำ คือ การอุทิศส่วนกุศล ไปให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว หรือแม้แต่การแผ่เมตตา ซึ่งเป็นการส่งความปราถนาดี ที่อยากให้เขามีความสุข หรือความเมตตาไปให้คนที่เราระลึกถึง ถึงแม้ว่าคนผู้นั้นจะล่วงลับไปแล้วก็ตาม ก็ถือว่าเป็นการให้เช่นเดียวกัน เพราะอย่าลืมว่า การให้นั้นขอเพียงเรามีเจตนาที่จะให้ ตั้งเจตนาที่ดี บริสุทธิ์ ก็เพียงพอแล้ว ไม่จำเป็นต้องไปสรรหาเงินทองมาเพื่อมอบให้ หรือแม้แต่ความเชื่อของชาวจีน ที่เวลามีการไหว้บรรพบุรุษขึ้น ก็มักจะมีการจัดหาของเซ่นไหว้ กระดาษเงินกระดาษทอง เพื่อส่งไปให้บรรพบุรุษ ตามแต่ละครอบครัวจะมีกำลังจัดหามาได้ ก็ถือว่าเป็นการให้เช่นกัน เพราะตัวลูกหลานเองนั้น มีจิตใจกตัญญู เจตนาเชื่อว่า บรรพบุรุษของตนนั้น จะได้รับของเซ่นไหว้เหล่านี้ แล้วจะเกิดความสุขขึ้นนั่นเอง




การกรวดน้ำนั้นมีประวัติเริ่มมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล




   การกรวดน้ำในทางพระพุทธศาสนา ถือเป็นวิธีการอุทิศบุญกุศลไปให้ แก่บุคคลที่ล่วงลับไปแล้ว และถือว่าเป็นการให้ทานอย่างหนึ่งเช่นกัน ประวัติการกรวดน้ำมีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล เช่น เรื่องของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี วันหนึ่งหลานของท่านเล่นตุ๊กตาที่ทำจากแป้ง แล้วหล่นลงแตก หลานร้องไห้ด้วยความเสียดายตุ๊กตา เพราะไม่มีตุ๊กตาจะเล่น ท่านเศรษฐีได้ปลอบโยนหลานว่า ไม่เป็นไร เราช่วยกันอุทิศบุญไปให้ตุ๊กตากันเถิด ปรากฏว่าหลานของท่านหยุดร้องไห้ รุ่งเช้าท่านจึงพาหลาน ไปช่วยกันทำบุญเลี้ยงพระ แล้วกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลไปให้ตุ๊กตาอีก ข่าวการทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้ตุ๊กตาของท่านเศรษฐี ได้แพร่ขยายไปอย่างรวดเร็ว


   ประชาชนชาวพุทธบริษัททั้งหลาย เห็นเป็นเรื่องแปลกและเป็นสิ่งที่ดีที่ควรกระทำ ดังนั้น เมื่อญาติผู้เป็นที่รักของตนตายลง ก็พากันทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้ เหมือนอย่างที่ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีกระทำ และถือปฏิบัติกันอย่างแพร่หลาย สืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน


   การกรวดน้ำครั้งแรกนั้น ตามพุทธประวัติกล่าวว่า เมื่อพระเจ้าพิมพิสาร (ราชาแห่งราชคฤห์) ได้ฟังธรรมจากพระผู้มีพระภาคเจ้า ณ สวนตาลหนุ่ม วันรุ่งขึ้น พระองค์ได้ทรงถวายภัตตาหาร แด่พระสมณโคดมและพระสงฆ์สาวก และได้ถวายอุทยานสวนไม้ไผ่ (เวฬุวัน) ให้เป็นที่ประทับของพระพุทธเจ้า เมื่อพระพุทธเจ้าทรงรับด้วยอาการดุษฎี พระเจ้าพิมพิสารจึงทรงหลั่งน้ำอุททิโสทก จากพระเต้าลงบนพระหัตถ์พระพุทธเจ้า เพื่อถวายเวฬุวนาราม ให้เป็นวัดในพระพุทธศาสนาแห่งแรกของโลก แต่ไม่ได้อุทิศส่วนกุศลให้แก่ญาติผู้ล่วงลับด้วย ดังนั้น ตกกลางคืน จึงมีเสียงเปรตร้องในเขตพระราชนิเวศน์ และปรากฏกายให้เห็น พระองค์จึงเสด็จไปเฝ้าพระพุทธเจ้าและทูลถาม เมื่อทราบความแล้วจึงทรงบำเพ็ญพระราชกุศล ถวายอาหารและจีวรแก่พระพุทธเจ้าและพระสงฆ์ในวันต่อมา จากนั้นทรงหลั่งน้ำทักษิโณทก และกล่าวว่า "อิทัง โน ญาตินัง โหตุ" แปลว่า "ขอผลบุญกุศลครั้งนี้ จงไปถึงญาติพี่น้องของข้าพเจ้าด้วยเถิด" และกลายเป็นบทกรวดน้ำที่คนไทยนิยมใช้อยู่ในปัจจุบัน



พุทธศาสนสุภาษิต :


ยถา วาริวหา ปูรา ปริปูเรติ สาคะรัง

เอวเมว อิโต ทินัง เปตานัง อุปะกะปติ



ห้วงน้ำที่เต็ม ย่อมยังสาครให้เต็มได้ฉันใด

ทานที่ท่านอุทิศให้แล้วแต่โลกนี้

ย่อมสำเร็จประโยชน์แก่ผู้ที่ละโลกนี้ไปแล้ว ฉันนั้น




หมายเหตุ ;

อุททิโสทก แปลว่า กรวดน้ำมอบถวาย ใช้กรณีเมื่อถวายของใหญ่โต ไม่สามารถยกประเคนใส่มือได้ เช่น ที่ดิน และวัด(พระเจ้าพิมพิสารหลั่งน้ำจากน้ำพระเต้าลงบนพระหัตถ์ของพระพุทธเจ้า)

ทักษิโณทก คือ การกรวดน้ำแผ่ส่วนกุศลแก่คนตาย





ที่มา : หนังสือ "ธรรมให้สุขใจ" ของ พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก



แก้ไขครั้งที่ 1 เมื่อ 4 สิงหาคม 2555 / 17:34

แสดงความคิดเห็น

>