Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

เศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริ

ตั้งกระทู้ใหม่
ตั้งกระทู้ใหม่
จากการพัฒนาประเทศที่ผ่านมาทำให้สังคมไทยอ่อนแอ เหตุเพราะสังคมมิได้สร้าง “กระบวนการเรียนรู้” ให้กับคนส่วนใหญ่ ด้วยขาด“ปัญญา” ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ด้วยตนเอง ประกอบกับผู้มีโอกาสทางสังคมมักขาดคุณธรรมจริยธรรมเกิดปัญหาทุจริตประพฤติมิชอบขึ้นในทุกระดับ ขณะเดียวกับที่ผู้ด้อยโอกาสมักถูกเอารัดเอาเรียบ
ประกอบกับการพัฒนาเศรษฐกิจเป็นแบบแยกส่วน โดยใช้ “เงิน” เป็น “เป้าหมาย” ไม่คำนึงถึงผลเสียที่ตามมา อาทิ ทุนด้านดิน – น้ำ – ป่าไม้ ภูมิปัญญาและวัฒนธรรม สุดท้ายส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นและเกษตรพึ่งตนเองได้น้อยลง
ด้วยเหตุต่าง ๆ ที่ผ่านมาประกอบกับปัญหาภาวะเศรษฐกิจที่ประเทศไทยกำลังประสบอยู่ ทำให้ประชาชนในชาติล้มลุกคลุกคลาน หวังเพียงเพื่อให้ตนเองอยู่รอด พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตระหนักและห่วงใยในทุกข์สุขของพสกนิกรไทยยิ่งนัก เห็นได้จาก พระราชดำรัส เรื่อง “เศรษฐกิจพอเพียง” ที่ได้พระราชทานไว้ถึง 2 ครั้งในวันเฉลิมพระชนมพรรษา ปี 2540 และ 2541 ซึ่งได้มีการขานรับแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงไปปฏิบัติกันหลายหน่วยงาน ซึ่งคนมักเข้าใจว่าเศรษฐกิจพอเพียงเป็นเรื่องของเกษตรกรในชนบทเท่านั้น แต่แท้ที่จริงผู้ประกอบการอาชีพอื่น ๆ เช่น พ่อค้า ข้าราชการ และบริษัทต่าง ๆ สามารถนำแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้ได้ เพราะเศรษฐกิจพอเพียงนั้นเปรียบเสมือนเป็นการปักเสาเข็มก่อนจะสร้างบ้าน หรืออีกนัยหนึ่งเป็นการวางรากฐานของบ้านให้มั่นคงก่อนจะก่อสร้างตัวบ้านต่อไป
ฉะนั้นเศรษฐกิจพอเพียง คือ การวางรากฐานอันมั่นคงและยั่งยืนของชีวิตเรานั่นเอง
เมื่อวันเฉลิมพระชนมพรรษาปี 2541 ทรงได้มีพระมหากรุณาธิคุณอธิบายเพิ่มเติมถึงคำว่า “พอเพียง” หมายถึง “พอมีพอกิน”
“…พอมีพอกินก็แปลว่าเศรษฐกิจพอเพียงนั่นเอง ถ้าแต่ละคนมีพอมีพอกินก็ใช้ได้ ยิ่งถ้าประเทศพอมีพอกินก็ยิ่งดี…”
“…ประเทศไทยสมัยก่อนนี้พอมีพอกิน มาสมัยนี้อิสระไม่มีพอมีพอกิน จึงจะต้องเป็นนโยบายที่จะทำเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อที่จะให้ทุกคนพอเพียงได้ พอเพียงนี้ก็หมายความว่า มีกิน มีอยู่ ไม่ฟุ่มเฟือย ไม่หรูหราก็ได้แต่ว่าพอ…” ทรงเปรียบเทียบคำว่า พอเพียง คำกับว่า “self-sufficiency ว่า
“self-sufficiency นั้น หมายความว่าผลิตอะไร มีพอที่จะใช้ไม่ต้องไปขอยืมคนอื่น อยู่ได้ด้วยตนเอง…เป็นไปตามที่เค้าเรียกว่ายืนบนขาของตัวเอง…แต่ว่าพอเพียงนี้มีความหมายกว้างขวางยิ่งกว่านี้อีก คือคำว่าพอ ก็พอเพียงนี้ก็พอแค่นั้นเอง คนเราถ้าพอใจในความต้องการมันก็มีความโลภน้อย เมื่อมีความโลภน้อยก็เบียดเบียนผู้อื่นน้อย
ถ้าประเทศไทยมีความคิดอันนี้ มีความคิดว่าทำอะไรต้องพอเพียงหมายความว่า พอประมาณ ซื่อตรง ไม่โลภอย่างมาก คนเราก็มีความสุข
พอเพียงนี้อาจจะมี มีมาก อาจจะมีของหรูหราก็ได้ แต่ว่าต้องไม่ไปเบียดเบียนคนอื่น ต้องให้พอประมาณ พูดจาก็พอเพียง ทำอะไรก็พอเพียง ปฏิบัติก็พอเพียง…” 2
“…ฉะนั้น ความพอเพียงนี้ก็แปลว่าความพอประมาณและความมีเหตุผล…”
จากพระราชดำรัส:เศรษฐกิจพอเพียง มิได้จำกัดเฉพาะของเกษตรกรหรือชาวไร่ ชาวนาเพียงเท่านั้น แต่เป็นเศรษฐกิจของทุคนทุกอาชีพ ทั้งมีอยู่ในเมืองและอยู่ในชนบท เช่น ผู้ที่เป็นเจ้าของโรงงานอุตสาหกรรม และบริษัทในระบบเศรษฐกิจพอเพียง ถ้าจะต้องขยาย กิจการเพราะความเจริญเติบโตจากเนื้อของงาน โดยอาศัยการขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป หรือหากจะกู้ยืมก็กระทำตามความเหมาะสม ไม่ใช่กู้มาลงทุนจนเกินตัวจนไม่เหลือที่มั่นให้ยืนอยู่ได้ ต้องรู้จักใช้จ่าย ไม่ฟุ่มเฟือยเกินตัว
เศรษฐกิจพอเพียง หมายถึงเศรษฐกิจที่สามารถอุ้มชูตัวเอง (Relative self-sufficiency) อยู่ได้โดยไม่ต้องเดือดร้อน โดยต้องสร้างพื้นฐานของเศรษฐกิจของตนเองให้ดีเสียก่อน คือตั้งตัวให้มีความพอกินพอใช้ ไม่ใช่มุ่งหวังแต่จะทุ่มเทสร้างความเจริญ ยกเศรษฐกิจให้รวดเร็วแต่เพียงอย่างเดียว เพราะผู้ที่มีอาชีพและฐานะเพียงพอที่จะพึ่งตนเอง ย่อมสามารถสร้างความเจริญก้าวหน้าและฐานะทางเศรษฐกิจขั้นที่สูงขึ้นไปตามลำดับต่อไปได้
การพัฒนา “เศรษฐกิจแบบพอเพียง” สำหรับเกษตรกรนั้น มีการปฏิบัติตามขั้นตอน “ทฤษฎีใหม่” ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งประกอบด้วย 3 ขั้น คือขั้น 1 ผลิตเพื่อใช้บริโภคในครัวเรือน ในระดับชีวิตที่ประหยัด ทั้งนี้ต้องมีความสามัคคีในท้องถิ่น ขั้น 2 รวมกลุ่มเพื่อการผลิต การตลาด ความเป็นอยู่ สวัสดิการ การศึกษา สังคม และศาสนา และขั้น 3 ร่วมมือกับองค์กรภายนอกในการทำธุรกิจและพัฒนาคุณภาพชีวิต ทั้งนี้ทุกฝ่ายจะต้องได้รับประโยชน์
การพัฒนาชุมชนในลักษณะเศรษฐกิจพอเพียงจึงเป็นการใช้ “คน” เป็นเป้าหมาย และเน้น “การพัฒนาแบบองค์รวม” หรือ “การพัฒนาอย่างบูรณาการ” ทั้งด้านเศรษฐกิจ จิตใจ สังคม วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม การเมือง ฯลฯ โดยใช้ “พลังทางสังคม” ขับเคลื่อนกระบวนการพัฒนาในรูปของกลุ่ม เครือข่ายหรือประชาสังคม กล่าวคือ เป็นการผนึกกำลังของทุกฝ่ายในลักษณะ “พหุภาคี” ประกอบด้วยภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน

แสดงความคิดเห็น

>