Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

ผลงานของ ร.9 1

ตั้งกระทู้ใหม่
ตั้งกระทู้ใหม่

ผลงานเด่นในแต่ละด้าน 1

ด้านศิลปวัฒนธรรมและวรรณคดี

ในฐานะที่พระองค์เป็นพระมหากษัตริย์ที่มีพระปรีชาสามารถในศิลปะแขนงต่าง ๆ หลายแขนง จึงทรงได้รับการยกย่องให้เป็นองค์อัครศิลปินแห่งชาติและบิดาแห่งการดนตรี[88] พระองค์ยังทรงสนพระราชหฤทัยในการฝึกเขียนภาพ และมีพระปรีชาสามารถในเรื่องการถ่ายภาพ และมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนมีพระปรีชาสามารถปั้นพระพุทธรูปพระสมเด็จจิตรลดาด้วยพระองค์เอง

พระองค์ทรงเอาพระทัยใส่ในศิลปวัฒนธรรม ซึ่งเป็นสิ่งแสดงความเก่าแก่และความเจริญรุ่งเรืองของชนชาติไทยที่มีมานานนับพันปีนั้น ทรงสนพระราชหฤทัยทะนุบำรุงอยู่เสมอ ทรงเป็นนักพัฒนาที่เห็นการณ์ไกลและแสวงหาวิทยาการใหม่ ๆ เพื่อส่งเสริมการประกอบอาชีพของมวลพสกนิกร แต่ในขณะเดียวกันก็ทรงเป็นนักอนุรักษ์ผู้คำนึงถึงอดีตอันดีงามของชาติไทยอยู่ตลอดเวลา[89] ทรงตระหนักดีว่าอดีตรากฐานของปัจจุบันและอนาคต ด้วยเหตุนี้ จึงทรงเอาพระราชหฤทัยใส่ เช่น โปรดเกล้าฯ ให้ศิลปินของกรมศิลปากรถ่ายทอดท่ารำต่าง ๆ อันเป็นศิลปะท่ารำชั้นครู ท่ารำมโนห์รา และให้ถ่ายภาพยนตร์บันทึกท่ารำและเพลงหน้าพาทย์สำคัญ ๆ เอาไว้ด้วย

พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ในปี พ.ศ. 2552

ในด้านการฟื้นฟูพระราชประเพณีสำคัญนั้น ใน พ.ศ. 2503 ได้ทรงพระราชกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ฟื้นฟูพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญขึ้นมาใหม่หลังจากที่ได้เลิกร้างไปตั้งแต่ พ.ศ. 2479[90] ด้วยทรงพระราชดำริว่าเป็นพระราชพิธีที่กระทำเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่พืชพันธุ์ธัญญาหาร ให้รู้กำหนดน้ำฝนน้ำท่า และเพื่อบำรุงขวัญเพิ่มพูนกำลังใจแก่เกษตรกรซึ่งเกษตรกรซึ่งเป็นชนส่วนใหญ่ของประเทศและที่สำคัญยิ่งก็คือมิได้ทรงฟื้นฟูอย่างเดียวหากทรงปรับปรุงให้ถูกต้องตามหลักจิตวิทยาการบำรุงขวัญ และเป็นประโยชน์แก่การพัฒนาผลผลิต ด้วยการทรงยกย่องวัน พระราชพิธีนี้ให้เป็นวัน "เกษตรกร" ทั่วประเทศ อีกทั้งยังโปรดเกล้าฯ ให้ทุกจังหวัดจัดงานวันเกษตรกร มีการประกวดพืชผลและพันธุ์สัตว์ต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาผลผลิตทางเกษตร พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ผู้แทนชาวนาทุกภาคได้เข้าเฝ้าฯ รับพระราชทานรางวัลการประกวดพันธุ์ข้าว พระราชทานพันธุ์ข้าวทรงปลูกจากสวนจิตรลดาให้เป็นเมล็ดข้าวมิ่งขวัญแก่ชาวนาทั่วประเทศ

ต่อมาใน พ.ศ. 2504 พระเจ้าอยู่หัวได้โปรดเกล้าฯ ให้ฟื้นฟูพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินทอดผ้าพระกฐินโดยกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค และเมื่อ พ.ศ. 2506 ในโอกาสอันเป็นมหามงคลที่ทรงเจริญพระชนมพรรษา 36 พรรษา ได้โปรดเกล้าฯ ให้ฟื้นฟูพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวนพยุหยาตราทางสถลมารคพระราชพิธีเสด็จพยุหยาตรากระบวนใหญ่ที่ทรงฟื้นฟูขึ้นนี้ เป็นการแสดงถึงความเจริญทางจิตใจของบรรพชนไทย ในด้านศิลปวัฒนธรรมทางขนบประเพณีอันงดงามยิ่งใหญ่ ซึ่งอนุชนรุ่นหลังควรได้รู้เห็น จะได้เกิดความภาคภูมิใจในชาติของตน ทั้งนี้เป็นการช่วยบูรณะและอนุรักษ์มรดกของวัฒนธรรมไทย ซึ่งเป็นของดีงามของชาติ ให้คงอยู่คู่บ้านเมืองตลอดไป และยังเผยแพร่ให้ชาวโลกได้ประจักษ์ในความเป็นชาติเก่าแก่ของไทยอีกด้วย

กระบวนพยุหยาตราทางชลมารค

ทรงส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมไทยแขนงอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นภาษาไทย ประวัติศาสตร์ไทย สถาปัตยกรรม จิตรกรรม นาฏศิลป์ การดนตรีและศิลปะอื่น ๆ เช่น โปรดเกล้าฯ ให้กรมศิลปากรจัดทำโน้ตเพลงไทยตามระบบสากลและจัดพิมพ์ขึ้นด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ โปรดเกล้าฯ ให้อาจารย์และนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิจัยหาระดับเฉลี่ยมาตรฐานของเครื่องดนตรีไทย ทรงสนับสนุนให้มีการจัดตั้งสมาคมดนตรีแห่งประเทศไทย เสด็จพระราชดำเนินไปทรงร่วมการอภิปรายของชุมนุมภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2505 พระราชทานภาพเขียนฝีพระหัตถ์ไปร่วมในงานแสดงศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่ 14 และเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิด พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติในจังหวัดต่าง ๆ เป็นต้น

อีกทั้งยังพระราชทานพระบรมราโชวาทที่เตือนใจให้คนไทยเห็นคุณค่าของวัฒนธรรมไทย และช่วยกันธำรงรักษาวัฒนธรรมที่ดีงามของชาติไว้ ดังพระบรมราโชวาทที่พระราชทานในโอกาสต่าง ๆ ที่อัญเชิญมาเป็นตัวอย่างดังนี้ [91]

"การสร้างอาคารสมัยใหม่นี้ คงจะเป็นเกียรติสำหรับผู้สร้างคนเดียว แต่เรื่องโบราณสถานนั้นเป็นเกียรติของชาติ อิฐเก่า ๆ แผ่นเดียวก็มีค่าควรที่จะช่วยกันรักษาไว้ ถ้าเราขาดสุโขทัย อยุธยา และกรุงเทพ ฯ แล้ว ประเทศไทยก็ไม่มีความหมาย"

"ไม่ควรจะเอาของใหม่ไปปนกับของเก่า ควรจะรักษาของเก่าไว้เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับจิตใจของพลเมือง และสิ่งเหล่านี้เป็นมรดกตกทอดมาจากบรรพบุรุษ จึงควรรักษาไว้..ภาษาไทยนั้นเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งของชาติ ภาษาทั้งหลายเป็นเครื่องมือของมนุษย์ชนิดหนึ่ง คือ เป็นทางสำหรับแสดงความเห็นอย่างหนึ่ง เป็นสิ่งที่สวยงามอย่างหนึ่ง เช่น ในทางวรรณคดี เป็นต้น ฉะนั้น จึงจำเป็นต้องรักษาเอาไว้ให้ดีประเทศไทยนั้นมีภาษาของเราเอง ซึ่งต้องหวงแหน ประเทศใกล้เคียงของเราหลายประเทศมีภาษาของตนเอง แต่ว่าเขาก็ไม่แข็งแรง เขาร้องพยายามหาทางที่จะสร้างภาษาของตนเองแต่โบราณกาล จึงสมควรอย่างยิ่งที่จะรักษาไว้"

"ศิลปวัฒนธรรมไทยที่มีมาแต่โบราณกาลย่อมเป็นประจักษ์พยานได้ว่าชาติของเราเป็นชาติที่มีเอกราชมาเป็นเวลาช้านาน และในการรักษาการสร้างความรุ่งเรืองของชาติในอดีตสมัยไว้ในรูปแบบเดิม เราต้องรวบรวมผลงานทุกชิ้นที่เกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมไทย และจัดการดำเนินต่อไปอย่างดีที่สุดเท่าที่จะทำได้"

งานทางด้านวรรณศิลป์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเชี่ยวชาญในภาษาหลากหลายภาษา ทรงพระราชนิพนธ์บทความ แปลหนังสือ เช่น นายอินทร์ผู้ปิดทองหลังพระ ติโต พระมหาชนก และพระมหาชนก ฉบับการ์ตูน เรื่อง ทองแดง เป็นพระราชนิพนธ์เกี่ยวกับคุณทองแดง สุนัขทรงเลี้ยง เป็นต้น[92]

แสดงความคิดเห็น

>

4 ความคิดเห็น

zTonighTz 23 ม.ค. 58 เวลา 15:07 น. 1
ผมประทับใจ และรักพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 มากๆเลยครับ พระองค์เก่งในทุกๆด้าน ไม่จะเป็นเรื่องการแก้ไขปัญหาต่างๆ การดูแลเอาใจใส่ประชาชน พระองค์ไม่เคยเหน็ดเหนื่อย ไม่เคยคิดว่าลำบากไม่ว่าจะไปที่ไหนพระองค์ยอมเสด็จไปได้ทุกๆที่เพื่อที่จะทำให้ความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้นฃ สุดท้ายนี้ผมก็ขอให้พระองค์ ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน เป็นขวัญและกำลังใจให้ประชาชนชาวไทยต่อไป
0
bom12341 23 ม.ค. 58 เวลา 15:07 น. 2

ท่านไม่ใช่แค่พระมหากษัตริย์ที่ปกครองแผ่นดินไทยเพียงอย่างเดียว
แต่ท่านก็ทรงมีความอดทนและเสียสละเพื่อให้ปวงชน

0