Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระราชกรณียกิจด้านทรัพยากรน้ำ (2)

ตั้งกระทู้ใหม่
ตั้งกระทู้ใหม่
ในด้านทรัพยากรน้ำที่มีแล้วตามธรรมชาติ การบริหารจัดการคือการสร้างเขื่อนเก็บน้ำ มีทั้งเขื่อนขนาดใหญ่ (เช่น เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ที่จังหวัดลพบุรีและสระบุรี เขื่อนปากพนังที่จังหวัดนครศรีธรรมราช) และเขื่อน ขนาดต่างๆกันกระจายไปทุกภูมิภาค เพื่อเก็บกักน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการตลอดทั้งปี ทั้งการบริโภค การเพาะปลูก การชลประทานและการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ อันจำเป็นมากต่อระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยามเกิดวิกฤตการณ์ธรรมชาติที่ไม่คาดคิดเช่น ฝนนอกฤดูกาล ภัยแล้งหรือภัยธรรมชาติอื่นๆที่มิใช่เป็นปรากฏการณ์ที่อาเพศจริงๆ เขื่อนเป็นมาตรการป้องกันและบรรเทาภัยพิบัติจาก น้ำท่วม ช่วยควบคุมปริมาณน้ำช่วงน้ำหลากมิให้ท่วมทะลักลำน้ำหรือแผ่นดิน สำหรับน้ำที่มีปริมาณไม่มากนัก “ทฤษฎีใหม่”ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ผลดีมากสำหรับการแก้ปัญหาน้ำใช้สำหรับครัวเรือนและการเพาะปลูกในฤดูแล้ง ทฤษฎีใหม่เป็นวิธีการบริหารจัดการที่ดินทำกินและแหล่งน้ำของเกษตรกรที่มีพื้นที่ถือครองน้อยหรือปานกลาง โดยกำหนดให้ใช้เนื้อที่ร้อยละ 30 ของที่ดินแต่ละผืนขุดเป็นบ่อเก็บน้ำไว้ แนวปฏิบัติใหม่นี้ช่วยให้บังเกิดสุขในหมู่ราษฎร เพราะเมื่อมีน้ำเพียงพอ ก็สามารถมีรายได้เพิ่มขึ้นได้

ในประเทศไทยมีสิ่งหนึ่งที่ขัดแย้งกันอยู่ในตัว คือข้อเท็จจริงที่ว่าท้องที่หนึ่งๆสามารถมีทั้งปัญหาน้ำท่วมและปัญหาของภัยแล้งได้ด้วย โดยเฉพาะถ้าที่นั้นไม่มีทางน้ำธรรมชาติ หรือสร้างอ่างเก็บน้ำไม่ได้ หรือแม้เพียง ฝนฟ้าไม่ตกตามฤดูกาล ก็เกิดปัญหาเดือดร้อนทันที ดังเช่นที่เกิดขึ้นในกลางปี 2553 นี้ แต่เมื่อใดที่น้ำจากฟ้าขาดแคลน ก็จะมี “ฝนหลวง” พระราชทานจากพระเจ้าอยู่หัวมาผ่อนคลายความทุกข์เข็ญ ตั้งแต่ปี 2512 ฝนหลวงได้ช่วยให้มีน้ำทำนาเพาะปลูก และช่วยเพิ่มระดับน้ำในเขื่อนด้วย เทคนิคของการทำฝนหลวงหรือฝนเทียมนี้เป็นนวัตกรรมที่ออกแบบมาอย่างดี ฝนหลวงจึงเกิดจากพระปรีชาญาณโดยแท้
ส่วนในบริเวณพื้นที่เศรษฐกิจของประเทศซึ่งมีประชากรอาศัยหนาแน่นเช่นที่หาดใหญ่ นครศรีธรรมราช กรุงเทพและปริมณฑล มักประสบปัญหาน้ำท่วมมากกว่าปัญหาอื่นๆ ทำความเสียหายเหลือคณานับ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯให้มีโครงการป้องกันเกี่ยวกับน้ำท่วมหลายโครงการ โครงการเหล่านี้ช่วยไม่ให้เมืองสำคัญประชาชนต้อง “จมน้ำ” เช่นโครงการแก้มลิงซึ่งใช้ระบบการจัดการน้ำหลายอย่าง ทั้งการสร้างคันกั้นน้ำ ประตูน้ำ ทางผันน้ำ สถานีสูบน้ำ การทำความสะอาดและขุดลอกลำน้ำ ตลอดจนการขุดคลองหรือลำน้ำสายใหม่ วิธีการเหล่านี้ช่วยในการระบายน้ำจากพื้นที่น้ำท่วมให้ไหลลงไปในคลองชลประทานและออกทะเลไปในที่สุด สามารถแก้ปัญหาอย่างได้ผล ช่วยให้ราษฎรไม่ต้องอยู่กับฝันร้าย สามารถรับมือได้กับน้ำเหนือที่หลากมา และปริมาณน้ำฝนจำนวนมากในฤดูฝน ประกอบกับน้ำทะเลหนุน ที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี
user
การบริหารจัดการน้ำต้องรวมสิ่งสุดท้ายคือ ปัญหาน้ำเสีย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานแนวพระดำริสำหรับการแปรสภาพความเน่าเสีย ทำให้น้ำกลับเป็นน้ำดี ใช้เพาะปลูกได้และส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่ดี ปัญหาน้ำเสียนี้เช่นกันที่พระเจ้าอยู่หัวทรงใช้เทคนิคต่างๆกัน เนื่องจากไม่มีวิธีใดวิธีเดียวที่ได้ผลเบ็ดเสร็จ บางวิธีใช้เทคนิคธรรมชาติแบบง่ายๆแต่ชาญฉลาด บางโครงการต้องพึ่งเทคโนโลยีในระดับสูงขึ้นไป ในเขตกรุงเทพมหานคร มีโครงการบึงมักกะสัน ซึ่งใช้ผักตบชวาเป็นตัวกรองน้ำแบบธรรมชาติ โครงการบึงพระรามเก้า ใช้ระบบชีวภาพบำบัด โดยมีเครื่องจักรกลช่วยด้วย ส่วนการบำบัดน้ำเสียตามลำคลองต่างๆนั้น เป็นเทคนิคของการใช้น้ำดีทำให้น้ำเสียเจือจาง แล้วจึงปล่อยออกไปด้วยระบบแรงดันน้ำตามแรงโน้มถ่วงของโลก ในต่างจังหวัด เช่นที่เพชรบุรี มีโครงการแหลมผักเบี้ย ใช้วิธีธรรมชาติบำบัด คือใช้พืชน้ำและป่าชายเลนร่วมกับระบบบำบัดน้ำเสีย
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงเสียสละพระกำลังและเวลาอย่างมากเพื่อการบริหารจัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำของประเทศ โครงการระดับชาติต่างๆในพระราชดำริหรือพระบรมราชูปถัมป์ล้วนให้คุณประโยชน์ยั่งยืนยาวนานแก่ผู้คนในยุคปัจจุบันไปจนถึงรุ่นลูกหลานในอนาคตด้วย พระราชประสงค์ที่ให้มีการปรับปรุงวิธีการแก้ปัญหาอยู่เสมอสะท้อนถึงพระปณิธานมุ่งมั่นอย่างยิ่งที่จะทรงยกระดับคุณภาพชีวิตของประชากรทั่วทั้งแผ่นดินไทย

แสดงความคิดเห็น

>