Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

(ไม่รก) มาดูฉากปลุกปล้ำในละครญี่ปุ่น (แตกต่างจากละครไทย?)

ตั้งกระทู้ใหม่
ตั้งกระทู้ใหม่
เรื่องโดย : ChaMaNow www.marumura.com 

        ChaMaNoW นักเขียนบันเทิงญี่ปุ่นออนไลน์ ปัจจุบันเป็นเจ้าของเพจSakura Dramas นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับละครญี่ปุ่นที่น่าสนใจ นอกจากนี้ยังมีความสนใจพิเศษเกี่ยวกับเรื่องดนตรี ละคร รวมไปถึงนักแสดง และศิลปินญี่ปุ่นอีกด้วย




ประเทศญี่ปุ่นถือได้ว่าเป็นประเทศที่มีคดีข่มขืนน้อยค่ะ ด้วยปัจจัยหลายอย่าง ทั้งการปลูกจิตสำนึก มาตรการความปลอดภัยต่างๆ ทำให้ผู้หญิงญี่ปุ่นค่อนข้างปลอดภัยจากเรื่องพวกนี้ และอีกหนึ่งสิ่งที่มีส่วนช่วยควบคุมเหตุพวกนี้ก็คือ “ละคร” ค่ะ 

เพื่อนๆ รู้ไหมคะว่าฉากปลุกปล้ำในละครญี่ปุ่นเป็นอะไรที่น่ากลัวมากๆ ค่ะ ถ้าได้ดูแล้วจะรู้ได้ถึงพิษภัย ความโหดร้ายเลยก็ว่าได้ วันนี้ก็เลยจะพามาดูฉากปลุกปล้ำในละครญี่ปุ่นค่ะว่ามีลักษณะอย่างไร เป็นฉากที่สะท้อนและชี้นำอะไรให้สังคมได้เห็นบ้าง มาดูกันเลยค่ะ

1. ฉากปลุกปล้ำถูกนำเสนอออกมาในรูปแบบอาชญากรรมอย่างหนึ่ง
แน่นอนว่าฉากปลุกปล้ำมันต้องเกิดจากความไม่สมยอมของฝ่ายหญิง แต่เวลาที่เราดูฉากแบบนี้ในละครไทยจะเป็นบทที่นำพาให้ความรักของพระ-นางมาลงเอยกันในท้ายที่สุด แต่ในละครญี่ปุ่นจะไม่ใช่แบบนั้นค่ะ ฉากนี้ในละครญี่ปุ่นจะถูกนำเสนอก็ต่อเมื่อต้องการจะสื่อว่า การขืนใจ การข่มขืนกันเป็นการกระทำที่โหดร้าย ทารุณ และเป็น “อาชญากรรม” อย่างหนึ่ง





อย่างเช่น เรื่อง “Life” ละครที่นำเสนอเกี่ยวกับการกลั่นแกล้งกันของนักเรียนญี่ปุ่น “Ayumu” ตัวละครเอกของเรื่องก็จะถูกเพื่อนร่วมห้องกลั่นแกล้ง และยังถูก “Katsumi” เพื่อนผู้ชายที่คอยตามรังควาน จับตัวไปทำอนาจารค่ะ ในเรื่องก็จะมีฉากที่นายคนนี้จับตัวไปทำมิดีมิร้าย เกือบถูกข่มขืนได้สำเร็จ ถึงแม้ “Katsumi” จะรับบทเป็นนักเรียนชายหน้าตาดี เรียนเก่ง สุภาพบุรุษ (ภายนอก) แต่ผลสุดท้ายแล้วเขาก็คือโจรผู้ร้ายสำหรับคนในสังคม

ฉากปลุกปล้ำที่ว่านี้ก็ไม่ได้มีแค่ระหว่างนางเอกกับตัวร้ายนะคะ พระเอกกับนางเอกก็มีค่ะ ถ้าเป็นละครบ้านเรา ฉากนี้ถือได้ว่าเป็นฉากเข้าพระเข้านางเลยค่ะ จะลงเอยกันก็ต้องผ่านฉากนี้ ด้วยความที่เป็นพระ-นางคนดูจะไม่รู้สึกว่ามันคือการข่มขืน แต่เป็นบทรักระหว่างกัน แต่ในละครญี่ปุ่นจะไม่ใช่แบบนั้นค่ะ ถึงแม้จะเป็นคู่รักกัน แต่การขืนใจกันเนี่ยก็ยังไม่ใช่สิ่งที่คนรักกันควรกระทำต่อกัน





อย่างเรื่อง “Last Friends” เป็นละครแนวความรักที่สะท้อนปัญหาต่างๆ ของชีวิตคนญี่ปุ่นเป็นอย่างดีอีกเรื่องเลยค่ะ ในเรื่องพระเอกกับนางเอกก็จะเป็นคู่รักที่รักกันมากค่ะ จนตัดสินใจมาใช้ชีวิตด้วยกัน แต่พอมาอยู่ด้วยกันแล้ว กลับพบว่าพระเอกไม่ได้แสนดีอย่างที่เห็น เขามีพฤติกรรมที่ชอบทำร้ายร่างกาย มีอารมณ์ที่รุนแรง เวลาโมโห ก็จะเผลอไปทำร้ายนางเอก หรือที่เรียกว่าเป็นพฤติกรรม DV (Domestic Violence)





จนมาถึงจุดที่ร้ายแรงที่สุดคือ ลงมือข่มขืนเธอ ฉากนี้ขอบอกว่ามันน่ากลัวสุดๆ ค่ะ ถึงแม้จะเป็นพระเอกกับนางเอกก็เถอะ และถึงแม้ว่าจะเป็น “เรียว นิชิกิโดะ” พระเอกขวัญใจดิฉันก็ตาม แต่ฉากนี้ดูยังไงก็ไม่ฟินค่ะ แต่กลับรู้สึกทั้งเกลียด และกลัวผู้ชายคนนี้ขึ้นมาทันที ส่วนนางเอกก็จะดูเหมือนเป็นคนถูกทำร้ายจริงๆ ค่ะ ได้เห็นถึงความโหดร้ายที่ผู้หญิงคนหนึ่งกำลังเผชิญ ถึงแม้การกระทำของพระเอกจะเกิดจากปมอะไรบางอย่าง แต่ก็ไม่ใช่ประเด็นข้อยกเว้นว่าเขาจะหันมาทำอะไรผู้หญิงก็ได้ และทำให้เห็นว่าถึงแม้จะเป็นการกระทำระหว่างพระเอกและนางเอก แต่ละครก็ยังเลือกที่จะนำเสนอให้เห็นถึงความน่ากลัว ไม่ใช่บทที่แสดงความรักต่อกัน สรุปก็คือฉากปลุกปล้ำในละครญี่ปุ่นส่วนใหญ่จะไม่ใช่บทรักค่ะ แต่มันคือการข่มขืนกัน เป็นอาชญากรรมอย่างหนึ่งในสังคม


2. ฉากและโทนสีของภาพสุดจะน่ากลัวและหดหู่
ถ้าสังเกตฉากพวกนี้ในละครญี่ปุ่นจะพบว่าโทนสีจะออกทึมๆ มืดๆ หน่อยค่ะ และสถานที่เกิดเหตุก็มักจะไม่เป็นบนเตียงนอนนุ่มในห้องกว้างสุดหรู แต่จะเป็นข้างทาง ห้องมืดๆ เตียงรกๆ อย่างเช่น เรื่อง“Strawberry Night” เรื่องนี้เป็นแนวสืบสวนสอบสวนค่ะ นางเอกเป็นตำรวจ แต่ก่อนหน้านี้เธอเคยเป็นเหยื่อถูกข่มขืนมาก่อน ส่วนฉากก็จะเป็นตอนกลางคืน มีฝีเท้าคนเดินตาม พอเธอเริ่มเดินเร็วขึ้น -คนที่ตามก็เดินเร็วขึ้นตาม และท้ายที่สุดมันก็ฉุดเธอเข้าโพงหญ้าข้างทาง และก็ข่มขืนค่ะ นางเอกก็จะถูกคร่อมจับกด ฉากรอบๆ ก็จะมืดมิด และปิดฉากโดยที่กล้องฉายไปที่พระจันทร์สีแดง แสดงให้เห็นถึงค่ำคืนที่เจ็บปวด และโหดร้าย ฉากนี้เป็นอีกฉากหนึ่งที่สะเทือนใจจริงๆ ค่ะ พอหลังจากเหตุการณ์วันนั้น พอนางเอกต้องเดินคนเดียวตอนมืดๆ เดินผ่านสวนสาธารณะคล้ายๆ กับที่เกิดเหตุ เธอจะกลัว และนึกเห็นภาพอันโหดร้ายในวันนั้นทันที


3. นำเสนอให้เห็นถึงผลกระทบที่โหดร้าย
หลังจากฉากปลุกปล้ำ ละครมักจะสะท้อนให้เห็นถึงชีวิตที่เหลืออยู่ของฝ่ายหญิงค่ะ ที่ไม่ใช่แค่ว่าร้องไห้ เสียใจ ตั้งท้อง และเดินหนีไปจากพระเอก แต่มันมีอะไรที่มากกว่านั้นค่ะ ชีวิตผู้หญิงที่ถูกกระทำชำเรามาจะไม่มีชีวิตที่เหมือนเดิมอีกต่อไป ละครญี่ปุ่นเรื่องหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบจากการถูกข่มขืนก็คือเรื่องนี้เลยค่ะ “Mahiru no Tsuki”





เรื่องนี้จะเป็นเรื่องราวของผู้หญิงคนหนึ่งที่ถูกพวกแก๊งรถตู้ฉุดไปข่มขืนค่ะ หลังจากเหตุการณ์นี้เธอก็มีชีวิตที่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป กลายเป็นคนที่มีบาดแผลที่จิตใจ กลัวสิ่งต่างๆ กลัวที่แคบ กลัววัตถุสะท้อนแสง เพราะว่าตอนถูกข่มขืน เธอเห็นสร้อยคอของโจรที่มันสะท้อนแสงได้ค่ะ เลยติดตามา และกลัวผู้ชายค่ะ แม้แต่แฟนของเธอเองก็ไม่ยอมให้ถูกเนื้อต้องตัวเลย

อาการทางจิตเธอหนักขึ้นมาก จนต้องปรึกษาจิตแพทย์ ส่วนพระเอกพอเห็นเธอมีท่าทีแปลกๆ ก็ไม่เข้าใจ จนทำให้ความรักของทั้งคู่เริ่มสั่นคลอน แต่เมื่อรู้ความจริงแล้ว แทนที่เขาจะรังเกียจ แต่กลับอยู่ให้กำลังใจเคียงข้างเธอค่ะ เป็นเรื่องที่นำเสนอให้เห็นถึงความโหดร้ายของการข่มขืน ผลกระทบที่เกิดจากผู้หญิงคนหนึ่งที่ผ่านเหตุการณ์เลวร้ายแบบนี้มา และที่สำคัญเป็นเรื่องที่ทำให้เห็นว่า การมีความสัมพันธ์ระหว่างคนที่เรารัก กับคนที่เราไม่ได้รู้สึกอะไร มันแตกต่างกันโดยสิ้นเชิงค่ะ

หรือจะเป็นเรื่อง “Last Friends” หลังจากที่นางเอกถูกข่มขืน ก็มีสภาพจิตใจที่ย่ำแย่ค่ะ และตัดสินใจหนีพระเอกค่ะ หนีจริงๆ นะคะ ไมใช่หนีเพื่อให้พระเอกตามเจอในภายหลัง หรือเพื่อให้พระเอกเห็นความสำคัญ หรือสำนึกผิดจนต้องออกตามหา แต่เป็นการหนีไปให้พ้นจริงๆ เพราะรับรู้ได้ว่าชีวิตตัวเองจะไม่ปลอดภัย พอพระเอกตามตัวเจอ เธอจะรีบวิ่งหนีไปกับเพื่อนๆ ของเธอเลยค่ะ ถึงแม้เธอจะยังคงรักผู้ชายคนนี้อยู่ แต่ก็จะมีความรู้สึกกลัวแทรกเข้ามา จนทำให้รู้สึกว่าเธอกับเขาไม่อาจจะมีชีวิตอยู่ด้วยกันได้เหมือนเดิมอีกต่อไป


4. พบได้น้อยในละครญี่ปุ่น
สุดท้ายค่ะ ฉากปลุกปล้ำที่ว่านี้เเป็นฉากที่ไม่ค่อยเจอในละครญี่ปุ่นค่ะ ถึงแม้จะเป็นละครรักก็ตาม พระ-นางจะไม่แสดงความรักโดยการขืนใจกัน แต่จะเป็นการแสดงความรักอย่างอื่นที่ทำให้รู้สึกได้ว่ารักกันจริงๆ บางเรื่องก็อาจจะมีฉากจูบกันบ้าง แต่ก็เกิดจากการสมยอมกัน บางเรื่องก็จะเป็นการกระทำอย่างอ้อมๆ เพื่อให้รู้ว่ารัก 





เช่น เรื่อง “Hotaru no Hikari” ส่วนตัวประทับใจเรื่องนี้เป็นพิเศษค่ะ มันเป็นรูปแบบความรักที่ค่อยๆ ก่อตัวขึ้น ถึงแม้ว่าตัวนางเอกจะไม่ใช่หญิงสาวในอุดมคติของพระเอกเลย แต่ด้วยความใกล้ชิด ผูกพัน ทำให้ความรู้สึกดีๆ เกิดขึ้นค่ะ และทั้งคู่ก็รักกัน โดยที่แม้แต่จูบก็ยังไม่เคยทำเลย ! ทั้งๆ ที่อยู่บ้านเดียวกันแท้ๆ แต่ก็แยกกันนอน พระเอกก็ไม่เคยล่วงเกินนางเอกเลย  (แต่หลังๆ ก็มีบ้าง แต่เป็นช่วงที่รักกันและแต่งงานกันแล้ว) เป็นเรื่องที่ทำให้เห็นว่าสิ่งที่ทำให้คนเรารักกันได้จริงๆ แล้ว มันไม่ใช่แค่เรื่องความใคร่ ความลุ่มหลง หรือเรื่องเพศเพียงอย่างเดียว แต่มันเกิดจากความรู้สึกของหัวใจ ความรัก ความผูกพัน ความรู้สึกที่อยากจะช่วยเหลือ ดูแลซึ่งกันและกัน ไม่ใช่การทำร้ายกัน

และนี่ก็คือลักษณะของฉากปลุกปล้ำของละครญี่ปุ่นค่ะ จะเห็นได้ว่าเป็นฉากที่ค่อนข้างมีความน่ากลัว ที่ญี่ปุ่นใช่ว่าจะไม่มีผู้หญิงที่แต่งตัววับๆ แวมๆ นะคะ แถมยังมีสื่อทางเพศ ทั้งหนัง AV หนังสือโป๊ หรือแม้แต่การถ่ายแฟชั่น การแต่งตัวของดาราในบางครั้งก็มีความหวือหวาค่ะ แต่พอมามองที่ละครบ้านเขา ฉากที่ว่ากลับนำเสนออกมาในรูปแบบที่ว่าไม่ใช่ค่านิยมที่ควรปฏิบัติตาม เป็นสิ่งที่ไม่ควรกระทำ และเป็นอาชญากรรมที่น่ากลัว สื่อละครมันอาจจะเป็นจุดเล็กๆ แต่อย่างน้อยก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่สามารถช่วยชี้นำสังคมให้เป็นไปในทิศทางที่ควรจะเป็นได้ค่ะ

แสดงความคิดเห็น

>

180 ความคิดเห็น

พลอยนิล-อะเมะยูคิ 13 ก.ค. 57 เวลา 16:39 น. 1

(ต่อ) (เพิ่มเติม) เนื่องจากเนื้อหายาวไปต้องตัดออก แหะๆ

โลกนี้ได้สร้างมนุษย์เพศหญิงและเพศชายขึ้นมา เพศหนึ่งแข็งแกร่ง 
ส่วนอีกเพศหนึ่งอ่อนโยน ผู้ที่สร้างพวกเราขึ้นมาอาจจะไม่ได้ตั้งใจให้ทำร้ายกันเองหรอกค่ะ 
หากแต่เป็นการสร้างขึ้นมาเพื่อให้ “คนที่แข็งแรงกว่าดูแลคนที่อ่อนแอ” ...


เรื่องโดย : ChaMaNow www.marumura.com


อขอบคุณ


http://www.marumura.com/entertainment/?id=5660


0
Sirisobhakya 13 ก.ค. 57 เวลา 17:08 น. 2
ขอบคุณครับ เป็นสาระที่ดีมาก

อยู่ที่นี่ยังไม่เคยได้ดูละครเลยเพราะห้องไม่มีทีวี พอเห็นแบบนี้ก็พอเข้าใจแล้วว่าทำไมสถิติอาชญากรรมของญี่ปุ่นถึงต่ำนอกจากเพราะกฎหมายแรงและเด็ดขาด

0
พลอยนิล-อะเมะยูคิ 13 ก.ค. 57 เวลา 17:15 น. 5

ขอบคุณเช่นกันนะคะสำหรับคอมเมนท์ ได้อ่านสดๆ ร้อนๆ นึกถึงบอร์ดนักเขียนทันทีเลย เพราะเห็นมีกระทู้ที่พูดถึงเรื่องนิยายไทยกับฉากข่มขืนอยู่

0
AkiUNaSAMA 13 ก.ค. 57 เวลา 17:38 น. 8

หนังญี่ปุ่นมันดูสมจริงดีนะคะ เราว่า มันนึกตามหลักความเป็นจริง ไม่ใช่นายร้ายฉันก็จะรัก อย่าง last friends เนี่ย ถ้าเป็นจริงฝ่ายหญิงต้องฝังใจและกลัวมากแน่ๆ ไมืมีทางมารักต่อหรอก นอกจากจะติดใจ...

0
Byun Sasuu 12 ต.ค. 58 เวลา 17:36 น. 11-1

เรื่องนี้แทบอยากจะไห้ -ตัวร้ายเป็นพระเอก (หล่อ)

0
Death With Love 13 ก.ค. 57 เวลา 18:05 น. 13

มันเป็นค่านิยม วัฒนธรรมที่พยายามปลูกฝังให้แก่ประชากรของเขา ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีมากๆ
ไม่ใช่ว่า ไม่มีคนที่ชั่วร้ายเลวทรามในสังคม(ของเขา)
แต่เขาไม่ส่งเสริมให้มีการเผยแพร่พฤติกรรม และยังแสดงให้เห็นถึงความรุนแรง ที่เป็นอาชญากรรม

ส่วนของประเทศเรา ไม่อยากจะพูดถึง...
มันปล่อยมานานจนเกิดเป็นค่านิยมผิดๆ ให้เยาวชนไปซะแล้ว

0
Death With Love 13 ก.ค. 57 เวลา 18:10 น. 14

ไลท์ ผมอ่านฉบับมังงะ เป็นการ์ตูนผู้หญิงที่ต้องอ่านจริงๆ
การกลั่นแกล้งในรร.ของญี่ปุ่นค่อนข้างรุนแรงมาก เป็นปัญหาสังคมของเขา

0
Mystic Irie 13 ก.ค. 57 เวลา 18:57 น. 16

ขอบคุณสำหรับบทความดีๆ ครับ อ่านแล้วเข้าใจความแตกต่างของสื่อบ้านเขากับบ้านเราเลยนะเนี่ย

0
Cammy 13 ก.ค. 57 เวลา 19:34 น. 17

ไม่เกี่ยวละคร แต่ขอพูดเรื่องการ์ตูน

ความจริงการ์ตูนหลายเรื่องญี่ปุ่น การข่มขืนนั้น คนที่ก่อคดีมักพบจุดจบไม่ดีเป็นส่วนมาก แต่สำหรับการ์ตูนผู้หญิงนี้ผมไม่แนะนำ อย่างมาเฟียที่รักนี้ จบดีหรือเปล่าหว่า

ยกเว้นมีสื่อเดียว ที่การข่มขืน ตัวร้าย (พระเอกชั่ว) ไม่ได้รับผลกรรมเลย คือสายมืด

1
K.W.E. 13 ก.ค. 57 เวลา 20:12 น. 18

ผมชอบการที่ทำอะไรออกมาตรงๆไม่ฝืนธรรมชาตินะ

สิ่งที่ไม่ดีทำแล้วก็ ต้องออกมาไม่ดี และมีผลกระทบไม่ดีติดมาด้วย
ไม่ใช่ไม่ดี แต่ทำแล้วฟิน แถมจะให้จบดีอีก ซึ่งมันเป็นอะไรที่ขัดแย้งตัวเองมาก

ข่มขืนจริงเป็นข่าวดังบอกคนทำเลว มันควรตาย
แต่นิยายพระเอกข่มขืนนางเอก หนักเข้าอาจถึงทำลายชีวิต ทำให้ไม่มีทางเลือกเพื่อบีบให้ยอมจำนน แล้วสุดท้ายรักกันปานจะกลื่นกิน พอติงไปก็กลับบอกว่ามันคือนิยายจะเอาอะไรมาก... เป็นนิยายที่ฝืนธรรมชาติมากๆเลยนะนั่น


นึกถึงสมัยหนึ่งที่เราแอนตี้บุหรี่กัน ต้องรงณรงค์กับแทบแย่ ออกทั้งสปอตโฆษณา ทำแคมปเปญ เพิ่มหลักสูตรการศึกษา ให้สถานที่ราชการแยกพื้นที่สูบเฉพาะ ใช้เวลาหลายปี จนในที่สุดประชาชนจำนวนหนึ่งก็เกิดแนวคิดต่อต้านการสูบบุหรี่ในที่สาธารณะ  (ซึ่งว่ากันตามเรื่องแล้วสมัยนี้คนทัว่ไปเองก็น่าจะแขยงกับควันบุหรี่กันพอตัว)

ต้องเอาจริงกันถึงขนาดนัน้ถึงจะสร้าง จิตสำนึก การต่อต้านบุหรี่ขึ้นมาจริงขึ้นได้

คือมันต้องยอมรับให้ได้ก่อนว่าบุหรี่นั่นเป็นสิ่งไม่ดี ควันมันก็เป็นของเสียที่คนหนึ่งพ่นออกมาแล้วคนอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องต้องรับผลกรรมไปด้วย ถึงจะเท่แต่มันก็ของไม่ดี

แต่พอมามองย้อนละคร นิยาย บ้านเราแล้ว มันเป็นอะไรที่ลักลั่นที่สุด
มีข่าวทีก็รงณรงค์ แต่พอติงไปว่าบทแบบนี้ไม่เหมาะสมนะ ก็กลับได้คำตอบว่า สังคมคิดเองกันเป็น มันไม่ได้ชี้นำหรอก...

ไม่ได้ชี้นำคนหนึ่งก็ไม่ได้หมายความว่าอีกคนหนึ่งที่ดูจะไม่ได้รับผลนะครับ
หลายเรื่องปัญหามันไม่ได้เกิดจากเหตุเดียว แต่เกิดจากหลายเหตุรวมกัน

การตัดสิ่งที่จะเป็นหนึ่งในชนวนเหตุออกไปได้ แม้ว่ามันจะเป็นชนวนเล็กๆก็เถอะ แต่ผมว่ามันก็เป็นสิ่งที่ควรทำนะ

โดยเฉพาะสิ่งที่มันดูฝืนธรรมชาตินี่แหล่ะ

1
เรโกะ จิทาคุ 3 ต.ค. 60 เวลา 17:28 น. 18-1

หนูว่ามันชี้นำนะคะ เพราะละครเนี่ย หากแยกไม่ออกจะกลายเป็นเห็นกงจักรเป็นดอกบัวเลยล่ะค่ะ เหอๆๆ

0
fibo6040 13 ก.ค. 57 เวลา 21:02 น. 19
Mahiru no Tsuki   เคยฉายทางช่องสามด้วย เราจำได้ เราเคยดู  มันน่ารันทดสุดๆ


(ถ้าจำไม่ผิด) ตอนที่ก่อนนางเอกจะโดนข่มขืน นางเอกนัดกับพระเอกที่สถานที่หนึ่ง ขณะกำลังขี่จักรยานจะไปหา เธอก็โดนลากไปข่มขืน แถม-คนข่มขืนมันยังเอามีดกรีดหน้าอกเธออีก 




0
Daisy [ i ] (13) 13 ก.ค. 57 เวลา 21:32 น. 20

ขอบคุณสำหรับข้อมูลดีๆนะครับ

ประเทศไทยชอบรอให้เรื่องมันเกิดก่อนแล้วค่อยรู้สึกตัว
คดีข่มขืนใช่ว่าจะมีน้องแป้งเป็นเหยื่อรายแรก มันเกิดขึ้นมากี่ครั้งต่อกี่ครั้งแล้ว พวกเราได้ยินข่าวน่าเศร้าแบบนี้มาเกือบทุกปี แต่พอนานวันเข้าคนก็ลืม คนลืมเรื่องก็ซา ความน่ากลัวของการถูกข่มขืนก็จะกลายเป็นเรื่องที่ถูกมองข้ามต่อไป...

มันน่าจะถึงเวลาเปลี่ยนอะไรๆได้แล้ว  เริ่มจากอะไรที่ดูเล็กๆน้อยๆอย่างสื่อบ้านเราเนี่ยแหละ ก่อนที่เรื่องมันจะหนักขึ้นๆจนเรามานั่งเสียใจทีหลัง

ผมเคยอ่านเรื่อง จุนโกะ ที่ถูกข่มขื่นโดยเพื่อนร่วมชั้นแล้วสลดจิตตกไปหลายวัน 
ผมภาวนาว่าขออย่าให้มีคดีน่าเศร้าแบบนี้เกิดขึ้นอีกเลย 

"การถูกข่มขื่นไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย"

1
เรโกะ จิทาคุ 3 ต.ค. 60 เวลา 17:30 น. 20-1

เรื่องใหญ่ค่ะ สำหรับทุกคน และคนที่โดน คนที่ไม่โดน มันก็อยากโดน อย่างเพื่อนหนูค่ะ แต่หนูไม่อยากโดน ไม่อยากให้คนเขาทำผิดกฏหมายข้อหาทำร้ายร่างกายค่ะ

0