Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

กสทช.ถามหาคนรับผิดชอบหลังป.ป.ช.ตีตกข้อกล่าวหาฮั้ว 3G

ตั้งกระทู้ใหม่
ตั้งกระทู้ใหม่
กสทช.ถามหาคนรับผิดชอบหลังป.ป.ช.ตีตกข้อกล่าวหาฮั้ว 3G 

พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธานกสทช. 

ประธานกทค.ยันมติของป.ป.ช ที่ตีตกทุกข้อกล่าวหาในการประมูลความถี่ 2.1 GHz หรือ 3G พิสูจน์ให้เห็นว่ากทค.เดินมาถูกทางและยังช่วยพิสูจน์ให้เห็นว่าการประมูล ไม่ได้มีการทุจริตหรือผิดปกติอย่างที่มีการกล่าวหาและมีการบิดเบือนข้อมูลทำให้สังคมเข้าใจผิด ร้องถามกลุ่มที่ร้องเรียนควรออกมาแสดงความรับผิดชอบ 

พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธานกสทช.ในฐานะประธานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) กล่าวภายหลังป.ป.ช.มีมติตีตกข้อกล่าวหา กทค.ฮั้วประมูล 3Gเอื้อประโยชน์เอไอเอส ดีแทคและทรูมูฟว่า 'ขอขอบคุณป.ป.ช. ซึ่งช่วยชี้ให้คนไทยเห็นว่าความยุติธรรมยังมีอยู่ และกทค. เดินมาถูกทาง ทั้งยังช่วยพิสูจน์ให้เห็นว่าการประมูล ไม่ได้มีการทุจริตหรือผิดปกติอย่างที่มีการกล่าวหาและมีการบิดเบือนข้อมูล ตลอดมา 

ในทางตรงกันข้ามการจัดประมูล 3Gครั้งนี้ถูกต้องตามมาตรฐานสากล เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติอย่างเห็นได้ชัดดังปรากฎจากข้อเท็จจริง และสถิติต่างๆ ซึ่งเมื่อความจริงปรากฎแล้วว่าไม่ได้เป็นอย่างที่กลุ่มกล่าวหาโจมตี แต่เกิดความเสียหายต่อกทค. และองค์กรกสทช. เป็นอย่างมาก ดังนั้นกลุ่มที่ร้องเรียนในเรื่องนี้จนทำให้สังคมเข้าใจผิดเกิดความเสียหาย ควรจะต้องออกมาแสดงความรับผิดชอบ' 

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 19 ส.ค.ที่ผ่านมา นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. ได้สรุปผลการประชุมป.ป.ช.ที่พิจารณากรณีกล่าวหาคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ว่า มีพฤติการณ์ทุจริตเกี่ยวกับการประมูลคลื่นความถี่ 3Gโดยเรื่องนี้ประธานวุฒิสภาส่งเรื่องถอดถอน กทค. มาให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการตามมาตรา 63 และเป็นกรณีมีผู้กล่าวหาจำนวนหลายราย ส่งเรื่องมาตามมาตรา 84 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฯ ดังกล่าว ประกอบด้วย 1. พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ประธาน กทค. 2. นายสุทธิพล ทวีชัยการ 3. นายประเสริฐ ศีลพิพัฒน์ และ 4. พล.อ.สุกิจ ขมะสุนทร กรรมการ กทค. 

โดยกล่าวหาว่า 1.ออกประกาศหลักเกณฑ์การประมูลคลื่นความถี่ 3G เอื้อประโยชน์ให้กับผู้เข้าแข่งขันทั้ง 3 ราย ได้แก่ เอไอเอส ดีแทค และ ทรูมูฟ ทำให้ไม่มีการแข่งขันเสนอราคากันอย่างแท้จริงในการประมูล 2. บริษัท ดีแทค เนทเวอร์ค จำกัด มีผู้จัดการเป็นคนต่างด้าว ขาดคุณสมบัติในการเข้าร่วมประมูล 3.กทค.ไม่มีอำนาจจัดการประมูลคลื่น 3G 4. ผู้เข้าประมูลทั้ง 3 ราย มีการสมยอมกัน (ฮั้ว) ในการประมูลคลื่น 3G และ 5.กทค. ทั้ง 4 ราย ละเว้นไม่ดำเนินการยกเลิกการประมูลทั้งที่ทราบว่า การประมูลผู้เข้าร่วมประมูลไม่มีการแข่งขันเสนอราคากันอย่างแท้จริง 

คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้ว เห็นว่า ข้อกล่าวหาที่ 1 จากการไต่สวนพบว่า ขณะออกประกาศหลักเกณฑ์ มีผู้ประกอบการที่มีคุณสมบัติสามารถเข้าประมูลได้จำนวน 20 ราย การออกประกาศหลักเกณฑ์ฯ ดังกล่าวจึงมิได้เป็นการเอื้อให้กับผู้ประกอบการ ทั้ง 3 ราย ที่เข้าประมูลในครั้งนี้ ตามที่มีการกล่าวหาแต่อย่างใด จึงมีมติว่าข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป 

ส่วนข้อกล่าวหาที่ 2 จากการตรวจสอบจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าพบว่า บริษัท ดีแทค เนทเวอร์ค มีผู้ถือหุ้นเป็นสัญชาติไทยทั้งหมด จึงไม่ขาดคุณสมบัติของผู้ขอรับใบอนุญาต ตามประกาศฯ จึงมีมติว่า ข้อกล่าวหาจึงไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป 

ข้อกล่าวหาที่ 3 จากการไต่สวนพบว่า การจัดประมูลคลื่น 3G ของ กทค. เป็นการดำเนินการแทน กสทช. ตามมาตรา 40 แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ จึงเป็นการปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ ที่กฎหมายกำหนดไว้ จึงมีมติว่า ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป 

ขณะที่ข้อกล่าวหาที่ 4 จากการไต่สวนพบว่า การเสนอราคาของผู้เข้าประมูลทั้ง 3 ราย เป็นไปโดยถูกต้องตามประกาศหลักเกณฑ์ฯ ไม่ปรากฏพฤติการณ์หรือพยานหลักฐานว่ามีการสมยอมกันในการเสนอราคา จึงมีมติว่า ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป 

ส่วนข้อกล่าวหาที่ 5 จากการไต่สวนพบว่า การประมูลครั้งนี้ ตามประกาศฯ ได้แบ่งคลื่นออกเป็น 9 ชุด มีผู้เข้าร่วมประมูลจำนวน 3 ราย ประกอบด้วย บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เนทเวอร์ค จำกัด (AIS) บริษัท ดีแทค เนทเวอร์ค จำกัด (DTAC) และบริษัท เรียลฟิวเจอร์ จำกัด (TRUE) นั้น เป็นดำเนินการประมูลตามหลักเกณฑ์ วิธีการ ที่ กสทช. ประกาศกำหนด มิได้นำหลักการประมูลตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วย การพัสดุด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-auction) มาใช้ ซึ่งเป็นไปตามหลักสากลเพื่อประโยชน์ของผู้บริโภค การประมูลก็มีการแข่งขันเสนอราคากันถึง 7 รอบ ผลการประมูลได้ราคาสูงกว่าประเทศอื่นๆ ที่มีรายได้ต่อหัวใกล้เคียงกับประเทศไทย และได้รับการยอมรับจาก สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) ซึ่งเป็นองค์กรของสหประชาชาติด้านโทรคมนาคม 

การประมูลครั้งนี้เป็นการพัฒนาระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ของประเทศไทยแบบก้าวกระโดด ส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ และทำให้ประชาชนได้รับประโยชน์เป็นอย่างมาก กรณีนี้จึงไม่ปรากฏพยานหลักฐานว่า ผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 4 ราย ได้กระทำความผิดตามข้อกล่าวหา จึงมีมติว่าข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป 

นอกจากนี้เพื่อเป็นการยืนยันการประมูล 3G ทำให้เกิดผลดีต่อภาพรวมเศรษฐกิจ กสทช.ได้จัดทำข้อมูลถึงประโยชน์ดังกล่าวประกอบด้วยผลการวิเคราะห์ของศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจไทยพาณิชย์, ศูนย์วิจัยกสิกรไทย, สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.), ธนาคารแห่งประเทศไทย และ Frost & Sullivan ได้วิเคราะห์ถึงมูลค่าเพิ่มของธุรกิจโทรคมนาคมและเศรษฐกิจไทย จากการให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่บนความถี่ย่าน 2.1 GHz ในช่วงปีที่ผ่านมา ดังต่อไปนี้ ผลทางตรง 1.มีเงินเข้ารัฐ 4.1 หมื่นล้านบาท เป็นรายได้จากการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 2.1 GHz นำส่งเป็นค่าทรัพยากรสาธารณะให้แก่กระทรวงการคลัง และถือเป็นรายได้เข้าประเทศ 2. มีเงิน 3 พันล้านบาทต่อปี เป็นค่าธรรมเนียมในการกำกับดูแล (regulatory fees) ของผู้ประกอบการบนคลื่นความถี่ย่าน 2.1 GHz 

ส่วนผลประโยชน์ทางอ้อมนั้น 1.การลงทุนรวมในอุปกรณ์โครงข่าย เช่น core network และสายเคเบิลในช่วง 3-5 ปีแรก ภายหลังการประมูลประมาณ 6-7 หมื่นล้านบาทต่อปี 2.มูลค่าตลาดสมาร์ทโฟนในปี 2557 ซึ่งเติบโตปีละ 30% จากช่วงก่อนการประมูล 3G ประมาณ 6 หมื่นล้านบาท 3.มูลค่าการใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ในปี 2557 ซึ่งเติบโต 26% จากปีก่อนหน้า ประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาท 4.มูลค่าการทำธุรกรรมผ่านโทรศัพท์มือถือ หรือ Mobile Banking เช่น การโอนเงิน และการชำระค่าบริการต่างๆ ประมาณ 7 แสนล้านบาท 

5.มูลค่าตลาดของ Internet Data Center ในปี 2557 ซึ่งเติบโตเฉลี่ยปีละ 20% เมื่อเทียบจากปี 2012 ด้วยดีมานด์จากลูกค้าองค์กรเมื่อการดึงข้อมูลทำได้เร็วขึ้นจาก 3G ประมาณ 2 พันล้านบาท 6.เม็ดเงินโฆษณาผ่านโทรศัพท์มือถือในประเทศไทย ซึ่งดึงดูดให้เกิดการสร้างแอปพลิเคชัน และคอนเทนต์บนมือถือในรูปแบบใหม่ๆ มากขึ้น ประมาณ 1 พันล้านบาท 7.ในปี 2557 กลุ่มธุรกิจต่างๆ จะมีการใช้สื่อดิจิตอลในการโฆษณามากขึ้น โดยมีมูลค่าประมาณเพิ่มจากปี 2556 ประมาณ 38% หรือ 5.8 พันล้านบาท 

นอกจากการเติบโตทางภาคธุรกิจดังกล่าวข้างต้น ซึ่งส่งผลดีต่อเศรษฐกิจกระทบต่อเนื่องกันไป ดังนั้น การใช้บริการโทรศัพท์มือถือ และบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ที่แสดงจากอัตราการเข้าถึงบริการของอุตสาหกรรมโทรคมนาคม ถือเป็นตัวแปรสำคัญของการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยได้ในอนาคต 

ดังนั้น จะเห็นได้ว่ากิจการโทรคมนาคมสามารถผลักดัน และขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศได้ในหลายทิศทาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงบนโทรศัพท์มือถือ ที่จะกลายเป็นสิ่งจำเป็นในชีวิตประจำวันที่มีอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิตของคน ยุคใหม่ ยิ่งเป็นข้อสนับสนุน และกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้บริการโทรคมนาคมกลายเป็นบริการที่ก่อให้เกิด ประโยชน์ต่อประเทศชาติได้อย่างมหาศาล 

http://www.manager.co.th/Cyberbiz/ViewNews.aspx?NewsID=9570000095086

แสดงความคิดเห็น

>