Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

(การ์ดคำสอน) ความรู้ที่มีคุณค่าที่สุด

ตั้งกระทู้ใหม่
ตั้งกระทู้ใหม่
เครดิต : http://dhammaway.wordpress.com/2014/08/10/true-of-life/
true-of-life-3-750px
(ดูภาพขนาดใหญ่ได้ที่นี่ค่ะ)
บรรดาสรรพความรู้ทั้งหมดในโลกนี้และในสังสารวัฏนี้
ความรู้ที่มีคุณค่าที่สุด ควรเป็นความรู้เกี่ยวกับชีวิตตัวเอง
ซึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงประกาศเอาไว้ดีแล้ว ...
... หากพิจารณาเรื่องการเวียนเกิดเวียนตาย
แล้วย้อนกลับมามองที่ตนเองแล้ว
เราจะเห็นว่า มุมมองของเราที่มองเห็น
แค่ชีวิตเดียวและเห็นเหตุปัจจัยแค่บางส่วนนั้น
เป็นมุมมองที่คับแคบและไม่น่าเชื่อถือแม้แต่น้อย
เราไม่รู้จักตัวเอง ไม่รู้จักชีวิต
และไม่รู้จักข้อจำกัดของชีวิตเอาเสียเลย
หากจะมีเรื่องน่าเศร้าที่สุดในโลกใบนี้ ก็น่าจะเป็นเรื่องนี้นั่นเอง
ส่วนหนึ่งจากคำนำและเนื้อหาในหนังสือ "สัจจะแห่งชีวิต"
ผู้เขียน อาจารย์สุภีร์ ทุมทอง

สามารถดาวโหลดอ่านหนังสือฉบับเต็มอ่านได้ที่นี่
https://dhammaway.files.wordpress.com/2014/08/truth-of-life.pdf

ศึกษาธรรมะเพิ่มเติมจาก อ.สุภีร์ ทุมทอง ที่นี่ค่ะ
http://www.ajsupee.com

แสดงความคิดเห็น

>

15 ความคิดเห็น

๛ไหลฤา๛ 6 ก.ย. 57 เวลา 12:16 น. 1
"บรรดาสรรพความรู้ทั้งหมดในโลกนี้และในสังสารวัฏนี้
ความรู้ที่มีคุณค่าที่สุด ควรเป็นความรู้เกี่ยวกับชีวิตตัวเอง 
ซึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงประกาศเอาไว้ดีแล้ว ..."

น่าจะหมายถึง ความรู้เรื่อง จิต หรือหมวดธรรมเกี่ยวข้องของจิต ก็คือ จิต เจตสิก รูป นิพพาน หรือเปล่าครับ 



0
นิลมังกร 6 ก.ย. 57 เวลา 14:55 น. 2

ถ้ายังไงเราขออนุญาตไม่ตอบเป็นคำตอบของตัวเองนะคะ

เราตอบเป็นหนังสือเล่มนี้เลยดีกว่าค่ะ "สัจจะแห่งชีวิต"
อ.สุภีร์ ทุมทอง ท่านเขียนไว้ได้ดีมากจริงๆ
https://dhammaway.files.wordpress.com/2014/08/truth-of-life.pdf

เรามีโอกาสได้นั่งอ่านเล่มนี้
จึงได้รู้ว่าเนื้อหาข้างในเป็นอะไรที่ยอดเยี่ยมมากๆ

ทำให้ได้ย้อนกลับมามองดูตัวเอง
และถึงสิ่งต่างๆ ที่เราทั้งหลายเพียรทำกันมาตลอดทั้งชีวิต

ทั้งหมดที่เราทำกัน แล้วมันเพื่ออะไร

ชีวิตคืออะไรกันแน่

ขอตอบแบบนี้ดีกว่า เพื่อให้คงคุณค่าของเนื้อหาข้างในหนังสือได้ครบถ้วน

พอได้มีโอกาสอ่านแล้ว มุมมองที่เรามีต่อชีวิตจะเปลี่ยนไปเลยค่ะ



.

0
soul silver 9 ก.ย. 57 เวลา 02:21 น. 3

เอาจริงๆผมยังไม่ได้อ่านหรอกนะ มันไม่ยาวมากแค่ 80 กว่าหน้า แต่กว่าจะอ่านจบคงต้องใช้เวลาพอสมควร ขอแสดงความคิดเห็นนิดๆหน่อยๆนะครับ ผิดถูกยังไงก็บอกกล่าวกันด้วยนะครับ

พระพุทธเจ้าเคยกล่าวไว้อย่างน่าฟังว่า "ความรู้ก็เหมือนใบไม้ในป่า ไม่มีใครสามารถเก็บใบไม้เหล่านั้นได้ครบทุกใบ"  สิ่งที่คุณยกมาคือ "ความรู้ที่มีค่าที่สุด คือ ความรู้เกี่ยวกับชีวิตของตนเอง" โอเคผมไม่เถียง แต่อย่าลืมว่าคนตีความหมายของคำว่า "ชีวิต" แตกต่างกัน และยกย่องคุณค่าของความรู้ไม่เหมือนกันความรู้ในเรื่องของชีวิตคงเป็นเรื่อง ขันธ์ 5 วัฏสงสาร ฯลฯ แต่สำหรับผม ความรู้อันมีคุณค่าที่สุด คือ "ความรู้อันที่จะสามารถอธิบายกฎเกณฑ์ธรรมชาติ ที่มาของธรรมชาติและสามารถนำกฎเกณฑ์ทางธรรมชาติมาใช้ประโยชน์ได้" แน่นอนนั่นรวมไปถึงการอธิบาย "ชีวิต" ที่คุณกล่าวถึงในกระทู้ด้วย เพราะ ชีวิตคือธรรมชาติ สำหรับผมนั่นคือจุดมุ่งหมายสูงสุดของชีวิต นั่นเป็นความรู้ที่ผมคิดว่ามีคุณค่าที่สุดในบรรดาสรรพความรู้ทั้งมวล


จากที่คุณตอบความคิดเห็นที่ 1 ทั้งหมดที่เราทำกัน แล้วมันเพื่ออะไร ผมคิดว่าผมมีคำตอบให้นะ เพื่อจุดมุ่งหมายสูงสุดของชีวิตผม เพื่อสานต่อเจตนารมณ์ของผู้ที่มีจุดมุ่งหมายเหมือนกับผม เพื่อต่อยอดองค์ความรู้ที่พวกท่านเหล่านั้นได้ศึกษาค้นคว้าอย่างยากลำบาก ต่อให้ผมต้องเวียนว่ายในวัฏสงสารอีกกี่พันกี่หมื่นครั้งผมก็ไม่สนใจ หากการบรรลุถึงนิพพานยอดแห่งบรมสุขไม่สามารถตอบโจทย์แห่งชีวิตของผมได้ผมก็ไม่คิดจะบรรลุมัน  สิ่งที่ผมสนใจและคิดว่ามันมีคุณค่าและความหมายที่สุด คือ การอธิบายและค้นหาว่าธรรมชาติมาจากไหน เหตุใดจึงเกิดธรรมชาติ ผมไม่สนว่ามันจะทำให้ผมลำบากยากจนหรือร่ำรวยมหาศาล ผมไม่แคร์ตัวเงินอันเป็นค่าตอบแทน สิ่งที่ผมสนใจ คือ ผมสามารถรับรู้ เข้าใจ อธิบายธรรมชาติและที่มาของธรรมชาติได้ นั่นคือทำตอบของผมคำตอบที่ว่าที่เราทำมาสุดท้ายมันเพื่ออะไร    ผมเข้าใจว่าสุดท้ายคนเราก็ต้องตาย ไม่ว่าใครก็หนีความตายไม่พ้นทั้งนั้น แต่ถ้าถามว่าผมกลัวตายมั้ย ผมกลัวนะแต่ก็หนีมันไม่ได้ เมื่อตายทุกๆสิ่งที่เราทำมาจะสูญหายไป สูญสลายตามเราไปด้วย คงเป็นที่มาของคำถามที่ว่าทั้งหมดที่ทำไป มันเพื่ออะไรสินะ ในเมื่อจะไม่มีสิ่งใดตามเราไป  แต่ผมคิดว่าผมมีคำตอบ เพื่อทิ้งสิ่งที่เรียกว่าความรู้ไว้ให้คนรุ่งหลังต่อไป ถึงผมตายแต่องค์ความรู้ไม่ตายแม้ว่าสักวันสิ่งที่ผมทุ่มเทชีวิต จิตวิญญาณมันอาจจะสูญหายไปจากการจดจำ จากการศึกษา แต่มันจะยังคงอยู่เพราะมันคือองค์ความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติ นั่นคือคำตอบของผม สิ่งที่ผมทำเพื่อเป็นรากฐาน เป็นบันไดแห่งปัญญาให้คนรุ่นหลังที่มีเจตนารมณ์เหมือนผมได้ก้าวตามไป และก้าวสูงขึ้นไปยิ่งกว่าที่ผมเคยไปถึงในชีวิตนี้ นี่แหละคือคำตอบ

ชีวิตคืออะไรกันแน่ สำหรับผมชีวิตคือสิ่งที่เราเป็นอยู่ในขณะนี้ ไม่มีคำจำกัดความ ไม่มีนิยามใดๆ แต่คือสิ่งที่เราเป็นอยู่ในขณะนี้  ชีวิตที่มุ่งสู่จุดจบไม่ใช่เรื่องน่ากลัว แต่ชีวิตที่ไม่ทิ้งสิ่งที่เป็นประโยชน์ไว้เลยก่อนถึงจุดจบนั่นถึงจะน่ากลัว ชีวิตสำหรับผมคือสิ่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบันไม่ว่าจะดีจะเลว นั่นก็คือชีวิตและชีวิตมันไม่มีคำจำกัดความที่ถูกต้องหรอกครับ


ปล ขอโทษด้วยอาจจะยาวไปนิดนึงแต่ก็อยากให้อ่านให้จบ ถ้ามีความคิดเห็นอะไรและตอบกลับมาให้ผมอ่านเป็นวิทยาทานก็จะขอขอบคุณเป็นอย่างสูง


0
นิลมังกร 10 ก.ย. 57 เวลา 12:35 น. 4

ขอบคุณในความคิดเห็นค่ะน่าสนใจมากๆค่ะ
ถ้าอย่างนั้นเราก็จะขอร่วมแสดงความคิดเห็นด้วยอีกคนนึงนะคะ



เราทุกคนล้วนมีเหตุผลให้กับตัวเราเอง ว่าเรามีชีวิตอยู่ไปทำไม เพื่ออะไร
เราแต่ละคนก็ย่อมให้ความหมายตามแบบฉบับของตัวเองแตกต่างกันไป
ตามแต่จุดมุ่งหมายและเจตจำนงของแต่ละคน



ในมนุษย์ปุถุชนทั่วไปแล้ว การตั้งเป้าตั้งความหวังอะไรบางอย่างไว้นั้น
เป็นสิ่งสำคัญในการขับเคลื่อนดำเนินไปของชีวิต
เรียกว่าเป็นพลังของการมีชีวิตเลยทีเดียว


การที่ได้รู้สึกว่าเราเป็นคนสำคัญ
เรามีความสำคัญ เราทำสิ่งสำคัญ เรามีคุณค่า
มันทำให้รู้สึกดี รู้สึกว่าเราสำคัญ เป็นคุณค่าของการมีชีวิตอยู่


ซึ่งมันก็เป็นสิ่งที่ดีจริงๆ ไม่อาจปฏิเสธ เป็นสิ่งที่น่ายกย่องมากๆ
การที่ใครคนนึงตั้งความหวังตั้งปณิธานไว้ยังสิ่งที่ดีงามงดงาม เป็นสิ่งที่น่าชื่นชมมากๆ


การทำความดีอาจจะไม่น่ากลัว
แต่การยึดมั่นถือมั่นอย่างเหนียวแน่นในความดีต่างหาก เป็นสิ่งที่น่ากลัว
เช่น ฉันเป็นคนดีนะ ฉันสำคัญนะ ฉันนะดีกว่าคนอื่น
ต้องฉันถึงจะถูก ....เพราะฉันสำคัญ....
นี้ต่างหากที่น่ากลัว และมันนำมาซึ่งสิ่งต่างๆ มากมายที่พบเห็นได้ในโลกปัจจุบัน
ทั้งการเบียดเบียนกันตั้งแต่ขนาดเล็กไปจนถึงขนาดใหญ่


เราต่างเชื่อว่าเราทำให้สิ่งที่ถูก
เพราะถ้าตอนนั้นสิ่งนั้นถ้าเราคิดว่ามันไม่ถูก เราก็คงจะไม่ทำมันลงไป



ในเส้นทางเดินของศาสนาพุทธจึงเริ่มต้นด้วย "สัมมาทิฏฐิ"
คือเริ่มต้นที่ความเห็นที่ถูกตรงก่อน


ถูกตรงอะไร?


ถูกตรงตามความเป็นจริง เห็นให้ตรงตามความเป็นจริง
มิใช่การเห็นไปตามทิฏฐิของตน มิใช่การเห็นไปตามที่เราอยากเชื่อ
หากเราเห็นผิด มีมุมมองต่อสรรพสิ่งสรรพชีวิตผิด
การคิดการพูดการปฏิบัติต่อสิ่งต่างๆ ก็ผิดพลาดตามไปด้วย

แต่เมื่อเราตั้งตั้นถูก เห็นถูก เห็นสิ่งต่างๆ ถูก และตรงตามความเป็นจริง
การคิด การพูด การกระทำ และสิ่งต่างๆที่ตามมาหลังจากนั้น จึงจะถูก


และนำมาซึ่งหนทางที่ถูกจริงๆ
คำว่า "อริยมรรค" ในทางพระพุทธศาสนา ก็คือ "หนทางอันประเสริฐ" นั่นเอง


กล่าวภาษาโลกก็คือ ได้รับรู้ข้อมูลที่ถูกต้องจริงๆ
ไม่เอนเอียงไปเข้าข้างใดข้างหนึ่งและไม่เอนเอียงเข้าข้างแม้แต่ทิฏฐิของตัวเราเอง


ดังนั้นแล้ว เราทุกคนเรียกว่าเกิดมาก็มีคำถามนี้ติดตัวมาเลยว่าเราเกิดมาทำไม
พอโตมาหน่อยเริ่มรู้ความก็จะเกิดคำถามว่า เรามีชีวิตอยู่ไปเพื่ออะไร


เราต่างรู้สิ่งต่างๆ มากมาย รู้ว่าใต้ดินมีอะไร รู้ว่านอกโลกมีอะไร รู้ออกไปถึงนอกจักรวาล
แต่เรื่องที่เราแทบไม่รู้เลยก็คือตัวเราเอง ชีวิต จิตใจเราเอง
ตัวเราเป็นใคร คืออะไรยังไม่รู้ แต่รู้สิ่งอื่นหมด แล้วจะแก้ปัญหาให้กับชีวิตได้อย่างไร
การรู้เกี่ยวกับตัวเองไม่ใช่การรู้ว่าร่างกายนี้คืออะไรยังไงนะคะ
เพราะร่างกายมันเป็นเพียงก้อนดินน้ำลมไฟที่มาประชุมรวมกันชั่วคราวเท่านั้นเอง
เดี๋ยวพอเราตายร่างกายนี้ก็แตกสลาย เป็นก้อนดินเหมือนเดิมแล้ว


ชีวิตคนเราน่ะ ไม่แน่นอน แถมสั้นนัก
เราต่างไม่รู้ว่าเราจะตายกันเมื่อไหร่ บางทีอาจจะเป็นวันนี้หรือพรุ่งนี้ อาจจะปีหน้า ใครจะรู้ ?
หากรู้สิ่งอื่นนอกโลกนอกจักรวาลหมด แต่กลับกลายเป็นว่าเราไม่เคยรู้อะไรเลยเกี่ยวกับตัวเอง
ไม่รู้ว่าจริงๆ แล้วเราคืออะไร ไม่รู้ว่าแล้วเราจะเป็นยังไงต่อ
ทั้งชีวิตดิ้นรนหาความสุขหนีความทุกข์ไปจนตาย เพราะอะไร
ทำไมทั้งชีวิตทำได้อยู่แค่นี้




ใบไม้ในกำมือที่พระพุทธเจ้าทรงนำมาสอนนั้น
ก็คือความรู้ที่ท่านชี้เฉพาะลงจุดไว้ให้
ว่านี่คือสรรพความรู้ที่เพียงพอสำหรับคนๆหนึ่ง
เพื่อการเรียนรู้เพื่อความพ้นทุกข์ในชาตินี้

นี้คือ "ใบไม้กำมือเดียว"




ดังนั้นแล้ว


ไม่พึงตัดสินสิ่งใดเร็วเกินไป หากเรายังไม่มีโอกาสศึกษาสิ่งนั้นอย่างแท้จริง
เพราะเราอาจเผลอโยนขุมทรัพย์ที่ล้ำค่าทิ้ง เพียงเพราะยังไม่ได้เปิดกล่องดู




ลองดูนะคะ




หากมีสิ่งใดประมาทพลาดพลั้งล่วงเกินไปต้องขออภัยด้วยนะคะ




(-/\-)









.

0

ความคิดเห็นนี้ถูกลบ

ถูกลบโดยเจ้าของความเห็น

ความคิดเห็นนี้ถูกลบ

ถูกลบโดยเจ้าของความเห็น

นิลมังกร 10 ก.ย. 57 เวลา 12:41 น. 7
หมายเหตุ

ความคิดเห็นที่ 2-2 กับ 2-3 เราเป็นคนโพสแล้วลบเอง
ต้องขออภัยด้วยค่ะ พอดีงงกับระบบโพสนิดหน่อย ^ ^!
เราตอบไว้ที่ 2-1 ด้านบนนะคะ 

0

ความคิดเห็นนี้ถูกลบ

ถูกลบโดยเจ้าของความเห็น

soul silver 10 ก.ย. 57 เวลา 23:49 น. 9

จากที่คุณบอกว่าการทำความดีไม่ใช่สิ่งน่ากลัวแต่การยึดมั่นในความดีต่างหากจึงน่ากลัว พอมาคิดๆดูแล้ว เหมือนผมโดนคุณตำหนิยังไงไม่รู้แฮะ เพราะ ถ้าลองคิดๆดูผมก็เป็นคนที่ยึดมั่นในความคิดตัวเองสูงมากจริงๆ ผมคิดว่าสิ่งที่ผมทำถูกที่สุด ดีที่สุด แต่ก็อย่างที่คุณบอกนะ บางอย่างที่ผมคิดว่าถูกมันอาจจะไม่ถูกอย่างที่คิดก็ได้ จนเกิดเป็นปัญหาตามมาหลายๆอย่าง เช่น พวกมนุษย์ป้า ^^


เรื่องชีวิต เรื่องจิตใจ เรื่องตัวเราเองผมไม่ขอออกความเห็นอะไรอีกแล้วดีกว่า (รอคุณบอกไง ^_^) มันเป็นเรื่องใกล้ตัวแต่ผมไม่มีความรู้เชิงพุทธศาสนามากพอจะมาวิจารณ์เรื่องนี้ ผมอ่านหนังสือเกี่ยวกับศาสนามาหลายเล่มแต่ไม่ได้สนใจและค้นคว้าอย่างจริงจังมากนักทำให้บางเรื่องก็ลืมๆไปแล้ว บางเรื่องเข้าใจแต่ไม่ถ่องแท้ และที่สำคัญผมรู้เพียงติ่งเดียวของเรื่องพุทธศาสนา สิ่งที่ผมมีคือความรู้เชิงวิทยาศาสตร์.......แต่ก็อย่างที่คุณว่านะรู้นู่นรู้นี่เยอะแยะมากมายแต่ไม่รู้เรื่องของตนเอง

ผมอาจมีความเห็นแย้งอย่างหนึ่งว่า ในเมื่อรู้ว่าตนเองชอบอะไร เกลียดอะไร รักใครไม่รักใคร จะไม่รู้จักตัวเองได้ยังไง แต่พอคิดๆดูนี่เป็นเรื่องผิวเผินมากๆ เราเป็นใคร? จริงๆผมคิดคำถามที่ไม่มีคำตอบข้อนี้ได้นานแล้วเพียงแต่ตอนที่คิดได้ผมไม่ใส่ใจจนเมื่อกี้ได้อ่านว่า เราเป็นใครแล้วเราจะเป็นยังไงต่อ ทำให้ผมคิดถึงตอนที่ผมอ่านนิยายเรื่องหนึ่งได้ มีประโยคหนึ่งที่ผมยังจำได้จนทุกวันนี้ "ชื่อเป็นเพียงสิ่งสมมติที่ระบบสังคมเมืองคิดตั้งขึ้น คำๆเดียวนั่นมิใช่ตัวตนของเจ้า ฉะนั้นเจ้าคือใคร" เราเป็นใคร? คงเป็นคำถามเชิงปรัชญาศาสนา คำตอบอาจไม่มีอยู่เลย อาจมีเพียงหนึ่ง หรืออาจมีมากมายจนไม่อาจนิยามได้ ผมไม่ทราบ เพราะ ผมเองก็ตอบคำถามข้อนี้ไม่ได้เหมือนกัน และที่สำคัญมากกว่านั้น ผม.....ไม่ทราบวิธีที่จะหาคำตอบ หดหู่พิกลๆเหมือนกัน ทั้งที่จุดหมายสูงสุด คือ หาคำอธิบายเกี่ยวกับธรรมชาติ แต่กลับตอบคำถามแค่นี้ไม่ได้ ผมไม่ทราบแล้วว่าผมจะหาคำอธิบายเกี่ยวกับธรรมชาติได้ถูกต้องจริงๆหรือเปล่า กระทั่งเรื่องของตนเองยังไม่รู้ คงยากที่จะรู้และเข้าใจอย่างถ่องแท้เกี่ยวกับธรรมชาติ หรือว่าจริงๆแล้วความคิดและปณิธานของผมมันผิดตั้งแต่แรก

แล้วเราจะเป็นยังไงต่อไป คำถามที่ต่อเนื่องมาจากเราเป็นใคร ผมคงค้นหาคำตอบไม่ได้ ตราบใดที่ยังตอบคำถามข้อแรกไม่ได้


....แต่ว่า.....เรื่องที่ยังหาคำตอบไม่ได้ ก็ปล่อยให้หาคำตอบไม่ได้ไปก่อน สักวันหนึ่งผมต้องค้นหาและตอบตัวเองได้แน่ๆว่าจริงๆแล้ว ผมเป็นใคร

เราคืออะไร ไม่รู้ว่าแล้วเราจะเป็นยังไงต่อ ทั้งชีวิตดิ้นรนหาความสุขหนีความทุกข์ไปจนตาย เพราะอะไร ทำไมทั้งชีวิตทำได้อยู่แค่นี้
สำหรับคนอื่นจะยังไงผมไม่รู้ อาจจะอ่านแล้วปล่อยผ่านไป แต่สำหรับผมนี่เป็นคำถามที่ผมตอบตัวเองไม่ได้สักข้อ ผมไม่รู้แม้กระทั่งวิธีการหาคำตอบ ผมอาจตอบได้ว่าผมอยู่ไปเพื่ออะไร อยู่ไปทำไม แต่คำถามข้างบนผมตอบไม่ได้


ใบไม้กำมือเดียว ผมไม่แน่ใจว่าชีวิตนี้ผมจะหาเจอหรือเปล่า ใบไม้ที่เป็นความรู้ที่ทำให้พ้นจากทุกข์ในชาตินี้ ใบไม้กำมือเดียวผมตีความตรงๆเลยว่า คนเราไม่มีทางรู้ทุกเรื่องบนโลก รู้เพียงสิ่งที่เราศึกษาซึ่งเป็นเสี้ยวเดียวของความรู้ทั้งหมด......แต่คุณตีความได้ลึกซึ้งกว่าผมมากๆ ซึ่งผมเองก็ด่วนตัดสินและตีความเร็วเกินไป ทั้งๆที่ยังไม่ได้ลองทุ่มเทค้นคว้ามันอย่างจริงจัง



ขอถามอย่างหนึ่งนะ คุณตอบคำถามพวกนั้นได้หรือเปล่า ถ้าได้ช่วยบอกทีว่าคำตอบของคุณคืออะไร แล้วคุณหาคำตอบยังไง

0
นิลมังกร 12 ก.ย. 57 เวลา 17:09 น. 11
(-/\-)  เคยฟังเรื่องธิดาช่างหูกไหมคะ

เราขออนุญาตนำมาเล่าและขยายความเป็นภาษาของเรา
เพื่อให้ผู้ที่ผ่านมาสามารถอ่านเข้าใจได้ง่ายขึ้น 
ทั้งนี้เราได้ตัดทอนละรายละเอียดปลีกย่อยบางส่วนไว้ เพื่อให้เนื้อหากระชับ 
เพื่อให้เหมาะสมการสนทนาธรรมในกะทู้นี้นะคะ




ครั้งนั้นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ท่านได้ประทานเทศนาเรื่องมรณสตินี้ไว้ ที่เมืองอาฬวี 
โดยมีใจความว่า




(ด้านล่างต่อไปนี้เป็นภาษาในพระไตรปิฏกอรรถกถา
สำนวนอาจเป็นภาษาโบราญบ้าง แต่นัยยะดีมาก)

-----------------------------


"ท่านทั้งหลายจงเจริญมรณสติอย่างนี้ว่า 
'ชีวิตของเราไม่ยั่งยืน ความตายของเราแน่นอน เราพึงตายแน่แท้, 
ชีวิตของเรามีความตายเป็นที่สุด 
ชีวิตของเราไม่เที่ยง, 
ความตายเที่ยง’

ก็มรณะอันชนทั้งหลายใดไม่เจริญแล้ว, 
ในกาลที่สุด ชนทั้งหลายนั้นย่อมถึงความสะดุ้ง 
ร้องอย่างขลาดกลัวอยู่ทำกาละ(เมื่อถึงคราวตาย)
เหมือนบุรุษเห็นอสรพิษแล้วกลัว ฉะนั้น.

ส่วนมรณะอันชนทั้งหลายใดเจริญแล้ว 
ชนทั้งหลายนั้นย่อมไม่สะดุ้งในกาลที่สุด 
ดุจบุรุษเห็นอสรพิษแต่ไกลเทียว 
แล้วก็เอาท่อนไม้เขี่ยทิ้งไปยืนอยู่ฉะนั้น

เพราะฉะนั้น มรณสติอันท่านทั้งหลายพึงเจริญ."



http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=25&i=23&p=7
-----------------------------





ในความเป็นจริงก็คือ เราต่างก็รู้อยู่แล้วว่าเราทุกคนต้องตาย
แต่การใช้ชีวิตของเรากลับทำในสิ่งที่ตรงกันข้ามกับสิ่งที่เราบอกว่าเรารู้
เราดิ้นรนไขว่คว้าทุกอย่าง เราหวงแหนข้าวของสิ่งต่างๆ มากมายที่เราได้มา
ใครมาหยิบมาคว้าไปไม่ได้ ฉันไม่ยอม อะไรแตกสลายไป ฉันเจ็บปวด
หรือใครมาด่ามาว่ากระทบกระแทกใส่ชื่อเรากลับสะเทือนเจ็บแค้น



บางครั้งการที่ใครต่อใครพูดกันว่า ฉันไม่กลัวตาย ฉันไม่กลัวตาย 
หรืออาจบอกว่าฉันพร้อมจะตายทุกเมื่อ
กับเมื่อถึงคราวจะตายจริงๆ นั้น อีกเรื่องหนึ่งเลย
ตรงนี้หากท่านใดเคยประสบพบพานกับช่วงเวลา
ที่เฉียดใกล้ความตายมากๆ มาก่อน จะเข้าใจว่าน่ากลัวแค่ไหน
ทุกสิ่งทุกอย่าง กำลังจะหมดลงจบลงที่ตรงนั้นแล้ว เป็นสภาวะที่น่ากลัวมากๆ

ถ้าไม่เคยศึกษาธรรมะไม่เคยปฏิบัติธรรม 
ไม่เคยฝึกปล่อยวางสิ่งใดมาก่อน เมื่อถึงช่วงเวลานั้นจะน่ากลัวมากๆ
ดั่งที่พระผู้มีพระภาคเจ้าท่านบอกจริงๆ




'... ก็มรณะอันชนทั้งหลายใดไม่เจริญแล้ว, 
ในกาลที่สุด ชนทั้งหลายนั้นย่อมถึงความสะดุ้ง 
ร้องอย่างขลาดกลัวอยู่ทำกาละ(เมื่อถึงคราวตาย)
เหมือนบุรุษเห็นอสรพิษแล้วกลัว ฉะนั้น. ...'




ความตายน่ากลัวก็อย่างหนึ่ง 
ความเจ็บปวดทุกข์ทรมานกว่าจะตายได้ ก็เป็นความน่ากลัวอีกอย่างหนึ่ง

แล้วไม่มีใครบอกได้ว่าหลังจากตายไปแล้ว 
ความทุกข์ทรมานจะหายไป หรือกลับมากขึ้นกว่าเดิม
(นี่เป็นสิ่งที่เตือนใจว่าคนที่คิดจะฆ่าตัวตายเพื่อหนีปัญหานั้น
เป็นความคิดที่ผิดพลาดและน่าเสียดายเพียงใด)


ในตอนที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านแสดงธรรมเทศนาเรื่องมรณสตินี้
มีสตรีนางหนึ่งได้มีโอกาสเข้าฟังธรรมเทศนานี้ด้วย
เธอเป็นธิดาของนายช่างหูก


ในขณะที่ชาวเมืองอาฬวี ส่วนใหญ่นั้นฟังธรรมนี้แล้วก็ปล่อยผ่านเลยไป 
ต่างคนต่างไปทำกิจธุระของตนต่อ
ไม่ได้เข้าใจในธรรมเทศนาข้อนี้อย่างลึกซึ้งและไม่ได้น้อมนำไปปฏิบัติ
แต่มีธิดาของช่างหูกผู้นี้ เธอเป็นผู้มีสติปัญญาเฉียบไว
เธอได้ฟังธรรมก็น้อมนำธรรมข้อนี้ไปพิจารณา
และหมั่นเจริญสติอยู่เป็นเนืองนิจ

เวลาผ่านไป 3 ปี

สมเด็จพระพุทธเจ้าท่านทรงทราบได้ว่า
ลูกสาวนายช่างหูกผู้นี้กำลังจะถึงคราวเสียชีวิต
จึงเสด็จไปยังเมืองอาฬวีอีกครั้งเพื่อแสดงธรรม
และท่านได้สนทนาตรัสถามคำถามต่อไปนี้กับธิดาช่างหูก
(เป็นบทสนทนาที่โด่งดังมากทีเดียว)



----------------------------------



พระผู้มีพระภาคตรัสถามนางว่า "กุมาริกา เธอมาจากไหน?" 
กุมาริกา. ไม่ทราบ พระเจ้าข้า.

พระศาสดา. เธอจักไป ณ ที่ไหน? 
กุมาริกา. ไม่ทราบ พระเจ้าข้า.

พระศาสดา. เธอไม่ทราบหรือ? 
กุมาริกา. ทราบ พระเจ้าข้า.

พระศาสดา. เธอทราบหรือ? 
กุมาริกา. ไม่ทราบ พระเจ้าข้า.


----------------------------------


พระผู้มีพระภาคจึงตรัสถามว่า 
"กุมาริกา เธอ เมื่อเรากล่าวว่า ‘มาจากไหน?’
เพราะเหตุไร เธอจึงตอบว่า ‘ไม่ทราบ’".

กุมาริกา. "พระเจ้าข้า พระองค์ย่อมทรงทราบความ 
ที่หม่อมฉันมาจากเรือนช่างหูก
แต่พระองค์ เมื่อตรัสถามว่า ‘เธอมาจากไหน?’ 
ย่อมตรัสถามว่า ‘เธอมาจากที่ไหน จึงเกิดแล้วในที่นี้?’ 
แต่หม่อมฉันย่อมไม่ทราบว่า ‘ก็เรามาแล้วจากไหน จึงเกิดในที่นี้?"

ลำดับนั้น พระศาสดาประทานสาธุการเป็นครั้งแรกแก่นางกุมาริกานั้นว่า 
"ดีละ ดีละ กุมาริกา ปัญหาอันเราถามแล้วนั่นแล อันเธอแก้ได้แล้ว"

แล้วตรัสถามแม้ข้อต่อไปว่า "เธอ อันเราถามแล้วว่า ‘เธอจะไป ณ ที่ไหน?’ 
เพราะเหตุไร จึงกล่าวว่า ‘ไม่ทราบ?’"

กุมาริกา. "พระเจ้าข้า พระองค์ทรงทราบ
หม่อมฉันผู้ถือกระเช้าด้ายหลอดเดินไปยังโรงของช่างหูก, 
พระองค์ย่อมตรัสถามว่า ‘ก็เธอไปจากโลกนี้แล้ว จักเกิดในที่ไหน?’ 
ก็หม่อมฉันจุติจากโลกนี้แล้วย่อมไม่ทราบว่า ‘จักไปเกิดในที่ไหน?’"

ลำดับนั้น พระศาสดาประทานสาธุการแก่นางเป็นครั้งที่ ๒ ว่า 
"ปัญหาอันเราถามแล้วนั่นแล เธอแก้ได้แล้ว"

แล้วตรัสถามแม้ข้อต่อไปว่า "เมื่อเช่นนั้น เธอ อันเราถามว่า ‘ไม่ทราบหรือ?’ 
เพราะเหตุไร จึงกล่าวว่า ‘ทราบ?’"

กุมาริกา. พระเจ้าข้า หม่อมฉันย่อมทราบภาวะคือความตายของหม่อมฉันเท่านั้น 
เหตุนั้น จึงกราบทูลอย่างนั้น.

ลำดับนั้น พระศาสดาประทานสาธุการแก่นางเป็นครั้งที่ ๓ ว่า 
"ปัญหาอันเราถามแล้วนั่นแล เธอแก้ได้แล้ว"

แล้วตรัสถามแม้ข้อต่อไปว่า
"เมื่อเป็นเช่นนั้น เธอ อันเราถามว่า ‘เธอย่อมทราบหรือ?’ 
เพราะเหตุไร จึงพูดว่า ‘ไม่ทราบ?’"

กุมาริกา. หม่อมฉันย่อมทราบแต่ภาวะ
คือความตายของหม่อมฉันเท่านั้น พระเจ้าข้า 
แต่ย่อมไม่ทราบว่า "จักตายในเวลากลางคืน กลางวันหรือเวลาเช้าเป็นต้น
ในกาลชื่อโน้นเพราะเหตุนั้น จึงพูดอย่างนั้น."

ลำดับนั้น พระศาสดาประทานสาธุการครั้งที่ ๔ แก่นางว่า 
"ปัญหาอันเราถามแล้วนั่นแล เธอแก้ได้แล้ว" 



แล้วตรัสเตือนบริษัทว่า 
"พวกท่านย่อมไม่ทราบถ้อยคำชื่อมีประมาณเท่านี้ ที่นางกุมาริกานี้กล่าวแล้ว 
ย่อมโพนทะนาอย่างเดียวเท่านั้น เพราะจักษุ คือปัญญาของชนเหล่าใดไม่มี 
ชนเหล่านั้นเป็น (ดุจ) คนบอดทีเดียว 
จักษุ คือปัญญาของชนเหล่าใดมีอยู่ ชนเหล่านั้นนั่นแล เป็นผู้มีจักษุ" 

----------------------------------



ธรรมชาติทั้งหลาย สรรพสิ่งรอบตัวเรา
รวมทั้งตัวเราเองล้วนเกิดจากเหตุและปัจจัย
เพราะเราเองก็เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ

ผลหนึ่งผลย่อมเกิดจากเหตุอันหลากหลาย
ถ้าถามว่าอะไรนำให้เราเกิดขึ้นมา คำตอบคือเหตุปัจจัยนำให้มีการเกิด
แล้วหลังจากนี้อะไรนำให้เราไปเกิดและเกิดที่ไหนอย่างไร 
คำตอบคือเหตุปัจจัยอย่างไร ก็นำไปอย่างนั้น
เช่นถามว่าทำไมฝนถึงตก ตกมาทำไม 
ก็เมื่อเหตุปัจจัยถึงพร้อม อากาศพร้อม ความชื้นพร้อม 
สิ่งต่างๆ พร้อม ฝนก็ตก ไม่ได้ตกเพราะใครสั่ง

แม้แต่การใช้เทคโนโลยีในการทำให้ฝนตก 
ก็ทำได้เพียงสร้างเหตุปัจจัยให้พร้อม 
เมื่อเหตุปัจจัยพร้อมฝนก็จะตกลงมาเอง 

หลังจากฝนตกแล้วไปไหนต่อ มีเหตุปัจจัยอย่างไร ฝนก็ไปอย่างนั้น
อาจซึมลงดิน อาจลงทะเลมหาสมุทร 
ผลหนึ่งผล เกิดจากเหตุอันมากมายหลากหลาย



ทำเหตุดีให้ผลดี ใช่ 
แต่เหตุอย่างอื่นที่เคยทำไว้ก่อนหน้านั้นก็ให้ผลด้วย
ดังนั้นแล้วคำถามที่มักถามกันว่า
ทำไมฉันทำดีแล้วไม่ได้ดีเลย ต่างๆ ที่ชอบถามกัน
ถ้ามองจริงๆ แล้วเป็นการมองที่แคบมาก มองเพียงเหตุเดียวผลเดียว
แต่กลับไม่ได้คำนึงถึงอย่างอื่นเลย เหตุปัจจัยอื่นมีมากมาย 
ในสังสาระที่ยาวนานใช่ว่าเราทั้งหลายเคยทำแต่เหตุดีเสียเมื่อไหร่


เอาแค่ชาตินี้ชาติดียว ตั้งแต่เล็กจนโตมานี้ ก่อกรรมไปมากเพียงไรแล้ว
ไม่ใช่ทุกคนจะมีโอกาสได้รับการอบรมสั่งสอนเรื่องคุณธรรมศีลธรรม
กว่าที่คนๆ หนึ่งจะก้าวผ่าน มาถึงขั้นได้รู้ว่าอะไรควรไม่ควรนี่ก็ยากแล้ว


แล้วกว่าจะได้มาเรียนรู้ว่าชีวิตคืออะไร 
สังสาระคืออะไร หนทางออกจากสังสาระคืออะไร 
กว่าจะมาถึงตรงนี้ได้ยิ่งยากเข้าไปใหญ่
ต้องทำเหตุปัจจัยมาเยอะมาก จึงจะเกิดผลเช่นนี้ได้


ดั่งที่พระผู้มีพระภาคเจ้าเคยตรัสไว้ 
โอกาสเกิดเป็นมนุษย์นั้นยากแสนยาก 
ดั่งเต่าตาบอดร้อยปี จึงจะโผล่พ้นผิวน้ำขึ้นมาสักครั้ง
แล้วเมื่อโผล่ขึ้นมาแล้วโอกาสที่จะโพล่ขึ้นมาแล้วหัวมุดอยู่ในกระบอกไม้ไผ่
ที่ลอยเคว้งอยู่กลางมหาสมุทร ยากเพียงไร


พวกเราต่างโชคดีได้มีโอกาสมาสนทนาธรรมกันเรื่องนี้ที่นี่
ในขณะที่คนอีกจำนวนมาก ไม่มีโอกาสนี้เลยด้วยซ้ำ
นี่เป็นโอกาสที่หากได้ยากยิ่งในสังสารวัฏ อย่าปล่อยผ่านไปง่ายๆ



สุดท้ายนี้
การทำสิ่งที่ดี ตั้งใจทำเพื่อทำให้สิ่งต่างๆ ดีขึ้น
เป็นสิ่งที่ดีงามและงดงามมากๆ  ไม่ใช่ทุกคนที่จะทำสิ่งนี้ได้
ต้องเป็นผู้ที่มีความรู้และมีความสามารถมากๆ จึงจะทำได้
ขอบคุณมากนะคะ (-/\-)

ทั้งนี้การปล่อยวางกับการปล่อยปละละเลยเป็นคนละเรื่องกัน
เราทำสิ่งต่างๆได้มากมาย ทำสิ่งดีงามได้มากมาย 
เพียงแต่ไม่ต้องไปเอามาแบกไว้บนบ่าเหมือนคนแบกโลก

โลกเขาเป็นของเขาอยู่อย่างนั้น
มันเกิดมีน้ำหนักขึ้นมาก็เพราะเราไปแบกมันเอาไว้
เมื่อกำมือคว้าไว้ได้ เราก็แบมือได้เหมือนกัน
ไม่ใช่การแบเพียงเพื่อจะปล่อยปละละเลย
แล้วก็ไม่ใช่กำเพื่อให้มันเป็นสิ่งยึดเกาะที่แบกเอาไว้ตลอดปล่อยไม่ได้
ไม่ใช่แบบนั้น




แค่ทำให้เต็มที่ ทำให้ดีที่สุด
แล้วเราก็เป็นอิสระจากสิ่งนั้นด้วย นั่นคือสิ่งที่ดีที่สุดแล้ว




(5 นาที) เพราะนี่อาจเป็นชาติที่ดีที่สุดของเรา 


.
0
soul silver 14 ก.ย. 57 เวลา 02:53 น. 12

ผมฟังคลิปแล้วนะ เนื้อหาดี เปรียบเทียบเห็นภาพชัดเจน ทำให้คิดอะไรได้หลายอย่างเหมือนกัน ส่วนเนื้อหาที่คุณโพสต์ผมอ่านซ้ำไปซ้ำมาอยู่หลายรอบเหมือนกัน ขอบคุณจริงๆที่อุตส่าห์เสียสละเวลามาตอบคำถามไร้สาระของผม ขอบคุณเนื้อหาข้อความและข้อคิดต่างๆที่คุณโพสต์มาทำให้ผมคิดอะไรได้หลายอย่างทีเดียว

แต่ว่า......เชื่อไหมว่าผมไม่เคยเชื่อเรื่องทำนองนี้เลย เพราะ จริงๆแล้วมันมีสาเหตุอยู่อย่างนึง ผมไม่รู้ว่าคุณหรือคนอื่นจะคิดยังไงนะ แต่ผมคิดของผมแบบนี้

ศาสนาพุทธ มาจากคำว่า พุทธะ ที่แปลว่ารู้แจ้ง โดยหลักศาสนาแล้วไม่เคยสอนให้เชื่อ แต่สอนให้ศึกษา ค้นคว้า ทดลองเห็นได้ชัดเจนมากจากหลัก กาลามสูตร และที่สำคัญศาสนาของเราเป็นศาสนาประเภท อเทวนิยม ไม่เชื่อพระเจ้า ผีสางนางไม้ต่างๆนานา

แต่สิ่งที่ผมเห็นในปัจจุบันมันผิดเพี้ยนไปมาก เชื่อไหมในความคิดเห็นส่วนตัวของผมศาสนาเราไม่ควรมีคำๆนี้นะ "ไม่เชื่ออย่าลบหลู่" ไม่ควรมีจริงๆ ถ้าไม่เชื่อ ถ้าสงสัย ควรหาคำตอบสิ (เครดิต ว.วชิรเมธี เคยเปิดอ่านผ่านๆ แต่จำได้ไม่เคยลืมเลย) ศาสนาที่มีคำแปลว่ารู้แจ้ง ศาสนาแห่งการใช้ปัญญากลับถูกคำๆนี้ปิดกั้นหนทางแห่งปัญญา หนทางมุ่งสู่นิพพาน คือ ต้องน้อมจิตเจริญปัญญาก่อนมิใช่หรือ จึงจะสามาถบรรลุธรรม รู้แจ้งถึงสรรพสิ่ง พระพุทธเจ้าก่อนบรรลุอรหันต์ก็ศึกษาเล่าเรียนมามิใช่น้อย สุดท้ายก็คิด พิจารณาจนบรรลุอริยสัจ สำเร็จมรรคผลบรรลุอรหันต์ นั่นคือการใช้ปัญญา แต่สิ่งที่เห็นในปัจจุบัน ทั้งๆที่ปากบอกว่านับถือพุทธแต่เชื่อกันงมงายไปทั้งบ้านทั้งเมือง ตัวอย่างชัดๆก็ เช่น การบนบานศาลกล่าว การขอหวย การนับถืองูเหลือมโตเต็มวัยว่าเป็นงูเจ้าที่ การดูดวง การแก้กรรม ฯลฯ

แต่ว่า ถ้าทำแล้วสบายใจไม่ก่อความเดือดร้อนให้ใครก็ทำไปไม่มีใครห้าม และผมก็แค่แสดงความคิดเห็นเท่านั้นถ้าอ่านแล้วไม่ชอบใจก็ขออภัย

ส่วนผมๆขอไม่เชื่อไม่ศรัทธาด้วยประการทั้งปวง เรื่องวัฏสงสาร เรื่องชาติภพ เรื่องนรกสวรรค์ เอาเป็นว่าผมไม่เชื่อสักอย่างเดียว สำหรับผมนั่นคือกุศโลบายที่แต่งขึ้นเพื่อให้คนทำความดีละเว้นความชั่วเท่านั้นเอง ขอยกตัวอย่างสักข้อนึงไม่ว่ากันนะ ^^

เรื่องยุคพระศรีอาริยเมตไตรย ทั้งที่บอกว่าอนาคตคือสิ่งไม่แน่นอน แต่กลับบอกว่าจะมียุคนี้แน่ๆ แถมยังเล่าได้เป็นฉากๆด้วยว่ายุคนั้นจะมีอะไรบ้าง คนจะเป็นยังไง สังคมจะเป็นแบบไหน มีวิธีการไปถึงแบบไหน นี่แหละที่สำคัญสำหรับผมเรื่องอื่นน่ะไร้สาระเอามากๆ ยกเว้นวิธีไปให้ถึงนี่แหละ สวดมนต์ ไหว้พระ ปฏิบัติธรรม เจริญจิตภาวนา ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ ทุกๆอย่างที่เป็นการทำความดี การเป็นผู้ให้มากกว่าผู้รับ การพัฒนาตนเอง นี่แหละคือสิ่งสำคัญที่สุด กุศโลบายที่ให้คนทำความดีละเว้นความชั่ว ยุคพระศรีอานจะมีหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่งมันเป็นเรื่องของอนาคต แต่การทำความดีเพื่อเข้าถึงยุคนั้นเกิดขึ้นในปัจจุบันที่จะส่งผลในเชิงบวกต่ออนาคตอันใกล้ทั้งต่อตนเองและผู้อื่น ผมว่าก็เป็นเรื่องที่ดีนะ

แต่เรื่องที่ไม่ดีๆอันเกิดจากความเชื่อแบบไม่ลืมหูลืมตานี่ก็เยอะ ขอเอาเป็นการดูดวง การแก้กรรมแล้วกัน อืมไม่ว่ากันนะ เรื่องที่ผมจะพิมพ์ต่อจากนี้ไปกระทบคนหลายคน ดูดวงผมไม่เชื่อว่าดวงจะส่งผลถึงชีวิตมนุษย์จริงๆ ชีวิตจะสูงจะต่ำอยู่การกระทำ แล้วดูดวงไปมันช่วยอะไรได้ถ้ายังทำตัวเหมือนเดิมหรือแย่กว่าเดิม หลายๆคนบอกว่าดูไว้เป็นแนวทางการใช้ชีวิต ก็โอเคนะ แต่พุทธศาสนาการดำเนินชีวิตไม่ต้องพึ่งดูดวงหรอก อาศัยเพียงแค่ข้อเดียว ไม่ประมาท "เราไม่เห็นว่าจะมีธรรมใด เสมอเหมือนด้วยความไม่ประมาทเลย" ไปอ่านเจอที่ไหนสักแห่งจำไม่ได้และนานมาแล้วอะ ไม่ประมาท คือ ไม่ประมาทในทางโลกและไม่ประมาทในทางธรรม เพียงคำเดียวสั้นๆง่ายๆ ไม่ประมาท การดูดวงก็ไม่เห็นสำคัญตรงไหน ดูดวงปกติไม่ว่าแต่เชื่อหมอดูจนบ้านแตกสาแหรกขาดก็เยอะนะ การแก้กรรม ผมเชื่อว่า กรรม คือ ผลลัพธ์ของการกระทำ มีทั้งดีและเลว การกระทำคืออดีต อดีตมันแก้ไม่ได้ไม่ใช่เหรอ แล้วจะไปเสียเงินเสียทองพยายามแก้มันทำไม

แต่ก็อย่างว่าหากทั้งหมดที่ว่ามาคือกุศโลบายให้ทำดีแม้บางอย่างจะดูเหมือนมีข้อเสียเยอะไปบ้างนิดหน่อย แต่ก็ลางเนื้อชอบลางยา การสอนด้วยปัญญาไม่สามารถสอนได้แก่ชนทุกกลุ่มการสอนในลักษณะนี้ก็ขาดไม่ได้เช่นกัน

ส่วนที่ผมไม่เชื่อวัฏสงสารนั้นก็มีอยู่ เคยอ่านเจอนะ ความตายมิใช่จุดสิ้นสุดของทุกอย่างหากแต่คือการเริ่มต้นของสิ่งใหม่ๆในชาติพบใหม่ๆ ฉะนั้นความตายคือการเคลื่อนของจิตจากภพนี้ไปยังอีกภพหนึ่งตามแต่กรรมจะกำหนดให้ไป และวนเวียนในวัฏจักรเช่นนี้เรื่อยไป จนกว่าจะเจริญจิตจนบรรลุนิพพาน หลุดพ้นจากบ่วงวัฏสงสาร กำเนิดเป็นพระอนาคามีหรือผู้ไม่เกิดในกาม แต่ผมขอถามคำเดียวจิตเกิดจากอะไร ผมขอเอาวิทยาศาสตร์เข้ามาเกี่ยวข้องและอธิบายร่วมไปด้วยนะ ในสภาพก่อนการเกิดจักรวาลมวลทุกอย่างถูกบีบอัดรวมเป็นกลุ่มก้อนเดียว และนั่นคือสภาพที่ไร้กาลเวลา หรือคือ ก่อนเกิดการระเบิดครั้งใหญ่หรือบิ๊กแบง สภาพไร้กาลเวลาช่วงนั้น ไม่มีสิ่งมีชีวิตใดๆอยู่เลย จนกระทั่งเกิดการระเบิดครั้งใหญ่กาลเวลาถึงก่อกำเนิด เมื่อเกิดกาลเวลาและอวกาศแน่นอนว่ายังไม่มีสิ่งมีชีวิต กาลเวลาผ่านไปเนิ่นนานจนในจักรวาลประกอบด้วยดาราจักรมากมาย ดวงดารานับไม่ถ้วน โลกก็คือกำเนิดขึ้น แน่นอนว่ายังไม่มีสิ่งมีชีวิต จนกระทั่งชีวิตแรกเกิดขึ้นบนโลกคือพวกสิ่งมีชีวิตเล็กๆ จากนั้นวิวัฒนาการต่อเนื่องมาจนปัจจุบัน เคยอ่านหนังสือสักเล่มมา จำไม่ได้แล้วว่าชื่ออะไร คือสิ่งมีชีวิตเล็กๆเกิดจากจิตที่แตกเป็นชิ้นเล็กๆและมาเกิดบนโลก ถ้าบอกว่าการตายคือการเคลื่อนของจิตไปสู่อีกภพหนึ่งแล้วจิตเกิดจากอะไรกันแน่ เกิดจากบิ๊กแบงหรือเปล่า หรือเกิดจากพลังงานลึกลับ หรืออยู่ๆก็ผุดขึ้นมาเลย หรือถูกใครบางคนสร้างขึ้นมาไม่มีใครรู้ เป็นคำถามที่ไร้คำตอบ วิจารณ์ไปก็เสียเวลา ในเมื่อการเกิดของจิตยังตอบกันไม่ได้ แล้วทำไมถึงเชื่อเรื่องวัฏสงสารการเวียนว่ายตายเกิดของจิตกันละ นั่นคือกุศโลบายให้คนทำความดีเพื่อไปเกิดในภพภูมิดีๆหรือเปล่า สุดท้ายเป้าหมายคือมุ่งเน้นให้คนทำความดี ก็โอเคนะ ไม่ได้เลวร้ายอะไร


สุดท้ายนี้ผมขอบคุณโพสต์ของคุณมากๆเลย ผมว่าผมตอบตัวเองได้แล้วหละ ว่าตัวผมเองคือใคร ผมก็คือผม ไม่ว่าจะอยู่ในสภาพไหน สภาวะใด ตัวผมก็คือตัวผม ไม่ใช่เป็นใคร หรือคือใคร ไม่ว่าจะนานแค่ไหนสิบปี ร้อยปี พันปี หนึ่งโกฏิปี ผมก็คือผมแค่นั้นไม่มีมากกว่านั้นหรือน้อยกว่านั้น และเมื่อผมรู้ว่าตัวเองเป็นใครแล้วก็จะมุ่งทำตามเป้าหมายของผมให้สำเร็จให้ได้ไม่ว่าต้องใช้เวลาเพียงใดก็ตาม ส่วนอีกหลายคำถามที่ยังตอบตัวเองไม่ได้ ตอนนี้ผมยังคงไม่มีคำตอบเช่นเดิม แต่เชื่อว่าอีกไม่นานผมคงมีคำตอบให้แก่ตัวเองแน่นอน


ปล. ผมเขียนตามทัศนคติของผมเองถ้าไม่ชอบก็ขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วย
ปล2. ผมสารภาพตรงๆเลย ผมอายุแค่ 18 ปี กับอีก 2 เดือนกว่าๆ ยอมรับว่ายังเด็กมาก คิดเห็นอะไรมองอะไรก็เป็นสภาพแบบกบในกะลา โลกยังแคบ สังคมก็ยังแคบ การมองโลกก็มองแบบด้านเดียว ความรู้ที่มีก็ไม่ได้มากมายอะไร ข้างบนนั่นก็เป็นการอวดรู้ของตัวเองหากมีคำแนะนำก็บอกกล่าวได้เต็มที่ ผมคิดว่าผมน่าจะใจกว้างพอยอมรับข้อแนะนำของคนอื่นได้ และสุดท้ายถ้าล่วงเกินใครไปก็ขออภัยด้วย ไม่ได้ตั้งใจจริงๆ

0
soul silver 14 ก.ย. 57 เวลา 03:04 น. 13

หลักวิทยาศาสตร์นั่นคือทฤษฎีบิ๊กแบง แต่ก็นั่นแหละมันยังไม่ใช่กฎ ยังไม่ใช่สัจนิรันดร์ เป็นแคค่ทฤษฎีที่สามารถโต้แย้งได้ ล้มล้างได้ เขียนขึ้นใหม่ก็ยังได้ เพราะ ฉะนั้นไม่มีอะไรแน่นอนหรอก เวลานานขนาดนั่น มันเกินขีดจำกัดการสันนิษฐานของมนุษย์และการอธิบายด้วยสมการเชิงคณิตศาสตร์มามาก ฉะนั้นก็อย่าเครียดมาก ชิวๆสบายๆ ไอเรื่องนี่มัน คือ หนึ่งในสี่อจินไตย ทฤษฎีนี้เอาแน่เอานอนไม่ได้หรอก เดี๋ยวก็มีคนล้มล้างแต่คงอีกนานหน่อยแค่นั้นเอง

0
นิลมังกร 14 ก.ย. 57 เวลา 07:59 น. 14

อันดับแรกเลยคือ

ต้องแยกแก่นพระพุทธศาสนาออกมาให้ได้ก่อนค่ะ
ว่าจริงๆแล้ว "พระพุทธศาสนาสอนอะไร"

นี่คือจุดสำคัญเพราะคนส่วนใหญ่ที่นับถือศาสนาพุทธ
เหมือนจะรู้จักศาสนาพุทธ แต่จริงๆแล้วไม่รู้
ถามว่าศาสนาพุทธสอนอะไร น้อยคนนักจะตอบได้

หลายสิ่งหลายอย่างที่คุณเอ่ยถึงนั้น
เอาเข้าจริงๆ ไม่ใช่พระพุทธศาสนาค่ะแต่เป็นศาสนาพราหมณ์
การบวงสรวง พิธีกรรมต่างๆ นั้น หลายอย่างเป็นของศาสนาอื่นๆ
แต่พอมาอยู่ในสังคมไทยก็ถูกกลืนกันเข้ามา
กลายเป็นวัฒนธรรม เป็นประเพณี

ประเทศไทยประกอบด้วยคนหลายเชื้อชาติไงคะ
แล้วเราเป็นชนชาติที่ค่อนข้างรับวัฒนธรรมอื่นๆ เข้ามาได้ง่าย
แล้วก็ผสมกลมกลืนกันไปเป็นวิถีชีวิต อย่างที่เราเห็นในปัจจุบัน

ดังนั้นเวลาเราเห็นอะไรสิ่งหนึ่งเราจำเป็นต้องแยกให้ชัดเจน ไม่มองเหมารวม
เช่น คุณเห็นโรงเรียนโรงเรียนหนึ่ง มีจุดเด่นด้านนี้ มีชื่อเสียงด้านนี้
ดูเหมือนจะมีวัฒนธรรมในโรงเรียนแบบนั้น
ถ้ามองจากภายนอกเข้ามาเราอาจเห็นแบบนั้น
ไม่ว่าสิ่งที่ได้เห็นหรือได้ยินมาจะเป็นด้านดีหรือไม่ดี

แต่ถ้าได้อยู่ในโรงเรียนนั้นจริงๆ
ได้รู้ว่าจริงๆ แล้วในโรงเรียนหนึ่ง ประกอบด้วยผู้คนที่หลากหลาย
สิ่งที่เราเห็นจากภายนอกเป็นเพียงสิ่งที่ผิวมาก
สิ่งที่เราเห็นหรือได้ยินอาจเป็นเพียงเรื่องราวของใครบางคน
ที่เขาโดดเด่นและมองเห็นได้ง่ายเท่านั้น
แต่นั่นไม่ได้แปลว่าโรงเรียนนั้นเป็นแบบนั้น
ไม่ได้แปลว่าทุกคนในโรงเรียนนั้นยึดถืออะไรแบบนั้น
และยิ่งไม่ได้แปลว่าโรงเรียนนั้นสอนแบบนั้น

ต้องแยกให้ชัด
พิธีกรรมต่างๆ ที่เราเห็นหลายสิ่งหลายอย่างนั้น
ไม่ใช่พระพุทธศาสนา แต่เป็นศาสนาพราหมณ์

การไม่เชื่อ กับการไม่ลบหลู่ แตกต่างกันนะ
สองอย่างนี้ไม่เชิงเป็นตัวแปรที่ต้องเนื่องกันขนาดนั้น

เราสามารถเชื่อหรือไม่เชื่อสิ่งหนึ่งได้
แล้วไม่ว่าเราจะเชื่อหรือไม่เชื่อ เราก็ไม่จำเป็นต้องลบหลู่ดูหมิ่นอะไรใคร
และไม่จำเป็นต้องไปตั้งป้อมไว้ก่อนว่าไม่ใช่

อย่างเช่นที่คุณเอ่ยถึงเรื่องกำเนินจักรวาล
แม้ว่าจริงๆ แล้วจะเป็นเพียงทฤษฏี
ไม่ว่าใครจะเชื่อหรือไม่เชื่อในทฤษฏีนั้นหรือไม่ก็ตาม
ทั้งหลายก็ยังเป็นเพียงแค่ความเชื่อ (เชื่อว่าจะเชื่อ หรือเชื่อว่าจะไม่เชื่อ)
เพราะเอาเข้าจริงๆ แล้ว เราเองต่างก็ไม่รู้

เราเกิดมา มีอายุกันเพียงเท่านี้ เราไม่ได้ไปเห็นสิ่งนั้นด้วยตัวเอง
รู้ได้ยังไงว่าใช่หรือไม่ใช่ ในเมื่อตอนนั้นเราไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์

ไม่มีเหตุผลที่จะต้องไปตั้งป้อมไว้ก่อนว่าไม่ใช่แน่นอน
หากแม้นเราเองก็ไม่รู้
จึงยิ่งไม่มีเหตุผลจะต้องไปดูแคลนทฤษฏีความเชื่อของใคร

แต่ก็ไม่ได้แปลว่าจะให้เราเป็นคนหลักลอย จิตใจไม่มีที่ยึดเกาะ
ตรงนี้ล่ะ ศรัทธาจะมีส่วนสำคัญมาก

เรื่องความเชื่อศรัทธา ซึ่งนำไปสู่ปัญญานั้น มีท่านนึงเคยกล่าวเรื่องนี้ไว้ดีมากๆ
ยกตัวอย่างประกอบเอาไว้ได้ดีและเห็นภาพมากๆ
จะช่วยให้เราทั้งคู่ทำความเข้าใจกันในเรื่องนี้ได้ดีมากขึ้น

เคยได้ยินชื่อท่านพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตโต) ไหมคะ
บุคคลผู้นี้เป็นปราชญ์เอกแห่งยุคเลย

ท่านได้เคยอธิบายไว้ คุณฟังคลิปเสียงนี้ได้ไหมคะ

(12 นาที) สัญชาตญาณมนุษย์ จนสุดทางที่ปัญญา
https://www.youtube.com/watch?v=kSj8pL9IJQE

หรือดาวโหลด mp3 ฟังคลิปเสียงช่วงนี้ได้ที่นี่คะ (ตัดตอนมาแล้ว)
http://dhammaway.files.wordpress.com/2012/07/need-and-wisdom-of-life.mp3




.

0
นิลมังกร 14 ก.ย. 57 เวลา 08:00 น. 15
หมายเหตุ: พอตอบเป็นความคิดเห็นย่อยที่ 4-3 แล้วเราใส่ลิงค์ไม่ได้
เลยมาใส่ให้ที่นี้นะ

(12 นาที) สัญชาตญาณมนุษย์ จนสุดทางที่ปัญญา 


หรือดาวโหลด mp3 ฟังคลิปเสียงช่วงนี้ได้ที่นี่คะ (ตัดตอนมาแล้ว)



.
0