Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

รู้หรือไม่..สุนัขก็เป็นโรคเกี่ยวกับหมอนรองกระดูกสันหลังได้

ตั้งกระทู้ใหม่
ตั้งกระทู้ใหม่

Dogilike.com ::  รู้หรือไม่..สุนัขก็เป็นโรคเกี่ยวกับหมอนรองกระดูกสันหลังได้

     หมอนรองกระดูกสันหลัง เป็นส่วนที่อยู่ระหว่างกระดูกสันหลัง คอยรองรับแรงกระแทกของกระดูกสันหลังเวลาที่ร่างกายเคลื่อนไหว ประกอบด้วย 2 ชั้น ชั้นนอก จะเป็นกระดูกอ่อน เรียกว่า Anulus fibrosus และชั้นใน จะเป็นเจลลี่ เรียกว่า nucleus pulposus ลักษณะจึงคล้าย ๆ กับ “jelly donut”

     ความผิดปกติที่มักพบ คือ การที่หมอนรองกระดูกสันหลังไปกดเบียดไขสันหลัง ทำให้มีอาการปวด เดินลำบาก เดินลากเท้า การก้าวย่างผิดปกติ โดยอาจเดินไม่สัมพันธ์กัน ขาอ่อนแรง บางตัวเป็นเฉพาะขาหลัง บางตัวเป็นทั้งขาหน้าและขาหลัง หรืออาจเป็นเพียงซีกใดซีกหนึ่ง ทั้งนี้ขึ้นกับตำแหน่งที่หมอนรองกระดูกสันหลังไปกดทับ ซึ่งสุนัขที่ป่วยบางรายอาจมีปัญหาเกี่ยวกับการควบคุมกับขับถ่ายและการปัสสาวะ หรือมีปัญหาพฤติกรรมก้าวร้าวขึ้นได้ เนื่องจากได้รับความเจ็บปวด

Dogilike.com ::  รู้หรือไม่..สุนัขก็เป็นโรคเกี่ยวกับหมอนรองกระดูกสันหลังได้

     โรคที่เกี่ยวข้องกับหมอนรองกระดูกสันหลังเป็นโรคที่พบได้ในกลุ่มสุนัขที่มีขาสั้นและมีช่วงหลังยาว เช่น สุนัขพันธุ์ Dachshunds, Basset hounds, Welsh corgis, Lhasa apsos, Beagle, Shih Tzu และ Pekingnese โดยพบว่าสุนัขพันธุ์อื่น ๆ หรือสุนัขที่เป็นโรคอ้วนจะมีแนวโน้มป่วยเป็นโรคนี้ได้เช่นกัน

     โดยแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิด คือ Hansen type 1 ซึ่งเกิดจากการที่กระดูกอ่อนชั้นนอกปิดไม่สมบูรณ์ หรือเกิดการแตกจากแรงกระแทกจากการเคลื่อนไหวที่หนักๆ จึงทำให้เจลลี่ชั้นใน ไปกดเบียดช่องไขสันหลัง ทำให้มีอาการปวดและเป็นอัมพาต ซึ่งมักพบในสุนัขพันธุ์เล็กหรือพันธุ์หน้าสั้น อายุ 2-9 เดือน กับอีกชนิด คือ Hansen type 2 เกิดจากความเสื่อมของกระดูกอ่อนชั้นนอก ทำให้เกิด metaplasia ขึ้นไปกดเบียดช่องไขสันหลัง ทำให้น้องหมาเกิดเป็นอัมพาตได้เช่นกัน ซึ่งมักพบในสุนัขแก่อายุ 5-12 ปีขึ้นไป 

Dogilike.com ::  รู้หรือไม่..สุนัขก็เป็นโรคเกี่ยวกับหมอนรองกระดูกสันหลังได้

     ถ้าเจ้าของพบเห็นสุนัขของตัวเองแสดงอาการผิดปกติ อยู่ดี ๆ ก็ไม่สามารถใช้ขาได้ตามปกติ ควรรีบปรึกษาสัตวแพทย์ทันที สำหรับแนวทางการวินิจฉัยก็จะเริ่มตั้งแต่การตรวจประเมินทางระบบประสาท การเอ็กซเรย์ดูรอยโรคที่กระดูกสันหลัง คุณหมออาจพิจารณาฉีดสารทึบรังสี (myelogram) เข้าช่องไขสันหลัง เพื่อดูลักษณะและตำแน่งของการกดเบียด หรือใช้การตรวจ MRI (magnetic resonance imaging)

Dogilike.com ::  รู้หรือไม่..สุนัขก็เป็นโรคเกี่ยวกับหมอนรองกระดูกสันหลังได้

     สำหรับแนวทางการรักษาก็มีตั้งแต่การรักษาทางยาเพื่อบรรเทาอาการปวดไปจนถึงการผ่าตัด โดยการพิจารณาการรักษาก็ขึ้นกับผลการตรวจทั้งหมด ในรายที่เป็นไม่มาก ยังพอเดินได้ ทรงตัวได้ ขับถ่ายได้ปกติ คุณหมออาจให้การรักษาทางยา และแนะนำให้เจ้าของจำกัดบริเวณสุนัขอย่างน้อย 4-6 สัปดาห์ เลี่ยงการให้สุนัขเดินบนพื้นลื่น ๆ สำหรับสุนัขบางตัวที่เป็นเรื้อรัง เดินไม่ได้ จำเป็นต้องได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่อง เจ้าของอาจต้องหาเบาะนิ่มให้สุนัขนอนช่วยพลิกตัว ดูแลรักษาความสะอาดจากการขับถ่าย ต้องระวังแผลกดทับที่จะตามมา 

Dogilike.com ::  รู้หรือไม่..สุนัขก็เป็นโรคเกี่ยวกับหมอนรองกระดูกสันหลังได้

     ในรายที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาทางยา หรือตรวจพบความผิดปกติที่รุนแรง คุณหมอพิจารณาทำการศัลยกรรม (ผ่าตัด) เพื่อกดแรงกดไขสันหลังให้ เช่น การตัดปีกกระดูกสันหลังออก (Hemilaminectomy) การตัดหมอนรองกระดูกที่กดเบียดออก ฯลฯ ซึ่งสุนัขที่เข้ารับการผ่าตัดส่วนมากจะกลับมาใช้ขาได้ตามปกติหรือใกล้เคียงกับปกติ แต่ภายหลังการผ่าตัดเจ้าของต้องหมันพาสุนัขทำกายภาพบำบัด เพื่อช่วยฟื้นฟูให้กลับมาเป็นปกติดังเดิม

Dogilike.com ::  รู้หรือไม่..สุนัขก็เป็นโรคเกี่ยวกับหมอนรองกระดูกสันหลังได้

     โรคเกี่ยวกับหมอนรองกระดูกสันหลัง เป็นโรคทางระบบประสาทที่พบได้บ่อย โดยเฉพาะที่สุนัขพันที่มีขาสั้นหลังยาว ในสุนัขกลุ่มเสี่ยงเหล่านี้ เจ้าของจะต้องคอยระมัดระวังอุบัติเหตุใด ๆ ก็ตามที่จะเกิดกับกระดูกสันหลัง ควรเลี่ยงการกระโดดขึ้นลงที่สูง เลี่ยงการเดินบนพื้นลื่น ๆ และควบคุมน้ำหนักสุนัขอย่าให้อ้วนด้วยนะครับ

บทความโดย:หมอต้น ด็อกไอไลค์
น.สพ.ธีรภาพ มุสิกานนท์

แสดงความคิดเห็น

>

1 ความคิดเห็น